[รีวิว] The Lion King – สมจริงแต่ไม่อิ่มใจ
Our score
7.6

The Lion King

จุดเด่น

  1. งานภาพอลังการน่าประทับใจ
  2. ได้เห็นตัวละครอันเป็นที่รักมีชีวิต เติมเต็มวัยเด็กได้ดีสำหรับคนดูการ์ตูนมาแล้ว
  3. เหล่าสิงโตน้อยน่ารักมาก เด็กๆน่าจะชอบ

จุดสังเกต

  1. หน้าสัตว์แสดงอารมณ์ไม่ได้ เลยส่งผลต่อดราม่าของเเรื่อง
  2. งานพากย์เสียง ถือว่ายังห่างไกลจากต้นฉบับ
  3. เพลงประกอบบางเพลงยังไม่เข้ากับจังหวะของหนังนัก
  • ตรรกะความสมบูรณ์ของบท

    7.0

  • คุณภาพงานให้เสียงพากย์

    7.0

  • คุณภาพโปรดักชั่น การผลิต ความแปลกใหม่

    9.0

  • ความสนุกน่าประทับใจ

    7.0

  • ความคุ้มค่าตั๋ว

    8.0

หลัง สกา (ให้เสียงโดย ชิเวเทล เอจิโอฟอร์) พระอนุชา วางแผนลอบปลงพระชนม์ มูฟาซา (ให้เสียงโดย เจมส์ เอิร์ล โจนส์) และเถลิงอำนาจเป็นกษัตริย์ผู้ครองผาทรนง ทำให้ ซิมบ้า (ให้เสียงโดย โดนัลด์ โกลเวอร์) หน่อเนื้อกษัตริย์แท้ๆต้องเนรเทศตัวเองไปไกลจากผาทรนง จนเขาได้พบกับ 2 คู่หู พุมบ้า (ให้เสียงโดย เซธ โรเจน)หมูป่าจอมป่วนและ ทีโมน (ให้เสียงโดย บิลลี ไอช์เนอร์) เมียร์แคตจอมกวน จนวันนึงที่ได้พบกับ นาลา (บียอนเซ่) สิงห์สาวคู่หมายวัยเยาว์อีกครั้ง ทำให้ ซิมบ้า ต้องตัดสินใจว่าเขาจะกลับผาทรนงเพื่อพิสูจน์ความกล้าและทวงคืนบัลลังก์อันชอบธรรมของตนอีกครั้งหรือไม่ 

Play video

สนับสนุนข้อมูลโดย Major Cineplex

 

 

 

 

 

 

หลังชิมลางทั้งหนังซูเปอร์ฮีโร่อย่าง Ironman (2008) และ The Jungle Book (2016) หนังประเดิมไลฟ์แอ็คชั่นจากสินทรัพย์แอนิเมชันดิสนีย์ไปแล้ว ก็ถือว่า จอห์น แฟฟโรว์ เหมาะกับการกุมบังเหียน The Lion King ฉบับสิงโตและสารพัดสัตว์แบบสมจริงเสียที มองเผินๆจากโพรไฟล์อาจจะคิดว่างานนี้ แฟฟโรว์เคี้ยวหมูแน่ๆ แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ อย่าลืมว่า ฉบับแอนิเมชันปี 1994 ถือเป็นงานคลาสสิกระดับชิ้นโบว์แดงที่แฟนๆรักและหวงแหนที่สุด ครองตำแหน่งทั้งแอนิเมชันวาดมือที่ทำเงินสูงที่สุดในโลก เคยกลับมาฉายทั้งแบบ IMAX และ 3D ที่ยังคงประสบความสำเร็จด้านรายได้ระดับปรากฎการณ์เช่นเดิม ดังนั้นการนำผลงานระดับขึ้นหิ้งแบบนี้หากไม่ได้รับดอกไม้ก็คงโดนกิโยตินจากทั้งคนดูและนักวิจารณ์รุมสับกันเละทีเดียว

ปัญหาจากความเป็น “แอนิเมชันอันเป็นที่รัก” ยังคงเป็นกรอบตีตราให้หนังดิสนีย์ไลฟ์แอ็กชันแทบทุกเรื่องทั้ง The Jungle Book, Beauty and The Beast หรือ Cinderella มาก่อนหน้านี้แล้ว เพราะหากผู้กำกับไม่กล้าบ้าบิ่นแบบ กาย ริชชี ที่เลือกดัดแปลงให้ Aladdin กลายเป็นนิทานอาหรับราตรีฉบับพังค์ ฮิปฮอป จนสำเร็จไปก่อนหน้านี้แล้วก็คงต้องเลือกดัดแปลงโดยบิดมุมมองอย่าง Maleficent แต่แล้ว The Lion King กลับเลือกจะเพลย์เซฟ ด้วยการอิงบทดั้งเดิมของ เจฟ นาธานสัน และ เบรนดา แชปแมน แบบแทบทุกกระเบียดนิ้ว ลามไปยันงานภาพที่เหมือนกางกระดาษลอกลายจากฉบับการ์ตูนแบบเกือบเฟรมต่อเฟรม โดยชูเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กราฟิกมารังสรรค์ให้ภาพ “ดูมีชีวิต” ขึ้นซึ่งก็กลายเป็นดาบสองคมอย่างช่วยไม่ได้

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอาจถือเป็นคุณูปการสำคัญที่ทำให้ช่วงชีวิตนี้ของผมได้กลับมาชม The Lion King ในโรงอีกครั้งแบบเห็นสิงโตดูเป็นสิงโต นกเป็นนก หมูป่า เมียร์แคต แบบเหมือนมีชีวิตจริงราวดูสารคดีสัตว์โลก กอปรกับภาพวิวทิวทัศน์อันงดงามของผาทรนง แอ่งน้ำอันเต็มไปด้วยนกฟลามิงโก้ และทุ่งหญ้าซาวันนาอันแสนงดงาม แต่ใดๆเลยล้วนไร้ความหมายเพราะตัวละครอันเป็นที่รักอย่างซิมบ้า มูฟาซ่า ทีโบน พุมบ้า นาล่า ต่างหากที่เราอยากกลับไปเจอพวกเขาอีกครั้ง ซึ่งโดยส่วนตัวผมประทับใจจุดนี้นะครับ การได้เห็นราฟิกิอุ้มซิมบ้าน้อยท่ามกลางความปลาบปลื้มของมูฟาซ่า ซาราบี และผองสรรพสัตว์แค่นี้ก็คุ้มเกินคุ้มแล้วล่ะ แถมเหล่าสิงโตน้อยยังน่ารักน่าเอ็นดูชวนอุ้มอย่างกับลูกแมวอีก ยิ่งตอนฉากร้องเพลง I Just Can’t Wait To Be King ที่มีนกฟลามิงโกยิ่งสวยงามเป็นอาหารตาที่เพลิดเพลินมาก และไฮไลต์สำคัญคงหนีไม่พ้นตัวละครที่เราโตมาพร้อมปรัชญาชีวิต ฮาคูน่า มาทาท่า อย่างทีโมน กับ พุมบ้า ที่ยังคงเป็นเหมือนเพื่อนช่วยปลอบประโลมเรามาตลอดร่วม 25 ปีที่ในหนังแบบสมจริงเราได้เห็น หมูป่า และ เมียร์แคต จอมกวนแต่จริงใจพร้อมไฝ่ว์ แค่นี้ภาพความทรงจำก็เหมือนถูกดึงมาปรากฎตรงหน้าให้ได้อิ่มเอมใจอีกครั้งแล้วล่ะ

และในความสมจริงของเทคโนโลยีซีจีไอก็ย่อมนำมาซึ่งราคาค่างวดสำคัญที่สุดนั่นคือ อารมณ์ร่วม เพราะการที่จะทำให้สัตว์ดูสมจริงย่อมหมายถึงการต้องพึ่ง “ตรรกะ” ในเชิงชีววิทยา เพราะในโลกความจริง สัตว์ไม่สามารถแสดงอารมณ์แบบมนุษย์ได้ แต่ในทางกลับกันเนื้อเรื่องและแก่นสารของ The Lion King คือการตีความบทะครโศกนาฏกรรมระบือโลกของวิลเลียม เชคสเปียร์อย่างแฮมเลต (Hamlet) ให้กลายเป็นนิทานสอนใจ ดังนั้นเราจึงไม่ได้เห็นสีหน้ากลัวสุดขีดของซิมบ้าน้อย ความกังวลตามหัวอกคนเป็นพ่อของมูฟาซาที่ไม่อยากให้ลูกน้อยถูกควายป่าเหยียบตาย หรือที่สำคัญคือความหน้าเนื้อใจเสือของ สกา ที่มีแผนทุรยศต่อพระเชษฐาตัวเอง ดังนั้นสิ่งเดียวที่คนดูจะได้รู้ว่าเหล่าตัวละครสรรพสัตว์คิด รู้สึกอย่างไร เลยต้องพึ่งพาเสียงพากย์เพียงอย่างเดียว และแน่นอนมันเลยนำไปสู่การเปรียบเทียบสำหรับคนที่ผ่านประสบการณ์ชม The Lion King ฉบับแอนิเมชันปี 1994 ในประเด็นต่อๆมาทั้งเสียงพากย์และเพลงประกอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ก่อนจะพูดถึงเหล่าดารานักพากย์ สิ่งหนึ่งที่เราต้องตระหนักคือคราวนี้ จอห์น แฟฟโรว์เลือกให้นักแสดง “แสดง” เป็นตัวละครและพยายามออกแบบการทำงานให้เหมือนพวกเขาได้สวมบทบาทกันจริงๆ ดังนั้นวิธีคิดจะต่างจากการ “พากย์” ที่ต้องให้จังหวะ น้ำเสียงและการแบ่งคำต้องตรงกับแอนิเมชันที่ถูกตัดต่อมาแล้ว เริ่มและหยุด เน้นคำให้หนักตามปากตัวละคร และผลลัพธ์คงต้องพูดตรงๆว่า หลายฉากดูไม่จืดทีเดียว เพราะในขณะที่นักแสดงถ่ายทอดอารมณ์สมจริงตามตัวละครแต่ “ตัวละครที่ดูสมจริง” กลับให้ภาพแค่พะงาบๆปากเปิดปิดเฉยๆ จนเสียงกับสีหน้าตัวละครไม่สัมพันธ์กัน แม้กระทั่ง เจมส์ เอิร์ล โจนส์ ที่กลับมาพากย์มูฟาซ่า เราก็ยังไม่รู้สึกถึงความเมตตาหรือความรักต่อลูกที่หนักแน่นดังหินผาเหมือนฉบับแอนิเมชันนัก ซึ่งวิธีการนี้มันพอไปรอดกับฉากคอเมดี้ทั้ง ซิมบ้า นาล่า ตอนเป็นสิงโตน้อย และ พุมบ้า กับ ทีโบน ที่อาศัยบุคลิกตลกๆของหมูป่ากับเมียร์แคตแล้วเสริมด้วยเสียงพากย์จากดาราตลกเข้าไปได้อย่างไม่สะดุดเท่าใดนัก แต่รอยด่างพร้อยที่สุดของงานพากย์คงหนีไม่พ้นตัวละคร สกา จริงอยู่ว่า ชิเวเทล เอจิโอฟอร์ อาจเคยเล่นเป็นผู้ร้ายมาบ้าง แต่กลับ สกา ที่เสียงของ เจเรมี ไออ้อน ยังคงดังกังวาลในความทรงจำของผม เสียงทุ้มต่ำของ ชวีเทล เลยกลายเป็นโทนต่ำชวนง่วงและไม่นำพาอารมณ์ร่วมไปอย่างน่าเสียดาย

และอีกองค์ประกอบที่หลายคนจับตามองคืองานเพลงประกอบหนัง สำหรับดนตรีประกอบของฮานส์ ซิมเมอร์ ก็ยังสามารถกินบุญเก่า บวกปรับปรุงให้อลังการขึ้นเอาตัวรอดได้สบาย แต่กับงานออกแบบ-ตีความเพลงประกอบหนังใหม่ของ ฟาเรล วิลเลียม ที่โดยส่วนตัวก็ถือว่ารับเผือกร้อนไม่ต่างจากจอห์น แฟฟโรว์ ผู้กำกับหนังต่างหากที่เหมือนแต่ละเพลงผ่านไปก็โดนคนดูตัดเกรดไปเรื่อยๆ ซึ่งสำหรับเพลง Circle of Life อันนี้คือแทบเหมือนเดิมก็ยังไม่เลวร้ายนัก I Just Can’t Wait To Be King ได้เสียงใสๆของ เจดี แมคเครรี และ ชาฮาดี ไรต์ โจเซฟ มาดูเอตก็ยังฟังน่ารักดี รวมถึงเพลง Hakuna Matata ก็ยังเอาตัวรอดได้ด้วยเสน่ห์ของนักพากย์ที่ร้องได้มีสีสัน แต่จุดผิดพลาดแบบให้อภัยไม่ได้ของ ฟาเรล วิลเลียม จริงๆคือการเลือกขลิปเพลง Be Prepare ของ สกา ออก ไม่แน่ใจว่าเพราะ ชิเวเทล เอจิโอฟอร์ร้องไม่ได้หรืออย่างไร แต่ความสำคัญของมันหนักหนามากหากใครได้ดู เวอร์ชัน ต้นฉบับที่เจเรมี ไอออน ร้องไว้ เพราะมันสื่อถึงความเจ้าเล่ห์ ความทะเยอทะยานของสกาได้อย่างหมดจด และทำให้เราเข้าใจว่าทำไมสกาถึงเจ็บแค้น มูฟาซา มาก ซึ่งการเลือกขลิปเพลงให้สั้นเลยทำให้สารตรงนี้ไม่ออกและทำให้การลอบปลงพระชนม์มูฟาซาของสกาเป็นเพียงความทะเยอทะยานเท่านั้นเอง และแน่นอนเพลง Can You Feel The Love Tonight ที่ของเดิมขึ้นแท่นเพลงประกอบภาพยนตร์สุดโรแมนติกก็กลับมาในฉบับ R&B ซึ่งยอมรับว่าไพเราะน่าฟังนะครับ แต่พอมาประกอบกับภาพหนังกลับรู้สึกว่าไม่เข้ากัน การเอื้อนของทั้ง บียอนเซ่ และ โดนัลด์ โกลเวอร์ กลับทำให้ไม่รู้สึกเหมือนตัวละครกำลังร้อง มันเลยกลายเป็น มิวสิกวีดีโอ ของ บียอนเซ่ และ ไชล์ดิช แกมบีโน่ ที่มีภาพจาก The Lion King ไปประกอบเสียมากกว่า

หากยึดตามคำพูดของมูฟาซาที่ว่า ช่วงเวลาของคิงมีทั้งขึ้นเหมือนพระอาทิตย์ยามรุ่งอรุณและดับสลายเหมือนยามอัศดงแล้ว ก็ยังถือว่า The Lion King คือการต่อช่วงเวลาอันรุ่งเรืองของดิสนีย์ได้ดีเลยทีเดียว โดยเฉพาะผลประโยชน์มากมายที่ตามมาทั้งสินค้าจากหนังรวมถึงมูลค่าของคาแรกเตอร์ที่สามารถสานต่อรายได้เข้าอาณาจักรได้ไม่รู้จบ และแม้จะขัดใจแฟนแอนิเมชันต้นฉบับแค่ไหนแต่เชื่อเถอะว่าลึกๆยังไงเราก็ยังอยากกลับไปเจอเพื่อนเก่าที่เรา “โตมาด้วยกัน” อีกครั้งแน่ๆ เอาล่ะ ท่องไว้ว่า ฮาคูน่า มาทาท่า แล้วไปสนุกกับเหล่าตัวละครอันเป็นที่รักของ The Lion King กันทั้งครอบครัวกันดีกว่า

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส