คำเตือน : ในบทความมีภาพอาการเจ็บป่วยที่น่ากลัว


นาฬิกาที่มี ‘พรายน้ำ’ (Luminescent Watches) หรือนาฬิกาที่สามารถเรืองแสงได้ในที่มืด ที่เราได้เห็นและได้ใช้กันในปัจจุบันนั้นเป็นเทคโนโลยีที่ปลอดภัย แต่ในอดีต การเรืองแสงของนาฬิกา ทั้งนาฬิกาข้อมือ หรือนาฬิกาแขวน ล้วนเป็นการเรืองแสงของธาตุกัมมันตรังสีชนิดเข้มข้นที่เรียกว่า ‘เรเดียม’ (Radium) ที่ค้นพบโดย ‘มารี คูรี’ (Marie Curie) ในปี 1898 แม้ธาตุเรเดียมบริสุทธิ์จะมีประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะการรักษาโรคมะเร็ง

หรือแม้แต่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 อุตสาหกรรมผลิตเครื่องอุปโภคบริโภคในสหรัฐอเมริกาและยุโรปต่างยอมรับและใส่เรเดียมในผลิตภัณฑ์ ทั้งการผสมในเครื่องดื่ม นม เนย ช็อกโกแลต เครื่องสำอาง ครึมทาหน้า อายแชโดว์ ครึมทาหน้า ลิปสติก ฯลฯ หรือแม้แต่ในยาสีฟัน ยา หรือแม้แต่ชุดชั้นใน หรือหากผสมกับสังกะสีซัลไฟด์ (Zinc sulfide) นาฬิกาที่ทาด้วยสีผสมเรเดียม จะสามารถดูดซับแสงในเวลากลางวัน และเรืองแสงได้ในเวลากลางคืน

สารกัมมันตภาพรังสี
โฆษณายาบำรุงเส้นผมที่ผสมเรเดียม ในช่วงทศวรรษที่ 1930

แต่อย่างที่ทราบว่า แม้แต่ตัวผู้ที่ค้นพบธาตุเรเดียมอย่างมารี คูรี เองก็ยังได้รับผลกระทบจากอันตรายของธาตุเรเดียมจนทำให้ร่างกายทรุดโทรมและเสียชีวิตจากโรคลูคีเมีย

สารกัมมันตภาพรังสี
ปีแอร์ และ มารี คูรี

แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในการผลิตที่ต้องมีการสวมเครื่องแต่งกายเพื่อป้องกันการสัมผัสกับธาตุกัมมันตรังสี กลับมีผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่ทำงานกับธาตุเรเดียมที่อันตรายโดยไม่มีเครื่องป้องกันอะไรเลย ในหลาย ๆ ครั้ง ‘สาวเรเดียม’ (Radium Girls) หรือพนักงานทาสีเรืองแสงบนหน้าปัดนาฬิกา นาฬิกาข้อมือ และบนอุปกรณ์มาตรวัด กลับเต็มใจที่จะสัมผัสกับธาตุที่เป็นอันตราย เพื่อทำให้อุปกรณ์เหล่านั้นสามารถเรืองแสงได้ในเวลากลางคืน ซึ่งอาจถึงขั้นต้อง “เลียแปรง” ที่ปนเปื้อนธาตุเรเดียมเพื่อให้งานออกมาสมบูรณ์แบบ


• ยุคเรืองรุ่งของนาฬิกาเรเดียม

ปี 1917 ที่เมืองออเรนจ์ (Orange) รัฐนิวเจอร์ซีย์ (New Jersey) หญิงสาวหลาย ๆ คนที่ทำงานในบริษัทผลิตสี ‘ยูไนเต็ด สเตต เรเดียม คอร์ปอเรชัน’ (United States Radium Corporation) หรือ USRC บริษัทผู้ผลิตสีที่สามารถเรืองแสงได้ในที่มืดยี่ห้อ ‘Undark’ ครั้งหนึ่งต่างรู้สึกเต็มใจและภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ทาสีเรืองแสงให้กับอุปกรณ์นาฬิกาและอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งที่จำหน่ายทั่วไป รวมทั้งอุปกรณ์ด้านการบิน และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ถูกใช้ในสงคราม

สารกัมมันตภาพรังสี
โฆษณาน้ำเรเดียมสำหรับใช้ในบ้าน

ด้วยตัวงานที่เป็นงานเบา ๆ และได้รับรายได้ประมาณสามเท่าของค่าจ้างโดยเฉลี่ยของผู้หญิงที่ทำงานรับจ้างในช่วงเวลานั้น รวมทั้งตัวสีสะท้อนแสงเองก็ยังน่าดึงดูดใจ ทำให้เริ่มมีการชักชวนญาติหรือเพื่อนสนิทที่เป็นผู้หญิงมาทำงานด้วย แม้ว่าจะไม่มีอุปกรณ์ป้องกันรังสีอะไรเลยก็ตาม ด้วยการที่ในสมัยนั้นยังเชื่อกันว่าธาตุเรเดียมนั้นเป็นสารเคมีที่ปลอดภัยและมีคุณประโยชน์มากมาย

สารกัมมันตภาพรังสี
โฆษณาสียี่ห้อ Undark

ฤดูใบไม้ผลิ ปี 1917 ‘แคตเธอรีน เชาว์บ’ (Katherine Schaub) เข้าทำงานเป็นสาวเรเดียม หรือพนักงานทาสีนาฬิกาเรืองแสง เธอมีอายุเพียงแค่ 15 ปี แต่ก็รู้สึกเต็มใจอยากทำงานนี้ เพราะสำหรับผู้หญิงชนชั้นแรงงาน งานนี้ถือเป็นงานหัตถกรรมที่ทำรายได้ได้เป็นอย่างดี และเป็นงานที่ดูมีศิลปะ หรูหรา อีกทั้งยังได้ช่วยเหลือในงานด้านสงครามอีกต่างหาก

• หน้าที่งานของสาวเรเดียม

สารกัมมันตภาพรังสี
พนักงานของ USRC หรือสาวเรเดียม
กำลังทำงานระบายสีตัวเลขบนหน้าปัดนาฬิกาข้อมือโดยใช้สีเรเดียม

ที่ USRC ผู้ชายที่ทำงานในแผนกจัดการวัตถุดิบ จะต้องสวมผ้ากันเปื้อนเพื่อป้องกันสารตะกั่วจากธาตุเรเดียม เนื่องจากผู้ชายเหล่านี้ต้องจัดการกับวัตถุดิบอันตรายจำนวนมากที่สามารถสะสมในร่างกายได้ แต่สาวเรเดียมนั้นกลับไม่ต้องใส่ชุดป้องกันใด ๆ เลยในการทำงาน ตั้งแต่การระบายสารเรืองแสงบนหน้าปัดนาฬิกา จัดการกับขวดที่บรรจุสีเรืองแสง โดยสาวเรเดียมจะหลอมสีเรืองแสงในเบ้าหลอมเล็ก ๆ ก่อนจะใช้แปรงขนอูฐในการจุ่มเพื่อแต่งแต้มสีเรืองแสงระบายบนหน้าปัด ตัวเลข และเข็มนาฬิกา และในบางครั้งพวกเธอก็ต้อง ‘เลีย’ แปรงทาสีด้วยปากของพวกเธอเอง เพื่อช่วยให้สามารถทาสีในจุดที่มีรายละเอียดได้ดียิ่งขึ้น

สารกัมมันตภาพรังสี
หลอดบรรจุสีเรเดียมยี่ห้อ Undark

โดยปกติแล้วหลังเลิกงาน สีจะติดเลอะตามเสื้อผ้าและร่างกายของพวกเธอราวกับว่าเป็นสีปกติทั่วไป ซึ่งสาวเรเดียมมองว่า งานนี้เป็นงานที่รายได้ดีและสนุก หลายครั้ง สาวเรเดียมบางคนถึงกับแต่งตัวด้วยชุดสวย ๆ มาทำงานในวันศุกร์ เพื่อที่เธอจะได้มีโอกาสใช้สีเรเดียมในการทาเล็บ โปรยสะเก็ดสีบนผม หรือทาที่ฟัน เพื่อตกแต่งร่างกายของพวกเธอให้เปล่งประกาย ก่อนจะออกไปเที่ยวงานเต้นรำหลังจากเวลาเลิกงาน

สารกัมมันตภาพรังสี
สาวเรเดียมวาดหน้าปัดนาฬิกาปลุกยี่ห้อ ‘Ingersoll’
ในเดือนมกราคม 1932

สิ่งเหล่านี้ยิ่งสร้างความมั่นใจให้กับนายจ้างว่างานนี้จะเป็นงานที่ปลอดภัย จนทำให้พนักงานหลาย ๆ คนต่างแนะนำให้พี่สาว หลานสาว พี่สะใภ้ หรือญาติที่เป็นผู้หญิงให้มาทำงานเป็นสาวเรเดียม จนถึงปี 1920 โรงงานนี้ก็มีหญิงสาวที่เข้ามาเป็นสาวเรเดียมมากที่สุดถึงกว่า 300 คน

• อันตรายของเรเดียม

ไอโซโทปของธาตุเรเดียม-266 มีครึ่งชีวิตมากถึง 1,600 ปี ที่สามารถปล่อยอานุภาคอัลฟาออกมาได้ แม้รังสีอัลฟาเพียงเล็กน้อยนั้นจะไม่ได้เป็นอันตราย และสามารถพบได้ตามปกติตามธรรมชาติ แต่รังสีอัลฟาระดับเข้มข้นที่ทะลุผ่านผิวหนัง สามารถทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อของร่างกายได้ เมื่ออะตอมของเรเดียมปะปนในเซลล์หรือกระแสเลือดผ่านเข้าไปยังเนื้อเยื่อ เช่น เหงือก ก็สามารถที่จะทำอันตรายต่อเซลล์ และทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติร้ายแรงจนถึงตายได้

• ผลกระทบด้านสุขภาพ

เดือนมกราคม ปี 1922 สี่ปีหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มอลลี แม็กเกีย (Mollie Maggia) วัย 24 ปี เป็นสาวเรเดียมคนแรกที่เสียชีวิต เริ่มแรกเธอมีอาการปวดฟัน แต่แม้หมอฟันจะถอนฟันกรามที่ปวดออกไปแล้ว แผลก็ยังไม่หาย ซ้ำร้าย แผลยังเต็มไปด้วยเลือดและหนอง

เมื่อแพทย์ทำการผ่าตัด พบว่ากระดูกของเธอกลายเป็นสีเทา และเปราะหักชนิดที่ว่าแค่ใช้นิ้วจิ้มก็พังทลาย เธอทนทรมานกับอาการป่วยมายาวนานกว่าแปดเดือน สุดท้าย กระดูกกรามก็หลุดออกจากกะโหลก และเศษหูชั้นในก็หลุดออกมา และในที่สุด เนื้องอกที่อยู่ภายในเข้าไปดันเส้นเลือดที่คอ ทำให้เลือดไหลท่วมคอจนทำให้เธอสำลักเลือดและเสียชีวิตบนเตียงในที่สุด

มอลลีไม่ใช่สาวเรเดียมคนแรกที่เกิดอาการป่วย เพราะอาการป่วยแปลก ๆ ที่เกิดจากธาตุเรเดียมก็เกิดขึ้นกับเหล่าสาวเรเดียมมากขึ้นเรื่อย ๆ บางคนได้รับบาดเจ็บจนทำให้กระดูกสันหลังเสื่อม มะเร็งผิวหนัง มะเร็งลำคอ ต้อกระจก รวมไปถึงฟันหลุด ผมร่วง และอาการโลหิตจาง

สารกัมมันตภาพรังสี
สาวเรเดียม และ ‘มอลลี แม็กเกีย’ (คนที่สามจากซ้าย)

จนกระทั่งสาวเรเดียมหลาย ๆ คนก็เริ่มเสียชีวิตตามมา ส่วนแคตเธอรีนก็กำลังประสบปัญหาฟันหลุดออกจากปากราวกับฟันผุ แพทย์หลายคนต่างสงสัยว่า ยามหัศจรรย์อย่างเรเดียมไม่น่าจะเป็นตัวการ จนถึงปี 1925 นายแพทย์ ‘แฮริสัน มาร์ตแลนด์’ (Harrison Martland) คือแพทย์คนแรกที่พิสูจน์ความเชื่อมโยงอาการเจ็บป่วยของเหล่าสาวเรเดียม หลังจากพบว่ามีเรเดียมสะสมอยู่ภายในกระดูกของพวกเธอเหล่านั้น

สารกัมมันตภาพรังสี
กรามเรเดียม (Radium Jaw) ที่เป็นผลกระทบจากการได้รับกัมมันตรังสีจากธาตุเรเดียม
ส่งผลทำให้เกิดภาวะฝีงอกบนใบหน้าส่วนล่างจากโรคมะเร็งเนื้อเยื่อ (Sarcoma)

แม้หลายคนจะเริ่มทราบถึงอันตรายของเรเดียม แต่บริษัท USRC ที่กำลังทำรายได้อย่างมหาศาลกลับกล่าวอ้างว่าการเสียชีวิตของมอลลีนั้นเกิดขึ้นจากโรคซิฟิลิส และยืนกรานว่าจะไม่รับผิดชอบต่อการเสียชีวิต อีกทั้งโรงงานใหม่ของบริษัทที่เพิ่งเปิด ณ เมืองออตตาวา รัฐอิลลินอยส์ ก็ยังมีการจ้างสาวเรเดียมตามปกติ และยังไม่ทราบถึงอันตรายที่เกิดขึ้น เพราะบริษัทได้กล่าวอ้างว่าใช้ธาตุเรเดียมคนละชนิด นั่นจึงทำให้เริ่มมีการเคลื่อนไหวเพื่อฟ้องร้องบริษัทเกิดขึ้น

‘เกรซ ฟรายเออร์’ (Grace Fryer) คืออดีตสาวเรเดียมคนแรกที่ตัดสินใจออกมาต่อสู้ เขาได้จ้าง ‘ลีโอนาร์ด กรอสแมน’ (Leonard Grossman) ทนายความวัย 46 ปีให้เป็นทนายช่วยว่าความ และดำเนินการฟ้องร้องบริษัทให้รับผิดชอบต่อกรณีนี้ ญาติและพี่สาวของแคตเธอรีน และมอลลี ได้ร่วมกับเหล่าญาติเพื่อดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายบริษัทคนละ 250,000 เหรียญ หรือ 3,400,000 เหรียญตามค่าเงินในปัจจุบัน

• การต่อสู้ของสาวเรเดียม

สารกัมมันตภาพรังสี
สาวเรเดียม 9 ใน 14 คน ผู้ดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยจากการบาดเจ็บ
จากผลกระทบของกัมมันตรังภาพรังสี

ปี 1924 สาวเรเดียมหลายสิบคนเริ่มป่วยและเสียชีวิตมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่การต่อสู้ยังยืดเยื้อ เพื่อที่จะต้องการไม่ให้กิจการที่กำลังรุ่งเรืองต้องหยุดลง บริษัท USRC ได้จ่ายเงินศึกษาวิจัยด้านความปลอดภัย เพื่อยืนยันและบิดเบือนข้อมูลว่า สีเรืองแสงที่ทำจากธาตุเรเดียมนั้นปลอดภัย ส่วนผลการศึกษาจากภายนอกระบุว่า อันตรายจากธาตุกัมมันตรังสีของเรเดียมนั้นเป็นอันตราย

แม้ว่าจะโดนฟ้องร้อง แต่เหล่านายจ้างที่ USRC ก็ยังคงให้ความมั่นใจว่างานที่คนงานทำนั้นปลอดภัย แต่การฟ้องร้องก็ดูเหมือนจะยากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฝั่งของนายจ้างก็ยังคงใช้เม็ดเงินและอิทธิพลอันกว้างขวางในการต่อสู้และบิดเบือนข้อมูลเพื่อปกป้องบริษัทจนถึงที่สุด และยิ่งซ้ำร้ายก็คือ เหล่าสาวเรเดียมที่เจ็บป่วยต่างถูกคนในชุมชนรังเกียจจากการถูกกล่าวหาว่าเป็นโรคซิฟิลิส ซึ่งเป็นโรคที่ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ที่น่ารังเกียจในยุคสมัยนั้น

นายแพทย์มาร์ตแลนด์ได้นำผลการชันสูตรศพของมอลลีขึ้นว่าความในชั้นศาล ในเวลานั้น คณะลูกขุนของเจ้าหน้าที่ชันสูตรศพไม่ได้แสดงให้เห็นความผิดปกติในทางพยาธิวิทยาแต่อย่างใด นายแพทย์มาร์ตแลนด์จึงตัดสินใจยกเลิกระบบลูกขุน และจ้างแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเป็นผู้ตรวจสอบแทน และเป็นไปตามคาดว่า มอลลีเสียชีวิตจากกัมมันตรังสี ไม่ใช่ซิฟิลิสตามที่บริษัทกล่าวอ้าง นั่นจึงทำให้บริษัท USRC ต้องจ่ายค่าเสียหายตามที่ถูกฟ้อง พร้อมกับการล่มสลายของบริษัทในเวลาต่อมา

• บทสรุปอันน่าเศร้าของสาวเรเดียม

สารกัมมันตภาพรังสี
คนงานที่ทำงานเกี่ยวกับไอโซโทปรังสี ที่กำลังสวมอุปกรณ์ป้องกันกัมมันตรังภาพรังสี

แม้การฟ้องร้องอันยืดเยื้อจะจบลง แต่นั่นก็ไม่ได้หยุดยั้งความเจ็บปวดจากรังสี พนักงานในบริษัทหลายคนเสียชีวิตในวัยหนุ่มสาว ในขณะที่คนที่ยังมีชีวิตต่างต้องเผชิญกับอาการป่วยที่เกี่ยวกับกระดูก ฟันหลุด และโรคมะเร็ง และที่น่าเศร้ายิ่งกว่าคือ มีเพียงบางคนเท่านั้นที่ได้รับการชดเชย ในขณะที่บางคนก็ไม่ได้รับเงินชดเชยใด ๆ

แคตเธอรีนเสียชีวิตในปี 1933 ตอนอายุ 30 ปี ส่วนสาวเรเดียมคนสุดท้ายที่เสียชีวิตคือ ‘มาเบล วิลเลียมส์’ (Mabel Williams) เธอเสียชีวิตในปี 2015 ตอนอายุได้ 105 ปี เธอเป็นสาวเรเดียมที่ทำงานให้กับ USRC เมื่อตอนอายุ 16 ปี

การต่อสู้เพื่อยืนยันสิทธิ์ของเหล่าสาวเรเดียม และการค้นพบอันตรายของธาตุเรเดียมของนายแพทย์มาร์ตแลนด์ กลายเป็นประโยชน์ สถาบันวิจัยหลายแห่งได้ขอคำแนะนำจากเขาเพื่อจัดการกับธาตุกัมมันตรังสี เช่นยูเรเนียม และพลูโตเนียมอย่างปลอดภัยในเวลาต่อมา และทำให้คนหนุ่มสาวที่มีหน้าที่จัดการธาตุกัมมันตรังสีสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อีกทั้งยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับกฏหมายความปลอดภัยในการทำงานในเวลาต่อมา

เรื่องราวของสาวเรเดียม ได้ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ดราม่าสัญชาติอเมริกันในปี 2018 ในชื่อว่า ‘Radium Girls’ กำกับภาพยนตร์โดย (Lydia Dean Pilcher) และ (Ginny Mohler) ซึ่งได้ฉายในโรงภาพยนตร์บางแห่งในสหรัฐอเมริกาและทางสตรีมมิงในปี 2020


อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส