[รีวิว] Girl ฝันนี้เพื่อเป็นเกิร์ล – วิบากกรรมทางเพศ..นิ่งแต่เจ็บลึก
Our score
9.0

Girl

จุดเด่น

  1. หนังนำเสนอจิตใจอันบอบช้ำของหญิงที่ต้องการข้ามเพศได้เอย่างถึงแก่น
  2. ภายใต้ความนิ่งหนังกลับถาโถมรสุมใส่ชีวิตตัวละครได้อย่างถึงแก่น
  3. ตัวละครถูกนำเสนอได้เป็นมนุษย์อย่างสมจริง

จุดสังเกต

  1. อาจไม่เหมาะกับคนที่ไม่คุ้นเคยการเล่าเรื่องแบบหนังยุโรป
  • ตรรกะ ความสมบูรณ์ของบท

    10.0

  • งานสมบูรณ์ของงานสร้าง

    9.0

  • ความแปลกใหม่

    10.0

  • ความสนุก บันเทิงแบบหนังทั่วไป

    7.0

  • ความคุ้มค่าตั๋ว

    9.0

กิตติศัพท์ของ Girl งานกำกับของ ลูคัส ดอนต์ จากเบลเยี่ยมถือว่าได้รับการตีฆ้องร้องป่าวมาแต่ไกล โดยกวาดรางวัลและคำชมขนมากองเรียกแขกกันตั้งแต่งานเทศกาลหนังเมืองคานส์ ทั้งรางวัลนักแสดงนำชายของ วิคเตอร์ โพลสเตอร์ ในสายนอกประกวด ( Un Certain Regard) และ ลูคัส ดอนต์ เองที่กวาดทั้ง กล้องทองคำ (Camera D’or) และปาล์มเควียร์สำหรับหนังสาย LGBTQ ถือเป็นหนังต้อนรับเทศกาลรางวัลเปิดศักราชปี 2019 ได้อย่างน่าสนใจ รวมถึงความอื้อฉาวของหนังที่นำเด็กยังไม่บรรลุนิติภาวะมาแสดงฉากเซ็กส์และโป๊เปลือยอันล่อแหลม

Play video

นอกจากการได้เรียนบัลเลต์ในโรงเรียนระดับประเทศแล้ว ลาฮา (วิคเตอร์ โพลสเตอร์) มุ่งหวังเพียงจะได้เป็นผู้หญิงโดยสมบูรณ์ แต่กระบวนการต่างๆกว่าที่เขาจะได้สิทธิในการแปลงเพศกลับโหดหินไม่แพ้การฝึกเต้นบัลเลต์ที่อาจสร้างรอยแผลทั้งทางกายและจิตใจได้อย่างแสนสาหัสที่มาทดสอบจิตใจของลาฮาว่าเขาจะได้เป็นผู้หญิงอย่างใจปรารถนาหรือไม่  

สนับสนุนเนื้อหาโดย Major Cineplex

ก่อนอื่นขอเตือนไว้ก่อนว่าใครหวังจะได้ดูหนังนักเต้นบัลเล่ต์เต้นเพื่อฝัน หรือหนังดราม่าสุดเค้นอารมณ์แบบ เพลงสุดท้าย ของอาพิศาล อัครเศรณี ขอให้หลีกเลี่ยง Girl ซะ เพราะตัวหนังถูกบอกเล่าให้ถูกจริตคอหนังยุโรปแบบทุกกระเบียดนิ้ว ทั้งการให้ข้อมูลตัวละครเท่าที่จำเป็น – ลาฮา กะเทยเยาวชนที่กำลังยื่นขอให้รัฐอนุมัติให้แปลงเพศและยังต้องหาพื้นที่ยืนในโรงเรียนสอนบัลเลต์ที่มีเพศเพียง 2 ในสังคมอันโหดร้าย แถมคอนฟลิกต์ของเรื่องยังบางเบา ไม่ได้มีตัวอิจฉาหรือคนใจร้ายมาเป็น แอนทาโกนิสต์ชัดเจน

แต่กระนั้นก็ใช่ว่าหนังจะถูกบอกเล่าอย่างน่าเบื่อหน่ายเพราะลูคัส ดอนต์ มั่นใจในพลังของเรื่องเล่าตัวเองมากพอจนเลือกใช้ภาพปานกลางและภาพใกล้มาถ่ายทอดชีวิตกะเทยอย่างลาฮาได้อย่าง เย้ายวน และ ตรึงอารมณ์ แถมยังกำหนดจังหวะเรื่องโดยเฉพาะการวางบอมบ์ให้คนดูซี้ดปากกับฉากคอนฟลิกต์ที่ดูเหมือนธรรมดาอย่างฉากที่ครูให้ ลาฮา ปิดตาแล้วโหวดว่านักเรียนหญิงมีปัญหามั้ยที่ ลาฮา จะได้เปลี่ยนชุดในห้องเดียวกับพวกเธอ ซึ่งด้วยความที่หนังปูคาแรกเตอร์ ลาฮา ให้เราผูกพันมาระดับหนึ่งแล้วเลยกลายเป็นฉากที่คนดูเหมือนถูกตบหน้ากลางสี่แยกไปด้วยอย่างช่วยไม่ได้ แถมหลังจากนั้นบทหนังยังโยนคลื่นสึนามิมาซัดชีวิตลาฮาและคนดูมาอีกหลายระลอก ทั้งหนักหน่วงทว่าไม่ดูจงใจจนกลายเป็นละครน้ำเน่า และท่ามกลางความนิ่งของหนังในที่สุดมันก็นำพาเราไปสู่จุดไคลแมกซ์สุดช็อกได้อย่างชวนสะพรึง

Girl ดูจะพูดถึงได้อย่างหนักหน่วงและชวนคิดคือการแบ่งแยกในเรื่องเพศ นอกจากฉากที่ครูถามสาวๆเรื่องห้องแต่งตัวในย่อหน้าที่แล้ว อีกฉากที่หนังเลือกยิงขีปนาวุธใส่คนดูหลังวางบอมบ์มาหลายลูกหนีไม่พ้นฉากในงานเลี้ยงที่ท้ายสุด ลาฮา ถูกบังคับจากสาวๆให้ “ชดเชย” ด้วยการเปิดจู๋ให้พวกเธอดู โดยที่ไม่ต้องมีคำพูดหรือน้ำตานองหน้า ลาฮา ได้แสดงออกชัดเจนว่าเธอไม่สบายใจกับการ “มองเห็น” จู๋ตัวเอง เพราะมันเป็นอุปสรรคเดียวที่กีดกันเธอจากการเป็นผู้หญิง และมันก็เป็นผลจากกฎเกณฑ์และอุปสรรคสำคัญนั่นคือ สังคม และ กฎหมาย ที่มักบีบบังคับจนกลายเป็นกรงขังไม่ให้ มนุษย์ปัจเจกชนที่นอกเหนือเพศ หญิง ชาย ได้มีสิทธิเลือก เพศ ของตัวเอง และทีละน้อยคำว่า Girl ที่หนังเลือกใช้เป็นชื่อเรื่องก็กลับมาเป็น คำเสียดเย้ยถึงสถานะของ ลาฮา ว่าเธอเป็นได้แค่ เกิร์ล แต่ยังไม่ใช่ วูแมน หรือ ผู้หญิง ด้วยสังคมและกฎหมายอย่างที่กล่าวไป เรียกได้ว่า ลูคัส ดอนต์ ได้ทำหนังเควียร์ ที่ดันมีน้ำเสียงแบบฝ่ายซ้ายจัดวิพากษ์เสรีภาพของปัจเจกชนได้อย่างลุ่มลึกและชวนถกเถียงยิ่งนัก

สำหรับนักแสดงคงต้องขอกล่าวถึง วิคเตอร์ โพลสเตอร์ ที่ไม่น่าเชื่อว่าน้องจะอายุแค่ 16 ปีเท่านั้นและความทุ่มเทในการแสดงของเขาคือต้องบอกว่าอยากให้คนที่อยากเป็นนักแสดงทุกคนดูไว้เป็นเยี่ยงอย่างนั่นคือการศึกษาจิตใจตัวละครมาเป็นอย่างดีจนสามารถถ่ายทอดด้านที่ละเอียดอ่อนของตัวละคร ลาฮา ได้อย่างหมดจดงดงาม โดยซีนที่ผมถือว่าเขาได้ละทิ้งตัวตนของนักแสดงเพื่อเป็นตัวละครโดยสมบูรณ์คือตอนที่ลาฮาบังคับน้องชายให้แต่งตัวไปโรงเรียนจนน้องชายตัวแสบเผลอพูดชื่อ วิคเตอร์ ออกมา ซึ่งวิคเตอร์ได้ใช้สายตาและร่างกายสื่อสารให้คนดูประจักษ์เลยว่าตอนนี้เขาคือ ลาฮา และกำลังสะเทือนใจเมื่อน้องชายพยายามเรียกเขาด้วยชื่อผู้ชายคนเก่าที่ลาฮาทิ้งมาเป็นเวลานาน หรือการแสดงออกถึงความแปลกแยกแตกต่างเวลาอยู่ท่ามกลางผู้หญิง ด้วยว่าตัวเองยังไม่ใช่ “พวกเดียวกัน” กับพวกเธออย่างสมบูรณ์จนเราไม่รู้สึกเลยว่ากำลังดูชีวิตกะเทยลำเค็ญเรื่องเยอะชีวิตพัง แต่กลับเห็นใจ เอาใจช่วยจนถึง “เจ็บ” ตามเมื่อหนังเดินเข้าสู่จุดไคลแมกซ์ แต่ด้วยวัยเพียง 16 ปีของ วิคเตอร์ โพลสเตอร์ แม้จะได้รางวัลมากมายจากเทศกาลหนังต่างๆสิ่งที่พ่วงมาด้วยอย่างช่วยไม่ได้คือ จริยธรรมของคนทำหนังอย่าง ลูคัส ดอนต์ ที่เอาเด็กยังไม่บรรลุนิติภาวะมารับงานแสดงที่ทั้งแรงและเปลืองตัวจนเกิดประเด็นอื้อฉาวอย่างช่วยไม่ได้

หนังจะเข้าฉายจริงวันที่ 10 มกราคม 2562 แต่จะเปิดรอบสนีคพรีวิวรอบ 2  ทุ่มเป็นต้นไปตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม งานนี้คอหนังรางวัลไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงครับ