สำหรับคนที่เกิดไม่ทันและไม่รู้จักโลกในยุค 90s ในยุคนั้นคือยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านในหลาย ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกซึ่งถ้าใครไม่รู้ว่ายุคนั้นมีอะไรบ้างก็เริ่มจากการเข้าคิวตู้โทรศัพท์สาธารณะเพื่อโทรหาคนที่เราชอบถ้าอยากรู้จักใครก็ไปขอบ้านเลขที่เขาเพื่อส่งจดหมายไปจีบการฟังเพลงต้องซื้อเทปมาฟังและเพลงที่ชอบจะอยู่แค่หน้า A วิดีโอต้องไปที่ร้านเช่าหนังสือการ์ตูนถ้าไม่ซื้อเองก็ต้องไปเช่าอ่านส่วนเกมนั้นจะเป็นตลับ Famicom กับระบบการแลกเปลี่ยนตลับในร้านที่ต้องเพิ่มเงินตามจำนวนความจุของอีกฝ่ายที่มากกว่าระบบอินเmอร์เน็ตหรือแม้แต่คอมพิวเตอร์เป็นเรื่องไกลตัวการ์ตูนช่อง 9 ทุกเสาร์อาทิตย์คือเวลาทองของเด็ก ๆ รายการโลกของเด็กที่น้าต๋อยเป็นพิธีกรคือรายการที่เด็กทั่วไทยอยากไปออก และอีกหนึ่งสิ่งที่ยุค 90s มีคือการ์ตูนระดับตำนานที่ฉายในยุคนั้นที่ยังตราตรึงใจเด็กยุค 90s และนี่คือ 10 เกมที่มาจากการ์ตูนในยุคนั้นที่เด็กยุค 90s จดจำและการ์ตูนเหล่านั้นจะมีเกมอะไรบ้างเรามาย้อนอดีตดูกันเลย

Mashin Hero Wataru

Mashin Hero Wataru

เริ่มต้นเรื่องแรกกับการ์ตูนต่างโลกที่เด็กยุคนั้นต่างชื่นชอบกับ Mashin Hero Wataru หรือชื่อไทยคือวาตารุเทพบุตรสองโลกที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ Wataru Ikusabe  เด็กนักเรียนชั้นประถม 5 ที่รักความยุติธรรมวันหนึ่งเขาได้ปั้นหุ่นยนต์ดินเหนียวขึ้นมาและได้เอาสร้อยคอสีแดงที่เขาพบกลางสะพานบ่อน้ำของศาลเจ้าเทพมังกรมาใส่ให้ตุ๊กตาหุ่นที่ตัวเองปั้นและตอนนั้นเองเขาก็หลงมาในโลกอีกมิติที่ชื่อว่า Soukaizan ซึ่ง Wataru ต้องออกเดินทางไปพร้อมกับสาวน้อยนินจาผู้น่ารักกับตาลุงซามูไรจอมปลอม(ใครคิดไม่ออกให้คิดถึงมิสเตอร์ซาตานในดราก้อนบอล) กับการกู้โลกให้ปลอดภัยซึ่งจุดเด่นของเรื่องนี้คือหุ่นแบบ SD ที่ในยุคนี้อาจจะรู้สึกแปลก ๆ กับการออกแบบแต่ในยุคนั้นมันคือหุ่นที่เด็ก ๆ ยุค 90s ชื่นชอบ

Mashin Hero Wataru

สำหรับตัวเกมนั้น Mashin Hero Wataru ถ้าไม่นับการเป็นแขกรับเชิญในซีรีส์ Super Robot Wars แล้วในยุคอดีตสมัยที่การ์ตูนเรื่องนี้ออกฉายก็มีเกมบนเครื่อง Famicom และมีฉบับภาษาอังกฤษในชื่อ Mashin Eiyuu Den Wataru Gaiden ที่เป็นเกมแนว RPG ที่อ้างอิงเรื่องราวตามในการ์ตูนขณะที่ฉากต่อสู้จะเป็นแนว Action ให้เราขับหุ่นสู้กับศัตรู และในตอนนี้บนโทรศัพท์มือถือก็มีภาคใหม่ออกมาในชื่อ Mashin Eiyuden Wataru Demon Heroes ที่ลงบนโทรศัพท์มือถือที่มาในรูปแบบเกมแนวยานยิงมุมมองด้านข้างที่น่าเล่นมาก ๆ ลุง ๆ ป้า ๆ ที่อยากย้อนรำลึกความทรงในยุค 90s  ก็ไปโหลดมาเล่นกันได้

Mashin Hero Wataru

Samurai Pizza Cat

Samurai Pizza Cat

Samurai Pizza Cat หรือในชื่อไทยคือสามเหมียวยอดนินจาเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เด็กในยุค 90s จดจำได้เป็นอย่างดีของการต่อสู้ของสามเหมียวนินจาที่เล่าเรื่องราวของโลกยุคอนาคตอย่าง Edoropolis ที่มีประชากรเป็นสัตว์ที่ทุกคนอยู่อย่างสงบสุขจนวันหนึ่งก็มีเหล่าร้ายออกมาสร้างความวุ่นวาย สามเหมียวที่ถูกฝึกฝนมาเพื่อต่อสู้กับความชั่วร้ายต้องออกไปช่วยเหลือผู้คนโดยมียัททาโร่แมวสีขาวหัวหน้าทีมนินจาเหมียว สึคาชิแมวสีฟ้าสุดเท่และพูรูลุนแมวสาวสุดน่ารักที่ออกปราบเหล่าร้ายโดยในเรื่องนั้นเราจะได้พบกับนินจาเหมียวคนอื่น ๆ อีกด้วย และด้วยความที่การ์ตูนยุค 90s ในตอนนั้นจะเน้นไปที่หุ่นยนต์เราจึงได้เห็นสามเหมียวเราขับหุ่นออกมาสู้อีกด้วยใครที่ชอบแมวชอบแนวนินจาลองไปหามาดูก็สนุกได้

Samurai Pizza Cat

ในส่วนของเกมนั้นก็มีเกมบนเครื่อง Famicom ในปี 1991 ที่เป็นเกม Action ผ่านด่านมุมมองด้านข้างที่มีสีสันที่สวยงามกับการรับบทเป็นหนึ่งในสามนินจาที่เราชื่นชอบโดยมี Tecmo เป็นผู้ผลิตและในครั้งที่เกม Tatsunoko vs. Capcom Ultimate All- Stars เกมต่อสู้ข้ามค่ายของ  Tatsunoko กับ Capcom จะถูกสร้างทางทีมพัฒนาอย่าง Ryota Niitsuma บอกว่าเขาอยากได้ Samurai Pizza Cat มาอยู่ในเกมนี้ด้วยแต่เพราะการตกลงที่ไม่ลงตัวเราจึงอดเห็นสามเหมียวในเกมนี้อย่างน่าเสียดาย

Samurai Pizza Cat

Parman

Parman

อีกหนึ่งการ์ตูนในตำนานที่หลายคนน่าจะรู้จักเป็นอย่างดีกับ Parman การ์ตูนจากปลายปากกาของอาจารย์ Fujiko F Fujio ผู้ให้กำเนิดเจ้าแมวสีฟ้าที่เรารู้จักโดยเรื่องราวของ Parman นั้นจะเริ่มจากเด็กชาย Mitsuo Suwa เด็กชายที่ได้รับเลือกให้เป็นปาร์แมนซุปเปอร์ฮีโรที่ปกป้องผู้คนพร้อมกับของวิเศษ 4 ชิ้นที่มีทั้งหมวกเพิ่มพลังจากคนปกติถึง 6,600 เท่าพร้อมระบบแปลภาษา เข็มกลัดที่เป็นอุปกรณ์สื่อสารระหว่างปาร์แมนคนอื่น ๆ และเป็นเครื่องช่วยหายใจใต้น้ำ ผ้าคลุมที่สามารถบินได้เร็วถึง 119 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและหุ่นก๊อปปี้ที่เอาไว้รัษาความลับความเป็นปาร์แมนของเรา เพราะถ้าเราถูกคนอื่นรู้ว่าเราคือปาร์แมนหมวกจะทำการระเบิดหัวเราจนเละ(ขู่ได้น่ากลัวมาก) ตัวการ์ตูนออกไปทางตลกสนุกสนานที่ทำเด็กยุค 90s หลายคนเอาผ้ามาพันคอแย่งกันเป็นปาร์แมนเพราะไม่มีใครอยากเป็นบู้บี้ปาร์แมนลิงปาร์ยังคนอ้วนเหมือนไจแอนท์หรือปาร์โกะที่เป็นผู้หญิง

Parman

ใส่ส่วนของเกมนั้นก็มี Paaman Enban wo Torikaese ที่ลงบนเครื่อง Famicom ในปี 1990 ตัวเกมจะเป็นแนว Action ผ่านด่านมุมมองด้านข้างที่จะให้เรารับบทเป็นปาร์แมนเพื่อปราบเหล่าร้ายกับความสามารถต่าง ๆ ที่ต่างกับต้นฉบับการ์ตูนที่ปาร์แมนในเกมจะบินไม่ได้แต่จะเป็นกระโดดสูงแทนแถมยังมีพลังหมัดอัดกระแทกที่เหมือนปืนไว้ยิงศัตรู ตัวเกมค่อนข้างได้รับความนิยมพอสมควรจะถูกแปลไปเป็นภาษาอังกฤษและมีภาคสองตามออกมาในชื่อ Perman Part 2 Himitsu Kessha Madoodan o Taose! ที่คราวนี้เราจะบินได้แล้วกับมุมมองของเกมที่เพิ่มขึ้นนอกจากนี้ก็มีเกม  Let’s Play Paaman Enban wo Torikaese ที่เป็นเกมกระดานคล้ายเกมเศรษฐีใครเป็นสายสะสมควรมีเป็นอย่างมาก

Parman

Sakigake!! Otoko Juku

Sakigake!! Otoko Juku

คราวนี้เปลี่ยนแนวมาที่การ์ตูนลูกผู้ชายที่จริงจังกันบ้างกับ Sakigake!! Otoko Juku หรือในชื่อไทยคือโรงเรียนลูกผู้ชายขุนพลประจัญบานไปจนถึงนักเรียนนายร้อยเดนตายที่แล้วแต่ใครจะเรียกซึ่งเรื่องราวในการ์ตูนเรื่องนี้จะกล่าวถึงโรงเรียนชายล้วนที่มีลักษณะเหมือนโรงเรียนดัดสันดานที่รับเด็กเกเรเข้ามาฝึกศิลปะการป้องกันตัว(แต่ส่วนมากจะมีวิชาอยู่แล้ว)พร้อมกับฝึกฝนวินัยการเชียร์กีฬาแบบญี่ปุ่นที่เรียกว่า Ōendan ซึ่งเนื้อหาหลัก ๆ ของเรื่องก็คือการยกพวกไปตีกับโรงเรียนอ่านผ่านศิลปะการต่อสู้ที่สุดโอเวอร์แต่ความสนุกนั้นจะเต็มสำหรับเด็กผู้ชายยุค 90s ที่เด็กผู้หญิงในยุคนั้นไม่เข้าใจ และถ้าอยากรับรู้ความสนุกแบบจัดเต็มต้องอ่านในหนังสือเพราะในฉบับการ์ตูนจะตัดในส่วนนี้ออกไปเยอะมาก ๆ

Sakigake!! Otoko Juku

ด้วยความโด่งดังกับเนื้อหาที่ค่อนข้างง่ายสำหรับสร้างเป็นเกมเราจึงได้เห็นเกมที่สร้างจากการ์ตูนเรื่องนี้ออกมามากมายตั้งแต่บนเครื่อง  Famicom อย่าง Sakigake !! Otokojuku ในปี 1989 ที่เป็นเกม Action ผ่านด่านกับ Sakigake !! Otokojuku Meiō-tō Kessen บนเครื่อง Game Boy game ที่เหมือนภาค Famicom ก่อนจะย้ายมาบนเครื่อง PlayStation 1 กับ imple 2000 The Dodgeball Sakigake!! Otokojuku ที่เปลี่ยนแนวมาเป็นแนว Dodgeball

Sakigake!! Otoko Juku

พอมาบน PlayStation 2 ก็มีภาคใหม่ในชื่อ Sakigake!! Otokojuku ที่เป็นเกมแนวต่อสู้ที่ใช้ฉากละตัวละครถูกถูกสร้างออกมาถูกใจแฟน ๆ เป็นอย่างมากและบน PlayStation 3 กับภาค akigake!! Otokojuku Nihon yo, Kore ga Otoko de aru!! ที่ข้อมูลบอกว่าเป็นเกมต่อสู้ที่เราจะต้องผ่านเรื่องราวต่าง ๆ ในการ์ตูนรวมถึงมินิเกมที่อ้างจากในการ์ตูนแบบมาครบเพื่อเอาใจแฟน ๆ เกมนี้ใครสนใจเกมไหนก็ไปตามเก็บตามเล่นกันได้

Sakigake!! Otoko Juku

Ghost Sweeper Mikami

Ghost Sweeper Mikami

มาต่อกันที่การ์ตูนตลกกันบ้างกับ Ghost Sweeper Mikami เรื่องราวของนักปราบผีสาวสวยอย่าง Reiko Mikami ที่ต้องออกปราบผีตามสถานที่ต่าง ๆ เพราะความเจริญที่มีมากขึ้นจนทำให้พวกผีไม่มีที่อยู่จึงออกมาสร้างความวุ่นวายจนมีอาชีพ Ghost Sweepers เกิดขึ้นและ Reiko Mikami เธอคือเบอร์ 1 ของนักปราบผีที่มาพร้อมความฮาสุดป่วนกับผู้ช่วยสุดลามกอย่าง Tadao Yokoshima และผีสาวหลงยุคสุดน่ารักอย่าง Okinu ที่ถ้าใครอยากรับความสนุกขำจนขากรรไกรค้างต้องอ่านในฉบับหนังสือการ์ตูนส่วนใครที่อยากดูการ์ตูนปราบผีดี ๆ ดูเพลินเรื่องนี้รับประกันความสนุกแต่เนื้อหาความลามกและบ้าบอจะถูกตัดออกไปโดยเรื่องนี้เคยถูกฉายทางช่อง 9 แต่ส่วนมากเด็กยุค 90s จะรู้จักจากหนังสือการ์ตูนที่มีขายในยุคนั้นมากกว่า

Ghost Sweeper Mikami

ในส่วนของเกมนั้นก็ทำออกมาเพียงแค่ภาคเดียวกับ Cover art of Ghost Sweeper Mikami Joreishi wa Nice Body บนเครื่อง Super Famicom ในปี 1993 โดยตัวเกมนั้นจะเป็นการอ้างอิงเนื้อเรื่องในช่วงต้นของการ์ตูนกับการเดินทางปราบปีศาจในรูปแบบเกม Action มุมมองด้านข้างที่เล่นสนุกเพลินและฮามาก ๆ เพราะนอกจากศัตรูที่เราต้องสู้แล้วยังมีพ่อพระเอกของเรามาเป็นตัวถ่วงให้เกมยากขึ้นอีกด้วยตัวเกมเหมาะแก่การหามาสะสมยิ่งใครที่เคยอ่านหรือดูมาแล้วจะยิ่งชอบส่วนใครที่ไม่รู้จักแนะนำให้ไปหามาอ่านมาดูก่อนแล้วคุณจะเล่นเกมนี้สนุกขึ้นอย่างแน่นอน

Ghost Sweeper Mikami

Bakusou Let’s & Go

Bakusou Let's & Go

ไปเลยแม็กนั่ม ! หนึ่งในประโยคในตำนานที่เด็กผู้ชายยุค 90s ตะโกนออกมาหลังจากส่งรถที่ตัวเองแต่งมาอย่างดีลงไปในรางและวิ่งด้วยความเร็วแบบไม่กระเด็นหลุดราง โดยที่มาของกระแสแต่งรถแข่งนั้นมาจากการ์ตูนเรื่อง Bakusou Let’s & Go หรือที่เรารู้จักในชื่อ นักซิ่งสายฟ้าที่ทางช่อง 9 เอามาฉายจนทำให้เด็กไทยในยุคนั้นใคร ๆ ก็อยากแต่งรถให้วิ่งเร็วแบบในการ์ตูนโดยเรื่องราวของ Bakusou Let’s & Go จะกล่าวถึง Retsu กับ Go  สองพี่น้องที่มีความชอบในการแข่งรถที่เรียกว่า Mini 4WD ที่พัฒนาตัวเองจากนักแข่งธรรมดาจนกลายเป็นตัวแทนของประเทศญี่ปุ่นร่วมกับเพื่อน ๆ เพื่อไปแข่งรถกัปประเทศอื่นและเหล่าร้ายที่ใช้ Mini 4WD ในสงครามซึ่งภาคแรกเป็นภาคที่เด็กยุค 90s จดจำได้มากที่สุด

Bakusou Let's & Go

ในส่วนของเกมนั้นทุกเกมจะเป็นแนวแข่งรถ Mini 4WD ที่ต่างกับเกมแข่งรถทั่วไปตรงที่ทุกภาคนั้นจะอ้างอิงอุปกรณ์ชุดแต่งจากของจริงในยุคนั้น ๆ มาเป็นอุปกรณ์เสริมเพื่อแต่งรถของเราในเกมเพื่อไปแข่งกับคนอื่น ซึ่งเราจะไม่สามารถควบคุมรถได้แต่จะสั่งให้รถให้ท่าหรือเร่งความเร็วได้ในบางจังหวะเท่านั้นโดยเกมแรกที่ออกมาจำหน่ายคือ Mini 4WD Shining Scorpion Let’s & Go!! ลงบนเครื่อง Super Famicom Mini 4WD GB Let’s & Go! บนเครื่อง Game Boy Mini 4WD Super Factory บนเครื่อง Sega Saturn Bakusou Kyoudai Let’s & Go!! WGP Hyper Heat บน PlayStation และภาคที่ได้รับความนิยมที่สุดในยุค 90s ก็คือภาค Bakusou Kyoudai Let’s & Go!! Eternal Wings เพราะภาคนี้เป็นภาคเดียวที่เราสามารถควบคุมรถในสนามได้เหมือนเกมแข่งรถอื่น ๆ แถมยังมีตัวละครจาก 2 ภาคแรกมารวมอยู่ด้วยใครเป็นสายสะสมสมควรมีเก็บอย่างยิ่ง

Bakusou Let's & Go

Iron Leaguer

Iron Leaguer

เมื่อพูดถึงการ์ตูนที่ทำให้เด็กยุค 90s อยากวิ่งออกไปนอกบ้านเพื่อเล่นกีฬาแบบต่าง ๆ ก็คงต้องยกให้เรื่อง Iron Leaguer หรือในชื่อไทยพายุหมุนไออ้อนลีคที่เราเรื่องราวของโลกอนาคตที่มนุษย์ชื่นชอบการเล่นกีฬาของเหล่าหุ่นยนต์ที่ดูสนุกและตื่นเต้นกว่ามนุษย์เล่นโดยเรื่องราวจะเล่าผ่านทีม  Silver Castle ทีมหุ่นยนต์ที่แข่งขันในเกมกีฬาต่าง ๆ ซึ่งเป็นทีมที่เคยได้รับความนิยมในหมู่แฟน ๆ แต่ด้วยการเล่นที่ไม่ซื่อของทีมต่าง ๆ จึงทำให้ทำทีม Silver Castle ที่เล่นถูกกติกาแพ้เรื่อยมาจนวันหนึ่งก็มีหุ่นยนต์ในชุดเบสบอลชื่อ Magnum Ace มาเข้าทีมเพื่อแข่งขันกับทีมต่าง ๆ ที่เล่นโกงจนชนะและดึงผู้เล่นคนอื่นมาเข้าทีมจนแข็งแกร่ง ซึ่งเราจะได้เห็นกีฬาต่าง ๆ มากมายที่เล่นเป็นทีมที่ดูสนุกถูกใจเด็กยุค 90s มาก ๆ

Iron Leaguer

ในส่วนของเกมนั้นก็จะมีเพียงแค่เกมเดียวบนเครื่อง GameBoy ในชื่อ Shippuu! Iron Leaguer ที่ตัวเกมนั้นไม่ใช่แนวแข่งกีฬาแบบเดียวกับในการ์ตูนแต่จะเป็นเกม Action มุมมองด้านข้างที่เราจะได้เล่นเป็นตัวละครต่าง ๆ ในการ์ตูนตามเนื้อเรื่องแต่ละด่านที่เห็นแบบนี้แต่ตัวเกมกลับเล่นได้สนุกทดแทนความรู้สึกที่ไม่ได้เล่นแนวกีฬาต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี และนอกจากเกมนี้แล้วเหล่าหุ่น Iron Leaguer ก็ไปเป็นแขกรับเชิญใน Super Robot Wars NEO ด้วยใครที่คิดถึงก็ไปหาสองเกมนี้มาเล่นกันได้

Iron Leaguer

Ranma ½

Ranma ½

อีกหนึ่งการ์ตูนในตำนานที่ทั้งเด็กผู้ชายและผู้หญิงต่างชื่นชอบและนั่งดูไปพร้อมกันกับ Ranma ½ หรือในชื่อไทยคือไอ้หนุ่มกังฟูที่เด็กในยุคนั้นหลายคนน่าจะเคยอ่านฉบับหนังสือการ์ตูนมาก่อนที่จะได้ดูฉบับการ์ตูนที่ฉายทางช่อง 9 ที่เรื่องราวจะเล่าถึง Ranma Saotome ชายหนุ่มสุดหล่อที่ย้ายมาอยู่ในบ้าน Tendo ซึ่งเขามีความลับที่บอกใครไม่ได้คือเมื่อเขาโดนน้ำเย็นจะกลายเป็นผู้หญิงส่วนพ่อของเขานั้นเมื่อโดนน้ำเย็นจะกลายเป็นหมีแพนด้าแต่เมื่อได้อาบน้ำร้อนจะคืนร่างซึ่งความสนุกของเรื่องคือการต่อสู้ของ Ranma กับคนในโรงเรียนที่มีทั้งศัตรูตอนเป็นชายและเป็นหญิงซึ่งพวกเขาไม่รู้ว่าเป็นคนเดียวกัน และนอกจากสองคนพ่อลูกก็มีตัวละครอื่น ๆ ที่โดนสาปเป็นหมูดำเป็นแมวเป็นเป็ดที่มาสร้างความวุ่นวายที่ดูสนุกสู้กันสะใจที่วาดโดยอาจารย์ Rumiko Takahashi ผู้วาด Inuyasha นั่นเอง

Ranma ½

ในส่วนของเกมนั้น Ranma ½ ได้ถูกสร้างเป็นเกมถึง 15 เกมเลยทีเดียวแต่เกมที่อยู่ในความทรงจำของนักเล่นเกมในยุค 90s ก็มี Ranma ½ Netsuretsu Kakutouhen บนเครื่อง Game Boy ที่เป็นแนว RPG ที่เราจะได้เล่นเป็น Ranma ที่เราต้องเดินหาเนื้อเรื่องโดยการสลับตัวเองให้เป็นทั้งชายและหญิงเพื่อหาเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นแบบเดียวกับในการ์ตูนกับเกมต่อสู้ใน Ranma ½ Bakuretsu Rantōhen ที่ลงบนเครื่อง Super Famicom ที่รวบรวมตัวละครในการ์ตูนกับท่วงท่าที่หยิบยกมาจากการ์ตูนมาครบทุกท่าถูกใจขาเกมต่อสู้ในยุคนั้นกับอีกหนึ่งเกมบนเครื่อง PlayStation กับ Ranma ½ Battle Renaissance เกม Ranma แนวต่อสู้ 3D ที่มีกราฟิกที่สวยงามพร้อมตัวละคครเด่น ๆ ในการ์ตูนมาเกือบครบซึ่งจุดเด่นของเกมนี้คือระหว่างต่อสู้จะมีฝนตกลงมาซึ่งถ้าใครใช้ตัวละครที่เปลี่ยนร่างได้ก็จะกลายร่างทันที แต่ตัวเกมกลับทำออกมาขาด ๆ เกิน ๆ ไม่น่าสนใจแต่เหมาะสำหรับนักสะสมที่ควรหามาเก็บมากกว่า

Ranma ½

Cyber Formula

Cyber Formula

กลับมาที่การ์ตูนแข่งรถอีกครั้งแต่คราวนี้ไม่ใช่รถของเล่นแต่เป็นรถแข่งจริง ๆ บนสนามจริงในเรื่อง Cyber Formula ที่กล่าวถึงโลกอนาคตที่การแข่งรถในยุคนี้นั้นจะมีปัญญาประดิษฐ์ช่วยนักแข่งควบคุมรถและด้วยความฉลาดของปัญญาประดิษฐ์บน  Asurada G.S.X. คันใหม่ของทีมเป็นที่ต้องตาต้องใจผู้ก่อการร้ายจึงคิดจะขโมยขายเพื่อใช้ในการสงคราม แต่ก็ถูกขัดขวางโดยเด็กชายนาม Kasami Hayato ได้ขึ้นขับจนกลายเป็นเจ้าของเพียงคนเดียวที่ขับรถคันนี้ได้เรื่องราวการแข่งขันรถ Formula สุดสนุกจึงเริ่มขึ้นซึ่งความสนุกของเรื่องนี้คือการแข่งรถที่สนุกสมจริงจนเด็กผู้ชายยุคนั้นต่างอยากขึ้นไปขับรถของพ่อแล้วเรียกว่า Asurada กันทุกคน

Cyber Formula

ในส่วนของเกมนั้นจะถูกสร้างออกมาหลายภาคมาก ๆ ซึ่งส่วนมากจะเป็นเกมที่สร้างมาจากการ์ตูนภาคใหม่ที่ทางช่อง 9 ไม่ได้เอามาฉายแต่นั่นก็มากพอที่จะทำให้นักเล่นเกมยุค 90 ต่างหาเกมมาเล่นได้และทุกเกมนั้นก็คือเกมแข่งที่บางภาคนั้นเราสามารถปรับแต่งรถได้ด้วยและภาคที่น่าสนใจที่เราอยากแนะนำก็มีภาค Shinseiki GPX Cyber Formula VS ที่ลงบนเครื่อง PSP Shinseiki GPX Cyber Formula Road To The INFINITY ที่ลงบนเครื่อง PlayStation 2 และภาคใหม่ล่าสุดอย่าง Future GPX Cyber Formula SIN VIER เกม VR (ไม่มีต้องใช้ VR ก็เล่นได้) ที่ให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังขับรถอยู่ตัวเกมมีวางขายบน Steam ใครมีแว่น VR ไม่ควรพลาด

Cyber Formula

Matchless Raijin-Oh

Matchless Raijin-Oh

ปิดท้ายด้วยการ์ตูนหุ่นยนต์ที่เด็กยุค 90s อยากไปโรงเรียนและฝันว่าห้องเรียนจะกลายเป็นฐานบัญชาการสู้กับสัตว์ประหลาดในเรื่อง Matchless Raijin-Oh ที่ชื่อไทยว่าขบวนการไรจินโอที่เล่าถึงเด็กนักเรียนห้องประถม 5 ที่กลับบ้านช้ากว่าเพื่อนห้องอื่นเพราะนักเรียนทำการบ้านผิดส่งครูยกห้อง(มีทำถูกสองคน) และตอนนั้นเองก็มีหุ่นยนต์ตกลงมาทับเด็ก ๆ ในห้องและมองพลังในการต่อสู้กับเหล่าร้ายให้เด็ก ๆ โดยมีสามคนต้องออกไปขับหุ่นส่วนคนที่เหลือจะอยู่ที่ฐานคอยสนับสนุนหุ่นสามตัวสู้ นับเป็นการ์ตูนไม่กี่เรื่องที่ทำเอาเด็ก ๆ ในยุค 90s ลงทุนแกะโต๊ะเรียนตัวเองเพื่อเอายางลบไปใส่และคิดว่ากำลังอยู่ในเรื่องขบวนการไรจินโอ

Matchless Raijin-Oh

ในส่วนของตัวเกมนั้นส่วนมากตัว Raijin-Oh จะไปเป็นตัวละครตามเกมต่าง ๆ มากกว่าอย่างเช่นตัวละครในเกม  Super Robot Wars NEO Super Robot Wars OE และ Super Robot Wars BX BX นอกจากนี้ก็มีเกม New Century Brave Wars เกม Action  รวมหุ่นยนต์บนเครื่อง PlayStation 2 และเกมแนว RPG ใน  Battle of Sunrise บน PlayStation 2 และถ้าเราย้อนกลับไปดูในช่วงที่การ์ตูนออกฉายใหม่ ๆ ก็เคยมีเกมในชื่อ  Zettai Muteki Raijin-Oh ที่ลงบนเครื่อง Game Boy เมื่อปี 1991 แต่เป็นแนว Action ที่เราจะได้เล่นเป็นหุ่น Raijin-Oh ผ่านด่านไปเรื่อย ๆ ซึ่งถ้าอยากจะหามาสะสมแนะนำว่าซื้อเครื่อง Game Boy จะเหมาะที่สุด

Matchless Raijin-Oh

ก็จบกันไปแล้วกับ 10 การ์ตูนยุค 90s ที่ถูกสร้างเป็นเกมเพื่อเอาใจนักสะสมเกมเก่ากับผู้สูงอายุในยุค 90s ให้ได้ย้อนเวลากลับไปในช่วงเวลาแห่งความสุขกับการนั่งหน้าจอทีวีพร้อมเพื่อน ๆ เพื่อดูการ์ตูนที่ฉายให้เราได้ดูทุก ๆ วันเสาร์อาทิตย์ เมื่อดูจบเราก็จะเอาเรื่องที่ดูนั่นมาคุยกันอย่างสนุกสนานก่อนจะไปวิ่งเล่นต่อสู้ตามการ์ตูนที่ดูนับเป็นความสุขเล็ก ๆ ในความทรงจำของคนยุค 90s ที่ยังไม่มีโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ตให้เราได้นั่งอยู่กับที่แบบในยุคนี้ ซึ่งเด็กยุคใหม่ที่สนใจอยากจะลองหาการ์ตูนหรือเกมเหล่านั้นมาดูก็ได้ เพราะทุกเรื่องนั้นถ้าเรามองข้ามความสมจริงไปและดูเอาสนุกตามแบบยุค 90s เราจะพบความบันเทิงที่การ์ตูนยุคนี้ไม่มีเลยทีเดียว และถ้าใครมีการ์ตูนเรื่องอื่นที่น่าสนใจอีกก็มาแลกเปลี่ยนกันได้ส่วนคราวหน้าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรก็ติดตามกันได้ที่นี่ที่เดียว

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส