Play video


ชีวิตอันสุขสงบของ  มาเธอร์ (เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์) ต้องมีอันสิ้นสุดเมื่อ ฮิม (ฮาเวียร์ บาเด็ม) สามีของเธอเปิดประตูต้อนรับคู่รักวัยดึก (เอ็ด แฮริส และ มิเชล ไพฟ์เฟอร์) ที่เป็นแฟนงานเขียนของเขา แต่การมาเยือนของแขกผู้แปลกหน้ากลับยิ่งทำให้ มาเธอร์ ได้พบเจอเรื่องราวประหลาดจนยากอธิบายจนนำไปสู่บทสรุปที่เกินคาดเดา



 งานทริลเลอร์แปลกใหม่ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากกลียุค

สำหรับ Mother! ดาร์เรน อาโรนอฟสกี้ ได้แรงบันดาลใจในการเขียนบทมาจากความเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับโลกในยุคปัจจุบัน จนเกิดเป็นหนังทริลเลอร์จิตวิทยาที่มุ่งวิพากษ์กลียุคในปัจจุบันที่โลกกำลังเสื่อมสลายลงด้วยน้ำมือมนุษย์ โดยดัดแปลงเรื่องเล่าในไบเบิ้ลโดยเฉพาะ บทปฐมกาล (Genesis) ที่ อับราฮัม ลูกหลานของ โนอาห์ ที่มีโอกาสได้ต้อนรับพระเจ้าและสาวกทั้ง 3 ท่านจนได้รับพรให้ซาร่า ภรรยา ผู้ไร้ศรัทธาและไม่เป็นมิตรกับผู้มาเยือนได้ตั้งครรภ์

ดัดแปลงเป็นโครงเรื่องของ Mother! ว่าด้วย สามี ภรรยา อย่างมาเธอร์ และ ฮิม ที่ได้ต้อนรับคู่รักในวัยชราเข้ามาในบ้าน ซึ่งในส่วนนี้หนังได้ใช้อาการทางจิตทั้ง ความวิตกกังวลของคนเป็นโรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) สร้างคาแรกเตอร์ของ มาเธอร์ และบุคลิกคลั่งตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder) ในกรณีของ ฮิม เพื่อเปรียบเปรย (Allegory) กับเรื่องราวในไบเบิ้ลข้างต้น  ซึ่งการใช้แนวคิดจิตวิเคราะห์ดังกล่าวนอกจากช่วยอธิบายบุคลิกตัวละครแล้ว ยังช่วยสร้างสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจให้อบอวลตลอดทั้งเรื่อง ยิ่งการมาถึงของคู่รักแปลกหน้ากำลังทดสอบความสัมพันธ์ของทั้งคู่ คนดูยิ่งตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก จนเรื่องราวทวีความเข้มข้นหลังเกิดการฆาตกรรมขึ้นในบ้าน อันเป็นจุดพลิกผันสำคัญที่ยิ่งทำให้หนังพาคนดูไปไกลกว่าเรื่องราวที่หนังได้โฆษณาไว้ และทีละน้อยประเด็นสำคัญอย่างความเลวร้ายที่เกิดขึ้นบนโลกทั้งการเข่นฆ่า สงคราม ความหิวโหย ก็ถูกใส่เข้ามาในสถานการณ์ที่คนดูคาดไม่ถึงจนบ้านที่เคยสงบสุขเริ่มกลายเป็นเมืองคนบาปแบบตำนานเมือง โสโดม (Sodom) ที่พระเจ้าทรงทำลายในท้ายที่สุด ที่สำคัญจุดไคลแมกซ์ของหนังยังเต็มไปด้วยความกระอักกระอ่วนอย่างรุนแรง จนเรียกได้ว่านี่คืออีกหนึ่งงานที่ ดาร์เรน อาโรนอฟสกี้ ถ่ายทอดได้อย่างไม่ประนีประนอมเลยสักนิด



  สัญญะชวนขบคิดตีความจนหัวแทบแตก

ความโดดเด่นอีกอย่างของ Mother! เห็นจะเป็นบรรดาสัญญะต่างๆ ที่ ดาร์เรน อาโรนอฟสกี้ ดูจะสนุกสนานในการจัดวางซึ่งนอกจากตัวบ้านที่ถือเป็นโลกที่ตัวละครอาศัยอยู่แล้ว การออกแบบคาแรกเตอร์ตัวละครเองก็ยังมีความลึกซึ้งในการดัดแปลงตัวละครในเรื่องราวของไบเบิ้ลมาใส่ไว้อย่างแยบยล ซึ่งไม่เพียงบทพูดและการกระทำเท่านั้นแต่การออกแบบงานภาพและเสียงยังตอบโจทย์กับคาแรกเตอร์ทุกตัวทั้ง ฮิม ตัวละครที่ฮาเวียร์ บาเด็ม แสดงก็มักเคลื่อนไหวด้วยเสียงที่ดังทั้งฝีเท้าที่หนักและเสียงทุ้มต่ำมีอำนาจ ยิ่งมันถ่ายทอดผ่านสายตา มาเธอร์ ทุกอย่างที่ฮิมทำตั้งแต่เสียงฝีเท้ายันกดชักโครกก็พร้อมจะกลบทุกสิ่งที่เกิดจากการกระทำของเธอ

อาจมีสปอยล์สถานะของฮิม
ยิ่งทำให้สถานะของฮิมดูยิ่งใหญ่และมีอำนาจเหนือ มาเธอร์ ไปโดยปริยายและยังตอบโจทย์ของคาแรกเตอร์ในจุดพลิกผันเมื่ออำนาจในบทกวีของฮิมนำพากลียุคมาสู่บ้านอย่างเลี่ยงไม่ได้ ก็กลายเป็นสัญญะวิพากษ์การเมืองของสหรัฐในยุคประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้อีกต่อ

และในทางตรงข้าม การที่หนังถ่ายตัวละคร มาเธอร์ ในระยะประชิดเพื่อถ่ายทอดแววตา สีหน้าอมทุกข์ของการเป็นผู้ให้ ก็ยิ่งทำให้คาแรกเตอร์ที่ เจนนิเฟอร์ ลอเรนซ์ รับบทบาทนี้ใกล้เคียงกับสิ่งที่เธอถูกเปรียบเปรยก็มิปาน

อาจมีสปอยล์สถานะของ มาเธอร์
แม่ธรณี (Mother Earth)
ยิ่งในหนังมีการถ่ายทอดให้เห็นความงดงามของดวงหน้า เจนนิเฟอร์ ลอเรนซ์ มากเท่าไหร่บทสรุปสุดท้ายกับชะตากรรมของเธอก็ยิ่งดึงให้คนดูรู้สึกหดหู่และเข้าใจในสารที่หนังพยายามสื่อได้อย่างชัดเจน


ถอดสัญญะอื่นๆในหนัง
สัญญะอื่นๆ ก้อนแก้วในที่ทำงาน = พระหฤทัย (Sacred Heart) อันเป็นสัญญะของการทุ่มเท (Devotion) ที่ในตอนท้ายหนังก็ได้เฉลยความสำคัญของมัน รอยเลือดที่ไหลตรงบริเวณไม้ผุ =ร่องรอยของบาปที่มนุษย์ได้ก่อขึ้นและทำลายล้างไม่สิ้นสุด วัตถุประหลาดในชักโครก = ความชั่วร้ายที่แฝงตัวบุรุษซึ่งเป็นผู้นำที่พร้อมจะแว้งกัดทุกคนใกล้ตัว เสียงหัวใจในผนังที่ค่อยๆมีสีดำคล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ  = ความเสื่อมสลายของศีลธรรมบนโลก    


สวมวิญญาณอย่างเข้าถึง ด้วยตัวพ่อตัวแม่ของวงการ

สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับใน Mother! คือมันเป็นหนังที่ถ่ายทอดผ่านมุมมองผู้หญิงได้อย่างลึกซึ้งและคมคาย ดังนั้นหากจะให้พูดถึง ฮาเวียร์ บาเด็ม หรือ เอ็ด แฮริส คงไม่สามารถบอกอะไรได้มากกว่าทั้งคู่แสดงได้ดีตามมาตรฐาน เนื่องจากภาพส่วนใหญ่ในหนังเลือกใช้เฟรมที่ค่อนข้างแคบเพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของ เจนนิเฟอร์ ลอเรนซ์ ที่ต้องแบกอารมณ์ในหนังทั้งเรื่อง ทำให้บทมาเธอร์กลายเป็น เจนนิเฟอร์ ลอเรนซ์ โชว์ไปโดยปริยาย ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเธอสามารถนำพาคนดูให้ร่วมหัวจมท้ายไปกับมาเธอร์ ไม่ว่าเหตุการณ์จะดูเสียสติแค่ไหนแต่ไม่มีซักซีนที่คนดูจะละความสนใจไปจากเธอได้ รวมถึงความกล้าหาญในการเปิดเผยเรือนร่างมากขึ้นก็น่าจะทำให้หนุ่มๆตาโตไปหลายช็อตเลยทีเดียว และที่โดดเด่นไม่แพ้กันคือ มิเชล  ไพฟ์เฟอร์ ดาราสาวสวยในวัย 59 ที่สามารถดึงความสนใจจากคนดูได้ทุกนาทีที่ปรากฏตัวรวมถึงสร้างอารมณ์ขันให้เรื่องราวในจังหวะที่เราคาดไม่ถึงอีกด้วย

โดยไม่กล่าวเกินจริง Mother! คืองาน ทริลเลอร์ ที่พูดเรื่องราวความเลวร้ายของโลกใบนี้ผ่านสัญลักษณ์ที่ผู้กำกับวางไว้อย่างแยบยล จากเรื่องราวที่ฉากหน้าคือเรื่องเล็กๆอย่างการรับแขก แต่ประเด็นทางศาสนาและแนวคิดจิตวิทยาที่ผู้กำกับนำมาถ่ายทอดก็ทำให้คนดูอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะขณะที่ภาพและเสียงกำลังทำงานกับอารมณ์คนดู เซลล์ประสาทกลับถูกก่อกวนให้ต้องคิดและวิเคราะห์ แม้หนังจบลง อารมณ์ของคนดูคงไม่ยอมจบตามเป็นแน่แท้


Mother! มารดา! เปิดรอบพิเศษหลัง 20.00 น. วันที่ 15-17 ก.ย. 60 และเข้าฉายจริงวันที่ 21 ก.ย. 60