มา เรนีย์ ผู้น่าเกรงขามปรากฏกายพร้อมกับร่างกายอันใหญ่โต แววตาที่ดุดัน สวมครอบฟันสีทอง และน้ำเสียงที่ทรงพลัง เธอเป็นคนที่ชัดเจนเสมอว่าตัวเองต้องการสิ่งใด และเธอจะไม่ยอมให้ใครหน้าไหนมาบังคับให้เธอทำในสิ่งที่เธอไม่ต้องการ แต่เธอก็รู้ดีว่าอาการยินยอมที่เธอได้รับจากผู้อื่นนั้นก็เป็นเพียงการยอมเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์จากเธอ

“ทั้งหมดที่พวกเขาต้องการคือเสียงของฉัน

เธอกล่าวกับเพื่อร่วมวงของเธอด้วยใจที่รู้ดีว่าพวกคนขาวเหล่านั้นยอมเธอเพียงเพราะรู้ว่าเสียงและบทเพลงของเธอจะทำให้พวกเขาร่ำรวย

ถึงแม้ว่า มา เรนีย์ (Ma Rainey) นักร้อง นักแต่งเพลงบลูส์ที่ได้รับการขนานนามว่า “Mother of the Blues” อาจไม่ได้โด่งดังเท่ากับศิลปินบลูส์ที่โด่งดังขึ้นจากการมีเธอเป็นแรงบันดาลใจตั้งแต่ เบสซี สมิธ (Bessie Smith) ไปจนถึง บิลลี ฮอลิเดย์ (Billie Holiday) ที่มักจะมีคนกล่าวขานถึงหรือนำเรื่องราวไปสร้างเป็นภาพยนตร์ แต่ในที่สุดก็ถึงคราวของ ‘เจ้าแม่แห่งดนตรีบลูส์’ มา เรนีย์ คนนี้ที่เรื่องราวของเธอจะถูกนำมาเล่าขานผ่านงานภาพยนตร์เสียที

“Ma Rainey’s Black Bottom” เป็นภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากบทละครที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ของ ออกัส วิลสัน (August Wilson) ในปี 1982 ภาพยนตร์เรื่องนี้มีให้รับชมทาง Netflix วิโอลา เดวิส (Viola Davis) รับบทเป็น มา เรนีย์ และมี แชดวิก โบสแมน (Chadwick Boseman) นักแสดงหนุ่มฝีมือดีผู้ล่วงลับผู้เป็นที่จดจำจากบทบาทของซูเปอร์ฮีโร ‘Black Panther’ มารับบท ‘เลวี’ มือทรัมเป็ตคู่ปรับของมา เรนีย์ โดยเรื่องราวในหนังถ่ายทอดช่วงเวลาหนึ่งที่มา เรนีย์ต้องไปบันทึกเสียงบทเพลงที่เธอแต่งขึ้น เกิดเป็นสมรภูมิการต่อรองทางอำนาจ การต่อสู้เพื่อความเคารพในสิทธิ และความเป็นอิสระทางศิลปะระหว่างคนผิวสีด้วยกันเองนั่นคือเธอ กับ เลวี และ ระหว่างทั้งคู่กับคนขาวในบทบาทของผู้จัดการส่วนตัวและโปรดิวเซอร์ผู้ควบคุมการบันทึกเสียงในครั้งนี้ ตัวหนังใช้วิธีการเล่าเรื่องในหนึ่งโลเคชั่น มีรูปแบบการแสดงที่เข้มข้น งานกำกับภาพ และองค์ประกอบทางภาพยนตร์ที่มีอิทธิพลของงานละครเวที

กำเนิดตัวแม่

มา เรนีย์ เกิดมาบนโลกใบนี้เมื่อวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1886 ที่จอร์เจียพร้อมชื่อ ‘เกอร์ทรูด พริดเจ็ตต์ (Gertrude Pridgett)’ (แต่ในบางแหล่งก็บอกว่าเธอเกิดที่แอละบามาในเดือนกันยายน ปีค.ศ. 1882) เธอคือหนึ่งในผู้บุกเบิกและแผ้วถางทางของดนตรีบลูส์ เป็นนักร้องเพลงบลูส์รุ่นแรกที่ได้รับการบันทึกเสียง มา เรนีย์ผสมผสานรากฐานการแสดงแบบโวเดวิลล์ (Vaudeville) (การแสดงหลากหลายรูปแบบที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลง เต้นรำ การแสดงละคร หรือว่ามายากล และอื่น ๆ ซึ่งเฟื่องฟูในอเมริกาตั้งแต่ปี 1880 ถึงปี 1920) เข้ากับการถ่ายทอดอารมณ์และน้ำเสียงอันเข้มข้นในแบบฉบับของเพลงบลูส์แห่งแดนใต้ขับขานบทเพลงที่เธอแต่งมันขึ้นมาด้วยตัวเอง จนได้รับฉายาว่า ‘เจ้าแม่แห่งเพลงบลูส์’ และได้ส่งอิทธิพลต่อศิลปินรุ่นหลังสืบต่อมา 

มา เรนีย์กับวง ‘Rabbit Foot Minstrels’ ของเธอ

‘เกอร์ทรูด พริดเจ็ตต์’ ออกแสดงตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น เธอได้ชื่อ ‘มา’เรนีย์ เมื่อมีอายุได้ 18 ปี จากการแต่งงานกับนักร้อง นักเต้น และนักแสดงตลก ‘วิลเลียม ‘ปา’ เรนีย์’ ซึ่งคำว่า ‘มา’ ก็มาจาก ‘มาเธอร์’ นั่นเอง ทั้งคู่ได้ออกแสดงร่วมกันภายใต้ชื่อ ‘มา’ และ ‘ปา’ เรนีย์  ในรูปแบบของนักแสดงเร่ (Minstrel) เดินทางไปตามเมืองต่าง ๆ พร้อมกับเต็นท์และเวทีของตัวเอง ต่อมาทั้งคู่ได้แยกทางกันในปี 1916 มา เรนีย์ได้เปิดบริษัทเพื่อจัดการเรื่องออกทัวร์แสดงตามที่ต่าง ๆ ด้วยตัวเธอเองในนาม Madam Gertrude Ma Rainey and Her Georgia Smart Set’

มา เรนีย์กับการแสดงแบบโวเดวิลล์ (Vaudeville)

จากนั้นเธอได้เข้าร่วมกับกลุ่มชาวแอฟริกัน-อเมริกันที่ย้านถิ่นฐานจากภาคใต้เพื่อไล่ตามความฝันในเมืองใหญ่ทางตอนเหนือ เช่น ชิคาโก ต่อมาเธอได้เซ็นสัญญากับทาง Paramount บริษัทขายเฟอร์นิเจอร์ในวิสคอนซินที่เข้าสู่ธุรกิจการบันทึกเสียง และได้กลายเป็นหนึ่งในนักดนตรีบลูส์คนแรกที่ได้รับการบันทึกเสียง ระหว่างปี 1923 – 1928 เธอได้ทำการบันทึกเสียงกว่า 100 ครั้ง มีบทเพลงฮิตมากมาย อาทิ  “Bo-Weevil Blues” (1923), “Moonshine Blues” (1923), “See See Rider Blues” (1924), “Ma Rainey’s Black Bottom” (1927), และ “Soon This Morning” (1927) ซึ่งเป็นบทเพลงที่เธอเขียนเองทั้งหมด และบทเพลงเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์อันเป็นที่รู้จักของเธอ ทั้งการร้องอันทรงพลัง การเลือกสรรถ้อยคำที่สง่างาม และสไตล์การร้องแบบ “ครวญคร่ำ” (Moaning)

มา เรนีย์ เคยเป็นที่ปรึกษาให้กับศิลปินบลูส์ที่ต่อมามีชื่อเสียงโด่งดังและกลายเป็นตำนานของวงการเพลงบลูส์อย่าง เบสซี สมิธ ,หลุยส์ อาร์มสตรอง และ โทมัส ดอร์ซีย์ที่เคยเป็นมิวสิคไดเร็กเตอร์ให้กับการบันทึกเสียงหลายครั้งของเรนีย์ นอกจากนี้สไตล์การร้องแบบเต็มเสียงของเธอก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักร้องรุ่นหลังตั้งแต่ ดิน่าห์ วอชิงตัน ไปจนถึง แจนิส จอปลิน ครั้งหนึ่งโทมัส ดอร์ซีย์เคยกล่าวยกย่องเรนีย์ไว้ว่า “หลังที่ผมได้แสดงและทำงานร่วมกับมา เรนีย์ ผมพบว่าไม่มีที่ไหนให้ไปอีกแล้วนอกจากไปพบพระเจ้า”

ผู้บุกเบิกความเป็น ‘คลาสสิกบลูส์’

ในภาพยนตร์เรื่อง ‘Ma Rainey’s Black Bottom’ ดนตรีบลูส์ในแบบฉบับของมา เรนีย์ถูกทำให้เห็นว่ามันดู ‘คร่ำครึ’ ไม่สนุกสนานเร้าใจและชวนเต้นตามยุคสมัย เมื่อเทียบกับบทเพลงของเธอในเวอร์ชันที่เรียบเรียงใหม่โดย ‘เลวี’ มือทรัมเป็ตหนุ่มหัวก้าวหน้าผู้ที่เชื่อมั่นว่างานดนตรีในสไตล์แจ๊สนั้นคืออนาคตของวงการดนตรีและเขานี่แหละจะมีชื่อเสียงขึ้นมาด้วยการสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองในแนวทางนี้ ถึงแม้ว่าความขัดแย้งในรูปแบบนี้เคยมีขึ้นจริงในปลายทศวรรษที่ 1920 แต่ผลก็ปรากฏในปัจจุบันแล้วว่าดนตรีในสไตล์ “คลาสสิกบูลส์” อันเข้มข้นและเป็นเอกลักษณ์ที่เกิดจากการบุกเบิกโดยมา เรนีย์นั้นเป็นรากฐานที่สำคัญของงานดนตรีบลูส์และดนตรีอเมริกันมาจนถึงทุกวันนี้

มา เรนีย์และเลวี

เรนีย์แสดงโวเดวิลล์ทั่วภาคใต้มาเป็นเวลาหลายปี มันทำให้เธอได้ฝึกฝนทักษะของการแสดง การสร้างความบันเทิง สร้างเสียงหัวเราะและดึงดูดใจผู้ชม การใช้ชีวิตนักดนตรีเร่ออกทัวร์ไปทั่วนั้นทำให้เธอได้พบกับนักดนตรีตามถิ่นที่เธอไป หลายคนนั้นใช้เสียงร้องและกีตาร์ในสำเนียงเสียงของบลูส์ถ่ายทอดความรู้สึกข้างในออกมาอย่างดิบกร้าว เปี่ยมไปด้วยคีตปฏิภาณและอารมณ์อันลุ่มลึก ภาพและเสียงที่ได้ยินตามท้องถนนที่เธอสัญจรผ่านนั้นได้ฝังรากลึกลงในจิตใจของเธอ

เรนีย์จึงเริ่มผสมผสานเพลงบลูส์เข้ากับรูปแบบของการแสดงเพื่อบุกเบิกแนวเพลงที่จะสร้างความบันเทิงให้กับฝูงชนในขณะเดียวกันก็พูดถึงชีวิตของคนผิวดำในอเมริกา ในช่วงเวลานั้นได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่โดยเฉพาะการอพยพจากใต้สู่เหนือของคนผิวดำ การแบ่งแยกทั้งหลายไม่ว่าจะเหนือและใต้ ชนบทและเมือง ความล้าสมัยและสมัยใหม่ สิ่งเหล่านี้กำลังจะถูกเลือนเส้นแบ่งของมัน วิธีการที่หลอมรวมสองขั้วของมา เรนีย์สอดคล้องกับวิถีของการเปลี่ยนแปลงและมันทำให้เธอได้รับความนิยมจากผู้ชมทั้งในแดนใต้และในชิคาโกที่เธอได้บันทึกเสียงและทำให้เธอได้กลายเป็นแม่แบบนวัตกรรมทางดนตรีบลูส์ที่เข้าถึงผู้คนได้ในทุกระดับ

นักเล่าเรื่องผู้ถ่ายทอดประสบการณ์ของผู้หญิงผิวดำ

มา เรนีย์ไม่ได้เพียงแค่สร้างความนิยมในแนวเพลงบลูส์คลาสสิกเท่านั้น แต่เธอยังเขียนเพลงด้วยตัวเองอีกด้วย ในขณะที่นักร้องบลูส์คนอื่น ๆ ในยุคนี้เช่น เบสซี สมิธ และ มามี สมิธ ต่างก็ร้องเพลงที่แต่งโดยคนอื่น แต่สำหรับเรนีย์นั้นหนึ่งในสามของเพลงที่เธอบันทึกเสียงไว้เขียนเนื้อร้องโดยเธอเอง เช่นบทเพลง “Moonshine Blues” และ“Ma Rainey’s Black Bottom”

ในขณะที่นักแต่งเพลงผิวขาวใน Tin Pan Alley ต่างขยันผลิตผลงานเพลงพอปเพื่อเอาใจตลาดออกมามากมาย มา เรนีย์เลือกที่จะสร้างความประทับใจในเพลงของเธอด้วยความลึกซึ้งและความหลากหลายจากประสบการณ์ทั้งหลายของเธอและผู้หญิงผิวดำ ที่แสดงให้เห็นถึงความเจ็บปวด ความโกรธแค้น ความอิ่มอกอิ่มใจ ความรัก ความปรารถนาทางเพศ และอื่น ๆ อีกมากมาย

ตัวละครในเพลงของมา เรนีย์จะเป็นผู้หญิงที่สามารถทำได้ดั่งใจอย่างที่เธอต้องการและอย่างที่ผู้ชายทั้งหลายสามารถทำได้ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะดูไม่ดีไม่งามหรือไม่ก็ตาม เช่นในเพลง “Dead Drunk Blues” ที่พูดถึงผู้หญิงที่อยากดื่มเหล้าจนเมาหัวราน้ำแบบผู้ชาย “I’m gonna get drunk, Papa, just one more time / ‘Cause when I’m drunk, nothin’ don’t worry my mind”

ด้วยการเล่าเรื่องของมา เรนีย์ทั้งในคำที่เธอร้องและไลฟ์สไตล์ของเธอได้เป็นพลังต่อสู้กับความคิดในสังคมที่กำหนดบทบาทเอาไว้ว่าผู้หญิงนั้นควรจะเป็นเช่นไร บทเพลงของมา เรนีย์ที่เป็นเช่นเดียวกันกับตัวตนของเธอนั่นคือ “เป็นตัวของตัวเองและไม่ยอมจำนนให้กับใครหน้าไหนทั้งนั้น” ได้ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับความปรารถนาของผู้หญิง เป็นแรงกระตุ้นให้พวกเธอได้ใช้ชีวิตที่อิสระเป็นตัวของตัวเองและไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของใคร

มา เรนีย์ ผู้มีอิสระทางเพศ

สิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า มา เรนีย์ใช้ชีวิตตามใจปรารถนาก็คือเรื่องของคนรักที่เธอแสดงออกอย่างอิสระ หลังจากเลิกรากับสามีไป เธอก็มีคนรักเป็นผู้หญิงอย่างเปิดเผยและไม่เคยพยายามที่จะปิดบังความเป็นไบเซ็กชวลของเธอเลย ในปี 1925 เธอถูกจับในข้อหาจัดปาร์ตี้ “อนาจาร” และ “สนิทสนม (เกินพอดี)” กับหญิงสาวกลุ่มหนึ่ง ทำให้ เบสซี สมิธ (ซึ่งมีข่าวลือว่าอาจจะเป็นหนึ่งในคนรักของเธอ) ต้องประกันตัวเธอออกมา ไม่กี่ปีต่อมาเรนีย์ได้ปล่อยเพลง “Prove It On Me Blues” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในบทเพลงอันเก่าแก่ที่สุดที่สะท้อนมุมมองของการเป็นเลสเบี้ยน “Went out last night with a crowd of my friends, / They must’ve been women, ’cause I don’t like no men.” โปสเตอร์โฆษณาเพลงนี้ที่เผยแพร่โดย Paramount วาดเป็นรูปการ์ตูนมา เรนีย์สวมชุดสูทสามชิ้นของผู้ชายกำลังยืนพูดคุยอย่างสนิทสนมกับหญิงสาวสวยสองคนที่มุมมืดด้านหนึ่งของภาพเราจะเห็นนายตำรวจกำลังเฝ้าดูอย่างระแวงระวังในเงามืด

โปสเตอร์โฆษณาเพลง “Prove It On Me Blues”

ถึงแม้ในช่วงเวลานั้นยังไม่มีใครเปิดกว้างเรื่องของอิสระทางเพศแต่มา เรนีย์ก็ตัดสินถ่ายทอดสิ่งที่เธอคิดและเป็นออกมาอย่างซื่อสัตย์ ถึงแม้คนฟังจะไม่ค่อยสนใจเนื้อหาของเพลงมากนักนอกจากความบันเทิงที่ได้รับจากดนตรีบลูส์ของเธอ แต่สิ่งที่มา เรนีย์ร้องและพูดออกมานั่นคือสิ่งที่เธอเป็นอย่างแท้จริง เธอไม่เคยรู้สึกผิดในไลต์สไตล์ของเธอและวิถีชีวิตในแบบที่เธอเป็น และนี่แหละคือสิ่งที่เป็นเสน่ห์ของมา เรนีย์

มา เรนีย์ ผู้ต่อสู้กับความอยุติธรรมในอุตสาหกรรมดนตรี  

ด้วยฝีมือการแสดง การแต่งเพลง และน้ำเสียงอันทรงพลังของเธอทำให้เรนีย์ได้รับชื่อเสียงในฐานะศิลปินที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 1920 รายได้จากการทัวร์ของเธอสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมดังกล่าว เธอและวงดนตรีของเธอสามารถทำเงินได้มากถึง 350 เหรียญต่อสัปดาห์ในการทัวร์กับ Theatre Owners ‘Booking Association ความสามารถของเธอในการเจรจาจนได้งานสำคัญทั้งหลายบวกกับความเอื้ออาทรใจกว้างทำให้เธอเป็นที่รักในหมู่นักดนตรีที่ร่วมงานกันและมีแต่คนอยากมาร่วมงานกับเธอ  

ถึงแม้เรนีย์จะได้รับเงินเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่ถึงจำนวนที่เธอสมควรได้รับ ในช่วงที่การแข่งขันเฟื่องฟูในช่วงทศวรรษ 1920 บริษัทแผ่นเสียงพยายามเซ็นสัญญากับศิลปินผิวดำเพื่อใช้ประโยชน์จากพวกเขาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยเฉพาะนักร้องบลูส์ที่ไม่มีประสบการณ์ก็อาจจะต้องเซ็นสัญญายกค่าลิขสิทธิ์ในอนาคตหรือแม้แต่การเป็นเจ้าของเพลงของพวกเขาให้กับค่ายเพลง ทำให้ศิลปินหลายคนต้องสิ้นเนื้อประดาตัวถึงแม้จะได้รับความนิยมมากแค่ไหนก็ตาม

ซึ่งประเด็นของการที่ค่ายเพลงที่บริหารโดยคนผิวขาวพยายามเอารัดเอาเปรียบและแสวงหาผลประโยชน์จากศิลปินผิวดำได้ถูกสะท้อนให้เห็นผ่านภาพยนตร์เรื่อง ‘Ma Reiney’s Black Bottom’ อย่างน่าคิด ในหนังเราจะเห็นถึงการพยายามต่อรองทางอำนาจของมา เรนีย์กับผู้จัดการส่วนตัวและผู้ควบคุมการบันทึกเสียง เธอพยายามยืนยันในความต้องการของเธอเริ่มตั้งแต่สิ่งเล็ก ๆ อย่างโค้ก การให้หลานชายติดอ่างพยายามร้องเปิดในเพลง ‘Ma Reiney’s Black Bottom’ ให้ได้ ไม่ว่าจะต้องเสียแผ่นเสียงจากการเทคไปกี่ครั้งก็ตาม จนไปถึงการที่เธอต้องตัดสินใจว่าจะเซ็นสัญญามอบลิขสิทธิ์เพลงหรือไม่

เป็นเรื่องไม่ยุติธรรมเลยที่พวกค่ายเพลงจะเซ็นสัญญากับศิลปิน ซื้อสิทธิ์ในบทเพลงของพวกเขาด้วยเงินเพียง 5 -20 เหรียญ แล้วหลังจากนั้นก็นอนนับเงินที่ได้จากความสามารถและความทุกข์ยากของศิลปินเหล่านั้น ไม่รู้ว่าด้วยเหตุผลใดแต่ในปี 1928 มา เรนีย์ได้ถูกไล่ออกจาก Paramount และก็ไม่มีข้อมูลชัดเจนที่ระบุว่าเธอได้รับค่าลิขสิทธิ์จากงานเพลงของเธอหรือไม่ ต่อมาในปี 1935 เธอก็เริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเองด้วยการซื้อโรงละครสองแห่ง ได้แก่ โรงละคร Lyric และ Airdome จากนั้นเธอก็ดูแลบริหารมันจนเสียชีวิตในอีก 4 ปีต่อมาปิดตำนานของ ‘เจ้าแม่แห่งวงการเพลงบลูส์’ ทิ้งมรดกทางดนตรีไว้ให้คนรุ่นหลังได้เสพซึ้งและสัมผัสมันต่อไป

Source

Time

The Guardian

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส