ในทุกวันนี้การทำเพลงที่บ้านนั้นเป็นเรื่องง่าย ไม่ว่าใคร ๆ ก็สามารถสรรหามาทำกันได้แม้กระทั่งในห้องนอนเล็ก ๆ ของเรา เพียงแค่มีแล็ปท็อปสักเครื่อง โปรแกรมทำเพลง ออดิโออินเตอร์เฟซ และอุปกรณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็พร้อมลุยกันได้เลย ซึ่งคุณภาพของผลงานก็จะออกมาแตกต่างกันไปตามแต่ฝีมือที่มีและอุปกรณ์ที่ใช้ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นต้นทุนที่ลงไปก็คงไม่มากสักเท่าไหร่นัก

แต่สำหรับการทำอัลบั้มสักอัลบั้มในอดีตนั้นคงไม่สามารถจบลงด้วยอุปกรณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ และทำในสถานที่ขนาดย่อมอย่างห้องนอนของเราได้ แน่นอนว่านั่นอาจนำมาซึ่งต้นทุนการผลิตที่แพงหูฉี่จนอาจทำให้เราต้องตกใจเมื่อได้รู้ว่าบางอัลบั้มนั้นมีต้นทุนการผลิตหลาย 10 ล้านเหรียญ !! วันนี้เราจะพาเพื่อน ๆ มาดูกันว่ามีอัลบั้มใดบ้างที่ใช้ต้นทุนการผลิตที่แพงแบบสุด ๆ

7. Metallica – The Black Album : 1 ล้านเหรียญ

อัลบั้ม ‘The Black Album’ ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในอัลบั้มอันทรงอิทธิพลที่สุดต่อวงการเพลงเมทัลคงไม่ต้องมีการบรรยายสรรพคุณอะไรแล้วกับอัลบั้ม self-title ชุดนี้ที่ทำให้วง ‘เมทัลลิกา’ (Metallica) ได้กลายเป็นซุปตาร์แห่งวงการเมทัล

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนการผลิตนั้นสูงก็เกิดจากการที่นายบ็อบ ร็อก (Bob Rock) โปรดิวเซอร์ของอัลบั้มชุดนี้ มีนโยบายว่าไม่ว่าจะต้องอัดอีกสักกี่เทคก็ตามก็จะต้องทำให้ได้จนกว่าการบันทึกเสียงนั้นมันจะใช่ที่สุด นอกจากนี้ร็อกยังได้บังคับขืนใจให้สมาชิกวงเมทัลลิกาทำการแต่งเพลงและบันทึกเสียงในสภาพสภาวะกดดันแบบที่วงไม่เคยเป็นมาก่อน โดยการเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในกระบวนการแต่งเพลงและพยายามให้วงบันทึกเสียงในแต่ละแทร็กให้มีความสดที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ผลลัพธ์ที่ได้มันก็หอมหวานสมกับความทรมานที่ได้ลงทุนไปและทำให้มันกลายเป็นอัลบั้มสุดคลาสสิกและเป็นที่รักของทั้งนักวิจารณ์และแฟนเพลงไปในที่สุด และแน่นอนว่าเพลงฮิตอมตะตลอดกาลของเมทัลลิกาหลายเพลงก็อยู่ในอัลบั้มนี้ด้วยทั้ง “Enter Sandman”, “Sad But True”, “Wherever I May Roam” และ “The Unforgiven”

6. Kanye West – My Beautiful Dark Twisted Fantasy : 3 ล้านเหรียญ

อัลบั้มชุดที่ 5 ของอเมริกันแรปเปอร์ ‘คานเย เวสต์’  ที่มีต้นทุนการผลิตสูงถึง 3 ล้านเหรียญเนื่องมาจากการขนเอาทัพของบุคคลที่มีชื่อเสียงในอุตสาหกรรมดนตรีเข้ามาขยำขยี้ร่วมงานกันในการผลิตงานเพลงชุดนี้ แถมยังมีการจองสตูดิโอบันทึกเสียง Avex Recording Studio ในโฮโนลูลูทั้ง 3 ห้องตลอด 24 ชั่วโมงในช่วงเวลาที่มีการบันทึกเสียงเพื่อที่จะได้ให้แรปเปอร์หนุ่มคานเยได้เดินเข้าห้องนู้นออกห้องนี้เวลาที่เขารู้สึกตีบตันทางความคิดสร้างสรรค์ !

แต่ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นก็ช่างคุ้มค่าเพราะมันได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในอัลบั้มที่ดีที่สุดของคานเย และมักไปปรากฏอยู่ในลิสต์อัลบั้มยอดเยี่ยมที่สุดของหลายสำนัก

5. Korn – Untouchables : 4 ล้านเหรียญ

อัลบั้มชุดที่ 5 ของวงนูเมทัลยอดนิยมที่ปล่อยออกมาให้หลังเป็นเวลา 2 ปี หลังจากอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ อย่าง ‘Issues’ (1999) ซึ่งเมื่อประสบความสำเร็จแล้วก็ย่อมคาดหวังอะไรที่ไปไกลกว่านั้น แต่นั่นก็อาจจะกลายเป็นความกดดันและผลลัพธ์ที่ไม่น่าอภิรมย์นัก

ตามคำให้การของนาย ‘โจนาธาน เดวิส’ (Jonathan Davis) ฟรอนท์แมนของวงซึ่งได้บอกว่าจริง ๆ แล้วต้นทุนการทำอัลบั้มนี้จะเสียอยู่แค่ 700,000 ดอลลาร์เท่านั้น แต่แทนที่ตลอดช่วงเวลา 2 ปีในการทำอัลบั้มนี้จะปล่อยให้ทีมงานได้ไปทำงานอย่างอื่นพวกเขากลับเลือกที่จะจ้างทีมเอาไว้เพราะกลัวว่าจะหนีชิ่งไปแล้วไม่กลับมา Korn จึงต้องจ่ายเงินเดือนให้กับทีมงานทุกคนเป็นเวลา 2 ปีแถมยังต้องเช่าบ้าน 5 หลังเป็นจำนวนเงิน 10,000 เหรียญต่อหลังตลอดช่วงเวลา 4 เดือน นี่แหละที่มันแพงก็เพราะสาเหตุนี้นี่เอง

แต่ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นช่างน่าเศร้านอกจากเพลง “Here To Stay” แล้วเราก็แทบจะนึกไม่ออกเลยว่ามีเพลงอะไรอยู่ในอัลบั้มนี้บ้าง แถมยอดขายของอัลบั้มยังกระทบจากการที่ไฟล์ของเพลงถูกปล่อยเถื่อนออกไปในโลกอินเทอร์เน็ตเป็นเวลา 3 เดือนก่อนที่จะออกเผยแพร่จริง ๆ เลยเปิดโอกาสให้ในช่วงเวลานั้นอัลบั้ม ‘The Eminem Show’ ของแรปเปอร์หนุ่ม ‘Eminem’ ขึ้นแท่นของอัลบั้มฮิตติดชาร์ตไปแทนและนี่ก็คือโศกนาฏกรรมของผลงานเพลงที่มันควรจะเยี่ยมยอดเมื่อดูจากต้นทุนที่ได้ลงไป

4. Garth Brooks – ..In The Life Of Chris Gaines : 5 ล้านเหรียญ

เป็นความพยายามครั้งสำคัญของซุปตาร์แนวคันทรี ‘การ์ธ บรูกส์’ (Garth Brooks) ที่พยายามจะมาแปลกแหวกแนวด้วยการปล่อยงานเพลงภายใต้คอนเซ็ปต์เรื่องราวของตัวละครสมมติมาดร็อกนาม ‘Chris Gaines’ และเล่นใหญ่ด้วยการจ้างนักดนตรีกว่า 50 ชีวิตมาร่วมบันทึกเสียงอัลบั้มนี้ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นไม่น่าประทับใจเพราะท้ายที่สุดอัลบั้ม ‘..In The Life Of Chris Gaines’ ก็สร้างความพิศวงงงงวยให้กับทั้งแฟน ๆ ของการ์ธ บรูกส์ และบรรดานักวิจารณ์ว่าแท้ที่จริงแล้วจุดประสงค์ของการทำอัลบั้มนี้ของเขานั้นคืออะไรกันแน่ ความสับสนที่มีผนวกไปกับการฟังเพลงในอัลบั้มนี้แล้วก็เฉย ๆ ก็เลยทำให้ยอดขายของอัลบั้มนี้พังอย่างถล่มทลายจนสุดท้ายผู้ช่วยออกทุนในการผลิต Pat Quigley ประธานของ Capitol Records ก็ต้องตกงานไปด้วยเพราะช่วยไม่ได้กับยอดขายที่มันน่าเศร้าใจยิ่งนัก

3. Def Leppard – Hysteria : 8 ล้านปอนด์

อัลบั้มชุดที่ 4 และชุดที่ประสบความสำเร็จที่สุดของวงร็อกแห่งยุค 80s จากเชฟฟิลด์ ‘Def Leppard’ อันเป็นอัลบั้มที่มีเรื่องราวมากมายทั้งมือกลองของวงต้องสูญเสียแขนซ้าย และเป็นอัลบั้มที่มีเพลงอันน่าจดจำอย่าง “Pour Some Sugar On Me” และ “Rocket” มันคืออัลบั้มที่บรรจุช่วงเวลา 62 นาทีกว่าที่จะพาคุณไปสัมผัสกับความเร้าใจในสไตล์ร็อกยุค 80s

และแน่นอนไอ้เจ้าตัวร้ายที่ทำให้เกิดความแพงนั่นก็คือ ‘เวลา’ อีกแล้ว อัลบั้มชุดนี้ใช้เวลาผลิตนานกว่า 3 ปีและต้นทุนที่ว่าก็งอกมาจากเวลาที่ยืดยาวออกไปจากการที่ ‘ริค อัลเลน’ (Rick Allen) มือกลองของวงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ทำให้ต้องสูญเสียแขนซ้ายไป และต้นทุนการผลิตกว่า 8 ล้านปอนด์นั้นย่อมหมายความว่าวงจะต้องขายงานเพลงชุดนี้ให้ได้อย่างน้อย 5 ล้านก๊อปปี้จึงจะถึงจุดคุ้มทุนซึ่งนั่นมันเป็นยอดขายที่หลายวงจะต้องปาดเหงื่อกันเลยทีเดียว

แต่แล้วในที่สุดอัลบั้มชุดนี้ก็ประสบความสำเร็จด้วยการมีเพลงอันเป็นที่รักของบรรดาแฟน ๆ อยู่มากมายหลายเพลงอีกทั้งยังติดชาร์ตเพลงฮิตทั่วโลกและขึ้นอันดับที่ 51 ในลิสต์อัลบั้มขายดีที่สุดตลอดกาลในอเมริกาและจบลงสวย ๆ ด้วยยอดขายกว่า 20 ล้านก๊อปปี้เรียกว่าเกินกว่าจุดหวาดเสียวปาดเหงื่อไปไกลเลยทีเดียว

2. Guns N’ Roses – Chinese Democracy : 13 ล้านเหรียญ

อัลบั้มชุดที่ 6 และชุดสุดท้ายก่อนแยกย้ายสลายโต๋ของวงร็อกระดับตำนาน ‘Guns N’ Roses’ ซึ่งอัลบั้มชุดนี้ออกมาในช่วงที่ชื่อเสียงและความนิยมของวงได้เสื่อมความนิยมลงมาจากยุครุ่งเรืองในปลายยุค 80s และต้นยุค 90s เพราะงานเพลงชุดนี้ปล่อยออกมาในปี 2008 ซึ่งห่างจากอัลบั้มชุดก่อนหน้า “The Spaghetti Incident?” (1993) เป็นเวลากว่า 15 ปี !! ถึงอย่างนั้นก็ยังพอมีฐานแฟนเพลงอยู่บ้าง ชื่ออัลบั้มชุดนี้มีความหมายคล้ายเป็นการเสียดสีถึงบางสิ่งที่ไม่อาจเป็นไปได้หรือว่าเป็นสิ่งที่ล่าช้ากว่าเวลาอันควรจนสิ่งนั้นมันไม่อาจเกิดขึ้นได้แล้ว ซึ่งก็เหมือนเป็นการบอกใบ้กลาย ๆ ว่าสุดท้ายแล้วอัลบั้มนี้จะมีชะตากรรมเช่นไร

อัลบั้มชุดนี้เริ่มต้นทำในราวปี 1993 – 1997 โดย Geffen Records ได้รายงานว่า ‘แอ็กเซิล โรส’ (Axel Rose) และเพื่อนร่วมวงได้ร่วมกันทำงานเพลงเอาไว้กว่า 50 – 60 เพลง ซึ่งมันเป็นอะไรที่น่ากลัวมาก ๆเพราะอย่างที่รู้ก็คือแอ็กเซิล โรสนั้นเป็นคนที่มีความเป็นเพอร์เฟ็กชันนิสม์และมีเรื่องเล่าขานกันว่าเขาใช้เวลาทำเพลงแต่ละเพลงนานมาก อย่างเช่นเพลงอันสุดยอดของพวกเขาอย่าง “November Rain” ก็ใช้เวลาทำนานกว่า 9 ปีก่อนที่จะถูกปล่อยออกมา และด้วยความเป็นเพอร์เฟ็กชันนิสม์ของโรสนี่แหละจึงทำให้อัลบั้มชุดนี้ใช้เวลาอันยาวนานมากกว่า 10 ปี และต้นทุนการผลิตก็งอกเงยไปตามวันเวลาที่ยืดยาวสุดท้ายแล้วมันก็เต็มไปด้วยเพลงที่ยังเขียนไม่เสร็จแก้แล้วแก้อีก สมาชิกวงโดนไล่ออกหรือลาออกไปจากค่ายเอง รวมไปถึงการทะเลาะเบาะแว้งกันกับผู้จัดการและค่ายเพลงด้วย

สุดท้ายอัลบั้มชุดนี้ก็ถูกปล่อยออกมาในเดือนพฤศจิกายนปี 2008 และแน่นอนว่าสุดท้ายเมื่อมันถูกปล่อยออกมาแฟน ๆ ก็ได้แต่กังขาว่านี่มันอิหยังวะ ? เพราะเหมือนทุกอย่างมันจะผิดที่ผิดเวลาไปหมดแถมงานเพลงยังได้รับคำวิจารณ์ว่าน่าเบื่อ อีกทั้งอัลบั้มนี้ยังมีสารที่เกี่ยวพันกับจีนด้วย เช่น การพูดถึงลัทธิ ‘ฝ่าหลุนกง’ หรืองานอาร์ตเวิร์กที่มีการใช้ภาพวาดสีน้ำมันชื่อ ‘ดาวแดง’ ของจิตรกรชาวจีนนามว่า ‘ชี่ ลี่เฝิง’ (Shi Lifeng) ที่สะท้อนการไร้ซึ่งอำนาจของประชาชนชาวจีนภายใต้อำนาจของผู้ปกครองและยังมีภาพกองพัพจีนกับภาพของฮ่องกงด้วยซึ่งสุดท้ายอัลบั้มชุดนี้ก็โดนแบนในจีนจนได้

1. Michael Jackson – Invincible : 30 ล้านเหรียญ

อัลบั้มชุดที่ 10 และชุดสุดท้ายของราชาเพลงพอป ‘ไมเคิล แจ็กสัน’ (Michael Jackson) ซึ่งบันทึกเสียงเอาไว้ก่อนที่จะเสียชีวิตในปี 2009 นอกจากจะปิดตำนานของราชาเพลงพอปแล้วอัลบั้มชุดนี้ยังได้ขึ้นชื่อว่าเป็นอัลบั้มที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์ดนตรีอีกด้วย

ส่วนสาเหตุของความแพงนั้นก็มาจากการที่อัลบั้มชุดนี้ใช้เวลาบันทึกเสียงยาวนานกว่า 4 ปีโดยไมเคิล แจ็กสันเริ่มต้นบันทึกเสียงอัลบั้มนี้ตั้งแต่เดือนตุลาคมในปี 1997 และไปแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคมปี 2001 ผ่านมือของ 9 โปรดิวเซอร์ตัวท็อปที่แน่นอนว่าค่าตัวนั้นจะต้องแพงหูฉี่ นี่ยังไม่ต้องพูดถึงค่าโปรโมตอีกกว่า 25 ล้านเหรียญซึ่งถ้ารวมไปกับค่าบันทึกเสียงแล้วมันจะทำให้อัลบั้มชุดนี้กลายเป็นอัลบั้มที่แพงที่สุดอย่างมหาศาลบานตะไทเลยทีเดียว

และในท้ายที่สุด ‘Invincible’ ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จนักในแง่ของงานเพลงเพราะไม่มีเพลงไหนเลยที่จะขึ้นแท่นความคลาสสิกได้เหมือนกับ “Thiller” หรือว่า “Billie Jean” แต่อย่างน้อยมันก็ได้รับการจารึกว่าเป็นอัลบั้มชุดสุดท้ายของตำนานเพลงพอปและแน่นอนว่ามันได้ขึ้นแท่นเป็นอัลบั้มที่มีต้นทุนการผลิตแพงที่สุดในประวัติศาสตร์วงการดนตรีนั่นเอง

Source

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส