John Carter หนังไซไฟฟอร์มใหญ่ที่เข้าฉายเมื่อปี 2012 มีชื่อไทยว่า “นักรบสงครามข้ามจักรวาล” เป็นหนังที่ดิสนีย์มั่นอกมั่นใจอย่างมากว่าจะประสบความสำเร็จ ถึงได้กล้าทุ่มทุนสร้างให้ 250 ล้านเหรียญ โยนหน้าที่กำกับให้กับ แอนดรูว์ สแทนทัน (Andrew Stanton) ผู้กำกับลูกหม้อของดิสนีย์เอง มีผลงานกำกับที่ประสบความสำเร็จอย่างสวยงามมาตลอด ทั้ง Finding Nemo และ Wall-E มอบหมายบทนำให้กับ เทย์เลอร์ คิตช์ (Taylor Kitsch) พระเอกหน้าใหม่มาแรง ที่รับบทนำในหนังฟอร์มใหญ่ปีเดียวกันถึง 2 เรื่อง คือ John Carter และ Battleship

เอ็ดการ์ ไรซ์ เบอร์โรห์ส

และที่สำคัญ นี่คือเรื่องราวที่ดัดแปลงมาจากนิยายสุดคลาสสิก “A Princess of Mars” ของ เอ็ดการ์ ไรซ์ เบอร์โรห์ส ( Edgar Rice Burroughs) ที่ตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 1912 และผ่านความพยายามในการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์มาหลายต่อหลายครั้ง เรียกได้ว่า John Carter เป็นหนังที่ใช้เวลาในการเตรียมการสร้างยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะนับตั้งแต่ที่ริเริ่มโปรเจกต์จนวันที่หนังออกฉายกินเวลาไปกว่า 80 ปี

มีบุคคลระดับบิ๊ก ๆ ในฮอลลีวูดเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ทั้ง ทอม ครูซ, จูเลีย โรเบิร์ต, จอน ฟาฟวโร, จอห์น แม็กเทียร์แนน แต่สุดท้ายแล้วทำไมถึงมาลงเอยที่พระเอกโนเนม แล้วผลลัพธ์ก็ไม่เป็นไปตามคาด หนังทำรายได้ทั่วโลกไปเพียงแค่ 284 ล้านเหรียญ ถ้าพิจารณาจากทุนสร้างที่ 250 ล้าน บวกค่าการตลาดอีก นั่นเท่ากับดิสนีย์ขาดทุนยับเยิน ผ่านมาจนถึงวันนี้ก็นับสิบปีแล้ว แต่ John Carter ก็ยังเป็นที่กล่าวขวัญถึงในฐานะ หนังฟอร์มยักษ์ที่ล้มเหลวมากที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ฮอลลีวูด และถูกหยิบมาเป็นกรณีศึกษาอยู่เนือง ๆ บทความนี้จะพาเราย้อนอดีตไปถึงจุดกำเนิดของ John Carter ว่าด้วยเหตุใด หนังที่มีองค์ประกอบครบถ้วนที่น่าจะทำเงินถล่มทลายถึงออกมาพลิกล็อกได้ขนาดนี้

จุดกำเนิด

หนังสือชุด Barsoom

ภาพยนตร์ John Carter นั้น ดัดแปลงมาจากนิยาย ‘Under the Moons of Mars’ ตีพิมพ์ในนิตยสาร Pulp ลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ไปจบในเดือนกรกฎาคม 1912 พอนิยายจบสมบูรณ์ก็ได้รับการรวบรวมเป็นเล่มปกแข็งใน 5 ปีต่อมา พอเป็นนิยายเล่มก็ใช้ชื่อว่า ‘A Princess of Mars’ และได้รับความนิยมอย่างดี จึงมีเล่มต่อออกตามมาอีก 10 เล่ม กลายเป็นนิยายชุดที่รู้จักกันในชื่อ ‘Barsoom’ ซีรีส์ (บาร์ซูม เป็นชื่อที่ชาวดาวอังคาร เรียกชื่อดาวของตัวเอง)

บ็อบ แคลมเพ็ตต์

บ็อบ แคลมเพ็ตต์

คนแรกที่ให้ความสนใจต่อนิยาย A Princess of Mars ก็คือ บ็อบ แคลมเพ็ตต์ (Bob Clampett) เขาเป็นนักเขียนการ์ตูนและผู้กำกับ ‘Looney Tunes’ ที่ทั่วโลกรู้จักกันดี ในปี 1931 แคลมเพ็ตต์เข้าพบเบอร์โรห์สเพื่อนำเสนอแนวคิดที่จะนำนิยาย A Princess of Mars มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์แอนิเมชัน ซึ่งเบอร์โรห์สก็เห็นชอบและยินดีให้แคลมเพ็ตต์ดำเนินการ พอได้รับอนุญาต แคลมเพ็ตต์และทีมงานก็ลงมือทำงานกันอย่างจริงจัง ด้วยเทคนิคการสร้างแอนิเมชันในยุคนั้น แคลมเพ็ตต์ต้องอาศัยภาพฟุตเทจของเหล่านักกีฬามาเป็นต้นแบบและลากเส้นตามร่างของนักกีฬา มาประยุกต์ใส่ตัวละคร จอห์น คาร์เตอร์ เพื่อให้ดูมีความเคลื่อนไหวที่ทรงพลัง

พอภาพยนตร์ทดสอบสำเร็จเสร็จสิ้นในปี 1936 แคลมเพ็ตต์ก็ฉายรอบทดลอง แต่ผลตอบรับไม่ดีนัก ทำให้ผู้บริหารสั่งยกเลิกโปรเจกต์นี้ แต่ถ้าผลตอบรับออกมาดี A Princess of Mars จะกลายเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องแรกของโลก เท่ากับเป็นการเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์แอนิเมชันไปเลย เพราะตำแหน่งภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องแรกของโลกคือผลงานของดิสนีย์ ‘Snow White and the Seven Dwarfs’ ที่ออกฉายในปี 1937

เรย์ แฮร์รีเฮาเซน

คนต่อไปที่ให้ความสนใจต่อ A Princess of Mars ก็คือ เรย์ แฮร์รีเฮาเซน (Ray Harryhausen) บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ เพราะเขาคือผู้คิดค้นเทคนิคสต็อปโมชัน และเป็นผู้สร้างหนัง ‘Jason and the Argonauts’ ในช่วงปลายยุค 50’s แฮร์รีเฮาเซนให้ความสนใจที่จะดัดแปลง A Princess of Mars เป็นภาพยนตร์เช่นกันแต่แฮร์รีเฮาเซนก็ประสบปัญหามากมาย ทั้งเรื่องบทภาพยนตร์ที่แก้แล้วแก้อีกก็ยังไม่เป็นที่พอใจ จนกระทั่งเบอร์โรห์สเสียชีวิต

ดิสนีย์

ทอม ครูซ เกือบได้เป็น John Carter

ผ่านมาจนถึงยุค 80’s 2 ผู้อำนวยการสร้างชื่อดัง มาริโอ คาสซาร์ (Mario Kassar) และ แอนดรูว์ จี. วาจนา (Andrew G. Vajna) ผู้มีผลงานภาพยนตร์เรื่องดังอย่าง Total Recall และ Rambo ก็ทำหน้าที่เป็นตัวแทนดิสนีย์ ไปซื้อลิขสิทธิ์ในการดัดแปลง A Princess of Mars เป็นภาพยนตร์ เพราะในวันนั้น ดิสนีย์มองเห็นศักยภาพของนิยายว่าน่าจะดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่พอจะเป็นคู่แข่ง Star Wars ได้เลย แล้วมอบหมายให้ เท็ด เอลเลียต (Ted Elliott) และ เทอร์รี รอสซิโอ (Terry Rossio) รับหน้าที่ดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์ ส่วนตำแหน่งผู้กำกับนั้น ตกเป็นของ จอห์น แม็กเทียร์แนน (John McTiernan) ซึ่งกำลังมีชื่อเสียงมาจาก Predator และ Die Hard ส่วนนักแสดงนำนั้นก็ทาบทาม ทอม ครูซ (Tom Cruise) และ จูเลีย โรเบิร์ต (Julia Roberts) ไว้เรียบร้อยแล้ว

จอห์น แม็กเทียร์แนน

ฟังดูทุกอย่างก็สวยงามและน่าจะราบรื่น แต่ในที่สุด ผู้ที่ตัดสินใจหยุดโปรเจกต์นี้ไว้ตั้งแต่ขั้นตอนเตรียมการสร้างก็คือ ผู้กำกับแม็กเทียร์แนน ที่พินิจพิจารณาแล้วก็ยอมรับว่า เทคโนโลยีทางด้านวิชวลเอฟเฟกต์ของฮอลลีวูดในวันนั้น ยังไม่สามารถเนรมิตภาพได้ตามจินตนาการที่เบอร์โรห์สได้บรรยายไว้ แม้โปรเจกต์นี้จะถูกพับไป แต่ดิสนีย์ก็ยังคงเป็นผู้ถือครองสิทธิ์ในการสร้างอยู่ดี และ เจฟฟรีย์ คาตเซนเบิร์ก (Jeffrey Katzenberg) ประธานดิสนีย์ในวันนั้น ก็ยังพยายามผลักดันโปรเจกต์นี้ให้เป็นจริงตลอดมา จนสุดท้ายสิทธิ์ก็กลับไปอยู่ในบริษัทผู้ดูแลสินทรัพย์ของเบอร์โรห์ส

พาราเมาต์

เจมส์ แจ็กส์

เจมส์ แจ็กส์ (James Jacks) ผู้อำนวยการสร้างที่มีผลงานอย่าง The Mummy, Hard Target ได้อ่านอัตชีวประวัติของ แฮร์รี โนวลส์ (Harry Knowles) นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อดัง ในหนังสือนั้น โนวลส์เล่าว่าเขาได้อ่านนิยาย A Princess of Mars มาตั้งแต่เด็ก แล้วเขียนชื่นชมนิยายเรื่องนี้ไว้อย่างเลิศเลอ ทำให้แจ็กส์อ่านแล้วรู้สึกคล้อยตาม เขาไปเจรจาให้พาราเมาต์ พิกเจอร์ส ซื้อลิขสิทธิ์นิยายเรื่องนี้มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ แต่ก็ต้องประมูลแข่งกับโคลัมเบีย พิกเจอร์ซึ่งให้ความสนใจเช่นกัน แต่สุดท้ายพาราเมาต์ก็เป็นผู้ชนะ พอได้สิทธิ์ในการสร้างมาในปี 2004 แจ็กส์ก็ติดต่อโนวลส์ทันที เพื่อให้มาเป็นที่ปรึกษาในโปรเจกต์ แล้วมอบหมายให้ มาร์ก โพรโทเซวิช (Mark Protosevich) ผู้เขียนท The Cell, I am Legend เมื่อ แฮร์รี โนวลส์ ตกลงรับหน้าที่ที่ปรึกษาโปรเจกต์ เขาก็นำบทภาพยนตร์ไปให้ โรเบิร์ต รอดริเกซ (Robert Rodriguez) ที่เป็นเพื่อนของเขาลองอ่าน ซึ่งรอดริเกซอ่านแล้วก็ตอบรับกำกับเรื่องนี้ แต่มีเงื่อนไขว่า โนวลส์จะต้องเป็นผู้อำนวยการสร้างด้วย

งานภาพประกอบของ แฟรงก์ ฟราเซตทา

โปรเจกต์ดูมีความคืบหน้าไปอย่างราบรื่น จนมีกำหนดเปิดกล้องในปี 2005 ซึ่งรอดริเกซวางแผนว่าเรื่องนี้เขาจะใช้ฉากหลังเป็นดิจิทัลทั้งหมด เพราะเขาเคยมีประสบการณ์การทำงานแบบนี้มาแล้วตอนที่สร้าง Sin City รอดริเกซยังจ้าง แฟรงก์ ฟราเซตทา (Frank Frazetta) ผู้เคยเขียนภาพประกอบในนิยายของเบอร์โรห์สมาแล้ว ให้มารับหน้าที่คุมงานออกแบบของโปรเจกต์นี้

โรเบิร์ต รอดริเกซ

แต่แล้วปัญหาก็เกิดจนได้ ย้อนไปตอนที่รอดริเกซกำกับ Sin City หนังที่ดัดแปลงมาจากหนังสือการ์ตูนของ แฟรงก์ มิลเลอร์ (Frank Miller) ซึ่งรอดริเกซต้องการให้เครดิตมิลเลอร์ในฐานะผู้กำกับร่วม แต่ทางสมาคมผู้กำกับแห่งอเมริกา (Directors Guild of America) ไม่อนุมัติ รอดริเกซก็เลยประชดด้วยการลาออกจากสมาคมในปี 2004 ก็เลยมาส่งผลเอาตอนนี้ เมื่อสมาคมชี้แจงมายังพาราเมาต์ว่า ทางสตูดิโอไม่สามารถจ้างผู้กำกับที่ไม่สังกัดสมาคมภาพยนตร์แห่งอเมริกาได้ โรเบิร์ต รอดริเกซ ก็เลยหลุดจากตำแหน่งผู้กำกับ พาราเมาต์ไม่ให้โปรเจกต์หยุดชะงัก จ้าง เคอร์รี คอนแรน (Kerry Conran) ผู้กำกับ Sky Captain and the World of Tomorrow ให้มารับหน้าที่ผู้กำกับแทนทันที แล้วมอบหมายให้ เอห์เรน ครูเกอร์ (Ehren Kruger) ผู้เขียนบท Transformers 2-3-4 มารับหน้าที่เขียนบทภาพยนตร์ ทีมงานออกสำรวจพื้นที่ในออสเตรเลีย เพื่อจะใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำ

ถ้า จอน แฟฟวโร ได้กำกับ John Cater เราคงไม่ได้ดู Iron Man ฝีมือของเขา

แต่แล้วคอนแรนก็ประกาศลาออกจากโปรเจกต์โดยไม่แจ้งสาเหตุ พาราเมาต์ยังไม่ยอมให้โปรเจกต์หยุดชะงัก ส่ง จอน ฟาฟวโร (Jon Favreau) เข้าแทนที่ในตำแหน่งผู้กำกับทันทีในเดือนตุลาคม 2005 ฟาฟวโรก็ดึง มาร์ก เฟอร์กัส (Mark Fergus) มือเขียนบทคู่บุญของเขาให้มาร่วมงานนี้ด้วยกัน ทั้งคู่ต้องการให้หนังออกมาตรงตามนิยายของเบอร์โรห์สให้มากที่สุด โดยคงเนื้อหาเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองในอเมริกาไว้ และต้องการให้ตัวละคร Barsoomian Tharks นั้นมีความสูงที่ 4.6 เมตรตามที่นิยายบรรยายไว้ เพราะบทก่อนหน้านี้ถูกแก้ให้มีความสูงเท่ามนุษย์ ฟาฟวโรยังมองการณ์ไกลว่าจะพัฒนาให้กลายเป็นหนังไตรภาคเลยด้วย โดยเขาจะเลือกนิยาย 3 เล่มแรกจากซีรีส์ Barsoom คือ A Princess of Mars, The Gods of Mars และ The Warlord of Mars สร้างเรียงกันตามลำดับ

Barsoomian Tharks

ฟาฟวโรมีสไตล์การทำงานที่ต่างจากคอนแรนและรอดริเกซ ตรงที่เขาชอบใช้เอฟเฟกต์ที่สร้างกันขึ้นจริงในระหว่างถ่ายทำ โดยอ้างว่าเขาได้แรงบันดาลใจมาจากหนัง Planet of the Apes และจะใช้การผสมผสานกันระหว่างเทคนิคในการเมกอัปกับ CGI เพื่อสร้างภาพ Barsoomian Tharks ขึ้นมา กลายเป็นว่าเรื่องเยอะเรื่องแยะ จนสิทธิ์ในการสร้าง A Princess of Mars หมดอายุในเดือนสิงหาคม 2006 พาราเมาต์ตัดสินใจไม่ขอต่ออายุ แล้วขอหันไปสร้าง Star Trek แทน ฟาฟวโรเลยจูงมือเฟอร์กัสไปทำงานกับมาร์เวล สตูดิโอ แทน แล้วร่วมกันสร้าง Iron Man (2008) ออกมา

กลับมาสู่อ้อมอกดิสนีย์อีกครั้ง

แอนดรูว์ สแทนทัน หัวหอกที่ทำให้ได้เกิด John Carter

แอนดรูว์ สแทนทัน (Andrew Stanton) ผู้กับแอนิเมชันสุดฮิตอย่าง Finding Nemo (2003) และ WALL-E (2008) ไปหว่านล้อมผู้บริหารดิสนีย์ให้ซื้อสิทธิ์ในการดัดแปลง A Princess of Mars เป็นภาพยนตร์กลับมาอีกครั้ง ด้วยเหตุผลที่ว่า “ผมอ่านหนังสือเรื่องนี้มาตั้งแต่เด็ก และผมอยากเห็นมันขึ้นไปอยู่บนจอใหญ่เสียที”

สแทนทันใช้ความพยายามหว่านล้อมผู้บริหารดิสนีย์อย่างหนัก เพื่อขอโอกาสให้เขาได้เป็นผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้เอง เขาอ้างว่าจะทำให้หนังออกมาเหมือนกับ ‘อินเดียนา โจนส์ บนดาวอังคาร’ แบบนั้นเลย ซึ่งทีแรกทางผู้บริหารฟังแล้วก็ยังไม่คล้อยตามเท่าใดนัก เพราะติดใจตรงที่ว่า สแทนทันเองเคยมีแต่ประสบการณ์กำกับหนังแอนิเมชัน ไม่เคยกำกับหนังคนแสดงมาสักเรื่องเดียว บวกกับข้อเสนอของสแทนทันที่ดูขัดกับความเป็นจริงที่จะประสบความสำเร็จ คือสแทนทันไม่ต้องการใช้นักแสดงมีชื่อเสียงมาเรียกคนดู แล้วบทภาพยนตร์ก็ออกมาดูสับสน ไม่ชวนติดตาม แต่สุดท้ายเมื่อผู้บริหารพิจารณาจากผลงานที่ผ่านมาของสแทนทัน ที่เขาสามารถทำให้ WALL-E และ Finding Nemo ประสบความสำเร็จมาแล้ว ทางผู้บริหารก็ยินยอมให้เขาได้ตำแหน่งผู้กำกับไปในที่สุด

แอนดรูว์ สแทนทัน ขณะกำกับ เทย์เลอร์ คิตช์

ปี 2008 บทร่างแรกที่สแทนทันเขียนเองก็สำเร็จเสร็จสิ้น ซึ่งสแทนทันหมายหมั้นปั้นมือว่านี่จะเป็นเพียงแค่ภาค 1 ของหนังไตรภาค และภาคนี้ก็ครอบคลุมเนื้อหาแค่นิยายเล่มแรกเท่านั้น เดือนเมษายน 2009 สแทนทันดึงตัว ไมเคิล ชาบอน (Michael Chabon) เข้ามาแก้ไขบท ให้เหตุผลว่า “ตัวผมน่ะเก่งเรื่องการทำงานร่วมกันและโครงสร้างของบท แต่ถ้าว่ากันทางเทคนิคแล้ว ไมเคิลนี่เก่งกว่าผมทั้งสติปัญญา งานเขียนและบทกวี”

ในวันที่สแทนทันจบงาน WALL-E เข้าก็ไปเยี่ยมชมหอจดหมายเหตุผลงานของ เอ็ดการ์ ไรซ์ เบอร์โรห์ส ที่เมืองทาร์ซานา รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงานวิจัยก่อนงานสร้างของเขา จิม มอร์ริส (Jim Morris) ผู้จัดการทั่วไปของ Pixar กล่าวว่า งานภาพของ ‘John Carter’ จะออกมามีเอกลักษณ์ของตัวเอง ต่างจากภาพประกอบของ แฟรงก์ ฟราเซ็ตทา มอร์ริสกล่าวอีกว่า แม้ว่าเขาจะมีเวลาในการเตรียมตัวในการทำงานเรื่องนี้น้อยกว่างานแอนิเมชันเรื่องที่ผ่านมา แต่สำหรับเขาแล้วงานนี้ค่อนข้างง่ายกว่า เพราะตัวเขาเองก็อ่านนิยายของเบอร์โรห์สมาตั้งแต่เด็กเหมือนกัน เขามีภาพต่าง ๆ ในจินตนาการไว้หมดแล้ว

ส่วนสแทนทันนั้น นอกจากเตรียมงานสร้างทั่วไปแล้ว ยังทุ่มเทกับสุขภาพและสรีระของตัวเองด้วย เขาออกวิ่งสัปดาห์ละ 24 กิโลเมตร ลดน้ำหนักตัวลงไป 9 กิโลกรัม เขาให้สัญญากับทีมงานว่าตลอดการทำงานเขาจะไม่นั่งและจะไม่กลับไปที่รถเทรลเลอร์ของเขา นอกจากจะจำเป็นจริง ๆ เพื่อลบคำสบประมาทที่ว่า เขาเป็นคนที่ประสบความสำเร็จมาจากหนังแอนิเมชัน แล้วใช้จุดนี้มาใช้เป็นอภิสิทธิ์เพื่อให้ตัวเองได้งานกำกับนี้

เหตุใด John Carter จึงกลายเป็นหนังคว่ำ

สุดท้ายแล้ว เส้นทาง 81 ปี จากนิยายสู่จอภาพยนตร์ก็เป็นผลสำเร็จ John Carter ออกฉายเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2012 หนังส่อแววเจ๊งตั้งแต่สุดสัปดาห์แรกที่เปิดตัว หนังทำรายได้ในสหรัฐฯ ไปแค่ 30 ล้านเหรียญ และปิดรายได้ในสหรัฐฯ ไปที่ 73 ล้านเหรียญ ยังดีที่ได้รายได้รวมจากทั่วโลกมาอีก 211 ล้านเหรียญ ตัวเลขรวมอยู่ที่ 284 ล้านเหรียญ แต่เมื่อรวมต้นทุนทุกอย่างแล้ว ทางดิสนีย์บอกว่างานนี้ ขาดทุนไปเกือบ 200 ล้านเหรียญ และจากนี้คือบทวิเคราะห์สาเหตุต่าง ๆ ว่าทำไม John Carter ถึงกลายเป็นหนังคว่ำได้

ชื่อ John Carter ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างพอจะเรียกผู้ชมได้

ซีรีส์ Barsoom ของ เอ็ดการ์ ไรซ์ เบอร์โรห์ส นั้น มีอิทธิพลอย่างมากต่อนักเขียนนิยายแนววิทยาศาสตร์ในศตวรรษต่อมาอย่าง อาร์เธอร์ ซี คลาร์ก (Arthur C. Clarke), เรย์ แบรดบูรี (Ray Bradbury) และ โรเบิร์ต เอ. ไฮน์ไลน์ (Robert A. Heinlein) ที่ล้วนได้รับแรงบันดาลใจในงานเขียนมาจากซีรีส์ Barsoom รวมไปถึงมหากาพย์ดัง ๆ อย่าง Star Wars, Avatar และ Babylon 5 มีผู้คนจำนวนมากที่รักในนิยายที่เกี่ยวกับดาวอังคารของเบอร์โรห์ส ถึงกับมีการตั้งชื่อปล่องภูเขาไฟบนดาวอังคารตามชื่อของเบอร์โรห์ส แต่ถึงอย่างไรก็ต้องยอมรับว่า ชื่อของซีรีส์ Barsoom ก็ไม่เป็นที่รู้จักเท่า Tarzan ที่เป็นผลงานของเบอร์โรห์สเช่นกัน

และนั่นก็เป็นสาเหตุให้นิยายชุด Barsoom ถูกมองข้ามาหลายทศวรรษ พอเข้าสู่ยุค 2000s เป็นต้นมา ผู้ชมรุ่นใหม่ก็แทบไม่รู้จักชื่อ John Carter หรือ Barsoom กันแล้ว ตัวอย่างมีให้เห็นชัดในช่วง 10 – 20 ปีที่ผ่านมานี่ว่า เป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับอุตสาหรรมภาพยนตร์ฮอลลีวูด ที่จะสร้างหนังบล็อกบัสเตอร์ กวาดรายได้หลักร้อยล้านเหรียญ โดยที่ไม่ใช่หนังซูเปอร์ฮีโร หนังในจักรวาลสตาร์วอร์ส หรือหนังรีเมกจากการ์ตูนดิสนีย์

ใช่ที่ว่า ในวันนี้ยังมีแฟน Barsoom ตัวยงอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่จำนวนมากพอที่จะทำให้หนังได้กำไร หรือต่อให้ดิสนีย์ทำการตลาดเรียกร้องความสนใจว่าหนังเรื่องนี้ใช้ทุนสร้างไปมหาศาาลเพียงใด เพราะทุกวันนี้หนังที่สร้างมาจากนิยายคลาสสิกก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์พอที่จะดึงดูดผู้ชมให้ออกมาซื้อตั๋วหนังได้แล้ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ The Legend of Tarzan (2016) แม้หนังจะทำกำไรได้ แต่ตัวเลข 356 ล้านเหรียญ ก็ไม่ใช่ตัวเลขในระดับถล่มทลายนัก หรืออีกตัวอย่างหนึ่งก็อย่างเช่น The Lone Ranger (2013) ที่ดัดแปลงมาจากทีวีซีรีส์เรื่องดังในอดีต แม้เวอร์ชันภาพยนตร์จะมีชื่อของ จอห์นนี่ เด็ปป์ แต่ก็ไม่ได้ช่วยชีวิตหนังไว้ได้ เป็นอีกเรื่องที่ดิสนีย์เจ็บหนักไล่ ๆ กับ John Carter

ผู้สร้างตั้งอกตั้งใจที่สานภาคต่อมากเกินไป

เทย์เลอร์ คิตช์ และ ผู้กำกับ แอนดรูว์ สแทนทัน

John Carter ออกฉายในปี 2012 ซึ่งอยู่ในช่วงที่กองทัพหนังซูเปอร์ฮีโรเริ่มครองตลาดแล้ว ทั้งหนังมาร์เวล, X-men และ The Dark Knight ทางผู้สร้างเองก็เลยมุ่งมั่นที่จะเดินตามแบบแผนของหนังซูเปอร์ฮีโรด้วยการสานต่อเรื่องราวให้มีภาคต่อไปได้ยาว ๆ ซึ่งถ้าเรื่องใดทำได้สำเร็จก็เปรียบได้กับขุมทรัพย์มหาศาล

ซีรีส์ Barsoom ก็จัดได้ว่าเป็นนิยายต้นแบบที่ทรงคุณค่าและมีคุณสมบัติพร้อมที่จะดัดแปลงเป็นแฟรนไชส์ภาพยนตร์ยาว ๆ ได้ เพราะเบอร์โรห์สเองก็ใช้เวลาที่ยาวนานในการสร้างสรรค์เรื่องราวนี้ขึ้นมา ซึ่งเมื่อดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ก็จำต้องมีอย่างน้อย 3 หรือ 4 ภาค ถึงจะเล่าเรื่องราวได้ครบถ้วน ด้วยเหตุนี้สตูดิโอต่าง ๆ จึงพยายามที่จะสร้างจุดกำเนิดเรื่องราวที่สานต่อเป็นแฟรนไชส์ยาว ๆ ได้ อย่างที่ Harry Potter ทำสำเร็จมาแล้ว เพียงแต่ว่าไม่ใช่นิยายชุดทุกเรื่อง ที่ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์แล้วจะได้ความสนใจจากผู้ชม ที่ล้มเหลวก็มีมาก อย่างเช่น Artemis Fowl ซึงในที่สุด John Carter ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ไม่ประสบความสำเร็จ ผู้สร้างสามารถสร้างโลกของ Barsoom ตามจินตนการของเบอร์โรห์สออกมาได้อย่างน่าตื่นตา แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะตรึงผู้ชมไว้ได้ตลอดและไม่สามารถช่วยให้หนังสานต่อเป็นแฟรนไชส์ได้ตามที่สตูดิโอคาดหวัง

หนังถ่ายทำเหมือนแอนิเมชัน มากกว่าหนังคนแสดง

แอนดรูว์ สแทนทัน ขณะกำกับ John Carter.

แอนดรูว์ สแทนทัน ผู้กำกับ John Carter เขาคือพนักงานคนแรกของ Pixar และเป็นผู้กำกับที่มีดีกรีเป็นเจ้าของรางวัลออสการ์จาก WALL-E และ Finding Nemo ด้วยความที่สแทนทันหลงใหลในนิยายของเบอร์โรห์สมาตั้งแต่เด็ก พอเขาเริ่มมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ จึงทำให้สแทนทันกล้าที่จะเรียกร้องต่อผู้บริหารดิสนีย์ให้ซื้อสิทธิ์นิยาย Barsoom กลับมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์อีกครั้ง ซึ่งดิสนีย์ก็เคยถือครองสิทธิ์นี้มาแล้วในยุค 80’s พร้อมทั้งเสนอตัวเองในตำแหน่งผู้กำกับภาพยนตร์ ทั้งที่เขาไม่เคยมีประสบการณ์กำกับหนังคนแสดงมาก่อนเลย แต่ด้วยความที่เขาเคยทำเงินให้ดิสนีย์เป็นจำนวนมาก ทางผู้บริหารก็เลยยอมโอนอ่อนผ่อนตาม

อีกเหตุผลหนึ่งที่ผู้บริหารดิสนีย์ ยอมให้สแทนทันกำกับ John Carter เอง ก็เพราะพิจารณาในมุมที่ว่า นี่คือหนังที่ใช้วิชวลเอฟเฟกต์มากมายนับพันช็อต และสแทนทันเองก็เป็นผู้กำกับที่คุ้นเคยกับหนังที่ใช้วิชวลเอฟเฟกต์มาก ๆ มาแล้ว ส่วนปัญหาในด้านที่เขาขาดประสบการณ์ในการกำกับหนังคนแสดงนั้น ตัวสแทนทันเองก็ยอมรับว่าเขาเองก็มีความไม่มั่นใจเหมือนกันในจุดนี้ มีรายงานจากกองถ่ายว่า พอมีปัญหาหรือข้อสงสัยในงานกำกับ สแทนทันเลือกที่จะขอคำแนะนำกับเพื่อนที่ Pixar แทนที่จะปรึกษาจนบุคลากรที่มีประสบการณ์ในการกำกับหนังคนแสดงมาก่อน สุดท้ายแล้ว หนัง John Carter ก็เลยถ่ายทำกันด้วยรูปแบบที่คล้ายกับหนังแอนิเมชัน เพราะผู้กำกับเคยทำแต่หนังแอนิเมชัน แม้รูปแบบมันคล้ายคลึงกันก็จริง แต่พื้นฐานหลักการหลาย ๆ อย่างก็ต่างกันโดยสิ้นเชิง

ทุนสร้างสูงเกินกว่าจะมองเห็นกำไร

ด้วยตัวเลขทุนสร้างที่ 250 ล้านเหรียญในปี 2012 นั้น นับว่าเป็นทุนสร้างที่หนักหนาเอาเรื่องอยู่ แต่สำหรับในปีนี้ กลับดูเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้วที่จะเห็นหนังในระดับทุนสร้างที่ 200 – 300 ล้านเหรียญ โดยเฉพาะหนังระดับบล็อกบัสเตอร์ที่จะออกมาฟาดฟันกันในช่วงซัมเมอร์ ลองมองย้อนไปในรายชื่อ 10 อันดับหนังที่ใช้ทุนสร้างสูงที่สุดในประวัติศาสตร์นั้น 9 ใน 10 เรื่องเป็นหนังที่สร้างขึ้นมาในช่วงทศวรรษนี้ทั้งสิ้น (อีก 1 เรื่องคือ Avatar ปี 2009) และ 8 ใน 9 เรื่องดังกล่าวนั้น ก็ล้วนเป็นหนังของดิสนีย์ (อีก 1 เรื่องคือ Justice League) แล้วหนังที่ใช้ทุนสร้างสูงเหล่านี้ต่างก็ล้วนหวังพึ่งพารายได้จากนอกสหรัฐฯ กันแทบทั้งสิ้นที่จะพาไปให้ถึงจุดคุ้มทุนได้

John Carter อยู่ในอันดับที่ 9 ของรายชื่อหนังที่ใช้ทุนสร้างสูงที่สุด และเป็นหนังเรื่องเดียวในรายชื่อที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของหนังแฟรนไชส์ที่มีภาคต่อ แต่ต่อให้ John Carter เป็นหนึ่งในหนังแฟรนไชส์ที่ประสบความสำเร็จก็ตาม แต่การทุ่มทุนสร้างที่ 250 ล้านเหรียญ ในปี 2012 นั้น นับว่าเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่ง เพราะหนังจะต้องทำเงินให้ได้อย่างน้อยที่ 660 ล้านเหรียญ ถึงจะคุ้มทุน ซึ่งตอนที่ดิสนีย์ควักกระเป๋าจ่ายไปนั้น ทางสตูดิโอก็คาดหวังไว้ที่ 800 ล้านเหรียญ แต่การดัดแปลงเรื่องราวมหากาพย์ของ Barsoom ก็จำเป็นต้องใช้ทุนสร้างในระดับนี้อยู่แล้ว แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ ผู้ชมกลับไม่ค่อยปลื้มกับภาพวิชวลเอฟเฟกต์ที่อัดแน่นมาในหนัง เพราะในวันนั้น มันไม่ใช่เรื่องน่าตื่นตาตื่นใจอีกต่อไปแล้ว ผู้ชมล้วนได้ดูหนังที่มี CGI ระดับนี้กันมามากแล้ว

การตลาดที่ห่วย

ถ้าจะชี้นิ้วว่าความล้มเหลวของ John Carter นั้น มาจากคุณภาพของหนังทั้งหมด ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว แต่ ‘แผนการตลาด’ ของหนังก็เป็นอีกสาเหตุสำคัญ เรื่องแรกเลย คือการที่สแทนทันตัดสินใจเปลี่ยนชื่อหนังจาก A Princess on Mars ที่เป็นชื่อดั้งเดิมของนิยาย มาเป็นชื่อ ‘John Carter of Mars’ ยิ่งสร้างความฉงนมากขึ้นไปอีก ว่าชื่อนี้สื่อถึงอะไร เพราะเป็นชื่อลอย ๆ ที่ไม่มีใครแทบรู้จัก แต่ทางดิสนีย์ก็แย้งกลับมาว่าถ้าใช้ชื่อหนังเป็นชื่อผู้ชายแล้วล่ะก็ จะได้รับความสนใจในระดับสากลมากกว่าชื่อผู้หญิง แต่ถ้าหนังใช้ชื่อผู้หญิงก็จะได้รับความสนใจจากผู้หญิงด้วยกันแค่นั้น แต่ก็เป็นตรรกะที่น่าตลก เพราะเป็นการอ้างโดยบริษัทที่มีอายุนับร้อยปี และถือกำเนิดมาจากเรื่องราวของเจ้าหญิงดิสนีย์

อีกสาเหตุหนึ่ง ก็มาจากตัวสแทนทันเองนั่นแหละ ที่ตัดสินใจตัดคำว่า “of Mars” ออกจากชื่อเรื่อง เหลือเพียงแค่ ‘John Carter’ สแทนทันอ้างว่าชื่อนี้ทำให้ตัวละครดูแข็งแกร่งน่าเชื่อถือมากขึ้น และขายในวงกว้างได้มากกว่า แต่สำหรับแฟนเก่าของเบอร์โรห์สมองว่า แบบนี้มันเท่ากับเอกลักษณ์ตัวตนของตัวละครถูกปล้นไปเสียมากกว่า เพราะลำพังแค่ชื่อ ‘John Carter’ มันไมได้สื่อถึงอะไรเลย

สาเหตุต่อไป ก็ยังคงเกี่ยวข้องกับสแทนทัน เมื่อเขาไปมีส่วนร่วมในงานโปรโมตภาพยนตร์ด้วย กับการเลือกใช้เพลง “Kashmir” ของ Led Zeppelin มาประกอบตัวอย่างหนัง ทั้งที่เป็นหนังไซไฟต่างดาว แต่กลับทำให้อารมณ์ดูเป็นหนังย้อนยุคเสียมากกว่าอีก ตัวอย่างหนังขาดความน่าตื่นเต้น แล้วยังไม่เอาไปฉายโชว์ในงาน D23 เมื่อปี 2011 อีกด้วย

จนถึงวันที่หนังออกฉาย หนังก็ได้รับเสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ในทางลบ แต่ก็แทบไม่มีผลใด ๆ กับหนัง เพราะผู้ชมต่างก็ไม่ได้กระตือรือร้นที่จะออกไปดูหนังเรื่องนี้อยู่แล้ว แม้ดิสนีย์จะอวดอ้างว่านี่คือหนังที่ใช้ทุนสร้างสูงมากก็ตาม สุดท้ายหนังก็ไม่ได้สร้างปรากฏการณ์ตามที่ดิสนีย์คาดหวังไว้ หลังจากจบสิ้นวันฉาย หนังลาโรงเรียบร้อยแล้ว ดิสนีย์ก็ตัดสินใจยุติแฟรนไชส์ Barsoom ไว้เพียงเท่านี้ คืนสิทธิ์ในการสร้างกลับไปที่บริษัทดูแลทรัพย์สินของเบอร์โรห์ส เป็นการปิดฉากเรื่องราวการเดินทางอันยาวนานจากตัวหนังสือสู่แผ่นฟิล์มของ A Princess on Mars ที่ใช้เวลากว่า 80 ปี

ที่มา : yahoo!movies screenrant rottentomatoes collider wikipedia