ถ้าถามคนที่ออกกำลังด้วยการวิ่งเป็นประจำว่าคิดยังไงกับการวิ่งบนลู่วิ่ง (Treadmill) ประมาณครึ่งหนึ่งจะบอกว่าโอเคกับมัน เพราะเป็นการออกกำลังกายและช่วยเรื่องคาดิโอกับการฝึกเมื่อการออกไปวิ่งข้างนอกไม่ได้ทางเลือก การวิ่งบนลู่ถือว่าเป็นทางเลือกที่ไม่แย่นัก แต่สำหรับอีกครึ่งหนึ่งจะบอกว่าเกลียดการวิ่งบนลู่วิ่งมา ถึงขั้นมีชื่อเล่นเรียกว่า “Dreadmill” (ลู่แห่งความน่ากลัว) หรือ “Satan’s Sidewalk” (ทางเดินของซาตาน) เลยทีเดียว ซึ่งเหตุผลหลักที่คนเกลียดลู่วิ่งก็เพราะมันอึดอัด ซ้ำซาก รู้สึกเหมือนว่าตัวเองทำอะไรผิดมาแล้วถูกทรมานด้วยอุปกรณ์ชิ้นนี้ที่ไหลไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด

จริงอยู่ว่ามันอาจจะดูเป็นความรู้สึกที่เกินจริงไปนิด แต่ว่าถ้าย้อนกลับไปดูต้นกำเนิดของเจ้าสิ่งที่เรียกว่า ‘Treadmill’ เราอาจจะเริ่มเข้าใจหัวอกคนที่อยู่บนลู่วิ่งก็ได้ เพราะความจริงแล้วสิ่งที่พวกเขารู้สึก คนยุคก่อนหน้าก็รู้สึกเช่นเดียวกัน แต่สมัยนั้นอาจจะแย่กว่าตรงที่ว่าพวกเขาไม่มีทางเลือกมากนัก เหนื่อยจนสายตัวแทบขาดก็ไม่สามารถจะกดปุ่ม ‘STOP’ ให้เครื่องหยุดได้ และที่น่าเศร้าคือหลายต่อหลายชีวิตถูกพรากไประหว่างอยู่บนลู่วิ่งในสมัยนั้น

ย้อนกลับไปช่วงศตวรรษที่ 18 ระบบราชทัณฑ์ของอังกฤษยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าไหร่นัก จับนักโทษมาได้ ขังไว้ในคุก แต่ทุกวันก็อยู่เฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไร คุกบางแห่งจับมาขัง ไม่มีแม้แต่เสื้อผ้าให้ใช้หรือสวมใส่ เครื่องนอนยังไม่มี อาหารก็มีบ้างไม่มีบ้าง วันไหนที่มีก็ได้กิน ไม่มีก็อดไป ญาติต้องเป็นคนหามาให้ สถานการณ์ค่อนข้างย่ำแย่ เข้าขั้นที่ว่านักโทษบางคนต้องถูกส่งไปกักขังที่ประเทศในอาณานิคมของอังกฤษหรือประหารชีวิตเลยเพราะไม่มีทรัพยากรเพื่อเลี้ยงนักโทษเหล่านี้

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นทางสังคมที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูด มีการชุมนุมประท้วงให้มีการดูแล ออกมารับผิดชอบและเปลี่ยนแปลงระบบราชทัณฑ์ให้ดีขึ้นโดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางศาสนาและกลุ่มนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน

เซอร์ วิลเลียม คูบิตต์ (Sir William Cubitt) เกิดที่มลฑลนอร์ฟอล์กในปี 1785 คุณพ่อเป็นเจ้าของโรงสี เขามีโอกาสได้ทำงานหลายแห่งตลอดช่วงวัยหนุ่ม เป็นช่างเครื่องในโรงงานอยู่หลายปี จดสิทธิบัตรและออกแบบเครื่องจักรที่ช่วยทุ่นแรงทำงานในการทำเกษตรกรรมอยู่หลายชิ้น (งานที่มีสร้างชื่อให้เขาคือการออกแบบใบพัดกังหันลมที่สามารถเปิด-ปิดเองได้ในปี 1807) จนเป็นวิศวกรที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของประเทศ ในปี 1818 เขาได้ออกแบบอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่เป็นเหมือนล้อขนาดใหญ่ให้ คล้ายกับล้อของหนูแฮมสเตอร์ เป้าหมายคือการปฏิวัติและฟื้นฟูนักโทษด้วยการใช้แรงงานของพวกเขา

คูบิตต์ดัดแปลงรูปแบบของเจ้าอุปกรณ์นี้มาเรื่อย ๆ จนมาเจอรูปแบบที่ได้รับความนิยมและถูกใช้ที่ Briston Prison ที่ลอนดอนเป็นแห่งแรก มันเป็นเหมือนล้อขนาดใหญ่ มีขั้นบันไดให้เหยียบแล้วหมุนไปเรื่อย ๆ ให้นักโทษมายืนเรียงกันเป็นแถวหน้ากระดาน (มากสุดได้ครั้งละ 24 คน) ด้านหน้ามีราวจับไว้ระดับสูงประมาณหน้าอก พอมีคนเริ่มเดินล้อมันก็จะหมุน จินตนาการเหมือนการเดินขึ้นบันไดที่ไม่มีทางสิ้นสุดนั้นแหละครับ (ถ้าใครเคยไปยิมอาจจะคุ้นเคยภาพนี้กันดีในชื่อของ StairMaster)

โดยเจ้าล้อยักษ์อันนี้ก็จะหมุนไปเรื่อย ๆ จุดประสงค์ของมันคือใช้แรงงานของนักโทษเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ ล้อยักษ์จะใช้เพื่อบดข้าวโพด ปั๊มน้ำ หรือสร้างพลังงานไฟฟ้า โดยอุปกรณ์ชิ้นนี้ถูกเรียกกันว่า “Treadmill”

ในเอกสารพระราชบัญญัติเรือนจำอังกฤษในตอนนั้นเขียนว่า นักโทษทุกคนที่มีอายุมากกว่า 16 ปีที่ถูกลงโทษด้วยการใช้แรงงานนั้นจะต้องเดินบน Treadmill อย่างน้อยเป็นเวลา 3 เดือน ในแต่ละวันก็จะต้องเดินอย่างต่อเนื่องประมาณ 6-8 ชั่วโมง เดิน 15 นาที พัก 5 นาที แล้วก็เดินต่อไปเรื่อย ๆ จนครบวัน คิดเป็นระยะทางแล้วแต่ละคนเฉลี่ยเหมือนเป็นการเดินขึ้นเขาระยะทางกว่า 2,633 เมตร/วัน หรือเทียบเท่ากับการเดินขึ้นยอดเขาที่สูงที่สุดของประเทศไทยอย่างดอยอินทนนท์ที่สูงประมาณ 2,565 เมตรทุก ๆ วันเลยทีเดียว

ออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde) นักเขียนชื่อดังคนหนึ่งของโลก ก็เป็นหนึ่งในนักโทษในช่วงเวลานั้น เขาถูกจับในปี 1895 ข้อหามีสัมพันธ์กับเพศเดียวกันและถูกตัดสินโทษให้จำคุก เขาต้องเดินบน Threadmill เป็นเวลาเกือบ 2 ปีและเขียนเล่าประสบการณ์อันโหดร้ายของเขาในกวี “The Ballad of Reading Gaol” ในภายหลังด้วย

Treadmill ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ดูแลเรือนจำและหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐก็เห็นว่ามันสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้ด้วยแรงงานของนักโทษที่ถูกคุมขัง เป็นการช่วยฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจภายหลังสงครามนโปเลียนในช่วงปี 1803-1815 นอกจากนั้นการลงโทษให้เดินบน Treadmill ก็ช่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเหล่านักโทษไปในทางที่ดีขึ้น ตามหลักฐานจากหนังสือ ‘The History of the Tread-Mill’ ที่เขียนโดย เจมส์ ฮาร์ดี (James Hardie) หนึ่งในผู้ขุมขังที่ดูแลการลงโทษด้วย Treadmill ในตอนนั้น เขาสรุปไว้สั้น ๆ ประมาณว่า “ผลที่ตามมาในเกือบทุกกรณีจะมีประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องของการทำผิดซ้ำของนักโทษ ที่ส่วนใหญ่แล้วบอกว่าจะถูกทำให้หิวโหยหรือทรมานยังไงก็ยังดีกว่าที่จะกลับไปปรับพฤติกรรมอีกรอบ” ฮาร์ดีอธิบายต่อว่าสิ่งที่ทำให้มันทรมานก็คือความรู้สึกที่ไม่มีวันสิ้นสุด เดินไปเรื่อย ๆ เดิม ๆ ที่ทำให้เหล่านักโทษกลัวและหมดหวัง

ในตอนแรก Treadmill ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างประโยชน์และในขณะเดียวกันก็ลงโทษคนที่ทำผิดไปด้วย แต่ต่อมาภายหลังคุกหลายแห่งกลับสร้างมันขึ้นมาเพียงเพื่อเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ลงโทษเท่านั้น ไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรเลยด้วยซ้ำ เหมือนล้อที่หมุนอยู่กับที่อันว่างเปล่าจริง ๆ ชื่อเสียงของมันโด่งดังมากจนภายในปี 1822 เจ้าอุปกรณ์นี้ก็ถูกนำมาใช้ในอีกฟากหนึ่งของมหาสมุทร คุกในอเมริกาประมาณสี่แห่งเริ่มสร้างเครื่องมือลงโทษนี้ในแบบของตัวเอง มันยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องจนช่วงกลางของศตวรรษที่ 18 ประมาณครึ่งหนึ่งของคุกในอังกฤษมี Treadmill เพื่อใช้สำหรับทำโทษผู้กระทำผิดของตนเอง

แต่ในช่วงปลายของศตวรรษที่ 18 ก็เริ่มมีการถกเถียงกันในสังคมมากขึ้นถึงความอันตรายของเจ้า Treadmill ในการลงโทษคนที่ทำผิด ในเอกสารที่เปิดเผยโดยวารสารการแพทย์รายสัปดาห์ (British Medical Journal) ชื่อว่า ‘Death on the Treadmill’ บอกว่ามีอัตราผู้เสียชีวิตที่สูงประมาณ 1 คนต่อสัปดาห์ในกลุ่มของผู้ต้องขังที่มีประวัติทางโรคหัวใจ หนึ่งในสมาชิกรัฐสภาอังกฤษยกประเด็นนี้ขึ้นมาในการประชุมกับรัฐมนตรีมหาดไทยว่า การปฏิบัติดังกล่าว “โหดร้ายและไร้ประโยชน์” เพราะอย่างที่บอกว่าภายหลังนั้น Treadmill ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจเหมือนอย่างในตอนแรกแล้ว แต่เป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของการทรมานนักโทษที่ไม่รู้จบเท่านั้น

การประท้วงเริ่มได้รับเสียงสนับสนุนมากขึ้น จนในที่สุดปี 1902 การลงโทษด้วย Treadmill ก็ถูกยกเลิกไปในที่สุด

ต่อมาในปี 1939 นักประดิษฐ์คนหนึ่งชื่อว่า จอห์น ริชาร์ดส์ (John Richards) ได้จดลิขสิทธิ์เครื่องออกกำลังกายให้กับสุนัขที่เจ้าของอาศัยอยู่ในอะพาร์ตเมนต์ การทำงานของมันคล้ายกับ Treadmill เลยก็คือหมุนอยู่กับที่ไปเรื่อย ๆ แล้วสุนัขก็เดินบนลู่เพื่อออกกำลังกาย ต่อมา โรเบิร์ต บรูซ (Robert Bruce) นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจก็นำมาปรับแต่งต่อโดยใส่มอเตอร์เข้าไปเพื่อทำการทดลองเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางการแพทย์สำหรับการออกกำลังกายแบบพอเหมาะ นี่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Treadmill ที่เราคุ้นชินกันอยู่ในปัจจุบัน

ถึงตอนนี้มีการคาดคะเนว่าตลาดของลู่วิ่งออกกำลังกายนั้นจะเติบโตประมาณปีละ 5.1% จากมูลค่าตลาดในปี 2020 ราว 3,280 ล้านเหรียญ ไปเป็น 5,930 ล้านเหรียญในปี 2030 คนที่ยิ้มออกและมีความสุขมากที่สุดอาจจะเป็นผู้ผลิตลู่วิ่งแบรนด์ต่าง ๆ ที่ยอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อยทุกปี แต่ถ้าหันไปถามคนที่วิ่งออกกำลังกาย ครึ่งหนึ่งก็ยังจะว่ามันคือเรื่องทรมานที่ต้องขึ้นไปวิ่งบนเจ้า Treadmill อยู่ดี

อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3
อ้างอิง 4 อ้างอิง 5 อ้างอิง 6
อ้างอิง 7 อ้างอิง 8 อ้างอิง 9
อ้างอิง 10 อ้างอิง 11 อ้างอิง 12
อ้างอิง 13

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส