นับจากการจุดกำเนิดของ BNK48 ที่ถือได้ว่าเป็นวงไอดอลอันดับหนึ่งของไทย ทั้งในแง่ความนิยม และความเป็นต้นแบบของกลุ่มไอดอลสายญี่ปุ่น หรือ 48 Group ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้กับไอดอลยุคต่อมาอย่างมากมาย 

ท่ามกลางการเติบโตของความนิยม และการตามมาของเมมเบอร์รุ่น 2-3 ใน BNK48 ไปจนถึงวงน้องสาวอย่าง CGM48 ยังมีเมมเบอร์กลุ่มหนึ่งซึ่งถือได้ว่ายืนหยัดและยืนอยู่ในระดับยอดของวงมาโดยตลอด ทั้งในด้านการเป็นเมมเบอร์ของวง และความนิยมจากเหล่าแฟนคลับ พิสูจน์ได้จากผลการโหวตใน General Election ทั้ง 2 ครั้ง ขณะที่เกือบทุกคนล้วนแต่เคยผ่านการเป็นเซ็นเตอร์ของ BNK48 มาแล้วทั้งสิ้น รวมถึงการติดเซมบัตสึในแทบทุกซิงเกิลและอัลบั้มของ BNK48 

เมมเบอร์กลุ่มนี้มีชื่อเรียกขานว่า “ชราไลน์” ซึ่งมีเมมเบอร์หลักตั้งแต่ก่อตั้งทั้งหมด 6 คน คือ “แก้ว-ณัฐรุจา ชุติวรรณโสภณ”, “ตาหวาน-อิสราภา ธวัชภักดี”, “อร-พัศชนันท์ เจียจิรโชติ”, “น้ำหนึ่ง-มิลิน ดอกเทียน”, “เนย-กานต์ธีรา วัชรทัศนกุล” และ “แจน-เจตสุภา เครือแตง” โดยนอกจากเป็นเมมเบอร์ระดับท็อปในด้านความนิยม ยังเป็นตัวท็อปในแง่ของวัยวุฒิสำหรับรุ่นหนึ่งอีกด้วย คือมีอายุ 20 ปีขึ้นไปกันทุกคนอันเป็นที่มาของชื่อกลุ่มนั่นเอง 

และเมื่อปฏิทินได้ผ่านล่วงปีที่ 4 ของวงไปสู่ปีที่ 5 “ชราไลน์” ที่ปัจจุบันเหลือกันอยู่ 5 เมมเบอร์คือ “แก้ว-ตาหวาน-อร-น้ำหนึ่ง-เนย” ก็กำลังจะมีโครงการที่จะได้ใกล้ชิดกับแฟนคลับมากขึ้น พร้อมแสดงพัฒนาการและตัวตนในอีกด้านมุมของแต่ละคนออกมา นั่นคือโปรเจกต์ที่มีชื่อเรียกว่า “BNK48 Charaline 1st Fanmeet ตอน สุภาพสตรีชราเทพี ณ วังเวงวิเวกวิเหวงโหวง” ในวันที่ 25-26 ธันวาคม 2564 นี้ พร้อมด้วย “BNK48 Charaline Project “Verb of Feeling”” ที่จะเป็นผลงานเพลงที่แต่ละคนจะนำเพลงของ BNK48 มาถ่ายทอดใหม่ในเวอร์ชันของตัวเอง 
 
มาร่วมนับถอยหลังไปสู่วันงานกันด้วยบทสนทนาครั้งนี้ ที่จะเป็นการเกริ่นนำกันก่อนว่าในโลกของ 5 สาวชราไลน์นั้นกอปรด้วยเรื่องราวและ “ความรู้สึก” อะไรและอย่างไรบ้าง

 

ความรู้สึกแรกของแต่ละคนตอนที่ได้ยินว่าจะมีโปรเจกต์นี้ 

แก้ว: ความคิดแว้บแรกเลยหรือคะ คิดว่าต้องสนุกแน่เลยค่ะ ได้ทำงานกับเพื่อน ๆ เราเคยแต่ติดเซ็มด้วยกัน แต่ไม่เคยทำอะไรที่แบบต้องระดมความคิดด้วยกัน แล้วอันนี้ก็ครั้งแรก ก็เลยคิดว่าน่าจะสนุกดีค่ะที่ได้ทำอะไรแบบนี้กับกลุ่มเพื่อนสนิทของเรา  

ตาหวาน: พอได้ยินก็รู้สึกตื่นเต้นค่ะ พอเราก็รอคอยโปรเจกต์นี้มานาน พอเราจะได้ทำก็รู้สึกตื่นเต้น แล้วก็เรามีอะไรที่อยากทำเยอะมากๆ มีไอเดียผุดขึ้นมาเยอะมากค่ะ  

น้ำหนึ่ง: ความคิดแรกตอนที่จะได้ทำ Fanmeet ก็รู้สึกตื่นเต้นและดีใจ เพราะพวกเราก็รอคอยเวลานี้มานาน แล้วก็เป็นโอกาสที่ดีที่พวกเราจะได้ใส่อะไรลงไปในโปรเจกต์นี้ ได้รวมหัวได้ระดมความคิดกันแบบหลาย ๆ เรื่องมาก ๆ ก็รู้สึกว่าดีใจที่ได้ทำงานร่วมกับเพื่อน ๆ ค่ะ 

เนย: ก็เหมือนกันค่ะ รู้สึกตื่นเต้น ตื่นตระหนกมากๆ ค่ะ เราก็มีโอกาสได้ไปดูแฟนมีตของพี่เฌอ (Cherprang’s Fanmeet Me and My Cats) หรือ Mimigumo (Mimigumo 1st Fanmeet “Secret of Mimigumo”) แล้วรู้สึกว่ามันสนุกมาก แล้วถ้าเรามีโอกาสทำอะไรแบบนี้บ้าง ใส่อะไรที่เราอยากทำลงไปด้วยกัน ต้องเป็นงานที่สนุกมากแน่ ๆ ค่ะ 

อร: ของอรก็คงรู้สึกว่า เย้ ได้ทำด้วยกันแล้ว ซักทีนะ เพราะว่าเราก็คาดหวังว่าเราจะได้ทำด้วยกัน  

โจทย์มาพร้อมเพลงใน “Verb of Feeling” เลยหรือเปล่า 

อร: ไม่ค่ะ ตอนแรกก็เป็นแฟนมีตของพวกเราก่อนค่ะ แต่ก็คิดกันว่า หรือว่าจะปู Story ของพวกเรา เป็นเหมือน Road to Fanmeet ดี สุดท้ายก็เลยออกมาเป็นโปรเจกต์ “Verb of Feeling” เพราะว่าแต่ละคนก็มีบทบาทกับเพลงของพวกเราอย่างมีนัยที่ค่อนข้างสำคัญ 

แก้ว: เราก็ได้คัฟเวอร์เพลงที่เรามีความสำคัญ แล้วก็ถ่ายทอดออกมาในสไตล์ของตัวเอง แล้วก็สะท้อนความเป็นเรา และให้แฟน ๆ ได้เห็นพัฒนาการของเรามากที่สุด โดยแต่ละเพลงเนี่ย ปกติเราจะไม่ได้ร้องเองทั้งเพลงเนอะ แต่พอมาเป็นเพลงคัฟเวอร์ เราก็ต้องร้องทั้งเพลง ก็โชว์ทักษะที่พัฒนาขึ้นของเรา ขณะที่แต่ละคนก็จะมีส่วนร่วมกับเพลงของตัวเองด้วย ของแก้วก็จะเป็นเพลง “Anata to Christmas Eve (คำสัญญาแห่งคริสต์มาสอีฟ)” ก็เป็นเพลงที่มีความสำคัญแทบจะที่สุดสำหรับตัวแก้ว ในการอยู่ BNK ก็จะมอบเป็นของขวัญให้กับแฟน ๆ แล้วก็นำเสนอตัวเองไปพร้อมกันด้วย เพราะว่าตัวแก้วคนก็จะมองว่าเล่นเปียโนอยู่แล้ว ก็เลยคิดไลน์เปียโนที่ยากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ปกติเราจะเล่นป๊อป แต่ความที่แก้วเรียนคลาสสิคมา ก็อยากที่จะผสมผสานความเป็นดนตรีคลาสสิกเข้าไปในเพลงนี้ด้วย เพราะฉะนั้นเพลงนี้ก็เลยเป็นไลน์เปียโนที่แก้วแต่งขึ้นมาเอง แล้วก็ผสมความเป็นดนตรีคลาสสิกเข้าไป มันก็เลยจะซับซ้อนนิดนึง ผสมกับเสียงเครื่องสายเข้าไปให้มันมีความเป็นเจ้าหญิง เหมือนเราอยู่ในป่า ตามหารักแท้ ในเพลงก็จะมีท่อนโซโลที่จะผสมเพลง Canon เข้าไปค่ะ จริงๆ ตอนที่แก้วเรียนมันจะมีคำว่า Impressionist น่ะค่ะ คือดนตรีที่บรรยายถึงภาพวาด ก็เลยอยากให้คนฟังแล้วมองเห็นภาพด้วย  

ซึ่งในแง่ของเพลงคนน่าจะคาดหวังกับเพลงของแก้วเยอะนะครับ 

แก้ว: จริง ๆ หนูว่าเขาก็คาดหวังกับทุกคนแหละ แต่ว่าของหนูก็จะแบบสไตล์ชัดกว่าเพื่อนหน่อยเพราะว่าทุกคนก็เห็นภาพว่าหนูคือผู้หญิงเล่นเปียโน เพราะฉะนั้นหนูว่าเพลงมันก็เป็นสไตล์อื่นที่ไม่ใช่ตัวเราไม่ได้ก็ต้องเป็นอันนี้แหละที่คนจะเห็นภาพมากที่สุดอะไรอย่างนี้ค่ะ แล้วก็ทำออกมาในแบบที่เราสามารถคิดแล้วก็สร้างมันได้ดีที่สุด ณ ตอนนั้น 
 

สำหรับตาหวานนี่น่าจะมีหลายคนเซอร์ไพรส์เหมือนกันที่ไม่ใช่เพลง “Namida Surprise! (ประกายน้ำตาและรอยยิ้ม)” ที่ตาหวานเป็นเซ็นเตอร์ 

ตาหวาน: ใช่ค่ะ แต่เอาจริง ๆ มันก็มีสองตัวเลือกหลัก ๆ อยู่แล้ว คือ “Namida” กับ “Yokaze no Shiwaza (พระจันทร์เสี้ยว)” จริง ๆ แล้วหนูโอเคทั้งสองเพลง เพลงนี้ก็ดีค่ะ เพราะเพลงนี้ก็อย่างที่บอกคือเพลงในเธียเตอร์คนนอกแบบว่า คนที่ไม่เคยเข้ามาดูในเธียเตอร์ไม่รู้จักเธียเตอร์เขาก็จะไม่เคยได้ยินเพลงนี้แน่นอน มันก็เป็นโอกาสที่ดีที่คนนอกเขาจะได้ฟังเพลงเรามากขึ้น แล้วก็รู้ว่า เออเพลงเรามีเพลงที่เพราะมีเพลงอะไรแบบนี้ด้วยค่ะ เป็นเพลงช้าๆ เศร้าๆ ซึ่งหนูชอบเพลงแบบอาร์แอนบีอยู่แล้วด้วย พอเราได้มาเวิร์กกับเพลงนี้มันก็มีอะไรต่าง ๆ ที่เราต้องลงดีเทลเยอะมากหรือพวกแอดลิบต่าง ๆ ครูเขาก็จะให้หนูคิดเองหมดเลย ไปฟังมา ไปทำมา ครูจะฟังท่อนนี้ครูว่าไม่ดีก็ต้องไปแก้มาใหม่ มันยากตรงที่เราต้องพัฒนากับตัวเองกับสิ่งที่เราชอบแล้วก็ต้องพัฒนาสกิลทักษะให้รู้สึกว่ามันถึงสิ่งที่เราตั้งความหวังไว้ 
 

ตอนครูปิ๋มบอกว่าเพลงทั้งหมดจะถ่ายทอดออกมาเป็นเพลงจังหวะกลาง ๆ แต่พอเห็นว่ามีเพลง “High Tension” กับ “River” ที่มีจังหวะเร็ว เลยน่าจะฉีกจากต้นฉบับมากพอดูนะครับ 

อร: ก็ค่อนข้างฉีกค่ะ คือเนื้อเพลงหลักของ “River” จะค่อนข้างเป็นเพื่อชีวิต สู้ ๆ ข้ามแม่น้ำ ฮึบๆๆๆ มันฮึกเหิมจริง ๆ แต่หนูก็บอกครูว่าเปลี่ยนจากเพื่อชีวิต มาเป็นการ Move On จากอะไรซักอย่างดีไหมคะ ก็เลยเป็น “River” เวอร์ชันที่เป็นผู้หญิงคนนึงเดินเข้าไปในร้าน Drink แล้วก็เขากำลังคร่ำครวญถึงความรักที่กำลังผ่านไป แล้วเขาก็รู้สึกต้อง Move on เหมือนข้ามแม่น้ำ ก็เป็นเพลงอกหักของคนที่ต้องการ Move on นะคะ ที่สำคัญหนูได้มีการเรียบเรียงเนื้อเพลงใหม่บางท่อน แล้วก็มีในส่วนของท่อนแรปที่หนูแต่งเองเพิ่มมาด้วย สิ่งที่ยากคือต้องเชื่อมเข้ากับท่อนฮุกยังไงให้กลมกลืน ก็คงไม่มีใครคิดมาก่อนว่า “River” จะมาดนตรีแนวนี้ได้เลย ก็อยากให้ฟังกันดูค่ะ มาลองมอมเมาแล้วล่องแม่น้ำไปด้วยกันนะคะ (หัวเราะ) มอมเมาแล้วก็ลึกซึ้งกับความรู้สึกของตัวเอง  

มิลิน: สำหรับหนูจะเป็นเพลง “High Tension” ก็จะเป็นจังหวะที่ช้ากว่าเดิม เราก็ส่งเรฟไปให้ครูฟังว่าชอบเพลงประมาณนี้นะ ครูก็ไปทำงานแล้วก็ส่งกลับมาให้ฟัง ก็นี่แหละแบบที่หนูชอบ ก็ออกมาเป็นสไตล์ Reggae ซึ่งคนน่าจะเข้าถึงได้ง่ายแล้วก็ฟังได้ง่ายมากยิ่งขึ้น แล้วก็จะมีการใส่ท่อนหรือว่าลูกเล่นต่าง ๆ ใส่ความวาไรตี้ลงไปให้มากยิ่งขึ้นให้เหมือนเป็นการเล่าบ่งบอกความเป็นตัวเรามากยิ่งขึ้น 

เนย: ของหนูจะเป็น “Kimi wa Melody (เธอคือ…เมโลดี้)” เป็นเพลงที่ส่วนตัวจะรู้สึกกับเพลงนี้ค่อนข้างเยอะ เพราะตอนที่ได้มาเป็นเซ็นเตอร์ ก็จะทำการบ้านกับเพลงนี้เยอะมาก พอรู้ว่าจะได้ร้องเพลงนี้คนเดียว เอาจริง ๆ ก็ค่อนข้างตื่นกลัวใจสั่นเลย เพราะว่ามันจะเป็นเสียงของเรา 100 เปอร์เซ็นต์เลย แต่ว่าพอประชุมกับครูแล้วครูถามว่าอยากให้เพลงนี้ออกมาเป็นแนวไหน ซึ่งเอาจริง ตัวเองความรู้ทางดนตรีค่อนข้างน้อยค่ะ อยากให้ครูแนะนำหน่อย ครูก็เลยถามว่า เรามองตัวเองเป็นยังไง หนูบอกว่า น่าจะค่อนข้างน่ารักค่ะ (ยิ้ม) อยากให้เพลงนี้น่ารัก แล้วก็ฟังสบาย แล้วก็เป็นคนที่ชอบเสียงธรรมชาติ ก็เลยอยากให้มีเสียงธรรมชาติแทรกเข้าไป ปรับให้ช้าลง เพราะท่อนแรก ๆ จะค่อนข้างรัวคำ เลยอยากให้มันฟังง่ายมากขึ้น เป็นช้าที่ไม่เศร้า เป็นช้าที่ชิลมากขึ้น ฟังง่ายขึ้น ซึ่งหนูว่ามีความยิ้มมากขึ้นกว่าต้นฉบับนะคะ ต้นฉบับจะมีความแบบว่ามีความเศร้ามากกว่าสำหรับหนูนะ อันนี้จะดูแบบว่าสบายกว่า 

เล่าเรื่องกระบวนการการทำงานในส่วนของเพลงให้ฟังหน่อยสิครับ 

แก้ว: กระบวนการใช่ไหมคะ ก็จะเริ่มจากประกาศเพลงก่อนว่าแต่ละคนได้เพลงอะไรเสร็จแล้วจริง ๆ เขามี Referenceให้นะว่kแต่ละคนจะเป็นประมาณนี้ไหมเสร็จแล้วจะมีการประชุมแยกเลยค่ะ คือเราจะไม่รู้เลยว่าเพื่อนทำถึงขั้นตอนไหนแล้ว เขาจะมีประชุมแยกของแต่ละคนเลยแล้วก็จะมีการ สไตล์นี้ชอบไหมไปหา Referenceมา หรือว่าอย่างของแก้วก็จะมีให้ไปแต่งเอง แล้วลองร้องกับดนตรีที่แต่งมาเป็นเดโมดูซิว่าจะเป็นยังไง ซึ่งตรงนี้ทุกคนก็ได้ทำเหมือนกัน ทำเดโมไปก่อนหนึ่งขั้นตอน เสร็จแล้วพอได้เดโมที่ดีก็ซ้อมร้องให้ได้เหมือนเดโม คือเดโมคือส่วนที่ดีที่สุดที่เราทำได้ แล้วเขาก็จะให้เราซ้อมร้องให้คล้ายเดโมที่สุดเวลาไปเข้าห้องอัด มันก็จะได้เร็ว  

ในแง่ของงานแฟนมีต แฟนคลับจะได้เห็นอะไรบ้าง  

อร: ก็อย่างที่บอกว่าได้ทำเพลงแล้ว แล้วก็คงได้โชว์ในสิ่งที่ไม่เคยได้ทำตอนที่เป็น BNK48 อาจจะเป็นการเต้นในแบบที่ไม่ได้เป็นไอดอล   

เนย: ความจริง เราเริ่มคุยกันเรื่องแฟนมีตตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 แล้วนะคะ แต่สุดท้ายก็ติด COVID-19 พอมาปีนี้จะสานต่องานก็ต้องมีอันต้องเลื่อนไปอีก พอมาคราวนี้เลยรู้สึกว่าขอเถอะเพราะว่าอยากจะแสดงให้ทุกคนดูแล้ว สักที ๆ 

น้ำหนึ่ง: ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราก็มีไอเดีย อยากจะทำโน่น อยากจะทำนี่เยอะมาก ๆ แล้วก็หวังว่าแฟนมีตที่พวกเราจะเกิดขึ้นเนี่ย ทุกคนก็จะได้เห็นสิ่งที่พวกเราระดมความคิดกันลงไปในชิ้นงานชิ้นนี้ค่ะ 

ขอขยับมาที่เรื่องของ “ชราไลน์” กันบ้าง นิดเดียว จำได้ไหมว่าใครตั้งชื่อ 

ทุกคน: จำไม่ได้ 

น้ำหนึ่ง: เหมือนตั้ง ๆ คุยเล่นกัน ตั้งในวงกินข้าวด้วย 
 

ยูนิตนี้เกิดขึ้นก่อนหรือพร้อมกับ “กุมารไลน์” ยูนิตเด็กเล็กของรุ่นหนึ่งครับ 

ตาหวาน: ใกล้ ๆ กันนะหนูว่า   

อร: เหมือนมีเราก่อนป่ะ 

ตาหวาน: อาจจะมีเราก่อน ส่วนน้อง ๆ (ซัทจัง, เปี่ยม, จ๋า, น้ำหอม, จิ๊บ, โมบายล์) ก็เด็กเลยเป็นกุมารไลน์ ก็เรียกเล่น ๆ กัน คุยกันเฉย ๆ  

น้ำหนึ่ง: เหมือนจะเป็นพี่เออาร์เรียกพวกเรา เหมือนว่าสมาชิกวงพวกเราจะมีเยอะมาก ๆ เวลาคุยไลน์ เขาจะเรียกเป็นชราไลน์ แยกเป็นกลุ่ม ๆ ไป 

ตาหวาน: ก็เลยกลายเป็นชราบวกคำว่าไลน์ ก็เลยเป็นชราไลน์ค่ะ 
 

แล้วคำว่า “ชราไลน์” ในความคิดของพวกคุณ จริง ๆ มีความหมายว่าอะไร 

แก้ว: ชราไลน์ ก็คือ มิตรภาพ ค่ะ 

อร: แล้วความที่เราจะเป็นกลุ่มที่โตที่สุดของรุ่น ก็ต้องมีความคิดอ่าน และความรับผิดชอบต่าง ๆ รวมทั้งต้องมีการ Work Hard ที่สูงตามไปด้วยค่ะ 
 

ก่อนจากกัน ช่วยฝากถึงโปรเจกต์ทั้งหมดของ “ชราไลน์” สักเล็กน้อยด้วยครับ 

ตาหวาน: ก็ขอฝากโปรเจกต์ของพวกเราด้วยนะคะ “Verb of Feeling” ก็จะเป็น 5 เพลง 5 คน 5 สไตล์ และจะมี MV ให้ทุกคนได้รับชมแน่นอน ซึ่ง Teaser จะมาต้นเดือนธันวาคมค่ะ ฝากติดตามด้วยค่ะ และต่อด้วยโปรเจกต์ใหญ่ของพวกเรา คือ ชราไลน์ 1st Fan Meet  

อร: ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เราก็จะจัดวันที่ 25-26 ธันวาคมนี้ เดือนหน้าแล้ว 

ตาหวาน: ฝากติดตาม กดจองบัตรต่างๆ นานา และเป็นกำลังใจให้เราทุกคนด้วย เราทุกคนก็ทำเต็มที่กับงานนี้มากๆ  

ทุกคน: ฝากด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส