[รีวิว] Midway: สงครามแบบ 360 ํ มันเร้าใจแบบนี้นี่เอง
Our score
8.5

Midway อเมริกาถล่มญี่ปุ่น

จุดเด่น

  1. บทเล่าลำดับสงครามได้ดี เห็นกลยุทธ เห็นมุมชีวิตของแต่ละฝั่ง
  2. นักแสดงคับคั่ง กระจายบททั่วถึง มีฉากเด่นของตัวเอง
  3. ฉากสงครามมันมากกกกก
  4. หนังยาวแต่สนุกไม่รู้สึกเบื่อเลย

จุดสังเกต

  1. ตัวละครเยอะก็มีแบบไม่รู้ใส่มาทำไมบ้างเหมือนกัน
  2. ซีจีสนุกแต่ไม่ค่อยเนียนมาก
  • ความสมบูรณ์ของบท

    8.5

  • ึคุณภาพนักแสดง

    7.5

  • คุณภาพการผลิต

    7.5

  • ความสนุกน่าติดตาม

    9.5

  • คุ้มเวลา ค่าตั๋ว

    9.5

สนับสนุนข้อมูลโดย Major Cineplex

สนับสนุนข้อมูลโดย Major Cineplex

เรื่องย่อ วีรกรรมแห่งหน้าประวัติศาสตร์ ที่งานนี้จะบอกเล่าถึงเรื่องราวของ “ยุทธการมิดเวย์” ซึ่งว่ากันว่าเป็น ยุทธการที่สำคัญที่สุดในแนวรบด้านมหาสมุทรแปซิฟิก ของช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยการปะทะกันแบบ 360 องศาของกองทัพสหรัฐอเมริกาที่กินเวลาเพียง 4 วันแต่กลับเป็นจุดเปลี่ยนเกมรบของสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปตลอดกาล

Play video

กลับมาอีกครั้งของผู้กำกับจอมทำลายล้างอีกคนหนึ่งของวงการหนังอย่าง โรแลนด์ เอมเมอริช (Roland Emmerich) ผู้ทำผู้ชมสะท้านทรวงมาแล้วกับไซไฟเอฟเฟกต์วินาศสันตะโรใน Stargate (1994) Independence Day (1996) The Day After Tomorrow (2004) และนี่เป็นการคืนสู่หนังสงครามอิงประวัติศาสตร์เต็มรูปครั้งแรกนับจาก The Patriot (2000) ของเขาอีกด้วย น่าสนใจว่าเขาจะเอาความถนัดในด้านเอฟเฟกต์ผสมเข้ากับแนวทางดราม่าสงครามโลกได้ดีขนาดไหน ซึ่งแน่นอนว่าหนังเรื่องนี้คงไม่พ้นต้องถูกนำมาเทียบกับ Pearl Harbor (2001) ของผู้กำกับสายระเบิดอีกคนอย่าง ไมเคิล เบย์ (Michael Bay) อย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งยุทธภูมิที่ถูกนำมาเล่าก็เป็นเหตุการณ์จริงในหน้าประวัติศาสตร์ที่ห่างกันเพียง 6 เดือนเท่านั้น (ยุทธการเพิร์ลฮาร์เบอร์ เกิดวันที่ 7 ธันวาคม 1941 ส่วนยุทธการมิดเวย์เกิด 4-7 มิถุนายน 1942) แต่จุดต่างที่เห็นได้ชัดคืองานของเอมเมอริชมีความไม่เวิ่นเว้อและน้ำน้อยมาก เนื้อเน้น ๆ เกือบ 2 ชั่วโมง ทำให้เป็นหนังที่ดูสนุกสำหรับสายสงคราม สายแอ็กชัน ในขณะที่สายดราม่าก็มีมาแบบเป็นน้ำจิ้มไม่แห้งแล้งเกินไป

midway

หนังได้มือเขียนบทที่ผลงานไม่มากนักอย่าง เวส ทูก (Wes Tooke) ที่มีผลงานแค่เขียนบทซีรีส์เอเลี่ยนบุกโลกอย่าง Colony (2016-2018) เท่านั้นเอง แต่เขาก็คุมโทนหนังที่ตัวละครเยอะมากอย่างหนังสงครามได้อย่างดี มีการกระจายบทได้เหมาะสมทั้งฝั่งอเมริกาที่เราได้เห็นภาพของหน่วยปฏิบัติการเรือรบ เครื่องบินขับไล่ เครื่องบินทิ้งระเบิด เรือดำน้ำ ตลอดจนฝ่ายเสนาธิการวางแผน ผู้บัญชาการกองทัพ หน่วยข่าวกรอง และอื่น ๆ อย่างชัดเจน ช่วยให้เราจดจำตัวละครได้ง่าย และที่สำคัญมากคือ ทำให้เราเข้าใจภาพรวมของกลยุทธ์ทางสงครามที่ดำเนินไปตามลำดับเวลานับตั้งแต่การจู่โจมที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ เรื่อยไปสมรภูมิเกาะมาร์แชล ยาวถึงยุทธนาวีมิดเวย์อันเป็นไคลแมกซ์ของเรื่องได้อย่างเข้าใจมาก ๆ เคลียร์คลีนพอสมควร แก้ปัญหาหนังสงครามเชิงกลยุทธ์ ตัวละครแยะที่ชวนสับสนงงงวยในเรื่องอื่น ๆ ได้ดี เชื่อว่าน่าจะถูกใจสายประวัติศาสตร์เพราะนอกจากลำดับการเล่าที่ดี เก็บรายละเอียดสำคัญได้เยอะแล้ว ยังรวมเอาตัวละครสำคัญของทั้งฝั่งอเมริกาและญี่ปุ่นมาเล่าให้เห็นมิติต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วน เราจะเข้าใจแง่มุมทางฝั่งญี่ปุ่นในแบบเทาค่อนดำ แต่ก็ไม่ดำสนิท ในขณะที่ฝั่งอเมริกาก็โปรอเมริกันฮีโรมาได้ปลุกเร้าหัวใจ แต่เพราะฝั่งตรงข้ามมันเทาเราก็เลยไม่รู้สึกว่าหนังเอียงเข้าอเมริกันมากเกินไปนั่นเอง ถือว่าเป็นความสำเร็จในการเล่าเรื่องขนาดยาวของ เวส ทูก จริง ๆ

midway

ยุทธนาวีมิดเวย์ (Battle of Midway) เป็นสมรภูมิที่ชื่อว่าสำคัญที่สุดของฝั่งแปซิฟิกในห้วงเวลาสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยเพราะว่าการชิงชัยเหนือพื้นที่มิดเวย์อะทอลล์ (Midway Atoll) อันเป็นที่ตั้งฐานทัพของอเมริกากลางมหาสมุทรนั้นจะกำหนดผู้ได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ในการรบทั้งแปซิฟิกทันที หากญี่ปุ่นชิงพื้นที่นี้ได้ก็จะเป็นฐานในการบุกจู่โจมเรือรบที่เหลืออยู่ของอเมริกาได้ ทั้งยังจะทำให้แนวรุกโต้กลับของอเมริกาเป็นไปได้ยากด้วยที่ข้ามสมุทรมาโจมตีเอเชีย คีย์ด้านภาพของสงครามนี้คือความโดดเด่นเรื่องของการรบแบบ 360 องศา เพราะเป็นยุทธนาวีที่มีทั้งเรือรบและเครื่องบินขับไล่ ตลอดจนเรือดำน้ำ กระสุนและระเบิดนานาชนิดจึงประเคนมาทั่วสารทิศทีเดียว เป็นอีกครั้งที่เรารู้สึกว่าสงครามรอบทิศนั้นมันเป็นอย่างไร ยิ่งงานด้านภาพที่ผสมความสมจริงและความแอ็กชันแฟนซีเหนือจริงนิด ๆ สไตล์คอมิก ก็ยิ่งทำให้หนังโม้ในเรื่องเอฟเฟกต์ได้สนุก ระเบิดและห่ากระสุนที่สนทางเครื่องบินรบของตัวเอกคือพวยพุ่งกระแทกหน้าผู้ชมจริง ๆ นาน ๆ จะเจอฉากสงครามที่ร่วมลุ้นและหายใจไม่ทั่วท้องไปกับตัวละครได้แบบนี้

midwaymidway midway

หนังได้ดาราดังมาร่วมแสดงมากมาย แต่ขอพูดถึงตัวสำคัญหลัก ๆ เลยคือ เอ็ด สไครน์ (Ed Skrein) ที่น่าจะจำได้จากบทตัวร้ายในหนัง Deadpool (2016) มาคราาวนี้ได้ขึ้นเป็นตัวเอกที่แทนสายตาผู้ชมในฐานะ ริชาร์ด ดิ๊ก เบสต์ (Richard ‘Dick’ Best) นักบินบ้าบิ่นไม่กลัวตายที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ ซึ่งก็มีเสน่ห์พอให้เราสนใจใยดีตัวละครนี้ได้พอประมาณ เพราะท่ามกลางตัวละครมากมายที่แชร์บทและเรื่องราวสงครามที่รายละเอียดยุ่บยั่บ ตัวละครยังอุตส่าห์มีการพัฒนาด้านบุคลิกจิตใจได้อีก จากคนไม่สนใจความตายก็กลับมีความรับผิดชอบขึ้นเมื่อกลายเป็นรุ่นพี่ที่ต้องนำลูกน้องไปรบ ในฝั่งญี่ปุ่นเองก็ได้ดาราดังที่น่าตื่นเต้นอย่าง โตโยกาวะ เอทสึชิ (Toyokawa Etsushi) จากหนัง Love Letter (1995) ของ อิวาอิ ชุนจิ  (Iwai Shunji) ที่มาโชว์พลังการแสดงแบบเล่นน้อยได้มากในบท นายพลยามาโมโตะ ที่แทนภาพผู้นำสงครามญี่ปุ่นได้อย่างน่าสนใจน่ายำเกรงดูเทาไม่ดำเข้ม ซึ่งก็ทำให้สงครามนี้ไม่โปรฝั่งใดมากเกินควร

midway midway

ส่วนดาราที่โผล่ไม่มากแต่ก็น่าสนใจมากก็มีทั้ง แพทริก วิลสัน (Patrick Wilson) ลุก อีแวนส์ (Luke Evans) วูดดี้ ฮาร์เรลสัน (Woody Harrelson) เดนนิส เควด (Dennis Quaid) อารอน เอ็กฮาร์ต (Aaron Eckhart) อเล็กซานเดอร์ ลุดวิก (Alexander Ludwig) และ แมนดี้ มัวร์ (Mandy Moore) โดยเฉพาะ นิก โจนาส (Nick Jonas) ที่มาดีเกินคาด หรือจะเป็นฝั่งญี่ปุ่นอย่าง อาซาโน่ ทาดาโนบุ (Tadanobu Asano) และ คุนิมูระ จุน  (Kunimura Jun) ก็เป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาคอหนังอย่างดี เรียกว่าคับคั่งมาก ๆ จริง ๆ ดุแค่ดารายังคุ้ม

midway midway

ข้อเสียของหนังที่ชัดเจนพอควรคือ หลายตัวละคร มาแล้วไปแบบใช้แล้วทิ้งเกินไป เข้าใจว่าอาจเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์อเมริกาที่ไม่พูดถึงไม่ได้ แต่กระนั้นก็ต้องยอมรับว่ามีผลต่อเนื้อเรื่องน้อยเกินไป เช่นตัวละครของเอ็กฮาร์ตที่พูดตรง ๆ ว่าไม่ใช่แฟนประวัติศาสตร์ก็แทบไม่ได้สนใจเลยว่าจะมีหรือไม่มีในหนังก็ได้ ส่วนตัวที่ใช้ทิ้งแบบเปล่าประโยชน์สุดคงเป็นตัวละครผู้กำกับหนังที่ไปรอถ่ายที่มิดเวย์ที่ไม่มีบทสรุปให้ตัวละครนี้ด้วยซ้ำจนน่างงงวยว่าใส่มาทำไม

ในขณะที่ด้านซีจีก็มีความหลอก และโม้ในแบบที่เป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย กล่าวคือข้อดีมันได้ภาพที่มัน สนุก เร้าใจ ใส่เต็ม ดูการ์ตูนนิด ๆ ไม่สมจริงจนดาร์กน่ากลัวเกินไป เด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูสนุก แต่ข้อเสียก็ตรงที่ว่ามานั้นมันคงไม่เข้าดีนักกับหนังที่เล่าประวัติศาสตร์ได้ละเอียดดีพอสมควรขนาดนี้ ทั้งถ้าสายเครียดความสมจริงมาดูก็คงจับผิดความไม่เนียนของซีจีได้เป็นกระบุงในจุดเล็กจุดน้อยตลอดเรื่อง ดีว่าหนังค่อนข้างไวจึงไม่ชวนให้หงุดหงิดกับซีจีจุดยิบจุดย่อยพวกนี้

midway

สรุปก็เป็นหนังที่สอนประวัติศาสต์สงครามโลกฝั่งแปซิฟิกได้ดีพอสมควรเลย ถ้าเด็กไปชมแล้วหาข้อมูลเพิ่มอีกหน่อยคือได้ความรู้ดีเลย ส่วนใครไม่สนประวัติศาสตร์ก้ยังได้สนุก ยิ่งฉากสงครามท้าย ๆ นี่คือโคตรมันจริง ๆ ฉากแลกกันหมัดต่อหมัดระหว่างเครื่องบินทิ้งระเบิดของพระเอกกับเรือรบญี่ปุ่นนี่คือลุ้นลืมหายใจเลย

ไวกว่าห่ากระสุน ก็ซื้อตั๋วกดที่รูปด้านล่างนี่ล่ะ

midway

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส