ก่อนอื่นเลยต้องเลิกคาดหวังว่าสถานการณ์โรงหนัง รายได้จากค่าตั๋วหนังจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ ทั้งบ้านเราและสหรัฐฯ จะต้องยอมรับรูปแบบ New Normal ไปด้วยกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อ้างอิงดรรชนีจากปี 2020 ที่เพิ่งผ่านพ้น เป็นปีที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ในวงการภาพยนตร์ในสหรัฐฯ ทำรายได้รวมไปเพียงแค่ 2,085 ล้านเหรียญ ถ้ามองตัวเลขย้อนไปถึงปี 2009 รายได้จากตั๋วหนังในสหรัฐฯ ล้วนทำรายได้ในระดับเกิน 10,000 ล้านเหรียญ ต่อเนื่องมาโดยตลอด ยอดจำหน่ายตั๋วก็เหลือแค่เพียง 250 ล้านใบเท่านั้น ถัวเฉลี่ยกับจำนวนประชากรสหรัฐฯ และแคนาดา แล้วเทียบได้ว่าไม่ถึง 1 คนต่อ 1 ใบเลยด้วยซ้ำ นับเป็นรายรับต่อหัวที่ต่ำที่สุดในรอบศตวรรษเลยก็ว่าได้

หนังที่ทำรายได้ในสหรัฐฯ มากสุดในปีที่ผ่านมาคือ Bad Boys for Life ได้เงินจากชาวอเมริกันไป 206 ล้านเหรียญ และเป็นเพียงเรื่องเดียวเท่านั้นที่ทำรายได้เกิน 200 ล้านเหรียญ ที่ทำรายได้มากก็เพราะหนังโชคดีที่เข้าฉายตั้งแต่เดือนมกราคม ยังเป็นช่วงที่โควิด-19 ยังไม่เข้าไปรุกรานสหรัฐฯ โรงหนังยังไม่ปิดบริการ อีกเรื่องที่นับว่ายังโชคดีก็คือ Sonic the Hedgehog ที่เข้าฉายกลางเดือนกุมภาพันธ์ ฉิวเฉียดกับช่วงที่โรงหนังใกล้จะปิดบริการพอดี

ข้ามมาดูสถานการณ์ช่วงปลายปี เสด็จพ่อโนแลนก็ประกาศกร้าวด้วยความมั่นใจในชื่อของตัวเองว่าจะต้องเรียกคนดูให้กลับเข้าโรงหนังได้ สั่งปล่อย Tenet เข้าโรงฉายในขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ก็ยังแพร่ระบาดอย่างรุนแรง โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากวอร์เนอร์เจ้าของหนัง ผลก็คือหนังทำรายได้ในประเทศไปเพียง 58 ล้านเหรียญ ทำเอาวอร์เนอร์ยิ้มไม่ออก ตามมาด้วย Wonder Woman 1984 จากค่ายวอร์เนอร์เช่นเดียวกัน แต่รอบนี้ขอปลอดภัยไว้ก่อน เอาหนังเข้าโรงฉายด้วย แล้วก็ปล่อยสตรีมมิงทาง HBO MAX ไปพร้อม ๆ กัน หนังทำรายได้ไป 40 ล้านเหรียญ แต่ไม่มีการเปิดเผยรายได้จากช่องทางสตรีมมิง

wonder woman 1984 จะถูกจดจำในฐานะหนังฟอร์มใหญ่เรื่องแรกที่เข้าฉายโรงภาพยนตร์และปล่อยฉายทางสตรีมมิงพร้อมกัน

ส่วนสถานการณ์ทั่วโลก หนังที่กวาดรายได้อันดับ 1 ปีนี้กลับกลายเป็นหนังสัญชาติจีนเรื่อง 800 เข้าฉายในบ้านเราในชื่อเรื่องว่า “นักรบ800” ด้วยความที่เป็นหนังโปรค่านิยมรักชาติ เลยไม่เปรี้ยงปร้างในบ้านเราเท่าใดนัก หนังทำรายได้ไป 461 ล้านเหรียญ Bad Boys for Life มาในอันดับที่ 2 ด้วยตัวเลข 426 ล้านเหรียญ อันดับ 3 ก็เป็นหนังจากจีนอีกเรื่อง My People, My Homeland ด้วยตัวเลข 422 ล้านเหรียญ อีกนิดเดียวจะแซง Bad Boys For Life ได้แล้ว และ Tenet มาในอันดับที่ 4 ด้วยตัวเลข 362 ล้านเหรียญ

นักรบ800 หนังที่ทำรายได้สูงที่สุดใโลก ปี 2020

อันดับหนังทั่วโลกในตำแหน่ง Top 10 นั้น มี 4 เรื่องเป็นหนังสัญชาติจีน มองเห็นได้ชัดว่าอัตราการเติบโตของหนังจากจีนกำลังมาแรงและเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อสูงมาก ส่วนตัวเลขรายได้รวมทั่วโลกนั้นลดฮวบอย่างมาก มีหนังเพียงแค่ 3 อันดับแรกเท่านั้น ที่ทำรายได้ผ่านหลัก 400 ล้านเหรียญ ในขณะที่ปี 2019 มีหนังมากถึง 21 เรื่องที่ทำรายได้เกิน 400 ล้านเหรียญ ตัวเลขรายได้ที่หายไป ก็เป็นเพราะไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดเป็นหลัก ทำให้ผู้คนเลือกที่จะดูหนังอยู่ที่บ้านแทนที่จะออกไปดูหนังในโรงภาพยนตร์เหมือนแต่ก่อน ประเด็นหลักก็เพื่อลดโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 และประเด็นรองลงมาก็เพราะความสะดวกสบาย และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือการประหยัดค่าใช้จ่ายในการออกจากบ้านเพื่อไปดูหนังแล้วต้องเจอกับค่าใช้จ่ายจิปาถะ ค่าน้ำมัน ค่าที่จอดรถ ค่าอาหาร ค่าขนม ซึ่งแนวการดูหนังที่บ้านจะยังคงอยู่ต่อไป เพราะยิ่งนานเข้าผู้คนก็จะยิ่งเคยชินกับการดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่เช่นนี้

และนี่คือ 14 การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในแวดวงธุรกิจภาพยนตร์ในสหรัฐฯ และจะส่งผลต่อเนื่องมาถึงบ้านเราอย่างแน่นอน เพราะหนังที่เข้าฉายในบ้านเรา ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นหนังฮอลลีวูดแทบทั้งนั้น

14 การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์

1. การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไป 2020 จะเปลี่ยนรูปแบบในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไปตลอดกาล

ต้องมองย้อนไปถึงผลกระทบครั้งใหญ่ ๆ ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์กันเลย มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ เกิดขึ้นหลายครั้ง

  • 1929 เริ่มมีการใส่เสียงลงในภาพยนตร์
  • 1949 กำเนิดโทรทัศน์ทำให้ผู้คนมีทางเลือกในการรับชมความบันเทิงได้ที่บ้าน
  • 1979 การมาถึงของเคเบิลทีวี และวิดีโอ มีผลกระทบต่อยอดผู้เข้าชมภาพยนตร์ในโรง
  • 2020 การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบใหญ่สุดต่อวงการภาพยนตร์

2. โรงภาพยนตร์ไม่ใช่ช่องทางหลักในการรับชมภาพยนตร์อีกต่อไป

แน่นอนว่าช่องทางที่มากินส่วนแบ่งใหญ่ ๆ ไปก็คือ สตรีมมิง และ VOD (Video on Demand คือระบบวิดิโอดิจิทัลที่ผู้ใช้สามารถเปิดวีดิทัศน์ที่มีอยู่ในรายการได้ทันที) ช่องทางการรับชมภาพยนตร์ที่เพิ่มขึ้นมาอย่างหลากหลาย ทำให้ผู้ชมมีตัวเลือกมากขึ้น และมีหนังให้เลือกมากขึ้นตั้งแต่ภาพยนตร์ทุนต่ำไปจนถึงภาพยนตร์ระดับบล็อกบัสเตอร์

3. ช่วงเวลาจากวันที่หนังเข้าโรงมาจนถึงวันที่รับชมที่บ้านได้ หดสั้นลง

ระยะเวลาเดิมที่กำหนดไว้มาอย่างยาวนานคือ หลังจากหนังเข้าโรงฉายแล้วเป็นเวลา 75 วัน สตูดิโอเจ้าของหนังถึงจะมีสิทธิ์ปล่อยหนังผ่านช่องทาง VOD แบบสมาชิกเสียค่าชมได้ สเต็ปต่อไปคือ 90 วันหลังจากหนังเข้าโรงฉาย ถึงจะปล่อยหนังออกจำหน่ายในรูปแบบ DVD ได้ ตั้งแต่โรงภาพยนตร์ต้องปิดตัวจากโควิด-19 นั้น ข้อตกลงเรื่องระยะเวลาดังกล่าวก็เป็นอันต้องยกเลิกไป เดี๋ยวนี้ไม่ถึง 30 วัน ผู้ชมก็สามารถจ่ายเงินแล้วดูหนังที่บ้านได้เลย

4. สิ้นสุดความเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นระหว่างสตูดิโอผู้สร้างกับโรงภาพยนตร์

ระหว่างสตูดิโอผู้สร้างภาพยนตร์กับโรงภาพยนตร์เคยสานสัมพันธ์แบ่งรายได้จากค่าตั๋วกันมาอย่างยาวนาน ถึงคราวสิ้นสุดลงในช่วงที่โรงหนังต้องยุติการบริการชั่วคราวในปี 2020 นี่ล่ะ เมื่อสตูดิโอเองก็ต้องดิ้นรนหาทางอยู่รอดให้ได้ ด้วยการหาช่องทางปล่อยหนังให้ถึงผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นช่องไหนที่สามารถสร้างรายได้กลับเข้าสตูดิโอ เพราะสตูดิโอต้องแบกรายได้ทั้งต้นทุนหนังที่สร้างเสร็จแล้ว และกองถ่ายที่ยังเดินหน้าหนังเรื่องใหม่ ๆ ต่อไป อีกทั้งเงินเดือนพนักงานอีกจำนวนมหาศาล

5. ช่องทางการปล่อยหนังจากสตูดิโอจะหลากหลายมากขึ้น

ก่อนปี 2020 ทุกสตูดิโอต่างดำเนินรูปแบบการจัดจำหน่ายหนังเหมือน ๆ กันหมด แต่จากนี้ไป แต่ละสตูดิโออาจจะมีรูปแบบจำเพาะของใครของมัน บางสตูดิโอก็มีช่องทางสตรีมมิงของตัวเอง แน่นอนว่าการพยายามแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดก็ยังคงฟาดฟันกันดุเดือดเช่นเคย แต่ด้วยช่องทางการปล่อยหนังที่หลากหลายจากนี้ไป เราก็จะไม่ได้เห็นใครเป็นผู้ครอบครองตลาดเหมือนแต่ก่อน ที่ธุรกิจโรงหนังมีเพียงไม่กี่เครือข่ายอย่างที่ผ่านมา

6. โรงภาพยนตร์จะมีบทบาทลดลง

เพราะว่าในขณะนี้เครือข่ายโรงภาพยนตร์ต่างก็อยู่ในสภาพร่อแร่และใกล้จะพบกับสถานะล้มละลาย ซึ่งทางรอดในขณะนี้ก็คือต้องค่อย ๆ ลดจำนวนสาขาลง ซึ่งก็ไม่มีผลกระทบกับความต้องการของตลาดในปัจจุบันเท่าใดนัก เพราะเมื่อพิจารณาจากจำนวนที่นั่งที่เปิดรองรับในปัจจุบันก็ยังเหลือเฟืออยู่มาก และเจ้าของโรงภาพยนตร์ก็พยายามปรับตัวเพื่อต่ออายุตัวเองต่อไปด้วยการเพิ่มรูปแบบโรงภาพยนตร์ให้หลากลาย แต่โรงภาพยนตร์ที่จะเจอผลกระทบหนักสุดก็คือโรงพิเศษที่มีค่าตั๋วราคาสูง

7. รายรับจากค่าตั๋วจะลดลงอย่างมาก

ต่อให้เป็นหนังระดับบล็อกบัสเตอร์ก็ตาม เพราะว่าจากนี้ไปสตูดิโอเจ้าของหนังก็จะปล่อยหนังตรงถึงบ้านผู้ชมเลย รูปแบบการบริการต่าง ๆ ที่เคยมีเฉพาะในโรงภาพยนตร์ก็จะเริ่มมีการประยุกต์ให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้จากบ้านตัวเอง จำนวนคนที่เคยเป็นลูกค้าหลักของโรงภาพยนตร์ก็จะเริ่มปรับตัวเข้ากับการนอนดูหนังอยู่ที่บ้าน

8. การทำตลาดนอกสหรัฐฯ จะไม่อ้างอิงรายได้ในสหรัฐฯ อีกต่อไป

ในช่วงที่โรงหนังทั่วสหรัฐฯ ต่างต้องปิดบริการลงชั่วคราว ทำให้ตลาดนอกสหรัฐฯ กลายเป็นรายได้หลักของหนังฮอลลีวูด โดยเฉพาะประเทศจีนคือตลาดใหญ่ที่สุดของหนังฮอลลีวูด แต่ก็อย่างที่เห็นคนจีนเลือกที่จะอ้าแขนรับหนังสัญชาติจีนเสียมากกว่า ก็เลยส่งผลให้ 800 หนังสัญชาติจีนขึ้นครองอันดับ 1 หนังที่ทำรายได้ทั่วโลกสูงสุดในปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าตลาดหนังจากประเทศจีนจะโตขึ้นเรื่อย ๆ และจะขยายตลาดออกไปในประเทศอื่น ๆ อีกด้วย

9. จะเหลือแต่หนังระดับทุนสร้างสูงที่ยังฉายในโรงภาพยนตร์

หนังที่ใช้ทุนสร้างสูงระดับ 100 ล้านเหรียญ มีฉากที่ใช้สเปเชียลเอฟเฟกต์เยอะ ๆ และเสียงประกอบกระหึ่มรอบข้าง หนังในระดับนี้ยังคงเหมาะที่จะรับชมบนจอภาพยนตร์ใหญ่ ๆ และยังคงเป็นตัวเลือกที่ดีในการดึงดูดผู้คนให้ออกมาจ่ายเงินซื้อตั๋วเข้าโรงได้อยู่ แต่ในแต่ละปีก็มีหนังกลุ่มนี้อยู่เพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้น

10. เสียงประท้วงจากบรรดาผู้กำกับจะค่อย ๆ เหือดหายไป

คริสโตเฟอร์ โนแลน เสียงหลักที่ออกมาแสดงความไม่พอใจถ้าสตูดิโอจะไม่เอาหนังเข้าโรงฉาย

ปีที่ผ่านมาเราได้เห็น คริสโตเฟอร์ โนแลน มีบทบาทมากที่สุดในการประท้วงนโยบายของสตูดิโอที่จะปล่อยหนังผ่านสตรีมมิงหรือช่องทางอื่น แต่เมื่อผ่านมาถึงจุดนี้ก็มีบรรดาผู้สร้างและผู้กำกับอีกมากที่ยอมรับข้อเท็จจริงและความเป็นไปของรูปแบบการตลาดที่จำต้องสอดคล้องกับสภาวการณ์วิกฤตในขณะนี้ และที่สำคัญต่อให้ผู้กำกับจะออกมาตีโพยตีพายมากมายเพียงใด ในฐานะผู้บริโภคก็ต้องเข้าใจว่า ผู้กำกับไม่ใช่คนที่ควักเงินลงทุนในหนังของเขาเอง

11. ปี 2021 อาจจะเป็นปีแห่งการควบรวมและซื้อกิจการ

เพราะผลกระทบอันหนักหน่วงจากปี 2020 ทำให้หลาย ๆ กิจการในแวดวงบันเทิงมีอันต้องปิดกิจการหรืออยู่ในสถานะล้มละลาย ก็เป็นโอกาสให้บริษัทที่แข็งแกร่งกว่าได้เข้าซื้อกิจการเหล่านั้น เราอาจจะได้เห็นสตูดิโอผู้สร้างหนังเข้าซื้อธุรกิจโรงภาพยนตร์ก็เป็นได้

12. ราคาค่าตั๋วอาจจะต้องแบ่งหลายระดับราคามากขึ้น

การเติบโตของธุรกิจสตรีมมิงและ VOD น่าจะทำให้เจ้าของโรงหนังต้องมาตั้งราคาค่าตั๋วหนังกันใหม่ โดยอ้างอิงจากรูปแบบเดียวกันกับค่าเช่าหนังผ่าน VOD ที่มีราคาหลากหลายตั้งแต่ 3.99 เหรียญ ไปจนถึงแพงสุดที่เรื่องล่ะ 29.99 เหรียญ โรงหนังถ้าจะอยากอยู่รอด ก็คงต้องเอาไอเดียนี้ไปปรับใช้ ให้ราคาตั๋วหนังขึ้นอยู่กับคุณภาพหรือทุนสร้างของหนังแต่ละเรื่อง

13. จะได้เห็นหนังฟอร์มใหญ่อีกหลายเรื่องที่ไม่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์

no time to die สุดท้ายจะได้ฉายโรงไหม

อาจจะเป็นหนังฟอร์มใหญ่จากมาร์เวลเรื่องต่อ ๆ ไปจากนี้ หรือ เจมส์ บอนด์ ภาคล่าสุด No Time To Die ซึ่งหนังฟอร์มใหญ่เหล่านี้ป็นที่ต้องการของตลาดทั่วโลก ก็เป็นโอกาสให้เจ้าของหนังที่มีช่องทางสตรีมมิงของตัวเอง มีอำนาจต่อรองกับเครือข่ายโรงหนังมากขึ้น ซึ่งถ้าเจรจาหาข้อตกลงที่พอใจร่วมกันไม่ได้ หนังเหล่านี้ก็อาจจะไม่ได้เข้าโรงฉาย

14. ยังเอาแน่นอนกับกำหนดฉายหนังแต่ละเรื่องไม่ได้

ผลกระทบหลัก ๆ จากโควิด-19 ทำให้หนังฟอร์มใหญ่ทุกเรื่องเลื่อนกำหนดฉายออกไปหมด เลื่อนแล้วเลื่อนอีก ทางสตูดิโอเจ้าของหนังก็แบกรับภาระทุนสร้างไปเรื่อย ๆ เพราะยังไม่กล้าเสี่ยงปล่อยหนังเข้าโรงฉาย ในขณะเดียวกันเจ้าของโรงหนังก็เฝ้ารอวันที่สตูดิโอเจ้าของหนังจะปล่อยหนังออกมา โรงหนังเองก็ต้องแบกรับภาระมากมายเช่นเดียวกัน แต่มองไปข้างหน้าในช่วง 3 เดือนแรกนี้ ก็แทบมองไม่เห็นหนังฟอร์มใหญ่ที่จะมีกำลังพอเรียกคนดูเข้าโรงได้เลย และที่ประกาศมาแล้วก็ไม่แน่ว่าถึงวันนั้นสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายแล้วหรือยัง สตูดิโอเจ้าของหนังจะเลื่อนฉายออกไปอีกหรือไม่

อ้างอิง