John Lewis Good Trouble จอห์น ลูอิส: บุรุษกล้าขวางโลก

[รีวิว] John Lewis: Good Trouble – แง่มุมหลากหลายของชายที่ก่อความวุ่นวายเพื่อประชาชน

John Lewis Good Trouble จอห์น ลูอิส: บุรุษกล้าขวางโลก
Release Date
16/12/2021
แนว
สารคดี
ความยาว
1.38 ชม. (98 นาที)
เรตผู้ชม
PG (ผู้ปกครองควรให้คำแนะนำ)
ผู้กำกับ
ดอว์น พอร์เตอร์ (Dawn Porter)
สนับสนุนข้อมูลโดย Major Cineplex

เรื่องย่อ ภาพยนตร์สารคดีตีแผ่ชีวิตของ ‘จอห์น ลูอิส’ (John Lewis) วีรบุรุษผู้ล่วงลับผู้อุทิศทั้งชีวิตตลอด 80 ปี เพื่อต่อสู้เพื่อสิทธิคนดำในสหรัฐอเมริกา เป็นหัวขบวนเคียงบ่าเคียงไหล่กับ ‘ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์’ ผลักดันการประท้วงและเดินขบวนครั้งใหญ่ในยุค 60’s เพื่อเรียกร้องสิทธิพลเรือนและสิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้งด้วยสันติวิธี แต่กลับต้องเผชิญกับการถูกจับกุมมากกว่า 45 ครั้ง และถูกทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บสาหัส ก่อนจะหันทิศเข้าไปต่อสู้ในสภาในฐานะสมาชิกรัฐสภา และอุทิศตนเพื่อต่อสู้เรียกร้องสิทธิและความถูกต้องจนกลายมาเป็น 1 ใน 6 ผู้นำทางความคิดของคนผิวดำและคนด้อยโอกาสในอเมริกา


‘John Lewis: Good Trouble’ หรือ ‘จอห์น ลูอิส: บุรุษกล้าขวางโลก’ นี่จริง ๆ แล้วเข้าฉายเมื่อปี 2020 ก่อนที่ ‘จอห์น ลูอิส’ (John Lewis) เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับอ่อนระยะสุดท้ายแค่ไม่กี่วันเองนะครับ และที่สำคัญคือ ช่วงนั้น (ประมาณกรกฏาคม 2020) ยังเป็นช่วงเริ่มคุกรุ่นเพราะว่าเป็นช่วงเข้าโค้งที่กำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีด้วย สารคดีเรื่องนี้ก็เลยผุดขึ้นมาท่ามกลางบรรยากาศอันเข้มข้นของการเมืองอเมริกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

John Lewis Good Trouble จอห์น ลูอิส: บุรุษกล้าขวางโลก

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้เล่าถึง ‘จอห์น ลูอิส’ (John Lewis) อดีตเด็กหนุ่มเก็บฝ้ายเลี้ยงไก่จากเมืองทรอย (Troy) รัฐแอละบามา (Alabama) วัยหนุ่มของเขาต้องเผชิญกับการแบ่งแยกสีผิวแบบที่เราเห็นในหนัง Feature ที่เกี่ยวกับคนดำเลย เช่น เวลาคนดำไปร้านอาหารห้ามนั่งหน้าเคาน์เตอร์ ต้องไปนั่งโซนเฉพาะ เข้าห้องน้ำต้องมีห้องแยกที่มีป้ายติด ขึ้นรถเมล์ก็ต้องหลบไปนั่งข้างหลัง ซึ่งจอห์นและพรรคพวกก็จะเข้าไปประท้วงตามแนวทางสันติวิธี ด้วยการเข้าไปนั่งในพื้นที่คนขาวนี่แหละ ก่อนที่คนขาวจะเดินเข้าไปต่อว่าด่าทอ พุ่งเข้ามาทำร้ายต่อยตี หรือไม่ก็แจ้งตำรวจให้มาจับไป ซึ่งคนที่ประท้วงก็จะไม่ตอบโต้ตามหลักสันติวิธี

John Lewis Good Trouble จอห์น ลูอิส: บุรุษกล้าขวางโลก

จนกระทั่งเขาได้เป็นหนึ่งในแกนนำการประท้วงระดับชาติที่เรียกว่า ‘March on Washington’ ในปี 1963 ร่วมกับ’มาร์ติน ลูเธอร์ คิง’ (Martin Luther King) และการประท้วง ‘Bloody Sunday’ ที่เมืองเซลมา (Selma) รัฐแอละบามา ที่เรียกร้องให้รัฐนำตัวทหารผิวขาวที่ยิงชายผิวดำมาลงโทษ ตามหลักที่เขาเรียกว่า ‘ความวุ่นวายที่เป็นประโยชน์’ (Good Trouble) ตามชื่อหนังนั่นแหละ ในครั้งนั้นทหารของรัฐเข้ายุติการประท้วง ทำให้ผู้ชุมนุมและจอห์นได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะจนหมดสติและถูกดำเนินคดี แต่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในการผลักดันกฏหมายสิทธิพลเมืองหลายฉบับเพื่อยกเลิกการเลือกปฏิบัติ รวมทั้งยังเปิดทางให้คนดำสามารถเลือกตั้งได้เป็นครั้งแรก

John Lewis Good Trouble จอห์น ลูอิส: บุรุษกล้าขวางโลก

ตัวสารคดีจะเล่าควบคู่ไปกับชีวิตของเขาในปัจจุบันด้วย เขาตัดสินใจลงสมัครเป็นสมาชิกรัฐสภา และหันมาผลักดันกฏหมายด้านสิทธิพลเมืองด้านต่าง ๆ ซึ่งเราจะได้เห็นภาพอย่างหนึ่งก็คือ แม้ว่าการเมืองและสิทธิพลเมืองในสหรัฐอเมริกาจะเดินหน้ามาไกลแค่ไหน แต่การเลือกปฏิบัติก็ยังคงมีอยู่ แถมมาในฐานะของรัฐอีกต่างหาก จอห์นก็เลยต้องไปช่วยผู้สมัครเลือกตั้งในการปราศรัยรณรงค์ให้ออกมาเลือกตั้งกันเยอะ ๆ แม้แต่บั้นปลายชีวิต เขาก็ยังทำงานในการช่วยผลักดันร่างกฏหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิของประชาชน เช่น การสนับสนุนกฏหมายการแต่งงานของเพศเดียวกัน การต่อต้านการยกเลิกประกันสุขภาพในสมัยประธานาธิบดี ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ การหนุนกฏหมายควบคุมอาวุธปืน กฏหมายเกี่ยวกับภาษีธุรกิจ และอีกหลาย ๆ ฉบับ

John Lewis Good Trouble จอห์น ลูอิส: บุรุษกล้าขวางโลก

ตัวสารคดีตลอดความยาวเกือบร้อยนาที เล่าผ่าน 3 ซับเจ็กต์ใหญ่ ๆ ก็คือ สัมภาษณ์ของจอห์น ลูอิส ที่ถ่ายทำการสัมภาษณ์แบบ Talking Head และการติดตามเก็บภาพวิถีชีวิตของเขาตามสถานที่ต่าง ๆ ขนานไปกับการสัมภาษณ์บุคคลผู้เกี่ยวข้องและใกล้ชิดเขา ทั้งในด้านการเคลื่อนไหวและการเมือง เสริมด้วยฟุตเทจเหตุการณ์ในอดีต รวมถึงชีวิตและเรื่องราวส่วนตัว ทั้งเรื่องครอบครัว ภรรยา บุตรบุญธรรม บ้าน ญาติพี่น้อง ความเป็นคนมีชื่อเสียง ความชื่นชอบด้านศิลปะ รวมไปถึงมุมอบอุ่นเป็นกันเองที่สะท้อนผ่านลักษณะนิสัยของตัวเขาอีกด้วย

John Lewis Good Trouble จอห์น ลูอิส: บุรุษกล้าขวางโลก

ซึ่งทั้งสามซับเจ็กต์นี่แหละครับที่จะค่อย ๆ เล่าเกี่ยวพันสลับไปมา ทั้งอดีตและปัจจุบัน แทนที่จะเล่าตรง ๆ ตามไทม์ไลน์ ค่อย ๆ จับประเด็น เชื่อมจากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องโดยใช้ชีวิตส่วนตัว การต่อสู้ และการทำงานของจอห์นเป็นสารตั้งต้น ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ถือว่าเป็นวิธีที่แปลกดี และทำออกมาได้น่าสนใจดีครับ แต่มันก็มีจุดสังเกตนิดหน่อยที่อาจจะทำให้ไม่ได้โฟกัสกับบางเรื่อง เช่นตอนช่วยโอบามาขึ้นเป็นประธานาธิบดี หรือจอห์นปะทะกับนโยบายของทรัมป์ ซึ่งถ้ามีก็น่าจะสมบูรณ์กว่านี้ แต่เท่านี้โดยรวม ๆ ก็ถือว่าทำได้ค่อนข้างดีครับ

John Lewis Good Trouble จอห์น ลูอิส: บุรุษกล้าขวางโลก

แน่นอนว่า หนังสารคดีเรื่องนี้ถือว่าเป็นสารคดีการเมืองค่อนข้างชัดนะครับ แต่สิ่งที่ถือว่าน่าชื่นชมเลยคือ การที่มันพยายามไม่ได้เป็นสารคดีการเมืองซีเรียสเฉย ๆ แต่ยังพยายามสะท้อนภาพชีวิตส่วนตัวของจอห์น ซึ่งจริง ๆ แล้วแกเป็นคนที่มีอารมณ์ขัน และเป็นมิตรมาก ๆ เป็นคนชอบแซว ชอบเล่นมุก ทักทาย พูดคุยกับทุกคนที่เข้าหาเขาอย่างเป็นมิตร การเล่าเรื่องชีวิตวัยเด็กซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นคนรักสัตว์ การเป็นคนดังที่มีคนถ่ายรูปเยอะ หรือแม้แต่คลิปเต้นที่โด่งดังจนกลายเป็นไวรัล ฯลฯ ตัวหนังก็เลยพยายามจะสอดแทรกสิ่งเหล่านี้ลงไปเพื่อสะท้อนว่า เขานี่แหละเหมาะกับสันติวิธีจริง ๆ และสะท้อนตัวตนว่าจริง ๆ นักต่อสู้ที่เคยผ่านความเจ็บปวดทุกข์ยากในการต่อสู้อย่างเขาก็มีมุมของความอบอุ่น เข้าถึงได้อยู่เหมือนกัน ซึ่งเป็นการเติมสีสันให้ตัวหนังไม่ดูเครียดจนเกินไป

John Lewis Good Trouble จอห์น ลูอิส: บุรุษกล้าขวางโลก

มีข้อสังเกตอยู่บ้างเล็กน้อยครับ เนื่องจากว่าตัวสารคดีนี้มีจอห์น ลูอิสเป็นแกนกลาง และตัวบทสัมภาษณ์คนอื่น ๆ ก็เลยจะพูดถึงจอห์น ลูอิส ในแง่ของการยกย่องวีรกรรมการต่อสู้ในอดีต และสิ่งที่เขาได้ทำไว้ซึ่งส่งผลต่อการเมืองและประชาชนอเมริกาอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งในมุมหนึ่งก็อาจจะมองว่าเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการต่อสู้เพื่อสิทธิของประชาชนก็ได้ แต่อีกมุมก็อาจถูกมองว่าเป็นสารคดีที่เน้นเชิดชูชื่นชมไปที่ตัวบุคคลก็ได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการสะท้อนการเป็นคนดังของเขา หรือแม้แต่คนที่อาจจะรู้สึกไม่เห็นด้วยและไม่เข้าใจกับหลักการ วิธี และวิถีที่จอห์นใช้และเชื่อ ก็อาจรู้สึกไม่ชอบสิ่งที่ตัวหนังสะท้อนให้เห็นได้เหมือนกัน

John Lewis Good Trouble จอห์น ลูอิส: บุรุษกล้าขวางโลก

กับอีกเรื่องคือ การตัดต่อบทสัมภาษณ์ในช็อตที่ใกล้กัน เข้าใจว่าคนตัดต่อคงต้องการเลี่ยงอาการจัมป์คัต (Jump Cut) โดยเฉพาะในช็อตเดียวกัน ก็เลยใช้วิธีการ Fade Black คั่นช็อตต่อไป ซึ่งตรงนี้ผู้เขียนรู้สึกว่าทำให้บทสัมภาษณ์บางจุดออกจะสะดุดไปสักหน่อย (เหมือนคนตัดทำเฟรมหาย (555) ถ้าใส่ภาพ Insert คั่น หรือปล่อยให้มัน Jump Cut ไปเลย ภาพน่าจะออกมาไหลลื่นกว่านี้ แต่ก็ถือว่ามีอยู่เล็กน้อยครับ ไม่ได้เยอะ

John Lewis Good Trouble จอห์น ลูอิส: บุรุษกล้าขวางโลก

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ถ้าสนใจบริบทการเมืองของอเมริกา อยากเข้าใจและเห็นภาพการต่อสู้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง หนังสารคดีเรื่องนี้คือ “อเมริกัน 101” ที่แม้ว่าจะเล่าผ่านมุมมองชีวิตและการต่อสู้ในหลากด้านหลายมุมของจอห์น ลูอิส แต่สิ่งที่สำคัญคือการสะท้อนให้เห็นว่า การเลือกปฏิบัติ ความไม่เป็นธรรม ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน ในอดีต มันมาผ่านกลไกของรัฐ+ประชาชน แต่ปัจจุบัน บางครั้งมันมาในรูปแบบกลไกของรัฐเองเพียว ๆ เสียด้วยซ้ำ

John Lewis Good Trouble จอห์น ลูอิส: บุรุษกล้าขวางโลก

แม้จอห์น ลูอิสจะไม่ได้อยู่สู้ต่อไปแล้ว แต่หนังเรื่องนี้อาจเปรียบเหมือนกับมรดกที่ฝากไว้ให้กับคนรุ่นใหม่ ๆ ที่จะต้องเดินหน้าสร้าง “ความวุ่นวายที่เป็นประโยชน์” เพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านี้ถอยกลับหลังไปยังอดีตอีกครั้ง หรืออย่างน้อย ก็น่าจะทำให้คนที่ได้ดูจบ ได้เข้าใจชัดแจ่มแจ้งว่า การเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่านั้นเกิดขึ้นได้จริง ๆ

ขอแค่ยังศรัทธาและสู้ต่อไป


John Lewis Good Trouble จอห์น ลูอิส: บุรุษกล้าขวางโลก

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส

John Lewis Good Trouble จอห์น ลูอิส: บุรุษกล้าขวางโลก
John Lewis: Good Trouble | จอห์น ลูอิส: บุรุษกล้าขวางโลก
ความสมบูรณ์ของเนื้อหา
7.5
คุณภาพงานสร้าง
8.9
คุณภาพของบทสัมภาษณ์ / ประเด็น
8.2
การตัดต่อ / การลำดับ และการดำเนินเรื่อง
7.6
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
9.3
จุดเด่น
ตัวหนังเล่าเรื่องอดีต-ปัจจุบันของการเมือง/การต่อสู้ผ่านจอห์น ลูอิสได้อย่างไหลลื่น
สะท้อนภาพชีวิตของจอห์น ลูอิส ได้อย่างรอบด้าน
มีการแทรกความอบอุ่นเฮฮาเข้าไป ทำให้ไม่ซีเรียสแม้จะเป็นสารคดีการเมือง
จุดสังเกต
การตัดต่อมีสะดุด ใช้ Fade black อยู่บ้าง ทำให้บทสัมภาษณ์สะดุดเล็กน้อย
8.3
John Lewis: Good Trouble | จอห์น ลูอิส: บุรุษกล้าขวางโลก