ทีมงานของ beartai BUZZ ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัวภาพยนตร์เรื่อง ’The Gray Man’ โดยพี่น้องรุสโซ (Russo Brothers) โจ รุสโซ (Joe Russo) และ แอนโธนี รุสโซ (Anthony Russo) ผู้รับหน้าที่กำกับ เขียนบท และโปรดิวเซอร์ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ในหลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแรงบันดาลใจในการสร้าง การร่วมงานกับทีมนักแสดงชั้นนำของฮอลลีวูด เช่น ไรอัน กอสลิง (Ryan Gosling) คริส อีแวนส์ (Chris Evans) หรือ อนา เดอ อาร์มัส (Ana de Armas) รวมไปถึงเบื้องหลังการถ่ายทำสุดอลังการที่เปลี่ยนปรากจากเมืองแห่งเทพนิยาย ให้กลายเป็นสมรภูมิแห่งการไล่ล่า

จุดเริ่มต้นของการสร้าง ‘The Gray Man’ 

แอนโธนี: ผมกับโจเป็นแฟนผลงานแอ็กชันตัวยง แล้วเราก็เริ่มทำงานมากมายหลากหลายในแวดวงภาพยนตร์ ตอนช่วงต้นของเส้นทางอาชีพของเราผู้สร้างคนหนึ่งที่รู้ใจเราดีแนะนำให้เราอ่านหนังสือเล่มนี้ พอเราได้อ่านแล้วก็รู้สึกประทับใจด้วยเหตุผล 2 ประการ ประการแรกคือระดับความละเอียดในงานเขียนของ มาร์ก เกรนนีย์ (Mark Greaney) เขาค้นคว้าข้อมูลเยอะมากจนคุณสัมผัสได้ถึงรายละเอียดปลีกย่อย รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ของเขาในการคิดสถานการณ์และปมปัญหาที่น่าสนใจสำหรับตัวละคร เห็นแล้วไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันเกิดจากการค้นคว้าข้อมูลที่มากมายมหาศาลในชีวิตจริง ซึ่งเรารู้สึกชื่นชอบมาก

ประการที่ 2 คือผมกับโจมักจะมองหาสิ่งที่น่าสนใจและฉีกแนวออกไป สายลับทุกคนล้วนเป็นคนลึกลับ สายลับทุกคนต้องใช้ชีวิตแบบปิดบังตัวตน และต้องไปไหนมาไหนได้โดยไม่มีใครเห็น สังเกต หรือจดจำได้ และสิ่งที่ทำให้หนังสือชุด ‘The Gray Man’ น่าสนใจก็คือ ชายล่องหนเป็นสายลับของสายลับอีกที เขามาจากโครงการที่มีชื่อว่า ‘เซียร์ร่า’ ซึ่งอนุญาตให้นักโทษพักโทษเพื่อมาทำงานให้กับซีไอเอ นี่คือไอเดียที่เรานำมาถกกัน แต่หนังสือเล่มนี้ช่วยจุดประกายไอเดียว่านี่คือผลงานแนวสายลับขั้นเทพเลย แล้วเราก็รู้สึกว่า “โอเค เรื่องราวแบบนี้ มันดูเป็นงานยากอยู่นะ แต่ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เราจะได้ลองสำรวจเนื้อหาแนวที่เคยทำกันมาในอดีตนี้ แล้วนำมาพลิกแพลงดู”

กอสลิง

นั่นทำให้เราเลือก ไรอัน กอสลิง มาคัดตัว เพราะว่าเราต้องการสร้างภาพยนตร์จากตัวนักแสดงที่มีแววจะเป็นชายล่องหนได้ แล้วไรอันก็เป็นดาราเจ้าบทบาทที่เล่นน้อยแต่มาก เขาสามารถสะท้อนชีวิตภายในที่ซับซ้อนออกมาได้โดยไม่ต้องเล่นใหญ่ นั่นเป็นพรสวรรค์ที่วิเศษและหายากจริง ๆ

เราใช้เวลาพัฒนาเรื่องนี้ถึง 9 ปีด้วยกัน เพราะง่วนอยู่กับการทำผลงานของมาร์เวล ผมคิดว่าทุกโปรเจกต์จะออกมาดีถ้าเรามีเวลาเหลือเฟือในการคิด ทุ่มเท และค่อย ๆ พัฒนามันขึ้นมาอย่างเรื่องนี้

โจ: เราเติบโตมาและหลงรักผลงานระทึกขวัญในยุค 70s พ่อของเราเป็นแฟนตัวยงของผลงานแนวนี้ เราก็เลยได้ดูเป็นประจำและเกิดความรู้สึกผูกพัน เรามักจะมองหาเรื่องที่สร้างความตื่นเต้นระทึกใจไม่ยั้งแบบที่เรารู้สึกเมื่อได้ดูเรื่อง ‘The French Connection’ เป็นครั้งแรก ความระห่ำเร้าใจและช่วงเวลาที่บีบคั้นที่ทำให้คุณลุ้นจนนั่งไม่ติดขณะติดตามดูเรื่องราวนั้น ‘The Gray Man’ มีคุณสมบัติเหล่านี้เยอะจนผู้ชมจะต้องลุ้นตามเลยทีเดียว ภาพยนตร์เรื่องนี้ดำเนินเรื่องได้อย่างน่าทึ่งและมีเนื้อหาแน่นหลายซับหลายซ้อน เหตุการณ์หลาย ๆ อย่างเกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว

แอนโธนี และโจ รุสโซ

พวกคุณตั้งใจสอดแทรกเรื่องต่าง ๆ เข้ามาด้วย ไม่ใช่แค่เป็นการสร้างหนังแอ็กชัน บู๊ล้างผลาญอย่างเดียว

โจ: ภาพยนตร์จะทรงพลังที่สุดถ้ามีความเชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน หรือไม่ก็แตะประเด็นสัจธรรมสากลที่โดนใจคุณเต็ม ๆ ทำให้ดูแล้วรู้สึกเป็นเรื่องใกล้ตัวคุณ ผมคิดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เข้ายุคเข้าสมัยมาก โดยเฉพาะตัวชายล่องหนเองที่มาจากยุคทางการเมืองสุดซับซ้อนและลุกขึ้นมาต่อต้านระบบ เขาเชื่อว่าระบบมีแต่ความทุจริตโสมม ขณะที่เขาก็มีหลักปฏิบัติที่ตัวเองยึดถืออยู่

ผมกับแอนโธนีทุ่มเทอย่างหนักในการปรับแก้บทและร่วมมือกับทีมนักแสดงเพื่อนำเสนอไอเดียที่ทันสมัยและสดใหม่ แล้วเราก็ชื่นชอบผลงานระทึกขวัญเหล่านี้ตรงที่มันมีความซับซ้อนของธีมเรื่อง และ ‘The Gray Man’ ก็เหมาะสมลงตัวที่สุด เพราะมีทั้งตัวละครหลักที่ซับซ้อน ตอนจบที่ซับซ้อน และตั้งคำถามให้ฉุกคิดตลอดเรื่องว่าคุณจะไว้ใจใครได้บ้าง และคุณจะไว้ใจองค์กรได้หรือไม่? นอกจากนั้นยังมีธีมเรื่องโลกสมัยใหม่ที่มาพร้อมกับความสลับซับซ้อน อันตราย และความยากที่จะเข้าใจว่าใครต้องการอะไรบ้าง แล้วเราก็สะท้อนความรู้สึกกลัวที่เรามีต่อโลกใบนี้ออกมาในเรื่องนี้ ผมรู้สึกว่าตัวละครตัวใดก็ตามในเรื่องเปรียบเสมือนผู้บอกเล่าเรื่องราวที่จะช่วยพาเราไปสำรวจธีมที่แตกต่างกันเหล่านี้ได้

อีแวนส์คราวนี้มาในบทตัวร้าย

ทำไมต้องเป็นทีมนักแสดงชุดนี้

แอนโธนี: การคัดตัวนักแสดงเป็นองค์ประกอบสำคัญไม่ว่าจะเป็นโปรเจกต์ไหนก็ตาม เราต้องการให้เรื่องนี้เป็นผลงานเชิงจิตวิทยา ด้วยตัวละครที่ดูไกลตัวแบบนี้ คุณต้องหานักแสดงที่ถ่ายทอดบทบาทออกมาได้อย่างสมจริง เราโชคดีเหลือเกินที่ได้ร่วมงานกับทีมนักแสดงในเรื่องนี้ นี่คือปัจจัยสำคัญเลยเพราะว่าเรื่องราวนี้สะท้อนโลกที่เต็มไปด้วยหลากหลายตัวละครที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เราต้องการนักแสดงระดับนี้เพื่อเนรมิตโลกที่เราจินตนาการขึ้นมาให้เป็นจริง

โจ: เราได้ทีมนักแสดงที่ยอดเยี่ยมมาก เราต้องการสร้างโลกที่ผู้ชมจะดำดิ่งเข้าไปสัมผัส ตัวละครแต่ละตัวมีรายละเอียด ความรู้สึกนึกคิดและปูมหลังที่แตกต่างกันไป ผมกับพี่ชายชอบวายร้ายที่มีปม เราชอบวายร้ายที่สวมบทเป็นฮีโรในเรื่องราวของตัวเอง เราชอบฮีโรที่ดูซับซ้อนและไม่ได้ดีหรือร้ายไปเสียทั้งหมด และทุกคนก็มีผลประโยชน์ที่ขัดกัน และผลประโยชน์เหล่านั้นก็คือสิ่งที่สร้างตัวตนของตัวละคร

มันคือศึกวัดใจจริง ๆ เรามีทีมนักแสดงมากฝีมือที่มาเติมเต็มโลกใบนี้ให้มีมิติ ชีวิตชีวา ชวนขบคิดและน่าตื่นตาตื่นใจ และไม่ว่าจะเป็นตัวละครตัวไหนก็พาคุณเข้าไปสัมผัสเรื่องราวหรือท่องไปสำรวจแง่มุมต่าง ๆ ของโลกใบนี้ได้

ที่มาของการถ่ายทำฉากแอ็กชันสุดยิ่งใหญ่ในปราก

แอนโธนี:  มันเป็นเส้นทางที่หนักหนาและยาวไกลมาก จุดเริ่มต้นมาจากไอเดียที่ยอดเยี่ยมในหนังสือตอนที่ชายล่องหนถูกตำรวจปิดล้อมและล็อกตัวอยู่ตรงจัตุรัสกลางเมืองจนหนีไปไหนไม่ได้ ขณะที่นักฆ่าที่อันตรายที่สุดในโลกคนอื่น ๆ กำลังไล่ฆ่าเขาอยู่ นั่นเป็นสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงมาก ๆ นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ถูกใจเรา เราชอบความรู้สึกโดดเดี่ยวที่สัมผัสได้เพราะตัวตนส่วนหนึ่งของชายล่องหนกำหนดให้เขาต้องอยู่อย่างเดียวดายและสันโดษ แน่นอนว่าเส้นทางชีวิตช่วงหนึ่งของเขาในภาพยนตร์เรื่องนี้จะต้องเข้าไปพัวพันกับคนอื่น ๆ และยึดมั่นในความสัมพันธ์นั้น ด้วยเหตุนี้มันจึงน่าจะเป็นฉากที่ยอดเยี่ยม เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่าในผลงานแอ็กชัน เรามักจะพยายามสำรวจตัวละครในบางแง่บางมุมภายในกรอบความคิดที่วางไว้ในฉากนั้น ๆ แล้วดูว่าจะนำเสนอออกมาได้อย่างไร จากนั้นผมกับโจก็ใช้เวลานานในการวาดฝันมันขึ้นมา และคิดว่าเราจะนำสิ่งที่อยู่ในหนังสือออกมารังสรรค์ให้อลังการได้อย่างไร

ทันทีที่ได้บทที่ถูกใจแล้ว เราก็เริ่มก้าวไปสู่ขั้นตอนการถ่ายทำ และประชุมร่วมกับทีมงานสร้างสรรค์กลุ่มใหญ่ขึ้นเพราะว่าการจะสร้างฉากแอ็กชันได้ต้องอาศัยคนจำนวนมากที่เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นว่าจะเป็นไปในรูปแบบไหนและจะทำออกมาได้อย่างไร

เราเริ่มต้นจากศิลปินนักวาดสตอรี่บอร์ด จากนั้นก็ประสานงานกับทีมเทคนิคภาพและเทคนิคพิเศษของเรา และร่วมงานกับทีมสตันต์อย่างใกล้ชิด โดยพูดคุยถึงจังหวะจะโคนของฉากผาดโผน เราจะจัดฉากนี้ขึ้นมาในหลายเวอร์ชัน ไม่ว่าจะเป็นการวาดรูปหรือลองถ่ายทำฉากนี้ออกมาเป็นเวอร์ชันย่อย ๆ

จากนั้นเราก็มาใช้เวลาเลือกสถานที่ โดยคิดว่าเราจะดำเนินเรื่องราวของฉากนี้ในสถานที่นั้นอย่างไร แล้วมีโอกาสหรือข้อจำกัดใหม่ ๆ อะไรบ้าง มันเป็นกระบวนการที่ยาวนานมากโดยเริ่มตั้งแต่ก่อนเขียนบท จนเข้าสู่ช่วงเขียนบท กระบวนการก่อนถ่ายทำทั้งหมด เรื่อยไปจนถึงกระบวนการระหว่างถ่ายทำและหลังการถ่ายทำ

สำหรับฉากตอนไรอันอยู่บนรถราง เรารังสรรค์ฉากนี้ออกมาโดยให้มีรถรางในเมืองของจริงที่วิ่งบนรางในปราก แล้วก็มีรถบัสติดล้อที่ดูเหมือนรถรางเป๊ะ ๆ เพียงแต่มีล้อและไม่ได้วิ่งบนราง เพราะว่าบางครั้งเราต้องควบคุมรถให้เร็วขึ้นหรือแล่นไปบนถนนบางสายที่ไม่มีราง จากนั้นเราก็หาพื้นที่โล่งนอกอาคารตรงบริเวณอื่นในปราก แล้วจำลองรถรางขึ้นมาให้จอดนิ่ง ๆ อยู่กับที่ โดยไม่โคลงเคลงหรือโยกไปมา เพื่อถ่ายทำบางฉากในนั้น ดังนั้นเราจะมีรถรางหลากหลายเวอร์ชันมาก

เราต้องมองว่าฉากแอ็กชันแบบนี้รวมถึงฉากอื่น ๆ ในภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเหมือนภาพยนตร์เรื่องหนึ่งเลย เพราะว่ามันทั้งยิ่งใหญ่และเจาะจงมาก

โจ: ผมไม่แน่ใจว่าเราขอปิดลานจัตุรัสในปรากได้อย่างไร แต่ว่าเราถ่ายทำฉากยิง ปาระเบิดและรถชนกันบริเวณนั้นเป็นเวลาถึง 10 วัน ซึ่งน่าจะทำให้ชาวเมืองปรากไม่รักก็เกลียดเราไปเลยล่ะ

แอนโธนี: ผู้กำกับศิลป์ของเรา พลิกโฉมพื้นที่บริเวณนั้นไปอย่างสิ้นเชิง ทุกอย่างที่คุณเห็นอยู่ตรงกลางจัตุรัสเป็นผลงานที่ฝ่ายผลิตสร้างขึ้นมา จากเดิมที่เป็นเพียงแค่ลานสนามหญ้ามันคือความวินาศสันตะโรโดยแท้

โจ: เรามีทั้งทีมงานและอุปกรณ์มากมายก่ายกอง นี่เป็นฉากที่มีความยุ่งยากในการถ่ายทำมาก เพราะเราตั้งใจให้ออกมาดูลุ้นระทึกและสมจริงมาก ๆ ฉากนี้ซับซ้อนที่สุดในเรื่องเลยก็ว่าได้ เราต้องใช้นักแสดงประกอบนับร้อย ยานพาหนะและรถรางหลายคัน กับของอีกสารพัดอย่างท่ามกลางวิวของปราสาทปรากที่แสนสมบูรณ์แบบ

นอกจากฉากแอ็กชันโลดโผน พวกคุณยังใส่ความตลกขบขันเข้าไปด้วย

โจ: เราแทรกอารมณ์ขันในบทเยอะมาก เรื่องราวของเรามีทั้งความเข้มข้น รุนแรง และสิ้นหวัง แต่แฝงความตระหนักรู้ในตนเองและความสนุกสนานเอาไว้ด้วย ชายล่องหนรู้ดีว่าตัวเองคือใคร มีที่ทางตรงไหนในโลกใบนี้ และมีอดีตเป็นอย่างไร เขาเหมือนตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับซิซีฟัส เมื่อยอมรับบทบาทหน้าที่ในซีไอเอ

แอนโธนี: เรามักจะต้องการความสมดุลในการสร้างภาพยนตร์ เมื่อพูดถึงโทนเรื่อง เรามักจะมองตัวเองเหมือนนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง ย้อนกลับไปตอนที่เน้นทำผลงานคอมเมดี้ เราขึ้นชื่อในเรื่องการใส่ใจตัวละครและอารมณ์ ดังนั้นเราจึงหาจุดสมดุลระหว่างแอ็กชันและดราม่าในทำนองเดียวกันด้วยการหาจังหวะสอดแทรกความตลกขบขัน เวลาไปโรงภาพยนตร์ เราต้องการสัมผัสครบทุกอารมณ์ของมนุษย์ และก็พยายามจะสร้างความหลากหลายนั้นผ่านการใช้เครื่องมือที่แตกต่างกันไป

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส