[รีวิว] Mother Gamer เกมเมอร์เกมแม่ – โปรดระวังช่องว่างระหว่างใจ

Release Date

10/09/2020

สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล | 117 นาที

ผู้กำกับ : ยรรยง คุรุอังกูร นักแสดง พิยดา อัครเศรณี, ต้นหน ตันติเวชกุล, สภัส งามเชวง และ วีรยา จาง

[รีวิว] Mother Gamer เกมเมอร์เกมแม่ – โปรดระวังช่องว่างระหว่างใจ
Our score
7.5

จุดเด่น

  1. หนังเล่าเรื่องและอธิบายทั้งกฎกติกาการแข่งขันและศัพท์แสงในเกม ROV ได้อย่างมีสีสันให้คนไม่เล่นเกมพอจะเข้าใจและสนุกไปกับมันได้
  2. อ้อม พิยดา อัครเศรณี และ เติร์ด ลภัส งามเชวง ให้การแสดงที่ยอดเยี่ยมกับหนังทั้งในเชิงพลังดาราและฝีมือการแสดงที่โน้มน้าวชักจูงอารมณ์คนดู
  3. ผู้กำกับดีไซน์ซีนในหนังได้อย่างสร้างสรรค์โดยเฉพาะฉากการฝึกเล่นเกม

จุดสังเกต

  1. บทหนังเทเวลาให้กับการเข้าสู่วงการอีสปอร์ตของเบญจมาศจนหลงลืมพัฒนาการความสัมพันธ์แม่ลูก
  • ความลงตัวของบทภาพยนตร์

    7.0

  • คุณภาพงานสร้าง

    8.0

  • คุณภาพนักแสดง

    7.5

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    7.5

  • ความคุ้มค่าบัตรชมภาพยนตร์

    7.3

https://youtu.be/gRdFxLXXKPM
สนับสนุนข้อมูลโดย Major Cineplex

หลังจากเรารอคอยการเข้าฉายของ Mother Gamer หรือ เกมเมอร์เกมแม่ กันมาตั้งแต่เดือนมีนาคมจนสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 เริ่มคลี่คลายในที่สุดวันนี้ Mother Gamer หนังที่หอบโจทย์ยากอย่างการทำหนังวัยรุ่นเกี่ยวกับกีฬาอีสปอร์ตโดยมีเกม ROV เกมโมบา (MOBA –  multiplayer online battle arena ) ยอดฮิตเป็นแกนกลางของความสัมพันธ์ตัวละครที่พร้อมจะเติบโตผ่านวิวาทะทางความคิดระหว่างเด็กยุคใหม่กับผู้ใหญ่ยุคนี้ก็จะได้เข้าฉายเพื่อพิสูจน์ตัวเองในสนามโรงภาพยนตร์เสียที

กล่าวอย่างสั้น ๆ หนังเล่าเรื่องความขัดแย้งระหว่าง เบญจมาศ (พิยดา อัครเศรณี) ครูคณิตศาสตร์ที่มองว่ามือถือคือศัตรูต่อการเรียน กับ โอม (ต้นหน ตันติเวชกุล) ลูกชายนักกีฬาอีสปอร์ตที่เหตุเกิดจากฝ่ายแรกไปขัดขวางความฝันของลูกชาย และเพื่อให้หนทางในสายกีฬาอีสปอร์ตต้องดับลง เบญจมาศจึงก่อปาร์ตี้ตั้งทีมอีสปอร์ตชื่อ Ohm Gaga ร่วมกับ กอบศักดิ์ (ลภัส งามเชวง) นักเรียนหลังห้องจอมเก๋าในฐานะอดีตสมาชิกของทีม Higher ที่โอมสังกัดอยู่เพื่อหวังโค่นทีมของลูกชายโดยไม่รู้เลยว่าการกระทำของเธอกำลังให้บทเรียนสำคัญในฐานะแม่และครู

เสือ ยรรยง คุรุอังกูร ยังคงทำหนังวัยรุ่นในภาษาที่เข้าใจวัยรุ่นเจนนี้อย่างแท้จริง โดยในเกมเมอร์เกมแม่ก็มี ROV ที่กำลังมาทดสอบความสัมพันธ์ของแม่กับลูกชายวัยรุ่นยุคที่การเล่นเกมกลายเป็นกีฬาที่ทำเงินได้ และการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เบญจมาศแม้จะเป็นแม่ที่ยังไม่ได้ชราในแง่สังขารแต่ต้องยอมรับว่าสังคมที่เด็กกล้าพูดกล้าทำและความรู้ความสามารถในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการเล่นเกมที่กลายเป็นอาชีพก็กลับผลักไสเธอให้กลายเป็นคนตกยุคอย่างช่วยไม่ได้

ยิ่งเรามาพิจารณาข้อมูลที่หนังให้เราเกี่ยวกับตัวเบญจมาศต้้งแต่ต้นเรื่องที่หนังแสดงให้เห็นว่าเธอเข้มงวดกับลูกเพียงใดในยุคที่การศึกษานอกจากคะแนนสอบยังมีคะแนนนอกระบบที่วัดตามค่าเงินบาทที่ผู้ปกครองจะยอมแลกกับโอกาสของลูกแล้วก็ยิ่งทำให้เห็นว่าในเกมที่อำนาจอยู่ที่ผู้ใหญ่เธอสอนโอมให้เล่นตามกติกาที่ไม่แฟร์กับเขามาทั้งชีวิตเพื่อหวังให้โอมเดินในเส้นทางสู่ความสำเร็จตามอุดมคติการศึกษาสร้างอนาคต

แต่แล้วปัจจุบันในเวลาของโอมก๋็กลายเป็นอนาคตที่เบญจมาศไม่เข้าใจทันทีเมื่อกีฬาอีสปอร์ตได้กลายเป็นเส้นทางที่ลูกเลือกเป๋็นอาชีพ โดยคนเป็นแม่ในฐานะครูในระบบการศึกษาไทยได้แต่ต่อต้านการเล่นเกมของนักเรียนจนถึงขั้นออกแคมเปญห้องเรียนปลอดมือถือเพื่อหวังอัปเงินเดือนด้วยผลงานเสริมหลักสูตรในเกมที่ผู้ชี้ถูกผิดคือผู้มีอำนาจในองค์กรนั้น ๆ แต่สำหรับในเกมที่เธอหวังจะชนะโอม เบญจมาศกลับเลือกทางลัดด้วย “ข้อตกลงแบบไทย ๆ ” กับกอบศักดิ์ให้ตั้งทีมกีฬาอีสปอร์ตแลกกับการช่วยให้จบ ม.6 หลังถูกยื่นคำขาดจากทีม Higher ให้จ่ายค่าเสียหายหลักแสนหากต้องการให้โอมออกจากทีม

ดังนั้นเมื่อกติกาของโลกผู้ใหญ่ไม่อาจเปลี่ยนใจโอมได้ เบญจมาศจึงจำใจต้องลงสนามในเกมของเด็กยุคนี้ ซึ่ง ณ. จุดนี้เองที่หนังเริ่มให้เบญจมาศกลายเป็นตัวแทนผู้ใหญ่ที่หนังพาคนดูในฝั่งคนไม่เล่นเกมได้เกาะไปทำความเข้าใจกับทั้งเกม ROV ที่มีศัพท์แสงสุดบรรเจิดมากมายและพาไปรู้จักกับกีฬาอีสปอร์ตว่ามันมีการแข่งขันจริงจังแค่ไหน ซึ่งถือเป็นการเปิดโลกของผู้ชมในวงกว้างได้อย่างชาญฉลาดยิ่งเพราะผู้กำกับใช้บริบทในหนังมาบอกเล่ามันโดยอิงเกม ROV ตั้งแต่ฉากกอบศักดิ์เล่นเกมในห้องเรียนวิชาสังคมไปจนถึงบทเรียน ROV 101 ที่เบญจมาศได้กลายสถานะเป๋็นนักเรียนบ้าง

กล่าวมาถึงตรงนี้คงชัดเจนแล้วว่าตัวละครเบญจมาศคือตัวแบกหนังทั้งเรื่องอย่างแท้จริงและถือเป็นโชคดีของผู้กำกับ (และคนดู) ที่มันได้ อ้อม พิยดา อัครเศรณี นางเอกยุค 90s ที่มารับบทแม่และครูอย่างเบญจมาศ เพราะเธอสามารถทำให้คนดูเชื่อว่าทุกการกระทำที่ผิดพลาดไม่ว่าจะเป็นการไม่ยอมเซ็นเอกสารให้โอมไปเข้าทีม Higher หรือการหลอกใช้เด็กตั้งทีมมาโค่นทีมลูกชายล้วนนำเสนอด้านที่ไม่สมบูรณ์แบบของตัวละครที่ดูมีเลือดเนื้อจิตใจจนคนดูสัมผัสได้

และทีละน้อยนอกจากดรามาของแม่ที่การตัดสินใจไม่ได้ถูกต้อง 100% หนังยังพาให้เบญจมาศค่อย ๆ เข้าสู่โลกแห่ง ROV ด้วยอุปสรรคในการทำทีมที่มีทั้งการซื้อตัวผู้เล่นหรือแม้แต่ความกากในการเล่นเกมของเธอเองก็เริ่มทำให้เริ่มตาสว่างว่าแม้แต่คนเป็นครูก็ไม่ได้เก่งไปเสียทุกเรื่อง เชื่อว่าคนดูจะต้องลุ้นระทึกและหลงรักอ้อม พิยดากับซีนแอบเล่น ROV ในห้องส้วมบนรถโดยสารคณะครูที่หนังทำออกมาน่ารักทีเดียว

และในขณะเดียวกันแม้หนังจะมีแกนกลางที่ความขัดแย้งระหว่างแม่ลูกแต่หนังก็สร้างตัวละครอย่างกอบศักดิ์ที่เป็นตัวแทนนักเรียนหลังห้องสุดเก๋าที่เกรดของวิชาในระบบการศึกษาอาจทำให้เขาถูกมองว่าเป็นคนโง่แต่ในโลกของเกมกอบศักดิ์คือฮีโร แต่ลึก ๆ แล้วมันก็สะท้อนภาพของวัยรุ่นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อได้เห็นภาพเพราะแม้เกรดในสมุดพกจะต่ำเตี้ยแค่ไหนการที่กอบศักดิ์มาเจอครูเบญจมาศก็นับว่าเป็นโชคดีของทั้งคู่เพราะในขณะที่กอบศักดิ์ขาดผู้ใหญ่มามองเห็นคุณค่าของเขาในฐานะเกมเมอร์ ด้านครูเบญจมาศเองก็ขาดคนช่วยลดช่องว่างระหว่างใจระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กอยู่ด้วยเหมือนกัน

ดังนั้นภาพที่ครูเบญจมาศต้องถูกบังคับให้มาเล่น ROV ร่วมกับบรรดาลูกทีม Ohm Gaga เลยแปรเปลี่ยนจากการพยายามเอาชนะลูกชายมาเป็นการเปิดใจยอมรับเส้นทางใหม่ ๆ ของเยาวชนชาวเกมเมอร์ และ ROV ยังสามารถผสานความรู้เดิมอย่างคณิตศาสตร์มาปรับใช้กับการวางแผนได้ดีทีเดียว และแม้ว่าหนังเรื่องเดียวจะไม่ได้ทำให้ภาพของเด็กติดเกมดีขึ้นแต่เชื่อว่าตัวหนังมันได้เสนอทางเลือกของการเล่นเกมอย่างฉลาดเอาไว้แล้วเหมือนการใช้ชีวิตที่ฉลาดที่ทั้งกอบศักดิ์และครูเบญจมาศได้เรียนรู้มันร่วมกัน

แต่กระนั้นบทหนังเองก็ยอมแลกดรามาและความสัมพันธ์แม่ลูกที่ค่อย ๆ หายไปหลังโอมกับเบญจมาศเริ่มมีปัญหากันเพื่อเทเวลาแทบทั้งหมดไปกับการเรียนรู้ของเบญจมาศในโลกของ ROV ซึ่งในด้านหนึ่งมันก็ทำให้พัฒนาการด้านความสัมพันธ์แม่ลูกในตอนท้ายไม่หนักแน่นเท่าที่ึควรแต่มันกลับส่งผลต่อฉากการฝึกเล่น ROVแต่ละฉากที่ผู้กำกับดีไซน์ช่วยให้คนดูเข้าใจตัวเกมและวงการอีสปอร์ตในเบื้องต้นได้ดีมากเรียกได้ยอมเจ็บกับการสูญเสียการเล่าดรามาไปกับสีสันอันฉูดฉาดของวงการเกมแทน แม้จะทำให้หนังไม่ลงตัวเท่าที่ควรก็ตาม

ทิ้งท้ายขอพูดถึงเหล่าบรรดานักแสดงวัยรุ่นกันบ้าง เติร์ด ลภัส งามเชวง มีเสน่ห์ในแบบแบดบอยมาก ๆ ในบทของกอบศักดิ์ดูแล้วเชื่อได้เลยว่าจะเป็นคนพาเบญจมาศสู่โลกของเกมเมอร์เหมือนมอร์เฟียสฉบับกวน ๆ ที่จะพานีโอตื่นจาก The Matrix ยังไงยังงั้น ส่วน ต้นหน ตันติเวชกุล นี่เสียดายมากเพราะดรามjาช่วงท้ายของหนังเขาทำได้ดีมากแต่ด้วยช่วงเวลาที่หนังให้เขาถือว่าน้อยเกินไปจริง ๆ ส่วน วี วีรยา จาง ในบทมะปรางแม้จะให้ความสดใสกับหนังแต่บทของเธอแทบไม่มีผลอะไรกับเรื่องนอกจากเพิ่มซีนโรแมนติกให้กับกอบศักดิ์

โดยภาพรวมแล้วขอสรุปว่า เกมเมอร์เกมแม่ อาจยังไม่ใช่หนังที่ลงตัวนักในส่วนของบทภาพยนตร์แต่งานดีไซน์แต่ละซีนของหนังน่าสนใจและน่าตื่นตาตื่นใจทีเดียวเพื่อให้คนไม่เล่น ROV อย่างผมเข้าใจในกติกาของตัวเกมและสนุกไปกับฉากแข่งขันในหนัง และยังมีการแสดงที่เชื่อมือได้ทั้งจาก อ้อม พิยดา อัครเศรณี กับ เติร์ด ลภัส งามเชวง มาทำให้หนังดูสนุกและน่าประทับใจจนอยากให้มีโอกาสที่ครอบครัวที่มีลูกเล่นเกมได้มาดูด้วยกันเพราะหนังนำเสนอวงการอีสปอร์ตได้เข้าใจง่ายและไม่มองผู้ใหญ่ในแง่ร้ายเกินไปเป็นการนำเสนอที่น่าจะกระชับพื้นที่ “ช่องว่างระหว่างใจ” ของผู้ปกครองและลูก ๆ เหล่าเกมเมอร์ได้ดีทีเดียว

WHAT THE FACT รีวิว Mother Gamer
กดที่ภาพเพื่อเช็ครอบและซื้อบัตรชมภาพยนตร์ได้ทันที

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส