[รีวิว] Jojo Rabbit ต่ายน้อยโจโจ้: เมื่อเผด็จการกลายเป็นเรื่องตลก
Our score
9.3

Jojo Rabbit

จุดเด่น

  1. คอสตูมเริ่ด เซตฉากสมจริง
  2. ฉลาดเล่าเรื่อง
  3. นักแสดงเล่นดีทุกคน เคมีแต่ละคู่เข้ากันลงตัว ไม่มีใครดร็อปเลย

จุดสังเกต

  • ความสมบูรณ์ของเนื้อหา

    9.0

  • คุณภาพงานสร้าง

    9.5

  • คุณภาพการเล่าเรื่อง

    9.5

  • ความน่าติดตาม

    9.0

  • คุ้มค่าเวลาดู

    9.5

สนับสนุนข้อมูลโดย Major Cineplex

Jojo Rabbit หนังฟอร์มม้ามืดที่มีชื่อชิงออสการ์อีกหนึ่งเรื่องที่พลอตน่าสนใจมาก โดยเป็นหนังที่ดัดแปลงมาจากหนังสือ Caging Skies ของ คริสติน ลูเน็นส์  ที่ออกมาในปี 2008 เล่าเรื่องของเด็กชายคนหนึ่งในค่ายยุวชนฮิตเลอร์ ผู้ทุ่มเทใจทั้งหมดให้กับการเป็นทหารนาซี แต่แล้วโลกทั้งใบของเด็กชายคนนี้กลับเปลี่ยนแปลงไปเมื่อเขาได้รู้ว่าพ่อแม่ของตัวเองได้ซ่อนตัวเด็กหญิงชาวยิวไว้ในบ้าน ซึ่งจากโครงเรื่องในหนังสือนั้นค่อนข้างเดินไปในมุมมืดหม่นและดราม่ากับความผิดหวังที่รุนแรง แต่ในเมื่อมันมาอยู่ในสายตาของ ไทกา ไวติติ ผู้กำกับยิวแล้ว มันเลยกลายมาเป็น Jojo Rabbit ที่ใส่ความเป็น comedy เข้ามา เปลี่ยน mood and tone ของเรื่องไปในบัดดล ซึ่งจริง ๆ แล้วไทกา เริ่มเขียนบท Jojo Rabbit ไว้ตั้งแต่ช่วงที่เขากำกับ Boy (2010) แต่กว่าจะได้ปัดฝุ่นกลับมาทำก็ต้องรอหลังจากที่จบโพรเจกต์ Thor: Ragnarok(2017) งานกำกับหนังบล็อกบัสเตอร์เรื่องแรกของเขาด้วย

ใน Jojo Rabbit มีการปรับบทให้มีความเป็นแฟนตาซีมากขึ้น โดย โจโจ้ เบซเลอร์ (โรมัน เดวิส) เด็กหนุ่มวัย 10 ขวบที่เป็นสมาชิกค่ายยุวชนฮิตเลอร์ ผู้ซึ่งเติบโตมาด้วยความฝันอยากเป็นทหารนาซีรับใช้ฮิตเลอร์ โดยหนุ่มน้อยโจโจ้ มีเพื่อนในจินตนาการคือ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์  (ไทกา ไวติติ) ผู้นำพรรคนาซี อย่างไรก็ตาม โลกของเด็กหนุ่มต้องเปลี่ยนไปเมื่อพบว่า โรซี (สการ์เล็ตต์ โจแฮนส์สัน) แม่ของเขาแอบซุกซ่อนเด็กหญิงชาวยิวเอาไว้ที่ห้องใต้หลังคา

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่หนังเรื่องแรกที่พูดถึงความโหดเหี้ยมของฝั่งพรรคนาซี, ตัวฮิตเลอร์ หรือขยี้น้ำตาจากความคับแค้นใจของฝั่งยิว แต่ Jojo Rabbit นั้นฉีกสไตล์การเล่าเรื่องออกไปเลย และยังคงไว้ซึ่งบรรยากาศและสถานการณ์ในเยอรมนีช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยโทนของตัวหนังสว่างสดใส ไร้ความหมองหม่น จากช่วงแรกที่หนังปูและชูอุดมการณ์ของพรรคนาซีแบบอวยแหลก ก่อนจะค่อย ๆ เผยความฮาของท่านผู้นำโรคจิตคนนี้ออกมา ต้องบอกว่าผู้กำกับ ไทกา ที่มารับบทฮิตเลอร์เองด้วยนี่เล่นได้เข้าถึงมาก เคมีส่งกับเจ้าหนู โรมัน เดวิส ที่ต้องบอกว่าฉายแววสุด ๆ ทั้งที่เป็นหนังเรื่องแรกของหนุ่มน้อยคนนี้

หนังเดินเรื่องกระชับ ตัวละครมีเสน่ห์มาก ๆ โดยเฉพาะ สการ์เล็ตต์ ในบทบาทของ โรซี แม่ที่ต้องการปกป้องลูกชายจากการถูกล้างสมองของพรรคนาซีด้วยสไตล์แม่สายเฟียสที่ซุกซ่อนปมและแนวคิดที่สวนทางกับเผด็จการไว้ใต้พรม ทุกครั้งที่เธอออกมา มันยกระดับของหนังไปได้อีกจริง ๆ จากมิติการแสดง ความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูก การปลอบประโลมยาม โจโจ้ เรียกร้องหาพ่อที่หายไปในสงคราม การรับบทที่เป็นทั้งแม่และพ่อที่ไม่ต้องเล่นหนัก บีบเค้น โหยหา แต่หน้าเธอยิ้ม มั่นใจ ‘ฉันเอาอยู่’ นอกจากแคสต์แล้ว การเซ็ตฉากบรรยากาศในช่วงยุค 30s ก็เก็บรายละเอียดดีมาก อีกทั้งคอสตูมในเรื่องนี้ก็เด่นมากทุกตัวละคร เรียกว่าขนาดสาวยิวที่ต้องหลบซ่อนในห้องใต้หลังคาแคบ ๆ โผล่ออกมาทีไรชุดจัดเต็มนึกว่าจะไปเดินแฟชันโชว์ (ฮา)

ภายใต้ความฮาแบบจิกกัดบนความตลกร้าย อีกด้านหนึ่ง หนังเรื่องนี้ก็สามารถแอบทำให้เรารู้สึกอึ้ง และหดหู่กับสถานการณ์บ้านเมืองช่วงนั้นที่อยู่ในภาวะสงครามด้วย เรายังได้เห็นความโหดเหี้ยมและเลือดเย็นในระดับซีเรียสของทหารนาซี มันอาจไม่มีซีนโหด ๆ แรง ๆ ยิ้มไปแทงไปสไตล์ Inglourious Basterds แต่แต่ละซีนที่โผล่ออกมา มันเป็นความรู้สึกสตั๊นท์ รู้สึกสูญเสียเจ็บปวดผ่านการเล่าที่มีคลาสที่ให้คนดูไปตีความต่อ โดยไม่จำเป็นต้องขยี้หรือเค้นน้ำตามากมาย

สิ่งที่ประทับใจที่สุดของ Jojo Rabbit คือการเป็นหนัง coming of age ที่ทรงพลัง จากความเป็นเผด็จการที่มีเมจเซจเอาตัวเองและพวกพ้องเป็นที่ตั้ง สู่ความเห็นใจและยอมรับในความแตกต่างของเพื่อนมนุษย์ ความไร้เดียงสาของเด็กหนุ่มที่ถูกล้างสมองกับเด็กสาวชาวยิวที่ไม่เคยออกไปเห็นโลกภายนอกยิ่งขับเสน่ห์ของหนังจากเคมีของคนทั้งสองออกมา การที่ทั้งคู่ค่อย ๆ รับรู้และเรียนรู้ จนมองเห็นมุมดี ๆ ของกันและกัน เมจเซจตรงนี้อิมแพ็กมาก มากจนอยากให้เด็กต่างวัย 2คนนี้อยู่ด้วยกันตลอดไป

ถือว่า Jojo Rabbit มาถูกที่ถูกเวลาในสถานการณ์บ้านเมือง คนไทยดูช่วงนี้อาจจะอินมากเป็นพิเศษ หากพูดภาษาบ้าน ๆ หนังอาจจะบอกว่า เป็นสลิ่มไม่คูลหรอกยู! แต่อีกด้านหนึ่งก็บอกว่า การจำกัดความ จำกัดสีเสื้อ การไปแปะป้ายอีกฝั่งว่าเป็น เสื้อสีไหน ทีมใคร ไม่ใช่ทางออก ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันมากกว่าที่จะทำให้ความแตกต่างยังคงอยู่ด้วยกันได้

Play video

Play video

Play video

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส