[รีวิว] JUDY จูดี้ การ์แลนด์ – ดาวค้างฟ้าผู้หลงทางในเมืองมรกต
Our score
9.0

JUDY

จุดเด่น

  1. เรเน่ เซลเวเกอร์ ถอดวิญญานเล่นแบบควรค่าแก่การคืนสู่วงการจริงๆ
  2. การลำดับเนื้อหา น่าสนใจ และทำให้เรารู้จัก จูดี การ์แลนด์ ได้ลึกซึ้ง
  3. ซีนร้องเพลง Over The Rainbow คือทรงพลังมากๆ

จุดสังเกต

  • ความดีงามของบทหนัง

    9.0

  • คุณภาพนักแสดง

    9.0

  • คุณภาพงานสร้าง

    9.0

  • ความสนุกน่าติดตาม ความแปลกใหม่

    9.0

  • คุ้มค่าตั๋ว

    9.0

จูดี การ์แลนด์ (เรเน่ เซลเวเกอร์) ดาวค้างฟ้าในวัย 47 ปีกำลังเผชิญกับวิกฤติชีวิต เมื่องานที่อเมริกาเริ่มหดหายและเผชิญคดีฟ้องสิทธิ์เลี้ยงดูลูกจาก ซิด (รูฟัส ซีเวล) อดีตสามีที่ยื่นข้อเสนอให้ลูกอยู่กับเขา จนทำให้เธอต้องระหกระเหินรับงานร้องเพลงที่ลอนดอนเพื่อหาเงินมาจ้างทนาย แต่ด้วยอุปนิสัยดาราใหญ่เอาแต่ใจและภาวะจากโรคซึมเศร้าเรื้อรังที่พาความทรงจำวัยเด็กที่เธอเอาความสุขแลกกับชื่อเสียงทำให้ จูดี ต้องเอาชนะปมในใจตัวเองตลอดจนการเข้ามาของ มิคกี (ฟิน วิตทรอค)คนรักใหม่ที่ขายฝันถึงชีวิตที่ดีกว่า แต่สุดท้ายจูดีจะสมหวังกับความรักและพิสูจน์ให้โลกเห็นว่าเธอคือศิลปินอันทรงคุณค่าคนหนึ่งได้หรือไม่

Play video

 

สนับสนุนเนื้อหาโดย Major Cineplex

JUDY ดัดแปลงจากบทละครเวที End of the rainbow ที่เคยจัดแสดงในปี 2005 ของปีเตอร์ ควิลเทอร์ โดยความน่าสนใจของตัวบทละครคือการกำหนดศูนย์กลางของเรื่องอยู่ที่โชว์ใน ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ที่ลอนดอนซึ่งเป็นเหมือนเวทีพิสูจน์สถานะของดาวที่ใกล้อับแสงอย่าง จูดี การ์แลนด์ และยังเป็นหนทางเดียวที่เธอจะพอหาเงินไปจ้างทนายมาต่อสู้คดีเพื่อสิทธิเลี้ยงดูลูก โดยตัดสลับกับเหตุการณ์สมัยจูดี การ์แลนด์ต้องร่วมงานกับ หลุยส์ บี เมเยอร์ (ริชาร์ด คอร์เดอรี) ผู้บริหารสตูดิโอเอ็มจีเอ็ม ทำให้เห็นว่าเพื่อชื่อเสียงเธอต้องแลกกับทั้งความสุขในการกิน การกินนอน โดยหวังเพียงเสียงเชียร์จากแฟนๆและเงินทองที่ไหลมาหาเธอจากการทำงานหนัก โดยหนังฉลาดมากที่เลือกเปิดเรื่องที่ฉากระหว่าง จูดี การ์แลนด์ กับ หลุยส์ บี เมเยอร์ ที่ฉากจาก The Wizard of Oz โดยทั้งคู่ได้เดินจากแบ็กดรอปบ้านโรงนาออกมายังถนนอิฐสีเหลืองดังคำในนิยายของ แอล แฟรงค์ บอมที่ว่า “ให้เดินไปตามถนนสีเหลือง” ซึ่งเป็นการเปรียบเปรยอันชาญฉลาดว่าชีวิตของ จูดี ที่เราจะได้รับชมต่อไปนี้ก็แทบไม่ต่างจากการผจญภัยในเมืองมรกตของพ่อมดออซ ที่จูดี จำต้องตามหาทั้ง “หัวใจ”  ต้องใช้ “ความกล้า” และ “สมอง” ไม่ต่างจากหุ่นกระป๋อง สิงโต หรือ หุ่นไล่กา ที่โดโรธีอย่างเธอเคยช่วยพวกเขาไว้เลยแม้แต่น้อย

JUDY (2019)

หนังเลือกช่วงเวลาที่ชีวิตของจูดีในอเมริกาเริ่มตกต่ำ โดยเราจะเห็นในซีนที่หลังจากตัดสลับมาเล่าเหตุการณ์ปัจจุบันแล้วว่า จูดี จำต้องอาศัยโรงแรมนอนและหอบหิ้วลูกๆไปร้องเพลงตามบาร์ต่างๆแลกกับค่าจ้างเพียงเล็กน้อยเพื่อประทังชีวิต โดยหนังก็ยังอุตส่าห์แอบหยอดองค์ประกอบของเมืองพ่อมดออซด้วยการให้ จูดี นั่งแท็กซี่สีเหลืองเป็นพาหนะหลักและเมื่อขาดที่พึ่งเธอก็พาลูก ๆ ไปอยู่กับ ซิด อดีตสามีที่เธอเพิ่งเลิกราไป โดยจากบทสนทนาของทั้งคู่ทำให้รอยร้าวที่ไม่มีวันกลับมาประสานได้เหมือนเดิมทั้งเรื่องที่จูดีเคยเบี้ยวงานและปัญหาติดการพนันของซิด และในเวลาต่อมาหนังก็เริ่มแสดงให้เห็นจุดเริ่มความสัมพันธ์ระหว่างจูดี กับ มิคกี (ฟิน วิตทรอค) คนรักใหม่ที่เจอกันในงานปาร์ตีบ้านของ ไลซา มิเนลลี (เจมมา ลี เดเวอโร) ลูกสาวคนโต แถมมิคกียังติดตามมาขายฝันถึงอนาคตอันสดใสกับเธอถึงลอนดอน ซึ่งหากคิดให้ดีแล้วการที่หนังเลือกบอกเล่าเรื่องราวของครอบครัวบ้านแตกและการโหยหาความรักก็ทำให้ชีวิตจูดีไม่ต่างจากหุ่นกระป๋องใน Wizard of Oz เพียงแต่ภารกิจของเธอคือการหาเงินให้มากพอไปต่อสู้เพื่อเอา “หัวใจ” อย่างลูก ๆ ของเธอคืนมานั่นเอง

JUDY (2019)

แต่ใช่ว่าหนังจะเสนอแต่ภาพด้านดี ด้านสวยงามของจูดี การ์แลนด์เท่านั้น ด้วยความที่จูดีโด่งดังและเดินบนถนนมายาที่แทบไม่ต่างจากถนนอิฐสีเหลืองในเมืองอ็อซมาตั้งแต่อายุยังน้อย แต่พอวันนึงที่เธอถูกสตูดิโอเอ็มจีเอ็มตัดหางปล่อยวัด เธอจึงเดินหน้าเข้าหาอบายมุกทั้งเหล้ายาปลาปิ้งและความสัมพันธ์กับผู้ชายอันหลากหลาย ซึ่งจูดีในหนังเองก็ปรากฎกายพร้อมแก้วเหล้าและบุหรี่ในมือเสมอ แถมยังมีฉากที่เธอดื่มหนักจนเกือบจะแสดงไม่ได้ ซึ่งแทนที่ผลลัพธ์จะทำให้คนดูรู้สึกสมเพชและอยากเย้ยหยันแต่กลับกลายเป็นว่าหัวใจคนดูเหมือนถูกบีบให้เห็นดาวค้างฟ้ามีชีวิตตกต่ำจนน่าเห็นใจแทน ยิ่งหนังฉายภาพแฟลชแบกไปยังตอนจูดีเด็ก ๆ ยิ่งทำให้เห็นว่าชีวิตเธอแทบไม่ต่างจากสินค้าของเอ็มจีเอ็มทั้งการทำงานแบบแทบไม่มีเวลาพัก ไม่สามารถกินอาหารปกติได้เพื่อรักษารูปร่าง เผชิญอาการนอนไม่หลับจากยาลดความอยากอาหาร ซึ่งนั่นทำให้คนดูอภัยให้จูดีได้เลยเมื่อเห็นเธออาละวาดใส่ผู้ร่วมงานหรือกระทั่งเห็นใจกับอุบัติเหตุบนเวทีและการโจมตีของสื่อที่ทำให้เธอเกือบตกงานและเฝ้าลุ้นให้เธอ “คิดได้” และกลับมาเป็น จูดี การ์แลนด์ ผู้เฉิดฉายเช่นเดิม

JUDY (2019)

อย่างที่กล่าวไปว่าหนังเน้นเหตุการณ์หลักคือการแสดงโชว์ที่ ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ของจูดี ซึ่งหนังก็แสดงให้เห็นอุปสรรคอีกข้อของจูดีนั่นคือ อาการตื่นเวที โดยในคืนแสดงรอบปฐมทัศน์ เธอดื่มหนักจนเดินทางไม่ไหว เดือดร้อนโรซาลีน (เจสซี บัคลีย์) ผู้ช่วยของเธอต้องเอาช่างแต่งหน้าไปช่วยพาเธออกจากที่พักมายังร้าน ซึ่งพอมาถึงเราก็เห็นอาการตื่นเวทีของเธอชัดเจนแต่ก็ทำให้เห็นโมเมนต์ที่ “ความกล้าหาญ” ให้ผลลัพธ์ที่หอมหวานต่อเธอเป็นภาพคนดูส่งเสียงเชียร์และปรบมือกึกก้องนั่นเอง แต่ยังไม่หมดแค่นี้หนังยังแอบใส่เหตุการณ์เล็ก ๆ ที่เธอได้ไปดินเนอร์กับคู่รักชาวเกย์ที่บ้าน แม้ว่าหนังจะไม่พูดตรง ๆ แต่เหตุการณ์เล็ก ๆ นี้ยังอ้างอิงถึงเหตุการณ์ที่เธอเคยกล้าออกมาพูดให้คนยอมรับในความแตกต่างและหลากหลายทางเพศอันเป็นเรื่องที่สังคมยังไม่ยอมรับและกลายเป็น เกย์ไอคอน ระดับตำนานในที่สุดอีกด้วย

JUDY (2019)

สำหรับจุดเด่นอีกข้อนอกจากบทดัดแปลงของหนังที่ทำได้อย่างดีเยี่ยมแล้ว งานภาพและการออกแบบงานสร้างเองก็โดดเด่นไม่น้อย โดยเฉพาะฉากในโรงละครเอ็มจีเอ็มที่เล่นกับความเป็นแบ็กดรอปที่สมจริงแต่ก็ลวงตานอกจากฉากหนังพ่อมดออซแล้ว เรายังได้เห็นฉากงานปาร์ตีที่มีสระน้ำเป็นพรอปเพื่อถ่ายทำงานวันเกิดปลอม ๆ ให้จูดีจนมันแสดงให้เห็นว่าชีวิตวงการมายาเป็นเรื่องลวงโลกแค่ไหนโดยแทบไม่ต้องอธิบายเยอะเลย ซึ่งในภาพรวมแล้วก็ต้องชม โรเบิร์ต กูลด์ ผู้กำกับหนังที่คุมทุกองค์ประกอบออกมาได้ลงตัวและใส่ความคิดสร้างสรรค์จนทำให้หนังออกมาน่าจดจำเพียงนี้ แต่กระนั้นก็ต้องยอมรับว่าความดีของงานกว่า 70%. มาจากความโชคดีของเขาที่ได้นักแสดงอย่าง เรเน่ เซลเวเกอร์ ที่เราจะกล่าวถึงต่อไป

สำหรับเส้นทางชีวิตของ เรเน่ เซลเวเกอร์ แล้วเราอาจไม่สามารถเทียบเคียงในแง่ความเป็นไอคอนกับ จูดี การ์แลนด์ ได้ในระดับที่มองเห็นด้วยตาเปล่า แต่คำพูดหนึ่งในซีนบนเวทีของ จูดี การ์แลนด์ ที่ขอร้องทุกคนว่า “อย่าลืมเธอ” ก็แทบจะแทนเส้นทางอาชีพของเรเน่ได้อย่างประหลาด กล่าวอย่างสั้นในเกร็ดเบื้องหลังงานสร้างของหนัง Jerry Maguire (1996) เธอเองเคยเกือบถูกลืมหลังแคสติงในวันดวงซวย จนกระทั่งคาเมรอน โคร์ว ผู้กำกับนึกถึงเธอได้และเรียกเธอกลับมาแคสต์คู่ทอม ครูซ ในเวลาถัดมา และเธอได้ครองบทด้วยลุคสาวบ้าน ๆ ที่พร้อมลาออกตามผู้ชาย จนต่อมาเธอได้มีหนังฮิตอย่าง Bridget Jones’s Diary (2001) จนมีภาคต่อตามมาอีก2 ภาค แต่ ผลงานอื่น ๆ ของเธอ นอกจากบทที่ส่งเธอคว้าออสการ์สมทบหญิงจาก Cold Mountain (2003) และการได้เข้าชิงนำหญิงจาก Chicago (2002) แล้วผลงานอื่นๆของเธอก็ไม่ได้รับการเหลียวแลจนเกือบเข้าค่ายดาวดับที่รอวันคนลืม

แต่กระนั้นหลังกลับมาในภาคที่ 3 ของ Bridget Jones ในปี 2016 และเล่นซีรีส์ What/If ทาง Netflix  ในบทแซ่บ ๆ เมื่อต้นปีนี้ การเข้าฉายของ Judy ในช่วงปลายปีย่อมหมายถึงการคาดหวังที่ไม่น้อยไปกว่าการได้กลับมาเข้าชิงออสการ์อีกครั้งของ เรเน่ เซลเวเกอร์ และมันน่ายินดีไม่น้อยที่เธอได้พิสูจน์แล้วว่าตัวเองมีดีพอจริง ๆ โดยเฉพาะการแสดงแบบไม่พยายามเป็น จูดี การ์แลนด์ จนเกินงาม โดยเรเน่ เลือกถ่ายทอดชีวิตของ ดาวค้างฟ้า ที่มีปัญหาโรคซึมเศร้า ติดเหล้า ติดยา ได้อย่างเข้าอกเข้าใจ ในขณะเดียวกัน เธอยังต้องถ่ายทอดบทบาทแม่ที่พยายามทำดีที่สุดเพื่อลูกจนเราอดหัวใจสลายตามไม่ได้ในซีนตู้โทรศัพท์จนกลายเป็นซีนที่ซึ้งที่สุดซีนหนึ่งของหนังที่ฉายปีนี้  และแม้ว่าเสียงร้องของเธอจะสู้จูดี การ์แลนด์ ไม่ได้ แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นบาดแผลให้การแสดงเธอถูกลดทอนคุณค่าลงเลย ตรงกันข้ามเสียงอันเกือบแหบพร่าทว่าทรงพลังกลับใช้ถ่ายทอดชีวิตอันเหนื่อยล้าของโดโรธีตอนโตที่เดินอย่างหลงทางบนถนนอิฐสีเหลืองได้อย่างยอดเยี่ยม โดยเฉพาะซีนร้องเพลง Over The Rainbow ที่แทนชีวิตอันเหนื่อยล้าและขอเพียงความหวังให้เห็นสายรุ้งหลังมรสุมชีวิตกระหน่ำก็เพียงพอแล้วได้อย่างน่าเชื่อถือและน่าประทับใจยิ่ง

ท้ายนี้เราคงไม่บอก ไม่เชียร์ ให้คุณไปดู Judy จนเกินงาม แต่จะขอเสนอเพียงว่า หากคุณมองหาหนังสักเรื่องที่คุณจะได้มองเห็นสัจธรรมชีวิต และมองหาพลังใจมาต่อกรกับมีสุมชีวิตแล้วล่ะก็ JUDY จะทำให้คุณเห็นว่า สายรุ้งแห่งความหวัง มันงดงามเพียงพอให้เราฟันฝ่ามรสุมชีวิตเพียงใด

 

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส