ถ้าพูดถึงภาพยนตร์ที่สร้างจากวิดีโอเกมที่พอดูได้หรือค่อนข้างดีแต่ไม่ดีที่สุด หลายคนคงจะคิดถึงภาพยนตร์เรื่อง ‘Silent Hill’ หรือที่บ้านเรารู้จักในชื่อ “เมืองห่าผี” ที่เพิ่งครบรอบ 16 ปีไปเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ปี 2006 ที่แม้เนื้อเรื่องจะต่างกับในเกมไปมาก แต่โดยรวมเนื้อหาก็มีกลิ่นอายความเป็น ‘Silent Hill’ เอาไว้ได้ครบถ้วน ซึ่งถ้าผู้กำกับทำตามในเกมจะยอดเยี่ยมกว่านี้มาก ๆ ขณะที่ส่วนของคนที่ไม่ได้เล่นเกม ก็ชื่นชอบในความน่ากลัวบิดเบี้ยวของโลกในภาพยนตร์ ที่ทำออกมาได้ดีน่าค้นหาและอยากรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

ซึ่งใครที่ยังไม่เคยดูเราขอแนะนำเลยสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ส่วนใครที่เคยดูมาแล้ววันนี้เรามาทบทวนความทรงจำ และมาย้อนดูสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์เรื่องนี้กัน ซึ่งหลายเรื่องเชื่อว่าหลายคนยังไมทราบ ถ้าพร้อมแล้วก็เตรียมตัวให้พร้อมแล้วมาลุยในเมืองห่าผีไปพร้อม ๆ กันเลย

จุดเริ่มต้นความหลอกหลอนภาพยนตร์เมืองห่าผี Silent Hill

Silent Hill

ย้อนเวลากลับไปเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ปี 2006 ภาพยนตร์จากเกมชื่อดังของ ‘Konami’ ในชื่อไทยว่า “เมืองห่าผี” ได้ฉายในบ้านเราพร้อมกับความคาดหวังแบบไม่ค่อยอยากหวังของแฟนเกม เพราะในตัวอย่างที่ปล่อยออกมานั้นแม้มีหลาย ๆ อย่างที่เป็นองค์ประกอบมาจากเกม ‘Silent Hill’ ทั้งบรรยากาศในเมือง องค์ประกอบฉาก เนื้อเรื่องเกี่ยวกับการตามหาลูกสาวที่หายตัวไป แต่ก็มีหลายอย่างที่ถูกเปลี่ยนไป อย่างตัวเอกที่เปลี่ยนจากผู้ชายมาเป็นผู้หญิง มีการใส่มอนสเตอร์ที่มาจากภาคอื่นอย่าง ‘Pyramid Head’ ที่ไม่มีในภาคแรกลงไปในภาพยนตร์ จนแฟนเกมเริ่มเห็นความไม่เหมือนในเกมและคิดว่ามันต้องออกมาไม่ดีแน่ ๆ

แต่พอได้ชมภาพยนตร์จากเสียงที่เคยต่อว่าเรื่องความไม่เหมือน ก็ถูกแยกออกเป็นสองกลุ่มทันทีจากคนเล่นเกม แบบแรกคือฝั่งชอบภาพยนตร์ที่ใช้องค์ประกอบจากเกมได้อย่างลงตัว แม้จะเปลี่ยนเนื้อเรื่องไปจนเกือบหมด แต่หัวใจหลักและแก่นของเรื่องก็ยังคงอยู่ กับอีกฝ่ายที่ไม่ชอบภาพยนตร์เลย เพราะตัวภาพยนตร์บิดเบือนเนื้อหาไปจนเป็นเรื่องราวใหม่ ทำให้ทุกอย่างดูเพี้ยนไปคนละแบบจากเกม แถมเนื้อเรื่องก็สลับด้านกลับขั้วใส่สิ่งที่ไม่มีลงไปในภาพยนตร์จนแทบจะเป็นเรื่องราวใหม่ ขณะที่คนซึ่งไม่เคยเล่นเกมต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าสนุกตื่นเต้นและชอบมาก ๆ จนภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ตรงกลางของความดีและไม่ดี ที่จนถึงตอนนี้ก็ยังเอามาถกเถียงกันได้เรื่อย ๆ จากคนเล่นเกม

Silent Hill

ทำความรู้จักเกม Silent Hill ต้นแบบภาพยนตร์ที่คนเล่นเกมหลงรัก

Silent Hill

คราวนี้เรามาทำความรู้จักเกม ‘Silent Hill’ ที่เป็นต้นแบบของภาพยนตร์กันบ้าง สำหรับคนที่เคยชมภาพยนตร์แต่ไม่เคยเล่นเกม จะได้ทราบว่าตัวเกมนั้นมันยอดเยี่ยมขนาดไหน เริ่มจากตัวเกม ‘Silent Hill’ ที่วางจำหน่ายวันที่ 31 มกราคม 1999 บนเครื่อง ‘Playstation 1’ ที่ปูเรื่องราวแบบเดียวกับในภาพยนตร์ ที่บอกเล่าเรื่องราวของ แฮร์รี่ เมสัน (Harry Mason) คุณพ่อลูกหนึ่งที่กำลังขับรถท่องเที่ยวกับลูกสาวบุญธรรมที่เขาไปเจอเธอที่สุสานพร้อมภรรยา วันเวลาผ่านไปเด็กน้อย เชอรีล (Cheryl) ได้เพ้อถึงเมือง ‘Silent Hill’ แฮร์รี่จึงพาลูกสาวมายังเมืองนี้ ซึ่งระหว่างทางได้มีตำรวจหญิงขี่รถมอเตอร์ไซด์ผ่านไป ก่อนเจอเด็กผู้หญิงมาตัดหน้ารถจนทำให้เกิดอุบัติเหตุ (แบบเดียวกับภาพยนตร์) การเดินทางตามหาลูกสาวในเมืองจึงเริ่มขึ้น โดยมีตำรวจหญิง ไซบิล เบนเน็ตต์ (Cybil Bennett) และ ดาห์เลีย กิลเลสพาย (Dahlia Gillespie) คอยช่วยชี้แนะเบาะแสให้ โดยเราจะได้ไปที่โรงเรียน โรงพยาบาล และโรงแรมแบบเดียวกับในภาพยนตร์

แต่เนื้อหาในเกมจะต่างกับภาพยนตร์ตรงที่ตัวของดาห์เลียนั้นจะเป็นตัวร้ายที่หลอกใช้แฮร์รี่ในการเข้าหาลูกสาว ขณะที่ตัวไซบิลจะรอดหรือเสียชีวิตก็ขึ้นอยู่กับเราในตอนที่เธอถูกควบคุมว่าจะฆ่าหรือช่วย แต่ในตอนจบที่แท้จริงแฮร์รี่จะรอดชีวิตคนเดียวพร้อมทารก ที่จะปูทางไปสู่ภาค 3 ของเกมหรือก็คือภาคที่ 2 ของภาพยนตร์ โดยเราจะต้องวิ่งไปมาในเมืองขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยหมอกและสัตว์ประหลาด ที่จะมีการเดินทางไปยังโลกสนิมเมื่อได้ยินเสียงไซเรนแบบเดียวกับในภาพยนตร์ ซึ่งเนื้อเรื่องในเกมจะซับซ้อนน่าค้นหากว่าเยอะมาก ๆ เรียกว่าเล่นไปเจอหักมุมซ้อนไปซ้อนมาหลายรอบเลยทีเดียว ซึ่งมันคือเอกลักษณ์ของเกมซีรีส์นี้ แต่ในภาพยนตร์กลับตัดตรงนี้ออกไปเป็นการเล่าเรื่องตรง ๆ แทนซึ่งน่าเสียดายมาก ๆ

Silent Hill

สิ่งต่าง ๆ ในวิดีโอเกมที่ทั้งเหมือนและต่างกับภาพยนตร์

Silent Hill

อย่างที่บอกไปในตอนต้นว่าเรื่องราวในเกมและภาพยนตร์ของ ‘Silent Hill’ นั้นมีหลายสิ่งที่เหมือนและต่างกัน แบบจะต่อว่าก็พูดไม่ได้เต็มปาก จะชมว่าเหมือนเกมก็เหมือนแต่ก็เหมือนไม่หมด ซึ่งหลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าตัวภาพยนตร์อ้างอิงจุดหลักตามในเกม ที่ในภาพยนตร์กล่าวถึงแม่ที่เป็นพระเจ้าของลูก มาเป็นแม่ที่เป็นปีศาจสำหรับลูกตามในต้นฉบับเกม เรื่องราวจะดีกว่านี้มาก ๆ

รวมถึงสิ่งที่ภาพยนตร์ได้ใส่เข้ามาโดยที่ในเกมไม่มี คือเหล่าผู้คนที่ติดในมิติหมอก ที่ในเกมนี้จะมีเพียง ดาห์เลีย, แฮร์รี่, ไซบิล, ลิซา การ์แลนด์ (Lisa Garland) นางพยาบาลที่ดูแลร่าง อเลสซ่า (Alessa) ที่ถูกไฟไหม้ร่าง และ ไมเคิล คอฟมันน์ (Michael Kaufmann) ผู้อำนวยการของโรงพยาบาลที่ติดในเมืองนั้น ขณะที่นางพยาบาลผีในเรื่องนี้ก็ไม่ใช่สาวสวยหุ่นดีแบบในภาพยนตร์ แต่เป็นนางพยาบาลธรรมดาที่ถูกตัวอะไรบางอย่างเกาะที่หลังเท่านั้น ส่วนภารโรงที่เป็นสัตว์ประหลาดในภาพยนตร์ไม่มีในเกม แต่เป็นการตีความใหม่ที่ดูแล้วก็ดีงามใช้ได้

Silent Hill

Christophe Gans ใช้เวลา 5 ปีเพื่อขอสิทธิ์เกมจากบริษัท Konami  

Silent Hill

ถ้าใครที่ติดตามข่าวสารของภาพยนตร์ที่สร้างจากเกมอย่าง ‘Resident Evil Welcome to Raccoon City’ และได้อ่านบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับที่บอกเราว่า “เขาคือแฟนเกม ‘Resident Evil’ จึงรู้ว่าต้องทำภาพยนตร์ออกมาอย่างไร” ต่างกับ คริสตอฟ แกนส์ (Christophe Gans) ที่ไม่ได้เป็นแค่แฟนเกมนี้แต่เขาสามารถบรรยายความชื่นชอบ และต้องการสร้างภาพยนตร์จากเกม ‘Silent Hill’ ด้วยการไปขอสิทธิ์ในการสร้างภาพยนตร์เป็นเวลากว่า 5 ปี

ซึ่งครั้งสุดท้ายที่ยื่นข้อเสนอในการซื้อสิทธิ์ ตัวคริสตอฟได้อัดวิดีโอความยาวกว่า 37 นาที (พร้อมคำบรรยายภาษาญี่ปุ่น) ให้ที่ประชุมคณะกรรมการของ ‘Konami’ เพื่อเล่าถึงความรู้สึกที่มีต่อเกม ‘Silent Hill’ จนทาง ‘Konami’ ในตอนนั้นยอมให้เกมของตัวเองถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ โดยคริสตอฟบอกว่าเขาประทับใจเกม ‘Silent Hill’ ตรงที่โครงเรื่องที่ไม่ธรรมดามีเอกลักษณ์ที่น่ากลัวซึ่งเหมาะจะถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์ ซึ่งสิ่งที่เราได้เห็นก็คือความสมบูรณ์แบบในแง่ของภาพยนตร์สยองขวัญ  แต่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ในฐานะภาพยนตร์ที่สร้างมาจากเกม

Silent Hill

เหล่ามอนสเตอร์ที่อ้างอิงจากในเกมที่ได้แรงบันดาลใจจาก Hans Bellmer และ Francis Bacon

Silent Hill

เมื่อได้สิทธิ์ในการสร้างภาพยนตร์ Silent Hill ทางทีมงานก็เริ่มดัดแปลงบทของเกม และมีการสร้างตัวมอนสเตอร์ขึ้นมา โดยอ้างอิงตัวสัตว์ประหลาดจากเกมภาคที่ 2 มาเป็นต้นแบบ (ในภาพยนตร์ไม่มีสัตว์ประหลาดจากเกมภาคแรกเลยแม้แต่ตัวเดียว) และมีการสร้างตัวใหม่ ๆ ขึ้นมาโดยการออกแบบเหล่าสัตว์ประหลาดที่ถูกดัดแปลงมาจากเกมนั้น ทางนักออกแบบได้แรงบันดาลใจมาจากงานศิลปะแนว ‘Surrealism’ หรือภาพของมนุษย์ที่บิดเบี้ยวของ ฮันส์ เบลเมอร์ (Hans Bellmer) และ ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon) มาเป็นต้นทาง จนเราได้เห็นสัตว์ประหลาดที่ดูบิดเบี้ยวสมจริงมีตัวตน เพราะทางทีมงานใช้นักแสดงจริง ๆ สวมชุดแทนการใช้คอมพิวเตอร์ ‘CG’ ในการแต่งตัวละครเลยดูเหมือนมีตัวตนจริง ๆ

Silent Hill

ภาพยนตร์กลายเป็นต้นแบบให้เกมในเวลาต่อมา

Silent Hill

นอกจากความเอาใจใส่ในรายละเอียดของตัวสัตว์ประหลาดแล้ว ในส่วนของฉากที่เป็นเอกลักษณ์ของภาพยนตร์ ที่ทั้งแฟนเกมและแฟนภาพยนตร์ต่างยอมรับทั้งหมดที่เราเห็นนั้น ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นถนนเมืองไปจนถึงฉากภายในโรงพยาบาล โรงแรม โรงเรียนรวมถึงโลกสนิมที่เป็นมิติ ‘Silent Hill’ โดยอ้างอิงจากเกม ที่ในภายหลังการเปลี่ยนโลกปกติไปเป็นโลกสนิมที่เราเห็นในภาพยนตร์ ก็ถูกทีมงานสร้างเกมของ ‘Konami’ หยิบยืมไปใช้ในภาคที่ 5 ของเกม (โลกที่ค่อย ๆ เปลี่ยนจากโลกปกติเป็นโลกที่มีแต่สนิมและลวดหนาม)

นอกจากนี้ทางทีมพัฒนาเกมก็หยิบเรื่องราวของคนที่ติดในเมือง ‘Silent Hill’ ในภาพยนตร์มาใช้ในเกมภาค 5 ด้วย ที่ชื่อภาคว่า ‘Silent Hill Homecoming’ ที่บอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มคนที่อยู่ในเมือง ‘Silent Hill’ ที่ต้องสังเวยลูกหลานตัวเองเพื่อบูชาให้เมือง แต่มีการอ้างอิงตีความใหม่ที่มีมิติน่าสนใจกว่าภาพยนตร์ ซึ่งทีมที่สร้างเกม ‘Silent Hill’ ภาคนี้จะเป็นทีมใหม่ ขณะที่ทีมงานเก่าที่เคยสร้างภาคแรกจนถึงภาค 4 ได้ลาออกไปหมดแล้ว  ทางทีมพัฒนาใหม่จึงหยิบองค์ประกอบของภาพยนตร์มาใช้ในเกมภาคนี้

Silent Hill Homecoming

ผลตอบรับจากคนดูในปี 2006

Silent Hill

คราวนี้มาดูฝั่งผู้ชมในปี 2006 กันบ้างว่าคิดอย่างไรกับภาพยนตร์ ‘Silent Hill’ ที่ออกฉาย โดยเริ่มจากทาง ‘IMDB’ ที่ให้คะแนน 6.5 เต็ม 10 ที่เมื่อไล่อ่านที่คนในยุคนั้น (ปี 2006) ที่ส่วนมากจะเป็นแฟนเกมที่มาชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่ต่างพูดไปในทางเดียวกันว่าตัวภาพยนตร์นั้นทำออกมาได้ดีเกินคาด ทั้งฉากบรรยากาศที่ทำออกมาตรงกับในเกม รวมถึงตัวสัตว์ประหลาดที่ออกแบบตรงกับในเกมได้แบบไม่มีผิดเพี้ยน แถมสัตว์ประหลาดใหม่ที่เพิ่มเข้ามาก็น่ากลัวสมเป็น ‘Silent Hill’ ซึ่งถ้ามองในแง่ของภาพยนตร์สยองขวัญคือสอบผ่าน แต่ทางด้านเนื้อเรื่องนั้นคนเล่นเกมต่างพูดไปในทางเดียวกันว่า เนื้อเรื่องอ่อนเดาทางง่ายไม่มีอะไรใหม่ ซึ่งถ้าตัวภาพยนตร์ใช้เรื่องราวตามในเกม ที่มีการหักมุมเยอะและหลายครั้งจะทำให้คนที่ไม่ได้เล่นเกมตกใจและอึ้งกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นบทของดาห์เลียไปจนถึงบทของลิซ่า และในตอนท้ายของเรื่องที่คนเล่นเกมต่างตกหลุมโดนเกมหลอกมาแล้ว

มาทางฝั่ง ‘Rotten Tomatoes’ ที่ทางฝั่งนักวิจารณ์ให้มะเขือเน่าที่ 32% ส่วนฝั่งคนดูให้น่าดู 63% ซึ่งทางฝั่งนักวิจารณ์ต่างพูดไปในทางเดียวกันถึงความไม่สนุกของภาพยนตร์ เนื้อเรื่องเป็นเส้นตรงไม่สมเหตุผลและเดาทางง่าย เนื้อเรื่องไม่มีอะไรใหม่ในแง่ของภาพยนตร์สยองขวัญ ต่างกับฝั่งคนดูที่ค่อนข้างชื่นชอบและพอใจกับตัวภาพยนตร์ โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยเล่นเกมต่างชื่นชมในเนื้อเรื่องฉากบรรยากาศที่ทำออกมาได้น่ากลัวดูสนุก ส่วนแฟนเกมที่ให้คำวิจารณ์ก็ให้ความเห็นคล้าย ๆ กัน คือตัวเนื้อเรื่องไม่น่าสนใจแต่ฉากบรรยากาศตรงในเกมมาก ๆ ซึ่งมุมองคล้าย ๆ บ้านเรา

Silent Hill

Sean Bean ไม่ตายในเรื่องนี้  

Silent Hill

ปิดท้ายกับเรื่องน่าดีใจกับ ฌอน บีน (Sean Bean) นักแสดงที่รับบทเป็น คริสโตเฟอร์ ดา ซิลวา (Christopher Da Silva) พ่อของ ชารอน (Sharon) และสามีของ โรส (Rose) ในภาพยนตร์ ที่ถ้าใครติดตามข่าวสารในวงการภาพยนตร์มา จะได้ข่าวการเรียกร้องของทางฌอน บีมว่าอย่าให้เขารับบทเป็นตัวละครที่ถูกฆ่าเลย เพราะถ้าหลายคนจำได้เกือบทุกเรื่องที่บีนเล่นนั้นเขาจะถูกฆ่าไม่ก็ตายแทบทุกเรื่อง จนเขาต้องถามทีมงานเมื่อเสนอบทว่าตัวเขาจะตายไหม ซึ่งถ้าบทที่เขาเล่นต้องเสียชีวิต บีนมักจะบอกปัดไม่เล่นเรื่องนั้น แต่ในเรื่อง ‘Silent Hill’  ตัวที่เขาแสดงนั้นไม่เสียชีวิตและมีบทบาทไปจนจบเรื่องซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีมาก ๆ แต่สุดท้ายตัวละครนี้ก็มาตายในภาค 2 อยู่ดี (ซะงั้น) ขอแสดงความเสียใจด้วย

Silent Hill
สุดท้ายพี่ Sean Bean ก็ตายใน Silent Hill: Revealation อยู่ดี

ก็จบกันไปแล้วกับการย้อนความทรงจำกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ ‘Silent Hill’ ภาคแรกหวังว่าจะถูกใจกัน โดยเนื้อหาในบทความจะเป็นการนำข้อมูลต่าง ๆ ที่น่าสนใจมานำเสนอ พร้อมกับการอ้างอิงเรื่องราวในเกม เพื่อให้คนที่ไม่ได้เล่นเกมเข้าใจถึงความรู้สึกของคนที่เล่นเกมในยุคนั้น ว่ารู้สึกอย่างไรเมื่อได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ส่วนคนที่เคยเล่นเกมมาแล้วจะได้รำลึกอดีตกันว่า ครั้งหนึ่งเราเคยตกใจกลัวสิ่งที่มองไม่เห็นภายใต้หมอกและเสียงวิทยุที่ดังเพื่อเตือนเราว่ามีศัตรูอยู่ตรงหน้า

และเรื่องราวที่ชวนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับการหายตัวไปของลูกสาว รวมถึงความรู้สึกของเราในตอนนั้นว่ารู้สึกอย่างไรเมื่อได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งถ้าใครมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เอามาพูดคุยกันได้ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นกัน ส่วนคราวหน้าจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไรก็ติดตามกันได้ที่นี่เดียว รับรองว่าจะมีบทความแปลก ๆ ที่น่าสนใจทั้งวงการเกมการ์ตูนและภาพยนตร์มาให้อ่านแบบไม่เบื่อแน่นอน

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส

ติดตามข่าวสารวงการเกมและมหกรรมเกมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ Thailand Game Show

สนใจลงประกวดคอสเพลย์ในรายการ Cosplay Contest: Road to TGS สามารถสมัครได้ที่นี่!