Release Date

11/11/2021

ความยาว

130 นาที

[รีวิว] The Green Knight: งดงามดั่งบทกวี ลุ่มลึกดุจปรัชญา
Our score
8.0

The Green Knight

จุดเด่น

  1. งานศิลป์ของหนังที่สวยงามมาก ๆ เหมือนดึงรูปแบบละครเวทีผสมกับภาพยนตร์ให้ออกมาคุณภาพสูง ให้ความรู้สึกเป็นงานศิลปะมากกว่าหนังบันเทิง รวมทั้งบทและวิธีเล่าที่ตีความตำนานเก่าได้ลุ่มลึกมีชั้นเชิงเปิดพื้นที่ให้ครุ่นคิดค่อนข้างมาก ให้ความรู้สึกเป็นงานปรัชญามากกว่าเรื่องเล่า

จุดสังเกต

  1. แม้เป็นหนังที่คุณภาพสูง แต่ความสนุกก้ขึ้นกับความคาดหวังผู้ชมด้วย ถ้าดูหน้าหนังแล้วคิดว่าเป็นแนวแอ็กชันแฟนตาซีก็ไม่สนุกเลยแม้แต่น้อย แต่ถ้าดูเพราะชอบความสวยงามสไตล์ภาพจัดจ้านมันก็ดูเพลินตาแต่ยากเข้าใจ แต่ถ้าคิดว่ามาดูงานศิลปะและงานปรัชญาที่มีชั้นเชิง ใช่ครับเรื่องนี้สนุกมาก
  • บท

    8.5

  • โปรดักชัน

    9.5

  • การแสดง

    9.0

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    5.5

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    7.0

สนับสนุนข้อมูลโดย Major Cineplex

เรื่องย่อ: จากบททดสอบความหาญกล้าของอัศวิน สู่ตำนานที่ยังไม่ถูกเล่าขานของ เซอร์กาเวน แห่งกษัตริย์อาเธอร์และอัศวินโต๊ะกลม

ผู้กำกับ เดวิด โลเวอรี่ (David Lowery) เคยสร้างหนังอินดี้ที่เซอร์จัดมาแล้วใน ‘A Ghost Story’ (2017) เคยสร้างความมหัศจรรย์อบอุ่นหัวใจสไตล์ดิสนีย์จ๋ามาแล้วจาก ‘Pete’s Dragon’ (2016) และกำลังได้รับโอกาสให้กำกับหนังคนแสดงจากแอนิเมชันคลาสสิกใน ‘Peter Pan & Wendy’ ที่จะมาในปีหน้า เห็นได้ชัดเจนว่าเขามักจับงานแฟนตาซี และชอบในการตีความดัดแปลงหนังจากหนังสือหรือนิยาย ซึ่ง ‘The Green Knight’ เองก็เข้าในหมวดที่ว่ามา เพราะมีฐานจากตำนานกษัตริย์อาเธอร์กับอัศวินโต๊ะกลม

https://www.youtube.com/watch?v=GtEsm5Qivwc

คำถามสำคัญคือเราควรไปหาอ่านตำนานเซอร์กาเวนก่อนไปรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้หรือไม่ ส่วนตัวได้หาอ่านก่อนรับชมและขอสนับสนุนว่า ควรอย่างยิ่งที่จะทราบเรื่องราวดั้งเดิมก่อน เพราะหนังเรื่องนี้ผู้กำกับโลเวอรี่ไม่เพียงสอดแทรกรายละเอียดใหม่ ๆ ลงไปเท่านั้น ยังบิดวิธีเล่าให้ยากคาดเดาขึ้นไปอีก และผู้สร้างเองก็น่าจะทำงานบนโจทย์ว่าผู้ชม (ชาวตะวันตกโดยเฉพาะในบริเทน) นั้นรู้จักหรือเคยได้ยินเรื่องของเซอร์กาเวนมาระดับหนึ่งแล้ว การไปรู้เรื่องไว้ก่อนบ้างจะทำให้เสพหนังได้ตรงจุดประสงค์ผู้สร้างที่สุด ไม่เช่นนั้นช่วงท้ายของหนังจะทำงานได้น้อยลงมากทีเดียว

อย่างย่นย่อสำหรับผู้ที่ไม่อยากไปหาอ่านด้วยตนเอง ขอเล่าโดยสังเขป

เซอร์กาเวนเป็นหลานของกษัตริย์อาเธอร์และเป็นหนึ่งในอัศวินโต๊ะกลม หากแต่ตัวเขายังขาดตำนานเล่าขานเฉกเช่นวีรบุรุษท่านอื่น ในวันคริสต์มาสหนึ่งได้มีอัศวินร่างใหญ่ตัวสีเขียวมรกตได้มาเยือนในงานฉลองของกษัตริย์อาเธอร์พร้อมขวานใหญ่หนึ่งเล่ม และเอ่ยวาจาท้าทายอัศวินคนใดก็ได้ให้มาผลัดกันใช้ขวานบั่นคอ โดยตนเองจะยอมให้อีกฝ่ายลงมือก่อน เซอร์กาเวนอาสารับคำท้าและบั่นคออัศวินมรกตจนศีรษะกระเด็นไป ทว่าอัศวินมรกตกลับหาตายอย่างที่คิดไม่ ลุกขึ้นมาเก็บศีรษะตนเองหน้าตาเฉย และกล่าวก่อนจากไปว่าอีกหนึ่งปีให้หลังเซอร์กาเวนต้องนำขวานเล่มนี้เดินทางไปหาเขาและให้เขาบั่นศีรษะคืนบ้าง

The Green Knight

ในระหว่างการเดินทางเมื่อครบกำหนดหนึ่งปีที่สัญญาไว้ เซอร์กาเวนได้พบกับปราสาทหลังหนึ่งมีลอร์ดและเลดี้สูงศักดิ์เชื้อเชิญให้นอนพักค้างแรม ทว่าเจ้าปราสาทได้ขอคำสัญญาว่าในทุกวันเขาจะออกไปล่าสัตว์และจะมอบสิ่งที่เขาล่าได้แก่เซอร์กาเวน ในขณะเดียวกันเซอร์กาเวนต้องมอบทุกอย่างที่ได้รับขณะพำนักในปราสาทนี้แก่เขาเช่นกัน

ในระหว่างที่พำนัก เลดี้สูงศักดิ์และเลอโฉมได้ล่อลวงเซอร์กาเวนต่าง ๆ นานา และในทุกวันเซอร์กาเวนก็ซื่อสัตย์พอที่จะมอบสิ่งที่ตนได้รับจากเลดี้แก่เจ้าปราสาท เช่น กอด หรือจุมพิต เป็นต้น จนเมื่อถึงวันคริสต์มาสเซอร์กาเวนร่ำลาลอร์ดและเลดี้ไปหาอัศวินมรกตเพื่อน้อมรับความตาย ทว่าอัศวินมรกตกลับกลายร่างเป็นเจ้าปราสาทที่ให้เซอร์กาเวนได้พำนักก่อนหน้า และชื่นชมในความซื่อสัตย์และเกียรติแห่งอัศวินของเซอร์กาเวน แล้วได้ปล่อยให้กลับเมืองไปพร้อมขวานโดยมิได้บั่นคอ กลายเป็นตำนานเซอร์กาเวนและอัศวินมรกตในเวลาต่อมา

The Green Knight

สิ่งที่โลเวอรี่ทำต่อตำนานเซอร์กาเวนเห็นเด่นชัดที่สุด คือลดความเป็นวีรบุรุษและเพิ่มความเป็นมนุษย์ที่อ่อนแอได้ กลัวตายเป็น ตัวละครเซอร์กาเวนที่ เดฟ พาเทล (Dev Patel) ต้องถ่ายทอดจึงมีมิติความลึกของอารมณ์มากมาย และมีการตัดสินใจที่สมจริง เปิดพื้นที่ให้พาเทลโชว์ทักษะการแสดงได้อย่างดี และเขาก็สร้างตัวละครที่มีพัฒนาการแบบสมจริงมาก ๆ จากหลานกษัตริย์ที่ทำตัวเหลวแหลกไปวัน ๆ ถูกผลักดันให้สร้างตำนาน และผ่านการถูกทำลายตัวตนอันจองหองของตนเองด้วยอุปสรรคนานับประการ จากการทอดทิ้งเกียรติของอัศวิน ไปจนถึงการยอมทอดทิ้งเกียรติของมนุษย์ ซึ่งพอเอามาเล่ากับตำนานทรงเกียรติแล้วมันทำให้เห็นความขัดแย้งที่น่าสนใจมาก ๆ ด้วย

The Green Knight

จริง ๆ แล้วต้องบอกว่าแทบทุกตัวละครในเรื่องนี้ แม้จะถูกวางทิศทางการแสดงให้ดูเหนือจริง เหมือนวิญญาณที่อยู่สูงกว่ามนุษย์ มีสถานะของแนวคิดนามธรรมที่เป็นรูปร่างมากกว่าเป็นตัวละครมนุษย์จริง ๆ หลายตัวละครมีความเป็นเทพเจ้าที่เหมือนรู้ความจริงทุกอย่างแต่เลือกแสดงออกว่าไม่รู้เพื่อทดสอบเซอร์กาเวน แต่นักแสดงก็สามารถใช้ทักษะการแสดงที่น้อยแต่มาก เช่นการใช้สายตา สีหน้า การจ้องมอง หรือเสน่ห์ส่วนตัวในการตรึงความสนใจผู้ชมได้อยู่หมัด

ทั้ง อลิเซีย วิกันเดอร์ (Alicia Vikander) ที่ต้องรับบทบาทถึง 2 บทบาททั้งคนรักที่เป็นโสเภณีของเซอร์กาเวนที่ต้องแสดงออกถึงความจริงใจแบบสาวชาวบ้าน และเลดี้แห่งปราสาทที่ต้องดูลึกลับและยั่วยวน เป็นอะไรที่คนละขั้วแต่เธอทำได้น่าจดจำทั้งคู่ อีกคนคือ ฌอน แฮร์ริส (Sean Harris) ในบทกษัตริย์อาเธอร์ในวัยชราที่ไม่เหลือเค้าของวีรบุรุษแต่ยังเห็นออร่ากษัตริย์ได้ชัดเจน น่าสนใจว่าตัวละครนี้รู้ตื้นลึกหนาบางขนาดไหน เพราะการแสดงของแฮร์ริสทำให้เกิดคำถามปลายเปิดมากมายทีเดียว เป็นต้น

The Green Knight

ด้วยความที่ทั้งเรื่องเหมือนมีมนุษย์จริง ๆ เพียงคนเดียว และที่เหลือเป็นเหมือนร่างอวตารของเทพที่ส่งมาทดสอบจิตใจของเซอร์กาเวน มันจึงมีพื้นที่เปิดกว้างมากมายให้เราครุ่นคิดต่อการตอบสนองของตัวละครต่าง ๆ รวมถึงการวางองค์ประกอบภาพ การออกแบบศิลป์ การเลือกพร็อป เลือกใช้สีในภาพ และสื่อสัญลักษณ์ต่าง ๆ มากมายให้ได้ขบคิดตีความเต็มไปหมด

The Green Knight

มันสนุกกับการคิดตามจนเหมือนว่ากำลังนั่งอยู่ในคลาสตีความวรรณกรรม และอาจารย์ผู้สอนก็คอยชี้ให้เห็นสัญญะต่าง ๆ อยู่เรื่อย ๆ แล้วถามว่า พวกเธอคิดว่าผู้สร้างต้องการให้เข้าใจว่าอย่างไร อะไรแบบนั้นเลยทีเดียว ที่สนุกคือหลายอย่างมันไม่ได้เขียนโต้ง ๆ แบบตัวหนังสือ แต่เล่าผ่านภาษาภาพของหนังได้แยบยลสวยงาม แถมอิงรูปแบบการเล่าของละครกรีกมา มันเลยกลายเป็นคลาสสุนทียศาสตร์ไปในตัวด้วยนั่นเอง

และแม้องค์ประกอบที่ว่ามามันจะเลอเลิศ และเชื่อว่าถูกใจคอหนังคุณภาพ รสนิยมศิลป์และปรัชญาดี ๆ แต่หนังก็หย่อนที่ไว้ให้ผู้ชมทั่วไปได้ตามเรื่องราวไปด้วยอยู่พอประมาณ เพราะหากไม่คิดสัญญะต่าง ๆ มันก็ยังมีองค์ประกอบความเป็นหนังดาร์กแฟนตาซีย้อนยุคที่เล่าเรื่องได้เข้าใจระดับหนึ่งเลย สัญญะที่ไม่เข้าใจก็กลายเป็นความแปลกตาตื่นใจได้แทน เช่น ฝูงคนยักษ์ที่สูงใหญ่กว่าภูเขา หรือสตรีที่ร้องขอให้ช่วยตามหาศีรษะของนาง เป็นต้น

The Green Knight

ตรงนี้ต้องบอกเป็นข้อสรุปว่า นี่เป็นหนังที่ให้คุณค่าทางศิลปะและเชื้อเชิญให้ตีความ รวมถึงมอบพื้นที่แก่แง่คิดเชิงปรัชญาตามที่แต่ละคนจะตักตวงได้อย่างดีมาก เชื่อว่าต่างคนก็คงได้ประสบการณ์กลับไปต่างกัน และมันน่าสนใจทีเดียวถ้าจะดูแล้วมาถกกับคนที่ชอบคิดอะไรแบบนี้เหมือนกันต่อ

The Green Knight

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส