ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่แบบนี้ ทางเน็ตฟลิกซ์ได้ส่งภาพยนตร์สารคดีดนตรีดี ๆ มาให้ชมกันนั่นคือ ‘Daiki Tsuneta : Tokyo Chaotic’ ที่หากใครเป็นแฟนดนตรีทางฝั่งญี่ปุ่นก็คงถูกใจแน่นอน แต่ถ้าไม่ใช่สารคดีเรื่องนี้ก็ยังเหมาะกับคนที่รักในเสียงดนตรีโดยเฉพาะกับคนที่ชอบแต่งเพลงทำเพลงสารคดีเรื่องนี้น่าจะให้แรงบันดาลใจและแนวคิดดี ๆ ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

‘Daiki Tsuneta : Tokyo Chaotic’ เล่าเรื่องของ ‘ไดกิ สึเนตะ’ (Daiki Tsuneta) อัจฉริยะทางดนตรีผู้ถือกำเนิดขึ้นมาจากโลกอันยุ่งเหยิงของกรุงโตเกียว เขาคือนักร้องนำวงร็อกแถวหน้าของญี่ปุ่นในยุคปัจจุบันนามว่า ‘คิงกนู’ (King Gnu) หนุ่มวัย 29 ปีคนนี้คือผู้ที่ได้รับเลือกจากเสียงดนตรีให้เป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดท่วงทำนองอันเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ เรื่องราว และจินตนาการอันเป็นอิสระและมีเอกลักษณ์

ไดกิ สึเนตะ เติบโตมาในครอบครัวของคนที่มีเซนส์ทางด้านการสร้างสรรค์ พ่อและแม่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นคนที่ทำงานด้านดนตรีแต่ก็มีใจรักในเสียงดนตรี ที่บ้านของเขาจึงมีเครื่องดนตรีอย่างเปียโน กีตาร์ เบส และอีกมากมายให้เขาได้ฝึกหัดเล่นด้วยตนเอง นอกจากนี้ไดกิยังมีคุณปู่ที่เป็นนักประดิษฐ์นักพัฒนาและยังได้รับรางวัลจากการเป็นนักพัฒนาโทรทัศน์สีของญี่ปุ่น ส่วนคุณย่าที่ได้กิใช้เวลาอยู่ด้วยกันร่วม 7 ปีในช่วงวัยรุ่นของเขาก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต ก็เป็นผู้ที่ไดกิรู้สึกเชื่อมโยงทางสายเลือดมากที่สุดเพราะคุณย่าเป็นคนที่มีพลังในการสร้างสรรค์ทั้งงานวาดภาพที่สวยงามและเวลาว่างก็มักร่างภาพออกแบบเสื้อผ้าอยู่เสมอ

ไดกิ เริ่มเล่นดนตรีตั้งแต่วัยเด็ก ก่อตั้งวงและเป็นหัวหน้าชมรมดนตรีในช่วงมัธยม ซึ่งเขาได้รู้จักกับเพื่อน ๆ สมาชิกวงคิงกนูในช่วงนั้น จากนั้นจึงได้เรียนดนตรีที่ม.ศิลปะแห่งโตเกียวและได้มีโอกาสอยู่ในวงออร์เคสตร้าของ ‘เซจิ โอซาวะ’ วาทยากรชื่อก้องชาวญี่ปุ่น ความรู้ทางด้านออร์เคสตร้าได้ถูกเอามาใช้ในผลงานของเขาอย่างเช่นในเพลง ‘DURA’ ของโปรเจกต์ ‘millenium parade’ ที่ไดกิ สมาชิกวงคิงกนู และเพื่อน ๆ ครีเอเตอร์ได้ร่วมสร้างผลงานร่วมกัน เพลงนี้ไดกิได้ผสมผสานงานเพลงออร์เคสตร้าเข้ากับงานเพลงร่วมสมัย แล้วใส่ความเป็นตัวเองเข้าไป เราได้เห็นถึงความทะเยอทะยานและความพยายามผลักดันผลงานให้ไปสุดทางของไดกิไม่ว่าจะเป็นการใส่ลวดลายดนตรีในแบบต่าง ๆ ที่เขาได้ลองทำซ้ำแล้วซ้ำอีกทำเสร็จแล้วก็รื้อทำลายมันก็สร้างใหม่อีกครั้งเราไปถึงแทร็กดนตรีที่มีกว่า 150 แทร็ก ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เป็นปกติเลย

Daiki Tsuneta และ millennium parade

ไดกิ ใช้เวลาในฐานะนักศึกษาที่ม.ศิลปะแห่งโตเกียวโดยเรียนเอกเชลโลเป็นเวลาเพียงหนึ่งปีเท่านั้น เพราะเขารู้สึกว่าที่นั่นก็ไม่ได้ตอบโจทย์ในสิ่งที่เขาต้องการ จากนั้นไดกิก็มุ่งหน้าไปในทิศทางที่เขาเลือกเองและเป็นตัวของตัวเอง  ด้วยแววตามุ่งมั่นสร้างสรรค์ดนตรีเพื่อไปสู่ระดับสากล สารคดีเรื่องนี้ได้ตามติดการทำงานของไดกิ วงคิงกนู และ millennium parade อย่างเจาะลึกในช่วง 3 เดือนของปลายปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โควิดแพร่ระบาดเป็นปีแรก ช่วงเวลาที่โรคระบาดส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนในทุกวงการรวมไปถึงวงการดนตรีที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างยิ่งทั้งในมิติของการทำเพลง การทัวร์คอนเสิร์ต และความโหยหาช่วงเวลาที่ได้สัมผัสดนตรีอย่างเต็มที่ของคนฟัง

“ขอแอนติบอดี้ให้ฉันมีชีวิตต่อไป”

นี่คือเนื้อร้องท่อนหนึ่งในเพลงของคิงกนูที่สะท้อนความรู้สึกช่วงเวลานี้ได้เป็นอย่างดี ไดกิคงไม่อาจแต่งเนื้อร้องที่มีความหมายแบบนี้ออกมาได้หากไม่ได้ดำรงชีวิตอยู่ในช่วงเวลาแบบนี้ อันเป็นช่วงเวลาที่ถูกแช่แข็ง การรับรู้เวลาที่เปลี่ยนแปลงไป เหมือนโลกทั้งใบหยุดการเคลื่อนไหว

ไดกิ สึเนตะ เป็นแรงพลังสำคัญเบื้องหลังวงคิงกนู นอกจากตำแหน่งร้องนำและมือกีต้าร์แล้วเขายังเป็นผู้รังสรรค์บทเพลงทั้งหลายของวง ซึ่งมีบทเพลงฮิตติดชาร์ตมากมาย อาทิ ‘Kasa’ ที่ขึ้นชาร์ตอันดับหนึ่งของบิลบอร์ดชาร์ตในประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้อัลบั้ม ‘Ceremony’ ของพวกเขายังเป็นอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงด้วยการขึ้นชาร์ตออริกอนของญี่ปุ่นเป็นอันดับหนึ่ง และติดอันดับ 10 อัลบั้มขายดีที่สุดในปี 2020 โดยมียอดขายกว่าหนึ่งล้านก็อปปี้ คิงกนูเริ่มก่อตั้งวงในปี 2013 และมีสมาชิกทั้งหมด 4 คนได้แก่ ไดกิ สึเนตะ (ร้องนำ กีตาร์) ซาโตรุ อิงุฉิ (ร้องนำ คีย์บอร์ด) คาซุกิ อะราอิ (เบส) และ ยู ซากิ (กลอง)

King Gnu

สารคดีเรื่องนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่เป็นแฟนวงคิงกนูหรือคนที่ชอบการทำเพลงแต่งเพลงเพราะว่าเราจะได้เห็นถึงกระบวนการทำงานอย่างละเอียดโดยเฉพาะขั้นตอนของการคิดงาน ในแต่ละกระบวนการที่เราได้เห็นถึงวิธีคิดวิธีสรรค์สร้างงานเพลงขึ้นมาอย่างละเอียดในระดับของตัวโน้ตกันเลยทีเดียว รวมไปถึงการทำงานเป็นทีมเพื่อไปสู่ปลายทางที่ตั้งใจไว้ร่วมกัน

ในขั้นตอนการทำงานเพลงไดกิจะเป็นผู้ควบคุมและตัดสินใจในทิศทางของงานเพลง แต่สิ่งที่ทำให้ผู้ร่วมงานของเขามีความรู้สึกสบายใจที่ได้ทำงานกับไดกิคือการที่ไดกิ เปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่และเป็นอิสระ ถึงแม้ว่าไดกิจะกำหนดทิศทางการทำเพลงไว้แต่นักดนตรีที่ร่วมงานด้วยกันก็ได้แสดงศักยภาพและได้แสดงความคิดเห็นในรูปแบบที่ตัวเองต้องการ มันจึงเป็นโปรเจกต์ที่ทำให้นักดนตรี ได้เฉิดฉายและเปล่งประกายร่วมกันออกมาอย่างแท้จริง

วิธีคิดและวิธีการสร้างสรรค์ผลงานของไดกิมีรูปแบบของแนวคิดยุคหลังสมัยใหม่ (postmodernism) ที่เป็นพื้นที่ของการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย การผสมผสานอิทธิพลและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันเข้ามาผสมปนเปกัน เป็นการเลือนรางเส้นแบ่งต่าง ๆ กันแข็งจึงและตายตัว รวมไปถึงการใช้วิธีการรื้อสร้าง (deconstruction) ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสนาม ฌากส์ แดร์ริดา (Jaques Derrida) ที่ว่าด้วยเรื่องของการรื้อทำลายกรอบโครงสร้างที่ตายตัวและเปิดพื้นที่ให้กับความแตกต่างหลากหลายและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่ไม่สิ้นสุด

“ผมจึงตั้งใจที่จะสื่อสาร แม้แต่กับคนที่มองโลกต่างไปจากเราด้วย อยากรับความเห็นเข้ามา โดยที่ไม่ปิดกั้นคนอื่นน่ะครับ”

ไดกิใช้ความเป็นโพสต์โมเดิร์นในหลายมิติด้วยการทลายเส้นแบ่งและขอบเขตอันตายตัว ทั้งขอบเขตของงานศิลปะที่แบ่งประเภทของงานศิลปะด้วยการใช้แรงบันดาลใจจากศิลปะแขนงอื่นเข้ามาผสมผสานในงานดนตรี หรือในแนวคิดเบื้องหลังของผลงานที่เปิดกว้างให้กับความแตกต่างหลากหลาย ทั้งในแนวดนตรี และแนวคิด มุมมองของผู้คนที่มีความหลากหลายให้มาผสมผสานปนเปกันอย่างไม่มีปิดกั้น

คำว่า ‘Tokyo Chaotic’ เป็นคอนเซปต์ที่ไดกิใช้ในการทำงานในหลายๆโปรเจกต์ของเขา ซึ่งคำนี้สื่อนัยถึงความวุ่นวายจากวัฒนธรรมอันหลากหลาย หรือการที่มีผู้คนหลากหลาย ค่านิยมมากมาย แต่เราก็สามารถยอมรับและดำรงอยู่ร่วมกันได้

ในแง่หนึ่งคำว่า ‘chaotic’ จาก ‘Tokyo Chaotic’ อันเป็นชื่ออัลบั้มแรกของ millennium parade ได้พาเราไปพ้นจากการมองคำนี้ในแง่ลบ ที่โดยปกติแล้วเมื่อกล่าวถึงความ ‘วุ่นวาย’ เราย่อมนึกถึงคำตรงกันข้ามนั่นคือ ‘ระเบียบ’ และการจัดระเบียบนั้นเป็นการแสดงออกถึงการใช้อำนาจปิดกั้น เพราะเมื่อมีการจัดระเบียบย่อมมีบางสิ่งบางอย่างถูกกดทับหรือกีดกันออกไป แต่ ‘chaotic’ ของไดกิคือความวุ่นวายที่เกิดจากการผสมผสานของความหลากหลายที่มาผสมปนเปอยู่ในพื้นที่เดียวกันโดยไม่ได้ถูกบังคับให้หลอมรวมเป็นสิ่งเดียวกันหากแต่ดำรงตนอย่างแตกต่างและเป็นอิสระ

แนวคิดนี้ถูกสะท้อนออกมาในฉากหนึ่งของสารคดีที่ไดกิกำลังทำเพลงชื่อ ‘Star of The Show’ หรือ Ichizu ของคิงกนู บทเพลงประกอบอนิเมะเรื่อง Jujutsu Kaisen บทเพลงที่มาพร้อมเสียงกีตาร์แบบสับฉึบฉับในท่วงทำนองร็อกอันเร้าใจ เราได้เห็นขั้นตอนการทำงานของไดกิ ที่ได้อธิบายถึงวิธีคิดการทำเพลงในการขึ้นโครงของเพลงด้วยคอร์ด หลังจากนั้นก็พยายามคิดเมโลดี้ที่จะใส่เข้าไป รวมไปถึงการได้รับแรงบันดาลใจกับงานศิลปะในสาขาอื่น อาทิ งานศิลปะภาพตัดปะ (คอลลาจ) จากคาวามูระโคสึเกะ (Kawamura Kosuke) ศิลปินคอลลาจชาวญี่ปุ่นที่ไดกิใช้แนวคิดของการตัดปะมาใช้กับการทำงานเพลง โดยเอาการเอาส่วนของแซมเปิลและชิ้นส่วนทางดนตรีมาปะติดปะต่อกันเป็นท่วงทำนองในแบบที่เขาต้องการ ทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะในแขนงต่าง ๆ ที่ต่างสร้างแรงบันดาลใจให้แก่กันและกัน

นอกจากนี้ไดกิได้ใช้วิธีการรื้อสร้างในการทำเพลง ด้วยการทำลายอะไรบางอย่างและเอาเศษชิ้นส่วนจากสิ่งที่ถูกทำลายมาประกอบสร้างให้กลายเป็นสิ่งใหม่ ทำให้ได้ดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ขึ้นมา “การทำลายอะไรสักอย่าง แล้วนำกลับมาสร้างใหม่มันทำให้ สร้างผลงานที่ต่างออกไปโดยสิ้นเชิงได้ เป็นวิธีสร้างโลกแบบอื่นขึ้นมา”

ความแตกต่างหลากหลายที่ไดกิใช้เป็นแนวคิดหลักในการทำงาน ถูกสะท้อนออกมาในอีกฉากหนึ่งที่เป็นการถ่ายทำมิวสิกวิดีโอเพลง “A Cheap Novel” (三文小説) ซึ่งทำให้เห็นว่าการที่เราเห็นชิ้นงานหนึ่งสำเร็จสมบูรณ์นั้นต่างเกิดขึ้นจากการผสมผสานกันระหว่างแนวคิดหลากมุมมอง ในการถ่ายทำแม้ไดกิกับ Osrin ซึ่งเป็นผู้กำกับที่ร่วมงานกันมาตั้งแต่ยุคเริ่มแรกจะเห็นต่างกันในบางจุด แต่ไดกิก็เปิดกว้างให้ผู้ร่วมงานได้แสดงศักยภาพและมุมมองของตนเองออกมาจนเมื่อสุดท้ายผลลัพธ์ได้พิสูจน์ตัวของมันเองแล้วเขาก็ได้พบว่าการทำงานร่วมกับผู้อื่นเป็นสิ่งที่มีค่าอย่างแท้จริงเพราะทุกคนต่างทุ่มเทให้กับงานของเขา ด้วยความสัตย์จริงและไม่ได้หวังชื่อเสียงทองใด ๆ เพียงแค่อยากจะทำผลงานออกมาให้ดีที่สุด

“A Cheap Novel” (三文小説) คืองานเพลงของคิงกนูที่เล่าเรื่องของนักเขียนหนุ่มที่พยายามเขียนงานต่อไปแม้ว่ามันจะขายไม่ได้ก็ตาม โดยมีภรรยาที่ศรัทธาและเชื่อมั่นในตัวเขาคอยให้กำลังใจ เพลงนี้เป็นเสมือนตัวแทนการเดินทางของคิงกนูที่เชื่อมั่นและมุ่งมั่นทำผลงานในแบบที่ตัวเองเชื่อมั่นและศรัทธา

แนวคิดของการผสมผสานความหลากหลายถูกทำให้เห็นเป็นเด่นชัดจากงานเพลงที่เป็นแกนหลักของสารคดีเรื่องนี้คือบทเพลงที่มีชื่อว่า ‘2992’ ของ millennium parade ที่แต่เดิมมีชื่อว่า ‘DURA’ ที่ตัวเพลงผสมผสานไปด้วยอิทธิพลทางดนตรีที่หลากหลายปะปันกันเต็มไปหมด แม้กระทั่งเสียงพลุก็ยังใส่เข้ามา และยังประกอบไปด้วยเพื่อนนักดนตรีที่มาร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันแนวคิดในการทำงานร่วมกัน กลายเป็นบทเพลงที่สะท้อนการเชิดชูความหลากหลายได้อย่างสง่างาม บทเพลงนี้เป็นการที่ไดกิมองไกลไปยังโลกอนาคตอันห่างไกล โดยใช้ปี 1992 ซึ่งเป็นปีเกิดของเขาบวกด้วยช่วงเวลา 1000 ปี ที่สัมพันธ์กับชื่อ millennium parade ก็จะไปถึงปี 2992 ไดกิรู้สึกว่า หากบทเพลง ‘2992’ อยู่ไปถึงปีนั้นจริง ๆ คงจะเป็นเรื่องที่เจ๋งมาก บทเพลงที่เขามองภาพในโลกอนาคตที่ประกอบไปด้วยคุณค่าอันหลากหลายผู้คนหลากหลายที่จะได้ใช้ชีวิตร่วมกัน มันคงจะเป็นเหมือนกับภาพยนตร์และนวนิยายเรื่อง 2001 : A Space Odyssey ที่ได้มองโลกในอนาคตและพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันนั้นเอาไว้ จนกระทั่งปัจจุบัน 2001 นั้นกลายเป็นอดีตสำหรับเราไปแล้ว

‘2992’ จึงเป็นเสมือนบทบันทึกของช่วงเวลาในอดีตที่พยายามจินตนาการถึงความเป็นไปในอนาคตที่สะท้อนความรู้สึกอึดอัดสับสนในภาวะปัจจุบันที่ดำรงอยู่ท่ามกลางโรคระบาดที่แยกเราจากกัน การโหยหาอดีตอันเป็นอิสระและหอมหวาน กับการจ้องมองไปยังอนาคตที่เรายังคงมีความหวังอยู่ ดังเนื้อเพลงที่ไดกิและศิลปินสาว เอิร์มฮอย (Ermhoi) ที่มาร่วมร้องในเพลงนี้ได้แต่งร่วมกัน

“เราใช้ชีวิตอยู่ในช่วงชีวิตนี้

ทุกคนถูกทำให้สับสน

ฉันแค่อยากเป็นอิสระและมองเห็น

เหมือนที่เราทุกคนเคยทำ ในวันวาน”

สามารถรับชมภาพยนตร์สารคดี ‘Daiki Tsuneta : Tokyo Chaotic’ ได้แล้ววันนี้ทางเน็ตฟลิกซ์

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส