หากมองในแง่การตลาด หนังคนผิวสีค่อนข้างมีขอบเขตกลุ่มลูกค้าที่จำกัด นักแสดงผิวสีเองถ้าพูดถึงงานฮอลลีวูดหรือหนัง mainstream มันมีตัวเลือกบทบาทให้สวมอยู่ไม่มากนัก หรือต่อให้ performance หนังโดดเด่นแค่ไหน ก็มักถูกหมางเมินอยู่เสมอ แต่ถึงกระนั้น มันก็ไม่น่าแปลกใจที่ปีนี้ หนังที่ขับเคลื่อนโดยคนผิวสีได้รับการเหลียวแลมากขึ้น หลายคนบอกว่าเพราะกระแส #OscarSoWhite เมื่อปีสองปีมานี้ ทำให้อย่างน้อยเราได้เห็นนักแสดงผิวสีโผล่ชื่อเข้าชิงออสการ์ปีนี้ถึง 6 สาขา

MoonLight เป็นงานหนังที่สร้างโดย A 24 จับมือกับ Plan B Entertainment ค่ายหนังสตูดิโอยี่ห้อพระเอกซุปตาร์ แบรต พิตต์ ซึ่งเคยมีผลงานร่วมทุนสร้างหนังดรามาจัดๆ ที่มีเส้นเรื่องคล้ายคลึงกันอย่าง 12 Years A Slave (2013) และประสบความสำเร็จมาแล้ว มาในคราวนี้ Moonlight คือหนังที่แปลงบทมาจากละครเวที ‘In Moonlight Black Boys Look Blue’ ของ ทาเรลล์ อัลวิน แม็คเครนี่ย์ ซึ่งเขาก็มารับหน้าที่ดัดแปลงงานเขียนมาปรับเป็นบทภาพยนตร์เองเลย (บทละครเวทีเรื่องนี้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขา ‘บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม’ ด้วย)

Moonlight นั้นถือเป็นฟอร์มของหนังนอกกระแสที่มาพร้อมโจทย์หนังยากๆ และประเด็นน่าค้นหามากมายภายใต้ความดราม่านี้ มันพูดถึงเรื่องราวชีวิตของ ‘ไชรอน’ เกย์ผิวสีผ่าน 3 ช่วงเวลา ตั้งแต่ วัยเด็ก (อเล็กซ์ ฮิบเบิร์ต), วัยรุ่น (แอชตัน แซนเดอร์ส) ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ (เทรวนต์ โรดส์) ซึ่งเติบโตมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมเลวร้ายในย่านเสื่อมโทรมที่ไมอามี่ ไม่ว่าจะถูกเพื่อนคอยรังแก เย้ยหยัน ความรักความอบอุ่นที่เขาไม่เคยได้รับจากผู้เป็นแม่ (นาโอมิ แฮริส) ที่ติดยาอย่างหนัก สั่งสมหล่อหลอมให้เขากลายเป็นเด็กที่แบกรับความรู้สึกทุกอย่างเอาไว้คนเดียว

การเลือกเรื่องตรงนี้มาเล่า ถือเป็นการจับเนื้อหาที่หนัก และไม่ใช่คนดูทุกคนที่ ‘พร้อม’ จะมาดู หรือมาอินกันได้ง่ายๆ มันไม่ใช่รักหวานแหววแบบวัยรุ่นหนุ่มสาวที่เป็นพล๊อตขายดีตลอดกาล แต่ผู้กำกับ แบร์รี เจนกิ้นส์ ก็ฉลาดที่จะ ‘เลือก’ ใช้สอยเนื้อหาที่เป็น ‘เกย์จ๋า’ แบบพอดิบพอดี ไม่ลงลึกหรือโจ๋งครึ่มอย่างที่หลายคนเตรียมใจกันไว้ มันไม่ได้มุ่งตรงไปแนวทางเข้มข้นจัดๆ แบบเดียวกับ Brokeblack Mountain แต่อาจออกไป hopeless romantic แบบ Happy Together ของกว่องกาไวมากกว่า อย่างไรก็ตามแท้จริงมันเป็นเพียงเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่นำพาคนดูไปยัง message หลักของเรื่อง คือ ‘การค้นหาตัวตน’ ของ ไชรอน นั่นเอง

ในหนังเรื่องนี้ เควิน (จาร์เรลล์ เจอโรม) ถือเป็นตัวละครที่ขับเคลื่อนหนังเรื่องนี้ให้เดินหน้าอย่างชัดเจน เป็นตัวละครที่เหมือนสะท้อนความรู้สึกนึกคิด ไชรอน ในแบบตรงกันข้าม ภาพของความเป็นคนที่เลือกซ่อนตัวตนที่แท้จริง ยอมทำทุกอย่างเพื่อแสดงออกให้สังคมยอมรับ เป็นตัวละครที่ทำหน้าที่ถ่ายทอด message หลักของเรื่องอย่างแท้จริง

ในภาพรวมแล้ว Moonlight เป็นหนังดราม่าที่ถูกกลั่นกรองและวางแผนมาอย่างดี การเล่าเรื่องที่รัดกุม กระชับ ไม่ยืดเยื้อ จังหวะการเปลี่ยนอารมณ์คนดูทำได้ดีมาก เข้าใจดีว่าซีนไหนควรเล่นฉากยาวต่อเนื่อง (long take) หรือว่าซีนไหนควรตัดเร็วๆ ตัดก่อนที่จะเลี่ยน ตัดก่อนที่จะเนือย ประกอบกับการเดินเรื่องที่ไม่ยัดเยียด ไม่บีบคั้น มีชั้นเชิง มีลูกเล่นในการนำ symbolic มาใช้อย่างชาญฉลาด แถมแอบเดาทางยาก นอกจากนี้ Moonlight ยังสอดแทรกไว้ด้วยความละมุนนุ่มลึกแฝงด้วยปรัชญา ความรู้สึกเห็นใจและสงสารในตัวละครแบบพอดีๆ ไม่ถึงขั้นเสียน้ำตา แต่นำพาให้เกิดความประทับใจกับตัวหนังได้ไม่ยาก

อีกจุดที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ Moonlight ยังเป็นหนังที่มีองค์ประกอบภาพสวยเด่นมาก การถ่ายที่เน้นไปที่ด้านหลังของ ไชรอน อยู่บ่อยครั้ง แสดงให้เห็นถึง การเก็บงำความรู้สึก ความสับสนมากมายเอาไว้ในใจ รวมทั้งการเลือกใช้เพลงประกอบหนังที่ลงตัวก็ทำให้ตัวหนังเดินไปอย่างธรรมชาติ แทบไม่ต้องพยายามควานหาจุดเสียเลย เรียกว่าพิจารณาจากองค์ประกอบต่างๆ แล้ว ยังไงก็คงมีติดไม้ติดมือแน่นอนสำหรับออสการ์หนนี้

คำพูดที่ไชรอนได้ยินมาจาก ฮวน นายหน้าค้ายาที่เข้ามาพักพันกับเขาในวัยเด็ก คือ key message ที่จะเป็นคำถามที่ถามตัวไชรอนไปทั้งชีวิต ในเมื่อ Moonlight มันไม่ได้ทำการตัดสิน พิพากษาใดๆ นอกจากบ่งบอกผลกรรมของตัวละครท้ายเรื่องว่า ประสบการณ์ในวัยเด็กจะพันธนาการความคิดของผู้ใหญ่คนนั้นไว้ไม่มีวันสลัดมันออกไป อาจเป็นฝันดีหรือฝันร้ายหลอกหลอนจดจำฝังใจไปตลอดกาล

Play video