สนับสนุนเนื้อหาโดย Major Cineplex

ผู้กำกับ เซบาสเตียน เลลิโอ ถือเป็นผู้กำกับที่ถนัดงานดราม่าจัด ๆ ซึ่งชอบดึงคนดูให้อินและทำความเข้าใจกับคนเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะเสียงสรรเสริญในหนังออสการ์ A Fantastic Woman ตามต่อด้วย Disobedience หน้าหนังที่ขายความสัมพันธ์แบบหญิง-หญิง ท่ามกลางประเด็นกฏข้อห้ามของหลักศาสนา ศีลธรรมและความศรัทธา ซึ่งได้รับคำวิจารณ์บวกมาก ๆ ในเทศกาลหนังโตรอนโตเมื่อปีที่แล้ว โดยได้สองสาว เรเชล แม็คอดัมส์ และ เรเชล ไวสซ์ มาสวมบทอดีตคนรักที่ได้หวนกลับมาพบกันอีกครั้ง

Disobedience ดัดแปลงมาจากนิยายระดับรางวัลของ นาโอมิ อัลเดอร์แมน โดยตัวหนังเล่าเรื่องราวของ โรนิท (เรเชล ไวสซ์) ช่างภาพสาวที่เติบโตมากับครอบครัวนับถือยิวออร์โธด็อกซ์เคร่งครัดในลอนดอน และพ่อของเธอซึ่งเป็น แรบไบรู้ความลับที่เธอชอบผู้หญิง ทำให้ โรนิท ต้องหนีออกจากบ้านไปเป็นช่างภาพอยู่ในนิวยอร์ก จนกระทั่งเมื่อเธอรับรู้ว่าคุณพ่อเสียชีวิต จึงกลับมาร่วมพิธีศพที่บ้านเกิด และการกลับมาครั้งทำให้ โรนิท ต้องพบกับ เอสตี้ ครูสาวโรงเรียนมัธยม ผู้หญิงที่เธอเคยรักสุดหัวใจ ในวันที่ได้รู้ว่าแต่งงานกับ โดวิท (อเล็กซานโดร นิโวลา) ลูกพี่ลูกน้องของเธอ ซึ่งคุณพ่อมอบหมายให้เป็นทายาทสืบตระกูล แต่ทว่าจะทำอย่างไรเมื่อดูเหมือนว่าถ่านไฟเก่าพร้อมจะกลับมาปะทุอีกครั้ง

ตัวหนังไม่ได้ใช้เวลามากมายในการปูแบ็คกราวน์ความสัมพันธ์ในวัยเด็กของคนทั้ง 3 แต่เน้นไปที่บรรยากาศความเคร่งครัดของกลุ่มยิวออร์โธด็อกส์ ทำให้เราได้เห็นกฏระเบียบ จารีต ประเพณี หรือ ‘กรอบ’ ของศาสนา อย่างเช่น ผู้ชายจะต้องสวมหมวกคิปป้า ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วก็ต้องสวมผ้าคลุมหรือใส่วิกผมไว้ตลอดเวลา ซึ่งสิ่งเหล่านี้หล่อหลอมทั้ง เอสตี้ และ โดวิท ที่เติบโตมาในบรรยากาศและแวดล้อมดังกล่าวมาตลอดตั้งแต่เด็ก คอนทราสต์กับ โรนิท เองที่เป็นสาวอินดี้นิวยอร์เกอร์สไตล์ ผู้ที่หนังวางไว้เป็นตัวแทนของตัวละครที่อยู่ ‘นอกกรอบ’ หรือ freedom

ความรักแบบฉิ่งฉับที่หนังนำมาเสนอเปรียบเสมือนเครื่องปรุงให้อาหารมีรสชาติ ซึ่งต้องบอกว่าเลิฟซีนของสองสาวเรเชลนั้น เร่าร้อนและดูดดื่มมาก เป็นเลิฟซีนที่ทรงพลัง หนังเก็บทุกรายละเอียด อินเนอร์มาเต็มเหลือเฟือ โดยเฉพาะ ‘แววตาพูดได้’ ของทั้งคู่คือความสวยงามคลาสสิกของ Disobedience อย่างแท้จริง และทั้งหมดทั้งมวลมันแผ้วทางให้หนังย้ำเมสเซจในเรื่องการมีสิทธิ์เลือกที่จะมีอิสระหรือถูกพันธนาการจากกรอบสังคม กฏเกณฑ์ศาสนาที่วางไว้ ภายใต้เงื่อนไขของความกลัวว่าหากทำแบบนี้แล้วมันเรียกว่า ‘บาป’ หรือ ‘ไม่บาป’

หนังเรื่องนี้ พูดถึงหลาย ๆ แง่มุมในชีวิตมาก นอกจากเรื่องความเป็นเกย์ของสองสาวหรือว่า freedom แล้ว ประเด็นเรื่องครอบครัวก็ถูกหยิบยกมาจับด้วย โดยเฉพาะ โรนิทเองที่แม้เธอจะเป็นช่างภาพแต่เธอกลับรู้สึกผิดบาปที่ชีวิตนี้ไม่เคยได้ถ่ายภาพพ่อของตัวเองสักใบ ขณะที่ความกดดันตั้งแต่การเจอหน้ากันของแฟนเก่า ค่อย ๆ บีบเค้นความรู้สึก บีบคนดูให้อึดอัดกับความสัมพันธ์ ก่อนจะระเบิดออกมาได้พีคมาก การแต่งงานไม่ใช่กรอบ ไม่ใช่โซ่ตรวนพันธนาการชีวิต ไม่เคยสิ่งการันตีใด ๆ ไม่มีคำว่าตลอดไป ความสมหวังผิดหวังเกิดขึ้นได้กับคนเราทุกเมื่อ และไม่มีใครมีความสุขหรือทุกข์ไปตลอด

อย่างไรก็ตาม จุดที่ผมชอบในหนังคือ บทสรุปที่ไม่เลือกเชียร์ความสัมพันธ์แบบใดแบบหนึ่ง มันคล้ายกับ coming of age ของผู้ใหญ่วัย 40 ที่ยังตกหลุมพรางของความลุ่มหลงเหมือนวัยรุ่น แต่ก็เรียนรู้ที่จะยับยั้งชั่งใจ กับโจทย์ของความถูกต้องและความถูกใจได้ในที่สุด

 

Play video