ดร. เคลลี่ ยาคุโบวสกี (Kelly Jakubowski) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาดนตรีแห่งมหาวิทยาลัยเดอแรมได้ทำการสำรวจว่าทำไมเราจึงคิดว่าเพลงที่เราฟังเมื่อตอนที่เราเป็นเด็กและวัยรุ่นนั้นเป็นเพลงที่น่าจดจำที่สุดแล้ว

เรามักจะคิดถึงเพลงที่เราฟังเมื่อตอนที่เรายังเด็ก หากคุณเป็นวัยรุ่นยุค 70s ก็มีโอกาสที่คุณจะหลงรัก Queen, Stevie Wonder , ABBA หรือว่า ดิ อิมพอสซิเบิ้ล แต่ถ้าคุณเป็นวัยรุ่นยุค 90s – ต้น2000s คุณก็อาจจะชอบเพลง ’Wannabe’ ของ Spice Girls (แถมเต้นได้ด้วย) หรือไม่ก็เพลงพอปวัยรุ่นจากยุคทองของแกรมมี่-อาร์เอส

แล้วทำไมถึงเป็นเช่นนั้นล่ะ ? เราคิดว่าเพลงจากอดีตดีกว่าจริง ๆ หรอ หรือว่ามันมีอะไรเกี่ยวข้องกับความทรงจำที่เรามีในตอนนั้นกันนะ ?

ดนตรีนั้นมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับความทรงจำและอารมณ์ อย่างในคลิปที่มีการทำการทดลองกับนักบัลเล่ต์วัยเกษียณที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ เราจะพบว่าจิตใจและความทรงจำของเธอได้ย้อนกลับไปยังอดีตได้ด้วยเสียงดนตรีที่เธอคุ้นเคย

การวิจัยทางจิตวิทยาทั่วไปแสดงให้เห็นว่าความทรงจำมีความเกี่ยวข้องกับ ‘ความทรงจำเชิงอัตชีวประวัติ’  (autobiographical memories) ซึ่งหมายถึงประสบการณ์ในชีวิตของเรา ที่ช่วงเวลาหนึ่งจะถูกจดจำได้ดีกว่าช่วงเวลาอื่น ๆ มีปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งนั่นคือ ‘การประทุของความทรงจำในอดีต’ (reminiscence bump) ที่ทำให้เราพบความจริงที่ว่าผู้คนมักจะนึกถึงความทรงจำในช่วงอายุ 10 ถึง 30 ปีได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงเมื่อได้ฟังเพลงที่เราเคยฟังในช่วงอายุนี้ก็จะเกิดการย้อนกลับไปในช่วงเวลานั้น

ที่ผ่านมามีการพยายามอธิบายปรากฏการณ์นี้ไว้หลายทาง รวมถึงแนวคิดที่ว่าเพราะช่วงชีวิตนี้ประกอบด้วยประสบการณ์แปลกใหม่และเป็นช่วงเวลาของการแสวงหาตัวตน ทำให้เกิดการเข้ารหัสในสมองได้ลึกกว่าและสามารถหวนระลึกถึงได้ง่ายกว่า รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและฮอร์โมนที่พลุ่งพล่านในช่วงนี้อาจเพิ่มประสิทธิภาพของความทรงจำของเราที่มีต่อช่วงเวลานี้ได้

นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเวลาเราถามคนอื่นว่าเพลงโปรดของเขาคือเพลงอะไร คำตอบนั้นมักจะมาจากบทเพลงในช่วงเวลาที่เขายังเยาว์วัยและอยู่ในช่วงเวลาแห่ง reminiscence bump นั่นเอง รวมไปถึงการที่ผู้สูงอายุจะรู้จักกับเพลงในช่วงเวลาที่คุณปู่คุณย่ายังหนุ่มยังสาวมากกว่าเพลงพอปของหนุ่มสาวในยุคนี้

ดร. ยาคุโบวสกีได้ทำการทำลอง ‘การประทุของความทรงจำด้วยดนตรี (musical reminiscene bump)’ โดยทำการดลองกับกลุ่มผู้ใหญ่จำนวน 470 คนที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 82 ปี โดยนำเอาเพลงฮิตติดชาร์ตมาให้ฟังเพื่อตรวจสอบว่าคนในแต่ละช่วงวัยมีความสัมพันธ์กับเพลงฮิตเพลงนั้นอย่างไรบ้าง เพื่อตรวจสอบ 3 ปัจจัยต่อไปนี้ คือ ระดับความเกี่ยวข้องของบทเพลงกับความทรงจำเชิงอัตชีวประวัติ ระดับความคุ้นเคยที่มีต่อเพลงนั้นและระดับความชื่นชอบที่พวกเขามีต่อบทเพลง

ผู้เข้าร่วมการทดลองจะได้รับลิสต์รายชื่อศิลปินและบทเพลงพอปจำนวน 111 เพลงที่ติดชาร์ตตลอดระยะเวลา 65 ปี (พ.ศ. 2493-2558) และให้ทำการให้ระดับคะแนนตามปัจจัยทั้งสามที่กล่าวมา

จากการทดลองได้พบว่าโดยส่วนใหญ่ของกลุ่มตัวอย่างระบุว่าเพลงที่อยู่ในชาร์ตในช่วงที่เป็นวัยรุ่นไม่เพียงแต่จะมีระดับความคุ้นเคยที่มากแล้ว แต่ยังเกี่ยวข้องกับความทรงจำเชิงอัตชีวประวัติอย่างมากด้วย การประทุของความทรงจำด้วยดนตรีนั้นมีระดับสูงที่สุดในช่วงอายุประมาณ 14 ปีนั่นคือเพลงฮิตที่ผู้ฟังอยู่ในช่วงวัยนี้จะทำให้เกิดการหวนระลึกนึกถึงความทรงจำในช่วงเวลานั้นได้ดีที่สุด

นอกจากนี้ผู้สูงอายุ (อายุประมาณ 40+) ยังชอบเพลงในช่วงวัยรุ่นมากกว่าเพลงที่ฟังในวัยอื่น ๆ อย่างไรก็ตามผู้ใหญ่ที่อายุน้อยลงมา (อายุ 18-40 ปี) ไม่ได้แสดงแนวโน้มในแบบเดียวกันนี้และในบางกรณีก็ให้คะแนนความชื่นชอบเพลงในช่วงวัยรุ่นต่ำกว่าเพลงในยุคก่อนที่พวกเขาจะเกิดด้วยซ้ำ

สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าเพลงในช่วงวัยรุ่นของเรานั้นมีความสัมพันธ์กับความทรงจำในอดีตของเราอย่างใกล้ชิด ทั้ง ๆ ที่บางทีมันอาจจะไม่ได้เป็นเพลงโปรดของเราเลยด้วยซ้ำ ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะมันมาพร้อมกับช่วงเวลาต่าง ๆ ที่น่าจดจำของเรา เช่น เพลงที่เราเต้นตอนงานโรงเรียน เพลงที่เปิดในงานเลี้ยงอำลาจบการศึกษา หรือว่าการที่เราได้ฟังเพลงนั้นร่วมกันกับใครก็มีความสำคัญต่อการหวนกลับของความทรงจำด้วยเช่นกันเพราะหากคนที่เราฟังด้วยนั้นเป็นคนสำคัญของเราเพลงที่เราได้ฟังร่วมกันก็คงเป็นเสมือนแคปซูลแห่งการเวลา เมื่อท่วงทำนองของบทเพลงนั้นลอยมาเมื่อใดภาพความทรงจำในช่วงเวลาเหล่านั้นก็หวนย้อนกลับมาอย่างชัดเจนด้วยเช่นกัน

บางเพลงผู้เข้าร่วมทดลองก็มีระดับชื่นชอบที่ไม่ได้สัมพันธ์กับช่วงวัยตามที่ได้กล่าวมาเช่นเพลงในช่วงปลายยุค 70s ถึงต้นยุค 80s ที่ผู้เข้าร่วมวิจัยหลายคนยังไม่เกิดเลยในช่วงเวลานั้น สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าเพลงพอปในช่วงเวลาหนึ่งมีคุณค่าที่ไม่ได้ถูกจำกัดไว้ด้วยช่วงเวลา ตัวอย่างเพลงที่ใช้ในการวิจัยที่ผู้วิจัยชื่นชอบ ได้แก่ Hotel California ของ The Eagles, I Will Survive ของ Gloria Gaynor และ Billie Jean ของ Michael Jackson ซึ่งทำให้เราคิดไปถึงกระแสความนิยมในเพลงยุค 70s , 80s หรือ การได้รับความนิยมของดนตรีแนว City Pop ในปัจจุบัน

ดังนั้นดูเหมือนว่าเราอาจจะไม่ได้สนใจเพลงที่เราฟังในช่วงวัยเยาว์เพราะเราคิดว่ามันดีกว่าเพลงในยุคอื่น ๆ แต่อาจเป็นเพราะว่ามันมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับความทรงจำส่วนตัวของเรา แต่ถึงอย่างไรก็ตามเพลงบางเพลงอาจก้าวข้ามขอบเขตของยุคสมัยและกลายเป็นเพลงในดวงใจของเราก็ได้

คราวหน้าพอเวลาใครถามเราว่าเพลงโปรดของเราคือเพลงอะไร คำตอบที่เราตอบไปคงบ่งบอกได้ดีเลยว่าเรานั้นเป็นวัยรุ่นยุคไหน

Source

The Northernecho

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส