[รีวิว] Prey: พรีเดเตอร์ย้อนยุค สนุกโหดลุ้น การกลับมาแบบเอาใจคนดูทั่วไป (เสียที)
Our score
8.0

Release Date

05/08/2022

ความยาว

99 นาที

[รีวิว] Prey: พรีเดเตอร์ย้อนยุค สนุกโหดลุ้น การกลับมาแบบเอาใจคนดูทั่วไป (เสียที)
Our score
8.0

Prey

จุดเด่น

  1. วิธีการตีโจทย์ของผู้สร้างที่เข้าใจคนดู และเล่าเรื่องนัยต่าง ๆ ได้อย่างมีชั้นเชิงไม่รู้สึกยัดเยียด การแสดงที่มีเสน่ห์เพียงพอของนางเอก และความรุนแรงที่เหมาะกำลังพอดีไม่มากจนคลื่นเหียนและไม่น้อยจนไม่สนุก

จุดสังเกต

  1. ซีจีมีลอย ๆ ดูปลอม ๆ บ้างโดยเฉพาะฉากที่ใช้การพรางตัวหายตัว โปรดักชันโดยรวมอยู่ระดับกลาง ๆ เมื่อเทียบหนังโรงบล็อกบัสเตอร์
  • บท

    7.0

  • โปรดักชัน

    7.5

  • การแสดง

    7.0

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    8.5

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    8.5

เรื่องย่อ: ปี 1719 คือการพบกันครั้งแรกของเผ่าชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกากับสิ่งมีชีวิตต่างดาวเผ่าพันธุ์นักล่า และมนุษย์เราต้องรับมือกับสุดยอดเทคโนโลยีล่าสังหารระดับจักรวาลด้วยอาวุธเพียงมีด ธนู หอก และขวาน เท่านั้น

ภาพยนตร์จากแฟรนไชส์ ‘Predator’ เรื่องล่าสุดที่มาลงสตรีมมิงทาง Disney+ Hotstar โดยอาจกล่าวได้ว่าเป็นมรดกตกทอดจากการควบรวมค่าย 20th Century Fox เข้ามาร่วมชายคา และคงต้องบอกว่าเป็นการเอาเผ่าพันธุ์ยวตจา (Yautja) กลับมาสู่จอได้อย่างเหมาะสมเสียที หลังจากหลงทางและพยายามรีบูตแฟรนไชส์โดยไม่ใช้เลขภาคต่อใน ‘Predators’ (2010) และ ‘The Predator’ (2018) ที่กลายเป็นหนังที่มีแนวทางเฉพาะ คือถ้าใครไม่เข้าใจสไตล์จนชอบก็คงเกลียดกันไปเลย

Prey

มารอบนี้ได้ผู้กำกับ แดน ทราชเตนเบิร์ก (Dan Trachtenberg) ที่มีผลงานประทับใจคนดูอย่าง ’10 Cloverfield Lane’ (2016) มา ก่อนจะห่างหายไปหลายปี มีโผล่ไปชิมลางกับซีรีส์ ‘Black Mirror’ ตอน Playtest (2016) กับ ‘The Boys’ ตอน The Name of the Game (2019) อยู่บ้าง มารอบนี้ก็ถือว่าใช้ฝีมือของเขาในแนวทางธริลเลอร์ได้เข้ากับตัวหนัง ซึ่งเรื่องราวก็เป็นไอเดียของทราชเตนเบิร์กกับ แพตทริก ไอซอน (Patrick Aison) ที่มีผลงานเขียนบทในซีรีส์เดินเรื่องชวนสงสัยปนลุ้นระทึกใน ‘Wayward Pines’ (2015) และแนวธริลเลอร์เข้มข้นอย่าง ‘Jack Ryan’ (2018)

Prey

ถ้ามองอย่างผิวเผินเรื่องราวใน ‘Prey’ นั้นเรียบง่ายแต่แจ่มชัดอย่างยิ่ง มันคือการหวนคืนสู่นิยามตั้งต้นของคำว่า ผู้ล่าและเหยื่อในห่วงโซ่อาหารที่มีลำดับชั้น แต่มีนัยถึงเรื่องศักดิ์ศรีการยอมรับของนักรบอยู่ในตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่กินใจผู้ชมที่ชื่นชอบหนังแอ็กชันหรือแนวนักสู้ได้ง่าย ในหนังแนวนี้ยิ่งมีความห่างชั้นระหว่างผู้ล่าและเหยื่อมากเท่าใด คนดูก็ยิ่งจะลุ้นเอาใจช่วย และจะยิ่งปลาบปลื้มได้มากขึ้นเมื่อฝั่งมวยรองพลิกเอาชนะหรือเอาชีวิตรอดมาได้

มันจึงนำมาสู่วิธีคิดที่ว่าให้นักล่าต่างดาวที่โหดเหี้ยม พละกำลังมหาศาล มีสติปัญญาสูงส่ง แถมมีอาวุธล้ำสมัยทั้งระยะประชิดและระยะไกล รวมถึงหายตัวได้อีก ต้องมาสู้กับเหยื่อที่อารยธรรมต้อยต่ำกว่า มีเครื่องไม้เครื่องมือเอาชีวิตรอดในธรรมชาติไปวัน ๆ ยังดูยากลำบากอย่างชนเผ่าพื้นเมืองโคแมนชี (Comanche) ของอเมริกาที่มีวัฒนธรรมของการล่าอยู่ด้วยนี่เอง

Prey

ตัวหนังให้เรามองผ่านสายตาของ นารู น้องสาวของว่าที่นักรบหนุ่มของเผ่า แม้เธอจะมีความเฉลียวฉลาดช่างสังเกตแต่ก็ยังถูกดูแคลนในความเป็นเพศหญิงที่พละกำลังในการล่าต่ำกว่าผู้ชาย เธอจึงฝึกฝนและแสวงหาการยอมรับผ่านพิธีล่าสัตว์ดุร้ายอย่างสิงโต และแน่นอนว่าบัดนี้ในป่าไม่ได้มีเพียงแค่สัตว์ร้ายอย่าง งูพิษ หมาป่า สิงโต หรือหมีเท่านั้น เพราะมีนักฆ่าต่างดาวออกมาเดินหาคู่ต่อสู้ที่สมศักดิ์ศรีอยู่ด้วย และในเวลาใกล้เคียงกันพวกคนยุโรปที่อพยพก็เริ่มรุกรานใช้ปืนฆ่าชนเผ่าพื้นเมืองด้วยเช่นกัน

Prey

และต้องชื่นชมด้วยว่า นักแสดงสาวอย่าง แอมเบอร์ มิดธันเดอร์ (Amber Midthunder) ที่มารับบท นารู นั้นมีเสน่ห์ทั้งด้านรูปลักษณ์และการแสดงที่สามารถตรึงสายตาไปกับเธอตลอดเรื่องได้จริง ๆ ไม่ว่าจะตอนสวย ๆ หรือผ่านนาทีชีวิตจนโทรมไปทั้งตัว แม้ตอนดูตัวอย่างยังหวั่น ๆ ว่าเธอไม่ค่อยดึงดูดสายตานักแต่ของจริงเธอฉายออร่าได้แรงไม่เบาทีเดียว

Prey

มาถึงตรงนี้มันจึงได้เห็นว่าหนังมีการนำเสนอนัยของประวัติศาสตร์การล่าอาณานิคมและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนพื้นเมืองอเมริกา รวมถึงการพูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศแบบที่เราไม่รู้สึกยัดเยียดอยู่ด้วย ทำให้หนังมีมิติเชิงลึกให้พูดคุยกันต่อได้ แต่มันก็ไม่ทิ้งหน้าที่ในการสร้างความบันเทิง ต้องบอกว่าผู้สร้างไล่ระดับความตื่นเต้นไปได้อย่างเหมาะสม จากการประจันหน้ากับสัตว์ร้าย จนถึงคู่มือที่เกินเอื้อมแค่เอาชีวิตรอดมาได้ก็บุญ ก่อนที่ทุกอย่างจะบีบบังคับให้ฝั่งตัวเอกจนตรอกต้องสู้กลับเท่านั้น กลายเป็นศึกสุดท้ายที่บีบหัวใจอย่างยิ่ง

Prey

และในความเป็นหนึ่งในหนังที่พยายามเชื่อมโยงกับแฟรนไชส์ ผู้สร้างก็หาวิธีการสร้างสะพานกลับไปโยงใบผ่านหนังเรื่อง ‘Predator 2’ (1990) แบบน่าประหลาดใจพอสมควร ด้วยการใช้สิ่งของชิ้นหนึ่งที่มีความสำคัญในหนังเรื่องนั้น ให้มาปรากฏก่อนหน้าหลายร้อยปีในหนังเรื่องนี้

ยิ่งสำหรับคอเดนตายของฉบับหนังสือการ์ตูนด้วยแล้ว จะพบว่าหนังได้ใช้รายละเอียดจากเรื่องสั้นชื่อ ‘Predator: 1718’ ที่ตีพิมพ์ในปี 1996 เล่าถึงเผ่ายวตจาที่ชื่อ เกรย์แบ็ก (ตัวเดียวกับที่มาปรากฏในท้ายหนังภาค 2 ในปี 1990) ซึ่งได้ลงมาพบมนุษย์เป็นครั้งแรกในจังหวะสถานการณ์ที่ ราฟาเอล อะโดลินี กัปตันเรือโจรสลัดลำหนึ่งกำลังถูกทรยศจากลูกเรือ และนำมาซึ่งการต่อสู้ร่วมกันและยอมรับกันในฐานะนักรบ ถึงขั้นได้แลกอาวุธของกันและกันไว้ด้วย

Prey

โดยรวมต้องบอกว่า ‘Prey’ เป็นหนังที่ตีโจทย์การสร้างได้ขาด สามารถป้อนปากผู้ชมที่ต้องการเรื่องราวดิบ ๆ เข้าใจง่าย ๆ แต่ขอให้สนุกก็พอซึ่งเป็นผู้ชมกลุ่มใหญ่ ใส่นัยความขัดแย้งเชิงประวัติศาสตร์และข้อถกเถียงถึงกระแสของโลกปัจจุบันลงไปแบบเห็นชัดแต่ไม่ขัดตาเพื่อผู้ชมกลุ่มที่อยากได้อะไรที่เป็นสาระบ้างได้เอาไปถกกันต่อ รวมถึงยังไม่ทิ้งแฟนของ ‘Predator’ ทั้งฉบับหนังและฉบับหนังสือให้เจออีสเตอร์เอ้กอย่างน่าชื่นชม ได้พ่วงจูงใจให้คนที่สงสัยว่ามันคืออะไรไปค้นหาต่อด้วย และที่ว่ามาทั้งหมดหนังพาคนดูไปได้หลายระดับการดูโดยที่ไม่มีกลุ่มไหนที่รู้สึกน่ารำคาญเลยด้วย นี่คือสุดยอดความสำเร็จจริง ๆ ของหนังเรื่องนี้

Prey

และถ้าจะมีจุดด้อยจริง ๆ ที่พอนึกออกคือการรับชมผ่านจอที่บ้าน ทำให้เห็นรายละเอียดซีจีที่มันดูปลอม ๆ ไปนิด หรืออาจด้วยโปรดักชันที่ชัดเจนว่าจะเป็นหนังสำหรับฉายสตรีมมิงทำให้บางฉากซีจีดูยังไม่เนี้ยบเท่าที่ควรก็เป็นได้ และความรู้สึกแปลก ๆ ระหว่างดูที่มีอีกอย่างคือเผ่าพันธุ์นักฆ่าที่ภูมิใจในศักดิ์ศรีตัวเองขนาดนั้นจะหายตัวสู้ทำไมทั้งที่เหนือกว่าอีกฝ่ายเยอะอยู่แล้ว อืมมม

Prey

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส