Play video

หนังคือชีวิตและจิตใจของ เคนจิ (เคนทาโร ซาคากุจิ) จนถึงกับทนฝึกงานหนักเพื่อจะได้พาตัวเองไปใกล้กับความฝันในการเป็นผู้กำกับที่สุด และสิ่งเดียวที่ปลอบประโลมจิตใจเคนจิได้ดีที่สุดคงหนีไม่พ้นการได้หยิบฟิล์มหนังขาวดำเก่าๆที่คนเกือบลืมอย่าง เจ้าหญิงจอมแก่นกับ 3 อสูร มาฉายบนจอเพื่อให้เขาได้พบหน้าของ เจ้าหญิงมิยูกิ (ฮารูกะ อายาเสะ) จนเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เมื่อจู่โรงหนังโรมานซ์ เธียเตอร์ ถูกฟ้าผ่าจน เจ้าหญิงมิยูกิ ตัวขาวดำหลุดออกมาจากจอ และปฏิบัติกับเขาราวคนรับใช้ แต่หลังเวลาผ่านไปความจริงใจของเคนจิ ก็ค่อยๆละลายหัวใจที่เย็นชาของ มิยูกิ โดยอุปสรรคเพียงอย่างเดียวคือหาก มิยูกิ ได้สัมผัสไออุ่นจากมนุษย์ ตัวเธอจะหายไปตลอดกาล แล้วความรักที่ไม่สามารถสัมผัสกันได้จะลงเอยเช่นใด



สารภาพก่อนเลยว่า Tonight, At Romance Theater ได้รวบรวมสิ่งที่ผมรักมากที่สุดไว้ 2 อย่างคือ เรื่องความรักในภาพยนตร์ และ ฮารุกะ อายาเสะ ดังนั้นการจะเข้าไปดูหนังโดยไม่มีจิตใจลำเอียงว่าจะรักจะชอบหนังหลังดูจบเลยแทบเป็นไปไม่ได้  ซึ่งเมื่อดูจบก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ฮ่าาา  แต่ไม่ใช่เพียงองค์ประกอบ 2 อย่างที่กล่าวไปเพียงอย่างเดียว เป็นหัวใจของเรื่องราวเสียอีกที่แทบจะพูดแทนความรู้สึกของเด็กบ้าหนังคนนึงที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางกองวีดีโอ VHS ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นในความรักและความฝันอันเนื่องมาจากภาพยนตร์จนถึงวันนี้ การได้เห็นพระเอกอย่างเคนจิ เข้าไปฝึกงานในกองถ่าย หรือ ยอมเสียเงินให้เจ้าของโรงหนังแลกกับการฉายหนังที่ตัวเองรักดูเป็นการส่วนตัว กลายเป็นภาพแทนอดีตของตัวเองที่ผ่านมาจน อิน ฟิน แบบแทบถอนตัวไม่ขึ้น เลยกลายเป็นว่าหนังให้โบนัสคนดูอย่างผมแบบคาดไม่ถึงตั้งแต่ดอกแรกเลยทีเดียว (แสดงว่ามีอีกหลายดอก ตามอ่านต่อไปนะฮาฟ)



และเมื่อหนังสามารถนำเรื่องโรแมนติกมาผสานกับการรำลึกและคารวะหนังคลาสสิกทั้งหลายได้อย่างลงตัว เลยเชื่อว่าใครได้ดูหนังเรื่องนี้ก็คงตกหลุมรักมันได้ไม่ยากเลยล่ะ และยิ่งใครรักหนังหรือเรียนภาพยนตร์มา หนังเองก็ยังมีกิมมิกเล็กๆเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์หย่อนโปรยไว้ตามทางให้ได้เก็บกันเต็มไปหมด ทั้งหนังที่ เจ้าหญิงมิยูกิ เล่นก็เป็นภาพจำจาก The Wizard of Oz (1900) หรือแม้กระทั่งสัญญะของเรื่องที่เล่นกับแนวคิดสี RGB ด้วยการจัดองก์ประกอบศิลป์ให้มี 3 แม่สีโดยเป็นฉากนางเอกสวมชุดเดรสสีน้ำเงิน (B= Blue) ถือร่มสีแดง (R=Red) ยืมท่ามกลางทุ่งหญิงเขียวขจี (G=Green) เป็นการสื่อความหมายถึงสีสันที่พระเอกได้แต่งแต้มในใจของมิยูกิได้แล้ว  ที่สำคัญหนังไม่ได้เอาประวัติศาสตร์หรือทฤษฎีภาพยนตร์มากล่าวถึงลอยๆไร้ความหมาย เพราะจุดที่ถือว่าหนัง ‘เอาตาย’ จริงๆคือสาเหตุที่เจ้าหญิงก้าวข้ามมายังโลกความจริงแห่งสีสันที่ชวนใจสลายและสื่อถึงสัจธรรมของโลกผ่านการเปลี่ยนแปลงของวงการภาพยนตร์ยุค 60 ที่ต้องต่อสู้กับการมาถึงของทีวีได้อย่างลงตัว



และอย่างที่กล่าวมาแล้วจุดที่ทำให้ผมน่าจะรักหนังเรื่องนี้เป็นพิเศษคือการมีอยู่ของ ฮารูกะ อายาเสะ นักแสดงสาวหน้าสวยชวนใจละลายที่เรื่องนี้เธอสามารถพาตัวละครให้สัมผัสใจคนดูได้ในหลายมิติ แรกๆเราอาจขัดใจที่เห็นเธอปฏิบัติกับพระเอกเหมือนที่ระบายอารมณ์ แต่พอความจริงค่อยๆเปิดเผย ฮารูกะ อายาเสะ ก็ได้โชว์ความสามารถในฐานะนักแสดงได้อย่างน่าชื่นชม โดยเฉพาะฉากจูบผ่านกระจก เพื่อคารวะหนังคลาสสิกอย่าง Till We Meet Again  (1950) ที่เธอสามารถสื่อสารอารมณ์ตัวละครได้อย่างมีมิติทั้งความกลัว ความหวั่นไหว และความเจ็บปวดจากการโหยหาไออุ่นจากคนที่เธอรักโดยมีกระจกเป็นพื้นที่ปลอดภัยเดียวที่ทำให้เธอได้ใกล้คนรักได้อย่างปลอดภัย จนคนดูสามารถสัมผัสหัวใจและแทบไม่อาจกลั้นน้ำตาตามเธอได้   (จากข้อมูลเบื้องหลังงานสร้าง ฮารุกะ อายาเสะ กลั้นน้ำตาในการถ่ายทำฉากนี้ไม่อยู่จริงๆ)

เอาล่ะทิ้งท้ายก็คงไม่ได้ผิดจากที่เกริ่นไว้ในย่อหน้าแรกเท่าไหร่นะครับ ฮ่าาา  แม้จะดูเป็นรีวิวที่อวยหนังจนแทบไม่กล่าวถึงข้อเสียทั้งเหตุผลที่พระนางรักกันดูน้อยไปหน่อย หรือซับพลอตที่มีลูกสาวเจ้าของโรงถ่ายมาชอบพระเอกข้างเดียว (แถมหน้าตาน่ารักด้วยนะ อิอิ) รวมถึงบทสรุปของเรื่องที่หนังพาไปคนดูไปสู่ความแฟนตาซีเต็มรูปแบบ แต่ก็อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นแหละครับ ความรักในภาพยนตร์และการแสดงของ ฮารุกะ อายาเสะ ก็ทำให้เรายกประโยชน์ให้จำเลยในทุกข้อหาได้อย่างเต็มหัวใจ

ทิ้งท้าย..ขอแถมเพลงประกอบเพราะๆจากหนังนะฮะ

Play video