นับเป็นเวลากว่า 8 เดือนแล้วนับตั้งแต่มีการประกาศจัดตั้ง CGM48 ไอดอลกรุ๊ปน้องสาววงแรกของ BNK48 ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ในงาน BNK48 Thank you & The Beginner @ CHIANG MAI ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2562 ท่ามกลางความสนใจของแฟน ๆ ว่าไอดอลกรุ๊ปเมืองเหนือวงนี้จะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร

จนมาถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2562 ก็ได้มีการเปิดตัวเม็มเบอร์ CGM48 รุ่นที่ 1 จำนวน 23 คน เมื่อรวมกับอิซึรินะ ชิไฮนิน (支配人 = ผู้จัดการวง) ของ CGM48 และออม กัปตันของ CGM48 ที่ทั้งคู่ย้ายมาจาก BNK48 แล้ว CGM48 ก็มีเม็มเบอร์ 25 คนพอดีและได้ดำเนินกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง

Play video

Play video

CGM48 เพลงประจำวง CGM48 เพลงทำนองนี้เป็นเพลงที่ 48 กรุ๊ปทุกวงต้องมีในเวอร์ชันของตัวเอง คือทำนองเดียวกัน แต่เนื้อหาแตกต่างกันไป เวอร์ชันของ CGM48 พาไปตะลอนเชียงใหม่อย่างสนุกสนาน

แล้วก็มาถึงวันที่ทุกคนรอคอย นั่นก็คือ CGM48 1st SINGLE DEBUT งานเดบิวของ CGM48 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 ณ Amphitheater ชั้น 6 ศูนย์การค้า เมญ่า ไลฟ์สไตล์ ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์ หัวใจคือการเปิดตัวซิงเกิลแรกของวง นั่นคือ Chiang Mai 106 (เชียงใหม่ 106) โดยในงาน สาว ๆ ได้ทำการแสดงหลายบทเพลง ซึ่งรวมถึง Chiang Mai 106 เพลงหลักจากซิงเกิลแรกนี้

และที่เซอร์ไพรส์ที่สุดก็คือการเปิดตัว MV เพลง Chiang Mai 106 ซึ่ง MV นี้ก็เป็น MV แรกของวง และ CGM48 ยังได้ปล่อย MV นี้ทาง Youtube เมื่อเวลา 19.30 น. ของวันเดียวกันด้วย MV นี้ได้ผู้กำกับเจ้าถิ่นคนเมืองเชียงใหม่อย่างมะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล เจ้าของผลงานภาพยนตร์เช่นรักแห่งสยาม Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ และดิว ไปด้วยกันนะ มาร่วมกำกับกับสุรชาญ มั่นคงวงศ์ศิริ ถ่ายทอดแง่งามต่าง ๆ ของเชียงใหม่ได้อย่างยอดเยี่ยม

Play video

จากที่เห็นใน MV นี้ สาว ๆ CGM48 ได้พาพวกเราไปเยี่ยมชมสถานที่สุดแสนสวยงามหลาย ๆ แห่งในเชียงใหม่ มาดูกันดีกว่าว่ามีที่ไหนกันบ้างครับ


เราปักหมุดไว้ให้เรียบร้อยแล้ว พร้อมเมื่อไหร่ก็ไปตามรอยได้เลย (ภาพจาก Google Maps)

1. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 (ถนนต้นยาง)

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 คือหนึ่งในถนนที่มุ่งสู่เมืองเชียงใหม่ เริ่มต้นจากทางแยกถนนพหลโยธินริมฝั่งซ้ายแม่น้ำวัง อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ขึ้นเขาเส้นทางคดเคี้ยวก่อนเข้าสู่จังหวัดลำพูน วิ่งผ่านจังหวัดลำพูนเข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ที่อำเภอสารภี แล้วไปสิ้นสุดในอำเภอเมืองเชียงใหม่ รวมระยะทาง 167.2 กิโลเมตร

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 (ภาพจาก Google Maps)

เสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ของถนนเส้นนี้คือต้นยางที่ปลูกเรียงรายสองข้างถนนตั้งแต่เข้าเขตอำเภอสารภีจนเข้าสู่เขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ ทำให้ถนนเส้นนี้ดูร่มรื่นสวยงามและมีชื่อเรียกติดปากว่า “ถนนต้นยาง” และความงามนี้เองที่ทำให้ถนนเส้นนี้ได้เป็นฉากหลังของเรื่องราวในเพลง Chiang Mai 106 นี้ และหมายเลขของถนนเส้นนี้ก็มาอยู่ในชื่อเพลงด้วย และจุดที่สาว ๆ CGM48 ทั้ง 16 คนในชุดเซ็มบัตสึเต้นบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 นั้นคือหน้าศาลหลักเมืองเชียงใหม่-ลำพูนนั่นเอง

พิกัด: 18.669841, 99.036719

2. อ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

อ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่าเป็นอ่างเก็บน้ำในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เกิดขึ้นจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรของชาวบ้าน ต่อมามีการพัฒนาเพิ่มเติมให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ มีกิจกรรมให้ทำมากมายเช่นพักตากอากาศ พายเรือ ขับ ATV หรือเดินเล่นชมทัศนียภาพ ปัจจุบันมีแลนด์มาร์กที่ต้องมาเช็กอินด้วยอย่างหุ่นฟางขนาดใหญ่รูปกอริลลาและสัตว์นานาชนิด

พิกัด: 18.866830, 98.941135

3. ย่านตลาดวโรรส (กาดหลวง)

ตลาดวโรรส หรือกาดหลวง เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในอำเภอเมืองเชียงใหม่ เป็นตลาดที่ขึ้นชื่อทั้งในหมู่ชาวเชียงใหม่และนักท่องเที่ยวที่มาหาซื้อของฝาก ในย่านนั้น นอกจากตลาดวโรรสแล้ว ก็ยังมีตลาดอีกหลายตลาดให้ได้จับจ่ายซื้อของ เช่นตลาดต้นลำไยและตลาดดอกไม้เชียงใหม่ และสะพานคนข้ามแม่น้ำปิงที่อยู่ตรงหน้าตลาดดอกไม้เชียงใหม่ก็คือสะพานจันทร์สมอนุสรณ์ หรือสะพานขัวแขก สะพานข้ามแม่น้ำปิงแห่งแรกของเชียงใหม่นั่นเอง

สาว ๆ วิ่งข้ามสะพานจันทร์สมอนุสรณ์

ร้านโยนก ร้านขายผ้าในชุมชนใกล้ตลาดวโรรส (กาดหลวง)

พิกัด: 18.790028, 99.000589

4. หมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้งดอยปุย

หมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้งดอยปุยเป็นหมู่บ้านของชาวเขาเผ่าม้ง ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย มีจุดเด่นทั้งที่อากาศที่เย็นสบาย ทิวทัศน์ที่สวยงาม วิถีชีวิตของชาวเขาเผ่าม้ง อาหารพื้นเมืองแสนอร่อยและร้านขายของที่ระลึกหลากหลายประเภท

พิกัด: 18.816468, 98.883322

5. ประตูท่าแพ

หนึ่งในแลนด์มาร์กสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ ประตูท่าแพเดิมเป็นหนึ่งในประตูเมืองชั้นในของเวียงเชียงใหม่ (เมืองเชียงใหม่ในกาลก่อน) ใช้เป็นปราการป้องกันข้าศึก ส่วนประตูท่าแพที่ตั้งในปัจจุบันนี้สร้างขึ้นใหม่โดยเทศบาลนครเชียงใหม่และกรมศิลปากร ปัจจุบันบริเวณประตูท่าแพเป็นลานสำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ ของชาวเมืองเชียงใหม่และเป็นจุดเริ่มต้นของถนนคนเดินท่าแพ แหล่งท่องเที่ยวที่จัดทุกวันอาทิตย์ มีการเปิดร้านขายสินค้าและการแสดงมหรสพต่าง ๆ

พิกัด: 18.787725, 98.993474

สำหรับท่านใดที่ชม MV เพลงนี้แล้วเกิดสนใจจะไปเที่ยวเชียงใหม่ CGM48 ก็มีรายการ girls guide : ไปโตยกั๋น ที่สาว ๆ CGM48 จะพาคุณไปชมความงดงามในจังหวัดเชียงใหม่ในแง่มุมที่คุณอาจไม่เคยเห็นมาก่อน สามารถเข้าไปติดตามกันได้ทาง Youtube Channel ของ CGM48 ได้เลยครับ

Play video

แจกวาร์ปสาว ๆ

เนื่องจาก CGM48 ยังเป็นไอดอลกรุ๊ปน้องใหม่ที่เพิ่งจะมีซิงเกิลแรก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แฟน ๆ หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นหน้าคุ้นตากับสาว ๆ ใน MV นี้ แต่อย่าได้กังวลใจไป เราได้เตรียมวาร์ปของสาว ๆ ไว้ให้ทุกท่านแล้ว อยากทำความรู้จักกับคนไหนก็ไปติดตามกันต่อได้เลยครับ

ไข่หวาน

คนิ้ง

นีน่า

นีนี่

ปะริมะ

ปิ๊ง

ปีโป้

พั้นซ์

ฟอร์จูน

มามิ้งค์

มิลค์

มีน

สิตา

ออม

อิซึรินะ

แองเจิ้ล

 

ย้อนรอยเพลง Chiang Mai 106

เพลง Chiang Mai 106 นั้นไม่ใช่เพลงต้นฉบับของ CGM48 ต้นฉบับของเพลงนี้คือเพลง Max Toki 315 gou ของ NGT48

Play video

วิธีการลำดับญาติ:

  • AKB48 คือไอดอลกรุ๊ป 48 วงแรก เป็นวงต้นฉบับ ประจำการอยู่ที่ย่านอากิฮาบาระ (AKihaBara) กรุงโตเกียว ทางภาคตะวันออกของประเทศญี่ปุ่น ก่อตั้งเมื่อปี 2548
  • NGT48 คือไอดอลกรุ๊ปน้องสาวของ AKB48 ประจำการอยู่ที่เมืองนีงาตะ (NiiGaTa) จังหวัดนีงาตะ ทางภาคกลางของประเทศญี่ปุ่น ก่อตั้งเมื่อปี 2558
  • BNK48 คือไอดอลกรุ๊ปน้องสาวของ AKB48 ประจำการอยู่ที่กรุงเทพมหานคร (BaNgKok) ทางภาคกลางของประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2559
  • CGM48 คือไอดอลกรุ๊ปน้องสาวของ BNK48 ประจำการอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ (ChianG Mai) ทางภาคเหนือของประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2562

เพลง Max Toki 315 gou เป็นเพลงออริจินัลเพลงแรกของ NGT48 เป็นเพลงรองใน Kimi wa Melody เมเจอร์ซิงเกิลที่ 43 ของ AKB48 วางจำหน่ายเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2559 บทเพลงบอกเล่าเรื่องราวความรักและการให้กำลังใจ โดยมีฉากหลังเป็นการเดินทางสู่เมืองนีงาตะด้วยรถไฟชิงกันเซ็งสายโจเอ็ตสึ ขบวน Max Toki หมายเลข 315 (Maxとき315号 หรือ Max Toki 315 gou) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเพลงนี้ ท่อนแรกของเพลงนี้แปลความได้ว่า “เมื่อออกจากอุโมงค์สุดท้าย ก็จะเข้าสู่เมืองที่สวยงาม” ซึ่งก็หมายถึงการเดินทางของรถไฟขบวนนี้ที่ออกจากสถานีโตเกียวไปสิ้นสุดที่สถานีนีงาตะนั่นเอง


ภาพตั๋วที่นั่งบนรถไฟขบวน Max Toki หมายเลข 315 คู่กับซีดี Kimi wa Melody Type D ที่มีเพลง Max Toki 315 gou อยู่ด้วย การเดินทางจากโตเกียวไปนีงาตะโดยรถไฟขบวนนี้ใช้เวลา 2 ชั่วโมง 7 นาที

ซึ่งเพลง Chiang Mai 106 ของ CGM48 ก็ใช้ครรลองเดียวกันในการเล่าเรื่องราว โดยท่อนแรกของเพลงร้องว่า “เส้นทางเส้นนี้ล้อมรายด้วยต้นยาง 106 พาฉันเข้าไปเจอเมืองที่งามท่ามกลางหมอกสีจาง ๆ” ซึ่งก็หมายถึงการเดินทางเข้าสู่เมืองเชียงใหม่ด้วยทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 นั่นเอง และที่น่าสนใจก็คือทั้งการเดินทางสู่เมืองนีงาตะด้วยรถไฟขบวน Max Toki หมายเลข 315 และการเดินทางสู่เมืองเชียงใหม่ทางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 นั้นเป็นการเดินทางขึ้นไปทางทิศเหนือทั้งคู่


ซ้าย: ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106
ขวา: ทางรถไฟชิงกันเซ็งสายโจเอ็ตสึ
ภาพจาก Google Maps


ทั้งสองเพลงกล่าวถึงการแย้มบานของดอกไม้ แต่ Chiang Mai 106 นั้นกล่าวเจาะจงถึงดอกทองกวาว ดอกไม้ประจำจังหวัดเชียงใหม่

และในส่วนของ MV เพลง Max Toki 315 gou นั้นก็ปรากฏภาพเม็มเบอร์ NGT48 วิ่งไปรอบ ๆ เมืองนีงาตะท่ามกลางหิมะขาวโพลนเสียส่วนใหญ่

Play video

ด้วยความที่จังหวัดนีงาตะค่อนข้างเป็น “เมืองรอง” ไม่ได้รุ่มรวยสถานที่ท่องเที่ยวหรือสิ่งที่น่าสนใจมากเท่าใดนักเมื่อเทียบกับจังหวัดที่เราคุ้นชื่อกันดีอย่างโตเกียว เกียวโต โอซากาหรือฮอกไกโด (สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลัก ๆ ของจังหวัดนีงาตะคือสกีรีสอร์ต ซึ่งก็อยู่นอกเมืองนีงาตะออกไป) MV นี้จึงออกจะดู “แห้ง” ไปสักหน่อย แต่หลังจากที่ NGT48 สร้างตัวจนเป็นรูปร่างและดำเนินกิจกรรมอย่างเข้มข้น NGT48 ก็ได้ดึงดูดการท่องเที่ยวและเม็ดเงินมหาศาลเข้าสู่จังหวัดนีงาตะจนเศรษฐกิจเมืองนีงาตะมีชีวิตชีวา ทำให้สาว ๆ NGT48 กลายเป็นลูกรักของชาวเมืองเลยทีเดียว (ซึ่งตอนนี้แฟน ๆ CGM48 ก็คงคาดหวังว่า CGM48 จะเป็นลูกรักของชาวเชียงใหม่เช่นเดียวกับที่ NGT48 เป็นลูกรักของชาวนีงาตะ)

Play video

สาว ๆ NGT48 เป็นพรีเซ็นเตอร์ให้ JR East บริษัทเดินรถไฟของญี่ปุ่นที่เดินรถไฟชิงกันเซ็งสายโจเอ็ตสึมายังเมืองนีงาตะ

Play video

สาว ๆ NGT48 เป็นพรีเซ็นเตอร์ให้ธนาคารไดชิ ธนาคารท้องถิ่นของเมืองนีงาตะ

และด้วยความไพเราะซาบซึ้งกินใจของเพลงนี้ บวกกับการถ่ายทอดเรื่องราวที่สวยงามโดยสาว ๆ NGT48 ทำให้เพลงนี้เป็นเพลงโปรดของแฟน ๆ จำนวนมาก จนแฟน ๆ ช่วยกันส่งให้เพลงนี้ติดอันดับในงาน AKB48 Request Hour (งานที่ให้แฟน ๆ AKB48 โหวตให้เพลงที่ตัวเองชอบ) อย่างสม่ำเสมอ โดยในปี 2560 (Request Hour ครั้งแรกนับตั้งแต่เพลงนี้ได้รับการเผยแพร่) เพลงนี้ได้ทะยานขึ้นไปถึงอันดับที่ 1 ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันถึงความนิยมของเพลงนี้ได้เป็นอย่างดี


ภาพการแสดงเพลง Max Toki 315 gou โดย NGT48 ต่อหน้าผู้ชมนับหมื่นคน ในคอนเสิร์ตก่อนงานประกาศผลการเลือกตั้งทั่วไป AKB48 ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2559 ณ HARD OFF ECO Stadium Niigata จังหวัดนีงาตะ

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ถูกใจกันมากน้อยแค่ไหนกับซิงเกิลแรกของ CGM48 วงน้องสาวล่าสุดของ BNK48 ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ถ้าท่านใดสนใจจะอุดหนุนผลงานชิ้นนี้ของ CGM48 ก็สามารถเข้าไปพรีออเดอร์กันได้แล้วที่ Shopee โดยทุกแบบมาพร้อมรหัสโหวตเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 2 ของ BNK48 ด้วย ท่านสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กเพจ CGM48 ครับ

 

 

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส