NASA มักมีการทดลองใหม่ ๆ มาให้เราทึ่งเสมอ และหนึ่งในโครงการล่าสุดอย่างการปล่อยลูกปลาหมึกสู่อวกาศก็เช่นกัน โดยโครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อนำผลการทดลองที่ได้มาปรับปรุงการดูแลสุขภาพของนักบินอวกาศเมื่อต้องปฏิบัติภารกิจที่ยาวนานนั่นเอง

ลูกปลาหมึกหางสั้นฮาวาย (Hawaiian bobtail squid) จำนวน 128 ตัวที่ถูกเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการทางทะเลเควาโล มหาวิทยาลัยฮาวาย (the University of Hawaii’s Kewalo Marine Laboratory) เริ่มออกเดินทางสู่อวกาศเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาโดยอาศัยไปกับยานอวกาศของ SpaceX ที่ไปทำภารกิจเติมเสบียงให้กับสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่ง NASA คาดหวังว่าการเดินทางในครั้งนี้จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าการบินในอวกาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพของนักบินอย่างไร ส่วนสาเหตุที่ใช้ลูกปลาหมึกในการทดลองก็เพราะว่าพวกมันมีระบบภูมิคุ้มกันที่คล้ายคลึงกับมนุษย์เราอย่างน่าทึ่ง

เครดิตภาพ: staradvertiser.com

เจมี ฟอสเตอร์ (Jamie Foster) นักวิจัยประจำโครงการให้สัมภาษณ์กับ Honolulu Star-Advertiser ว่าพวกเขาหวังว่าการเดินทางของลูกปลาหมึกเหล่านี้จะช่วยให้นักวิจัยนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงและพัฒนาการดูแลสุขภาพของมนุษย์ระหว่างการเดินทางที่ยาวนานในอวกาศ

“นักบินส่วนใหญ่ใช้เวลาเดินทางในอวกาศนานขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ภูมิคุ้มกันผิดปกติ ภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคของพวกเขาอ่อนแอลงและบางครั้งพวกเขาก็ป่วย ด้วยเหตุผลบางอย่างระบบภูิมคุ้มกันของมนุษย์เราทำงานผิดปกติเมื่อต้องเดินทางในอวกาศเป็นเวลานาน หากเราอยากไปใช้ชีวิตบนดวงจันทร์หรือดาวอังคาร เราต้องแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพให้ได้ก่อน” เขากล่าว

จากการให้ข้อมูลของฟอสเตอร์ทำให้เราได้รู้ว่า การทำความเข้าใจระบบไมโครไบโอม (Microbiome – จุลินทรีย์ธรรมชาติบนผิวหนังของสิ่งมีชีวิต) ของปลาหมึกเมื่ออยู่ในอวกาศจะช่วยให้นักวิจัยสามารถแก้ปัญหาสุขภาพที่นักบินอวกาศต้องเผชิญ รวมถึงแก้ปัญหาเรื่องระบบภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงในการที่จุลินทรีย์ต่าง ๆ จะเปลี่ยนเป็นเชื้อโรคด้วย

เหล่าลูกปลาหมึกมีกำหนดเดินทางกลับจากอวกาศช่วงเดือนกรกฎาคม ส่วนรายงานต่าง ๆ ที่ได้จากการเดินทางในครั้งนี้จะถูกบันทึกไว้ทุกช่วงเวลาเพื่อเก็บข้อมูลความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นในสภาพแวดล้อมที่มีหรือไม่มีระบบภูมิคุ้มกันต้านแบคทีเรียก็ตาม

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส