นับตั้งแต่การคิดค้นหลอดไฟได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลกเมื่อปี ค.ศ. 1800 และเมื่อ ‘โธมัส อัลวา เอดิสัน’ (Thomas Alva Edison) ได้พัฒนาหลอดไฟให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าเดิมและออกจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ในปี ค.ศ. 1879 โลกก็สว่างไสวด้วยหลอดไฟมาโดยตลอด แต่ไม่น่าเชื่อว่า ทุกวันนี้ ยังคงมีหลอดไฟหลอดหนึ่งที่ยังคงส่องแสงสว่างมาอย่างยาวนานกว่า 120 ปีโดยที่ยังไม่เคยดับเพราะเสียหรือหมดอายุการใช้งานเลยแม้แต่ครั้งเดียว

หลอดไฟ
ภาพด้านล่างของหลอดไฟที่ติดตั้งอยู่ ณ สถานีดับเพลิงหมายเลข 6 แห่งเมืองลิเวอร์มอร์

หลอดไฟที่สว่างดวงนี้มีอายุยาวนานมากกว่าตอนที่สองพี่น้องตระกูลไรต์จะพัฒนาเครื่องบินได้เป็นครั้งแรกถึง 2 ปี และ 7 ปีก่อนที่ฟอร์ด (Ford) จะออกรถรุ่นบุกเบิกอย่าง ‘ฟอร์ด โมเดล ที’ (Ford Model T) และประมาณ 2-3 ศตวรรษก่อนที่ไฟฟ้าจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวอเมริกัน หลอดไฟดวงนี้ส่องสว่างยาวนานเทียบเท่ากับช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกาเคยมีประธานาธิบดีมาแล้วถึง 22 คน

หลอดไฟ
สถานีดับเพลิงหมายเลข 6 แห่งเมืองลิเวอร์มอร์

หลอดไฟดวงนี้ถูกขนานนามว่า ‘The Centennial Bulb’ หรือ ‘หลอดไฟศตวรรษ’ ซึ่งได้รับการบันทึกว่าเป็นหลอดไฟที่ส่องแสงสว่างยาวนานที่สุดในโลก ติดตั้งบนขั้วที่ห้อยลงมาจากเพดานสูง 18 ฟุต ณ สถานีดับเพลิงหมายเลข 6 แห่งเมืองลิเวอร์มอร์ (Livermore) รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา หลอดไฟที่ทำด้วยมือกำลังไฟ 60 วัตต์ดวงนี้ถูกติดตั้งและและใช้กระแสไฟตามปกติคือตั้งแต่ปี ค.ศ.1901

• จุดกำเนิด (แสงสว่างของ) หลอดไฟ

หลอดไฟ
โฆษณาหลอดไฟของบริษัท
‘เชลบี อิเล็กทริก’ (Shellby Electric Company)

หลอดไฟดวงนี้ผลิตขึ้นเมื่อปี 1890 โดยบริษัท ‘เชลบี อิเล็กทริก’ (Shellby Electric Company) ก่อนที่จะควบรวมเข้ากับบริษัทเจนเนอรัล อิเล็กทริก (General Electrics (GE)) ในปี 1912 เวลานั้น เชลบีถือว่าเป็นบริษัทชั้นนำของสหรัฐอเมริกาที่ขึ้นชื่อเรื่องการผลิตหลอดไฟ ซึ่งคนที่ซื้อหลอดไฟดวงนี้มาใช้เป็นคนแรก ก็คือ ‘เดนนิส เบอร์นัล’ (Dennis Bernal) เจ้าของบริษัท ‘Livermore Power and Water’ เพื่อนำไปติดตั้งในสำนักงานบริษัทเมื่อปี 1901 และเมื่อเบอร์นัลตัดสินใจขายกิจการ เขาจึงได้บริจาคหลอดไฟให้กับสถานีดับเพลิงในท้องที่

หลอดไฟสำหรับสถานีดับเพลิง ในยุคที่คนทำหน้าที่ดับเพลิงยังเป็นเพียงอาสาสมัคร ใช้รถม้าลากเกวียนเป็นพาหนะ และใช้แรงคนในการสูบน้ำที่ติดตั้งกับรถม้าเพื่อดับเพลิง ถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นมาก ๆ ในยามค่ำคืนที่อาจเกิดเหตุไฟไหม้ขึ้นได้ การได้รับบริจาคหลอดไฟที่หายากและราคาแพงถึอว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก หลอดไฟดวงนี้จึงถูกติดตั้งในบริเวณที่จอดเกวียนดับเพลิง เพื่อทำหน้าที่ส่องสว่างในยามค่ำคืนนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนกระทั่งได้มีการย้ายตำแหน่ง อีกราว ๆ 3 ครั้ง จากโรงจอดเกวียน ย้ายไปไว้ที่โรงรถ ส่วนที่พักอาศัย ซึ่งเป็นบริเวณใกล้ ๆ กัน

แต่ก็ใช่ว่าหลอดไฟดวงนี้จะไม่เคยดับเลย เพราะในปี 1976 มันเคยดับมาแล้วเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เนื่องจากแผนกดับเพลิงต้องทำการย้ายหลอดไฟไปยังที่ทำการสถานีดับเพลิงในปัจจุบัน ณ สถานีดับเพลิงที่สร้างขึ้นอย่างถาวร บนถนนอีสต์อเวนิว (East Avenue) เมืองลิเวอร์มอร์ แคลิฟอร์เนีย วิธีการย้ายคือ ต้องใช้วิธีการตัดสายไฟและขนย้ายอุปกรณ์ทั้งหมดไปพร้อมกัน เนื่องจากหากถอดหลอดออกจากขั้ว อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อหลอดไฟได้

หลอดไฟ
หลอดไฟที่ติดตั้งอยู่ ณ สถานีดับเพลิงหมายเลข 6 แห่งเมืองลิเวอร์มอร์

ตัวหลอดถูกบรรจุลงในกล่องบุนวมที่ทำขึ้นเป็นพิเศษและมีการคุ้มกันในระหว่างขนย้ายอย่างระมัดระวัง ก่อนที่จะถูกติดตั้งและให้แสงสว่างอีกครั้งด้วยเครื่องปั่นไฟ และจากตอนนั้น ก็ยังคงเปล่งแสงยาวนานมาจนถึงปัจจุบันนี้เท่ากับว่าหลอดไฟดวงนี้เคยดับไปเพียงแค่ 22 นาทีเท่านั้น ซึ่ง ‘Ripley’s Believe It Or Not’ ผู้บันทึกสถิติหลอดไฟที่มีอายุยาวนานที่สุดในโลกได้ระบุว่า 22 นาทียังไม่ถือว่าสถิติหลอดไฟที่ติดยาวนานที่สุดในโลกสิ้นสุดลง เนื่องจากเป็นเพียงการดับไฟ ไม่ใช่เพราะว่าหลอดไฟเสีย

หลอดไฟ
หลอดไฟที่ติดตั้งอยู่ ณ สถานีดับเพลิงหมายเลข 6 แห่งเมืองลิเวอร์มอร์

• เคล็ดลับอายุยืนยาวของหลอดไฟ

ส่วนปริศนาที่ทำให้หลอดไฟธรรมดา ๆ ที่ไม่ได้ซับซ้อนกว่าหลอดไฟดวงอื่น ๆ ที่เชลบี อิเล็กทริกผลิตในเวลานั้น สามารถส่องสว่างยาวนานได้ที่สุดในโลกได้ แม้ว่าตัวหลอดไฟจะไม่สามารถถอดออกมาวิเคราะห์ได้ แต่ก็มีการคาดเดาว่า สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะการซีลสุญญากาศที่ทำให้หลอดไม่ไหม้จนขาด และอีกสาเหตุสำคัญก็คือ การที่ในยุคนั้นยังไม่มีการกำหนดอายุการใช้งานของหลอดไฟ ทำให้หลอดไฟที่ผลิตขึ้นมีอายุการใช้งานที่ทนทานกว่าหลอดไฟในปัจจุบันที่มีอายุการใช้งานประมาณ 1,500 ถึง 2,500 ชั่วโมง และ 25,000 ถึง 50,000 ชั่วโมงสำหรับหลอดแบบ LED เสียอีก จนกระทั่งมีการกำหนดอายุการใช้งานหลอดไฟขึ้น

หลอดไฟ
แผนภาพคร่าว ๆ แสดงโครงสร้างของหลอดไฟ

‘กลุ่มพันธมิตรฟีบัส’ (The Phoebus cartel) ก่อตั้งขึ้นในปี 1924 โดยเป็นการรวมกลุ่มของบริษัทผลิตหลอดไฟชั้นนำของโลก เช่น ‘ออสแรม’ (Osram) ของเยอรมนี ‘ฟิลิปส์’ (Philips) ของเนเธอร์แลนด์ ‘ลา คอมปานี เดอ ลอมป์’ (La Compagnie des Lampes) ของฝรั่งเศส และ ‘เจนเนอรัล อิเล็กทริก’ (General Electric) ของสหรัฐอเมริกา เพื่อกำกับดูแลการผลิต การตลาด และจำหน่ายหลอดไฟแบบไส้ทั่วทั้งโลก

หลอดไฟ
กล้องเว็บแคมที่ติดตั้งเพื่อถ่ายทอดภาพหลอดไฟตลอด 24 ชั่วโมง

โดยมีการกำหนด ‘อายุการใช้งาน’ ของหลอดไฟเป็นครั้งแรก นั่นก็คือ บริษัทพันธมิตรเหล่านี้จะต้องผลิตหลอดไฟที่มีอายุใช้งานไม่เกิน 1,000 ชั่วโมง เนื่องจากหลอดไส้ในสมัยนั้นมีอายุการใช้งานที่ยาวนานมาก ซึ่งจะทำให้การจำหน่ายและทำกำไรในการขายหลอดไฟเป็นไปได้ยาก พันธมิตรเหล่านี้จึงตกลงที่จะผลิตหลอดไฟที่มีอายุการใช้งานจำกัดเพื่อให้เกิดการซื้อเปลี่ยนหมุนเวียนอยู่เรื่อย ๆ

• กว่าล้านชั่วโมงชีวิตของหลอดไฟ

‘The Centennial Bulb’ หรือ ‘หลอดไฟศตวรรษ’ ดวงนี้ ยังคงติดตั้งอยู่ที่บริเวณที่จอดรถดับเพลิงหมายเลข 6 เมืองลิเวอร์มอร์ และส่องสว่างมายาวนานต่อเนื่องถึง 120 ปีแล้ว แม้ในปัจจุบัน แสงไฟของหลอดไฟดวงนี้จะส่องสว่างน้อยลงมาก จากกำลังไฟเดิม 30 วัตต์ เหลือเพียงแค่ประมาณ 4 วัตต์ หรือสว่างพอ ๆ กับแสงในเวลากลางคืนเพียงเท่านั้น

หลอดไฟ
หลอดไฟที่ติดตั้งอยู่ ณ สถานีดับเพลิงหมายเลข 6 แห่งเมืองลิเวอร์มอร์ ด้านล่างมีแผ่นป้ายประวัติศาสตร์ตลอด 120 ปี เทียบเคียงกับอายุของหลอดไฟ

แต่มันก็ยังคงสว่างพอที่จะมองเห็นอะไรได้ และติดยาวตลอด 24 ชั่วโมง 7 วันโดยไม่เคยมีการหยุดพัก ถ้าจะนับอายุการใช้งาน หลอดไฟดวงนี้ก็น่ามีอายุการใช้งานมานับล้านชั่วโมงแล้ว ทำให้หลอดไฟดวงนี้ก็ได้รับการบันทึกสถิติจาก ‘Guinness Book of World Records‘ ในปี 1972 ว่าเป็นหลอดไฟที่ส่องสว่างยาวนานที่สุดในโลก

หลอดไฟ
งานปาร์ตีเฉลิมฉลองหลอดไฟ 100 ปี

เมื่อปี 2001 ในวาระครบรอบที่หลอดไฟดวงนี้สว่างมาครบ 100 ปี ทางสถานีดับเพลิงได้จัดงานเฉลิมฉลองขึ้นภายในสถานีดับเพลิง โดยมีการจัดแสดงอุปกรณ์ดับเพลิงโบราณ วิธีการป้องกันอัคคีภัย การแสดง ดนตรีสด การขายเสื้อยืด รวมทั้งยังมีการจัดเลี้ยงบาร์บีคิวและขนมเค้กให้กับคนภายในชุมชนด้วย หลอดไฟหลอดนี้กลายมาเป็นสัญลักษณ์หรือมาสคอตประจำสถานีรถไฟ บางครั้งในสมัยก่อน นักดับเพลิงบางคนก็เคาะหลอดไฟดวงนี้เบา ๆ ก่อนออกไปดับไฟ เพื่อเป็นเคล็ดให้โชคดี

หลอดไฟ
ภาพหลอดไฟจากกล้องเว็บแคม วันที่ 16 ธันวาคม เวลา 23.29 น. (ตามเวลาสหรัฐอเมริกา)
(ภาพนี้บันทึกภาพโดยผู้เขียนเมือวันที่ 17 ธันวาคม 2564 เวลากลางวัน)

ทุกวันนี้ หากอยากจะชมหลอดไฟที่ส่องสว่างดวงนี้ (ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร หรือว่ามันจะดับเมื่อไหร่) ทางสถานีดับเพลิงก็มีเว็บไซต์ centennialbulb.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์ทางการของหลอดไฟดวงนี้โดยเฉพาะ โดยที่เราสามารถเข้าไปชมการถ่ายทอดสดหลอดไฟดวงนี้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน ผ่านทางกล้องเว็บแคม โดยตัวเว็บไซต์จะรีเฟรชภาพล่าสุดของหลอดไฟกล้องเว็บแคมทุก ๆ 30 วินาที

หลอดไฟ
ภาพหลอดไฟจากกล้องเว็บแคม

อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส