คุณเคยคิดหรือไม่ว่าคุณจะสามารถเล่นดนตรีจากเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านของคุณได้ หรือเมื่อมองไปที่เครื่องใช้ไฟฟ้าตัวเก่าของเรา แทนที่จะอุ้มมันไปขายซาเล้งแต่เรากลับสามารถแปรเปลี่ยนมันให้กลายเป็นเครื่องดนตรีสุดล้ำเพื่อสร้างสรรค์งานดนตรีสุดเลิศได้ !

ELECTRONICOS FANTASTICOS! (มี aka ว่า NICOS) เป็นโปรเจกต์ทางดนตรีสุดสร้างสรรค์ที่ริเริ่มโดยศิลปินและนักดนตรีชาวญี่ปุ่น เอย์ วาดะ (Ei Wada) ที่มอบชีวิตใหม่ให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ล้าสมัยไปแล้ว โดยเปลี่ยนให้พวกมันกลายเป็น “เครื่องดนตรีแม่เหล็กไฟฟ้า” และสร้างวงดนตรีออร์เคสตราขึ้นมาจากเครื่องดนตรีเหล่านี้ สร้างสรรค์งานดนตรีสุดล้ำที่ไม่เพียงแต่ไว้ใช้ฟังและชมเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมและได้มีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกับเครื่องดนตรีเหล่านี้อีกด้วย

โครงการ NICOS เปิดตัวในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ในแขวงซูมิดะ กรุงโตเกียว โดยเป็นโครงการศิลปะประจำถิ่นที่ทำการประกาศหาและรวบรวมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีอายุยืนยาวกว่าประโยชน์ใช้สอยของมัน ด้วยผลตอบรับที่ดีจากผู้มาเยี่ยมชมงาน วาดะจึงมองเห็นความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการนี้ต่อไปหลังจากผ่านการลองผิดลองถูกมานานในเดือนพฤศจิกายน 2015 วาดะจึงได้แสดง “First Ensemble Encounter Composition” ซึ่งเป็นคอนเสิร์ตครั้งแรกของโครงการนี้ ทำให้ได้รับอนุญาตให้จัดตั้ง Nicos Orchest-Lab ซึ่งเป็นทีมงานที่ทำงานร่วมกันสำหรับโครงการนี้และเป็นการรวมวงออร์เคสตรากับห้องปฏิบัติการเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งจะมีการจัดช่วงการแสดงอิมโพรไวส์ในทุก ๆ วันและมีการแลกเปลี่ยนไอเดีย ภูมิปัญญา ความรู้และเทคนิคต่าง ๆ ตั้งแต่การทดลองแนวคิดการผลิตเครื่องดนตรีไปจนถึงการแสดง โดยใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญในแต่ละศาสตร์แต่ละสาขาของแต่ละคนมาแชร์กันให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผู้เข้าร่วม Nicos Orchest-Lab นั้นมีมากมายตั้งแต่นักเรียนชั้นประถมไปจนถึงคุณตาคุณยายวัย 70 กว่า ๆ ส่วนกลุ่มวิศวกรในโครงการนี้จะทำงานทุกอย่างร่วมกันตั้งแต่การเขียนโปรแกรมและการออกแบบแผงวงจรไปจนถึงงานไม้และงานโลหะ ด้วยการทำงานของทุกคนในทีม “เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ถูกแปลงร่างให้กลายเป็นเครื่องดนตรี” จำนวนมากมายจึงได้ถือกำเนิดขึ้น

ต่อมาได้มีการรวมทีมกันในอีกโครงการที่เมืองฮิตาชิในจังหวัดอิบารากิซึ่งมีชื่อเสียงด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเข้าร่วมในงาน“ KENPOKU ART 2016” ส่งผลให้เกิดการเติบโตอย่างรวดเร็วในการพัฒนาเครื่องดนตรีจากเครื่องใช้ไฟฟ้า ในงาน “Hitachi Electrical-Current Art Composition” ได้มีการจัดคอนเสิร์ตขึ้น ในงานนี้วาดะได้ฟอร์มวงขึ้นมากับทีมที่อิบารากิและทำการแปลงโทรทัศน์จอตู้ CRT และพัดลมไฟฟ้าให้กลายเป็นเครื่องดนตรีสำหรับการแสดงในงาน

ในปี 2017 NICOS ได้จัดงานเทศกาลโดยให้นักดนตรีเล่นดนตรีด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า ๆ จากในครัวเรือนและมีการเต้นบงโอโดริในสไตล์ใหม่เป็น Electro-Magnetic Bon Dance โดยจัดขึ้นที่บริเวณโตเกียวทาวเวอร์ซึ่งเป็นหอวิทยุที่มีชื่อเสียงที่สุดของญี่ปุ่นเพื่อเป็นการระลึกถึงเทคโนโลยีที่พ้นสมัยไปแล้ว

https://www.youtube.com/watch?v=pRChCbMsd58

NICOS เริ่มมีกิจกรรมในต่างประเทศตั้งแต่ปี 2018 และได้รับรางวัล Honorary Mention ในงาน Ars Electronica ซึ่งเป็นเทศกาลสื่อศิลปะที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในปี 2019 NICOS เริ่มเปิดรับสมาชิกต่างชาติและได้ก่อตั้งวงออร์เคสตราหลากเชื้อชาติขึ้นมาเพื่อแสดงสดที่ Ars Electronica และเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของการทำวงออร์เคสตราแม่เหล็กไฟฟ้าแบบไร้พรมแดน (Electromagnetic Orchestra without Borders)

ที่ผ่านมา NICOS ได้สร้างและพัฒนาเครื่องดนตรีมากมาย เช่น กาเมลัน CRT-TV , ซินธิไซเซอร์จากพัดลมดูดอากาศ, พิณพัดลมไฟฟ้า, พิณ A / C, เครื่องทำจังหวะโทรศัพท์สีดำ, เครื่องอ่านบาร์โค้ด ‘Barcoder’ หรือ อูคูเลเล่ทีวี ‘Telelele’ เป็นต้น พวกเขาทำการปรับเปลี่ยนฟังก์ชันดั้งเดิมของอุปกรณ์ให้กลายเป็นเครื่องดนตรีสุดล้ำจากจินตนาการอันบรรเจิดเพื่อสานต่อความฝันที่จะสร้าง “ดนตรีพื้นเมืองแม่เหล็กไฟฟ้า” และงานเทศกาลดนตรีที่เกิดจากเทคโนโลยีที่ล้าสมัยและขยะในเมือง

เรามาดูตัวอย่างบางส่วนของเครื่องดนตรีสุดล้ำจาก NICOS กัน

กาเมลัน CRT-TV ( CRT-TV Gamelan / ブラウン管ガムラン)

CRT-TV หรือเจ้าทีวีจอตู้ที่หมดบทบาทลงหลังจากหมดยุคอะนาล็อกและเข้าสู่ยุคทีวีดิจิทัลได้กลับชาติมาเกิดใหม่กลายเป็นเครื่องตีสไตล์กาเมลัน (วงดนตรีประจำชาติของอินโดนีเซีย ซึ่งมีกลุ่มเครื่องดนตรีหลักเป็นเครื่องตี) โดยมีหลักการทำงานคือ ไฟฟ้าสถิตที่ปล่อยออกมาจากหน้าจอ CRT-TV จะถูกจับด้วยมือเปล่าของเรา และจากนั้นมันจะเดินทางผ่านไปยังขดลวดที่ติดกับขาแล้วไปยังแอมป์กีตาร์เพื่อสร้างเสียงออกมา ระดับเสียงจะเปลี่ยนไปตามจำนวนแถบบนหน้าจอและระดับเสียงจะถูกควบคุมโดยบริเวณที่สัมผัสด้วยมือ

พิณพัดลมไฟฟ้า ( Electric Fan Harp / 扇風琴)

เครื่องดนตรีชิ้นนี้มีพื้นฐานมาจากแนวคิดสุดบรรเจิดเลิศล้ำที่ว่า “จะเป็นอย่างไรถ้า Jimi Hendrix เทพเจ้าแห่งกีต้าร์ไฟฟ้าใช้พัดลมไฟฟ้าเป็นเครื่องดนตรีประจำกาย ?” หลอดไฟและสายกีต้าร์จะผูกติดอยู่กับพัดลมไฟฟ้า โดยตัวใบพัดจะถูกเปลี่ยนเป็นแผ่นดิสก์ที่ผลิตขึ้นเองพร้อมรู อุปกรณ์ไวแสงจะจับแสงที่รอดออกมาจากรูของแผ่นดิสก์และเปลี่ยนเป็นสัญญาณไฟฟ้าและปล่อยเสียงออกมาผ่านแอมป์กีตาร์ จำนวนรูในแผ่นดิสก์และความเร็วของพัดลมที่แตกต่างกันจะก่อให้เกิดระดับของความแหลมของเสียงที่ต่างกัน หยิบพัดลมไฟฟ้าขึ้นมาและโยกไปกับมันเลย !

เครื่องอ่านบาร์โค้ด (Barcoder / バーコーダー)

เจ้า Barcoder ตัวนี้คือเครื่องอ่านบาร์โค้ดที่ถูกนำมาดัดแปลงให้สร้างเสียงได้โดยเชื่อมต่อสัญญาณสแกนเข้ากับอินพุตเสียงโดยตรง ดังนั้นลายทางของแถบบาร์โค้ดจึงกลายเป็นคลื่นเสียงขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ แค่เพียงคุณต่อเครื่องอ่านบาร์โค้ดเข้ากับลำโพงก็จะได้เสียงดนตรีออกมาแล้ว ไอเดียนี้น่าจะถูกใจพนักงานแคชเชียร์เป็นแน่

ซินธิไซเซอร์เสื้อลายทาง (Striped Shirtsizer / ボーダーシャツァイザー)

ไม่รู้ว่าใครเป็นคนคิดค้นเจ้าเสื้อลายทางแบบนี้ แต่ที่แน่ ๆ คือมันได้กลายเป็นเอกลักษณ์แห่งเสื้อยืดของญี่ปุ่นไปแล้ว แน่นอนว่าการเอาเจ้าเสือยืดลายแทงแบบนี้มาทำเป็นเครื่องดนตรีมันย่อมต้องสร้างความ unique     แบบญี่ปุ้นญี่ปุ่นแน่นอน และใครจะไปรู้ว่าความ unique จากลายเสื้อแบบนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเล่นดนตรี  Striped Shirtsizer หรือ เจ้าซินธิไซเซอร์เสื้อลายทางมีหลักการสร้างเสียงโดยเชื่อมต่อสัญญาณวิดีโอของกล้องวิดีโอเข้ากับอินพุตเสียงในขณะที่กล้องวิดีโอจะถ่ายภาพเสื้อยืดลายทางที่นักดนตรีสวมใส่ ระดับเสียงจะเปลี่ยนไปตามจำนวนลายเส้นที่กล้องถ่ายและการสั่นของเสียงจะเกิดขึ้นด้วยการเขย่าตัวของนักดนตรี คราวนี้เสื้อลายทางของเราก็จะมีเสียงเท่ ๆ แล้ว !!

อูคูเลเล่ทีวี (Telelele / テレレレ)

Telelele  คือ ทีวีจอตู้ CRT-TV ที่ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นเครื่องดนตรีสไตล์อูคูเลเล่ ขดลวดรับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ปล่อยออกมาจากหน้าจอจะสร้างเสียงผ่านแอมป์กีตาร์ และสามารถเปลี่ยนระดับเสียงได้ด้วยการเปลี่ยนภาพหน้าจอโดยมีตัวควบคุมที่คอ

Ei Wada

เอย์ วาดะ (Ei Wada) ศิลปินและนักดนตรีวัย 33 ปี ผู้เป็นคนต้นคิดโพรเจกต์นี้ เป็นผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการศิลปะและดนตรีแนวทดลองมาก่อน มักจัดแสดงผลงานศิลปะและดนตรีโดยวิธีการใหม่และไม่เหมือนใคร ในปี 2009 เขาเริ่มก่อตั้งกลุ่ม Open Reel Ensemble ซึ่งสร้างเสียงดนตรีแหวกแนวด้วยการใช้เครื่องบันทึกเทปแบบ reel to reel และเคยแสดงด้วยการใช้เครื่องบันทึกเทปแบบ reel to reel พร้อมกันมากที่สุดถึง 20 เครื่อง ! กลุ่ม Open Reel Ensemble มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ มากมายรวมถึงการแสดงคอนเสิร์ต ทำดีวีดี / ซีดี  จัดพิมพ์หนังสือ จัดแสดงงานศิลปะ และทำเพลงประกอบภาพยนตร์และการแสดงแคตวอล์ก นอกจากนี้เขายังเคยทำเพลงให้กับ Paris Collection ให้กับแบรนด์ชื่อดังของญี่ปุ่นอย่าง ISSEY MIYAKE อย่างต่อเนื่องถึง 11 ครั้งด้วยกัน  

เรื่องราวของ “Electronicos Fantasticos!” เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงไอเดีย ภูมิปัญญาและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาจากสิ่งที่เราไม่ได้ใช้หรือถูกมองว่าล้าสมัยแต่แท้ที่จริงแล้วมันมีจิตวิญญาณของความเป็นสิ่งใหม่อยู่เสมอเข้ากับความคิดที่ว่าไม่มีสิ่งใดไร้ประโยชน์อยู่ที่ว่าเรามองเห็นคุณค่าหรือประโยชน์ของสิ่งนั้นหรือเปล่า สมกับเป็นชาวญี่ปุ่นที่มีความเป็นนักประดิษฐ์ คิดค้น แก้ปัญหาและสรรหาความสร้างสรรค์ในทุก ๆ เรื่องจริง ๆ ไม่ว่าจะไม้จิ้มฟันยันเรือรบก็ต้องมี innovation ตลอด

Source

https://www.electronicosfantasticos.com

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส