[รีวิว] นางนาก – 20 ปีแห่งหนังไทยพลิกวงการ
Our score
8.0

นางนาก

จุดเด่น

  1. เป็นโอกาสดีที่เด็กรุ่นใหม่จะได้สัมผัส นางนาก ในโรง
  2. งานภาพ สมควรดูในโรงอย่างยิ่ง

จุดสังเกต

  1. ฉากที่ถ่ายมามืด ขึ้นนอยซ์จนขัดตามากไปหน่อย
  • ตรรกะ ความสมบูรณ์ของบท

    8.0

  • คุณภาพนักแสดง

    8.0

  • คุณภาพงานสร้าง

    8.0

  • ความน่าประทับใจ กับหนังในความทรงจำ

    8.0

  • คุ้มค่าตั๋ว

    8.0

หลังตั้งท้องได้ไม่เท่าไหร่ มาก (วินัย ไกรบุตร) ต้องเดินทางไปออกรบแนวหน้าจำต้องจรจาก นาก (อินทิรา เจริญปุระ) เมียท้องแก่ไว้พระโขนงด้วยเวลาผ่านหลายเดือนทำให้นากจำต้องคลอดบุตรแต่โชคร้ายที่ท้ายสุดต้องตายทั้งกลม โดยวิญญาณได้เฝ้ารอ มาก ผัวรักกลับมาเสมอ และแม้มากจะกลับมาอยู่กินกับวิญญาณเมียรักโดยไม่รู้ความจริง แต่นากก็พยายามปรนนิบัติผัวอย่างดีที่สุดท่ามกลางความเกลียดกลัวของชาวบ้าน จนเกิดเป็นตำนานรักแห่งบางพระโขนงที่ความตายก็ไม่อาจพรากหัวใจรักแห่งนาง…

สนับสนุนเนื้อหาโดย Major Cineplex

Play video

นางนาก ครองตำแหน่งหนังไทยร้อยล้านเรื่องแรกในประวัติศาสตร์เมื่อครั้งออกฉายปี 2542 สร้างความคึกคักให้วงการจนเกิดหนังไทยจากผู้กำกับรุ่นใหม่ที่สร้างงานคุณภาพมากมาย โดยหากกล่าวถึงเฉพาะ นางนาก เราอาจมองได้ทั้งการนำตำนานที่รู้จักกันดีอยู่แล้วอย่าง แม่นาคพระโขนง มาบิดมุมมองผ่านบทภาพยนตร์ของ วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง ที่มุ่งเน้นดราม่าและอารมณ์โรแมนซ์ระหว่างคู่รักที่มักแคล้วคลาด หรือฝรั่งเรียก Star Crossed Lovers จนเกิดกระแสความนิยมในหมู่คนดูหนัง กับอีกมุมหนึ่งคือการพลิกโฉมการสร้างหนัง โดยก่อนหน้านี้ที่หนังไทยเข้าภาวะซบเซาในยุค 2530 อันเกิดจากการไหล่บ่าของหนังแนวกระโปรงบานขาสั้น ตลอดระยะเวลาร่วม 10 กว่าปีแทบไม่มีหนังไทยเรื่องไหนทำเงินเลยจนกระทั่งเกิดปรากฎการณ์หนังไทยเฉียดร้อยล้านครั้งแรกกับ 2499 อันธพาลครองเมือง ของนนทรีย์ นิมิบุตร ที่ออกฉายก่อนนางนาก 2 ปี ในปี 2540 ที่ทำเงินไปได้ 75 ล้านบาทซึ่งถือว่าสูงมากแล้ว ดังนั้นการมาของชายชื่อนนทรีย์ นิมิบุตร จึงเป็นเหมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงสำหรับวงการหนังไทยก็ไม่ผิดนัก เพราะจากปรากฎการณ์หนังไทยร้อยล้าน นายทุนก็เริ่มกล้าลองตลาดกับผู้กำกับที่จบสาขาภาพยนตร์โดยตรงโดยเฉพาะกลุ่มผู้กำกับ แฟนฉัน ที่จบจากนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ตามหลังความสำเร็จมาในอีก 3 ปีต่อมา (โดยชื่อที่เรามาค้นพบหลังดูไปไม่รู้กี่รอบก็คือ คมกฤษ ตรีวิมล ที่เคยทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้กำกับ นางนาก ได้กลายเป็นหนึ่งในผู้กำกับ แฟนฉัน ในเวลาต่อมา)

แต่พ้นจากตำนานและผลกระทบต่อประวัติศาสตร์หนังไทยไปแล้ว โดยเนื้องานต้องบอกว่าเต็มไปด้วยรายละเอียดที่เหมาะแก่การดูซ้ำในวันนี้ และรวมถึงการชักชวนให้เด็กรุ่นใหม่ได้เข้าไปสัมผัสกับประสบการณ์ภาพยนตร์ไทยที่สร้างได้ประณีตยิ่งนัก โดยเฉพาะการออกแบบงานสร้าง งานถ่ายภาพและดนตรีประกอบที่เป็นเหมือนงานสร้างระดับมาตรฐานสากลอย่างแท้จริง ทั้งการกำหนดเฟรมภาพของน้ากล้วย ณัฐวุฒิ กิตติคุณ ที่เล่นสัดส่วนตั้งแต่ฉากไอคอนอย่าง แม่นากยืนรอที่ท่าน้ำ ไปจนถึงฉากห้อยหัวที่ศาลาวัดอันโด่งดัง ซึ่งสอดประสานกับงานสร้างของ เอก เอี่ยมชื่น ที่เนรมิตรโลกใน นางนาก ได้อย่างอัศจรรย์ และที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือดนตรีประกอบโดย ชายชาติ พงษ์ประภาพันธ์ กับ ภควัฒน์ ไวยวิทย์ ที่สอดประสานทั้งไทยและสากลได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะเพลงประกอบที่ได้เสียงเอื้อนของ หนู มนต์ทิพย์ ลิปิสุนทร (อดีตนักร้องนำ Kidnapper และปัจจุบันเป็นดีเจคลื่น Cat Radio) ที่ยังคงความหลอนเข้ากับเรื่องราวแบบติดหูออกมาจากโรงได้เป็นอย่างดีเลยล่ะ

ทีนี้มาว่ากันที่การรีมาสเตอร์ที่บอกกันว่าให้ความคมชัดระดับ 4K กันบ้าง ก่อนอื่นเราว่ากันถึงระบบฉายเมื่อปี 2542 กันก่อน การฉายด้วยระบบฟิล์มเซลลูลอยด์ในยุคนั้นถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติต่อเนื่องมาช้านานในยุคที่หนังยังคงถ่ายทำด้วยฟิล์มกันอยู่ ดังนั้นหากจะถามว่าหนังชัดขึ้นกว่าเดิมมั้ยก็ต้องบอกว่าเทียบกันไม่ได้ครับ ฮ่าาาาา แต่สิ่งหนึ่งซึ่งถือเป็นสัจธรรมก็คือ ฟิล์ม เป็นมาสเตอร์ที่เก็บได้ยาวนานที่สุดและเสียคุณภาพน้อยที่สุด ตลอดจนถือว่าค่อนข้างปลอดภัยที่สุดด้วยผิดกับระบบดิจิทัลที่สุ่มเสี่ยงต่อการสูญหายจากเหตุไม่คาดฝันมากที่สุด และที่สำคัญที่สุด-ในทางหลักการบันทึกภาพมันคือการสอดประสานระหว่างธรรมชาติคือ แสง หรือ ไฟที่จัด กระทบเลนส์แล้วส่งผ่านเกตไปยังฟิล์ม ดังนั้นความละเอียดภาพในยุคนั้นเลยไม่ได้มานั่งคำนวนกันว่ามันชัดกี่พิกเซลแบบยุคปัจจุบันนะครับแต่ความมหัศจรรย์ของมันก็คือฟิล์มสามารถเก็บรายละเอียดสเปกตรัมของสีสันและแสงต่างๆได้กว้างกว่าดิจิทัล ดังนั้นการนำฟิล์มมารีมาสเตอร์จึงเป็นเหมือนการสแกนฟิล์มแล้วแก้เพียงริ้วรอยของกาลเวลาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ยิ่งนางนากเพิ่งผ่านมา 20ปี จึงไม่ต้องซ่อมล้างใหญ่เหมือนหนังที่มีอายุมากกว่านี้เท่าไหร่นัก

ซึ่งจากการรับชมด้วยตาในรอบปฐมทัศน์แล้วก็ต้องบอกว่า ตัวหนังมีความคมชัดและโทนภาพของหนังก็ยังคงเหมือนเดิมเหมือนเมื่อ 20 ปีก่อนเป๊ะๆ เรื่องเสียงเชื่อว่าไม่ได้ปรับเพิ่มเพราะของเดิมก็คือเป็นระบบดอลบี ดิจิทัลแล้ว ดังนั้นการนำมาฉายคราวนี้จึงเหมือนเราได้นั่งย้อนไทม์แมชชีนกลับไปในโรงเมื่อ 20 ปีก่อนมากกว่าจะบูรณะจนมันเหมือนเพิ่งสร้างเสร็จเมื่อวานแบบหนังคลาสสิกเรื่องอื่น ส่วนงานภาพแม้ในภาพรวมจะถือว่าคมชัด ใสกิ๊ก แต่ฉากที่มีความมืดจะเจอจุดบอดชัดที่สุด เพราะของเดิมเป็นฟิล์ม เมื่อพรินต์ลงฟิล์มมันก็ยังเห็นเป็น เกรนฟิล์ม ดูสวยงาม แต่พอมาแปลงเป็น ดิจิทัล เกรนกลายเป็นนอยซ์ เลยทำให้ฉากไหนที่ถ่ายมามืดกลายเป็นขึ้นนอยซ์ไม่สวยงามจนน่าเสียดาย ทั้งที่ซีนอื่นๆทำออกมาได้สวยสดงดงามมากทีเดียว

แต่อย่างไรก็ตามการกลับมาฉายครั้งนี้ของ นางนาก ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี ที่เราะจะได้แนะนำหนังไทยอันเป็นตำนานทั้งในเชิงความโด่งดังระดับหนังทำเงิน 150 ล้านบาทและหนังที่สมบูรณ์พร้อมในงานสร้างแบบครั้งหนึ่งในชีวิตต้องชมในโรงภาพยนตร์ให้เด็กรุ่นใหม่ๆได้ศึกษา หรือได้ย้อนเวลาไปรำลึกความหลังที่เคยต่อแถวซื้อตั๋วแบบลุ้นหืดขึ้นคอ ก็ควรค่าแก่การกลับมาชมใหม่ทั้งนั้นครับ

หนังจะเข้าฉายระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคมถึง 31 กรกฎาคม โดยจะเปิดรอบสนีกพรีวิวรอบพิเศษในวันที่ 24 กรกฎาคมรอบ 20:00 น. ทั้ง โรงภาพยนตร์พารากอนซีนีเพล็กซ์ และ เอสเอฟเวิลด์ซีนีมา เซ็นทรัลเวิลด์ รอบเดียวเท่านั้นโดยรายได้จะสมทบทุนให้คุณเมฆ วินัย ไกรบุตร ใช้ในการรักษาโรคตุ่มน้ำพองต่อไป

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส