บทภาพยนตร์เวอร์ชันดั้งเดิมของ Back to the Future (1985) ไทม์แมชชีนของ ดอก บราวน์ นั้นไม่ใช่รถยนต์เดอลอรีน อันเป็นเอกลักษณ์ที่ทุกคนจำกันได้ดี ในหนังที่เราได้ดูกันนั้น ดอก บราวน์ ได้ดัดแปลงรถยนต์เดอลอรีนให้กลายเป็นไทม์แมชชีน

แล้วด้วยภาพลักษณ์ที่โดดเด่นนี่แหละ ทำให้เดอลอรีนกลายเป็นภาพจำของหนังไซไฟคลาสสิกเรื่องนี้ โดยที่ผู้กำกับ โรเบิร์ต เซเม็กคิส (Robert Zemeckis) และผู้อำนวยการสร้าง สตีเวน สปิลเบิร์ก (Steven Spielberg) เองก็ไม่คาดคิดมาก่อนว่า การที่เขาเลือกเดอลอรีนมาเป็นพาหนะเดินทางข้ามเวลานั้น จะมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมป๊อปยาวนานมาหลายทศวรรษได้เพียงนี้ ทั้งคู่เลือกเดอลอรีนก็เพียงเพราะมันมีประตูทรงปีกนกที่ดูเหมือนยานอวกาศ เข้ากับธีมเรื่องที่เป็นหนังไซไฟเดินทางข้ามเวลาได้ แล้วเข้ากันได้ดีกับฉากที่ มาร์ตี้ แม็กฟลาย เปิดประตูเดอลอรีน ออกมาในปี 1955 แล้วทำให้ผู้พบเห็นเข้าใจผิดว่าเขาเป็นมนุษย์ต่างดาวออกมาจากยานอวกาศ ด้วยเหตุที่เดอลอรีนเหมาะเจาะอย่างมากกับภาพและเนื้อหาของ Back to the Future เราจึงแทบจินตนาการไม่ออกเลยเลยว่าถ้าไม่ใช่เดอลอรีน แล้วทีมสร้างจะเลือกอะไรมาเป็นไทม์แมชชีนได้ดีไปกว่านี้แล้ว

ฉากที่ มาร์ตี้ แม็กฟลาย ออกมาจาก Delorean ในปี 1955

แต่กระนั้น เดอลอรีนก็ไม่ใช่ตัวเลือกแรกที่อยู่ในบทภาพยนตร์ดั้งเดิมของ Back to the Future แต่ในบทแรกนั้น ไทม์แมชชีนคืออุปกรณ์ชิ้นเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า “power converter” ซึ่งดอกบราวน์ติดตั้งไว้ในตู้เย็น แล้วเมื่อจะใช้งานเดินทางข้ามเวลา ดอกบราวน์จำต้องขนตู้เย็นขึ้นใส่รถรถกระบะแล้วขับไปสถานียิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ ที่นี่จะมีประจุพลังงานสูงที่สามารถขับเคลื่อน power converter ให้ทำงานได้ แล้วมาร์ตี้ผู้ซึ่งต้องเดินทางข้ามเวลาก็จะต้องเข้าไปอยู่ในตู้เย็น แล้วเปิดออกมาก็เป็นอีกช่วงเวลาหนึ่ง เพียงแค่นี้เราก็พอคาดเดาได้แล้วว่า ถ้าหนังยังคงยึดตามบทดั้งเดิม ก็คงไม่กลายเป็นหนังไซไฟขึ้นหิ้งอย่างเช่นทุกวันนี้

ภาพที่จะจดจำกันไปอีกยาวนาน

แต่เหตุผลจริง ๆ แล้วที่สปิลเบิร์กตัดสินใจเปลี่ยนจากตู้เย็นเป็นเดอลอรีนนั้นก็ด้วยความปรารถนาดีเป็นหลัก เพราะในยุค 80s นั้น ตู้เย็นตามครัวเรือนจะมีสลักที่ประตู เหมือนประตูอาคารสำนักงานทั่วไป ที่คอยดึงประตูให้ปิดเองโดยอัตโนมัติ เพื่อช่วยป้องกันเวลาที่ผู้ใช้ปิดตู้เย็นไม่สนิท แล้วความเย็นรั่วไหล ความเย็นภายในตู้ลดลงแล้วของในตู้จะเสีย และที่สำคัญในยุคนั้นมีข่าวเศร้าบ่อยครั้ง เหตุจากเด็กปีนเข้าไปในตู้เย็น ปิดประตูตู้ แล้วไม่สามารถเปิดออกเองจากด้านในได้ ต้องเสียชีวิตอยู่ในตู้เย็น ตรงจุดนี้ละ ที่สปิลเบิร์กรู้สึกเป็นกังวลว่า ถ้าหนังออกฉายแล้ว เด็ก ๆ จะเลียนแบบมาร์ตี้ ด้วยการเข้าไปอยู่ในตู้เย็นแล้วจะหนังจะกลายเป็นแรงบันดาลใจผิด ๆ ก่อให้เกิดความสูญเสียในครอบครัว

อุบัติเหตุที่สปิลเบิร์กไม่อยากให้เกิดขึ้น

ทางทีมผู้สร้างเลยตกลงใจเปลี่ยนไทม์แมชชีนจากตู้เย็นเป็นรถเดอลอรีน จากความตั้งใจดีที่กลัวเด็กจะเลียนแบบหนัง แต่ผลลัพธ์กลับกลายเป็นว่าทำให้หนังดูมีความน่าสนใจและมีเอกลักษณ์ชวนจดจำยิ่งขึ้นกว่าเดิม ถ้าว่ากันตามจริงแล้ว รถยนต์เดอลอรีนนั้นไม่ประสบความสำเร็จทางด้านการตลอด และหยุดผลิตไปตั้งแต่ปี 1982 แล้ว ซึ่งก็ควรจะเลือนหายไปตามกาลเวลาแล้ว คนยุคใหม่ที่เกินหลังปี 2000 ก็ไม่ควรจะได้รู้จักรถเดอลอรีนเสียด้วยซ้ำ เช่นเดียวกับที่พวกเขาไม่คุ้นเคย ฟลอปปี้ดิสก์ หรือ เทปคาสเซ็ตต์ แต่กลับกลายเป็นว่า ผ่านมากว่า 30 ปีแล้ว ภาพยนตร์ Back to the Future ก็ยังทำให้รถยนต์เดอลอรีนเป็นภาพจำเป็นที่รู้จักจนทุกวันนี้ และต่อไปอีกยาวนาน

ที่มา