ในปีนี้หนังแฟรนไชส์รถแข่งผสมอาชญากรรมอย่าง The Fast and the Furious จะมีอายุครบ 19 ปี และเกือบได้ฉลองด้วยการฉายหนังภาคที่ 9 พร้อมกับการตั้งชื่อจักรวาลของตัวเองเป็น The Fast Saga ในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ ก่อนที่จะถูกโยกฉายหนี Covid-19 ยาวไปถึงเดือนเมษายนปีหน้า นี่คือภาพยนตร์ชุดที่มีแฟน ๆ รักและให้การรอคอยมากที่สุด วัดจากความนิยมที่ไม่เคยเสื่อมลงเลยตลอด 19 ปี (ที่อาจจะมีเป๋ ๆ และเกือบไม่รอดไปในภาค 2-3) แต่ภาพยนตร์ชุดนี้ก็เป็นภาพยนตร์ที่ไม่ได้สร้างจากคอมิกซูเปอร์ฮีโร และจากหนังสือที่ถูกนำมาดัดแปลง ที่ทำรายได้สูงที่สุดในโลกจนถึงตอนนี้

What the Fact ขอนำเสนอเรื่องที่คุณอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับ The Fast and The Furious ตั้งแต่หนังเริ่มสร้างภาคแรกจวบจนภาค 9 ที่กำลังจะมาถึงในปีหน้า โดยแบ่งเป็น 2 ตอนเพื่อไม่ให้เนื้อหาที่แฟน ๆ ติดตามอ่านยาวจนเกินไป

สร้างจากบทความ “Racer X” ตีแผ่ชุมชนนักแข่งผิดกฎหมาย

จุดเริ่มต้นจริง ๆ ของหนัง The Fast and The Furious (2001) ภาคแรก เกิดมาจากบทความของนักเขียน Kenneth Li ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1998 ในนิตยสาร Vibe (ตอนที่เขาเริ่มเขียน Li เป็นนักข่าวของสำนักข่าว New York Daily ที่กำลังเขียนข่าวเกี่ยวกับการขโมยรถจนมาเจอเรื่องนี้เข้าแทน) บอกเล่าของชุมชนนักซิ่งรถผิดกฎหมายที่เป็นแหล่งรวมของนักแข่งหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งเปอร์โตริกัน โดมินิกัน จีน ฟิลิปปินส์ อิตาเลียน ที่มารวมตัวกันในการแข่ง Drag Racing การแข่งรถประชันความเร็วบนท้องถนนในเมือง โดยเป็นการปล่อยตัวออกจากจุดสตาร์ทพร้อมกัน 2 คัน และวัดว่าใครชนะจากการเข้าเส้นชัยก่อนในระยะทาง 1/4 ไมล์

Rafael Estevez นักแข่งที่ Li นำเสนอเป็นส่วนใหญ่ในบทความ ต่อมากลายเป็นแรงบันดาลใจให้บท "ดอร์มินิก ทอเร็ตโต"

Rafael Estevez นักแข่งที่ Li นำเสนอในบทความ ต่อมากลายเป็นแรงบันดาลใจให้บท “ดอร์มินิก ทอเร็ตโต”

Li ได้เขียนบทความนี้ ชนิดที่เปิดโลกการแข่งรถผิดกฎหมายให้คนนอกวงการและคนอเมริกันได้รู้จัก เขาเล่าถึง Drag Racing ที่เป็นที่นิยมในอเมริกามาตั้งแต่ยุค 90s ในแถบแคลิฟอร์เนียตอนใต้ จนถึงช่วงที่เขาเขียนบทความการแข่งนี้ก็เริ่มมาได้รับความนิยมในนิวยอร์กแล้ว เขาเซอร์ไพรส์มากที่มีผู้สร้างฮอลลีวูดติดต่อมาเพื่อซื้อลิขสิทธิ์บทความของเขาไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ซึ่ง 2 ปีหลังจากนั้นก็ยังไม่มีวี่แววว่าหนังจะถูกสร้าง จนในที่สุดหนังก็ถูกประกาศสร้างและกำหนดวันเข้าฉายหลังจาก Gone in 60 Seconds (2000) ไม่กี่เดือน แถมเรื่องที่เป็นคู่แข่งยังสร้างโดย Jerry Bruckheimer ผู้อำนวยการสร้างชื่อดัง นำแสดงโดย Nicolas Cage และ Angelina Jolie จน Li คิดว่าหนังที่สร้างจากบทความของเขา “แพ้ขาดทุกประตู” อย่างที่ไม่มีทางสู้ได้ (ปรากฎว่าหนังเรื่องนั้นก็ไม่ได้ฮิตเปรี้ยง และ Fast ก็ทำรายได้ดีพอสมควรจนได้ไปต่อ)

Gone in 60 Seconds (2000)

Gone in 60 Seconds (2000)

Play video

เส้นทางลุ่ม ๆ ดอน ๆ ตอนภาค 2 และ 3

เคล็ดลับความสำเร็จอย่างหนึ่งของหนังชุด The Fast Saga ก็คือ หนังแต่ละตอนนับตั้งแต่ภาค 4 เป็นต้นมานั้นได้รับการพัฒนาแนวทางของหนัง จากหนังรถแข่งกลายเป็นหนังจารกรรมจนกลายเป็นหนังแอ็กชันกึ่งสายลับเต็มรูปแบบไปในที่สุด ย้อนกลับไปตอนภาคแรกประสบความสำเร็จ ผู้กำกับอย่าง Rob Cohen ที่เป็นผู้กำกับหนังแอ็กชันขึ้นชื่อในเวลานั้น กลับตัดสินใจทิ้งโพรเจกต์ภาค 2 ไปทำหนัง xXx (2002) แถมยังดึง Vin Diesel ไปแสดงในเรื่องนั้นด้วย (Cohen ออกมาต่อว่าค่ายหนังว่า ภาค 2 และ 3 ถูกสร้างขึ้นก็เพราะอยากได้เงินเท่านั้น) ทำให้ค่าย Universal เหลือแต่นักแสดง Paul Walker และ Tyrese Gibson มาแสดงนำ ก่อนที่ภาค 3 จะไร้ซึ่งนักแสดงชื่อดังเลย

xXx (2002) ที่ต่อมากลายเป็นแฟรนไชส์ฮิตอีกชุดของ Diesel

xXx (2002) ที่ต่อมากลายเป็นแฟรนไชส์ฮิตอีกชุดของ Diesel

ในจังหวะนั้น Chris Morgan ที่เป็นนักเขียนบทของเรื่องมาตั้งแต่ภาค 3 จนทุกวันนี้ได้กลายเป็นโปรดิวเซอร์คนสำคัญของแฟรนไชส์นี้เล่าให้ฟังว่า ตอนที่เขาถูกจ้างมาเขียนบทนั้น ค่ายหนังได้ตัดสินใจแล้วว่าจะให้หนังภาค 3 สร้างเพื่อฉายลงดีวีดีด้วยทุนสร้างแค่ 10 ล้านเหรียญฯ Morgan ค้านหัวชนฝาเพราะเสียดายแฟรนไชส์นี้และไปคิดไอเดียมาจนได้ว่าจะให้ Fast ไป Drift กันที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และโชคดีอีกอย่างของแฟรนไชส์ Fast ก็คือ การได้ผู้กำกับ Justin Lin หน้าใหม่มากฝีมือในตอนนั้นมากำกับ จนทำให้ค่ายหนังยอมสร้างภาคต่อและ Lin ได้กำกับตั้งแต่ภาค 3 มาจนถึงภาค 9 ยกเว้นแค่ภาค 7 ที่ James Wan กำกับ และ ภาค 8 ที่ F.Gary Gray กำกับ

Chris Morgan และ Neal H. Moritz โปรดิวเซอร์ของ The Fast Saga

Chris Morgan และ Neal H. Moritz โปรดิวเซอร์ของ The Fast Saga

ผู้กำกับ Justin Lin ใน Fast Five (2011)

ผู้กำกับ Justin Lin ใน Fast Five (2011)

ผู้กำกับอายุมากที่ไม่อินกับการแข่งรถเลยอย่าง Rob Cohen

ในปี 2000 ตอนที่หนังเริ่มสร้าง Rob Cohen ผู้กำกับอายุ 52 ปีเข้าไปแล้ว หนังที่เข้าทำมาในอดีตอย่าง Dragon: The Bruce Lee Story (1993) หรือหนังอุโมงค์รถใต้น้ำถล่มอย่าง Daylight (1996) ไม่คุ้นเคยกับการทำหนังแข่งรถฮิป ๆ ของเหล่าวัยรุ่นแน่นอน แต่โชคดีที่เขามีลูกชายวัย 14 ที่ช่วยจูนเขาเข้ากับเรื่องราวการแข่งรถนี้ได้ Cohen อยากจะฉีกหนังเรื่องนี้ออกไปจาก The Fast and Furious (1954) หนังชื่อเรื่องเดียวกันที่เป็นหนังดรามาอาชญากรรมเกรดบี (บางสำนักบอกเป็นหนังฟิล์มนัวร์) แม้ว่าในเรื่องจะมีทั้งฉากรถแข่งและการซิ่งเหมือนกันก็ตาม (ค่าย Universal ขอซื้อลิขสิทธิ์แค่ “ชื่อเรื่อง” มาทำใหม่เป็นเรื่องที่เรารู้จักกัน แต่ขอไม่ซื้อพล็อตและเนื้อเรื่องมา)

ผู้กำกับ Rob Cohen ในกองถ่ายภาคแรก

ผู้กำกับ Rob Cohen ในกองถ่ายภาคแรก

The Fast and the Furious (1954)

The Fast and the Furious (1954)

ในหนังภาค 1 มี CGI 180 ช็อตที่เทียบไม่ได้เลยกับหนังในยุคนี้ที่มี CGI เป็นหลักพันช็อต แต่ปี 2001 นั้นการทำหนังรถแข่งด้วย CGI ก็ต้องถือว่าค่ายหนังใจป้ำมากแล้ว “ในฉากแข่งรถแดร๊ก รถครึ่งนึงในนั้นไม่ใช่ของจริง” ผู้กำกับบอก หนังเรื่องนี้ได้มือเขียนบทอย่าง Gary Scott Thompson จากหนังดังในตอนนั้นอย่าง Hollow Man (2000) รวมถึง Erik Bergquist และ David Ayer (ที่ถูกวันนี้กลายเป็นผู้กำกับดังจาก Suicide Squad (2016)และ Fury (2014) ไปแล้ว) มาเปลี่ยนฉากหลังจากนิวยอร์กให้เป็นแอลเอ และใส่เรื่องราวของการเป็นสายสืบตำรวจในรังโจรที่มาหลงรักผู้นำแก๊งให้เป็นเมโลดรามาเข้าไป หนังทำรายรับรวมทั่วโลกไป 207 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้างแค่ 38 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น

เกร็ดเบื้องหลัง ภาค 1

  • Rob Cohen ผู้กำกับเคยจะนำนักแสดง Mario Lopez และ Mark-Paul Gosselaar จากซีรีส์ Saved by the Bell (1989) มารับบทเป็น “โดมินิก” และ “ไบรอัน” ตามลำดับ แต่ผู้บริหารสตูดิโอกลัวว่าคนจะสับสนกับซีรีส์เรื่องนั้นที่พวกเขาเล่นคู่กัน พวกเขาจึงชวดบทนี้ไป
Mario Lopez และ Mark-Paul Gosselaar จากซีรีส์ Saved by the Bell (1989)

Mario Lopez และ Mark-Paul Gosselaar จากซีรีส์ Saved by the Bell (1989)

  • ทั้ง Michelle Rodriguez และ Jordana Brewster สองสาวนักแสดงนำของเรื่องขับรถไม่เป็นจนต้องมาเรียนขับรถในกองถ่ายหนังนี่เอง
  • Neal H. Moritz โปรดิวเซอร์และ Rob Cohen ผู้กำกับมาร่วมแสดงบทรับเชิญด้วย ในบทคนขับรถ Ferrari ที่มาท้าดอมกับไบรอันแข่งรถ และบทคนส่งพิซซ่า ตามลำดับ
  • ในฉาก Race Wars นักซิ่งตัวจริงนำรถมาเข้าร่วมฉากด้วย โดยทั้งหมดในฉากนี้มีรถแข่งร่วมฉาก 1,500 คัน
  • ฉากบ้านของทอเร็ตโต ทีมงานขอเจ้าของบ้านในละเวกที่หนังใช้ถ่ายทำ ทาสีบ้านใหม่ให้สีบ้านเป็นสีโทนที่เรียบลงกว่าเดิม เพื่อให้รถญี่ปุ่นสีแสบทั้งหลายในเรื่องโดดเด่นขึ้น
  • ฉากซิ่งรถฉากแรกของภาคแรก การแข่งในระยะทาง 1/4 ไมล์ ปกติจะใช้เวลาเพียงแค่ 10 วินาทีแต่ในหนังปรากฎฉากการแข่งถึง 2 นาที ขณะที่รถแต่ละคันซิ่งด้วยความเร็ว 150 ไมล์/ชั่วโมง สิ่งที่ปรากฎในฉากนั้นจึงไม่มีทางเป็นไปได้ในความจริงหากเอาความเร็วมาเทียบ
  • หนังถูกตั้งข้อสังเกตว่า แทบจะลอกพล็อตมาจากหนัง Point Break (1991) ของผู้กำกับหญิง Kathryn Bigelow ที่มีตัวละคร FBI (รับบทโดย Keanu Reeves) แฝงตัวเข้าไปสืบคดีปล้นธนาคารในแก๊งเล่นเซิร์ฟซึ่งเปลี่ยนมาเป็นแก๊งแข่งรถซิ่งในเรื่องนี้
Point Break (1991)

Point Break (1991)

Vin Diesel ทิ้งหนังภาค 2 เพราะบท “มันห่วยมาก”

แม้ว่าภาคแรกจะประสบความสำเร็จและ Vin Diesel จะสามารถเรียกค่าตัวในภาค 2 ได้ถึง 20 ล้านเหรียญฯ ซึ่งถือว่าสูงมากในเวลานั้น (บางแหล่งข่าวบอกว่า 25 หรือ 27 ล้านเหรียญฯ เลยด้วยซ้ำ) และหนังก็ขยับทุนสร้างในภาค 2 เป็นเท่าตัวจาก 38 เป็น 76 ล้านเหรียญฯ) แต่ Cohen ผู้กำกับก็เป็นรายแรกที่ถอนตัวไป ก่อนจะพา Diesel ไปเล่นหนัง xXx (2002) ของค่าย Columbia Pictures แทน โดยจุดที่ทำให้ Vin Diesel รู้สึกว่าค่ายหนังไม่จริงใจและไม่ใส่ใจในการสร้างภาคต่อ ก็อยู่ในบทสัมภาษณ์ของเขากับนิตยสาร Variety เมื่อปี 2015 ว่า ค่ายหนังแค่ต้องการทำซ้ำภาคแรก ไม่ได้อยากพัฒนาเรื่องต่อไปในแนวทางใหม่ที่น่าสนใจขึ้น

2 Fast 2 Furious (2003)

2 Fast 2 Furious (2003)

ซึ่งก็ดูจะเป็นเรื่องจริง เพราะหนังภาค 2 โละทิ้งทีมเขียนบทเก่าออกหมด และเลือกจะใช้บริการ Michael Brandt และ Derek Haas ซึ่งเขียนบทหนังทีวีมาแค่คนละเรื่อง แม้หนังจะใช้ผู้กำกับคุณภาพอย่าง John Singleton ผู้ล่วงลับที่เคยเข้าชิงออสการ์จาก Boyz n the Hood (1991) มาแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่ว่าผู้กำกับหนังดรามาจะทำหนังให้ดีได้ทุกแนว หนังทำรายได้รวมทั่วโลก 236 ล้านเหรียญฯ เพิ่มจากภาคแรกนิดเดียว และหนังยังได้เข้าชิงรางวัลราซซี สาขาหนังภาคต่อยอดแย่อีกด้วย

เกร็ดเบื้องหลัง ภาค 2

  • Jeff Celentano จาก Primary Suspect (2000) หนังเกรดบีที่มี William Baldwin แสดงนำ เคยเกือบจะได้มาเป็นผู้กำกับ แต่เขาปฏิเสธที่จะทำหนังที่มีฉากหลังเป็นประเทศญี่ปุ่น (แบบปลอม ๆ ที่ถูกเซ็ทถ่ายในสหรัฐฯ) เรื่องตลกก็คือในภาคต่อมาอย่าง Tokyo Drift นั้น หนังได้ยกกองไปถ่ายทำกันที่ประเทศญี่ปุ่นจริง ๆ
  • คฤหาสน์ใหญ่โตที่ใช้ถ่ายเป็นบ้านของหัวหน้าแก๊งค้ายาตัวร้ายของเรื่อง เป็นของ Sylvester Stallone
  • ระหว่างการถ่ายทำที่ Cape Florida State Park ในฟลอริดามีหนังอีกเรื่องที่ถ่ายทำอยู่ในเวลานั้น และมีฉากแข่งรถสุดมันเช่นกัน นั่นคือ Bad Boys II (2003) และในฉากที่โรมันกับไบรอันคุยกันยามพระอาทิตย์ตก จะเห็นฉากหลังเป็นสะพาน Seven Miles Bridge ที่คอหนังอาจจะคุ้น ๆ เพราะเป็นสะพานในฉากไคลแมกซ์หนังเรื่อง True Lies (1994) ด้วย

Play video

จุดเริ่มต้นของความเข้ารูปเข้ารอย เมื่อ Justin Lin เข้ามากำกับ

หลังจากภาค 2 ถูกนักวิจารณ์ถล่มยับทำให้ไม่มีนักแสดงจากต้นฉบับรายไหนคิดจะกลับมา หนังจึงเลือกจะไปเล่าโลกของนักซิ่งรถแข็งอีกฟากหนึ่งของโลกที่เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ความบ้าระห่ำของค่ายหนังคือการเพิ่มทุนสร้างไปอยู่ที่ระดับ 85 ล้านเหรียญฯ และการที่หนังเลือกใช้ผู้กำกับเชื้อสายไต้หวันที่ยังไม่ดังมาก กำกับหนังมาไม่กี่เรื่องอย่าง Lin ก็น่าจะเป็นการเสี่ยงที่หนักหนาเอาเรื่อง Neal H. Moritz โปรดิวเซอร์ถูกใจ Lin จากหนังอาชญากรรมของนักเรียนไฮสคูล Better Luck Tomorrow (2002)

Better Luck Tomorrow (2002) ที่ทำให้ Lin เข้าตา Moritz จะเห็น Sung Kang ผู้รับบท ฮาน แสดงในเรื่องนี้ด้วย

Better Luck Tomorrow (2002) ที่ทำให้ Lin เข้าตาผู้สร้าง และจะเห็น Sung Kang (ฮาน) แสดงเรื่องนี้ด้วย

แม้ว่าทำเรื่องนี้ออกมาได้ไม่ขี้เหร่นัก แต่ผลตอบรับจากรอบทดลองฉายก็ยังออกมาย่ำแย่มาก จนค่ายหนังต้องติดต่อให้ Diesel กลับมารับบทรับเชิญท้ายเรื่อง (แลกกับการที่ Diesel จะได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในแฟรนไชส์และตัวละคร “ริดดิค” ที่เขารับบทนำมาตั้งแต่หนัง Pitch Black (2000) ซึ่งสุดท้าย Diesel ก็ดันให้เกิดภาคต่อภาคที่ 3 ออกมาจนได้กับ Riddick (2013)) Lin บอกว่าเขาต้องใช้เวลาเกลี้ยกล่อม Diesel นานถึง 4 ชั่วโมงด้วยการเล่าโครงเรื่องที่ Lin ตั้งใจจะสร้างออกมาทั้งหมด ที่ท้ายที่สุดเป็นเส้นเรื่องมาจนถึงภาค 6 จนเมื่อนำหนังกลับไปทดลองฉายใหม่ ผู้คนก็กรี๊ดกร๊าดกับฉากของ Diesel จนค่ายหนังตั้งใจจะเอาเขากลับมาในภาค 4 หนังทำรายรวมทั่วโลกไปไม่ค่อยสวยที่ 158 ล้านเหรียญฯ ความสำเร็จเดียวของหนังภาคนี้อาจะเป็นการได้เจอ Justin Lin ที่มาคุมจักรวาลนี้ต่อไป

Riddick (2013)

Riddick (2013)

Play video

Play video

เกร็ดเบื้องหลัง ภาค 3

The Fast and the Furious: Tokyo Drift (2006)

The Fast and the Furious: Tokyo Drift (2006)

  • Tokyo Drift เป็นหนังภาคเดียวที่ไม่มี Paul Walker ร่วมแสดง (ไม่นับภาคหลังจากเขาเสียชีวิตแล้ว) ว่ากันว่า เป็นเพราะสตูดิโอมองว่าเขา “แก่เกินไป” กว่าจะกลับมาเล่นหนังแฟรนไชส์นี้แล้ว
  • เป็นเรื่องแรกของ Sung Kang ที่มารับบทเป็น “ฮาน” แต่ถ้านับตามไทม์ไลน์ในเรื่อง เหตุการณ์ใน Tokyo Drift เกิดหลังภาค Fast & Furious 6 
  • เป็นหนังเรื่องแรกในแฟรนไชส์นี้ที่มีซีเควนซ์เครดิตเปิดเรื่องเต็มรูปแบบ
  • ฉากการดริฟท์ในเรื่องทั้งหมดไม่มีการใช้ CGI แต่เป็นการขับจริงของนักแข่งมืออาชีพ โดยมีรถกว่า 100 คันที่ได้รับความเสียหายระหว่างถ่ายทำ
  • Channing Tatum จาก G.I. Joe: The Rise of Cobra (2009) และ 21 Jump Street (2012) เคยมาออดิชันบทนึงในเรื่องนี้ เราเกือบได้มีเขาเป็นดาราดังในแฟรนไชส์นี้อีกคนแล้ว
  • ทีมงานสร้างหนังไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำอย่างเป็นทางการในเมืองโตเกียว Lin ต้องใช้วิธีลักลอบถ่ายแบบกองโจร โดยเฉพาะฉากที่ทางม้าลายแลนมาร์คอย่างย่านชิบูยา พวกเขามีเวลา 20 นาทีในการถ่ายก่อนตำรวจจะมา และทีมงานก็ต้องเตรียมผู้กำกับปลอมเพื่อให้ตำรวจญี่ปุ่นจับไปติดคุกแทน Lin โดยตลอดการถ่ายทำทั้งเรื่องเขาถูกจับไปติดคุกแทน Lin 6 ครั้ง

Fast & Furious ภาค 4 ที่ได้นักแสดงหลักทุกคนกลับมาอีกครั้ง

ในภาคนี้ที่เหมือนกับเป็นภาครีเมกหรือภาคต่อโดยตรงจากภาค 1 เพราะได้นักแสดงหลักทุกคนกลับมาครบทั้ง Vin Diesel, Paul Walker, Michelle Rodriguez, Jordana Brewster สมทบด้วย Sung Kang ที่แฟน ๆ ชื่นชอบจากภาคที่แล้ว รวมถึง Gal Gadot ก่อนที่เธอจะโด่งดังกับบท Wonder Woman มาเล่นด้วยเป็นภาคแรก ในทีแรก Lin ผู้กำกับคิดว่าจะไม่กลับมาทำหนังแฟรนไชส์นี้ต่อจนกระทั่งได้สัมผัสถึงความฮอตของแฟน ๆ ที่มีต่อ Kang จึงทำให้เขาเปลี่ยนใจ “ผมตีรถย้อนกลับกลางไฮเวย์ เพื่อโทรหาสตูดิโอว่า ผมขอกลับมาทำหนังเรื่องนี้” เขาเปรียบเปรย

Fast and Furious (2009)

Fast and Furious (2009)

หนังยังถูกสับเละจากนักวิจารณ์ว่า ไม่มีความแปลกใหม่ บางคนชอบภาค 3 มากกว่า และหลายคนก็แซวว่า 4 นักแสดงนำกลับมาเล่นเรื่องนี้ เพราะไม่มีหนังดังเรื่องอื่นให้เล่นแล้ว (ดูเหมือนจะจริง!) ค่าย Universal ใช้มุกสร้างบรรยากาศให้แฟน ๆ ของหนังชุดนี้หวนรำลึกถึงบรรยากาศของหนังภาคแรกเมื่อ 8 ปีก่อนและดูเหมือนจะได้ผล เพราะหนังทำรายรับรวมทั่วโลกไป 363 ล้านเหรียญฯ เกินกว่าค่ายหนังคาดคิดไว้และยังทำรายได้มากกว่าทุกภาคที่ผ่านมา  ในภาคนี้ก็ยังมีฉากที่ตัวละครสำคัญของเรื่องตัวหนึ่งต้องตาย (แบบไม่จริงและถูกเฉลยในภาค 6 ปล่อยให้แฟน ๆ เข้าใจผิดต่อไปถึง 2 ภาค)

Play video

เกร็ดเบื้องหลัง ภาค 4

Vin Diesel ได้โคจรกลับมาเจอกับ Paul Walker อีกครั้ง

Vin Diesel ได้โคจรกลับมาเจอกับ Paul Walker อีกครั้ง

  • ภาคนี้เป็นภาคแรกที่ Vin Diesel ได้เป็นผู้อำนวยการสร้างร่วมของหนัง เขาอยากให้ Universal ถ่ายทำภาค 4 และ 5 ไปพร้อมกันเลย แต่ค่ายหนังขอไม่เสี่ยงและรอดูผลตอบรับของภาค 4 ก่อน
  • David Ayer ผู้กำกับดังและผู้เขียนบทภาคแรก ได้กลับมาช่วยเกลาบทโดยไม่ได้รับเครดิต
  • หนังเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิตของ Gal Gadot
  • ในเรื่องไม่มีฉากที่ Michelle Rodriguez เข้าฉากร่วมกับ Paul Walker และ Jordana Brewster เลย
  • หนังเปิดตัวสุดสัปดาห์ 3 วันไปถึง 72.5 ล้านเหรียญฯ ทำลายสถิติหลายอย่างในเวลานั้น เช่น เป็นหนังที่ทำรายได้เปิดตัวสูงสุดตลอดกาลของเดือนเมษายน เป็นหนังที่เปิดตัวสุดสัปดาห์สูงสุงของค่าย Universal (โค่น The Lost World: Jurassic Park (1997)) และเป็นหนังเกี่ยวกับรถที่เปิดตัวสุดสัปดาห์สูงสุดอีกด้วย

ตามไปอ่านตอนที่ 2 ต่อกันได้เลยที่นี่

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส