สำหรับหลังเลนส์ โพสต์ปฐมฤกษ์วันนี้จะขอแนะนำคนที่อยากทำหนังแต่ไม่รู้ว่าต้องเอาใครมาทำหน้าที่อะไร จะจิกหัวใช้ใครได้บ้าง วันนี้เราจะมาดูกันว่ากว่าจะเป็นหนัง 1 เรื่อง เขามีใครทำอะไรกันบ้าง งานนี้จำแนกมาเป็นแผนกให้แล้วตามนี้เลย

ทีมบริหารจัดการ

  • โปรดิวเซอร์ (Producer)  หน้าที่หลักคือการหาทีมงานและบริหารงบประมาณ
  • ผู้จัดการกองถ่ายหรือ PM (Production Manager) PM จะทำหน้าที่ในการดูแลอำนวยความสะดวกให้งานถ่ายทำราบรื่นที่สุด
  • ผู้จัดการสถานที่ถ่ายทำ (Location Manager) คอยจัดหาสถานที่ให้ทีมงานถ่ายทำ รวมถึงดูแลความเรียบร้อยในวันถ่ายทำทุกอย่าง
  • บัญชีกองถ่าย (Accountant) หน้าที่หลักคือเป็นกระเป๋าเงินทั้งเวลาออกกองและคอยเตือนสติเรื่องงบประมาณที่กำลังบานปลาย

ทีมกำกับ

  • ผู้กำกับ (Director) คอยตัดสินใจและกำกับองค์ประกอบทุกอย่างของหนัง
  • ผู้ช่วยผู้กำกับ (Assistant Director) คอยช่วยเหลือผู้กำกับทุกอย่างและควบคุมเวลาในการถ่ายทำ
  • ผู้ฝึกสอนการแสดง (Acting Coach) ช่วยผู้กำกับในการทำความเข้าใจและสร้างอารมณ์ร่วมกับนักแสดง
  • ผู้กำกับบท (Script Supervisor) หน้าที่นี้ไม่เพียงควบคุมความต่อเนื่องของภาพยนตร์แต่ละช็อตเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นตาให้คนตัดต่อ เพราะต้องคุมทั้งเวลาและการเคลื่อนที่เพื่อให้ภาพที่ถ่ายมาสามารถตัดต่อได้อย่างต่อเนื่อง
  • คนตีสเลท (Slate or Clapperboard Operator) เขียนเลขซีน ช็อตและเทคบนสเลทที่กำลังจะถ่าย และขานข้อมูลดังกล่าวก่อนผู้ช่วยผู้กำกับจะสั่งแอ็คชั่นเพื่อเริ่มถ่ายทำต่อไป

ทีมถ่ายภาพ

  • ผู้กำกับภาพ (Director of Photography) ออกแบบและควบคุมกล้องให้ภาพตอบโจทย์จินตนาการผู้กำกับที่สุด
  • ผู้ช่วยกล้อง (Camera Assistant) ตั้งกล้อง เปลี่ยนเลนส์ เปลี่ยนการ์ด (สมัยก่อนต้องคอยเปลี่ยนฟิล์ม)ให้ผู้กำกับภาพพร้อมใช้งาน
  • คนหมุนโฟกัส (Focus Puller) หน้าที่คือคำนวณระยะภาพและหมุนโฟกัสตามการเคลื่อนกล้องให้จุดสนใจยังอยู่ในโฟกัส
  • คนจัดการข้อมูล ณ.กองถ่ายหรือ DIT. (digital imaging technician) นำไฟล์จากการ์ดลงเครื่องพร้อมคัดแยกฟุตเตจที่ได้จากเอกสารรายงานการถ่ายภาพหรือ Camera Report เป็นเกณฑ์
  • คนคุมอุปกรณ์ (Key Grip) คอยทำการตรวจเช็คอุปกรณ์ทั้งก่อนนำมาถ่ายทำและการเก็บอุปกรณ์หลังถ่ายทำ

ฝ่ายศิลปกรรม

  • นักออกแบบงานสร้าง (Production Designer) ออกแบบโลกที่ตัวละครอาศัยอยู่ให้สมจริงและสร้างความอัศจรรย์ใจให้ผู้ชม
  • พรอปมาสเตอร์ (Prop Master) คอยจัดหาของประกอบฉากให้ทางนักออกแบบงานสร้าง แต่ในบางกรณีก็ต้องประดิษฐ์เองด้วย

ทีมแสง

แกฟเฟอร์ หรือคนกำกับแสง (Gaffer) ออกแบบจัดวางแสงโดยจะทำงานร่วมกับผู้กำกับภาพมากที่สุด เพราะไฟที่ใช้จัดแสงจะต้องประสานการทำงานกับกล้องถ่ายทำภาพยนตร์

ทีมเสื้อผ้าหน้าผม

  • นักออกแบบเครื่องแต่งกาย (Costume or Wardrobe Designer) ออกแบบหรือจัดหาเสื้อผ้าให้เหมาะกับเรื่องราว
  • ช่างแต่งหน้า (Make up Artist) แต่งหน้านักแสดงให้เข้ากับบทบาท
  • ช่างแต่งหน้าเอฟเฟกต์ (Special Effect Make Up Artist)แต่งหน้าเอฟเฟกต์ตั้งแต่พื้นๆอย่างรอยแผลฟกช้ำ ไปจนถึงแต่งคนให้เป็นสัตว์ประหลาด
  • นักออกแบบทรงผม (Hair Stylist) ออกแบบและตัดแต่งทรงผมนักแสดงให้เข้ากับบุคลิกตัวละคร

ทีมเสียง

  • ผู้บันทึกเสียงและมิกซ์เสียง (Sound Mixer / Sound Recordist) ในตำแหน่งนี้แล้วแต่ลักษณะอุปกรณ์ เพราะหากเป็นกองถ่ายใหญ่ระบบการบันทึกจะผ่านเครื่องมิกซ์เสียง โดยหน้าที่คือฟังและตรวจสอบให้บทสนทนาในบทหนังพูดออกมาชัดเจนและครับถ้วน รวมถึงไม่ให้มีเสียงรบกวน
  • คนถือไมค์บูมและคนคุมอุปกรณ์เก็บเสียง (Boom Operator and Sound Utility) เริ่มจากคนถือไมค์บูมที่ต้องเก็บเสียงด้วยการถือขาไมค์ให้พ้นจากเฟรมภาพ  ส่วนคนคุมอุปกรณ์เสียง นอกจากต้องใช้อุปกรณ์เก็บเสียงให้ถูกกับงานแล้วยังต้องรู้จักตำแหน่งที่สามารถวางไมโครโฟนให้พ้นกล้อง รวมถึงการติดตั้งไมโครโฟนไร้สายกับตัวนักแสดงให้มิดชิดและเก็บเสียงได้ชัดเจนอีกด้วย
  • นักออกแบบเสียง (Sound Designer) หน้าที่นี้คือออกแบบการเล่าเรื่องด้วยเสียงต่างๆในภาพยนตร์ โดยเป็นเสียงที่ไม่สามารถอัดในขณะถ่ายทำได้ ซึ่งต้องอาศัยการสร้างขึ้นในสตูดิโอและผ่านกระบวนการทางเทคนิคเสียงเพื่อให้ได้เสียงที่สมบูรณ์แบบ
  • โฟลีย์ อาร์ทิสต์ (Foley Artist) เปรียบได้ดั่งนักดนตรี แต่เป็นการนำอุปกรณ์มาสร้างเสียงเอฟเฟกต์ให้ภาพยนตร์

แผนกตัดต่อและทำสี

  • นักตัดต่อ (Editor) ตัดต่อฟุตเตจต่างๆ ตามบทหนังและเอกสารจากกองถ่าย
  • คนทำสีภาพ (Colorist) ควบคุมและปรับแต่งสีฟุตเตจภาพที่ถ่ายทุกช็อตให้ออกมาตามจินตนาการและภาพอ้างอิงที่ผู้กำกับจินตนาการไว้

จัดหานักแสดง

ผู้กำกับการคัดเลือกนักแสดง (Casting Director) ทำหน้าที่คัดเลือกนักแสดงโดยให้ใกล้เคียงบทบาทที่สุดเป็นตัวเลือกให้ผู้กำกับ

เบื้องหลัง

ตากล้องเบื้องหลัง (Behind the scene photographer and videographer) บันทึกภาพเบื้องหลังการถ่ายทำเพื่อนำมาใช้โปรโมตหนังและยังสามารถเป็นหลักฐานกรณีเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ที่จะเป็นข้อพิพาทต่อไป

แผนกบริการทั่วไป

  • จัดการอาหารกองถ่าย (Caterer) เรียกได้ว่าทีมงานต้องฝากท้องไว้ที่แผนกนี้เลยทีเดียว
  • ขนส่งทีมงานและของ (Logistic) เป็นแผนกที่จัดสรรยานพาหนะเพื่ออำนวยความสะดวกในกองถ่าย โดยส่วนใหญ่ในเมืองไทยจะจ้างรถสำหรับขนส่งอุปกรณ์และทีมงาน