[รีวิว] The Nutcracker and the Four Realms – นางเอกสวย ภาพสวย และเหมาะกับเด็กน้อยเท่านั้น
Our score
7.2

The Nutcracker and the Four Realms

จุดเด่น

  1. ภาพสวย
  2. นางเอกสวย
  3. สกอร์ไพเราะ
  4. ออกแบบงานสร้างได้วิจิตร
  5. ฉากเต้นบัลเลต์คือดีมาก

จุดสังเกต

  1. หนังเดาทางง่าย
  2. ตัวละครไม่ค่อยมีเสน่ห์
  3. เล่าเรื่องไม่ค่อยสนุก
  4. เหมาะกับเด็กน้อยมากกว่าผู้ใหญ่
  • ความสมบูรณ์ของงานสร้าง

    8.0

  • ตรรกะ ความสมบูรณ์ของบท

    7.0

  • ความแปลกใหม่

    7.0

  • ความสนุก

    7.0

  • ความคุ้มค่าตั๋ว

    7.0

Play video

สนับสนุนเนื้อหาโดย Major Cineplex

ในคืนงานเลี้ยงคริสต์มาสที่บ้านของพ่อทูนหัวดรอสเซิลไมเยอร์ (มอร์แกน ฟรีแมน) ความมหัศจรรย์ได้เกิดขึ้นกับ คลาร่า (แม็คเคนซี่ ฟอย) สาวน้อยเจ้าปัญญาที่ได้เดินทางสู่โลกคู่ขนานอันประหลาดล้ำประกอบไปด้วย 4 อาณาจักรอาทิ อาณาจักรแห่งเกล็ดหิมะ อาณาจักรแห่งดอกไม้ อาณาจักรแห่งขนมหวาน และอาณาจักรแห่งความหฤหรรษ โดยภารกิจของเธอคือการตามหากุญแจที่จะช่วยให้อาณาจักรทั้งมวลรอดพ้นจากการรุกราน ซึ่งทำให้เธอต้องเผชิญหน้ากับ คุณแม่จินเจอร์ (เฮเลน มิร์เรน) เจ้าแม่แห่งอาณาจักรหฤหรรษที่ถูกเนรเทศเพื่อช่วงชิงกุญแจมาให้ได้ก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป

อี.ที.เอ. ฮอฟฟ์มันน์ เขียนเรื่อง “เดอะ นัทแครกเกอร์ แอนด์ เดอะ เม้าส์ คิง” ในปี 1816 ต่อมา “เดอะนัทแครกเกอร์” ที่ดัดแปลงโดย อเล็กซองดร์ ดูมาส์ ผู้พ่อ เพื่อใช้กับดนตรีของไชคอฟสกี้และออกมาในยรูปแบบบัลเลต์ในปี1891 โดยการออกทุนของผู้อำนวยการของรัสเซียน อิมพีเรียล เธียเตอร์ส ออกแสดงครั้งแรก 1 อาทิตย์ก่อนวันคริสต์มาสในปี1892 เรื่องราวของบัลเลต์เทพนิยายนี้เกิดขึ้นในคืนก่อนวันคริสต์มาส และกลายเป็นธรรมเนียมวันหยุดไปทั่วโลก นิว ยอร์ค ซิตี้ บัลเลต์ แสดง “นัทแครกเกอร์” ของจอร์จ บาเลนชีนเป็นครั้งแรกในปี 1954 และด้วยความคลาสสิกของเรื่องราวสไตล์แฟนตาซีแบบนี้ มันก็ได้รับการดัดแปลงหลายครั้งทั้งอนิเมชั่นในชุดบาร์บี้ หรือภาพยนตร์คนแสดงที่มีทั้งหนังฮอลลีวูดและหนังรัสเซีย

แต่กระนั้นเมื่อมาอยู่ในมือของสตูดิโออย่างวอลต์ดิสนีย์ก็ย่อมได้รับความคาดหวังมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะทีมงานเบื้องหลังที่คัดมาขายคนดูทั้งผู้กำกับ ลาสซ์ ฮาลล์สตร์อม ที่ถนัดหนังดราม่าครอบครัว และโจ จอห์นสตันที่ถนัดหนังผจญภัย และได้ แม็คเคนซี่ ฟอย สาวน้อยหน้าสวยที่ดังมาจาก Twilight The Breaking Down Part 2 และ Interstellar มารับบทนำ แต่กระนั้นภาพรวมของหนังกลับออกมาผิดเบอร์ไปหมด เพราะบทหนังที่ดัดแปลงโดย แอชลี โพเวลล์ กลับเต็มไปด้วยช่องโหว่หลายอย่างตั้งแต่การวางปมตัวละครอย่างคลาร่าที่ไม่ชัดเจนโดยเฉพาะจุดมุ่งหมายที่จะให้คลาร่าเรียนรู้เรื่องความกล้าหาญทั้งที่หนังเปิดเรื่องมาก็เห็นเธอประดิษฐ์กับดักหนูแล้วเลยไม่ได้เห็นว่าเธอจะมีความกลัวหรือขี้ขลาดตรงไหน กระทั่งอาณาจักรในดินแดนคู่ขนานที่แทบไม่มีความสำคัญอะไรกับเรื่อง คนดูไม่สามารถเชื่อมโยงได้ว่าทำไม อาณาจักรต้องมีดอกไม้ ต้องมีเกล็ดหิมะ ต้องมีขนมหวาน หรือกระทั่งอาณาจักรแห่งความหฤหรรษ ทำไมถึงถูกปล่อยให้กลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรมและมีราชาแห่งหนูอยู่ในอาณาจักร โดยหนังให้เห็นแค่ว่าคลาร่าไปโชว์ตัวตามอาณาจักรต่างๆ และแต่ละอาณาจักรมีผู้สำเร็จราชการที่เคยอยู่ใต้การปกครองของแม่เธอเท่านั้น และเมื่อหนังไม่มีทางอื่นที่จะสร้างปมขัดแย้งให้หนังดูสนุกขึ้นมาบ้างก็ต้องอาศัยบทหักมุมง่ายๆอย่างการ หลงผิด ของนางเอกเพื่อสร้างสถานการณ์ผจญภัยตอนท้ายเรื่อง ซึ่งก็ดันเป็นปมที่เดาได้ง่ายแสนง่ายจนไม่เหลือความตื่นเต้นใดๆเลย มิหนำซ้ำเราแทบไม่เห็นเค้าของการกำกับของผู้่กำกับเก่งๆสองคนเลย จนแทบงงว่าทำไมหนังสนุกไม่ได้ครึ่งของ Jumanji (1995) ที่โจ จอห์นสตัน กำกับ หรือภาคดราม่าก็เหมือนถูกตัดทอนจนแทบไม่เห็นแง่มุมลึกซึ้งเหมือนหนังครอบครัวของ ลาสซ์ ฮาลล์สตร์อม อย่าง My life as a dog (1985) เลยสักนิดเลย

สิ่งที่ดึงเราอยู่กับเรื่องได้จริงๆคงเป็น งานออกแบบงานสร้างสุดงดงามของ กาย เฮนดริกซ์ ดิแอส, งานกำกับภาพของ ลีนุส แซนด์เกรน ที่เพิ่งมีผลงาน First Man ออกฉายไปที่งดงามราวภาพวาด,ดนตรีของ เจมส์ นิวตัน โฮเวิร์ด ที่หล่อเลี้ยงความเป็นแฟนตาซีไปได้ รวมถึงผลงานโชว์ของนักบัลเลต์ มิสตี้ โคปแลนด์ แห่ง อเมริกัน บัลเลต์ เธียร์เตอร์ และ เซอร์เก โพลุนิน เพื่อบอกเล่าความเป็นมาของโลกคู่ขนานให้คลาร่า ได้อย่างอย่างบรรเจิดสุดพลัง ช่วยให้การบอกเล่าแบบนิทานก่อนนอนยังมีอาหารตาและโสตสัมผัสที่งดงามสำหรับผู้ใหญ่อยู่บ้าง

ด้านนักแสดงคงต้องบอกว่านอกจากดวงหน้าสวยๆของน้อง แม็คเคนซี่ ฟอย แล้วก็ไม่มีใครให้การแสดงที่น่าประทับใจนักเพราะลำพังแค่การสร้างคาแรกเตอร์ คลาร่า ได้ไม่ชวนเอาใจช่วยแล้ว ตัวละครแวดล้อมก็ไม่มีเสน่ห์เอาเสียเลย ตั้งแต่ เคียร่า ไนต์ลี่ ในบท ชูการ์ พลัม ที่ออกแนวน่ารำคาญด้วยการดัดเสียงเล็กเสียงน้อย หรือ บทคุณแม่จินเจอร์ของ เฮเลน มิร์เรน ที่พูดไม่ถึง 10 ประโยค และที่น่าหนักใจสุดคือ มอร์แกน ฟรีแมน ในบทพ่อทูนหัว ที่เอาใครมาเล่นก็ได้ ซึ่งภาพรวมการแสดงที่เละเทะยังฟ้องถึงปัญหาในการจำกัดความคิดสร้างสรรค์ผู้กำกับของดิสนีย์ได้อย่างเด่นชัดอีกด้วย

ถือว่า The Nutcracker and the Four Realms ไม่อาจเทียบชั้นหนังไลฟ์แอ็คชั่นแฟนตาซีมาตรฐานของดิสนีย์ในอดีตได้เลย ซึ่งน่าคิดว่าถึงเวลาหรือยังที่ดิสนีย์จะยอมให้ผู้กำกับได้สร้างสรรค์หนังครอบครัวในแนวทางที่แตกต่างบ้างหลังความล้มเหลวด้านรายได้ติดกันมาตั้งแต่ Tomorrowland และ A Wrinkle of Time

ข้ามภพสู่อาณาจักรมหัศจรรย์คลิกซื้อตั๋วที่รูปด้านล่างได้เลย