[รีวิว]Tetris : เล่าประวัติศาสตร์หน้าสำคัญวงการเกมได้อย่างบันเทิง
Our score
8.3

Rate : R

1h 58m

Biography, Drama, History

Director : Jon S. Baird

Writer : Noah Pink

Stars : Taron EgertonMara HufMiles Barrow

[รีวิว]Tetris : เล่าประวัติศาสตร์หน้าสำคัญวงการเกมได้อย่างบันเทิง
Our score
8.3

จุดเด่น

  1. ถ่ายทอดเนื้อหาทางธุรกิจจริงจังให้เข้าใจง่าย
  2. ใช้กราฟิกและดนตรีและเพลงประกอบช่วยให้หนังเบาลงได้มาก
  3. ครบถ้วนทั้งสาระบันเทิง และซาบซึ้งเบา ๆ ไปกับความสัมพันธ์ของเฮงค์และอเล็กซีย์

จุดสังเกต

  1. เป็นหนังน้อยเรื่องที่แคสต์นักแสดงแบบไม่แคร์ภาพลักษณ์ตัวจริงเลย
  2. ไม่ใช่หนังที่เปิดไปทำอะไรไปด้วยได้ เพราะเป็นหนังที่ต้องใช้สมาธิอย่างมากในการอ่านซับไตเติลและเกาะอยู่กับบทสนทนาจำนวนมาก
  • คุณภาพงานสร้าง

    9.0

  • คุณภาพนักแสดง

    8.0

  • บทภาพยนตร์

    9.0

  • ความบันเทิง

    7.5

  • คุ้มค่าเวลารับชม

    8.0

ถ้าจะกล่าวว่าคนแทบทั้งโลกต่างก็รู้จัก “Tetris” คงจะไม่เกินเลยไปนัก เพราะเป็นเกมคอมพิวเตอร์ที่เล่นง่าย ใช้ความจุไม่เยอะ ฆ่าเวลาได้ดี ด้วยเหตุนี้ Tetris ถึงได้ไม่เลือนหายไปตามกาลเวลาและอยู่คู่โลกมาแล้วกว่า 4 ทศวรรษ ครองตำแหน่งเกมที่ขายดีที่สุดในโลกตลอดกาลในอันดับที่ 2 เป็นรองแค่ Mario เท่านั้น แต่สิ่งที่หลายคนไม่รู้กันมาก่อน ก็คือประวัติความเป็นมาของ Tetris ที่กว่าจะประสบความสำเร็จไปทั่วโลกได้นั้น ต่างต้องฝ่าฝันสงครามแย่งชิงลิขสิทธิ์กันอย่างดุเดือด สมควรแล้วกับการหยิบประวัติของ Tetris มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์

ประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องราวของ Tetris นั้นก็คือจุดกำเนิดของเกมที่ถือกำเนิดขึ้นมาในโซเวียต ในยุคที่ยังคงเป็นประเทศม่านเหล็ก ผู้คิดค้นคือ อเล็กซีย์ พาจิตนอฟ (Alexey Pajitnov) โปรแกรมเมอร์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ประจำ สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งสหภาพโซเวียต Tetris เป็นหนึ่งในพัสเซิลเกมที่เขาคิดค้นขึ้นมาเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดของบรรดาเจ้าหน้าที่ที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน ๆ โดยไม่คาดคิดว่า Tetris จะได้รับความนิยมไปทั่วโลกเช่นนี้ จนเมื่อ Tetris หลุดออกไปนอกโซเวียต และมีตัวแทนหลายองค์กรให้ความสนใจในการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพื่อจัดจำหน่ายไปทั่วโลกในหลาย ๆ แพลตฟอร์ม

ตรงนี้ละที่เป็นจุดกำเนิดของสงครามแย่งชิงลิขสิทธิ์มูลค่าพันล้านเหรียญ ที่มีชื่อใหญ่ ๆ ในวงการเกมมาพัวพันเกี่ยวข้องทั้ง นินเท็นโด, อาตาริ และ เซก้า และประเด็นสำคัญที่ทำให้เนื้อหาของหนังนั้นชวนติดตามก็เพราะเรื่องราวส่วนใหญ่เกิดขึ้นในโซเวียต ในวันที่ยังอยู่ภายใต้ระบบคอมมิวนิสต์แบบเข้มข้น ทำให้ผู้สร้างเสริมเติมอุปสรรคเข้าไปได้มากมายทั้งในปัญหาเรื่องการสื่อสาร และ สายลับเคจีบีที่เข้ามาสอดส่องดีลยักษ์ครั้งนี้

แม้ว่าเรื่องราวตามจริงนั้น จะมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนับสิบคน แต่ โนอาห์ พิงค์ (Noah Pink) ผู้เขียนบทก็ตกลงใจเลือกเอา เฮงค์ โรเจอร์ส (Henk Rogers) เซลส์แมนผู้คร่ำหวอดอยู่ในธุรกิจเกม มาเป็นตัวดำเนินเรื่องหลัก และได้ ทารอน อีเกอร์ทัน (Taron Egerton) จาก Rocketman, Kingsman มารับบทนี้ เหตุเพราะสุดท้ายแล้วโรเจอร์สก็คือผู้ถือครองลิขสิทธิ์ Tetris อยู่ในปัจจุบัน และเป็นผู้เล่นตัวสำคัญที่ต้องสู้แบบหลังชนฝาเพราะเขาทุ่มเทกับดีลนี้หมดตัวแบบไม่มีแผนสำรองและถอยหลังไม่ได้

2 ชั่วโมงของหนังเล่าเรื่องราวตั้งแต่ โรเจอร์สไปเจอ Tetris ในงานอิเล็กทรอนิกส์โชว์ที่ลาสเวกัส และพบว่ายังไม่มีตัวแทนจำหน่ายในญี่ปุ่น จึงเป็นก้าวแรกที่เขาเริ่มเข้าถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของกระบวนการลิขสิทธิ์ที่ยุ่งเหยิงของ Tetris และพบช่องโหว่มากมาย ที่เปิดโอกาสให้เขามีสิทธิ์ที่จะได้เป็นผู้ครองสิทธิ์ตัวจริง โรเจอร์สจึงตัดสินใจบินไปหาพาจิตนอฟเองถึงมอสโก แต่ดีลครั้งนี้ก็เหมือนกับเอาชีวิตเข้าเสี่ยง เพราะเขาต้องเผชิญกับ เจ้าหน้าที่รัฐจอมฉ้อฉลที่รับสินบนมาจากบริษัทเกมยักษ์ใหญ่จึงได้ใช้อำนาจหน้าที่เข้าขัดขวางเขาทุกวิถีทาง และต้องต่อสู้ด้วยข้อเสนอบนโต๊ะกับ โรเบิร์ต สไตน์ (Rober Stein) ผู้ถือครองสัญญาเดิมที่ทุ่มข้อเสนอเพื่อรักษาสิทธิ์ในสัญญาเดิมไว้

ซ้าย : เฮงค์ โรเจอร์ส (ตัวจริง) / กลาง : ทารอน อีเกอร์ทัน (แสดงเป็นเฮงค์) / ขวา : อเล็กซีย์ พาจิตนอฟ (ผู้สร้าง Tetris)

พูดได้ชัดว่า Tetris คือหนังที่ว่าด้วยเรื่องราวทางธุรกิจ เดินเรื่องด้วยบทสนทนาเป็นหลัก จำต้องใช้สมาธิในการรับชมสูงกับการอ่านซับไตเติลเพื่อเก็บรายละเอียดยุบยับในประโยคสนทนา ย้ำเลยว่ารายละเอียดพวกนี้จำเป็นมาก เพราะเราต้องเข้าใจทั้งช่องโหว่ จุดด้อย จุดได้เปรียบในสัญญาของแต่ละฝ่ายเราถึงจะสนุกไปกับหนังได้ เพราะตัวแทนทั้งสามฝ่ายต่างก็บลัฟกันด้วยรายละเอียดในสัญญานี่แหละ ฟังดูตรงนี้บางคนอาจจะร้องยี้ ‘หนังคุยกัน’ แต่ไม่ใช่อย่างนั้นเลยครับ หนังเล่าเรื่องได้สนุกน่าติดตามทีเดียว มีสถานการณ์ยาก ๆ ให้เฮงค์ต้องแก้ไขปัญหา สอดแทรกจังหวะตื่นเต้นมาเป็นระยะ ๆ ไม่มีช่วงให้ง่วงหาวเลย

แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องเข้าใจธรรมชาติของอุตสาหกรรมหนังด้วยเช่นกัน เพราะนี่ไม่ใช่หนังสารคดี แต่เป็นหนังที่มุ่งเน้นขายความบันเทิง ผู้เขียนจึงต้องเสริมเติมแต่งเหตุการณ์และตัวละครลงไปมากพอดู ทั้งตัวเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นตัวร้ายของเรื่อง และเจ้าหน้าที่เคจีบีหญิง รวมไปถึงฉากแอ็กชันขับรถไล่ล่า ถึงขั้นที่วา โรเจอร์ส เฮงค์ และ อเล็กซีย์ พาจิตนอฟ ได้อ่านบทหนังก่อนแล้วก็ส่ายหัวไปตาม ๆ กันว่าเรื่องราวถูกเสริมเติมแต่งอย่างมาก แต่ก็เข้าใจกลไกของฮอลลีวูดก็ปล่อยไปตามนั้น เอาเป็นว่าตัวละครหลัก ๆ และดีลต่าง ๆ ยังอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง

อีกคนสำคัญที่ทำให้ Tetris เดินหน้าไปได้อย่างมีสีสันก็คือ จอห์น เอส. แบร์ด (John S. Baird) ผู้กำกับ ที่มีไอเดียล้นมากมาย แบร์ดรู้ดีว่านี่คือหนังที่ว่าด้วยคอมพิวเตอร์เกมชื่อดัง แม้ว่าเนื้อหาของหนังจะค่อนไปทางการเจรจาธุรกิจจนหนักพอดู แบร์ดก็เลือกที่จะสอดแทรกลูกเล่นมากมายไปตลอดทาง ทั้งการเปิดฉากใหม่ทุกครั้งด้วยภาพอาคารที่เป็นสถานที่สำคัญในฉากนั้น ด้วยการเป็นภาพแบบ 8 บิต และ Tetris เป็นหนังที่ตัวละครล้วนเป็นนักธุรกิจที่ต้องบินไปมาระหว่าง ญี่ปุ่น โซเวียต และ อเมริกา ก็เลยใช้แผนที่โลกสไตล์คอมพิวเตอร์เกมสีสันฉูดฉาด โดยรวมแล้วก็ทำให้โทนของหนังดูเบาลงได้มาก

เฮงค์ โรเจอร์ส และ อเล็กซีย์ พาจิตนอฟ ในช่วงปลายยุค 80’s

อีกจุดที่ชอบมาก คือการเลือกเพลงประกอบของหนัง ที่ทำเอามนุษย์ที่ผ่านโลก 80’s มาได้หวนคืนความหลังกันเลยทีเดียวทั้ง Final Countdown ที่นำมาใช้ในประกอบในหนังแบบเต็มเพลงเลย และ Holding Out for a Hero ในเวอร์ชันภาษารัสเซีย ที่ฟังแปลกหูดี ก็นำมาประกอบในฉากแอ็กชัน เพิ่มอารมณ์สนุกสนานได้ดี แต่ที่ชอบมากคือเพลง ‘Opportunities’ ของ Petshop Boys ที่นำใช้ในฉากจบของเรื่องได้ลงตัวอย่างที่สุด ก็ท่อนที่ว่า

“I’ve got the brains
You’ve got the looks
Let’s make lots of money”
ช่างเป็นประโยคที่เข้ากับเนื้อหาอย่างที่สุด ต้องดูเองครับแล้วจะเข้าใจ

หนังจบแบบยึดธรรมเนียมหนังที่สร้างจากเรื่องจริง คือจบด้วยภาพนิ่งของ บุคคลจริงในเรื่อง ที่แคสต์มาได้ไม่เหมือนตัวจริงเล้ย พร้อมตัวหนังสือคำบรรยายชะตากรรมความเป็นไปของแต่ละคนในปัจจุบัน เป็นหนังที่ครบถ้วนทั้งสาระและบันเทิงของจริงครับ