แนะนำอัลบั้มเด่นประจำสัปดาห์ของสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกรกฎาคมนี้เรามาพร้อมกับอัลบั้มที่น่าตื่นเต้นถึง 4 อัลบั้ม 2 อัลบั้มเป็นงานดนตรีที่มีกลิ่นอายของยุค 80s สามารถฟังต่อกันได้สบาย ๆ ไม่มีอารมณ์สะดุดนั่นคือ ‘Sob Rock’ จาก John Mayer ที่หยิบจับงานดนตรีและมู้ดโทนจากยุค 80s มาใช้ในงานเพลงและอาร์ตเวิร์กได้อย่างแจ๋ว และ ‘Hurry Nothing’ จาก Picture Resort วงดนตรีอินดี้ญี่ปุ่นที่ทำเพลงออกมาได้สดฉ่ำชวนเคลิ้มมาก ๆ นอกจากนี้ยังมีอัลบั้มใหม่จากรุ่นใหญ่ของวงการดนตรีไทย Yokee Playboy กับอัลบั้ม ‘We Are New Old’ ที่มาเต็ม ๆ ถึง 16 เพลง ปิดท้ายด้วยอัลบั้มชุดที่ 2 ของ Clairo ที่เธอจับมือกับโปรดิวเซอร์หนุ่มแจ็ค แอนโตนอฟฟ์ทำเพลงออกมาได้อย่างนุ่มนวลและกลมกล่อม

‘Sob Rock’ – John Mayer

อัลบั้มชุดที่ 8 จากหนุ่มจอห์น เมเยอร์ ที่น่าสนใจตั้งแต่มู้ดโทนของอัลบั้มที่ทั้ง “ล้อ” และ “คารวะ” งานดนตรีและสุนทรียะแห่งยุค 80s โดยจับมาใส่ทั้งในงานอาร์ตเวิร์กและตัวเพลง ในส่วนของอาร์ตเวิร์กเมเยอร์ใช้งานภาพแบบยุค 80s ทั้งโทนสีและฟอนต์ (รวมไปถึงการจัดแสงและท่าทางการโพสต์ที่ชวนให้นึกถึงริชาร์ด เกียร์ในโปสเตอร์หนัง “American Gigolo” (1980) ส่วนมู้ดโทนก็ชวนให้นึกถึงซีรีส์ Miami Vice ในยุค 80s) นอกจากนี้ยังเอาฮาด้วยการมีสติกเกอร์ลดราคา “The Nice Price” ซึ่งแรกเห็นนั้นมันได้สร้างความเชื่อมโยงเราเข้ากับประสบการณ์ในอดีตเวลาซื้อเพลงในรูปแบบที่จับต้องได้ (เพราะเราคงไม่เห็นสติกเกอร์แบบนี้บนหน้าปกอัลบั้มเพลงสตรีมมิงแน่ ๆ ) อันเป็นกลยุทธ์การขายสินค้าลดราคาของบรรดาศิลปินยอดนิยมก่อนยุคดิจิทัล แค่นี้ยังไม่พอเมเยอร์ได้สร้างการ ‘ล้อเลียน’ ในมิติของโลกโพสต์โมเดิร์นด้วยการปลุกวิญญาณและคุณลักษณะของบางสิ่งที่ปรากฏในอดีตให้มาดำรงอยู่ในปัจจุบันเมื่อป้าย “The Nice Price” นี้ปรากฏอยู่บนปกอัลบั้มที่เผยแพร่ทางสตรีมมิงทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น Spotify, Apple Music (ซึ่งจะมีการทำรูปป้ายราคาแตกต่างกัน หากฟังใน Spotify จะเป็น tag สีเขียวที่มีโลโก้และชื่อ Spotify ถ้าเป็น Apple จะเป็น tag สีขาวมีโลโก้ Apple และคำว่า Music) ทำให้เกิดมีสิ่งที่ ‘เคยมีในอดีต’ มาปรากฏตัวอยู่ท่ามกลางบริบทใหม่ของโลกในปัจจุบัน นอกจากนี้หากเราเล่นเพลงในอัลบั้ม ‘Sob Rock’ ผ่านรูปแบบสตรีมมิงเช่นใน Spotify เราจะเห็นวิดีโอของเทปคาสเซ็ตต์อัลบั้ม ‘Sob Rock’ ใน Sony Walkman ขณะที่เรากำลังสตรีมเพลงฟังด้วย

ในส่วนของงานดนตรีเมเยอร์เหมือนเป็นคนขี้เบื่อก็เลยหมุนเวียนเปลี่ยนแนวเพลงไปในแต่ละอัลบั้มอย่าง อัลบั้ม “Continuum” ในปี 2006 ของเขาก็เน้นไปที่ดนตรีแจ๊สและโซล  “Born and Raised” ในปี 2012 ก็ออกไปทางโฟล์กพอป ส่วน “The Search for Everything” ในปี 2017 ก็ไปทาง R&B ร่วมสมัย คราวนี้เมเยอร์รู้สึกว่าดนตรีในยุค 80s ‘ช่วยให้เขารู้สึกสบายใจในช่วงที่เกิดโรคระบาด’ ก็เลยตัดสินใจปลุกพลังทางดนตรีของศิลปินในยุค 80s มาใส่อย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็น “I Just Called to Say I Love You” (1984) ของ สตีวี วันเดอร์ (Stevie Wonder), “Say Say Say” (1983)  ของ พอล แม็กคาร์ตนีย์ (Paul McCartney) และ ไมเคิล แจ็กสัน (Michael Jackson) และ “Your Wildest Dreams” (1986) ของ มูดดี้ บลูส์ (Moody Blues) ที่มีอิทธิพลต่อการเรียบเรียงดนตรีและสไตล์การร้องของเขาที่เราสามารถสัมผัสได้จากเพลงในอัลบั้มอย่าง “Shouldn’t Matter But It does,” “Why You No Love Me” และ “Shot in the Dark” ซึ่งเพลงหลังนี้ก็ชวนให้คิดถึงงานเพลงบัลลาดแจ๋ว ๆ ของ ฟิล คอลลินส์ (Phil Collins) อย่าง “Another Day in Paradise” ได้เหมือนกัน ส่วน “Last Train Home” ก็ชวนให้คิดไปถึงถึงกลิ่นอายของเสียงซินธ์และทางเดินคอร์ดจากเพลง “Africa” ของวง Toto

ซึ่งสิ่งที่เมเยอร์พยายามทำก็คือการบาลานซ์ระหว่างการคารวะและโหยหาอดีตกับการดำเนินอยู่ในปัจจุบัน เมเยอร์คงเอกลักษณ์ของงานดนตรีในยุค 80s ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเสียงซินธ์ กีตาร์ที่ใส่เอฟเฟกต์คอรัส โครงสร้างเพลงและทางเดินคอร์ดในแบบที่ถ้าเราเป็นแฟนเพลงยุค 80s ก็จะต้องร้องอ๋อและรู้สึกอิ่มเอมขึ้นมาในทันที และด้วยความที่เมเยอร์หยิบยืมองค์ประกอบจากในอดีตกลับมาทำใหม่และให้มีชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบัน ในแง่หนึ่งมันก็ได้ทำให้แฟนเพลงของเมเยอร์ได้มีโอกาสกลับไปสัมผัสกับงานเพลงในอดีตในรูปแบบของ ‘ผลพวงการผลิต’ ของศิลปินที่พวกเขาชื่นชอบ ไม่ใช่ในรูปแบบของการคัฟเวอร์แต่เป็นการ ‘ล้อ’ เพื่อ ‘คารวะ’ ต่อศิลปินและงานเพลงในยุค 80s นั่นเอง

‘We Are New Old’ – Yokee Playboy

นี่ก็เป็นอัลบั้มชุดที่ 8 เหมือนกัน (หากนับ The greatest grandfather hits) ซึ่งเป็นการรวมเพลงจาก ep. We Episode 1-4  ที่ Yokee Playboy หรือ โป้ ปิยะ ศาสตรวาหา ค่อย ๆ ปล่อยออกมาให้ได้ฟังตั้งแต่ ปี 2560 – 2563 เริ่มที่ซิงเกิลแรกคือ “รักรอที่ฟลอร์เต้นรำ” รวมทั้งหมด 12 เพลงพร้อมทั้งเพิ่มเพลงใหม่อีก 4 เพลงคือ “ดวงตาเห็นธรรม”, “อยู่ที่ไหนคนดี” , “เทอญอร”, “ฝันต้องไปให้ถึง” และอีกหนึ่งโบนัสแทร็ก “แต๊งกิ้ว เรดิโอ” กลายเป็น 16 เพลงที่อัดแน่นด้วยคุณภาพให้ฟังกันแบบอิ่ม ๆ  

‘We Are New Old’บ่งบอกความเป็น ‘รุ่นเก่าแต่เก๋า’ ของ Yokee Playboy โป้ได้สกัดเอาประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอด 25 ปีในวงการถ่ายทอดออกมาอย่างเต็มที่ ปลดปล่อยผ่านงานดนตรีที่มีความวาไรตี้สุด ๆ ในอัลบั้มนี้เราจะได้ฟังเพลงหลากแนวมากทั้งพอป ร็อก โซล ฟังก์ โฟล์ก อิเล็กทรอนิกส์ โดยเพลงในอัลบั้มจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคืองานทดลองทางดนตรีในแบบที่โป้ไม่เคยทำมาก่อน เป็นแนวที่โป้บอกว่า “อยากทำก่อนตาย” ทำให้เราจะได้ยินเพลงแบบ “ดวงตาเห็นธรรม” ซึ่งถือว่าใหม่ทั้งสไตล์ดนตรีที่มาในแนวอิเล็กทรอนิกโฟล์กและเนื้อร้องที่มาในทางธรรมออกแนวสร้างกำลังใจและชวนให้มองโลกอย่างเป็นกลางเข้าใจในเหตุและผลของความเป็นไป แต่ก็ไม่วายใส่อารมณ์ขันกวน ๆ ชวนหยิกแกมหยอกไปด้วย  หรือในเพลง “ดาวคะนอง” ซึ่งได้ร็อกเกอร์ในตำนานอย่างปูและเอก Blackhead มาแจมแบบนัวกันเต็มที่

อีกส่วนก็คืองานที่ไม่ได้ทดลองอะไรแต่ถ่ายทอดความรู้สึกออกไปตรง ๆ อย่างจริงใจ เป็นในรูปแบบที่เราคุ้นเคยดีจาก Yokee Playboy และเชื่อว่าหลายคนจะต้องคิดถึง ซึ่งเราสามาถสัมผัสผ่านเพลงอย่าง “รอแล้วก็รอ (Raindrop)” โซลพอปเพราะ ๆ ที่เน้นและเค้นอารมณ์ถ่ายทอดเนื้อหาเกี่ยวกับการรอคอยความรักความใส่ใจในกันและกันผ่านเสียงร้องและเครื่องดนตรีทุกชิ้นที่เรียงร้อยอย่างสุขุมนุ่มลึก

นอกจากนี้ยังสังเกตได้ว่างานเพลงของโป้ในยุคใหม่นี้มีความพยายามใส่พลังงานบวกเข้าไปอยู่เยอะ หลายเพลงจึงมีเนื้อหาดี ๆ ที่ให้แง่คิดดี ๆ กับเราได้อย่างเช่นเพลง “รอจนกว่าฝนซา” ที่เตือนให้เรายั้งอารมณ์ยั้งใจไว้สักนิดก่อนที่จะทะเลาะกัน เรื่องบางเรื่องแค่ ‘รอจนกว่าฝนซา’ ปัญหาก็จะผ่านไป

อัลบั้มนี้มีให้ฟังทางสตรีมมิงแล้ววันนี้แต่หากใครประทับใจก็สามารถจับจองในรูปแบบของซีดีที่ดีไซน์ออกมาให้แฟน ๆ ได้เก็บสะสมซึ่งมาพร้อมสมุดบันทึกการเดินทางจากอัลบั้ม1-8 และภาพถ่ายศิลป์คอนเซปต์ของอัลบั้ม นอกจากนี้ยังมีในรูปแบบแฟลชไดร์ฟขนาดเครดิตการ์ดลวดลายใยดักแด้ ในคอนเซปต์โยคีเพลย์บอยที่เหมือนดักแด้ฟักตัวพร้อมจะเกิดใหม่ (Yokee Playboy Reborn) เท่ไปอีก นอกจากนี้ยังจะมีรูปแบบแผ่นเสียงและคาสเซ็ตต์ให้ได้สะสมกันด้วยเร็ว ๆ นี้ สามารถติดตามข่าวสารได้ที่เพจเฟซบุ๊ก YKPB 

Hurry Nothing’ – Picture Resort

มินิอัลบั้มชุดใหม่จาก ‘Picture Resort’ ศิลปินอินดี้ญี่ปุ่นที่เป็นหนึ่งในกระแสธารของดนตรีซินธ์พอปซิตี้พอปอันสนุกสดใสและฉ่ำหวานในยุคนี้ งานเพลงของ Picture Resort ได้หลอมรวมสุ้มเสียงจากงานดนตรียุค 80s เข้ามาได้ด้วยกันทั้งซินธ์พอป , ซิตี้พอป , AOR หรือว่าดิสโก้

หลังจากที่เมื่อต้นปีเพิ่งปล่อย ep. ‘Work Drugs’ ไป คราวนี้ก็ตามมาติด ๆ ด้วยมินิอัลบั้ม ‘Hurry Nothing’ ซึ่งเป็นงานเพลงที่ทำในช่วงเวลาเดียวกันกับ ep. เพลงในชุดนี้ยังคงสุ้มเสียงอันไพเราะสดใสในแบบฉบับของ Picture Resort ไม่ว่าจะเป็น “And Another Chill …” ที่อิ่มเอมไปด้วยเสียงเครื่องเป่าที่ชวนเคลิบเคลิ้มจากฝีไม้ลายมือของอิบูกิ ยูชิ “Out Of Mind” ที่มาพร้อมเสียงกีตาร์อันพาใจสดชื่นในท่วงทำนองอันกลมกลืนที่เชิญชวนเราให้รู้สึกถึงสัมผัสของแสงแดด สายลมอ่อนและชายหาดอันเงียบสงบ  “Sunrise” ที่พาใจผ่อนคลายสบาย ๆ ไปกับสัมผัสแห่งฤดูร้อนในกลิ่นอายของดนตรีชิลล์เวฟ และ “Comfortable” แทร็กปิดท้ายที่มาพร้อมท่วงทำนองสดใสพาใจเบิกบาน

หากใครเป็นแฟนเพลงซิตี้พอป ซินธ์พอป หรือว่า AOR แล้วล่ะก็งานเพลงทั้ง 7 ของ Picture Resort ใน ‘Hurry Nothing’จะทำให้คุณเพลิดเพลินอย่างแน่นอน และหากใครชอบสะสมแผ่นเสียงอัลบั้มชุดนี้ก็มีทำออกมาในรูปแบบแผ่นเสียงสีส้มสวยพร้อมด้วยงานอาร์ตเวิร์กจาก Kachinatsumi ที่สวยแจ่มน่ายลสุด ๆ

‘Sling’ – Clairo

อัลบั้มเต็มชุดที่ 2 จากนักร้อง-นักแต่งเพลงสาวจากแมสซาชูเซตส์ ‘แคลโร’ (Clairo) หรือ แคลร์ ค็อทริลล์ ศิลปินสาวผู้สร้างปรากฏการณ์จากเพลง “Pretty Girl” ที่เธอร้องเองแต่งเองและโปรดิวซ์เองจนโด่งดัง อัลบั้มนี้เธอผละจาก รอสแทม แบตแมงลีจ (Rostam Batmanglij) โค-โปรดิวซ์จากอัลบั้มชุดแรก ‘Immunity’ และมาร่วมงานกับแจ็ค แอนโตนอฟฟ์ (Jack Antonoff) โปรดิวเซอร์หนุ่มที่เป็นแรงพลังสำคัญในงานเพลงชั้นยอดของศิลปินสาวแห่งยุคอย่าง ลอร์ด (Lorde), เทเลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) และ ลานา เดล เรย์ (Lana Del Rey) 

บทเพลงจากอัลบั้ม ‘Sling’ ถูกถ่ายทอดผ่านน้ำเสียงของแคลโรเด็กสาววัย 22 ปี ที่ให้ความรู้สึกที่อบอุ่น ใกล้ชิด ฟังสบาย กับเนื้อเพลงที่ถ่ายทอดมาอย่างจริงใจและรายละเอียดทางดนตรีที่ผสมผสานกันอย่างกลมกลืนกลมกล่อมทั้งเสียงกีตาร์ที่นุ่มนวล เปียโน เครื่องเป่า เครื่องสาย และเมลโลตรอน แคลโรได้ยกระดับจากความเป็นอินดี้ lo-fi มาสู่งานอินดี้ที่กำลังขยับเข้ามาใกล้ความเป็นเมนสตรีม งานของเธอมีความเนี๊ยบขึ้นและลุ่มลึกขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ถึงแม้ว่าความไร้เดียงสาและความขี้เล่นที่เราสัมผัสได้จากงานเพลงในอัลบั้มก่อนอาจจะขาดหายไป แต่มันก็เป็นเรื่องธรรมดา (และสมเหตุสมผล) ที่ศิลปินจะเติบโตขึ้นและถ่ายทอดบทเพลงที่มีเนื้อหาจริงจัง (แต่ว่าอ่อนโยน) สุขุมและสงบงัน เนื้อหาของงานเพลงในอัลบั้มนี้ก็เลยมักจะเป็นเรื่องของการเรียนรู้ที่จะดูแลตัวเอง การใคร่ครวญตั้งสติในการดำเนินชีวิต รวมไปถึงการปล่อยวางสิ่งที่ไม่มีประโยชน์และทำให้จิตใจเศร้าหมอง ซึ่งเราจะสัมผัสได้จากบทเพลงที่มีสัมผัสอันอ่อนโยนอย่าง “Blouse” บทเพลงโฟล์กในสไตล์ยุค 70s ในสุ้มเสียงแบบโมเดิร์นอันนุ่มนวลกลมกล่อมซึ่งมีเสียงร้องคอรัสจากลอร์ด (Lorde) ซึ่งนับว่าเป็นเพลงอะคูสติกที่ละเอียดอ่อนที่สุดเท่าที่แคลโรเคยทำมาเลย “Harbor” บัลลาดอารมณ์เหงาเศร้าที่แคลโรถ่ายทอดอารมณ์อันเข้มข้นผ่านท่วงทำนองและน้ำเสียงที่เบาสบายนุ่มนวล และ “Little Changes” กับ “Management” ที่มาในโทนเดียวกันสำหรับคนที่ชอบเพลงเหงา ๆ นุ่ม ๆ ซึ่งเพลงหลังมีการเติมเสน่ห์ของเครื่องสายเข้ามาด้วย หรือจะเป็น “Amoeba” ที่เริ่มต้นด้วยความนุ่มก่อนจะเติมแต่งสีสันลูกเล่นลีลาที่น่าสนใจให้กับบทเพลง เป็นหนึ่งในบทเพลงที่มีจังหวะชวนขยับขึ้นมาหน่อยและรายละเอียดของดนตรีก็ทำออกมาได้มีชั้นเชิงดี

‘Sling’ ได้เป็นประจักษ์พยานในพัฒนาการที่สำคัญของศิลปินสาวที่กำลังเติบโตขึ้นมาอย่างสง่างามและทำให้เรามั่นใจได้เลยว่าในก้าวเดินต่อไปของเธอนั้นเธอจะเติบโตขึ้นอีกและจะมาพร้อมบทเพลงที่มีความลุ่มลึกและลึกซึ้งขึ้นอย่างแน่นอน

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส