วัตถุดิบชั้นดีที่ผู้สร้างหนังฮอลลีวูดโปรดปรานก็คือเรื่องราวจากเหตุการณ์จริง โดยเฉพาะเหตุการณ์สุดระทึก เหลือเชื่อ ชวนติดตาม ซึ่งผู้สร้างเองก็รู้ดีว่าเรื่องราวที่สร้างจากเหตุการณ์จริงเหล่านี้จะใช้เป็นจุดขายเรียกความสนใจจากผู้ชมได้ดี เราจึงเห็นข้อความ Based on True Story ขึ้นโชว์ตอนเริ่มเรื่องอยู่บ่อยครั้ง

ฆาตกรต่อเนื่อง หรือ Serial Killer ก็เป็นอีกแง่มุมหนึ่งของเรื่องจริง ที่บรรดาผู้สร้างไม่เคยพลาดโอกาสที่จะหยิบมาพัฒนาเป็นภาพยนตร์ไม่ว่าจะนำมาเล่าตามเหตุการณ์จริง หรือจะเป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนนิยายนำไปเสกสรรค์เป็นตัวละครใหม่ขึ้นมา ก็มักได้ผลที่น่าพึงพอใจ หนังสนุก เป็นที่กล่าวขวัญและหลาย ๆ เรื่องก็ขึ้นแท่นเป็นหนังคลาสสิก และนี่คือ 7 ฆาตกรต่อเนื่องที่อยู่เบื้องหลังหนังสยองขวัญคลาสสิกหลาย ๆ เรื่อง

คำเตือน : ภาพประกอบอาจดูแล้วรบกวนจิตใจ

1.นักเชือดแห่งเกนสวิลล์ (Gainesville Ripper)

แดนนี โรลลิง และเหยื่อทั้งหมดของเขา

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปี 1990 ที่เมืองเกนสวิลล์ ตามฉายาฆาตกรนั่นแหละ เหยื่อทั้งหมดในเหตุสลดนี้ล้วนเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยฟลอริดา ที่กำลังกลับมาเข้าชั้นเรียนกัน หลังจากปิดเทอมใหญ่ช่วงฤดูร้อนเพิ่งจะสิ้นสุดลง

ฆาตกรรายนี้มีชื่อจริงว่า แดนนี โรลลิง ไม่ทราบเหตุจูงใจของเขา แต่ดูจากเหยื่อแล้วคาดว่าแดนนีจะพิสมัยการฆ่าเด็กวัยรุ่นเป็นพิเศษ แล้วเขาก็เริ่มจัดการกับเหยื่อ 2 รายแรกในวันที่ 24 สิงหาคม 1990 เด็กผู้โชคร้ายเป็นนักศึกษาใหม่ 2 คนชื่อ ซอนยา ลาร์สัน และ คริสตินา โพเวลล์ นายแดนนีคงจะย่ามใจกับผลงานสังหารแรกของเขา จึงไม่รอช้าลงมือกับเหยื่อรายที่ 3 ในวันถัดมาเลย นักศึกษาผู้โชคร้ายรายนี้คือ คริสตา ฮอยต์

แน่นอนว่าเมื่อฆาตกรโหดอยู่ดี ๆ ก็โผล่มาก่อคดีสะเทือนขวัญติดต่อกันแบบนี้ ก็ต้องกลายเป็นข่าวดังไปทั่วเมือง สร้างความแตกตื่นให้กับบรรดานักเรียน นักศึกษาทั้งเมือง บางรายกลัวจัดถึงกับหนีไปอยู่เมืองอื่นเลย ส่วนที่ยังอยู่ก็นอนไม่หลับกันเพราะกลัวฆาตกรโหดรายนี้ ก็ต้องป้องกันด้วยการนอนรวมกันในครอบครัว หรือกลุ่มเพื่อนได้ช่วยกันระแวดระวัง แต่ก็ยังมีนักศึกษาพลั้งเผลอมาตกเป็นเหยื่อของแดนนีอีกจนได้ ในวันที่ 27 สิงหาคม แดนนี่ลงมืออีกครั้ง จัดการเหยื่อ 2 รายภายในวันเดียว รอบนี้ถึงคราวเคราะห์ของ เทรซี พอลเลส และ แมนนี ทาโบดา

เกมสังหารของแดนนียุติอยู่ที่ 5 รายนี้ หลังจากนี้ก็เงียบหายไป อาจจะเพราะเขาหนีการตามล่าตัวหรือผู้คนก็ระแวดระวังตัวมากขึ้น ทำให้แดนนี่ไม่สามารถลงมือได้อีก แดนนี่ถูกรวบตัวได้ในเดือนถัดมา วันที่ 7 กันยายน 1990 ถูกคุมขังอยู่ 4 ปี จนเข้ารับกระบวนการพิจารณาคดีในปี 1994 ศาลตัดสินให้แดนนีมีความผิดจริงทุกกระทง เขาถูกประหารชีวิตด้วยการฉีดยา ในวันที่ 25 ตุลาคม 2006

Scream หนังที่ได้แรงบันดาลใจจากคดีของ แดนนี โรลลิง

เรื่องราวสะเทือนขวัญของแดนนี โรลลิน กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ เควิน วิลเลียมสัน นักเขียนที่ดัดแปลงมาเป็นบทภาพยนตร์เรื่องดัง Scream ในปี 1996 เควินหยิบยกเรื่องราวบางส่วนจากคดีของแดนนี โรลลิน ถ่ายทอดมาใส่ในหนัง โดยเฉพาะเรื่องเหยื่อในหนังที่ล้วนเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ที่อยู่ใน วูดส์โบโร เมืองที่มีความสงบสุขที่จำลองขึ้นมาว่าอยู่ในแคลิฟอร์เนีย แล้วอยู่ดี ๆ ฆาตกรต่อเนื่องก็ปรากฏตัวขึ้นมา จนเกิดความแตกตื่นโกลาหลกันไปทั้งเมือง

Scream กลายเป็นภาพยนตร์สยองขวัญที่ประสบความสำเร็จมาก มีภาคต่อตามมาอีก จนหยุดไปในภาคที่ 4 เพราะความนิยมลดน้อยถอยลงไปตามจำนวนภาค พอ ๆ กับรายได้ที่น้อยลงตามไปด้วย ความสำเร็จของ Scream ส่งผลให้เกิดกระแสความนิยมหนังสยองขวัญในกลุ่มวัยรุ่นตามมาอีกหลายเรื่องอย่าง I Know What You Did Last Summer และ Urban Legend

ทางผู้สร้าง Scream ได้ดัดแปลงเป็นทีวีซีรีส์ในปี 2015 สานต่อไปได้ถึงซีซันที่ 3 มาถึงวันนี้ก็มีการประกาศสร้าง Scream 5 วางกำหนดฉายไว้คร่าว ๆ ในปี 2022

2.การไล่ผีที่เข้าสิง แอนเนลีส มิเชล

สภาพของ แอนเนลสิ มิเชล ก่อนและหลังพิธีไล่ผี

ประเทศที่เรารู้สึกว่าเจริญก้าวหน้าทางวัฒนธรรมและวิทยาการอย่างสหรัฐอเมริกา ก็ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับผู้คนถูกผีเข้า และกระบวนการไล่ผีโดยพระหรือบาทหลวงผู้เชี่ยวชาญก็ถูกสร้างมาเป็นภาพยนตร์อยู่หลายครั้ง นับตั้งแต่ The Exorcist (1973) จากนั้นก็มีหนังไล่ผีให้เห็นออกมาเนือง ๆ แต่เรื่องที่โดดเด่นที่สุดในยุคหลังก็คือ The Exorcism of Emily Rose ปี 2005 เพราะเป็นเรื่องราวที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริง แม้จะเป็นการไล่ผีโดยบาทหลวงแต่เมื่อมีการตายก็ทำให้มีการสืบสวนว่าเป็นการฆาตกรรมหรือไม่

หญิงสาวที่เป็นต้นเหตุของเรื่องราวนี้คือ แอนเนลีส มิเชล เธอเกิดเมื่อปี 1952 ในเมืองไลบ์ฟลิง ประเทศเยอรมนี เธอเติบโตมาในครอบครัวที่เคร่งครัดในศาสนาคริสต์ นิกายคาธอลิก ทำให้เธอถูกจำกัดบริเวณอยู่ภายในบ้าน จะได้ออกไปพบปะผู้คนก็แค่สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ซึ่งก็ต้องออกไปพร้อมกับพ่อแม่และพี่สาวเท่านั้น เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น แอนเนลีสก็ต้องได้รับความทรมานจากอาการลมชัก แพทย์วินิจฉัยว่าเธอเป็นโรคลมบ้าหมู จนอายุได้ 18 ปี อาการเธอก็แย่ลงเรื่อย ๆ เธอต้องกินยาเป็นประจำเพื่อบรรเทาอาการลมชัก แล้วยารักษานี้ก็ก่ออาการข้างเคียง ทำให้เธอเริ่มเห็นภาพหลอน และเริ่มมีอาการซึมเศร้า มีความคิดจะฆ่าตัวตาย พ่อแม่ก็เลยส่งเธอไปพักรักษาในโรงพยาบาลจิตเวช การรักษาผ่านไปนานนับปีแต่ก็ไม่มีแนวโน้มว่าอาการของเธอจะดีขึ้น บวกกับเธอไม่กล้าเดินผ่านภาพของพระเยซู และไม่ยอมดื่มน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ถึงตอนนี้ล่ะที่พ่อแม่ของแอนเนลีสเริ่มคาดเดาว่าลูกสาวของเธอ น่าจะโดนผีเข้า สมควรที่จะใช้พระมาไล่ผีแทนการรักษาด้วยแพทย์และยาในแผนปัจจุบัน

พ่อแม่ติดต่อไปยังโบสถ์ ขอให้บาทหลวงมาไล่ผีให้กับแอนเนลีส แต่ทางโบสถ์ก็ไม่เห็นชอบด้วย ปฏิเสธมาทั้ง 2 ครั้ง แต่กลับเป็นท่านบิชอปหรือหัวหน้าบาทหลวงนี่ล่ะ ที่เห็นชอบกับวิธีการไล่ผีให้กับแอนเนลีส และเป็นจุดเริ่มต้นพิธีกรรมที่กินเวลายาวนานถึง 10 เดือน มีการทำพิธีไล่ผีกับแอนเนลีส 67 ครั้ง เราไม่รู้ชัดเจนหรอกว่าระหว่างการทำพิธีนั้น ได้มีการลงไม้ลงมืออะไรกับเธอหรือได้ใช้ความรุนแรงกับเธอมากเพียงใด แต่เป็นใครที่เจอการทำพิธียาวนานขนาดนี้ก็ต้องบอบช้ำทั้งจิตใจและร่างกายเป็นธรรมดา ผลก็คือแอนเนลีสเริ่มไม่กินอาหารและไม่ดื่มน้ำ แต่พ่อกับแม่ก็ยังเชื่อมั่นว่าเป็นผลมาจากวิญญาณร้ายที่สิงสู่ลูกสาวของพวกเขา จึงไม่มีความคิดจะตามหมอมาดูอาการของเธอ ทำให้อาการของเธอยิ่งทรุดหนักขึ้น แล้วเธอก็เสียชีวิตในที่สุด ด้วยเหตุผลหลัก ๆ เลยก็คือ การขาดสารอาหาร

พอแอนเนลีสตาย ตำรวจก็เข้ามาสอบสวนหาสาเหตุที่แท้จริง ส่งผลให้พ่อและแม่ รวมถึงบาทหลวงอีก 2 คนถูกตัดสินให้มีความผิดในข้อหา “ฆ่าคนตายโดยประมาท” คดียังโยงใยไปถึงศาสนจักร บรรดาพระผู้ใหญ่ถึงได้ออกมายอมรับภายหลังว่า พวกเขาไม่คิดว่าแอนเนลีสโดนผีเข้าจริง ๆ หรอก แต่เธอน่าจะมีอาการทางจิตเสียมากกว่า

โปสเตอร์หนัง The Exorcism Of Emily Rose

จากเรื่องราวของแอนเนลีส มิเชล ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้สร้างหนังฮอลลีวูดหยิบมาประยุกต์กลายมาเป็นบทภาพยนตร์เรื่อง The Exorcism of Emily Rose เรื่องราวในหนังค่อนข้างใกล้เคียงกับเหตุการณ์จริงของแอนเนลีส เนื้อหาของหนังไม่ย้อนเล่าสาเหตุของอาการที่พ่อแม่คิดว่าลูกสาวถูกผีเข้า แต่เน้นหนักไปที่กระบวนการไล่ผีโดยบาทหลวง และกระบวนการสอบสวนในชั้นศาลถึงวิธีการไล่ผี รวมถึงคำให้การของบาทหลวงมัวร์ที่ยืนยันว่าเอมิลีถูกผีเข้าจริง ๆ หนังประสบความสำเร็จทางด้านรายได้ ทำเงินไป 145 ล้านเหรียญ จากทุนสร้างเพียง 19 ล้านเหรียญ สร้างชื่อให้กับ สก็อต เดริกสัน ผู้กำกับ ที่ได้ไปกำกับ Doctor Strange ให้กับมาร์เวล และปัจจุบันกลายเป็นผู้กำกับสุดฮอตคนหนึ่งในฮอลลีวูด มีผลงานรอกำกับอีก 4 เรื่อง

3.เอ็ด กีน นักแล่เนื้อแห่งเพลนฟิลด์

โฉมหน้าของ เอ็ด กีน

ถ้าเทียบกับฆาตกรทั้งหมดในรายชื่อนี้ เอ็ด กีน ไม่ใช่รายที่โหดสุด ฆ่ามากสุด แต่เป็นรายที่น่าจะเรียกได้ว่าโรคจิตที่สุด ด้วยกิจกรรมที่บรรจงทำกับศพได้หลุดโลกเกินจินตนาการไปมาก

เอ็ด กีน เกิดเมื่อปี 1906 เขาเติบโตมาในครอบครัวชาวไร่ในรัฐวิสคอนซิน ด้วยความที่ออกัสธา แม่ของเอ็ดเลี้ยงดูเขามาแบบใกล้ชิดเหมือนไข่ในหิน ไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันในละแวกบ้าน โดยเฉพาะมนุษย์เพศหญิงนั้นแม่เน้นย้ำว่าพวกเธอล้วนบาปหนา ยกเว้นแม่เท่านั้น เอ็ดไม่ควรไปคบหา คำสอนนี้ออกัสธาได้ตอกย้ำทั้งเอ็ดและเฮนรี่ ลูกชายคนโต ทำให้ทั้งคู่ไม่ได้คบหาใครและไม่ได้แต่งงาน

ในปี 1940 พ่อของเอ็ดก็ตายด้วยอาการหัวใจวาย สืบเนื่องมาจากปัญหาแอลกอฮอลิสซึม ทำให้กิจการฟาร์มตกเป็นภาระของแม่และลูกชายทั้งสอง แต่คนที่รับภาระหนักสุดคือเฮนรี่ที่ต้องทำงานอื่นเพื่อหารายได้เสริมมาช่วยครอบครัว ทำให้เขามีปากกับเสียงกับแม่บ่อยครั้ง และเอ็ดจะเข้าข้างแม่เสมอถึงแม้ว่าบางครั้งแม่จะเป็นคนผิด

ปี 1944 เฮนรี่ก็ตายเพราะถูกไฟคลอกในแปลงข้าวโพด มีพยานบอกว่าเห็นเอ็ดอยู่กับเฮนรี่ไม่นานก่อนหน้านั้น ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นฝีมือของเอ็ดที่สังหารเฮนรี่ เพราะเขาชอบมีปากเสียงกับแม่ ถ้าเฮนรี่ตายไป เขาก็จะได้อยู่กับแม่เพียงสองคน แต่ภายในปีถัดมาออกัสธา ก็ป่วยด้วยโรคเส้นเลือดในสมองอุดตันทำให้เธอเป็นอัมพาต และตายในปีนั้น สร้างความโศกเศร้าให้กับเอ็ดอย่างมาก และด้วยเหตุนี้ที่น่าจะมีผลกระทบต่อสภาพจิตของเอ็ดอย่างมาก

กิจกรรมวิปริตของเอ็ด เริ่มต้นขึ้นในปี 1947 เมื่อเขาคิดถึงแม่มาก เขาก็เลยไปขุดหลุมศพเอาร่างแม่กลับบ้าน แต่กลายเป็นศพหญิงรายอื่นซึ่งเอ็ดเข้าใจผิดคิดว่าเป็นร่างของแม่ เอ็ดลอกผิวหนังทั้งตัวจากศพมาเย็บเป็นชุดหนังมนุษย์แล้วเขาก็เอามาสวมใส่ สวมบทบาทเป็น “แม่” ดำเนินชีวิตในบ้าน ในการทำชุดหนังมนุษย์นั้น เอ็ดไม่ได้ทำเพียงแค่ชุดเดียว เขายังขุดศพอื่น ๆ ในละแวกบ้านมาทำชุดเพิ่มอีก

ส่วนเหยื่อฆาตกรรมของเอ็ดนั้นเริ่มตกเป็นข่าวในปี 1957 เมื่อ เบอร์นิซ วอร์เดน หญิงเจ้าของร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้างหายตัวไปจากร้านในวันที่ 16 พฤศจิกายน แต่เอ็ดทิ้งเบาะแสสำคัญไว้คือเขามาที่ร้านเมื่อตอนเย็นวันก่อนหน้าแล้วได้พบกับแฟรงค์ ลูกชายของเบอร์นิซ เอ็ดบอกกับเขาว่าจะกลับมาที่ร้านอีกครั้งในเช้าวันรุ่งขึ้นเพื่อมารับสารต้านการเยือกแข็ง เอ็ดจึงกลายเป็นผู้ต้องสงสัย ตำรวจขอเข้าตรวจค้นที่พักของเอ็ด แล้วก็พบภาพสุดสยอง ร่างของเบอร์นิซ โดนตัดศีรษะแล้วห้อยหัวลง ยิ่งไปกว่านั้นตำรวจยังเจอชิ้นส่วนมนุษย์ที่พอประเมินได้ว่าประมาณ 50 คน และยังมีชิ้นส่วนร่างกายที่ประกอบเป็นร่างไม่ได้อีกหลายชิ้น ที่เอ็ดล้วนขุดมาจาก 3 สุสานในเมืองนั้น

ในจำนวนนี้มีร่างของ แมรี โฮแกน หญิงเจ้าของร้านที่หายตัวไปเมื่อปี 1954 เป็นคดีที่ตำรวจยังปิดไม่ได้ เพราะพบเพียงปลอกกระสุนและรอยเลือดในที่เกิดเหตุ พอสรุปได้ว่าเธอคือเหยื่อสังหารรายแรกของเอ็ด กีน ซึ่งเอ็ดปฏิเสธที่จะให้การในคดีสังหารนี้ เขาอ้างว่าผ่านมานานแล้วทำให้เขาจำรายละเอียดไม่ได้ เอ็ดยังตกเป็นผู้ต้องสงสัยต่อการหายสาบสูญของ เอเวอลีน ฮาร์ตลีย์ พี่เลี้ยงเด็กที่หายตัวไปในปี 1953 แต่ยังไม่มีพยานหลักฐาน

งานฝีมือจากชิ้นส่วนศพของเอ็ด กีน

แม้ว่าเอ็ดจะเป็นฆาตรกรต่อเนื่องที่ไม่ได้มีผู้โชคร้ายตกเป็นเหยื่อมากมายนัก แต่เหตุที่เรื่องราวของเขากลายเป็นที่ร่ำลือและเล่าต่อกันมายาวนานก็เพราะวิธีการที่เขาทำกับศพ นั้นช่างวิปริตยิ่งนัก ด้วยเหตุนี้บรรดานักเขียนจึงหยิบเรื่องราวของเอ็ดมาเป็นต้นแบบในการเขียนนิยายและบทภาพยนตร์หลายเรื่อง และเรื่องที่โด่งดังจนกลายเป็นหนังคลาสสิกก็คือ Psyco ที่เริ่มต้นจากการเป็นนิยายในปี 1959 จากนั้นอภิมหาผู้กำกับ อัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก ก็หยิบมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในปี 1960

โปสเตอร์หนัง Psyco ผลงานของอัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก

เขายังเป็นต้นแบบของ Leatherface ตัวละครสุดโหดที่ชอบถลกหนังมนุษย์มาทำเป็นหน้ากาก ในแฟรนไชส์ The Texas Chainsaw Massacre และเป็นต้นแบบให้กับ บัฟฟาโล บิลล์ ฆาตกรต่อเนื่องสุดโรคจิตใน The Silence of the Lambs นิยายโดย โธมัส แฮร์ริส ปี 1988 ก่อนจะถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันออกฉายเมื่อปี 1991และคว้ารางวัลสูงสุดสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาได้

นอกจากนี้ หนังที่มีเค้าโครงว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากเอ็ด กีน ก็ยังมี American Horror Story: Asylum (2012), In the Light of the Moon (2000), Deranged (1974) และ House of 1000 Corpses (2003)

(อ่านต่อหน้า 2)

4.อิวาน มิลัต ฝันร้ายของนักเดินทาง

อิวาน มิลัต หลงใหลในอาวุธปืนมาตั้งแต่ย่างเข้าวัยรุ่น

ข้ามมาทางประเทศออสเตรเลียบ้าง ที่นี่ก็มีฆาตกรจอมเลือดเย็น และน่าจะเป็นรายที่โหดเหี้ยมอำมหิตที่สุดในรายชื่อนี้แล้ว อิวานเป็นทั้งฆาตกรต่อเนื่องและมีความวิปลาส เขาออกจัดการกับเหยื่อในช่วงปี 1989 – 1994 ในพื้นที่รัฐนิวเซาธ์เวลส์ และจ้องจัดการเฉพาะนักท่องเที่ยวผจญภัยแบกเป้หลังใหญ่ ๆ ที่เราเรียกกันว่า Backpacker วิธีการหาเหยื่อของอิวานก็คือเขาจะขับรถตระเวนไปตามถนน พอมีนักเดินทางโบกรถขออาศัยไปด้วย เขาจะจอดรับด้วยความยินดี แต่บรรดานักท่องเที่ยวก็หารู้ไม่ว่านั่นคือวาระสุดท้ายของพวกเขาแล้ว

ชื่อเสียงของอิวาน มิลัต เริ่มเป็นที่กระฉ่อนในฐานะ ฆาตกรต่อเนื่อง เริ่มขึ้นในเดือนกันยายน ปี 1992 เมื่อมีผู้พบศพเหยื่อ 2 รายแรกของเขา เป็นนักท่องเที่ยวหนุ่มสาวชาวอังกฤษ แคโรไลน์ คลาร์ก อายุ 21 ปี และ โจแอน วอลเธอร์ อายุ 22 ปี ร่างของพวกเธอถูกฝังอยู่ตื้น ๆ มีใบไม้กิ่งไม้ปกคลุม สภาพศพเป็นที่น่าอเนจอนาถต่อผู้พบเห็น เพราะรายหนึ่งถูกแทงถึง 15 ครั้ง ส่วนอีกรายถูกยิงถึง 10 นัด ตำรวจไร้ซึ่งเบาะแสที่จะสืบสาวถึงตัวฆาตกรได้

เวลาผ่านไปอีก 1 ปี มีผู้พบศพเพิ่มอีก 2 ราย และผ่านไป 1 เดือนก็พบเพิ่มอีก 3 ราย ตำรวจพิจารณารูปแบบการสังหารแล้วมั่นใจว่าทุกศพเป็นฝีมือของฆาตกรคนเดียวกัน การกระทำของอิวานไม่เพียงแค่สร้างความตระหนกไปทั่วรัฐนิวเซาธ์เวลส์แล้ว ยังสร้างความเสื่อมเสียต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของออสเตรเลียอีกด้วย เพราะนักท่องเที่ยวต่างหวาดผวาไม่กล้ามาเที่ยว ตำรวจยิ่งต้องเร่งสืบหาตัวเพื่อฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศให้ได้โดยเร็ว

แต่ที่จริงแล้วตำรวจสถานีโบว์รัล มีเบาะแสของ อิวาน มิลัต มาตั้งแต่ 25 มกราคม 1990 แล้วด้วย ในวันนั้น พอล อันเยินส์ นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่มีเป้าหมายจะมาปีนเขาในเมือง มิลดูรา ระหว่างทางที่เขาโบกรถไปยังจุดหมาย ก็มีชายใจดีที่ได้จอดรถรับเขาไปด้วย เขาแนะนำตัวว่าชื่อ “บิล” ระหว่างขับอยู่นั้นบิลก็จอดรถแล้วล้วงมือไปหยิบปืนพร้อมกับเชือกจากใต้เบาะนั่ง เขาหันไปบอกพอลว่า “นี่คือการปล้น” แต่น่าจะเป็นงานแรก ๆ ของอิวานเขาก็เลยไม่รอบคอบพอ พอลไม่รอช้าเขาเปิดประตูรถแล้วรีบวิ่งหนีออกไป อิวานลงจากรถวิ่งตามแล้วยิงไล่หลังไป โชคของพอลยังดี ที่โจแอนน์ เบอร์รี ขับรถผ่านมาพร้อมกับน้องสาวและเด็ก ๆ ในรถอีก 5 คน เพราะเธอจอดรับพอล ทำให้เขารอดชีวิตมาได้ เธอยังขับรถไปส่งพอลที่สถานีตำรวจโบว์รัล ซึ่งเขาได้แจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้

อิวาน มิลัต ในวัยชรา ที่ยังเป็นนักโทษ

เวลาผ่านไป 3 ปี ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 1993 พอล อันเยินส์ ได้อ่านหนังสือพิมพ์เจอข่าวฆาตกรต่อเนื่องในนิว เซาธ์เวล บริเวณใกล้ ๆ กับที่เขาประสบเหตุ พอลมั่นใจว่าฆาตกรจะต้องเป็นนายบิลคนที่เกือบฆ่าเขา พอลจึงโทรทางไกลไปเล่าเหตุการณ์ให้ตำรวจผู้รับผิดชอบคดีฟัง ทำให้คำให้การของพอลเมื่อปี 1990 ถูกหยิบขึ้นมาเป็นเบาะแสสำคัญในการตามล่าตัวฆาตกร ตำรวจนิวเซาธ์เวลส์ยังออกค่าใช้จ่ายเชิญพอลมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมกับโจแอนน์ เบอร์รี หญิงที่ช่วยชีวิตพอล และยังมีบรรดาญาติของเหยื่ออีกหลายคน

ข้อมูลจากพอล อันเยินส์ เป็นประโยชน์มาก ทำให้ตำรวจตีวงได้แคบลงและระบุตัวคนร้ายได้ว่าเป็นนาย อิวาน มิลัต ส่งผลให้ตำรวจจับกุมตัวเขาได้ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 1994 ที่บ้านบนถนนซินนาบาร์ อิวาน มิลัต ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แต่ก็ไม่เป็นผล ผู้พิพากษาสั่งจำคุกตลอดชีวิต 7 รอบ ตามจำนวนเหยื่อ แต่อิวานก็เสียชีวิตไปแล้ว ด้วยโรคมะเร็งหลอดอาหาร เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2019

Wolf Creek โหดตั้งแต่โปสเตอร์แล้ว

แน่นอนว่าด้วยความโหดของอิวาน มิลัต ต้องกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้สร้างหยิบมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ เพราะเรื่องราวของเขาคือวัตถุดิบอย่างดีสำหรับพล็อตเรื่องแนวสยองขวัญ แล้วหนังที่ออกมาก็คือเรื่อง Wolf Creek ปี 2005 เรื่องราวของ 3 นักท่องเที่ยวในออสเตรเลีย ที่ได้รับน้ำใจจากคนแปลกหน้าจอดรับพวกเขาและเธอ แต่แล้วก็กลายเป็นฝันร้ายที่สุดในชีวิต เมื่อชายใจดีแปลงร่างเป็นยมทูตสุดอำมหิต ที่สนุกกับการทรมานและสังหารเหยื่ออย่างโหดเหี้ยม หนังประสบความสำเร็จ ทำให้มีการสร้างภาคต่อ หนังยังสร้างชื่อให้กับ ผู้กำกับ เกร็ก แม็กลีน ได้มีผลงานสนุกออกมาอีกหลายเรื่องอย่าง Rogue (2007), The Belko Experiment (2016) และ Jungle (2017)

5.ฆาตกรล่องหน Phantom Killer


เป็นคดีฆาตกรรมที่เก่าแก่ที่สุดในรายชื่อนี้ เพราะเกิดเหตุเมื่อ 74 ปีที่แล้ว และเป็นคดีที่ยังตามจับตัวฆาตกรไมได้ ถึงได้ชื่อฉายาว่า “ฆาตกรล่องหน” คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 1946 ในเมืองเท็กซาร์คานา รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ระยะเวลาการก่อเหตุไม่ยาวนานนัก เกิดขึ้นในช่วง 10 สัปดาห์เท่านั้น และเป็นการก่อเหตุที่ไร้ซึ่งแรงจูงใจคาดเดาเจตนาฆาตกรไม่ได้ เพราะบางทีเขาก็เจาะจงเหยื่อเป็นวัยรุ่น บางครั้งก็เป็นชายหญิงวัยกลางคน

หนังสือพิมพ์ลงข่าววัยรุ่นที่กลายเป็นเหยื่อของฆาตกรล่องหน

ฆาตกรล่องหนเริ่มก่อคดีแรกในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1946 เหยื่อเป็นวัยรุ่นคู่รัก จิมมี ฮอลลสิส วัย 24 และ แมรี เจน ลาเรย์ วัย 19 ปี ทั้งคู่กำลังพลอดรักในรถที่จอดอยู่ชานเมืองเท็กซาร์คานา จู่ ๆ ชายลึกลับก็บุกเข้ามาประชิดตัว ใช้ปืนขู่ให้ทั้งคู่ออกมาจากรถ เขาใช้ปืนตีศีรษะจิมมีจนสลบ แล้วลงมือลวนลามแมรี โชคดีมากที่มีรถชาวบ้านขับผ่านมาตรงจุดนั้นทำให้ ฆาตกรล่องหนไม่ทันได้ลงมือรุนแรงกว่านี้แล้วรีบหนีไปเสียก่อน

ฆาตกรล่องหนลงมืออีกครั้งในวันที่ 23 มีนาคม เหยื่อคราวนี้ไม่โชคดีเหมือนคู่แรก ริชาร์ด กริฟฟิน วัย 29 อยู่กับพอลลีน แอน มัวร์ วัย 17 ปีแฟนของเขา คู่นี้ก็พลอดรักกันในรถเหมือนกับคู่แรกในแถบชานเมือง ทั้งคู่ไม่สามารถให้การได้เพราะถูกพบเป็นศพในเช้าวันรุ่งขึ้น ร่างของทั้งคู่อยู่ในรถ ซึ่งจอดอยู่บนถนนย่านโบวีเคาน์ตี ทั้งสองถูกยิงเข้าทางด้านหลังศีรษะ แต่พบรอยเลือดอยู่ห่างออกไปจากรถประมาณ 6 เมตร เจ้าหน้าที่เชื่อว่าทั้งคู่ถูกฆ่านอกรถแล้วนำร่างยัดกลับมาไว้ในรถ

ครั้งที่ 3 ในวันที่ 13 เมษายน พอล มาร์ติน วัย 17 ปีมารับเพื่อนสาวของเขา เบตตี้ โจ บุคเกอร์ วัย 15 ปี ที่เล่นแซกโซโฟนกับวงของเธอในคลับบนถนนโอ๊ค เมื่อเวลา ตี 1:30 น. ทั้งคู่ไม่ได้กลับถึงบ้าน เช้าวันรุ่งขึ้นมีชาวบ้านพบร่างของ พอล มาร์ติน ถูกยิง 4 นัด บนถนนนอร์ธ ปาร์ก ส่วนร่างของเบตตี้ ถูกพบห่างออกไปไกลถึง 3.2 กิโลเมตร เธอถูกยิง 2 นัด เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าอาวุธปืนเป็นกระบอกเดียวกันกับเหตุสังหารก่อนหน้า

หลังจากข่าวของ พอล มาร์ติน และ เบตตี โจ บุคเกอร์ กระจายออกไป ชาวบ้านเท็กซาร์คานา ต่างอกสั่นขวัญแขวนกลัวจะเป็นเหยื่อรายต่อไป หลายบ้านรีบเข้าบ้านล็อกประตูหน้าต่างตั้งแต่พลบค่ำ ยอดขายปืนและอาวุธขายดีอย่างมากเพราะชาวบ้านต่างซื้อไปป้องกันตัว มีวัยรุ่นอีกหลายคนที่ฮึกเหิม ออกล่าตัวฆาตกรกันเอง มีการวางแผนแกล้งปลอมเป็นคู่รักนั่งในรถเพื่อล่อเหยื่อ แต่ก็ไม่เป็นผล บรรดาเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ออกลาดตระเวนกันถ้วนถี่มากขึ้นแต่ก็ยังไร้วี่แววตัวฆาตกร แต่แล้วฆาตกรล่องหนก็ก่อคดีอีกครั้งจนได้

วันที่ 4 พฤษภาคม รอบนี้ฆาตกรล่องหนขยายอาณาเขตไปก่อเหตุในรัฐอาร์คันซอ ห่างจากละแวกเดิมราว 20 กิโลเมตร เหยื่อเป็นชายหญิงวัยกลางคน เวอร์จิล สตาร์ก วัย 36 ปี และ แคธี สตาร์ก วัย 35 ปี เป็นการตายที่ถึงคราวซวยสุด ๆ เพราะทั้งคู่อยู่ในบ้านตัวเอง แล้วฆาตกรยิงจากนอกบ้านเข้าไปโดนเวอร์จิลที่นั่งอยู่ในห้องนั่งเล่น เขาเสียชีวิตทันที แคธี สตาร์ก อยู่ในห้องนอนบนชั้น 2 ได้ยินเสียงปืนวิ่งลงมาที่ชั้นล่าง ก็เลยโดนฆาตกรล่องหนกระหน่ำยิงไป 2 นัด กระสุนโดนบริเวณใบหน้าและปาก เธอร้องด้วยความตกใจวิ่งออกไปนอกบ้านขอความช่วยเหลือ ทำให้รอดชีวิตมาได้ ตำรวจได้เบาะแสเพียงรอยเท้าเปื้อนโคลนของฆาตกรล่องหนที่ทิ้งไว้ในบ้าน แต่ก็ไม่สามารถโยงใยถึงบุคคลต้องสงสัยได้

เดือนกรกฎาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัว ยูเอล สวินนีย์ วัย 29 ปี เขามีประวัติการกระทำความผิดโชกโชนหลายคดี ทั้งขโมยรถ ทำร้ายร่างกาย และปลอมแปลง ในการนี้ตำรวจยังได้ควบคุมตัว เพ็กกี สวินนีย์ ภรรยาของเขามาด้วยในข้อหาสมรู้ร่วมคิด เพ็กกี้รีบซัดทอดว่ายูเอลนั่นแหละคือฆาตรล่องหน แต่ตำรวจก็ยังไม่ปักใจเชื่อ เพราะคำให้การของเธอปรับเปลี่ยนไปเรื่อยทุกครั้งที่เล่า ทำให้ข้อมูลของเธอไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ แต่กระนั้นยูเอล สวินนีย์ ก็ถือว่าเป็นผู้ต้องสงสัยเพียงรายเดียวในคดีนี้ จนถึงวันนี้ก็ยังเป็นปริศนาที่ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย

The Town That Dreaded Sundown

แม้ว่า ฆาตกรล่องหน Phantom Killer จะเป็นคดีสะเทือนขวัญ แต่ผลงานภาพยนตร์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากคดีนี้ล้วนเป็นหนังที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนัก เรื่องแรกถูกสร้างในปี 1974 ชื่อเรื่องว่า The Town That Dreaded Sundown

Seven Psychopaths (2012) มีฉากหนึ่งที่อ้างอิงถึงฆาตกรล่องหน เมื่อคู่รักพยายามวางกับดักล่อฆาตกร Texarkana Moonlight Murderer ที่เป็นอีกฉายาหนึ่งของฆาตกรล่องหน
ทีวีซีรีส์ Riverdale มีตอนหนึ่งที่ชื่อว่า “The Town That Dreaded Sundown” ที่พูดถึงฆาตกรล่องหน

6.บ้านผีสิงเอมิตี้วิลล์

บ้านเอมิตี้วิลล์หลังจริง มีเอกลักษณ์คือ หน้าต่างชั้นบนครึ่งวงกลม ที่ดูเหมือนหัวกระโหลกชวนหลอน

เป็นเหตุฆาตกรรมที่น่ากลัวที่สุดในรายชื่อนี้ เพราะสาเหตุยังคลุมเครือว่าเกี่ยวข้องกับสิ่งลี้ลับที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ แล้วน่ากลัวทั้งเหตุฆาตกรรมและความโจษจันในเรื่องบ้านที่เกิดเหตุซึ่งกลายเป็นบ้านผีสิง และหนังที่ได้แรงบันดาลใจจากเหตุฆาตกรรมนี้ก็เน้นหนักเฉพาะเรื่องราวสยองขวัญมากกว่าเหตุฆาตกรรมต้นกำเนิดเรื่องราว

ตำนานเริ่มต้นในเช้าวันที่ 13 พฤศจิกายน 1974 ที่เมืองเอมิตี้วิลล์ เขตชานเมืองของรัฐนิวยอร์ก เวลา 18:30 โรนัลด์ เดอฟิโอ จูเนียร์ หนุ่มวัย 23 ปี พรวดพราดเข้าไปในบาร์เฮนรี่ ที่อยู่ใกล้กับบ้านของเขา โรนัลด์สร้างความแตกตื่นให้กับลูกค้าในบาร์ เมื่อเขาตะโกนบอกว่า
“ทุกคนช่วยผมด้วย ผมคิดว่าพ่อกับแม่ผมถูกยิง”
คำร้องขอได้รับความสนใจจากลูกค้ากลุ่มหนึ่ง ตามโรนัลด์ออกจากร้านไปยังบ้านเลขที่ 112 ถนนโอเชียน ซึ่งอยู่ใกล้กันกับบาร์เฮนรี่ เมื่อไปถึงภายในบ้านทุกคนก็ได้เห็นภาพชวนสยดสยอง เมื่อพบร่างพ่อกับแม่ของโรนัลด์นอนตายอยู่บนเตียง ตามที่เขากล่าว

โจ เยสวิต เพื่อนของโรนัลด์รีบโทรแจ้งตำรวจทันที เมื่อเจ้าหน้าที่มาถึงบ้านที่เกิดเหตุเขายังพบว่าไม่ได้มีเพียงพ่อและแม่ของโรนัลด์ที่ตาย แต่ยังรวม ๆ ถึงน้อง ๆ ของเขาด้วย รวมแล้ว 6 ชีวิตที่ตายอยู่บนเตียงของแต่ละคน

ผู้เสียชีวิตทั้ง 6 คนมีดังนี้ โรนัลด์ เดอฟีโอ ซีเนียร์ ผู้เป็นพ่อวัย 44 ปีและ ลุยส์ เดอฟีโอ ผู้เป็นแม่วัย 42 ปี ดอว์น ลูกสาวคนโตวัย 18 ปี อัลลิสัน น้องสาวคนรอง วัย 13 ปี มาร์คน้องชายคนรองวัย 12 ปีและสุดท้าย แมทธิว น้องชายคนเล็กวัยเพียง 9 ปี ทุกรายถูกยิงด้วยปืนไรเฟิล มาร์ลิน 336C ทุกศพอยู่ในท่านอนคว่ำบนที่นอน เหตุเกิดประมาณตี 3 ก่อนหน้าที่โรนัลด์จะวิ่งออกไปแจ้งข่าวไม่กี่ชั่วโมง

เจ้าหน้าที่ชันสูตรพลิกศพแล้วพบว่ามีเฉพาะพ่อกับแม่ที่โดนยิงคนละ 2 นัด ส่วนเด็ก ๆ โดนยิงตายภายในนัดเดียว ผลการชันสูตรยังบอกได้อีกว่ามีเพียง ลุยส์ และ อัลลิสัน 2 รายนี้ที่โดนยิงขณะที่ยังตื่นอยู่ ทั้ง 6 ศพถูกฝังที่สุสานเซนต์ ชาร์ล ในฟาร์มิงเดล ใกล้ ๆ กับบ้านที่เกิดเหตุ

โรนัลด์ เดอฟีโอ จูเนียร์ ลูกชายคนโตผู้ก่อเหตุ

แน่นอนว่าพยานรายเดียวในโศกนาฏกรรมนี้ก็คือ โรนัลด์ หรือฉายาที่เพื่อน ๆ เรียกว่า “บุตช์” จะต้องถูกสอบสวนอย่างหนักเพราะเป็นเพียงคนเดียวที่รอดชีวิต ตำรวจวิเคราะห์จากคำให้การของโรนัลด์แล้วสันนิษฐานว่าเหตุฆาตกรรมนี้น่าจะเป็นฝีมือของ ลุยส์ ฟาลินี มือปืนประจำแก๊งเจ้าถิ่นที่อยู่ในละแวกนั้น แต่ตำรวจก็ยังไม่ปักใจเชื่อเสียทีเดียว เพราะลุยส์ ฟาลินี ก็มีพยานยืนยันที่อยู่หนักแน่นว่าเขาอยู่นอกเมืองในคืนเกิดเหตุ ส่วนคำให้การของโรนัลด์กลับดูวกวนแล้วไม่สอดคล้องกับหลักฐานที่เกิดเหตุ ในวันต่อมาโรนัลด์ก็จำนนต่อหลักฐาน แล้วสารภาพว่าเขาเองคือผู้ลงมือสังหารพ่อแม่และน้อง ๆ ของตัวเอง คำให้การของเขาช่างน่ากลัวนัก
“เมื่อผมได้เริ่มลงมือไปแล้ว ผมก็สนุกจนหยุดไม่ได้ ทุกอย่างมันเกิดขึ้นรวดเร็วมาก”
โรนัลด์ยังยอมรับอีกว่าหลังจากลงมือสังหารทุกคนแล้ว เขาก็อาบน้ำแต่งตัว แล้วเอาหลักฐานต่าง ๆ ไปทิ้งทั้งปืน เสื้อผ้าที่เปื้อนเลือดและปลอกกระสุน ตั้งแต่นั้นทุกวันเขาก็ออกไปทำงานเหมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น

โรนัลด์ ให้การในชั้นศาลว่า เขากระทำการทั้งหมดเพราะเป็นการป้องกันตัวเอง เนื่องจากเขาได้ยินว่าทุกคนในครอบครัวสุมหัวกันวางแผนจะกำจัดเขา คำให้การของเขาได้รับการสนับสนุนจาก จิตแพทย์ประจำสำนักอัยการ แดเนียล ชวาร์ตซ์ ที่ยืนยันว่าอาการของโรนัลด์นั้นคืออาการประสาทหลอนจากการเสพเฮโรอีนและ แอล.เอส.ดี ในปริมาณมาก นอกจากนั้นเขายังเป็นโรค “บุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม” (Antisocial Personality Disorder) อีกด้วย ศาลตัดสินให้ โรนัลด์ เดอฟิโอ มีความผิดในข้อหา “ฆาตกรรมโดยเจตนาแต่ไม่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อน” second-degree murder มีโทษจำคุกตลอดชีวิต ตลอดเวลาที่ถูกคุมขัง โรนัลด์ยื่นอุทธรณ์หลายครั้ง แต่คำร้องก็ถูกปฏิเสธทุกครั้ง

ครอบครัวลัตซ์

แม้ว่านี่เป็นคดีสะเทือนขวัญ แต่ประเด็นที่ผู้คนสนใจและร่ำลือกัน กลับไม่ใช่การฆาตกรรมยกครัวของโรนัลด์ เดอฟิโอ แต่เป็นวิญญาณอาฆาตของครอบครัวเดอฟิโอ ที่รังควาญครอบครัวใหม่ที่ย้ายมาอยู่ในบ้านหลังนี้ ครอบครัวที่โชคร้ายคือตระกูลลัตซ์ ที่เข้ามาอยู่ในเดือนธันวาคม 1975 พวกเขารู้เรื่องฆาตกรรมในบ้านนี้ แต่ราคาบ้านที่ถูกมากทำให้พวกเขาตัดสินใจซื้อ พอเข้ามาอยู่ได้ไม่นานก็เจอเรื่องขนหัวลุกต่าง ๆ นานา เช่นพวกเขาต่างสะดุ้งตื่นขึ้นตอนตี 03:15 เวลาที่เกิดเหตุฆาตกรรมยกครัว มีแมลงวันชุกชุมในบ้าน หลายคนนอนฝันร้าย มีรอยฟกช้ำบนร่างกายที่ไม่ทราบสาเหตุ และหนักสุดคือมองเห็นสิ่งของในบ้านลอยได้ วิญญาณรบกวนรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงคืนวันที่ 14 มกราคม 1976 ทั้งครอบครัวก็ทนไม่ได้ต้องวิ่งกรูกันออกจากบ้านมากลางดึก แล้วไม่กลับเข้าไปอีกเลย ทั้งครอบครัวไม่เคยเปิดเผยรายละเอียดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนนั้น

ครอบครัวลัตซ์ได้เล่าประสบการณ์ให้กับ เจย์ แอนสัน นักเขียนที่ถ่ายทอดเรื่องราวออกมาเป็นนิยายขายดีชื่อ The Amityville Horror ด้วยประสบการณ์ผีหลอกที่ฟังดูเหนือจริงกว่าเรื่องอื่น ๆ ที่ได้เคยได้ยินฟังมา ถึงขั้นมีการนำสมาชิกในครอบครัวเข้าพิสูจน์ด้วยเครื่องจับเท็จ ซึ่งผลออกมาพวกเขาก็ผ่านกันหมด สมาชิกครอบครัวลัตช์ได้อ่านนิยายของ เจย์ แอนสัน แล้ว พวกเขาก็ยืนยันว่าเนื้อหาในนิยายแทบทั้งหมดตรงตามความเป็นจริง

The Amityville Horror

นิยายของ เจย์ แอนสัน ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ The Amityville Horror ชื่อเดียวกับนิยาย ออกฉายในปี 1979 หนังประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำให้มีภาคต่อตามมาอีกหลายภาค และถูกรีเมกในปี 2005 ในชื่อเดียวกัน The Amityville Horror แต่เวอร์ชันนี้ไม่ประสบความสำเร็จนัก ก็เลยจอดอยู่แค่ภาคเดียว

7.The Snowtown Murders

โรเบิร์ต แวกเนอร์ และ จอห์น บันติง หัวโจกของกลุ่ม

เป็นอีกคดีสะเทือนขวัญในประเทศออสเตรเลีย เป็นคดีที่มีเหยื่อถูกฆ่าตายมากที่สุดในจำนวน 7 รายชื่อนี้แล้ว ยังเป็นคดีที่มีการไต่สวนกินเวลายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ออสเตรเลีย ฆาตกรในคดีนี้ได้ฉายาว่า The Snowtown Murders ตั้งตามชื่อเมืองที่เกิดเหตุ Snowtown ฆาตกรมีด้วยกัน 3 คน คือ จอห์น บันติง, โรเบิร์ต แวกเนอร์ และ เจมส์ วลาสซาคิส ส่วนสมาชิกคนที่ 4 คือ มาร์ก เฮย์ดอน นั้นไม่ได้ลงมือสังหารแต่มาช่วยเพื่อนอำพรางศพด้วยการนำศพใส่ในถังพลาสติกขนาดใหญ่ ทำให้พวกเขามีอีกฉายาว่า bodies in barrels murders

คดีเริ่มต้นขึ้นในเดือนปี 1994 เมื่อมีผู้พบศพ คลินตัน ทรีไซ์ ในเมืองโลเวอร์ ไลต์ เป็นคดีปริศนาที่ไร้ร่องรอยฆาตกรผู้ลงมือ คดีไม่มีความคืบหน้าจนกระทั่งปี 1997 พบศพของโธมัส เทรวิลยาน ที่ถูกจัดฉากให้ดูเหมือนฆ่าตัวตาย แต่ตำรวจเจอร่องรอยที่รู้สึกว่าคล้ายคลึงกับคดีของ คลินตัน ทรีไซส์ เกิดข้อสันนิษฐานว่า 2 คดีนี้น่าจะเกี่ยวโยงกัน แต่ก็ยังคงไม่มีเบาะแสคนร้าย จนมาถึงปี 1999 เกิดคดีการหายตัวไปของ อลิซาเบ็ธ เฮย์ดอน ที่เป็นเบาะแสชักนำเจ้าหน้าที่ตำรวจไปที่เมืองสโนว์ทาวน์ ที่พาไปสู่การค้นพบหลักฐานที่สุดสะพรึงเกินกว่าจะจินตนาการได้ ในวันที่ 20 พฤษภาคม 1999 ตำรวจตามรอยไปจนเจอถังพลาสติกใหญ่ 6 ใบถูกซุกซ่อนไว้ในห้องนิรภัยของธนาคารเก่าที่ถูกทิ้งร้าง ภายในถังทั้ง 6 นี้คือร่างที่ถูกตัดเป็นชิ้น ๆ จากเหยื่อ 8 ราย

บริเวณที่เจอศพฝังอยู่

อัยการผู้รับผิดชอบคดีนี้สันนิษฐานว่าเดิมทีแล้ว ศพทั้ง 8 รายนี้น่าจะถูกซุกซ่อนกันแบบกระจัดกระจายแต่เมื่อคนร้ายเริ่มระแวดระวังตัวมากขึ้น หลังรู้ว่าตำรวจเริ่มสืบสวนใกล้ตัวเข้ามาแล้ว เลยทำการย้ายศพทั้งหมดมาซุกซ่อนรวมกันไว้ที่นี่ จากนั้นไม่นานเจ้าหน้าที่ตำรวจเจอศพเพิ่มอีก 2 รายถูกฝังอยู่ในสนามหลังบ้านของ จอห์น บันติง ในเมืองเอดิเลด เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญให้ตำรวจเข้าจับกุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 4 รายได้ที่บ้านของจอห์น บันติง

ส่วนแรงจูงใจในการก่อคดีฆาตกรรมนี้ยังคงไม่แน่ชัด บางทฤษฎีเชื่อว่ามาจากการบงการของนายจอห์น บันติง ที่ระบุว่าเหยื่อทุกรายนั้นเป็นพวกชอบร่วมเพศกับเด็ก หรือเป็นพวกรักร่วมเพศ เหยื่อหลายรายน่าจะถูกทรมานเป็นเวลานานก่อนถูกสังหาร แต่อีกทฤษฎีก็น่าจะเป็นเรื่องของการฉ้อฉลเพื่อหวังเงิน เพราะหลังจากสังหารเหยื่อแล้ว ฆาตกรกลุ่มนี้ได้ปลอมแปลงตัวเองให้มีภาพลักษณ์เหมือนเหยื่อ แล้วนำเอกสารประจำตัวของเหยื่อไปเบิกเงินประกันสังคมของเหยื่อมาใช้จ่ายกัน

การพิจารณาคดีเริ่มต้นในปี 2003 และกินเวลายาวนานถึง 1 ปีเต็ม ศาลพิจารณาคดีแล้วตัดสินว่า จอห์น บันติง มีความผิดข้อหาฆาตกรรมเหยื่อ 11 ราย โรเบิร์ต แวกเนอร์ มีความผิดข้อหาฆาตกรรมเหยื่อ 10 ราย ซึ่งเขารับสารภาพว่าฆาตกรรมเพียงแค่ 3 ราย เจมส์ วลาสซาคิส มีความผิดข้อหาฆาตกรรมเหยื่อ 4 ราย และมาร์ก เฮย์ดอน มีความผิดข้อหาสมรู้ร่วมคิดในการฆาตกรรมเหยื่อ 5 รายซึ่งเขายอมรับสารภาพเพียงแค่ 2 ราย ศาลตัดสินให้ จอห์น บันติง รับโทษจำคุกตลอดชีวิต 11 รอบ ตามจำนวนเหยื่อที่เขาลงมือสังหารโดยไม่อนุญาตให้มีการขอทัณฑ์บน โรเบิร์ต แวกเนอร์ ได้รับโทษในทิศทางเดียวกัน จำคุกตลอดชีวิต 10 รอบ โดยไม่อนุญาตให้มีการขอทัณฑ์บน เจมส์ วลาสซาคิส จำคุกตลอดชีวิต 4 รอบ ห้ามมิให้มีการขอทัณฑ์บนในช่วงระยะ 26 ปีนับจากวันตัดสิน ส่วนมาร์ก เฮย์ดอน รับโทษจำคุก 25 ปี จะขอทัณฑ์บนได้หลังจากผ่านไป 18 ปี

โปสเตอร์หนัง The Snowtown Murders

คดี The Snowtown Murders ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในชื่อ Snowtown ออกฉายในปี 2011 เป็นหนังสัญชาติออสเตรเลีย เป็นหนังแนวอินดี้ออกฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ เลยเป็นหนังที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักมากนัก หนังได้รางวี่รางวัลไปถึง 23 รางวัลล้วนเป็นรางวัลที่ได้รับจากเทศกาลภาพยนตร์

ใครพลาดเรื่องไหนไปใน 7 คดีฆาตกรรมนี้ ลองไปหาดูกันนะครับ

อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง