ในภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ ตอนที่ 25 อย่าง ‘007 No Time To Die’ นอกจากจะเป็นตอนสุดท้ายของ ‘แดเนียล เครก’ (Daniel Craig) ที่ปิดตำนานได้อย่างหมดจดสมบูรณ์แบบแล้ว (อ่านรีวิวได้ที่นี่) ยังเป็นภาคที่ ‘แครี โจจิ ฟุกุนากะ’ (Cary Joji Fukunaga) ผู้กำกับ ได้ใส่กิมมิกต่าง ๆ โดยเฉพาะกิมมิกเกี่ยวกับเจมส์ บอนด์ 007 หรือที่เรียกว่า ‘Easter Egg’ ทั้งจากรูปแบบนิยายและภาพยนตร์ ทั้งที่ได้แรงบันดาลใจโดยตรง และที่แอบซ่อนเอาไว้แบบเนียน ๆ ไว้ประปรายทั่วทั้งเรื่อง ชนิดที่เรียกว่า แฟนพันธุ์แท้ดูแล้วต้องยิ้ม หรือไม่ก็ต้องร้องอ๋ออย่างแน่นอน

เราจึงขอรวบรวม 10 Easter Egg สำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นตลอด 167 นาทีของหนังภาคนี้ สำหรับแฟน ๆ หนังเจมส์ บอนด์ให้ได้ทบทวนกันอีกครั้ง และเก็บตกจุดที่หลายคนอาจหลงหูหลงตา (ขนาดผู้เขียนเองยังหลงหูหลงตาไปหลายจุดเลย 555) ให้ได้ตามเก็บและระลึกถึงอีกครั้ง หรือจะลองรับบทนักสืบ กลับไปดูหนังอีกรอบเพื่อหา Easter Egg แบบจะ ๆ ก็น่าจะสนุกดีไม่ใช่น้อย


SPOILER ALERT !!

คำเตือน : ส่วนหนึ่งของเนื้อหาในบทความนี้ มีการเปิดเผยเนื้อหาและบทสรุปของภาพยนตร์ ‘007 No Time To Die’ และภาคอื่น ๆ เท่าที่จำเป็น จึงจำเป็นที่ควรจะต้องรับชมภาพยนตร์ก่อนที่จะอ่านบทความนี้ (และเพื่อจะได้นึกเนื้อเรื่องตามระหว่างอ่านได้ด้วย) หากยังไม่ได้ชมภาพยนตร์ สามารถอ่านรีวิวที่ไม่มีเนื้อหาสปอยล์หนังได้ที่นี่


ไตเติลที่ได้แรงบันดาลใจจาก ‘Dr. No’

SPOILER ALERT ! ใน ‘No Time To Die’ เจมส์ บอนด์เคลือบแคลงสงสัย ‘ดร. เมเดอลีน สวอนน์’ (Léa Seydoux) คนรักปัจจุบันของตัวเองว่า เป็นสายให้กับ ‘โบลเฟลด์’ (Christoph Waltz) แห่งองค์กร ‘Spectre’ มาลอบวางระเบิดตัวเขาเอง ตอนที่เขาไปเยี่ยมหลุมศพของ ‘เวสเปอร์ ลินด์’ (Eva Green) ตอนที่ทั้งคู่ไปเที่ยวที่อิตาลี ทำให้บอนด์เลือกที่จะตัดความสัมพันธ์กับเมเดอลีน และส่งเธอขึ้นรถไฟเพื่อแยกทางกัน หลังจากที่รถไฟเคลื่อนผ่านไป จะเริ่มมีไตเติลลักษณะเป็นกราฟิกลายจุดวงกลมหลากสีสันขึ้นมาเป็นช่วงสั้น ๆ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากไตเติลของหนังเจมส์ บอนด์ภาคแรก ‘Dr. No’ (1962)

โดยผู้ออกแบบไตเติลในภาคนี้คือ ‘แดเนียล ไคลน์แมน’ (Daniel Kleinman) ผู้กำกับโฆษณาโทรทัศน์ชาวอังกฤษ ที่รับหน้าที่ออกแบบไตเติลหนังเจมส์ บอนด์ยุคหลัง ๆ ตั้งแต่ภาค ‘GoldenEye’ (1995) มาตลอดเกือบทุกภาค เขาได้หยิบเอากราฟิกลายจุดวงกลมจากไตเติลของ ‘Dr. No’ ที่ออกแบบโดย ‘มัวริซ ไบน์เดอร์’ (Maurice Binder) กราฟิกดีไซน์ผู้ออกแบบไตเติลเจมส์ บอนด์ยุคแรกหลายสิบภาค และผลิตแอนิเมชันโดย ‘เทรเวอร์ บอนด์’ (Trevor Bond) มาใช้ในภาคนี้แบบเป็นกิมมิกให้พอคิดถึงเล็ก ๆ


ฉากไล่ล่าด้วยรถยนต์ จาก For Your Eyes Only

SPOILER ALERT ! ในเหตุการณ์ก่อนหน้า เจมส์ บอนด์ ได้รับอนุญาตจากเมเดอลีน ให้ไปเยี่ยมหลุมศพของเวสเปอร์ ลินด์ได้ เพราะเธอเข้าใจว่าบอนด์เองยังทิ้งอดีตที่เคยทำกับเธอไว้ในภาคก่อน ๆ ไม่ได้ เขายืนอยู่หน้าหลุมศพ ก่อนที่หลุมศพนั้นจะระเบิด บอนด์จึงรู้ว่าเขากำลังถูกหน่วยสเปกเตอร์ตามล่า เขาจึงพยายามกลับไปที่โรงแรม เพื่อพาเมเดอลีนขึ้นรถ ‘Aston Martin DB5’ ที่ติดอาวุธและกระจกกันกระสุนรอบคัน เพื่อหลบหนีการไล่ล่าจากหน่วยสเปกเตอร์

ในฉากนี้ ชัดเจนว่าได้รับแรงบันดาลใจจากฉากหนึ่งในภาค ‘For Your Eyes Only’ (1981) เจมส์ บอนด์เวอร์ชัน ‘โรเจอร์ มัวร์’ (Roger Moore) ได้ไปเยี่ยมหลุมศพของ ‘Tracy Bond’ อดีตภรรยาของเขา และโบลเฟลด์ (ในรูปโฉมจอมวายร้ายที่ไม่ยอมเปิดหน้าตา) ก็สั่งให้สเปกเตอร์ขับรถไล่ล่าเขาหลังจากนั้นไม่นาน บอนด์และ ‘Melina Havelock’ (Carole Bouquet) จึงต้องขับรถ ‘Citroën 2CV’ สีเหลืองเพื่อหลบหนีการไล่ล่าเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าใน ‘No Time To Die’ นั้นดูซีเรียสกว่าเยอะ


‘We Have All the Time in the World’

007-James-bond

SPOILER ALERT ! หลังจากที่บอนด์จัดการซาฟินลงได้เรียบร้อยแล้ว แต่บอนด์กลับพบว่าตัวเองติดเชื้อนาโนบอตพร้อม ๆ กับซาฟิน บอนด์จึงตัดสินใจไม่หนีออกจากฐานทัพของซาฟินบนเกาะ ในขณะเดียวกัน ฝูงขีปนาวุธทีี่ ‘M’ สั่งให้ยิงทำลายฐานทัพก็กำลังเข้ามาใกล้เต็มที บอนด์จึงตัดสินใจปีนขึ้นดาดฟ้าฐานทัพเพื่อสละชีพไปพร้อม ๆ กับฐานทัพที่ถูกทำลายเพื่อที่จะไม่ต้องการให้เชื้อโรคติดต่อกับคนอื่น ๆ ที่มีสายพันธุกรรมใกล้กัน โดยก่อนที่เขาจะถูกขีปนาวุธถล่ม เขาได้พูดกับเมเดอลีนเป็นครั้งสุดท้ายผ่านทางวิทยุ เมเดอลีนยอมรับว่า มาทิลด์ ลูกสาวได้ตาสีฟ้ามาจากบอนด์

ะบอนด์ได้พูดประโยคสั่งลากับเมเดอลีนว่า “We Have All the Time in the World.” (เราต่างมีเวลาทั้งหมดในโลกนี้) รวมทั้งเพลงประกอบภาพยนตร์ ‘We Have All the Time in the World’ ที่ขับร้องโดย ‘หลุยส์ อาร์มสตรอง’ (Louis Armstrong) ที่คลอขึ้นประกอบเครดิตท้ายเรื่อง

ทั้งคำพูดและเพลงประกอบภาพยนตร์ ล้วนแล้วแต่ได้แรงบันดาลใจจากภาค ‘On Her Majesty’s Secret Service’ (1969) ตั้งแต่เพลง ‘We Have All the Time in the World’ ที่เคยถูกใช้ในภาคนี้มาแล้ว ในฉากที่เจมส์ บอนด์ออกเดตกับ ‘เทรซี’ (Diana Rigg) ก่อนที่ช่วงท้ายของหนัง เธอถูกหน่วยสเปกเตอร์สังหารคารถยนต์ที่ทั้งคู่ขับออกมาจากงานแต่งงาน

บอนด์ที่ตกตะลึงและเสียใจอย่างมากได้พูดประโยคสุดท้าย พร้อมกับกอดประคองร่างของเทรซีว่า “We Have All the Time in the World” เหมือนต้องการจะสะท้อนว่า ไม่ว่าเทรซี หรือเมเดอลีน ทั้งคู่ต่างก็เป็น “รักแท้” ของเจมส์ บอนด์ เพราะเทรซีคือผู้หญิงคนเดียวที่เจมส์ บอนด์แต่งงานด้วย ส่วนเมเดอลีนก็เป็นผู้หญิงคนเดียวที่เคยมีลูกกับบอนด์


‘เฟลิกซ์ เลเตอร์’ ผู้ถูกฉลามกัด

007-James-bond

SPOILER ALERT ! ใน ‘No Time To Die’ ‘เฟลิกซ์ เลเตอร์’ (Jeffrey Wright) สายสืบแห่งหน่วยซีไอเอ เพื่อนสนิทเพียงไม่กี่คนของบอนด์ กลับมาอีกครั้งในฐานะผู้ช่วยเหลือนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย ‘วัลโด โอบรูเชฟ’ (David Dencik) พร้อมกับผู้ช่วย ‘โลแกน แอช’ (Billy Magnussen) เขาทั้งคู่เดินทางมาเจอกับบอนด์ในบาร์ที่จาไมกา เพื่อเจรจากับบอนด์ในการขอความช่วยเหลืออีกครั้ง ซึ่งบอนด์ได้ปฏิเสธไปในคราแรก

บอนด์กับเลเตอร์เจอกันสั้น ๆ ใน ‘Casino Royale’ (2006) และ ‘Quantum of Solace’ (2008) ซึ่งใน ‘No Time To Die’ นอกจากเลเตอร์จะได้เจอบอนด์มากขึ้นกว่าเดิมเยอะแล้ว เขายังได้เล่าเรื่องที่เคยเขาถูกฉลามกัดให้บอนด์ฟังในบาร์ ซึ่งนั่นก็หมายถึง “เฟลิกซ์ เลเตอร์” คนก่อนจากภาค ‘Licence to Kill’ (1989) ที่แสดงโดย ‘เดวิด เฮดิสัน’ (David Hedison) ที่ถูกเจ้าพ่อค้ายาเสพติดแก้แค้นด้วยการหย่อนตัวเขาลงในบ่อฉลาม เพื่อให้ฉลามกัดจนขาขาดแต่ไม่ตาย


ตัวร้ายตายเพราะ ‘รถยนต์

007-James-bond

SPOILER ALERT ! ‘โลแกน แอช’ (Billy Magnussen) นักสืบหน่วยซีไอเอ ผู้ช่วยของเลเตอร์ เป็นคนของซาฟินที่แฝงตัวมาเป็นนักสืบ ในฉากบนเรือ แอชยิงเลเตอร์เข้าที่ท้อง และขังเขาไว้ที่ใต้ท้องเรือพร้อมกับบอนด์ที่พลาดท่า ก่อนจะระเบิดให้เรือล่มและขึ้นเครื่องบินหนีไป ในขณะที่เรือกำลังล่ม เลเตอร์ที่กำลังใกล้ตายสั่งให้บอนด์หนีเอาตัวรอด การตายของเลเตอร์ทำให้บอนด์รู้สึกสะเทือนใจไม่ต่างจากการจากไปของ ‘เวสเปอร์ ลินด์’ (Eva Green)

SPOILER ALERT ! บอนด์เจอกับ ‘โลแกน แอช’ อีกครั้งหลังจากการขับรถไล่ล่าในป่า แอชนอนอยู่ใต้ซากรถที่กำลังจะหล่นมาทับ บอนด์จึงได้ออกแรงผลักรถลงมาทับเพื่อเป็นการล้างแค้นให้กับเลเตอร์

ฉากนี้มีส่วนคล้ายกับฉากหนึ่งใน ‘For Your Eyes Only’ (1981) ฉากที่ ‘อีมิลล์ ล็อก’ (Michael Gothard) ขับรถไล่ล่าบอนด์ แต่พลาดท่าไปติดค้างอยู่ที่ปากเหว บอนด์จึงมอบความตายให้ล็อกด้วยการผลักรถตกลงไปยังหน้าผาอย่างเลือดเย็น


(คลิกที่นี่ อ่านต่อหน้า 2)

รำลึกอดีต ‘M’

007-James-bond

SPOILER ALERT ! ในฉากที่บอนด์ถูก ‘M’ (Ralph Fiennes) หัวหน้าของบอนด์ เรียกตัวกลับไปยังสำนักงาน MI6 อีกครั้ง และพบว่าเขากลายเป็นเพียงผู้เยี่ยมเยือน เพราะโดนเอารหัส 007 ไปใช้แล้ว ตอนช่วงที่เดินออกมาจากห้องทำงานของ M ผ่านโถงทางเดิน เราจะได้เห็นกรอบรูปหลายกรอบที่แขวนเอาไว้

ซึ่งกรอบรูปทั้ง 3 ที่ติดอยู่บนกำแพงโถงทางเดิน ก็คืออดีตนักแสดงผู้ที่เคยรับบท ‘M’ จากภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ตั้งแต่ในอดีตทั้ง 3 คน ตั้งแต่ ‘เบอร์นาร์ด ลี’ (Bernard Lee) ‘M’ ยุคแรกสุด ที่รับบทมาอย่างยาวนานที่สุดถึง 11 ภาค ตั้งแต่ ‘Dr. No’ (1962) จนถึง ‘Moonraker’ (1979)

คนที่ 2 คือ ‘โรเบิร์ต บราวน์’ (Robert Brown) รับบท ‘M’ ใน 4 ภาค ได้แก่ ‘Octopussy’ (1983), ‘A View to a Kill’ (1985), ‘The Living Daylights’ (1987) และ ‘Licence to Kill’ (1989)

และคนที่ 3 คือ ‘จูดี เดนช์’ (Judie Dench) ผู้รับบท ‘M’ ที่เป็นผู้หญิงคนแรก รับบทเหมาช่วงเจมส์ บอนด์ในยุค ‘เพียร์ซ บรอสแนน’ (Pierce Brosnan) ตั้งแต่ ‘GoldenEye’ (1995) จนถึงภาค ‘Skyfall’ (2012) ในยุคของ ‘เดเนียล เครก’ ซึ่งในหนัง เราจะได้เห็นกรอบรูปของเธอ แขวนไว้บริเวณตรงกลางโถงทางเดินพอดี


สวนแห่งพิษของ ‘ซาฟิน’

007-James-bond

SPOILER ALERT ! ‘ซาฟิน’ (Rami Malek) ที่เคยช่วยชีวิตเมเดอลีน (แต่สังหารแม่ของเธอ) ลักพาตัวเมเดอลีนและลูกสาวมาซ่อนไว้ในฐานทัพลับ และโรงงานผลิตสารเคมีผสมนาโนบอตบนเกาะที่ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่พิพาทระหว่างญี่ปุ่นกับรัสเซีย ซึ่งเมื่อเข้าไปภายในเราจะได้เห็นฐานทัพของซาฟิน ที่ตกแต่งในสไตล์เซนแบบญี่ปุ่น มีห้องรับรอง (ที่บอนด์เข้าไปหาเขาถึงรัง) รวมทั้งมีสวน หรือที่เมเดอลีนเรียกว่าเป็น “สวนแห่งพิษ” เพราะนอกจากจะมีสวนหินสไตล์เซนและสระน้ำทรงกลมแล้ว ซาฟินยังปลูกต้นไม้ไว้รายรอบสระน้ำด้วย เพียงแต่ว่าต้นไม้ทุกต้นในสวน ล้วนแล้วแต่เป็นต้นไม้ที่มีพิษ

‘สวนแห่งพิษ’ ได้แรงบันดาลใจจาก “สวนแห่งความตาย” (Garden of Death) จากนิยาย ‘You Only Live Twice’ และที่ปรากฏในนิยายของ ‘เอียน เฟลมมิง’ ซึ่งเจมส์ บอนด์ มีภารกิจต้องเดินทางไปญี่ปุ่น เพื่อไปทำลายสวนแห่งความตายของ ‘ดร.กันแทรม ชัตเตอร์แฮนด์’ (Dr.Guntram Shatterhand) หรืออีกสมญานามของโบลเฟลด์ ส่วนในภาพยนตร์ แม้ว่าจะมีกลิ่นอายญี่ปุ่นเหมือนกัน แต่สวนแห่งความตาย ฐานทัพของโบลเฟลด์ จะซ่อนตัวอยู่ภายใต้ภูเขาไฟ โดยมีแอ่งน้ำปลอม ๆ เอาไว้ลวงตาจากด้านบน และภายในตกแต่งในสไตล์ญี่ปุ่นแทน

นอกจากนั้น Working Title ของ ‘No Time To Die’ ก็เคยใช้ชื่อว่า ‘Shatterhand’ อันมีที่มาจาก ‘ชัตเตอร์แฮนด์’ นามแฝงของโบลเฟลด์ที่อ้างถึงในนิยาย รวมถึงบทภาพยนตร์ที่เขียนขึ้นใหม่ในภาคนี้ ก็ได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากภาค ‘You Only Live Twice’ ด้วยเช่นเดียวกัน


เศษซิการ์ในบ้านพักที่จาไมกา

SPOILER ALERT ! เจมส์ บอนด์ เดินอยู่ในบ้านพักในจาไมกา ที่ตัวเองใช้พักอาศัยในช่วงที่หยุดพักการเป็นนักสืบ เขาจับสังเกตได้ว่า มีใครบางคนแอบลักลอบเข้ามาในบ้าน เพราะเขาสังเกตเห็นเศษซิการ์ที่ตกอยู่ ในซิการ์นั้นมีข้อความระบุในฉลากซิการ์ว่า ‘Delectado’ เพื่อต้องการจะส่งสัญญาณอะไรบางอย่างถึงบอนด์

ข้้อความเดียวกันนี้ เป็นการอ้างอิงถึงรหัส ‘Delectado’ ที่เคยพูดถึงในภาค ‘Die Another Day’ (2002) เจมส์ บอนด์เวอร์ชัน ‘เพียร์ซ บรอสแนน’ (Pierce Brosnan) เดินทางไปยังโรงงานผลิตซิการ์ ที่ตั้งอยู่ในเมือง ‘ฮาวานา’ (Havana) ประเทศคิวบา และรหัสนี้ก็หมายถึง ‘ราอูล’ (Raoul) สายลับฮาวานาที่อาศัยอยู่ในโรงงานซิการ์


ฉันรู้ว่าทำไมเธอถึงยิงเขา”

007-James-bond

SPOILER ALERT ! หลังการถูกชักชวนให้กลับไปทำภารกิจกอบกู้โลกอีกครั้ง เจมส์ บอนด์ ถูกเรียกตัวเข้าไปยังสำนักงานของ ‘M’ (Ralph Fiennes) และพบว่า เขาถูกลบออกจากข้อมูลของหน่วย MI6 ไปแล้ว บอนด์จึงต้องกลายเป็นเพียง ‘บุคคลภายนอก’ (Visitor) แถมยังโดนสายลับรุ่นน้องอย่าง ‘โนมิ’ (Lashana Lynch) ชิงใช้รหัส 007 แทนอีกต่างหาก เมื่อโนมิพบกับ ‘มันนีเพนนี’ (Naomie Harris) เธอได้พูดขึ้นว่า “I get why you shot him” (“ฉันรู้ว่าทำไมเธอถึงยิงเขา”)

SPOILER ALERT ! ประโยคนี้อ้างอิงกลับไปที่ฉากเปิดของภาค ‘Skyfall’ (2012) ซึ่งถือว่าเป็นฉากที่ตื่นตะลึงมาก โนมิได้อ้างถึงเหตุการณ์ที่บอนด์ และมันนีเพนนี กำลังไล่ประกบ ‘พาทริซ’ (Ola Rapace) นักฆ่าลูกน้องของ ‘ราอูล ซิลวา’ (Javier Bardem) ที่ขโมยข้อมูลสายลับ NATO บอนด์กำลังต่อสู้กับพาทริซบนหลังคารถไฟที่กำลังวิ่ง ส่วนมันนีเพนนีเฝ้าดูอยู่ห่าง ๆ ก่อนจะใช้ปืนยิงเจมส์ บอนด์ ตามคำสั่งของ ‘M’ (Judi Dench) จนตกลงไปในแม่น้ำ จนกระทั่งมีการประกาศอย่างเป็นทางการให้บอนด์เป็นผู้ “หายสาบสูญ” และ “คาดว่าเสียชีวิตแล้ว”

อันนี้ไม่สปอยล์ แต่แถม ! หลังจากสายลับโนมิได้รับรหัส 007 แทนบอนด์ เขาจึงต้องกลายเป็นสายลับไร้รหัส ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วใน ‘You Only Live Twice’ ฉบับนิยาย หลังจากที่บอนด์ต้องสูญเสียภรรยาในวันแต่งงานในนิยายเล่มก่อนหน้า ‘On Her Majesty’s Secret Service’ ทำให้บอนด์เสียกำลังใจจนเสียผู้เสียคน ดื่มสุราและติดการพนันอย่างหนัก จนทำให้ ‘M’ ปลดรหัส ’00’ ที่หมายถึงการ ‘อนุญาตให้ฆ่าได้โดยไม่ผิดกฏหมาย’ ของบอนด์ และเกือบจะปลดเขาออกจากหน่วย MI6

แต่แล้วก็ยอมให้โอกาสสุดท้าย ด้วยการส่งบอนด์ไปเจรจากับหน่วยข่าวกรองที่ญี่ปุ่น เพื่อตามสืบเรื่องยานอวกาศที่ถูกขโมย และนักบินอวกาศที่ถูกลักพาตัว พร้อมรหัสประจำตัวใหม่คือ 7777 ส่วนในหนังเนื้อหาจะแตกต่างจากฉบับนิยาย


‘Gun barrel Sequence’ อีกครั้งของ ‘แดเนียล เครก

007-James-bond

SPOILER ALERT ! ในฉากไล่ล่า ‘ซาฟิน’ (Rami Malek) ในฐานทัพผลิตเชื้อโรค ‘โปรเจกต์ เฮราคลีส’ บอนด์และ ‘Nomi’ (Lashana Lynch) ได้แยกกันไปคนละทาง โดยโนมิได้แยกไปเพื่อช่วยเหลือเมเดอลีน และ ‘มาทิลด์’ (Lisa-Dorah Sonnet) ลูกสาวของเมเดอลีน ส่วนบอนด์ได้แยกไปตามหาซาฟินในฐานทัพ โดยเมื่อเขาได้เดินเข้ามายังจุดกึ่งกลางของอุโมงค์ขนาดยักษ์ เขาก็ทำการลั่นไกปืน 1 นัดก่อนจากไป

ซึ่งแน่นอนว่า ฉากนี้เป็นการล้อและเคารพ ‘Gun barrel Sequence’ ที่เป็นเอกลักษณ์ในหนังเจมส์ บอนด์ทุกภาค ซึ่งคนที่ออกแบบฉากนี้ ก็คือ ‘มัวริซ ไบน์เดอร์’ (Maurice Binder) คนเดียวกับผู้ออกแบบไตเติลในเจมส์ บอนด์ยุคแรก ๆ นี่แหละ จะว่าไป Easter Egg อันนี้ก็น่าจะเรียกได้ว่า เป็นการปรากฏตัวใน Gun barrel Sequence เป็นครั้งที่ 2 ของ ‘แดเนียล เครก’ ในหนังเรื่องเดียวก็ว่าได้ หรือจะมองว่าเป็นมุกเล็ก ๆ พอเรียกยิ้มก็ได้เช่นเดียวกัน

SPOILER ALERT ! แล้วประเด็นคือ ในหนังน่ะ เจมส์ บอนด์ยิงอะไร หรือยิงใครก็ไม่รู้ ไม่ใช่ซาฟินแน่ ๆ เพราะว่าทั้งคู่จะยังไม่เจอกันในจุดนี้ ลูกกระจ๊อกของซาฟินก็โดนเชื้อโรคตาย หรือไม่ก็โดนบอนด์กับโนมิยิงตายเกือบหมดแล้ว ส่วนโนมิก็ช่วยเมเดอลีนกับลูกสาวขึ้นเรือหนีมาได้อย่างปลอดภัย ฉากนั้นก็เลยเป็นการไล่ล่าซาฟินแบบตัวต่อตัว แถมในอุโมงค์นั้นก็ไม่มีใคร แต่พี่บอนด์ก็ยังยิงเปรี้ยงเอาเท่ไปหนึ่งนัด

คำถามก็คือ “พี่จะเท่อะไรกันนักกันหนาเนี่ยย ?”


อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง