นับเป็นกระแสที่่ถูกพูดถึงอย่างมากสำหรับคอหนังโดยเฉพาะคอหนังญี่ปุ่นและคอหนังแอนิเมชันคลาสสิก ที่หนังจำนวน 21 เรื่องจากทั้งหมด 22 เรื่อง (ขาดเรื่องสุสานหิ่งห้อย) ของสตูดิโอแอนิเมชันอันดับหนึ่งของญี่ปุ่นอย่าง Ghibli ที่มีผลงานมาตั้งแต่ปี 1985 จนถึงปี 2013 ที่ได้มีการแถลงข่าวยุติการสร้างผลงานถาวร (ในเวลานั้น) ก่อนที่จะกลับมาเริ่มสร้างภาพยตร์แอนิเมชันกันใหม่อีกครั้งแล้วในตอนนี้ ต้องขอบคุณ “โทชิโอะ ซูซูกิ” ผู้ก่อตั้งสตูดิโอร่วมกับ “ฮายาโอะ มิยาซากิ” (นักวาดผู้กำกับและนักเขียนบทผู้โด่งดัง ผู้ก่อตั้งสตูดิโออีกคน) ที่ผลักดันให้หนังได้สตรีมมิงบน Netflix ในที่สุด

หลายคนเติบโตมากับหนังแอนิเมชันของ Ghibli สตูดิโอที่คนรุ่นใหม่อาจจะนึกถึงชื่อชั้นเทียบเท่ากับ Pixar Studios ของฮอลลีวูด ความโด่งดังที่สุดของ Ghibli ในดินแดนอเมริกา คือการพา Spirited Away (2001) ไปคว้ารางวัลออสการ์แอนิเมชันยอดเยี่ยมในปี 2002 (ซึ่งในปีนั้นก็ไม่ได้มีแอนิเมชันที่เนื้อหากินใจอย่างหนังของ Pixar ร่วมเข้าชิง) รวมถึงเป็นยังเป็นหนังที่ครองสถิติแอนิเมชันทำเงินสูงสุดตลอดกาลมายาวนานที่ 346 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่จะถูก Your Name (2016) โค่นไปเมื่อไม่กี่ปีมานี้

หนังทั้ง 21 เรื่องจะทยอยขึ้นบนสตรีมมิงเรียงกันไปทุกวันที่ 1 ของเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม และเมษายน เป็นล็อต ๆ ละ 7-8 เรื่อง โดยยังไม่มีกำหนดว่าจะถอดออกจากโปรแกรมเมื่อไร (แต่โอกาสดีขนาดนี้ สำหรับคอหนังที่ยังไม่เคยดูหรืออยากย้อนความทรงจำก็อย่าผัดวันไปเลย) วันนี้ What The Fact ขอแนะนำภาพยนตร์ 7 เรื่องแรกของ Ghibli Studio ที่จะได้ชมกันตั้งแต่วันแรกของเดือนกุมภาพันธ์ เดือนแห่งความรัก ว่ามีเรื่องอะไรบ้าง

Laputa: Castle in the Sky

ลาพิวตา พลิกตำนานเหนือเวหา (1986)

Laputa: Castle in the Sky

Laputa: Castle in the Sky

แอนิเมชันเรื่องแรกของ Ghibli (ก่อนหน้านั้น ทีมนี้เคยสร้าง”เนาซิกะ มหาสงครามหุบเขาแห่งสายลม (1984) มาก่อนแต่เป็นการสร้างภายใต้ชื่อสตูดิโออื่น) เล่าถึงบรรยากาศยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมของโลกในปี 1830s (ฉากหลังเดียวกับนิยาย Oliver Twist ที่กลายเป็นหนังหลายครั้ง) ตัวละครหลักคือ “ปาซู” เด็กชายที่ทำงานในเหมืองแร่อย่างยากลำบาก วันหนึ่งเขาได้พบกับ “ชีตา” (หมายถึงแสงสว่าง รากคำเดียวกับ Lucita) เด็กสาววัยเดียวกับเขาที่ลอยตกลงมาจากฟากฟ้า ปาซูช่วยเหลือเธอไว้และชีตาเล่าว่าเธอหนีมาจากกลุ่มโจรสลัดโดลาบนเมืองลอยฟ้า “ลาพิวตา” เมืองที่มนุษย์ที่พื้นดินไม่เคยขึ้นไปถึง ปาซูเล่าว่า พ่อของเขาเคยถ่ายภาพเมืองลอยฟ้าไว้ได้ แต่ไม่มีใครในเมืองเชื่อ จนพ่อของเขากลายเป็นจอมโกหกและตายจากไป ชีตาแย่งชิงจี้คริสตัลมาจากกลุ่มโจรสลัดก่อนหนีออกมา “มุสกา” ทหารของรัฐก็ตามล่าเธอด้วยอีกกลุ่มหนึ่ง ปาซูและชีตาจึงต้องหนีเอาตัวรอด และในตอนท้ายหนังก็เปิดเผยความลับบางอย่างที่จะเปลี่ยนแปลงเมืองลาพิวตาไปตลอดกาล

Laputa: Castle in the Sky

Laputa: Castle in the Sky

Laputa ได้แฝงนัยยะไว้อย่างแยบคายเกี่ยวกับการใช้พลังอำนาจ ที่ย่อมจะต่างไปอย่างลิบลับระว่างการอยู่ในมือของคนดีหรือคนชั่ว โดยมีหุ่นยนต์ในเรื่องเป็นตัวแทนของการใช้พลังอำนาจ (เช่นเดียวกับแหวนใน The Lord of the Rings หรือ Force ขุมพลังใน Star Wars) โดยหนังยังให้แรงบันดาลใจกับคนรุ่นใหม่ ในการเป็น “ความหวัง” เลือกใช้พลังนั้นไปในทางที่ถูกหรือทางที่ทำร้ายผู้อื่น นอกจากนั้น “ลาพิวตา” ยังเป็นตัวแทนของประเทศญี่ปุ่นในปี 1868 ช่วงเกิดศึกอุเอโนะในสงครามโบชิง ที่มีการล้มล้างระบบศักดินาของโชกุนเพื่อคืนอำนาจให้กับจักพรรดิญี่ปุ่น อันนำมาซึ่งการสิ้นสุดยุคเอโดะและก่อเกิดราชวงศ์เมจิ ซึ่งในหนังก็สะท้อนเรื่องราวนี้ไว้ด้วย

ฮายาโอะ มิยาซากิ กำกับและเขียนบทหนังเรื่องนี้เอง โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือนิยาย Gulliver’s Travels หรือการผจญภัยของกัลลิเวอร์ รวมถึงหนังก็ยังมีฉากหลังคล้ายกับแคว้นเวลส์ (Wales) เมืองที่เขาเดินทางไปตอนหาแรงบันดาลใจสร้างหนังเรื่องนี้ในปี 1984 Laputa ยังแฝงแนวคิดของการอนุรักษ์ธรรมชาติ ให้เห็นถึงความละโมบของมนุษย์ที่ตักตวงใช้ทรัพยากรเพื่อประโยชน์ของอุตสาหกรรมและสงคราม

My Neighbor Totoro

โทโทโรเพื่อนรัก (1988)

My Neighbor Totoro

My Neighbor Totoro

เรื่องราวที่เล่าอย่างใสซื่อและไม่ต้องอาศัยการตีความมากนัก นอกจะใช้ความน่ารักในหัวใจนำทางไป บอกเล่าเรื่องราวของครอบครัวคุซาคาเบะ ที่เพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านใหม่แต่สภาพเก่าซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของญี่ปุ่นที่ผ่านไปแล้วหลังเผชิญหน้ากับสงคราม “ซัทซึกิ” (ภาษาญี่ปุ่น หมายถึงเดือนพฤษภาคม) เด็กหญิงวัย 8 ขวบต้องโตเร็วกว่าวัยเพื่อช่วยพ่อดูแลบ้าน ในยามที่แม่ล้มป่วยอยู่โรงพยาบาล (เหมือนในชีวิตจริงของฮายาโอะ มิยาซากิที่แม่ป่วยเป็นวัณโรค) และดูและน้อง “เม” (May) วัย 4 ขวบ ด้วยความกังวลว่าจะต้องสูญเสียแม่ไป ทำให้ซัทซึกิต้องรับมือปัญหาของผู้ใหญ่แบบเด็ก ๆ ที่ชวนให้น่าสงสารกับภาระที่ต้องแบกรับ (เช่น การที่อยู่ ๆ น้องเมก็หายไปจนต้องช่วยกันตามหาทั้งหมู้บ้าน) ซัทซึกิและเมมีเพื่อนบ้านเป็นภูติและเพื่อนในจินตนาการ “โทโทโร” (ตัวเล็กและตัวใหญ่ที่รูปร่างคล้ายกระต่ายผสมแมว เมออกเสียงเพี๊ยนมาจากโทะโระรุ ที่หมายถึงโทรลหรือภูติตามตำนานตะวันตกที่เธอเคยเห็นในนิทาน) รวมถึงแมวรถเมล์สีส้มที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของ Ghibli มาจนถึงทุกวันนี้

My Neighbor Totoro

My Neighbor Totoro

เหตุการณ์ที่เมได้เห็นเหล่าผองเพื่อนภูติทั้งหลาย เห็นได้เลยว่าได้รับอิทธิพลมาจาก Alice in the Wonderland โดยแฝงเรื่องของมิตรภาพที่มาพร้อมกับความรักธรรมชาติด้วย มากไปกว่านั้นคือความโอบอ้อมอารีที่มีต่อเพื่อนร่วมโลกไม่ว่าจะเป็นคนด้วยกันอย่างเราหรือไม่ก็ตาม ฮายาโอะได้ปลูกป่าในใจคนและปลูกฝังจิตใจที่ดีงามเรื่องความรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคมกับเด็ก ๆ ผ่านหนังเรื่องนี้

นอกจากนั้นเขายังสนับสนุนให้เกิดป่าโทโทโรขึ้นมาจริง ๆ ในเขาซายามะในเมืองโตเกียว และเมืองโทโรซาวะ จังหวัดไซตามะ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ฮายาโอะเคยใช้ชีวิตอยู่ช่วงหนึ่ง นอกจากนี้เบื้องหลังที่มาที่นักวิเคราะห์ภาพยนตร์ของญี่ปุ่นหลายคนมองว่า หนังเรื่องนี้น่าจะมีที่มาที่ไปจากเหตุการณ์แสนสะเทือนใจ (ต่างจากหน้าหนังที่น่ารัก) กล่าวถึงเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคมของปีหนึ่งในเขตซายามะ ที่เกิดเหตุฆาตกรรมสะเทือนขวัญ เด็กน้อยคนหนึ่งถูกลักพาตัวไปข่มขืนแล้วฆ่า เมื่อพี่สาวได้พบศพน้องสาวจึงเสียสติและบอกคนอื่นว่าตนเองเห็นทานุกิยักษ์ (ปิศาจตามความเชื่อญี่ปุ่น) และปิศาจแมว ท้ายที่สุดพี่สาวก็ฆ่าตัวตายตามน้องสาวไป อย่างที่ฮายาโอะอาจแฝงนัยยะไว้ในเรื่องถึงการขึ้นรถบัสแมวไปสู่โลกแห่งความตายตามน้องสาว

Kiki’s Delivery Service

แม่มดน้อยกิกิ (1989)

Kiki's Delivery Service

Kiki’s Delivery Service

ดัดแปลงมาจากบทประพันธ์ชื่อเดียวกันของเอโกะ คาโดโนะ เล่าเรื่องของ “กิกิ” แม่มดวัย 13 ปีที่ตามธรรมเนียมของแม่มดในวันแรกสาว จะต้องออกจากบ้านไปฝึกงานที่ต่างเมืองเป็นเวลาหนึ่งปี ครอบครัวกิกิต่างลุกขึ้นมาจัดแจงเตรียมตัวให้กิกิออกไปฝึกงาน (แฝงสัญญะของการเตรียมตัวเข้าสู่ช่วงเลือกสายการเรียนของเด็กญี่ปุ่น และการเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์) กิกิจะมีแมวหนึ่งตัวชื่อ “จิจิ” ที่เป็นเสมือนวิทยุทางจิตของกิกิที่สะท้อนความคิดลึก ๆ ของกิกิออกมา ความเชื่อเรื่องสัตว์นำทางจิตวิญญาณนี้เป็นความเชื่อของหลายชาติเช่น ในนิยาย The Golden Compass หรือมังกรมูซูใน Mulan) เมื่อกิกิเดินทางสู่เมืองใหญ่ เธอเลือกอาชีพบริการส่งของที่เธอถนัดจะใช้ไม้กวาดบินไปส่งองและทำได้ดี กิกิได้รู้จักกับ “ทอมโบะ” หนุ่มเฉิ่มที่ในทีแรกกิกิไม่ชอบเลยด้วยบุคลิกที่ดูไม่เป็นคนเมือง แต่นานเข้าเธอก็ได้เห็นจิตใจที่อ่อนโยนและดีงามของทอมโบะมากขึ้นเรื่อย ๆ

Kiki's Delivery Service

Kiki’s Delivery Service

แม่มดน้อยกิกิเป็นแอนิเมชันที่เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี เพราะให้ทั้งความสนุกสนานแบบเบาสมองก็ได้ หรือแง่คิดสำหรับผู้ใหญ่ไว้ตั้งคำถามกับตัวเอง เรื่องการเลือกเส้นทางชีวิตก็ได้เช่นกัน รวมถึงการก้าวข้ามผ่านพ้นวัยหรือ Coming of Age ของเด็กสาววัย 13 ที่ต้องเรียนรู้กับความอยากได้อยากมีและยึดติดในรูปลักษณ์ภายนอกของผู้คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต จนสูญเสียความมั่นใจในการเป็นตัวเอง และอาจจะเผลอพลาดมิตรภาพดี ๆ ไปเมื่อสายเกิน

รวมถึงความอยากที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นคนอื่นจนลืมข้อดีและความเป็นตัวของตัวเอง (ในเหตุการณ์ที่เธอสูญเสียพลังในการบินไป คุยกับจิจิก็ไม่รู้เรื่องแล้ว และยังทำไม้กวาดที่แม่ให้มาหักเสียอีก ทั้งหมดเพราะไม่เชื่อมั่นในตัวเอง (เหมือน Spider-Man ภาค 2 ของไตรภาคแรกสุด) แต่กิกิก็เรียกความมั่นใจกลับมาได้อีกครั้งเพราะความเชื่อมัน และตั้งใจอยากดีอยากจะช่วยชีวิตทอมโบะในเหตุการณ์ร้ายของเรื่อง) ในเนื้อหาส่วนนี้ก็เกิดดรามาระหว่างเอโกะ คาโดโนะ ผู้เขียนนิยายและฮายาโอะ ที่เธอกล่าวว่า เขาดัดแปลงเรื่องราวไปจากหนังสือโดยเพิ่มความยากลำบากของชีวิตที่กิกิต้องพบเจอมากเกินไป ซึ่งฮายาโอะก็บอกว่า นั่นแหละคือความหมายของชีวิตที่หนังกิกิควรจะต้องบอกไว้ ท้ายที่สุดวีรกรรมของเธอทำให้กิกิกลายเป็นแบบอย่างที่ดี กิกิได้เห็นเด็กน้อยในเมืองแต่งชุดตามเธอ และเธอก็ยังได้ทำงานที่เธอรัก ส่งมอบพลังบวกให้กับผู้คนอีกมากมาย

Only Yesterday

ในความทรงจำที่ไม่มีวันจาง (1991)

Only Yesterday

Only Yesterday

ผลงานกำกับของอิซาโอะ ทาคาฮาตะ ที่เคยกำกับ Grave of the Firefiles (1988) สุสานหิ่งห้อย-เรื่องเดียวที่ไม่ได้ลงฉายใน Netflix ของ Ghibli รอบนี้ บอกเล่าเรื่องราวอันแสนเรียบง่ายของ “ทาเอโกะ” สาวหัวสมัยใหม่จากโตเกียวที่เตรียมตัวลาหยุดงานไปพักร้อนที่บ้านพี่เขยที่จังหวัดยากามะ เธอคาดหวังจะได้มีประสบการณ์พักผ่อนดี ๆ ตามประสาคนเมืองไปพักผ่อนต่างจังหวัด เธอได้เจอกับ “โทชิโอะ” ชายหนุ่ยลูกพี่น้องลูกน้องของพี่เขยที่พาเธอไปทดลองใช้ชีวิตในไร่เพื่อเก็บเกี่ยวพืชผล ขับรถแทรกเตอร์ เรียนรู้การทำฟาร์ม ทำให้ทาเอโกะคิดว่าเธอหลงรักวิถีชีวิตธรรมชาติเข้าแล้ว

Only Yesterday

Only Yesterday

จุดพลิกผันของเรื่องอยู่ที่เมื่อคุณย่าของโทชิโอะ ขอให้ทาเอโกะแต่งงานกับหลานชายตัวเอง เธอรู้สึกสับสนที่แม้เธอจะสัมผัสได้ว่าชื่นชอบชีวิตชนบทมากเพียง แต่สาวคนเมืองอย่างเธอก็ยังไม่พร้อมจะมาใช้ชีวิตเป็นเมียชาวนา รวมถึงเหตุการณ์ในวัยเด็กที่เธอต้องทำเป็นเพื่อนกับเพื่อนลูกชาวนายากจนคนหนึ่งที่เข้ามาเรียนร่วมชั้น เธอแกล้งทำดีกับเพื่อนคนนั้น ก่อนที่จะมารู้เอาในตอนท้ายว่าเพื่อนคนนั้นก็รู้ว่าเธอเสแสร้งและไม่จริงใจ ทาเอโกะจึงต้องเผชิญกับคำถามในชีวิตที่ว่า ทั้งโทชิโอะและชีวิตชนบทคือสิ่งที่เธอรักจริงหรือแค่หลอกตัวเองว่ารัก Only Yesterday เป็นผลงานที่ผู้สร้างไปเก็บภาพความงามของจังหวัดยามากาตะมาไว้ในเรื่องจริง ๆ และยังเต็มไปด้วยบรรยากาศถวิลหาอดีต (Nostalgia) ไปถึงญี่ปุ่นในยุค 60s ตอนย้อนไปดูทาเอโกะสมัยเด็ก

Porco Rosso

พอร์โค รอสโซ สลัดอากาศประจัญบาน (1992)

Porco Rosso

Porco Rosso

เทียบได้กับ Beauty and the Beast หรือโฉมงานกับเจ้าชายอสูรของ Disney (Porco Rosso เข้าฉายไล่หลังกันปีเดียว) “ปอร์โก” นักล่าเงินรางวัลฝีมือฉกาจแห่งท้องทะเลเอเดรียติก ถูกร้องขอให้ไปช่วยเหลือเรือบรรทุกคนงานเหมืองแร่และเด็กเรียนหญิงที่โดยสารติดเรือมาด้วย ซึ่งอย่างหลังนี่เองที่จูงใจปอร์โกมากกว่า ปอร์โกออกไปเผชิญหน้ากับกลุ่มโจรสลัด “มัมมา ยูโต้” เมื่อทำภารกิจสำเร็จปอร์โกก็มักจะมาพบกับ “จีน่า” เจ้าของและนักร้องประจำบาร์ ปอร์โกออกผจญภัยต่อไปในเหตุที่จวนเจียนจะพลาดท่าหลายครั้งแต่ก็ยังไม่ตาย เขาลากซากเครื่องบินไปซ่อมที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ความจริงแต่หนหลังค่อย ๆ ปรากฎว่า เขาออกจากกองทัพอิตาลีเพราะประเทศถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการฟาสซิสต์

Porco Rosso

Porco Rosso

ในตอนสุดท้ายของเรื่อง ปอร์โกต้องดวลกับครูปรับคนสำคัญอย่างนักบินรับจ้างชาวอเมริกันนามว่า “เคอร์ติส” ซึ่งการต่อสู้ครั้งนี้ ก็ทำให้ปอร์โกได้รู้ซึ้งถึงความหมายของความเป็นมนุษย์ ปลดปล่อยตังเองจากคำสาปและความผิดบาปแต่หนหลังที่ยังฝังใจ และความรักที่แท้จริงของจีน่า หนังที่มีฉากหลังระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 กับ 2 ที่เศรษฐกิจทั่วโลกฝืดเคืองอย่างหนักเรื่องนี้ เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ที่สื่อไปถึงความชื่นชอบของฮายาโอะ มิยาซากิทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินที่เขาชอบมากเพราะเติบโตมาในช่วงสงครามหมู (ที่ปอร์โกเป็น) และประเทศอิตาลี (เหตุเกิดที่เมืองมิลาน)

เดิมทีฮายาโอะจะทำ Porco Rosso ตั้งแต่ทำ Laputa: Castle in the Sky โดยมอบหมายให้ผู้กำกับรุ่นน้องมากำกับแทน แต่รุ่นน้องกลับปฏิเสธในภายหลังว่า หนังไม่น่าเชื่อถือมากไปจนเขาต้องมากำกับเองในที่สุด และเดิมทีเขากำหนดให้เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เกิดประเทศโครเอเชียในปี 1992 ที่สรา้งหนังเกิดสงครามกลางเมืองในยูโกสลาเวียพอดี เขาเลยเปลี่ยนเป็นเกิดในทะเลอาเดรียติก (Adriatic Sea) แทน

Ocean Waves

สองหัวใจ รักหนึ่งเดียว (1993)

Ocean Waves

Ocean Waves

ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของ Ghibli ที่สร้างเพื่อออกฉายทางโทรทัศน์โดยเฉพาะ และยังเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ไม่ได้กำกับโดยฮายาโอะ มิยาซากิ และอิซาโอะ ทาคาฮาตะ แต่เป็นงานกำกับของโทโมมิ โมชิซูกิ ผู้กำกับรุ่นใหม่ของ Ghibli ในเวลานั้นที่ทั้งกองถ่ายของเรื่องนี้จะมีทีมงานอายุ 20-30 ปี ไม่เกินนี้เท่านั้นเพื่อเน้นทำงานอย่างรวดเร็วและประหยัด หนังดัดแปลงจากนิยายของฮิมุโระ ซาเอโกะ นักเขียนนิยายสำหรับผู้หญิงชื่อดัง หนังเป็นเรื่องราวของ “ทาคุ” ที่กำลังขึ้นเครื่องบินกลับไปงานเลี้ยงรุ่น ทำให้หวนย้อนถึงเรื่องราวเมื่อ 2 ปีก่อน ตอนที่เขาและเพื่อนสนิท “มัตสึโนะ” ได้พบกับ “ริคาโกะ” นักเรียนสาวแสนสวยที่เพิ่งย้ายมาใหม่ครั้งแรก  มัตสึโนะชอบริคาโกะตั้งแต่แรกเห็น แต่ทาคุเลือกจะเก็บซ่อนความรู้สึกนั้นไว้ ส่วนริคาโกะนั้นเก็บตัวและไม่ยอมเป็นเพื่อนกับใครนอกจากเพื่อนสนิทของเธออย่าง “โคฮะมะ”

Ocean Waves

Ocean Waves

วันหนึ่งด้วยความตกกระไดพลอยโจน โคฮะมะโทรมาตามให้ทาคุช่วยห้ามปรามไม่ให้ริคาโกะขึ้นเครื่องบินไปหาพ่อที่โตเกียว สุดท้ายทาคุเลยอาสาไปโตเกียวกับริคาโกะซึ่งก็ทำให้เขาได้สัมผัสกับความอ่อนแอของเธอที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เมื่อกลับมาเกิดข่าวลือที่ทำให้ริคาโกะเสียชื่อว่าไปโตเกียวกับทาคุสองต่อสอง ริคาโกะก็โกรธทาคุ และตามสไตล์ละครช่อง one (ฮา) มัตสึโนะเข้าใจผิดและต่อยทาคุ ทั้งสองผิดใจกันเพราะเรื่องผู้หญิงและไม่คุยกันอีกตั้งแต่นั้น การกลับมางานเลี้ยงรุ่นครั้งนี้ อาจจะทำให้ทาคุได้ปรับความเข้าใจกับเพื่อนและอาจจะได้เจอกับคนที่เขารักมาตลอดอีกครั้ง… เกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกอย่างก็คือ Ocean Waves เป็นหนังญี่ปุ่นไม่กี่เรื่องที่ Ghibli เป็นผู้ตั้งชื่อภาษาอังกฤษสำหรับขายตลาดต่างประเทศด้วยตัวเอง

Tales from Earthsea

ศึกเทพมังกร พิภพสมุทร (2006)

Tales from Earthsea

Tales from Earthsea

ผลงานกำกับของโกโร มิยาซากิ ลูกชายคนโตของฮายะโอะ มิยาซากิ ดัดแปลงมาจากหนังสือเล่มที่ 3 ของนิยายชุด Earthsea ชื่อเล่มว่า The Farthest Shore ของนักเขียนชาวอเมริกัน Ursula K. Le Guin ซึ่งจริง ๆ แล้ว ฮายาโอะอยากนำนวนิยายเรื่องนี้มาสร้างตั้งแต่ยุค 80s แล้ว แต่ Le Guin ปฏิเสธไม่ให้สร้าง เพราะ “ไม่รู้จักสตูดิโอ Ghibli” (เธอให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เธอรู้จักแต่ Disney และก็ไม่ชอบ Disney ด้วย) ต่อมาภายหลังจากที่ Spirited Away คว้ารางวัลออสการ์ภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม Le Guin ก็เลยเป็นฝ่ายกลับกันที่ง้ออยากให้ฮายาโอะเอานิยายของเธอไปสร้าง แต่เนื่องจากเขาติดกำกับ Howl’s Moving Castle อยู่ เลยเสนอให้ลูกชายคนโตมากำกับแทน

Tales from Earthsea

Tales from Earthsea

Tales from Earthsea เล่าเรื่องราวแฟนตาซีอย่างเต็มขั้น เกี่ยวกับ “เจ้าชายอาร์เรน” ลอบปลงพระชนม์พระราชา และได้ “พ่อมดเหยี่ยวนกเขา” ช่วยเอาไว้ ทั้งคู่เดินทางต่อไปยังเมืองฮอร์ตและได้เห็นโลกของการค้าทาส อาร์เรนช่วยหญิงสาวที่กำลังถูกจับนามว่า “เทรุ” แต่เธอกลับไม่ขอบคุณเขาแถมยังเดินหนีไปเสียอย่างนั้น ต่อมา “พ่อมดค้อบ” ตัวร้ายของเรื่องชักจูงอาร์เรนเข้าสู่ด้านมืดสำเร็จ (นี่มัน Star Wars หรือเปล่า?) เหยี่ยวนกเขาต่อสู้กับอาร์เรนจนกว่าจะสร่าง อาร์เรนก็สู้กับพ่อมดค้อบต่ออีกที อาร์เรนหลุดพ้นจากด้านมืดในที่สุดแต่ก็ไม่ทันช่วยชีวิตเทรุจากพ่อมดค้อป ทันใดนั้นก็ได้เกิดเหตุมหัศจรรย์ขึ้นจนค้อบพ่ายแพ้ไป.

หนังไม่เป็นที่ถูกใจแฟน Ghibli รวมถึงคอหนังทั่วไปเท่าที่ควร (อ่านจากเนื้อเรื่องก็พอเดาออก ว่าไม่ใช่สไตล์ที่คนญี่ปุ่นจะชอบได้เลย) ถึงขนาดถูกเสนอชื่อในรางวัล Grand Prize จาก Bunshun Kiichigo Awards หรือรางวัลยอดแย่ราซซี่อวอร์ดในสาขาภาพยนตร์ยอดแย่แห่งปีนั้นเลยทีเดียว

เรียบเรียงจาก 

  • Starpics ฉบับ “Everything about Ghibli Story” (3rd Edition) โดย เกรียงไกร พัฒนกุลโกเมธ
  • “เข้าใจจิบลิ” โดย อริสา พิสิฐโสธรานนท์ (สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา)

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส