[รีวิวซีรีส์] Junji Ito Maniac: เรื่องเล่าสุดสยองจากห้องผู้ป่วยโรคจิต มาทีหลังแต่พังกว่า
Our score
6.0

Release Date

19/01/2023

ความยาว

12 ตอน ตอนละประมาณ 25 นาที

ผลงานก่อนหน้าของผู้สร้าง

Junji Ito Collection (2018), KonoSuba: God's Blessing on This Wonderful World! (2016), Fate/stay night (2006), Higurashi: When They Cry (2006)

[รีวิวซีรีส์] Junji Ito Maniac: เรื่องเล่าสุดสยองจากห้องผู้ป่วยโรคจิต มาทีหลังแต่พังกว่า
Our score
6.0

Junji Ito Maniac: Japanese Tales of the Macabre

จุดเด่น

  1. ถ้าชอบในด้านโหดแหวะของอาจารย์อิโตะ จุนจิ ซีรีส์ชุดนี้น่าจะตอบโจทย์ การคัดเรื่องดังในฉบับมังะยังมีให้เห็นหลายตอนผสมผสานไปกับตอนที่น่าสนใจที่อาจถูกลืมได้ดี การร้อยเรียงเรื่องผ่านวิธีการเล่าหลังเครดิตจบทำได้น่าสนใจ

จุดสังเกต

  1. การเล่าเรื่องยังมีปัญหาเรื่องความเฉียบคม บางตอนมีฉากที่ไม่จำเป็นอยู่ หลายตอนเข้าขั้นงง คุณภาพงานสร้างไม่นิ่งมีทั้งตอนที่พอได้จนถึงงานเผา มู้ดโทนหลุดไม่เป็นอันเดียวกัน เรื่องความรุนแรงก็รู้สึกว่าจงใจใส่มาแบบไร้รสนิยมไปหน่อย
  • บท

    6.0

  • โปรดักชัน

    5.5

  • การพากย์ไทย/ญี่ปุ่น

    5.5

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    6.5

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    6.5

เรื่องย่อ: หลากหลายเรื่องสั้นสยองขวัญตั้งแต่ครอบครัวประหลาดที่เชิญวิญญาณได้ ไปจนถึงสัตว์เลี้ยงน่ารักจากนรกภูมิ

ในยุคนี้ชื่อของ อิโตะ จุนจิ (伊藤 潤二) ได้สร้างภาพจำเป็นความสยองขวัญสั่นประสาทจากลายเส้นสุดโหดที่ทั้งสวยและชวนขนหัวลุก อีกทั้งเรื่องราวจากจินตนาการที่สะพรึงหลากหลายรสชาติ ตั้งแต่แนวตลกร้าย แนวผีเฮี้ยนวิญญาณหลอน คำสาป ความเชื่อ จนไปถึงรายละเอียดทั่วไปในชีวิตประจำวัน ความสัมพันธ์และเรื่องความเป็นครอบครัวแบบเอเชีย ต่างก็ถูกนำเสนอออกมาได้อย่างน่าสนใจ

ซึ่งแม้ตัวมังงะจะได้รับการยอมรับในระดับสากล แต่เมื่อผลงานขึ้นหิ้งอย่างหนังสือชุด ‘ปลามรณะ’ ถูกถ่ายทอดลงเป็นหนังแอนิเมะครั้งแรกในชื่อ ‘Gyo’ (2012) ก็ไม่ได้รับการตอบรับที่ดีมากนัก และเมื่อมีการสร้างทีวีซีรีส์แอนิเมะรวมผลงานสุดขลังจากหนังสือชุดคลังสยองขวัญ ‘Junji Ito Collection‘ (2018) แม้จะมีเรื่องยอดนิยมของอาจารย์อิโตะอย่าง ‘โทมิเอะ’ หรือ ‘ชายหนุ่มที่สี่แยก’ แต่ก็ไม่สามารถเป็นที่ยอมรับในระดับที่แฟนมังงะคาดหวังได้

Junji Ito Maniac: Japanese Tales of the Macabre

โดยใครที่สนใจและยังไม่ได้รับชม ‘Junji Ito Collection‘ ก็สามารถดูได้แบบไม่เสียเงินทางยูทูบช่อง Muse Thailand กด ที่นี่ ได้เลย

Junji Ito Maniac: Japanese Tales of the Macabre
‘Junji Ito Collection’ (2018)

สำหรับ ‘Junji Ito Maniac: Japanese Tales of the Macabre’ นี้เป็นความพยายามครั้งที่ 2 ของ Studio Deen เจ้าเดิมที่เคยทำแอนิเมะรวมตอนฮิตเมื่อปี 2018 แต่รอบนี้เปลี่ยนมาลงผ่านทางเน็ตฟลิกซ์ และแม้จะเปลี่ยนชื่อเป็น Maniac ทว่าเนื้อแท้มันก็อาจกล่าวได้ว่าเป็น ‘Junji Ito Collection 2‘ ทั้งวิธีการนำเสนอ 2 เรื่องสั้นรวมเป็น 1 ตอน ทั้งซีซันมี 12 ตอน รวมถึงเทคนิคงานสร้างที่ยังคงเป็นงานวาด 2 มิติโดยผสมผสานระหว่างลายเส้นการออกแบบตัวละครของอาจารย์อิโตะและลายเส้นหยาบ ๆ แบบแอนิเมะรายสัปดาห์

Junji Ito Maniac: Japanese Tales of the Macabre

แม้จะมีความแยกโดดกันในทุกตอน แต่หากดูท้ายเพลงเครดิตจบดี ๆ จะมีเสียงบรรยายปริศนาคอยเล่าเรื่องในตอนต่อไปแบบคลุมเครือสั้น ๆ อยู่ และหากนำตอนท้ายเครดิตเหล่านี้มาเรียงร้อยกันจะพบว่าเรื่องราวทั้งหมดที่เราได้ชมไปมาจากคนไข้โรคประสาทที่ใช้นิ้วขูดเขียนตัวอักษรไปบนผนังห้องให้เลือดบันทึกเรื่องราวที่เขาได้ยินได้เห็นเอาไว้จนกระทั่งกระดูกนิ้วโผล่ออกมา ก็นับว่าเป็นส่วนที่ ‘Junji Ito Maniac’ นี้แอบทำไว้ได้น่าสนใจมาก ๆ ในการเชื่อมโยงซีรีส์ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน นอกไปจากการหยอดชิ้นส่วนกิมมิกในตอนแรก ๆ ไว้ในตอนอื่น ๆ ที่มาทีหลังด้วย

Junji Ito Maniac: Japanese Tales of the Macabre

โดยตอนเด่น ๆ จากผลงานอาจารย์อิโตะที่เลือกมาในซีรีส์นี้ แม้จะมีทั้ง ‘โทมิเอะ ตอนภาพถ่าย’ และ ‘ลูกโป่งหัวมนุษย์’ แต่ก็น่าแปลกใจที่ผู้สร้างกลับเลือกตอนจากเรื่องสั้นชุด ‘พี่น้องฮิคิซึริป่วนพิศดาร’ ที่มีรสแบบตลกร้ายคล้ายชุด ‘คำสาปของโซอิจิ’ มาเป็นตอนเปิดของซีรีส์ เนื่องจากชุดพี่น้องฮิคิซึริไม่ได้เป็นที่นิยมเท่าชุดโซอิจิ และการเปิดชุดแอนิเมะสยองด้วยตอนที่ตลกและดูเบาสมองไม่ได้เป็นผลดีกับคนที่มาสนใจเริ่มดูเลย อย่างไรก็ตามตอน ‘ศพตุ๊กตา’ ที่มาปิดสั้น ๆ ในตอนแรกกับงานภาพที่สยดสยองของศพตุ๊กตาแบบฉบับอาจารย์อิโตะก็พอจะทำให้ดูยังมีความหวังขึ้นบ้าง

Junji Ito Maniac: Japanese Tales of the Macabre

นอกจากนี้อาจกล่าวได้ว่าการเลือกผลงานของอาจารย์อิโตะมาทำในซีรีส์ชุดนี้ก็ค่อนไปทางผิดหวังพอสมควร มีตอนที่เลือกมาดีบ้างเช่น ‘ผมยาวแห่งห้องใต้หลังคา’ ‘เมืองแห่งป้ายสุสาน’ ‘สยองหลายชั้น’ ‘เด็กขี้แกล้ง’ และ ‘หญิงกระซิบ’ แต่หลายตอนก็ไม่น่าเลือกมาทำเช่น ‘เกยตื้น’ และ ‘กองหนังสือหลอน’ ที่ออกไปทางแนวทดลองเล่าเรื่องได้ยากพอสมควร

Junji Ito Maniac: Japanese Tales of the Macabre

ซึ่งในกลุ่มที่ว่าเลือกเรื่องมาดีก็ใช่ว่าจะนำมาเล่าใหม่ได้ดี หลายเรื่องมีปัญหาในการเล่าเช่นกันอย่าง ‘สยองหลายชั้น’ ที่ทำเสียรสสยองไปพอสมควรจากวิธีการจบที่เบาไปหน่อย หรือ ‘เด็กขี้แกล้ง’ กับ ‘หญิงกระซิบ’ ที่ก็ไม่สามารถสร้างความขนลุกขนพองได้อย่างตอนที่อ่านมังงะ ต้องบอกว่าการเล่าเรื่องในซีรีส์ชุดนี้ยังไม่คมและเฉียบขาด มีฉากที่ไม่รู้ใส่เข้ามาทำไมจนถึงการเล่าที่ไม่เข้าใจเนื้อเรื่องเลยด้วยซ้ำ

Junji Ito Maniac: Japanese Tales of the Macabre

จะว่าไปผลงานก่อนหน้าอย่าง ‘Junji Ito Collection’ ยังเลือกเรื่อง ลำดับตอน และเล่าได้อย่างน่าสนใจกว่าและดีกว่าเสียอีกทั้งที่ก็เป็นผลงานจากสตูดิโอเดียวกัน ยกเทียบการเล่าเรื่องจากชุด ‘เรื่องพิศวงของโอชิคิริ’ ที่มีอยู่ในทั้ง 2 ซีรีส์นั้นก็เรียกว่าคนละระดับกันเลย ของปี 2018 นั้นทั้งสยองและเร้าอารมณ์ แต่ในปี 2023 กลับเต็มไปด้วยความจืดจางและความงง

Junji Ito Maniac: Japanese Tales of the Macabre

นอกจากนี้ในปี 2018 ยังมีตอนที่เปลี่ยนแนวและเซอร์ไพรส์ผู้ชมได้ลงตัวอย่าง ‘การจากลาที่อ่อนโยน’ ที่ทั้งหลอนทั้งน้ำตาซึม แต่ในปี 2023 กลับไม่มีตอนไหนเลยที่เรียกได้ว่าสร้างความประทับใจหรือน่าจดจำจริง ๆ จะมีตอน ‘เมืองแห่งสุสาน’ ที่เกือบทำได้น่าสนใจแต่ก็มีช่วงกลางที่ไม่ค่อยดีนักอยู่

Junji Ito Maniac: Japanese Tales of the Macabre

และที่น่าผิดหวังพอกันคือคุณภาพงานสร้างจากการสนับสนุนของเน็ตฟลิกซ์ ที่น่าจะทำให้ผลงานดีขึ้นจากปี 2018 แต่กลายเป็นว่าคุณภาพงานสร้างกลับยิ่งโดดไปโดดมา มีตั้งแต่ตอนที่สไตล์ภาพแบบมังงะ สีหม่น ๆ ได้บรรยากาศขลังไปจนถึงงานภาพลวก ๆ สีสดแสบตา และเน้นความโหดแบบเกินเบอร์หาความจำเป็นไม่ได้ คือถ้ามันทำเพื่อตอบโจทย์เฉพาะของแต่ละตอนมันก็น่าชื่นชม แต่นี่มันดูเหมือนคุมโทนไม่อยู่เสียมากกว่าพอรวมกับการเล่าเรื่องที่ไม่ดีนักจึงกลายเป็นว่าทีมสร้างรสนิยมไม่ดีไปเสียอย่างนั้นเลย

Junji Ito Maniac: Japanese Tales of the Macabre

โดยรวมแล้วก็เป็นผลงานที่แฟนอาจารย์อิโตะก็น่าจะยังไม่พอใจเท่าไร มันไม่ได้เป็นรสแบบหนาว ๆ เย็น ๆ ชวนเหวอและตื่นตะลึงแบบเอเชีย แต่กลายเป็นความแปลก ๆ โหด ๆ เหมือนพวกตะวันตกนิยมมากกว่า หนำซ้ำคุณภาพการสร้างและการเล่าเรื่องก็ไม่ได้ดีนักสำหรับคอหนังคอซีรีส์ทั่วไป

Junji Ito Maniac: Japanese Tales of the Macabre

เรียกว่าการมาของ ‘Junji Ito Maniac’ ทำให้ ‘Junji Ito Collection’ ที่น่าผิดหวังดูดีขึ้นเป็นกองเลย

Junji Ito Maniac: Japanese Tales of the Macabre

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส