โดยปกติ ลักษณะทางสรีรวิทยาของร่างกายมนุษย์นั้นสามารถแสดงความเชื่อมโยงต่อสิ่งที่เรากำลังให้ความสนใจอยู่ เช่น ในระหว่างที่เรากำลังดูภาพยนตร์ ฟังเพลง ฟังเรื่องเล่า ไม่ว่าจะเป็นหนังสยองขวัญหรือหนังตลก จะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจมีความผันแปรอันเนื่องมาจากการทำงานของสมอง แต่ผลการศึกษาใหม่ได้ค้นพบว่า สิ่งนี้ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์เฉพาะบุคคลแต่เพียงอย่่างเดียว แต่ยังสามารถ “ซิงก์” กับคนอื่น ๆ ได้ด้วย แม้ว่าจะไม่ได้ฟังหรือดูอยู่ในสถานที่เดียวกัน!

งานวิจัยจากวารสารวิชาการออนไลน์ ‘Cell Reports’ ได้ตีพิมพ์บันทึกการศึกษาวิจัยเบื้องต้นเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นภายในร่างกายของเรา ขณะที่เรากำลังให้ความสนใจในสิ่งต่าง ๆ โดยพบว่า ในขณะที่เรากำลังสนใจในอะไรบางอย่างอยู่ พบว่า แม้จะอยู่กันคนละสถานที่ แต่กลับมีอัตราการเต้นของหัวใจที่ใกล้เคียงกันราวกับว่ากำลังสนใจในบางสิ่งบางอย่่างไปพร้อม ๆ กัน

‘ปอลลีน เปเรซ’ (Pauline Pèrez) นักประสาทวิทยาแห่ง ‘สถาบันประสาทวิทยากรุงปารีส’ (Paris Brain Institute) หัวหน้าทีมวิจัย จึงได้ทำการทดสอบ 4 ครั้ง โดยนำอาสาสมัครที่สุขภาพดี 27 คน ฟังหนังสือเสียงนวนิยายเรื่อง ‘ใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์’ (20,000 Leagues Under the Sea ประพันธ์โดย ‘จูลส์ เวิลล์’ (Jules Verne) เป็นรายบุคคล และทำการตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจด้วยเครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) พบว่า อัตราการเต้นหัวใจของอาสาสมัครนั้นมีความผันผวนเปลี่ยนแปลงไปตามเรื่องราวของนวนิยาย และเมื่อนำเอาคลื่นหัวใจของอาสาสมัครทั้งหมดมาเทียบกัน พบว่ามีอัตราการเต้นของหัวใจที่สัมพันธ์กัน แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในสถานที่เดียวกันก็ตาม

แต่นั่นก็อาจทำให้เกิดคำถามว่า มันเป็นเพียงการตอบสนองทางอารมณ์หรือไม่ ทีมนักวิจัยจึงได้คิดการทดสอบอีกรูปแบบ โดยให้อาสาสมัครชุดเดิมดูวิดีโอสื่อการสอน พบว่า แม้ความน่าสนใจจะน้อยกว่า แต่อัตราการเต้นของหัวใจของอาสาสมัครทั้งหมดก็ยังใกล้เคียงกัน ยกเว้นว่าเมื่อนักวิจัยทำการเบี่ยงเบนความสนใจของอาสาสมัคร อัตราการเต้นของหัวใจก็จะไม่สัมพันธ์กันอีกต่อไป ซึ่งการทดลองนี้เป็นการตอกย้ำว่า เป็นปรากฏการณ์ของสมอง ไม่ใช่เกิดจากอารมณ์

และยังได้ทำการทดลองแบบแรกซ้ำอีกครั้ง ด้วยการให้กลุ่มอาสาสมัครที่มีความสนใจในเนื้อหามากที่สุด (โดยวัดจากการตอบคำถามเกี่ยวกับเนื้อเรื่องในนวนิยาย) ฟังหนังสือเสียงเรื่องเดิม แต่คราวนี้เปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่มีสติสัมปชัญญะ 19 คน พบว่า ผู้ป่วยทั้งหมดมีการซิงก์อัตราการเต้นของหัวใจที่น้อยกว่าอาสาสมัคร จนกระทั่งเมื่อผู้ป่วยฟื้นตัวในอีก 6 เดือนต่อมา อัตราการเต้นของหัวใจของผู้ป่วยคนนั้นจึงจะกลับมา “ซิงก์” เหมือนกับคนอื่น ๆ

การทดลองเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า การตอบสนองต่อสิ่งเร้าทางสายตา และการได้ยินบริบทโดยรวมของการเล่าเรื่อง ทั้งคำที่ใช้ อารมณ์ น้ำเสียง ฯลฯ จากสมอง สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อร่างกาย เช่นอัตราการเต้นของหัวใจ และอัตราการหายใจที่คล้ายคลึงกัน จนสามารถทำให้ปรากฏการณ์เหล่านี้ และสามารถซิงก์กันได้ในคนแต่ละคน แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในสถานที่เดียวกันอย่างน่าบังเอิญ

อย่างไรก็ตาม การวิจัยนี้เป็นเพียงการวิจัยเบื้องต้นในกลุ่มเล็กมาก ๆ ไม่เกิน 30 ตัวอย่างเท่านั้น แต่ก็น่าสนใจว่า การต่อยอดจากการทดลองนี้อาจนำไปสู่การเรียนรู้และเข้าใจปรากฏการณ์ร่างกายที่ไม่ใช่แค่เฉพาะตัวเราเอง แต่สามารถ ‘ซิงก์’ เข้ากับร่างกายของคนอื่นเพื่อวัดการทำงานของสมองผู้อื่นในอนาคตก็เป็นได้


อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส