[รีวิว] Kursk คูร์ส หนีตายโคตรนรกรัสเซีย – เล่าโศกนาฏกรรมแต่ไร้อารมณ์ร่วม
Our score
7.0

Kursk

จุดเด่น

  1. หนังมีเทคนิคเล่าเรื่องน่าสนใจ

จุดสังเกต

  1. บทหนังเลือกเล่าหลายประเด็นมากเกินไป
  2. บทหนังปูพื้นตัวละครไม่ดีเท่าไหร่
  • ความสมบูรณ์ของบทภาพยนตร์

    7.0

  • ความสมบูรณ์ของงานสร้าง

    7.0

  • งานถ่ายภาพและเทคนิคทางภาพยนตร์

    7.0

  • การเล่นกับอารมณ์คนดูจากงานกำกับ

    7.0

  • ความคุ้มค่าตั๋ว

    7.0

หนังเรือดำน้ำไม่ใช่ของแปลกใหม่แต่อย่างใด เราเคยผ่านตาทั้งหนังเรือดำน้ำในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในตำนานทั้ง Das Boot (1981) และ U571 (2000) หนังเรือดำน้ำยึดที่กัปตันยึดอำนาจกันเองในช่วงสงครามอ่าวอย่าง Crimson Tide (1995) หรือกระทั่งหนังแอ็คชั่นเรือดำน้ำดูเอามันที่เพิ่งผ่านตาเราไปไม่นานอย่าง Hunter Killer (2018) แต่ความน่าสนใจของ Kursk คงหนีไม่พ้นการหยิบเอาข่าวเรือดำน้ำอัปปางเมื่อปี 2000 มาสร้างเป็นภาพยนตร์

Play video

หลังเกิดเหตุระเบิดไม่คาดฝันขึ้น จนเรือ K-141 หรือ คูร์ส ดำดิ่งสู่ก้นทะเลแบเร็นตส์ ทำให้ มิคฮาอิล (แมตไธอัส สโกเอนนาเอิร์ธส์) ต้องหาทางรอดให้กับตนเองและเหล่าทหารเรือที่ติดอยู่ในเรือดำน้ำอัปปาง ในขณะเดียวกัน เดวิด รัสเซล (โคลิน เฟิร์ธ) ผู้การแห่งราชนาวีอังกฤษก็ต้องฝ่าฟันเกมการเมืองของรัสเซียจนเป็นอุปสรรคต่อการให้ความช่วยเหลือลูกเรือคูร์สที่ความหวังดูจะริบหรี่ลงทุกที แล้วมิคฮาอิลจะได้กลับไปพบทานย่า (ลีอา เซย์ดูซ์) ภรรยาสุดที่รักและลูกชายหรือไม่มีเพียงพระเจ้าเท่านั้นที่รู้

สนับสนุนเนื้อหาโดย Major Cineplex

จุดกำเนิดของ Kursk คือข่าวเรือดำน้ำอัปปางสุดวิปโยคเมื่อปี 2000 ที่มีส่วนโยงใยถึงการเมืองรัสเซียที่ในขณะนั้นพยายามอย่างถึงขีดสุดในการปกป้องศักดิ์ศรีของประเทศและความลับที่ไม่ต้องการให้ต่างชาติล่วงรู้จนเกิดเหตุโศกนาฏกรรมขึ้น โดยหนังเป็นผลงานของป๊าดันอย่าง ลุค เบซง ที่ขอผลักให้ โธมัส วินเทอร์เบิร์ก ผู้กำกับหนุ่มชาวเดนมาร์กมากุมบังเหียนหนังเรือดำน้ำที่สร้างจากโศกนาฏกรรมร่วมสมัย ซึ่งไอเดียของ วินเทอร์เบิร์กในการถ่ายหนังแบบ 2 อัตราส่วนโดยให้ซีนบนบกที่รัสเซียตอนต้นเรื่องและท้ายเรื่องเป็นภาพอัตราส่วนแบบ 4:3 เพื่อให้เห็นความใกล้ชิดของครอบครัว และฉากส่วนใหญ่ตั้งแต่ตอนออกเรือจนเผชิญวิกฤติให้เป็น 2.35:1 จอกว้างเพื่อให้เห็นถึงความเวิ้งว้างของใต้ทะเลก็ดูน่าสนใจดี แต่ปัญหาของหนังจริงๆกลับอยู่ที่บทหนังของ โรเบิร์ต โรดาร์ต ที่ให้รายละเอียดตัวละครไม่ลึกพอและยิ่งเล่าหลายประเด็นคนดูก็ยิ่งเอาใจออกห่างเหล่าทหารเรือที่กำลังประสบภัยออกไปทุกทีจนแทบไม่เหลืออารมณ์ร่วมเท่าใดนัก

ซึ่งแผลใหญ่สุดของหนังเห็นจะเป็นการโยงหลายเหตุการณ์มากเกินไปทั้งครอบครัวของเหล่าทหารเรือที่พยายามไปขอความกระจ่างถึงชะตากรรมของสามี หรือเรื่องการเมืองที่หนังดูจะให้ภาพอังกฤษเป็นพระเอกที่พยายามทำทุกทางที่จะรักษาชีวิตของทหารรัสเซียทั้งทึ่รัฐบาลเองกลับไม่เหลียวแลเท่าใดนัก จนสองเหตุการณ์ข้างต้นค่อยๆแย่งความสนใจหลักเราไปจากการเอาใจช่วยเหล่าทหารเรือที่ติดในเรือดำน้ำอัปปาง ซึ่งส่วนที่เป็นผลต่อเนื่องกันคือช่องโหว่หลายอย่างในบทหนังทั้งการไม่ปูพื้นตัวละครมากพอโดยเฉพาะ ผู้การเดวิด รัสเซล ที่นอกจากการอยู่ดีๆไปจับคลื่นโซนาร์ของเรือดำน้ำได้แล้ว หนังก็แทบไม่มีฉากที่ทำให้เราเชื่อได้ว่าอยู่ดีๆผู้การราชนาวีอังกฤษจะไปอยากช่วยเหลือทหารเรือรัสเซียทำไมทั้งเหตุผลด้านการเมืองหรือศีลธรรมก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้นหนังยังให้เวลาเราน้อยมากในการทำความรู้จักเหล่าทหารเรือ แม้ว่าหนังแทบจะลอกการเปิดเรื่องมาจาก The Deer Hunter (1978) ด้วยการสร้างฉากงานแต่งเพื่อปูพื้นความเป็นพี่เป็นน้องในหมู่ทหารเรือรัสเซียก็ตาม แต่กลับไม่ทำให้เราลึกซึ้งในสายสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนที่ดูจริงใจจนอยากเอาใจช่วยเท่าใดนัก

และแม้หน้าหนังจะพยายามปั้นด้วยดาราดังทั้ง โคลิน เฟิร์ธ หรือ ลีอา เซย์ดูซ์ แต่เอาเข้าจริงบททั้ง 2 นี่เอาใครเล่นก็ได้โดยเฉพาะบทผู้การรัสเซลที่แทบจะกลายเป็นตัวประกอบในทุกฉาก หรือ ลีอา เซย์ดูซ์ ที่เพิ่มน้ำหนักเล่นเป็นคนท้องก็ดันให้เวลาปูความสัมพันธ์น้อยเหลือเกินจนเราแทบจับอะไรเธอไม่ได้เลย ยิ่งหนังดำเนินเรื่องอย่างสะเปะสะปะ และนานเกินเหตุกว่าเครื่องจะติดก็ทำให้ Kursk กลายเป็นหนังที่ดูผิดฟอร์มไปหมดจะระทึกก็ไม่ จะดราม่าก็อ่อนจนกลายเป็นหนังเรือดำน้ำที่ไม่ได้สนองความบันเทิงเท่าใดนัก

ตีตั๋วดำดิ่งไปกับโศกนาฏกรรมจากเรื่องจริงคลิกเลย