เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมอาคารสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITSC) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เฌอปราง อารีย์กุล หรือ ‘เฌอปราง BNK48’ ได้ถูกเชิญให้เป็นแขกรับเชิญในงาน Resilience the series EP.03 ล้มได้ก็ลุกได้ ในหัวข้อ “ความฝัน / ไอดอล / ชีวิตจริง” ร่วมพูดคุยกับ รศ.ดร.ทวีธรรม ลิมปานุภาพ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล อดีตอาจารย์ที่ปรึกษาของเฌอปราง และผู้ร่วมตีพิมพ์ผลงานระดับนานาชาติเรื่อง “Blue Bottle Experiment: Learning Chemistry without Knowing the Chemicals” Journal of Chemical Education ถึงแม้ผู้เขียนไม่ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมฟังในห้องประชุมแต่ก็ได้รับชมผ่านทางการถ่ายทอดสดบนเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘CMU School of Lifelong Education‘ ซึ่งมีหลายประเด็นระหว่างการพูดคุยรวมไปจนถึงคำตอบที่น่าสนใจของทั้งเฌอปราง และ รศ.ดร.ทวีธรรม ที่ผู้เขียนคิดว่าน่าจะพอเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านได้ไม่มากก็น้อยหยิบมานำเสนอให้ได้อ่านกัน
บทสนทนาเริ่มต้นด้วยความเป็นมาในการเข้าร่วมงานกับ BNK48 ของเฌอปรางที่ปรึกษา รศ.ดร.ทวีธรรม ว่า

“มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่จะต้องขอลาเพื่อไปทำงาน แล้วอาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรถ้าเฌอได้ทำงานตรงนี้มันดีหรือเปล่า แล้วจะเรียนผ่าน และจบตามเวลาไหม”

ซึ่งอาจารย์ก็ยินดีเพราะก็จะได้เป็นกระบอกเสียงเรื่องวิทยาศาสาตร์ด้วย และน้อยคนจะได้โอกาส ถ้ามีโอกาสแล้วก็ทำไปเลย ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ไม่ได้รู้ว่าจะได้ไหม ก็แค่ให้ลองทำก่อน แทนที่เราจะไปบอกว่าอย่าไปทำเลยอันนั้นก็คงไม่ผ่านเลยจึงแนะนำให้ไปลองก่อนผ่านแล้วค่อยว่ากันอีกที ซึ่งระบบให้โอกาสทุกคนถ้าแค่คิดว่าตัวเองทำได้ก็แค่ไป ไม่ใช่ว่าคนที่เคยเรียนร้องเพลงมาก่อนไปได้ แต่เขาเปิดโอกาสให้ทุกคน ซึ่งอาจารย์ ทวีธรรม ได้ชื่นชมเฌอปรางว่าเป็นคนที่มีความพยายาม ซึ่งความพยายามของเฌอที่มีก็ทำให้เข้าสู่วงการได้ และก็เป็นผลพิสูจน์แล้วว่าเฌอปรางคนที่ไม่เคยร้องเต้นก็สามารถมาเป็นไอดอลได้ และก็ยังสามารถเรียนจบปริญญาตรีไปพร้อมกันได้

เมื่อพูดคุยเรื่องการกว่าจะมีวันนี้ของทั้งคู่ โดยอาจารย์ ทวีธรรม เริ่มจากสอบหลาย ๆ อย่างที่ทางประเทศไทยมี เช่น สวทช. ไปสอบก็แล้วผ่านจึงได้มีโครงการต่าง ๆ ที่ได้ให้ทุนต้องขอบคุณทุก ๆ โครงการ แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือเรื่องราวของเฌอปราง ที่เล่าชีวิตในวัยเด็กว่า ก็เป็นเด็กทั่วไปที่เรียนในโรงเรียนนั่งเรียนเหมือนคนอื่น ๆ ก็มีการสอบที่มีเหมือนอาจารย์ ทวีธรรม แต่ไม่ติด

‘ก็เสียใจที่ไม่ผ่าน แต่ก็ไม่ใช่สิ่งสุดท้ายในชีวิตในช่วงนั้น’

ช่วงมัธยมได้ไปเรียนโรงเรียนทางเลือก ที่ได้เดินออกไปนอกห้องเรียนมากขึ้น มีการลงชุมชน ได้ทำในสิ่งที่อยากลองอยากรู้ ได้เรียนเกี่ยวกับโปรแกรมเมอร์ตั้งแต่ ม.4 ซึ่งได้รู้ว่าตัวเองไม่ถนัด และเคยเป็นสิ่งที่อยากเป็น แต่เพราะรู้ตัวว่าชอบการทดลองจากการได้ทำโครงงานมากกว่า เพราะต้องลงมือทำเองทุกขั้นตอนไม่ว่าจะเป็นการเขียนโครงงานเองว่าจะทำอะไรใช้อะไรบ้างต้องหาข้อมูลเอง ว่าจะทำอะไร ซึ่งเคยได้ผลิตเอธานอลจากใบไม้ เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ทำบ่อบำบัดน้ำเสียในโรงเรียน เพราะไม่มีตำราต้องหาเองหมดพร้อมทั้งแก้ปัญหา ซึ่งเฌอสนุกเพราะมันคือการลองผิดลองถูก ถ้าผิดต้องทำอย่างไรมันมีคำถามไปเรื่อย ๆ แล้วพอหาผลได้ แล้วการที่ได้ผลต่อจะเป็นอย่างไร ซึ่งวิทยาศาสตร์สำหรับเฌอก็มีความท้าทาย ที่เป็นคนความจำไม่ดีมาตั้งแต่เด็ก แต่อาศัยความเข้าใจแทน มากกว่าการนั่งอ่าน และท่องจำ

ยกตัวอย่างเช่นถ้า เครื่องหมาย + – x สำหรับเฌอมันคือสมการบางอย่างสันนิษฐาน ทดลอง และสรุปผล ซึ่งส่วนตัวชอบตั้งคำถามแล้วก็ทดลอง ซึ่งเฌอยังบอกอีกว่าเคยไปสอบชิงทุนที่ประเทศญี่ปุ่นแต่กลับไม่ผ่านรอบสัมภาษณ์ก็รู้สึกเสียใจแต่ก็มองว่ามันไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต และต้องขอบคุณครอบครัวที่เข้าใจ และพร้อมสนับสนุนในทางเลือกที่จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยนานาชาติมหิดลแทน แต่เฌอไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษก็มีการเข้าไปปรับพื้นฐานตามที่ทางมหาวิทยาลัยมี

พอถามถึงว่าทำไมถึงเลือกที่จะไปเรียนต่อต่างประเทศ เฌอได้บอกว่ามีแรงบันดาลใจจากคุณครูที่สอนภาษาอังกฤษเฌอ ที่พูดได้ 7 ภาษาแล้วก็ย้ายประเทศไปเรื่อย ๆ จึงอยากเรียนรู้ได้แบบครูเขา และที่เลือกเรียนวิทยาศาสตร์เพราะเฌอมองว่าวิทยาศาสาตร์มันเป็นอุปกรณ์ที่สามารถทำให้ใช้ชีวีตมีคุณภาพทีดีขึ้น เริ่มจากงานวิจัย แล้วขยายเป็นธรุกิจได้ และการที่เฌอชื่นชอบ และสามารถอยู่กับวิทยาศาสตร์นี้ได้ก็ทำให้เฌอได้เรียนรู้ว่าถึงแม้จะทำแล็บผิดพลาดบ่อยมาก ๆ แต่ก็ลองไปเรื่อย ๆ ไม่ได้มองว่าเป็นการล้มเหลว หรือการทดลองล้มเหลวมันจะหมายถึงสิ่งไม่ดี มันก็แค่ผิดพลาดที่บางทีผสมสารผิดหรือคำนวณผิด ซึ่งเฌอก็แค่ทำไปเรื่อย ๆ จนมันได้

ส่วนเรื่องที่เฌอมาช่วยเป็นครูผู้ช่วยสอน(TA) อาจารย์ ทวีธรรม มองว่า มันเป็นความท้าทายที่ต่างจากการเข้าห้องแล็บอยู่ที่เวลาสอนน้อง ๆ หรือสอนคนที่โตกว่าจะทำอย่างไรให้เขารูว่าเป็นผู้ช่วยสอน ที่ขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะ เช่น คนที่อายุโตกว่าก็ไม่สามารถคุมนักศึกษาคนอื่น ๆ ได้นั้นคือวุฒิภาวะของเขา ซึ่งสำหรับเฌอเขาทำได้ พอมาถามถึงเฌอได้เรียนรู้อะไรกับอาจารย์ที่ปรึกษาได้บ้าง เฌอบอกว่าอาจารย์คือคนทุ่มเทกับการทำงานมาก ๆ ทำงานอยู่แค่ห้องแล็บกับบ้าน ซึ่งทำให้เฌอได้รู้ว่าคนที่เขาชอบในสิ่งที่เขาทำสนุกกับมัน และรักมันจริง ๆ ก็จะอยู่กับมันได้ตลอดเวลา

ส่วนงานที่ได้ถูกตีพิมพ์ “Blue Bottle Experiment: Learning Chemistry without Knowing the Chemicals” Journal of Chemical Education เฌอได้อธิบายว่า คือการหาว่าโมเลกุลอะไรที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเพราะสารทุกตัวไม่สามารถทำแบบนี้ได้ มีการใช้คอมพิวเตอร์วิเคราะห์สารแทน และมีเอกสารจากรุ่นพี่ได้ค้นคว้ามาบ้าง แล้วก็นำมาอ่านแล้วก็หาข้อมูลมากขึ้นทำให้สมบูรณ์มากขึ้น ก็เป็นเอกสารเชิงวิทยาศาสตร์เน้น ๆ ไปเลย ส่วนอีกเปเปอร์ที่ได้ตีพิมพ์คือการเอามาใช้ในห้องเรียนเอามาสอนโดยไม่ต้องรู้สารตั้งตน แต่สามารถทำให้เข้าใจปฏิกิริยาในเคมีมากขึ้นว่าสารแต่ละตัวมีคุณคุณสมบัติอย่างไร

เมื่อถามถึงไอดอลสำหรับเฌอ เฌอกล่าวว่ามีหลากหลาย เฌอได้แยกออกเป็น ไอดอลคือแบบอย่าง กับผู้มอบความสุข มันสามารถมีหลากหลายแนว สำหรับผู้มอบความสุข และทำให้มีแรงบันดาลใจคือ ‘ยามาโมโต้ ซายากะ

ส่วนคุณพ่อคุณแม่ อาจารย์ ทวีธรรม รวมถึงคุณครูที่เคยสอนภาษาอังกฤษ ที่ทำให้เฌออยากไปต่างประเทศเพราะเขาพูดได้ 7 ภาษา เล่นดนตรีได้ เป็นผู้จัดการโรงแรม ทำงานมาหลายที่ จึงทำให้อยากมีมุมมองหลากหลายแล้วก็อยากลงมือทำจริง ๆ แบบครูบ้าง ซึ่งส่งผลให้การมา BNK48 ก็แค่อยากมาลองอยากรู้ว่า ไอดอลที่เราชื่นชอบเขาต้องทำอะไรบ้าง ก็เลยมาลองบ้าง ‘เพราะก็แค่อยากลองถ้าล้มเหลวก็ไม่เป็นไรก็แค่ได้ลองดีกว่าไม่ได้ลอง’ และเฌอเองก็มีช่วงเวลาแห่งความเจ็บปวด ในช่วงเวลาของการเจ็บปวดของเฌอ คือการสอบที่คิดว่าวิชานี้จะผ่านแล้ว ตกจากที่จะได้เกียรตินิยมอันดับ 1 ก็ได้อันดับ 2 ก็พลาดไปแค่ 0.04 เท่านั้นเท่าที่จำได้ เป็นความเจ็บใจที่ทำไม่ได้อย่างที่หวังไว้ เพราะทำเต็มที่แล้ว แต่ก็เข้าใจเพราะทำงานไปด้วย ซึ่งก็เริ่มเข้าใจว่าบางอย่างไม่สามารถทำได้ทุกอย่าง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราไม่ได้พยายามให้ดีที่สุด แต่เราก็ไม่ได้เก่งทุกอย่างจริง ๆ ถึงไม่ได้แล้วเศร้าใจก็คิดว่ามันไม่มีทางอื่นในชีวิตเลยจริง ๆ หรอ ซึ่งจริง ๆก็มีอย่างอื่นที่เราทำได้

และการแก้ความเศร้าของเฌอคือกินขนม หาอะไรที่ออกจากเรื่องทุกข์ก่อน พอผ่านไปแล้วสุดท้ายก็จะเป็นเรื่องที่กลับมาเล่าได้ ถ้าเราผ่านเรื่องนั้นมาได้แล้วก็แค่มองเรื่องนั้นให้เป็นเรื่องหนึ่งในชีวิตที่เดี๋ยวมันก็ผ่านไป ซึ่งอาจารย์เสริมว่า

“อะไรที่ไม่ทำให้เราตายไปตอนนั้นเดี๋ยวเราก็จะแข็งแกร่งขึ้น”

ซึ่งสำหรับเฌอไม่ใช่ว่าท้อจนหมดกำลังใจก็จะพอ หรือหยุดแค่นั้น ขอแค่ได้ลองที่จะก้าวใหม่ ก็ให้ลองก่อน เช่นเพื่อนหนูหลายคนเรียนมาแล้วก็ไม่ใช่ก็ซิ่ว ซึ่งเฌอเลือกไม่ทำ ถึงแม้ว่าเรียนวิทย์พอทำงานแล้วมันเหนื่อยแต่เฌอชอบก็เลยเลือกเรียนต่อ แต่บางคนไม่ได้มาจากความชอบก็เข้าใจ และดีที่รู้ตัวดีกว่าปล่อยให้ตัวเองอยู่กับสิ่งที่ตัวเองทุกข์อยู่แบบนั้น

แต่ถ้าบางอย่างเราเหนื่อยเราทุกข์แต่เราดีใจที่ได้ทำเราก็จะทำมันต่อได้ ซึ่งถามคำถามกับตัวเองว่าเราชอบไหม ไม่ชอบไหม ยอมเหนื่อยไหมถ้าไม่ใช่แล้วหาทางอย่างอื่นที่ทำเลี้ยงตัวเองได้ ก็หาจุดที่ลงตัวกับตัวเอง ถ้าหมดสิ่งที่จะอยากทำจะเปลี่ยนทำอย่างอื่นก็ได้เช่นกัน ถ้าคุณพร้อมที่จะเปลี่ยน เงินสำรองพร้อมไหม ต้องถามที่บ้านที่ทำงานไหม ซึ่งตอนที่จะตัดสินใจเข้า BNK48 แล้วก็มาถามอาจารย์ทางมหาลัยจะส่งเสริมหนูได้มากแค่ไหน หรืออย่างของน้อง ๆ ที่ทางมหาลัยไม่เข้าใจก็แก้โดยให้ทางบริษัทส่งเอกสารไป ให้มีทางที่โอเคทั้งสองฝ่ายเป็นการแก้ปัญหาไปเรื่อย ๆ แต่สุดท้ายถ้าไม่ได้ก็ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของทุกอย่างของชีวิต ขอให้มีกำลังใจที่จะสู้กับทุก ๆ อย่าง เหนื่อยได้แต่ก็ไม่อยากให้หมดกำลังใจ

แล้วมีอะไรบ้างที่เฌออยากทำแล้วยังไม่ได้ทำ คือเฌออยากเที่ยวรอบโลก และอยากไปเรียนแล้วก็ใช้ชีวิตเรียนรู้ว่ามันต่างกับประเทศไทยอย่างไรแล้วเราจะเปลี่ยนหรือทำอะไรได้บ้างในชีวิตเพราะชุดความรู้ก็ไม่ได้มีมากพอ ซึ่งความฝันสูงสุดอยากมีบ้านผลิตพลังงานเองได้ แล้วสามารถย่อยสลายเองได้โดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อน เพราะมองว่าพลังงานเป็นสิ่งที่ใช้แล้วทำให้มันเกิดเป็นขยะเสีย ซึ่งมันเป็นปัญหาในปัจจุบันแล้วเราแค่อยากหาทางแก้ไขมันเพื่อให้พลังงานที่เกิดขึ้นออกมาส่งผลกระทบต่อสิ่งรอบข้าง มนุษย์ สิ่งแวดล้อม และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ให้น้อยที่สุดเท่านั้น แต่เชื่อว่าในท้ายที่สุดธรรมชาติก็จะปรับตัวมันเองได้ เพราะมนุษย์ก็คือธรรมชาติ

ส่วนการที่ทำให้ใครรู้สึกหงุดหงิดไม่พึงพอใจหรือเศร้า เฌอจะดูเหตุและผลในแต่ละสถานการณ์ เราผิดก็ขอโทษแล้วหันหน้าคุยกันว่าให้อภัยกันได้ไหม ถ้าให้อภัยไม่ได้ก็ตีตัวออกห่างออกมาจะได้ไม่ทำให้คนนั้นรู้สึกไม่ดี หรือการทำงานของเราไปกระทบคนอื่น สุดท้ายอยู่ที่เรา ว่าจะจัดการอารมณ์ความรู้สึกของเราอย่างไร

ถัดมาเป็นการถาม-ตอบจากทางบ้าน และทางห้องประชุมในเวลา 30 นาที

  • เทคนิคการเรียนวิทยาศาสตร์ให้เข้าใจ สำหรับเฌอใช้การทดลอง และเป็นความเข้าใจเฉพาะคนที่เฌอเข้าใจด้วยรูปภาพ สมการหรือรูปภาพสามมิติ เทคนิคที่ดีที่สุดสำหรับเฌอคือการสอนคนอื่น เพราะมันคือการทบทวนไปในตัวและเป็นการสื่อสารส่งต่อให้คนอื่นจึงทำใหจดจำและเข้าใจได้มากขึ้น
  • ถ้าไม่ใช่ไอดอลเฌออยากทำอาหาร ตัดเสื้อผ้า ผู้จัดการโครงการ หรือผู้จัดการอะไรก็ได้เพราะชอบจัดแจงคือมองภาพรวมออกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นควรแก้ไขตรงไหน
  • การจัดสรรเวลาในตอนปี 4 ของเฌออยู่ในเกณฑ์ดีไม่ได้ดีมากสักอย่าง เลือกสละเวลานอนในเมื่อเป็นคนที่รับผิดชอบสูง และเมื่อมีคนมอบหมายไว้ใจ และเลือกให้เราทำจงทำมันให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ ตามงานส่งให้ครบส่งให้ตรงเวลาแต่หากไม่ได้ก็มีการพูดคุยกับอาจารย์ในการเลื่อนเวลาส่งช้าไป 2 ชั่วโมง ก็ต้องขอบคุณอาจารย์ที่ใจดี และเข้าใจ หรือการคุยกับบริษัทว่าวิชานี้ต้องไปสอบ ไปเรียนจริง ๆ ขอขยับเลื่อนเวลาได้ไหม ได้ก็ดีไม่ได้ก็หาวิธีทางแก้ไป ก็ต้องขอบคุณคุณแม่ที่คอยรับคอยส่งให้ทันเวาลาในการทำงานตลอด และสิ่งที่สำคัญคือการจดตารางว่าเราต้องทำอะไรบ้างในแต่ละวัน
  • จะเริ่มอ่านหนังสือสอบอย่างไรเพราะเนื้อหาในเปเปอร์เยอะมากซึ่งส่วนตรงนี้เฌอแนะนำว่าให้อ่านเนื้อหาใจความสำคัญ หรือถ้าทำสรุปไว้แล้วก็ให้อ่านตรงนั้นแต่ถ้าไม่ได้สรุปก็อ่านหัวข้อสำคัญ
  • การทำงานในวงการเฌอไม่ได้ใช้สิ่งที่เรียนมาแต่ใช้หลักการคิดบ้างมันคือเหตุผล และสันนิษฐานเอาเช่นคิดว่าร้านนี้อร่อยก็ไปลองแล้วก็อร่อยก็จำไว้ว่าจะมาอีก แต่ถ้าร้านไหนไม่อร่อยก็ไม่มาแล้ว
  • เฌอก็เคยหมดสิ่งที่อยากจะทำ เช่น ไม่อยากเต้น ไปเรียนร้องแทนก่อน หรือไปกินของหวาน ไปกินข้าวกับเพื่อนเพื่อได้พูดคุยแลกเปลี่ยนหรือเป็นการระบายให้กันแล้วก็ค่อยกลับมาทำใหม่ เพราะหากเป็นงานยังไงก็ต้องทำ
  • เฌอยังอยากเรียนต่อ โท-เอก อยู่ แต่แค่ไม่รู้ว่าจะเรียนอะไร เพราะอยากไปเรียนรู้ชีวิตในต่างประเทศรวมทั้งได้ถือว่าเป็นการไปเที่ยวด้วย และก็อยากเรียนรู้สังคม เพราะรู้สึกว่าการใช้ชีวิตทุกวันก็คือการเรียนรู้ การทำงานในวงการก็คือการเรียนรู้เราก็เก่งขึ้นรู้มากขึ้นเพราะผ่านมา 4 ปีแล้วก็คือการเรียนรู้ในทุก ๆ วันของเฌอ ซึ่งเฌอยังไม่รับปากว่าจะได้เรียนต่อไหม
  • เวลาเจอปัญหาในการทำงาน และต้องตัดสินใจ เฌอจะเลือกปรึกษาแล้วแต่เรื่อง ถ้าเป็นเรื่องในที่ทำงานเลือกปรึกษาผู้ใหญ่ก่อน ก็จะมีครูบิ๋ม พี่จ๊อบ พี่สต๊าฟ หรือมีการประชุมก็พูดคุยในที่ประชุม ถ้าเกี่ยวกับเพื่อนก็แยกเป็นมัธยมหรือมหาลัยก็จะถามตามสิ่งที่เกี่ยวข้อง แต่ถ้าอยากบ่นหรืออยากระบายก็เป็นเพื่อนที่สนิทจากมหาลัยหรือมัธยมแล้วแต่ว่าใครสะดวกกว่า ส่วนน้อง ๆ ในวงก็คุยกันอยู่แล้วหรือถามเรื่องทีมภาพรวม วงก็ถามทั้งปัญ และตาหวาน หรือรองกัปตัน เลือกคนปรึกษาตามสถานการณ์ ส่วนถ้าเราเลือกคนที่ไว้ใจแล้วเขาไม่โอเคก็จะได้เรียนรู้ไว้ มันเป็นการเรียนรู้ในทุก ๆ วันมีหลากหลายเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวเฌอ ซึ่งถามว่าปรึกษาเยอะไหม หนูก็ไม่ได้ปรึกษาเยอะขนาดนั้น ส่วนใหญ่ตัดสินใจด้วยตัวเอง เพราะเรื่องทุกข์เฌอไม่ชอบไปบอกคนอื่นเพราะไม่อยากให้ใครเดือดร้อนจึงจัดการด้วยตัวเอง เพราะถ้าสติแตกเมื่อไหร่ขนาดตัวเองก็เอาไม่อยู่จึงขังตัวเองร้องไห้ในห้องไปเลย ตื่นมาเหนื่อยหน่อยแต่ก็คือการเริ่มต้นใหม่
  • เหตุการณ์ไหนที่รู้สึกว่าท้อแท้ที่สุด แล้วผ่านมาได้ของเฌอคือการทำงานหนักมาก ๆ ที่ร่างกายไม่อำนวย แต่ก็ยังทำงานต่อไปได้แต่พอเมื่อได้พักก็ไม่รู้ว่าร่างกายรู้ได้อย่างไรพอพักก็จะเข้าโรงพยาบาลเลย หรือปล่อยตัวเองร้องไห้การร้องไห้ไม่ผิด ท่องไว้ในใจพระอาทิตย์ขึ้นใหม่ขึ้นทุกวันเวลาก็ดำเนินไปทุกวันเดี๋ยวมันก็ผ่านไป ถ้าไม่ไหวจริง ๆ ก็ระเบิดออกมาระบายออกมาแต่ขออย่างเดียว ไม่ตัดโอกาสที่จะเริ่มต้นใหม่ของตัวเอง

และนี้คือเรื่องราวชีวิต และการถามตอบกับ เฌอปราง อารีย์กุล ที่มีแต่การลงมือทำจึงส่งผลให้เราได้รู้จัก ‘เฌอปราง BNK48’ ที่สร้างแรงบันดาลใจ และมอบความสุขให้กับผู้คนอีกมากมายที่ได้มองเห็น และรู้จักเฌอปราง และต้องขอบคุณเฌอที่กล้าที่จะให้โอกาสกับตนเอง และไม่ปิดกั้นโอกาสที่ได้เข้ามา และทั้งนี้ทางผู้เขียนขอให้เฌอปรางประสบความสำเร็จในชีวิตต่อไป

ที่มา : CMU School of Lifelong Education Resilience the series EP.03 ล้มได้ก็ลุกได้”ความฝัน / ไอดอล / ชีวิตจริง”

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส