[รีวิว] Spiderhead: เดินหน้าด้วยความคิด ใช้ความสนุกแค่นิดหน่อย
Our score
3.5

Release Date

17/06/2022

ความยาว

106 นาที

[รีวิว] Spiderhead: เดินหน้าด้วยความคิด ใช้ความสนุกแค่นิดหน่อย
Our score
3.5

Spiderhead

จุดเด่น

  1. นักแสดงนำมากความสามารถการันตีฝีมือ พลอตเรื่องจากเรื่องสั้นที่น่าสนใจมีแง่มุมชวนคิดอย่างลึกซึ้ง

จุดสังเกต

  1. เลือกการนำเสนอได้ไม่ค่อยเหมาะกับเนื้อหาที่หนัก บทสนทนาไร้เสน่ห์ ความดึงดูดผู้ชมต่ำ ดูไม่ค่อยสนุก
  • บท

    3.0

  • โปรดักชัน

    5.0

  • การแสดง

    6.0

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    1.0

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    2.0

เรื่องย่อ: สไปเดอร์เฮดคือสถานที่คุมขังเอกชนซึ่งทำข้อตกลงกับเรือนจำรัฐบาลในการนำนักโทษคดีร้ายแรงมาทดลองยาที่กำหนดอารมณ์แบบต่าง ๆ ได้แลกกับการขอลดโทษให้พวกนักโทษ เจฟฟ์เป็นชายที่มีปมในอดีตและอาสาสมัครเข้ามาทดลองนี้ โดยมีหัวหน้าผู้คุมอย่างสตีฟและผู้ช่วยอย่างมาร์คคอยดูแลการทดลอง หลายครั้งการทดลองนำมาสู่เส้นหมิ่นเหม่ทางศีลธรรม และหลายครั้งมันก็ใกล้เคียงกับการประหารด้วยเช่นกัน

หนังเน็ตฟลิกซ์เรื่องนี้นับเป็นโปรเจกต์ที่น่าสนใจในแง่การรวมทีมของผู้สร้าง ทั้ง โจเซฟ โคซินสกี (Joseph Kosinski) ที่เพิ่งมีผลงานหนังแห่งปีไปใน ‘Top Gun: Maverick’ (2022) แม้ตัวเขาเองจะมีผลงานไม่กี่เรื่องแต่น่าสนใจว่ามักได้รับโปรเจกต์แอ็กชันไซไฟทุนสูงที่ประกบกับดาราใหญ่ ๆ อยู่เสมอ

และสำหรับหนังเรื่องนี้เป็นการนำเรื่องสั้นแนวไซไฟจิตวิทยาสยองขวัญชื่อ ‘Escape from Spiderhead’ ที่อยู่ในหนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อ ‘Tenth of December’ ของ จอร์จ ซอนเดอร์ส (George Saunders) มาดัดแปลงผ่านคู่หูมือเขียนบทผู้ปั้นแฟรนไชส์ ‘Deadpool’ และ ‘Zombieland’ รวมถึงหนังเน็ตฟลิกซ์ ‘6 Underground’ (2019) อย่าง เรตต์ รีส (Rhett Reese) และ พอล เวอร์นิก (Paul Wernick) ซึ่งเราก็แอบหวังความสะแด่วในบทเช่นผลงานเดิมที่เขาเคยทำมา

Spiderhead

ฝั่งดารานำยังได้ คริส เฮมส์เวิร์ธ (Chris Hemsworth) หรือเทพเจ้าธอร์มารับบท สตีฟ ผู้คุมการทดลองหนุ่มมากเสน่ห์และลึกลับ ทั้งนี้เฮมส์เวิร์ธเองยังควบตำแหน่งผู้อำนวยการสร้างร่วมของหนังด้วย เป็นอีกเรื่องที่เห็นได้ว่าเฮมส์เวิร์ธตั้งใจนำเสนอตัวละครนี้ไม่น้อยทีเดียว ฝั่งนักแสดงที่ต้องมาประกบแบกเรื่องไปด้วยกัน อย่างตัวละครเจฟฟ์ก็ได้นักแสดงมากฝีมือใบหน้าซื่อเศร้าอย่าง ไมล์ส เทลเลอร์ (Miles Teller) มารับบท

Spiderhead

เมื่อดูจากองค์ประกอบที่ว่ามาจึงเป็นหนังที่เน็ตฟลิกซ์ก็คงคาดหวังความสำเร็จอยู่ไม่น้อย ทว่าสิ่งที่เป็นปัญหาอย่างหนึ่งคือคู่หูมือเขียนบท ที่แม้จะเคยมีงานสยองขวัญในยานอวกาศอย่าง ‘Life’ (2017) มาบ้าง แต่ก็พูดได้ว่าความโดดเด่นของพวกเขาไม่ได้เหมาะกับหนังที่ฉากพื้นที่จำกัด ตัวละครไม่กี่ตัว และแง่มุมจิตวิทยาแบบพวกเรื่องสั้นนัก ยิ่งแทบไม่ต้องใช้ความตลกในเรื่องเลยด้วยนี้ยิ่งรู้สึกเสียดายความตลกสายปั่นของทั้งคู่อย่างมาก

Spiderhead

หนังเป็นการเล่าเรื่องความคิดของตัวละครเจฟฟ์ที่ตกอยู่ในการทดลองหนึ่งซึ่งมีความแปลกประหลาดหลายอย่างคล้ายการทดลองทางจิตวิทยาในตำราที่เราเคยผ่านตามา ผู้ถูกทดสอบต้องเลือกตัดสินชะตาชีวิตของผู้อื่น โดยมีตัวแปรเรื่องของการให้ยาที่เปรียบไปว่าอารมณ์ความรู้สึกของคนที่แสดงออกมาก็เป็นผลจากสารเคมีที่สมองหลั่ง แล้วตัวตนหรือเจตจำนงอิสระของเราจะมีอยู่จริงหรือไม่ถ้าเราเป็นแค่ทาสของปฏิกิริยาเคมีในสมอง

Spiderhead

หนังเดินหน้าด้วยการใส่คอนเซ็ปต์และความคิดตามแบบเรื่องสั้นของซอนเดอร์สที่เล่ามาในย่อหน้าบนอย่างซื่อตรงจนขาดลูกเล่นดึงดูดในแบบหนัง และที่แย่ไปกว่านั้นคือเลือกเปลี่ยนตอนจบของเรื่องสั้น (ซึ่งในหนังคือฉากการทดลองของตัวละครหญิงคนหนึ่งที่มาถึงครึ่งเรื่องพอดี) ให้ต่อขยายออกไปอีกและพยายามสร้างบทสรุปใหม่ ให้แปรเปลี่ยนจากหนังดราม่าไซไฟที่เข้มข้นด้วยจิตวิทยาและการตั้งคำถามเชิงปรัชญา ไปสู่หนังแอ็กชันธริลเลอร์ที่ทื่อและขาดความเฉียบคมไปแทน

Spiderhead

เราไม่มีปัญหากับการแสดงของทั้งเฮมเวิร์ธที่พยายามไปกับบทที่ไม่ค่อยส่งเขานัก และชื่นชมการถ่ายทอดของเทลเลอร์ที่แบกหนังไปด้วยได้แม้จะไม่ได้รู้สึกว่าเป็นบทที่ท้าทายอะไรเขาเช่นกัน ประมาณว่าเขาก็เล่นเป็นตัวเองไปได้เลย ดังนั้นปัญหาที่หนังเป็นจึงมาจากทิศทางการนำเสนอที่อุตส่าห์เลือกต้นธารชั้นดีมาจากเรื่องสั้นที่เด่นในการนำเสนอเชิงลึก แต่ผู้กำกับกับคนเขียนบทดันอยากจะเล่าในแบบหนังตลาดซึ่งมันไม่ควรเอาเรื่องสั้นนี้มาทำแต่แรกมากกว่า เปรียบไปเหมือนถ้ามีใครอยากรีเมก ‘2001: A Space Odyssey’ แต่มีโจทย์นำเสนอว่าขอให้สนุกแบบหนังมาร์เวลให้ขายง่าย ๆ คำถามคือแล้วจะไปรีเมกงานปรัชญาแบบนั้นทำไมแต่แรก คิดบทใหม่และรูปแบบการนำเสนอใหม่เองเลยดีกว่าไหม?

Spiderhead
ฉากบทสนทนาที่หากเขียนได้แยบคายจะเป็นการนำเสนอแง่มุมปรัชญาหรือเพิ่มจุดกระตุกคิดได้น่าสนใจมาก แต่ว่าหนังก็ไม่มีอะไรเท่าไรนัก

หรือถ้าจะอยากทำหนังดูสนุกมีกระตุ้นความคิดหน่อยก็ควรดูสนุกจริง ๆ ไม่ใช่นำเสนอแบบบทขอไปทีแบบนี้ อย่างฉากที่ตัวละครนำต้องหนีแล้วมาเจอนักโทษจอมตะกละถืออาวุธมาขวาง ก็แค่เจรจาว่าห้องเก็บอาหารอยู่ทางไหนแล้วก็จบกันไป

Spiderhead

นี่คือความรู้สึกที่เรามีต่อหนังเรื่อง ‘Spiderhead’ มันดูเต็มไปด้วยความคิดแต่สุดท้ายไม่หนักแน่นพอที่จะเดินไปสุดแนวทางนั้น แม้แค่ความหดหู่สยองขวัญสั่นประสาทหรือความดำมืดในจิตใจมนุษย์มันก็ไม่กล้าจะแตะ ภูมิหลังของตัวละครที่รอการเฉลยมาทั้งเรื่องว่าจะดาร์กขนาดไหน แต่พอรู้ก็..แล้วไงนะ เป็นหนังที่เบาบางดูแล้วจบกันไปอย่างที่ไม่อยากเชื่อสายตาว่ารายชื่อทีมสร้างเป็นใครกันบ้าง

Spiderhead

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส