“เราแค่กำลังจะเปลี่ยนแปลงดนตรีและวิธีที่ผู้คนคิดเกี่ยวกับดนตรีไปตลอดกาล และเราไม่คิดว่าเราจะทำมันไม่ได้ เราจะทำมันให้ได้”

มันอาจฟังดูแปลกและอหังการพอสมควรสำหรับประโยคนี้ที่ปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ของวง โพสต์-ร็อก จากท้องถิ่นดินแดนแห่งไอซ์แลนด์นาม Sigur Rós ในปี 1999 ที่ ณ ขณะนั้นคนในส่วนอื่นของโลกแทบจะไม่รู้จักพวกเขาเลย แต่ในวันนี้กว่า 2 ทศวรรษผ่านมา เราได้รู้คำตอบแล้วว่าสิ่งที่พวกเขาบอกนั้นเป็นความจริง และสิ่งนั้นเริ่มต้นมาจากงานเพลงพวกเขาที่มีชื่อว่า ‘Ágætis byrjun’

Sigur Rós ฟอร์มวงกันในเดือนสิงหาคมปี 1994 ‘Jón Þór Birgisson’ หรือ ‘Jónsi’ นักร้องนำของวงได้ตั้งชื่อวงว่า Sigur Rós (แปลว่า ‘Victory Rose’ หรือ กุหลาบแห่งชัยชนะ) เพื่อเป็นเกียรติแก่ ‘Siggurós Elin’ น้องสาวที่เพิ่งกำเนิดของเขานั่นเอง  ในตอนแรก Sigur Rós ประกอบไปด้วยสมาชิก 3 หนุ่มจากเมืองเรคยาวิก เมืองหลวงของไอซ์แลนด์ มี Jónsi Birgisson’ ร้องนำและกีตาร์ ‘Georg Hólm’ เบส และ ‘Ágúst Ævar Gunnarsson’ กลอง รวมตัวกันเล่นดนตรีจนเข้าตาค่ายเพลงท้องถิ่นที่ชื่อ ‘Bad Taste’ และได้ออกผลงานอัลบั้มแรกที่มีชื่อว่า ‘Von’ (แปลว่า ‘ความหวัง’) ในปี 1997

อัลบั้ม ‘Von’

ถึงแม้จะชื่อว่า ‘ความหวัง’ แต่รายได้ของอัลบั้มนี้ชวนให้รู้สึก ‘สิ้นหวัง’ มาก เพราะพวกเขาขายแผ่นได้เพียง 300 ก็อปปี้เท่านั้น อย่าว่าแต่คนทั้งโลกเลย แม้แต่คนไอซ์แลนด์เองในวันนั้นก็ยังแทบไม่รู้จักพวกเขาเลย แต่ถึงอย่างนั้น Jónsi ก็ยังคงเชื่อมั่นและมีความหวังในสิ่งที่เขาและเพื่อน ๆ กำลังทำอยู่

“เมื่อคุณอยู่ที่ไอซ์แลนด์ คุณอาจจะรู้สึกโดดเดี่ยวมากสักหน่อย แต่มันเป็นช่วงเวลาที่ดีจริง ๆ นะที่ได้เติบโตมาและได้เล่นดนตรีในวง สิ่งเดียวที่คุณทำก็คือการได้เล่นกับเพื่อน ๆ และมีความสุขไปกับมัน ถ้าคุณได้ทำอย่างนั้นและคุณซื่อสัตย์กับมัน บางทีสิ่งดี ๆ มันจะเข้ามาหาคุณ”

Sigur Rós ยังคงมีหวังจากการได้ทำงานเพลงในอัลบั้ม Von ถึงแม้ว่ายอดขายอาจจะไม่ดีนัก แต่มันก็เป็นเมล็ดพันธุ์อันดีที่จะทำให้พวกเขาเติบโตไปเป็นต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแรง พวกเขาเริ่มต้นก้าวต่อมาด้วยการเพิ่มสมาชิกใหม่ ‘Kjartan Sveinsson’ ที่เข้ามารับหน้าที่มือคีย์บอร์ด ซึ่งนอกจากจะช่วงเพิ่มสีสันให้กับงานดนตรีแล้ว เขายังมีบทบาทสำคัญในการแต่งเพลงและเป็นแรงผลักดันเบื้องหลังที่ทำให้วงมีพลังก้าวเดินต่อไปด้วยความเติบโตและความอยากรู้อยากลองที่ผสมผสานเข้าด้วยกันและนำพาพวกเขาไปสู่พรมแดนแห่งใหม่ที่ไม่เคยมีใครไปถึง

สมาชิกทั้ง 4 ของ Sigur Rós

‘ซีเนมาติก’ คือคำที่มักถูกนำมาใช้อธิบายงานดนตรีอันเวิ้งว้างกว้างใหญ่อันเป็นเอกลักษณ์ของ Sigur Rós ที่จะเริ่มต้นจากงานเพลงในอัลบั้ม ‘Ágætis byrjun’ ในปี 1999 ซึ่งเกิดขึ้นจากการหลอมรวมท่วงทำนองจากคนทั้ง 4 ที่เติบโตมาในภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยธรรมชาติอันชวนตื่นใจของไอซ์แลนด์อันประกอบไปด้วย ทุ่งลาวา ธารน้ำแข็ง ขุนเขา และ ฟยอร์ด

Ágætis byrjun (อ่านว่าอะไรใครรู้ช่วยบอกที T_T) แปลว่า ‘การเริ่มต้นที่ดี’ เป็นสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 2 ของวงที่แปลกใหม่ไม่มีใครเหมือน จากองค์ประกอบดนตรีโพสต์-ร็อกที่เกิดจากวัฒนธรรมและทัศนียภาพแห่งไอซ์แลนด์ (จึงไม่น่าแปลกใจที่บรรยากาศงานดนตรีของ Sigur Rós กับ ศิลปินสาวติสต์ Björk จะมีอารมณ์อะไรบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน) ภาษาใหม่ที่ใช้ชื่อว่า ‘Hopelandic’ ซึ่งสร้างขึ้นโดยนักร้องนำและมือกีตาร์ผู้มีสุ้มเสียงอันล่องลอย แหลมลึก มหัศจรรย์ นาม ‘Jónsi’ และงานดนตรีที่มีความล่องลอย ลึกลับ ลึกล้ำ และเข้าถึงซึ่งอารมณ์ได้โดยที่เราไม่จำเป็นจะต้องเข้าใจในความหมายของถ้อยคำเลย

ปกอัลบั้ม Ágætis byrjun

อัลบั้มชุดนี้ออกวางจำหน่ายในวันที่ 12 มิถุนายน ปี 1999 ที่ไอซ์แลนด์ แต่หลังจากนั้นไม่นานสุ้มเสียงแห่งไอซ์แลนด์ก็ขจรไกลไปในแดนอื่น  ‘Svefn-g-englar’ แทร็กที่ 2 ของอัลบั้ม เป็นตัวอย่างอันสำคัญที่ทำให้เห็นถึงพัฒนาการของวงดนตรีที่มีอายุ 5 ปีวงนี้ที่ได้ค้นพบเอกลักษณ์และตัวตนที่แท้ของตัวเองในที่สุด ต่อมาเพลงนี้ได้ถูกใช้เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง ‘Vanilla Sky’ (2001) ของ Cameron Crows ในฉากจบที่ความจริงอันลึกลับทั้งหลายถูกคลี่คลาย ยิ่งทำให้บทเพลงนี้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก จุดเด่นของเพลงนี้นอกจากท่วงทำนองที่ล่องลอยแล้ว ในช่วงท้ายเพลงยังมีการร้องคำว่า ‘Tjú’ อยู่หลายครั้งด้วยเสียงที่แหลมสูงล่องลอยราวภูติพรายของ Jónsi ซึ่งฟัง ๆ ดูแล้วมันออกเสียงคล้ายคำว่า ‘It’s You’ ในภาษาอังกฤษ คนฟังก็เลยพอถู ๆ ไถ ๆ ไปตามอารมณ์นั้นได้อยู่ ทำให้เรารับรู้ได้เลยว่าการฟังเพลงของ Sigur Rós อย่างมีสุนทรีย์นั้นคือไม่ต้องไปกังวลกับความหมาย แต่ให้ไหลไปกับท่วงทำนองและอารมณ์ของบทเพลง รวมไปถึงท่วงทำนองจากการเปล่งคำและการออกเสียงด้วยเช่นกัน

‘Starálfur’ บทเพลงที่มาพร้อมความ ‘ซีเนมาติก’ ในแบบฉบับของ Sigur Rós ซึ่งไม่แปลกใจเลยว่ามันจะถูกนำไปใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่อง ‘The Life Aquatic with Steve Zissou’ ของ เวส แอนเดอร์สัน ในฉากท้องสมุดอันมืดดำ เวิ้งว้าง อันเป็นถื่นที่อยู่ของสัตว์ใต้ทะเลลึกอันลึกลับและน่ามหัศจรรย์

บทเพลงนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ดีของการเข้าใจและเข้าถึงในบทเพลงของ Sigur Rós ที่เราอาจไม่จำเป็นต้องเข้าใจคำแปลหรือความหมายของมันก็ได้ เพราะเชื่อว่าผู้ฟังส่วนใหญ่พอฟังเพลงนี้แล้วหลับตาจินตนาการไปด้วย คงนึกถึงดวงดาว จักรวาล หรืออะไรที่ลึกลับกว้างใหญ่ตามที่ท่วงทำนองจากเสียงกีตาร์และเครื่องสายจะพาเราไป แต่หากลองไปเปิดดูคำแปลแล้วล่ะก็ มันกลับกลายเป็นเพลงที่พูดถึง ‘เจ้าเอลฟ์ตัวน้อย’ ซะอย่างงั้น !

A little elf stares at me Runs towards me, but doesn’t move From its place – itself A staring elf’

และจากการเห็นคำว่า Star จากชื่อเพลง ‘Starálfur’ ก็ยิ่งชวนให้คิดไปในทางนั้น แต่แท้จริงแล้วมันแปลว่า ‘Staring’ หรือการจ้องมองนั่นเอง 

‘Ný batterí’ ก็เป็นอีกบทเพลงหนึ่งที่โดดเด่น สร้างเสียงกีตาร์อันโหยหวนที่ Jónsi เล่นด้วยการใช้คันสีของเชลโลสีลงไปบนสายกีตาร์ ให้สุ้มเสียงเสียดแทงอันหลอนลอย ลึกลับ Jónsi เคยพูดถึงกระบวนการบันทึกเสียงงานเพลงในอัลบั้มนี้ไว้ว่า “มันคือสนามเด็กเล่น และ คุณจำเป็นที่จะต้องเปิดใจให้กว้าง และพร้อมที่จะลองทำในสิ่งใหม่ ๆ โดยที่ไม่ต้องมีการวางแผนล่วงหน้า” Sigur Rós  ได้ทดลองแนวทางที่แปลกใหม่หลากหลายในบทเพลงต่าง ๆ แม้กระทั่งการใส่เสียงร้องเพิ่มลงไปในภายหลังจากที่ทำมาสเตอร์เสร็จแล้วด้วยซ้ำ  Jónsi บอกว่า ไม่มีขั้นตอนไหนในการทำงานที่ศักดิ์สิทธิ์จนไม่สามารถไปแตะต้องหรือแก้ไขอะไรมันได้

ลีลาการสีกีตาร์ของ Jónsi

ในเพลง ‘Viðrar vel til loftárása’ เปิดมาด้วยเสียงกรีดกีตาร์ดาร์ก ๆ ที่ตามมาด้วยเสียงเปียโนและออร์เคสตราอันเศร้าเหงา เป็นอารมณ์คอนทราสต์ที่งดงาม ดนตรีของ Sigur Rós หลากล้นไปด้วยความรู้สึก ทุกท่วงทำนองของการได้ยิน คือห้วงอารมณ์ของความรู้สึกที่หลั่งไหล Jónsi บอกว่ามันก่อกำเนิดจากการมีวัยเยาว์ที่โดดเดี่ยว ตาบอดข้างหนึ่งตั้งแต่เกิด รวมไปถึงความเป็นเกย์ของเขาได้ช่วยเป็นพลังในการสร้างสรรค์งานดนตรีที่มีอารมณ์หลั่งไหลออกมาจากภายใน

‘Olsen Olsen’ บทเพลงที่มาพร้อมท่วงทำนองล่องลอยอันซีเนมาติกและภาษาที่ไม่มีใครเข้าใจแม้แต่ชาวไอซ์แลนด์เองก็ตาม เพราะมันเป็นการร้องไปเรื่อยโดยไม่อิงกับความหมายใดแต่ให้มันไหลไปตามความรู้สึก จังหวะ และท่วงทำนองที่คิดว่าใช่ เป็นการปลดแอกท่วงทำนองของร่างกายมนุษย์ออกจากปริมณฑลทางภาษาที่ต้องอาศัยการตีความ ซึ่ง Jónsi ตั้งชื่อภาษานี้ว่า Volenska หรือ ‘Hopelandic’ ซึ่งต่อมามันได้ถูกนำมาใช้ในเพลงอื่น ๆ ของอัลบั้มต่อไปด้วย 

ตลอดทั้งอัลบั้ม Ágætis byrjun ได้มีการผสมผสานองค์ประกอบทางดนตรีที่เราทั้งคุ้นเคยและไม่คุ้นเคยในเวลาเดียวกัน นั่นทำให้เราสามารถลุ่มหลง ล่องลอยไปกับงานเพลงชุดนี้ได้ไม่ยาก และในขณะเดียวกันเราก็ตะลึงงันในความแปลกใหม่และลึกลับที่เราสามารถเข้าถึงอารมณ์ได้โดยที่ไม่ต้องเข้าใจในความหมายของถ้อยคำเลยด้วยซ้ำ และแม้เวลาจะผ่านไปกว่า 21 ปีแล้ว แต่อัลบั้มชุดนี้ก็ยังฟังดูล้ำสมัยไม่ตกยุคเลย เป็นท่วงทำนองที่เหนือกาลเวลาจริง ๆ สมแล้วที่ Ágætis Byrjun จะได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในอัลบั้มที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาลของวงการดนตรีโพสต์-ร็อก และเป็นจุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษที่งดงามอันทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นกับทิศทางดนตรีที่กำลังจะเปลี่ยนไปและมีอะไรใหม่ ๆ ในศตวรรษที่ 21

Source

pastemagazine

abc

classicalbumsundays

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส