เรื่องราวจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเหมือนกับกรุสมบัติขนาดใหญ่ที่ฮอลลีวู้ดเลือกหยิบเหตุการณ์ในแต่ละสมรภูมิไปสร้างหนังได้ไม่รู้จบ แง่มุมหนึ่งที่ฮอลลีวู้ดชื่นชอบนักก็คือ ช่วงที่จักรวรรดิญี่ปุ่นเริ่มประกาศศักดาและขยายอาณาเขตปกครองบนน่านน้ำแปซิฟิกด้วยการถล่มอ่าวเพิร์ลฮาเบอร์ แบบไม่ให้อเมริกาตั้งตัว ซึ่งไมเคิล เบย์ ก็ได้เล่าเเหตุการณ์นี้ผ่านหนังของเขาไปแล้วเมื่อปี 2001 แม้หนังจะไม่เป็นที่ชื่นชอบของนักวิจารณ์ แต่หนังถูกอกถูกใจตลาดวงกว้าง ทำรายได้ทั่วโลกไปถึง 449 ล้านเหรียญ ดังทั้งนักแสดง ทั้งเพลงประกอบ ซึ่งเดิมที โรแลนด์ เอ็มเมอริช ก็มีแผนการจะสร้างหนัง Midway ในช่วงนั้นเช่นกัน แต่เผอิญ Pearl Harbor ออกมาก่อน และเป็นเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นบุกถล่มอเมริกาด้วยเครื่องบินรบเช่นกัน ทำให้โพรเจกต์ Midway ของ โรแลนด์ เอ็มเมอริช ต้องถูกแขวนไปนับแต่นั้น

ผ่านมาถึง 18 ปี โรแลนด์ เอ็มเมอริช ถึงได้ฤกษ์สานต่อโพรเจกต์ Midway ให้เป็นจริงสักที ก็เป็นเรื่องดีที่หนังคลอดออกมาในวันนี้ที่เทคโนโลยีทางด้านภาพวิชวล เอฟเฟกต์ พัฒนาไปไกลขึ้น เราก็ได้ชมบรรยากาศสงครามได้สมจริงมากขึ้น และโรแลนด์ ก็ให้สัญญาว่าเขาจะถ่ายทอดเรื่องราวของ Midway ให้ใกล้เคียงกับประวัตศาสตร์จริงมากที่สุด ไม่เน้นหนักเรื่องราวเลิฟสตอรีแล้วเอาสงครามไว้ในฉากหลังแบบ pearl Harbor วันนี้ Midway ได้ลงโรงฉายทั่วประเทศแล้ว เพื่ออรรถรสในการรับชมได้เข้าถึงและลงลึก ผู้เขียนจึงขอหยิบเหตุการณ์ “ยุทธภูมิมิดเวย์” มาเล่าสรุปแบบเข้าใจง่าย ๆ เป็นพื้นฐานก่อนไปดูหนังให้สนุกมากขึ้น ตามนี้เลยครับ

ระหว่างระดมยิงกันทั้ง 2 ฝ่ายในวันที่ 4 มิถุนายน 1942

ระหว่างระดมยิงกันทั้ง 2 ฝ่ายในวันที่ 4 มิถุนายน 1942

1. ยุทธนาวีมิดเวย์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 – 6 มิถุนายน 1942 จัดว่าเป็นศึกครั้งยิ่งใหญ่ระหว่างกองทัพเรือสหรัฐกับกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น เป็นศึกที่เกิดขึ้นให้หลัง “การโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์” 6 เดือน ที่ครั้งนั้นเป็นชัยชนะของฝ่ายญี่ปุ่น และภายหลังยุทธนาวีทะเลคอรัล 1 เดือน แต่ในครั้งนี้ที่ยุทธนาวีมิดเวย์ ชัยชนะกลับมาเป็นของสหรัฐฯ ในการทำศึกระหว่างภาคอากาศ และภาคมหาสมุทร เป็นการดับฝันของฝ่ายญี่ปุ่นที่หวังจะสกัดกั้นเขี้ยวเล็บของกองทัพเรือสหรัฐฯ ให้ลดน้อยถอยลง การเดินหมากผิดพลาดของญี่ปุ่นในครั้งนี้ เป็นการพลิกหน้าเกม ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรกลายมาเป็นฝ่ายได้เปรียบในยุทธศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2

มิดเวย์ อะทอลล์ ในปัจจุบัน

มิดเวย์ อะทอลล์ ในปัจจุบัน

2. เกาะมิดเวย์ ชื่ออังกฤษคือ Midway Atoll คำว่า อะทอลล์ หมายถึงเกาะที่เป็นรูปวงแหวนเกิดจากการทับถมของหินปะการัง มีแนวปะการังล้อมรอบ ตั้งอยู่มหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ อยู่ห่างจากซานฟรานซิสโก ทางตะวันตก ราว 2,800 ไมล์ทะเล(5,200 กม./3,200 ไมล์) และ ห่างจากโตเกียวทางตะวันออก ราว 2,200ไมล์ทะเล(4,100 กม./2,500 ไมล์) มีพื้นที่ 6.2 ตารางกิโลเมตร อยู่ครึ่งทางระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นพอดี มิดเวย์เป็นเมืองขึ้นของสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ปี 1867 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐฯใช้มิดเวย์ เป็นที่มั่นของกองทัพเรือ มีทั้งสนามบินและฐานทัพเรือ ปัจจุบันเกาะมิดเวย์ ไม่มีผู้อยู่อาศัยแล้ว

นายพลอิซาโรกุ ยามาโมโตะ

นายพลอิซาโรกุ ยามาโมโตะ

3. สงครามโลกครั้งที่่ 2 เริ่มต้นในปี 1939 ทางฝ่ายอักษะได้ขยายอำนาจยึดพื้นที่ในดินแดนเอเซียและยุโรปได้สำเร็จ พอมาถึงปี 1941 ญี่ปุ่นเริ่มขยายอำนาจทางคาบสมุทรแปซิฟิกตะวันตก เริ่มจากการเปิดศึกยุทธนาวีทะเลคอรัลในวันที่ 4-8 พฤษภาคม 1942 กองทัพญี่ปุ่นต้องการที่จะสร้างเสริมของความแข็งแกร่งให้กับแนวป้องกันของตนเองในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ กองทัพเรือญี่ปุ่นภายใต้การบัญชาการของนายพลอิซาโรกุ ยามาโมโตะ จึงตัดสินใจเข้ายึดครองพอร์ตมอร์สบีในนิวกินี และเกาะทูลากิในหมู่เกาะโซโลมอน ทางฝ่ายสหรัฐฯ ทราบแผนการรุกรานของญี่ปุ่นผ่านข่าวกรองสื่อสาร จึงส่งกองกำลังเรือบรรทุกอากาศยานเฉพาะกิจ และกองกำลังเรือลาดตระเวนร่วมของสหรัฐฯ และออสเตรเลีย เพื่อต่อกรกับการรุกรานของญี่ปุ่น ทั้งสองฝ่ายต่างก็สูญเสียกองกำลังอย่างหนักทั้งอากาศยานและเรือบรรทุกอากาศยาน จึงต่างก็ยุติการปะทะและถอนกำลัง เนื่องจากสูญเสียความคุ้มครองทางอากาศ นายพลเรืออิโนอุเอะจึงเรียกกองเรือรุกรานพอร์ตมอร์สบีกลับ เพื่อพยายามใหม่ในคราวหลัง

4. จากความฮึกเหิมที่เคยมีชัยใน “การโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์” ญี่ปุ่นหวังว่าจะใช้ยุทธศาสตร์เดิมเข้าโจมตีมิดเวย์ได้สำเร็จอีกครั้ง ถ้าครั้งนี้สำเร็จอีกก็จะเป็นการปิดช่องโหว่ในแนวป้องกันทั่วมหาสมุทรแปซิฟิกของญี่ปุ่น และเป็นฐานในปฏิบัติการสำหรับแผนขั้นต่อไป รวมไปถึงเป็นการตัดกำลังศึกของอเมริกาที่ยังคงเหลืออยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก

พลเรือโทโนบุทาเกะ คอนโดะ

พลเรือโทโนบุทาเกะ คอนโดะ

5. แผนการของนายพลอิโรซากิ ยามาโมโตะ คือการล่อหลอกกองกำลังสหรัฐโดยการโจมตีหมู่เกาะอะลูเซียน ที่อยู่ทางตะวันตกของคาบสมุทรอลาสก้า เพื่อให้ทางฝ่ายสหรัฐฯ เข้าใจผิดว่ากองกำลังญี่ปุ่นหมายมั่นหมู่เกาะอะลูเซียนเป็นเป้าหมายหลัก แล้วส่งกองกำลังออกไปป้องกัน จากนั้นนายพลอิโรซากิ ก็เริ่มใช้ยุทธศาสตร์สามง่าม (Three-Pronged Strategy) เข้าโจมตีเกาะมิดเวย์

  • ทัพแรก – ด้วยกองทัพเรือบรรทุกเครื่องบิน 4 ลำ อาคากิ , คากะ , ฮิริว และ โซริว นำโดย พลเรือโทชิชิว นากูโมะ
  • ทัพสอง – ด้วยกองเรือพิฆาตและกองทัพทหาร นำโดยพลเรือโทโนบุทาเกะ คอนโดะ
  • ทัพสาม – กองทัพเรือของโนบุทาเกะ เสริมทัพด้วยกองทัพเรือของนายพลอิโรซากิเอง จะลอยเรืออยู่นอกชายฝั่ง 600 ไมล์ เพื่อดักรอโจมตีกองทัพเรือจากเพิร์ลฮาร์เบอร์ที่ฝ่ายสหรัฐฯ จะต้องส่งมาเสริมเป็นกำลังหนุนในยุทธนาวีมิดเวย์

6. ดูแผนการของนายพลอิโรซากิ ยามาโมโตะ ก็ดูมีเล่ห์เหลี่ยมและรัดกุม และถ้าเป็นไปตามแผนการณ์นี้ ก็เป็นไปได้สูงว่าจักรวรรดิญี่ปุ่นน่าจะมีชัย แต่มาพลาดเอาตรงที่หน่วยข่าวกรองของกองทัพสหรัฐฯ สามารถดักฟังการสื่อสารของกองกำลังญี่ปุ่น แล้วยังสามารถถอดรหัสได้สำเร็จ ทำให้ล่วงรู้ถึงแผนการณ์โจมตีเกาะมิดเวย์ แล้วตั้งรับได้ล่วงหน้า ไม่เกิดเหตุประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเช่นที่เกิดกับเพิร์ลฮาร์เบอร์

นายพลเชสเตอร์ ดับเบิ้ลยู. ไนมิตช์

นายพลเชสเตอร์ ดับเบิ้ลยู. ไนมิตช์

7. ข้อเสียเปรียบอย่างหนึ่งของกองกำลังญี่ปุ่น คือการกระจายหน้าตักกองเรือไปทั่วน่านน้ำแปซิฟิก เรือแต่ละลำลอยห่างจากกันมาก ทำให้ต้องติดต่อถึงกันด้วยวิทยุสื่อสารเท่านั้น จึงง่ายต่อทางสหรัฐฯ ที่จะดักฟังข้อความเหล่านั้น หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ดักฟังได้สำเร็จ จับคำศัพท์น่าสงสัยได้ 1 คำ คำนั้นคือ “AF” ซึ่งทางสหรัฐคาดว่าน่าจะหมายถึง “เกาะมิดเวย์” เพื่อยืนยันสมมติฐานให้มั่นใจ สหรัฐฯ เลยลองส่งข้อมูลสื่อสารปลอม ๆ ดู ให้ทางเกาะมิดเวย์ส่งข้อความไปทางหน่วยบัญชาการว่า”ตอนนี้ที่ฐานทัพมิดเวย์ขาดแคลนน้ำจืด” ไม่นานจากนั้นทางญี่ปุ่นก็ส่งข้อความสื่อสารถึงกันและมีคำว่า “AF” อีกครั้ง นั่นเป็นการตอกย้ำว่ารหัส AF ก็คือ มิดเวย์ อย่างแน่นอน และมิดเวย์ก็เป็นเป้าหมายโจมตีต่อไปของกองกำลังญี่ปุ่นในวันที่ 4 และ 5 มิถุนายน 1942 เมื่อทางฝ่ายสหรัฐฯ ล่วงรู้ถึงแผนการโจมตีล่วงหน้าจากกองทัพญี่ปุ่น นายพลเชสเตอร์ ดับเบิ้ลยู. ไนมิตช์ เข้ารับหน้าที่ควบคุมกองทัพเรือสหรัฐฯ เตรียมรับมือการโจมตีของญี่ปุ่นได้ทันท่วงที

USS YORKTOWN

USS YORKTOWN

8. อีกข้อผิดพลาดของญี่ปุ่น คือการประเมินกำลังของสหรัฐฯ ผิดพลาดไป สืบเนื่องจากยุทธนาวีทะเลคอรัล ในศึกครั้งนั้นฝูงบินญี่ปุ่นได้โจมตีเรือบรรทุกเครื่องบินยอร์กทาวน์ จนได้รับความเสียหายอย่างหนัก เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายต้องถอนกำลังออกจากพื้นที่ ญี่ปุ่นคาดว่าทางฝั่งตนได้ทำลายเรือยอร์กทาวน์ได้สำเร็จ แล้วใช้การไม่ได้อีก ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริง แต่เพราะนายพลเชสเตอร์ ออกคำสั่งเด็ดขาดให้ทางกองทหารช่างรีบดำเนินการซ่อมยอร์กทาวน์อย่างเร่งด่วน เพราะกองกำลังของเขามีเพียงเรือบรรทุกเครื่องบิน เอ็นเทอร์ไพรส์ และ ออเน็ต แต่ไม่มีเรือพิฆาตในกองกำลังเลยสักลำ การได้ยอร์กทาวน์กลับมาเข้าร่วมทัพ เป็นการเสริมกำลังที่จำเป็นอย่างยิ่ง ยอร์กทาวน์จึงถูกส่งเข้าซ่อมที่อู่ในเพิร์ลฮาร์เบอร์ในทันที แล้วทางกองช่างก็ทำเรื่องมหัศจรรย์ด้วยการซ่อมแซมเรือยอร์กทาวน์ได้แล้วเสร็จในระยะเวลาไม่ถึงเดือน ยุทธนาวีทะเลคอรัลสิ้นสุดวันที่ 8 พฤษภาคม เรือยอร์กทาวน์ซ่อมเสร็จ แล้วปล่อยลงทะเลไปลอยลำพร้อมรับการโจมตีของญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม

Boeing B-17 Flying Fortress

Boeing B-17 Flying Fortress

8. ถึงแม้สหรัฐฯ จะล่วงรู้แผนการโจมตีมิดเวย์จากทางญี่ปุ่นแล้ว แต่กระนั้นแผนลวงของทางญี่ปุ่นที่เข้าโจมตีหมู่เกาะอะลูเซียน เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ก็สามารถหลอกให้ทางสหรัฐฯ ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดหนัก Boeing B-17 Flying Fortress ออกจากเกาะมิดเวย์ไปต่อต้านการโจมตีของทางญี่ปุ่นได้สำเร็จ เพื่อลดกำลังป้องกันบนเกาะมิดเวย์ ทัพญี่ปุ่นยังโจมตีหมู่เกาะอะลูเซียนซ้ำในเช้ามืดวันที่ 4 มิถุนายน กองบิน B-17 ถูกส่งออกจากเกาะมิดเวย์ ไปรับมือกับการรุกรานของญี่ปุ่นอีกครั้ง (บันทึกทางการทหารบางฉบับยังโต้แย้งว่า ศึกที่หมู่เกาะอะลูเซียน นั้นเป็นความตั้งใจของจักรวรรดิญี่ปุ่นที่จะขยายพื้นที่โอบล้อมทางด้านข้าง ไม่ได้เป็นแผนลวงเพื่อตัดกำลังของกองทัพสหรัฐฯ )

9. เมื่อล่อกำลังพลออกจากเกาะมิดเวย์เป็นผลสำเร็จ เวลา 6:30 กองทัพญี่ปุ่นเดินหน้าตามยุทธศาสตร์สามง่าม ด้วยการส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด 108 ลำ ออกจากเรือบรรทุกเครื่องบินทั้ง 4 ของทัพญี่ปุ่น เข้าโจมตีหมู่เกาะมิดเวย์ ทำให้ฐานทัพสหรัฐฯ เสียหายหนัก การโจมตีระลอกแรก จบสิ้นอย่างรวดเร็ว สนามบินบนเกาะมิดเวย์ยังไม่เสียหายหนักเพราะทางญี่ปุ่นตั้งใจจะเก็บไว้ใช้ถ้ายึดครองมิดเวย์ได้สำเร็จ อาวุธสำหรับต่อสู้อากาศยานของทางสหรัฐฯก็ยังทำงานได้ครบถ้วน กองกำลังสหรัฐฯ ตอบโต้ด้วยการส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดหนักเข้าโจมตีเรือบรรทุกเครื่องบินญี่ปุ่นระลอกใหญ่ แต่ก็โดนการต้อนรับจากเครื่องบินต่อสู้และปืนต่อสู้อากาศยาน ทำให้การตอบโต้จากสหรัฐฯ ไม่เป็นผลสำเร็จ

10. นักบินญี่ปุ่นรีบเข้ารายงานพลเรือโทชิชิว นากูโมะ ผู้ควบคุมกองเรือบรรทุกเครื่องบินทั้ง 4 ลำ ว่า ฐานทัพสหรัฐฯ ที่มิดเวย์ ยังไม่ราบคาบเป็นหน้ากลอง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องโจมตีซ้ำอย่างเร่งด่วน นายพลโทชิชิวเห็นชอบกับแผนการ ระหว่างที่เร่งเติมน้ำมันและกระสุนเพื่อเข้าโจมตีระลอกสองอยู่นั้น นายพลโทชิชิวก็ได้รับรายงานจากเครื่องบินลาดตระเวนว่าเห็น เรือบรรทุกเครื่องบินยอร์กทาวน์ลอยลำอยู่ฝั่งตะวันออกของเกาะมิดเวย์ นายพลโทชิชิวรู้ทันทีว่าเขาประเมินกำลังของสหรัฐฯ ผิดพลาดไป รีบเปลี่ยนแผนทันที เรียกเครื่องบินรบทุกลำให้กลับมาป้องกันกองเรือบรรทุกเครื่องบินทันที เตรียมรับมือการโจมตีจากสหรัฐฯ

USS Enterprise

USS Enterprise

11. นายพลเชสเตอร์ได้แบ่งกองกำลังของเขาออกเป็น 2 ส่วนคือ เรือบรรทุกเครื่องบินเอ็นเทอร์ไพรส์ และออเน็ต ประจำกองกำลัง ทาสก์ฟอร์ซ16 ส่วนเรือบรรทุกเครื่องบินยอร์กทาวน์ที่เพิ่งซ่อมเสร็จนำกองกำลัง ทาสก์ฟอร์ซ17 ตรงนี้ก็นับว่าเป็นการได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่มีกองกำลังเสริมแข็งแกร่งกว่า มีฐานกำลังสนับสนุนภาคพื้นดินมากกว่า 115 ฐาน และเรือดำน้ำอีก 19 ลำ ในขณะที่กองกำลังญี่ปุ่นมีเพียงเรือบรรทุกเครื่องบิน 4 ลำเท่านั้น

Mitsubishi A6M Zero

Mitsubishi A6M Zero

11. เป็นไปตามคาดของนายพลโทชิชิว เวลา 9:30 เครื่องบินทิ้งระเบิดตอร์ปิโดของสหรัฐ บินขึ้นจาก เอ็นเทอร์ไพรส์ และออเน็ต มุ่งเข้าโจมตีเรือบรรทุกเครื่องบินทั้ง 4 ลำของญี่ปุ่น แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เครื่องบินรบของสหรัฐโดนเครื่องบินรบซีโร ไฟท์เตอร์ และปืนต่อสู้อากาศยานยิงร่วงทั้งหมด แต่เครื่องบินรบทั้งหมดของญี่ปุ่นก็ต้องลงจอดเพื่อเติมน้ำมันและกระสุน ทำให้น่านฟ้าเหนือเรือบรรทุกเครื่องบินทั้ง 4 ลำเปิดโล่ง ซึ่งนับว่าเป็นข้อเสียเปรียบต่อกองกำลังของสหรัฐฯ ที่มีกองกำลังสนับสนุนมากกว่าสามารถผัดเปลี่ยนการโจมตีได้อย่างต่อเนื่อง

Douglas SBD Dauntlesses

Douglas SBD Dauntlesses

12. เวลา 10:30 เครื่องบินดำทิ้งระเบิด Douglas SBD Dauntlesses ก็บินออกจากเรือบรรทุกเครื่องบินเอ็นเทอร์ไพรส์เข้าโจมตีเรือ อาคากิ และคากะ จนลุกเป็นไฟ ส่วนเครื่องบินดำทิ้งระเบิด Douglas SBD Dauntlesses อีกชุดหนึ่งก็บินออกจากเรือบรรทุกเครื่องบินยอร์กทาวน์ เข้าถล่มเรือ โซริว จนลุกเป็นไฟเช่นกัน รอบนี้เป็นการโจมตีที่สนุกมือจากฝั่งสหรัฐฯ เพราะไร้การป้องกันจากทางฝั่งญี่ปุ่น ทำให้ขณะนี้กองกำลังญี่ปุ่นเหลือเพียงเรือบรรทุกเครื่องบินฮิริวเพียงลำเดียว

13. เวลา 11:00 เรือฮิริวรีบบึ่งหนี แต่ระหว่างที่หนีนั้นก็ขอเอาคืนบ้างด้วยการส่งเครื่องบินรบมาโจมตีเรือบรรทุกเครื่องบินยอร์กทาวน์ ในช่วงเที่ยงวัน ทำให้เรือยอร์กทาวน์เสียหายหนัก ได้แต่ลอยลำนิ่ง ๆ แต่ยังไม่หนำใจ หลังจากนั้นอีก 3 ชั่วโมง ญี่ปุ่นส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดมาโจมตียอร์กทาวน์ระลอก 2 ในรอบนี้ทำให้ลูกเรือทั้งหมดต้องสละเรือ

ฮิริว ขณะที่โดนถล่มอย่างหนัก

ฮิริว ขณะที่โดนถล่มอย่างหนัก

14. เวลา 17:00 ทางฝ่ายสหรัฐฯ ขอตอบโต้บ้าง หลังต้องสูญเสียเรือยอร์กทาวน์ไป รอบนี้ สหรัฐฯ ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดทั้งหมดรุมถล่มฮิริว แล้วก็เป็นผลสำเร็จเรือบรรทุกเครื่องบินลำสุดท้ายของญี่ปุ่นก็จมกองเพลิง กองทัพญี่ปุ่นแพ้ศึกยุทธนาวีมิดเวย์อย่างเป็นทางการ ถอนกำลังทั้งหมดออกจากน่านน้ำในวันนั้น

15. แต่ความดุเดือดผลัดกันเอาคืนยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าศึกหลักของยุทธนาวีมิดเวย์จะสิ้นสุดไปในเย็นวันที่ 4 มิถุนายนแล้ว แต่การรบประปรายระหว่าง 2 มหาอำนาจยังคงยืดเยื้อไปอีก 2 วัน เรือบรรทุกเครื่องบินของญี่ปุ่น ฮิริว และ อาคากิ หลังไฟลุกท่วมเสียหายหนัก แต่ยังลอยลำอยู่ จักรวรรดิญี่ปุ่นไม่ยอมให้เรือทั้ง 2 ตกเป็นของสหรัฐฯ จึงส่งหน่วยทำลายมาเจาะเรือให้จมลงสู่ก้นมหาสมุทรในวันที่ 5 มิถุนายน

เรือมิคุมะ หลังโดนถล่ม

เรือมิคุมะ หลังโดนถล่ม

16. ในวันที่ 6 มิถุนายน เป็นการโจมตีรอบสุดท้ายของกองกำลังทาสก์ฟอร์ซ 16 ของสหรัฐฯได้ไล่ล่าเรือรบที่เหลือของญี่ปุ่น เครื่องบินทิ้งระเบิดได้จมเรือลาดตระเวนหนักมิคุมะได้สำเร็จ และได้โจมตีเรือพิฆาตอาซาชิโอะ และอาราชิโอะ จนเสียหายอย่างหนัก รวมถึงเรือลาดตระเวน โมกามิ ด้วยเช่นกัน

USS Hammann ขณะโดนตอร์ปิโดถล่ม

USS Hammann ขณะโดนตอร์ปิโดถล่ม

17. หลังเรือบรรทุกเครื่องบินยอร์กทาวน์เสียหายอย่างหนัก ทางสหรัฐฯ ได้ส่งเรือพิฆาต USS Hammann มาคุ้มภัยระหว่างที่ทำการกู้ซากเรือยอร์กทาวน์ ในวันที่ 6 มิถุนายน เรือดำน้ำของญี่ปุ่น I-168 ก็แอบซุ่มเงียบมาจนใกล้ Uss Hammann และยอร์กทาวน์ แล้วก็ถล่มยิงตอร์ปิโดเข้าใส่เรือทั้งคู่ ภายในไม่กี่นาที USS Hammann ก็จมสู่ก้นมหาสมุทร ส่วนยอร์กทาวน์ก็เสียหายซ้ำหนักขึ้น แล้วจมตาม USS Hammann ในวันถัดไป รอบนี้นายพลอิโรซากิ พอใจล่ะที่เอาคืนสหรัฐฯ ได้ ก็เรียกกองกำลังที่เหลือของตนกลับสู่มาตุภูมิ จบสิ้นยุทธนาวีมิดเวย์อย่างเป็นทางการ

18. ผลการสูญเสียทั้ง 2 ฝ่ายมีดังนี้

  • ญี่ปุ่น สูญเสียชีวิตทหารมากกว่า 3,000 นาย ในจำนวนนี้เป็นนักบินฝีมือดีกว่า 200 นาย เครื่องบินมากกว่า 300 ลำ เรือลาดตระเวนหนักอีก 1 ลำ และการสูญเสียใหญ่สุดคือเรือบรรทุกเครื่องบินหลักทั้ง 4 ลำ
  • สหรัฐอเมริกา สูญเสียชีวิตทหารมากกว่า 360 นาย สูญเสียเรือบรรทุกเครื่องบิน ยอร์กทาวน์ และเรือพิฆาต USS Hammann เครื่องบินรบอีก 145 ลำ

19. ผลจากความปราชัยในศึกยุทธนาวีมิดเวย์ ทำให้จักรวรรดิญี่ปุ่นล้มเลิกความความพยายามที่จะขยายพื้นที่ปกครองในน่านน้ำแปซิฟิก แต่หันไปมุ่งมั่นที่จะป้องกันรักษาอาณาเขตปกครองเดิมอย่างเต็มกำลัง ทางด้านสหรัฐฯ หลังได้ชัยชนะในยุทธนาวีมิดเวย์ ก็มีกำลังใจฮึกเหิมมากขึ้น และกลายเป็นกองกำลังที่แข็งแกร่งในฝ่ายพันธมิตรและเป็นผลให้ฝ่ายพันธมิตรเป็นฝ่ายกำชัยในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในท้ายที่สุด

นับได้ว่าเป็นการรบที่เหมือนการแลกหมัดอย่างดุเดือด จากทั้ง 2 ฝ่าย เห็นสมควรที่ผู้กำกับโรแลนด์ เอ็มเมอริช จะเลือกเอายุทธนาวีมิดเวย์ มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ เพราะจะต้องออกมาเป็นหนังสงครามที่สุดมันส์เรื่องหนึ่งอย่างแน่นอน ถ้ายังไม่ได้ดู อ่านแล้วก็น่ากระตุ้นความอยากดูหนังได้มากขึ้น หรือดูแล้วมาอ่านก็น่าจะได้ข้อมูลเชิงลึกมากขึ้นเช่นกัน

อ้างอิง
อ้างอิง