อนาคตที่เราจะได้เห็นสัตว์น้ำอย่างน้องปลาขึ้นมาโลดแล่นบนบกอาจไม่ใช่เพียงแค่เรื่องตลกหรือเรื่องเพ้อฝัน เพราะล่าสุด นักวิทยาศาสตร์จากประเทศอิสราเอลได้เผยแพร่งานวิจัยล่าสุดที่เผยให้เห็นทักษะการเดินทางที่น่าทึ่งของปลาทอง ผ่านการทดลองฝึกให้ปลาทองสามารถบังคับขับเคลื่อนยานพาหนะที่ออกแบบขึ้นเป็นพิเศษ และที่สำคัญคือ พาหนะนี้ไม่ได้วิ่งในน้ำ แต่วิ่งบนบก!

ผลงานการวิจัยนี้เผยแพร่ในวารสาร Behavioural Brain Research ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ซึ่งเป็นงานวิจัยร่วมของ ‘ซาชา กิฟวอน’ (Shachar Givon), ‘มาธาน ซามินา’ (Matan Samina), ‘โอฮัด เบน ซาฮาร์’ (Ohad Ben Shahar) และ ‘โรเนน ซาเกฟ’ (Ronen Segev) แห่งมหาวิทยาลัยเบนกูเรียนแห่งเนเกฟ (Ben-Gurion University of the Negev) ณ เมืองเบียร์ชีบา (Beersheva) ประเทศอิสราเอล ได้ออกแบบการทดลองเพื่อทดสอบว่า สัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำอย่างเช่นปลา จะมีความสามารถด้านการเดินทางบนบกได้หรือไม่อย่างไร ภายใต้อุปกรณ์ที่เหมาะสม

ปลาทอง

โดยการทดลองนี้ ผู้วิจัยได้ใช้ปลาทองทั้งหมด 6 ตัว และทำการออกแบบยานพาหนะพิเศษที่เรียกว่า ‘พาหนะบังคับด้วยปลา’ (Fish Operated Vehicle) หรือ ‘FOV’ ซึ่งเป็นพาหนะที่ประกอบไปด้วยตู้ปลาใส ๆ ที่วางไว้บนช่วงล่างที่มีล้อจำนวน 4 ติดตั้งอยู่ และด้านบนตู้ปลา มีเสาที่ติดตั้งกล้องที่คอยจับความเคลื่อนไหวของปลาทอง และมีระบบ LiDAR (Light Detection and Ranging) หรืออุปกรณ์ที่ใช้แสงเพื่อตรวจจับและคาดคะเนระยะทางของวัตถุ เพื่อใช้สำหรับควบคุมและวัดระยะทาง

โดยเมื่อผู้วิจัยนำปลาทองใส่ลงไปในตู้ปลาทีละตัว กล้องจะตรวจจับและติดตามการว่ายและเคลื่อนไหวของปลา และส่งข้อมูลไปยังคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งอยู่บนเสาเพื่อประมวลผลข้อมูลและบังคับทิศทางคล้ายกับการควบคุมทิศทางของหุ่นยนต์ เพื่อให้ FOV สามารถวิ่งไปตามทิศทางเดียวกับที่ปลาในตู้ปลาว่ายเคลื่อนที่ได้

ปลาทอง
ส่วนประกอบของพาหนะ ‘FOV’ (Fish Operated Vehicle)

หลังจากนั้น ทีมวิจัยจะให้เหล่าปลาทองทั้ง 6 ตัวทำภารกิจ โดยให้เวลาในการทดสอบตัวละ 30 นาที ภารกิจก็คือ ปลาทองแต่ละตัวจะต้องขับ FOV เพื่อไปให้ถึงจุดหมายที่ทีมวิจัยกำหนดไว้ให้ได้ โดยจะทำการบันทึกจำนวนที่ปลาเดินทางไปถึงเป้าหมาย ระยะเวลาที่ใช้ และความเร็วที่ทำได้ และปลาจะได้รับอาหารเป็นรางวัลในทุก ๆ ครั้งที่มันเดินทางไปถึงเป้าหมายได้สำเร็จ

หลังจากทำการทดสอบปลาทั้งหกตัว ทีมวิจัยค้นพบว่า แม้พวกเขาจะตั้งเป้าหมายหลอกเอาไว้รอบ ๆ ห้อง แต่ปลาทองเหล่านั้นก็สามารถที่จะเรียนรู้และจดจำเป้าหมาย และเรียนรู้วิธีการเดินทางบนบกได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจากการทดลองซ้ำ ๆ หลายรอบ พบว่าปลาทองเหล่านี้สามารถเรียนรู้และเดินทางไปยังเป้าหมายได้เร็วขึ้นเรื่อย ๆ จาก 30 นาที กลายเป็นภายในระยะเวลาไม่กี่นาที

ปลาทอง
เส้นวิถีการเคลื่อนไหวของปลาสองตัวเปรียบเทียบกัน
แสดงให้เห็นการปรับตัวและเรียนรู้ของปลาในการเดินทางบนบกโดยใช้เวลาน้อยลงในการทดลองแต่ละครั้ง

‘โรเนน ซาเกฟ’ (Ronen Segev) หนึ่งในผู้วิจัยร่วมที่ได้โพสต์วิดีโอการทดลองนี้เอาไว้บนทวิตเตอร์จนกลายเป็นไวรัลได้เผยว่า แม้นี่จะไม่ใช่การศึกษาครั้งแรกเกี่ยวกับ ‘ปฏิสัมพันธ์ระหว่างปลากับเครื่องจักร’ แต่ปลานั้นสามารถค้นหาเพื่อหลบหลีกการเดินทางบนเส้นทางที่ไม่ควรไป และเรียนรู้ข้อผิดพลาดได้อย่างดีเยี่ยม ตามผลการวิจัยที่ชี้ว่า ปลาทองสามารถเรียนรู้และปรับเส้นทางเพื่อไปสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้นในการทดลองแต่ละครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงทักษะการปรับตัวและเรียนรู้สภาพแวดล้อมใหม่ ๆ และแสดงให้เห็นว่า ปลาทองเหล่านี้สามารถปรับตัวในสภาพแวดล้อมบนบกที่แตกต่างจากปกติโดยสิ้นเชิงได้อย่างไร

ซึ่งเป็นการสนับสนุนสมมติฐานว่า ความสามารถในการเดินทางของสัตว์ต่าง ๆ บนโลก ล้วนเป็นคุณสมบัติสากลที่ไม่ขึ้นอยู่กับสายพันธ์ุใด ๆ โดยสัตว์ชนิดต่าง ๆ ที่มีความสามารถในการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก หรือแม้แต่ปลาทอง ต่างก็มีการก่อตัวของสมองบริเวณฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) หรือสมองบริเวณที่ควบคุมการเรียนรู้และการจดจำ เพื่อเรียนรู้การนำทางที่คล้ายคลึงกัน ทำให้สัตว์เหล่านั้นมีทักษะในการนำทางที่เป็นเลิศ โดยทักษะการนำทางของสัตว์แต่ละชนิด ก็จะขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และสภาพแวดล้อมที่พวกมันอาศัยอยู่ด้วย

ปลาทอง

ซึ่งผลงานการวิจัยนึ้ไม่ได้เพียงต้องการศึกษาว่า ปลาสามารถขับรถบนบกได้แต่เพียงอย่างเดียว แต่ปลาสามารถปรับตัวให้เคลื่อนที่บนบกได้ แม้จะเป็นระบบนิเวศที่พวกมันยังไม่สามารถปรับตัวและเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่วนัก ซึ่งการศึกษานี้ จะเป็นการขยายขอบเขตการศึกษาวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับ ‘ระเบียบวิธีการถ่ายโอนโดเมน’ (Domain Transfer Methodology) หรือการศึกษาเพื่อค้นหาว่า สัตว์สายพันธุ์หนึ่ง ๆ จะสามารถเรียนรู้อาศัยและเดินทางในสภาพแวดล้อมของสัตว์อีกสายพันธุ์หนึ่งได้อย่างไร

ในรายงานการวิจัยยังได้กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานวิจัยชิ้นนี้อีกว่า “จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อขยายผลการทดลองนี้ ไปสู่วิธีการที่ซับซ้อนขึ้น เช่นการทดลองในสภาพแวดล้อมบนบกที่เปิดโล่ง อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า วิธีที่ปลาทองใช้สมองในการเรียนรู้พื้นที่ และกลยุทธ์ที่ใช้เดินทางอาจมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกันกับทั้งในสภาพแวดล้อมบนบกและทางน้ำ”


อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง |

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส