ปกติแล้วถ้าเราได้ยินข่าวว่าหนังเรื่องไหนมีการถ่ายซ่อม มักจะเป็นข่าวที่สร้างทัศนคติในแง่ลบให้กับหนังเรื่องนั้น เพราะถ้าหนังเรื่องไหนมีการถ่ายซ่อมนั่นแน่นอนแล้วว่าหนังเรื่องนั้นมีปัญหา น้อยเรื่องที่จะออกมาดูดีมีคุณภาพ ส่วนสาเหตุในการถ่ายซ่อมนั้นก็มีหลากหลาย แต่สาเหตุใหญ่ก็คือเวอร์ชันดั้งเดิมนั้นไม่เป็นที่น่าพอใจสำหรับผู้บริหารสตูดิโอ หรือกระแสตอบรับจากรอบทดลองฉายไม่ดีนัก การถ่ายซ่อมค่อนข้างเป็นเรื่องใหญ่ เพราะไม่มีใครอยากทำ เป็นงานจุกจิกวุ่นวาย โดยเฉพาะกับดาราและผู้กำกับที่งานชุก พอถ่ายทำเสร็จไปแล้ว เขาเหล่านั้นก็เดินหน้าเข้ากล้องโพรเจกต์ต่อไปทันที การจะขอคิวกลับมาถ่ายให้ได้พร้อมหน้าพร้อมตากันก็เป็นเรื่องยาก แถมสตูดิโอยังต้องควักทุนสร้างเพิ่มอีกมาก

ฉะนั้นเมื่อมีการถ่ายซ่อมขึ้นมา แปลว่าผู้บริหารสตูดิโอพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่ายอมควักทุนดีกว่า เสี่ยงให้หนังออกฉายแล้ว…เจ๊ง กำไรน้อยหน่อยก็ยังดีกว่าขาดทุน แต่ก็มีนะครับหนังที่ถ่ายซ่อมแล้วได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นที่น่าพอใจกว่าเวอร์ชันแรก และนี่คือหนัง 10 เรื่องที่รอดเจ๊ง เพราะการตัดสินใจถ่ายซ่อม

1.All The Money In The World (2017)

All The Money In The World

ในปี 2017 ถือได้ว่าเป็นยุคมืดของฮอลลีวูดที่เต็มไปด้วยกระแสต่อต้าน “การคุกคามทางเพศ” ที่มีจุดเริ่มมาจาก ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน ที่เป็นตัวจุดกระแส หลังมีสาวเจ้าทุกข์หลายรายออกมาแฉ หลังจากนั้นก็มีบรรดาดารา ผู้กำกับ ผู้อำนวยการสร้างรุ่นใหญ่หลายคน โดนข้อหา “คุมคามทางเพศ” ต่อเนื่องหลายคน และหนึ่งในนั้นก็คือ เควิน สเปซีย์ นักแสดงมากฝีมือที่มีสาวเจ้าทุกข์เข้าร้องทุกข์ว่าถูก ระพฤติมิชอบทางเพศ จากเขา

ความซวยมาถึงตัวหนัง All The Money In The World ที่เพิ่งปิดกล้องไป แล้วมีเควิน สเปซีย์ รับบทนำของเรื่อง งานถ่ายทำเป็นไปอย่างราบรื่น สตูดิโอก็มั่นใจว่าหนังจะต้องไปด้วยดีทั้งรายรับและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ แต่เมื่อ นักแสดงนำโดนข้อหานี้ก็เหมือนโดนฟ้าผ่ากลางกองถ่าย ผู้บริหารสตูดิโอใคร่ครวญอย่างถี่ถ้วนแล้ว ว่าถ้ายังเดินหน้าปล่อยหนังไปแบบนี้มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง ต้องตัดสินใจแบบปัจจุบันทันด่วน รื้อใหม่ถ่ายซ่อมทุกฉากที่มีเควิน สเปซีย์

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแบบกะทันหัน อีก 2 เดือนจะถึงกำหนดฉายแล้ว คนที่งานเข้าหนักสุดก็คือผู้กำกับ ริดลีย์ สก็อตต์ เพราะฉากที่มี เควิน สเปซีย์ ก็ถ่ายทำไปจนหมดแล้วด้วย ก็เหมือนกับต้องถ่ายทำใหม่เกือบหมด แล้วคนที่สตูดิโอเลือกมาเสียบแทนก็คือ คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ นักแสดงอาวุโส ที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ ปีนี้เอง

คริสโตเฟอร์ เป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมมาก ไม่ทิ้งลายนักแสดงมากฝีมือผู้คร่ำหวอดในวงการ เขาโชว์ศักยภาพการแสดงให้เห็นว่าไม่ได้เลือนหายไปตามอายุ ด้วยการเข้ากล้องถ่ายทำทุกฉากแทน เควิน สเปซีย์ ได้สำเร็จเสร็จสิ้นในระยะเวลาเพียงแค่ 9 วัน แม้ขณะนั้นเขาจะอายุอานามเข้าไป 88 ปีแล้วด้วย แม้จะเป็นตัวแทนที่เข้ามากู้สถานการณ์หนัง แต่ฝีไม้ลายมือที่ฝากไว้ก็ไม่ธรรมดาจนคุณปู่คริสโตเฟอร์ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม

2.Dr.Strangelove Or How I Learned To Stop Worrying And Love The Bomb (1964)

Dr.Strangelove Or How I Learned To Stop Worrying And Love The Bomb

สแตนลีย์ คูบริก เป็นหนึ่งในผู้กำกับระดับตำนาน ชื่อของเขาเป็นที่เลื่องลือในฐานะผู้กำกับจอมเฮี้ยบ ทุกอย่างต้องเป๊ะ สมบูรณ์แบบตามวิสัยทัศน์ของเขาเท่านั้น ฉะนั้นเรื่องการถ่ายซ่อมแทบจะไม่เคยเกิดขึ้นกับผลงานของเขา แต่ถ้าเมื่อใดที่สแตนลีย์ คูบริก ตัดสินใจถ่ายซ่อมขึ้นมา แปลว่านั่นจะต้องมีเหตุผลสมควรจริง ๆ

ในหนังชื่อยาวเหยียด Dr.Strangelove Or How I Learned To Stop Worrying And Love The Bomb ผู้กำกับสแตนลีย์มาเจอปัญหาเอาในฉากจบของเรื่อง ตามบทภาพยนตร์นั้น หนังจะจบด้วยฉากผู้คนเขวี้ยงพายใส่กันอย่างชุลมุน จนกลายเป็นสงครามในห้องขนาดย่อม ๆ เจตนาของฉากนี้ก็แฝงนัยเชิงเสียดสี แต่ภาพที่ออกมาก็ไม่เป็นที่พอใจสำหรับสแตนลีย์

สแตนลีย์มาดูเทปแล้ว เขาไม่พอใจกับภาพที่เห็นนัก เพราะอารมณ์ที่สแตนลีย์ต้องการในฉากนี้ความเคร่งเครียดจริงจังมากเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่บรรดานักแสดงกลับหัวร่อต่อกระซิกกันอย่างสนุกสนาน ทุกคนดูมีความสุข แต่นันไม่ใช่อย่างที่สแตนลีย์ต้องการ เขาตัดฟิล์มส่วนนี้ออกมา ไม่พอแค่นั้นยังจุดไฟเผาอีกด้วย ซึ่งเขามักจะทำแบบนี้เสมอกับฟิล์มที่เขาตัดออก แล้วสแตนลีย์ก็เรียกกองกลับมาถ่ายทำฉากนี้ใหม่ตั้งแต่แรก สแตนลีย์ขยายความเพิ่มเติมถึงฉากนี้ว่า เขาต้องการให้ภาพมันดูห่างไกลจากความเป็นตลกโง่ ๆ แม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นหนังคอมเมดี้ก็เถอะ

3.World War Z (2013)

World War Z

เป็นหนังอีกเรื่องที่เต็มไปด้วยปัญหาสารพัน ในช่วงนี้ของการถ่ายทำนั้นหนังเจอปัญหาทับถมถึงขนาดว่ามองไม่ออกว่าจะแก้ไขให้หนังถ่ายทำสำเร็จลุล่วงไปได้อย่างไร การถ่ายทำล่าช้า ปัญหาเก่าก็ยังอีรุงตุงนังซึ่งเกือบถึงขั้นต้องยกเลิกโพรเจกต์เลยก็ว่าได้ แต่แล้วผู้บริหารก็ตัดสินใจเด็ดขาดให้….ถ่ายซ่อม

ในวันที่หนังตัดต่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้บริหารสตูดิโอได้ดูแล้วก็ส่ายหน้า ไม่มีใครพึงพอใจกับผลงานที่ออกมาเลย แม้กระทั่งตัว แบรด พิตต์ นักแสดงนำที่พ่วงตำแหน่งผู้อำนวยการสร้างหนังยังเอ่ยปากเลยว่า คุณภาพของหนังเข้าขั้นเลวร้าย ทางเดียวที่จะกู้ชีพหนังเรื่องนี้ได้คือ ถ่ายซ่อม

ฉากที่ต้องถ่ายซ่อมเยอะมาก ทำให้กินเวลาเพิ่มเติมไปอีก 7 สัปดาห์ ทำให้ต้องเลื่อนกำหนดฉายออกไปอีก สาเหตุที่การถ่ายซ่อมกินเวลามากมายขนาดนั้น ก็เพราะองก์สุดท้ายของเรื่องนั้นถูกรื้อทิ้งแล้วเขียนขึ้นใหม่เลย เริ่มถ่ายทำกันใหม่ตั้งแต่ฉากที่ แบรด พิตต์ ขึ้นเครื่องบินไป ตามบทดั้งเดิมนั้นเครื่องบินจะลงจอดที่รัสเซีย แล้วเมียของแบรด พิตต์ ในเรื่องก็โดนบังคับเอาตัวไปเป็นทาสกาม ที่เธอต้องจำยอมเพื่อปกป้องชีวิตตัวเองและลูกสาว ในบทที่เขียนขึ้นมาใหม่ ลงเอยให้บทของ แบรด พิตต์ ได้กลับมาเจอกับลูกเมียอีกครั้ง แล้วสามารถทิ้งท้ายให้เรื่องราวสานต่อไปภาค 2 ได้อีก

หลังงานถ่ายซ่อมสำเร็จเสร็จสิ้น ทุนสร้างหนังก็บานไปทะลุ 200 ล้านเหรียญแล้ว กลายเป็นหนังซอมบี้ที่ใช้ทุนสร้างสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่สุดท้ายหนังก็ทำรายได้เป็นที่น่าพอใจ ด้วยตัวเลขรายรับทั่วโลกที่ 540 ล้านเหรียญ

4.Star Wars: Rogue One (2016)

Star Wars: Rogue One

Star Wars: Rogue One ถือว่าเป็นโพรเจกต์ที่ดิสนีย์ตัดสินใจเสี่ยงพอดู เพราะนี่คือหนังภาคแยกเรื่องแรกจากจักรวาล Star Wars เป็นบทหนังที่ฉลาดในการหยิบช่องว่างระหว่างภาค The Empire Strikes Back กับ A New Hope มาเติมเต็ม แล้วสุดท้ายหนังก็ได้เสียงตอบรับที่ดีจากทั้งนักวิจารณ์ และผู้ชม คุ้มค่ากับการลงทุนเสี่ยง

แต่ความสำเร็จนั้นก็มาจากการตัดสินใจถ่ายซ่อมด้วยเช่นกัน ผู้กำกับของเรื่องก็คือ แกเร็ต เอ็ดเวิร์ด เป็นผู้กำกับหน้าใหม่ที่เคยผ่านงานใหญ่อย่าง Godzilla (2014) มาแล้ว แต่อย่างที่ว่านี่คือโพรเจกต์ภาคแยกเรื่องแรก ทางดิสนีย์ก็เลยค่อนข้างติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิด แม้ขณะอยู่ในระหว่างการถ่ายทำ ทางผู้บริหารก็เริ่มสังเกตว่าทิศทางหนังไม่ค่อยดีแล้ว ก็เลยไม่รอช้า ดิสนีย์เรียกตัว โทนี่ กิลรอย ผู้กำกับและมือเขียนบทระดับเก๋าในฮอลลีวูดให้มาช่วยแก้ไขบททันที โทนี่ก็ลงมือทั้งแก้ไขบทและถ่ายซ่อมหลายฉาก รวมถึงฉากจบอันฮือฮา ที่มีดาร์ธเวเดอร์ปรากฏตัวออกมานั้นด้วยล่ะ งานนี้โทนี่ กิลรอย รับค่าเหนื่อยไปเหนาะ ๆ 5 ล้านเหรียญ แถมได้เครดิตในฐานะผู้เขียนบทร่วมด้วย

ฉากจบของหนังด้วยฝีมือของโทนี่ กิลรอย เชื่อมต่อกับฉากเปิดของ A New Hope ได้แบบนาทีต่อนาที ในฉากจบนั้น หลังจากกลุ่มทหารฝ่ายกบฏได้แผนผังเดธสตาร์มาอยู่ในมือแล้ว ก็ถูกตามล่าโดย ดาร์ธ เวเดอร์ ที่ขึ้นยาน Tantive IV มาได้ ดาร์ธ เวเดอร์ สังหารทหารกบฏไปหลายคนและต้องการทวงแผนผังเดธสตาร์คืน แต่ก็ไม่ทันการ ทหารกลุ่มหนึ่งรับมอบแผนผังและใช้ยานเล็กหนีรอดไปได้ การปรากฏตัวของ ดาร์ธ เวเดอร์ นั้นเป็นฉากที่ได้ใจแฟน ๆ รุ่นเก่ามาก การได้เห็น ดาร์ธ เวเดอร์ ได้ใช้พลังมือในฐานดาร์ก ลอร์ด จัดการกับเหล่าทหารกบฏนั้น แม้จะเป็นตัวร้ายของเรื่อง แต่ก็เป็นภาพที่สร้างความปีติให้กับแฟน ๆ ที่คิดถึงตัวละครระดับตำนานผู้นี้ได้เป็นอย่างดี

แต่นั่นแหละ นี่ก็คือฉากที่ได้มาจากการตัดสินใจถ่ายซ่อม และเป็นไอเดียของ โทนี่ กิลรอย ที่เพิ่มฉากนี้เข้ามา เพราะบทดั้งเดิมของ Rogue One จบแค่ตอนส่งข้อมูลแผนผังไปถึงยาน Tantive IV ได้แค่นั้น และทำให้ Rouge One จบได้อย่างสมบูรณ์และน่าประทับใจ การปรากฏตัวของ ดาร์ธ เวเดอร์ ทำให้ฉากจบนี้กลายเป็นฉากที่ดีที่สุดของ Rogue One

5.Deadpool 2 (2018)

Deadpool2

Deadpool ภาคแรกประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม เป็นปรากฏการณ์ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าหนังซูเปอร์ฮีโรเรต R ก็ขายได้ และมั่นใจได้เลยว่าหนังจะต้องมีภาคต่อ ซึ่งก็ตามหลังภาคแรกมาภายใน 2 ปี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อภาคแรกปูทางไว้ดีแล้ว ภาคต่อจะราบรื่นตามไปด้วย

การถ่ายทำสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี แต่พอมาฉายรอบทดลอง ผลตอบรับจากผู้ชมคือ “ไม่ประทับใจ” รายละเอียดจากปฏิกิริยาตอบรับของผู้ชมในรอบทดลองนั้น ไม่มีการเปิดเผยจากฟอกซ์ แต่ก็มีความเห็นจากผู้ชมรายหนึ่งหลุดรอดมาบนทวิตเตอร์ว่า เนื้อหาขาดความน่าเชื่อถือ และตัวละคร วาเนสซา ในเรื่องนั้นใส่เข้ามาแบบเสียเปล่า เมื่อผลตอบรับออกมาไม่ดีนัก ทีมงานจึงต้องรีบเอาหนังกลับมาแก้ไขกันอย่างเร่งด่วน

จุดที่ทีมงานแก้ไขกันเป็นอย่างหลักเลยก็คือ เพิ่มบทบาทให้กับบท เคเบิล ของ จอช โบรลิน และ บท โดมิโน ของ เซซี บีต ถ้าใครได้ดู Deadpool 2 แล้วจะรู้ว่าภาคนี้มีตัวละครสมทบเยอะมาก ในเวอร์ชันแรกนั้น เคเบิล และ โดมิโน น่าจะมีสถานะความสำคัญเท่ากับตัวละครสมทบเหล่านั้น พอแก้ไขบทแล้วถ่ายซ่อมใหม่ เคเบิล และ โดมิโน ก็เลยถูกยกระดับความสำคัญให้โดดเด่นขึ้น พอกลับมาฉายรอบทดลองอีกครั้ง เสียงตอบรับดีขึ้น หนังทำรายได้ไป 786 ล้านเหรียญ จากทุนสร้าง 110 ล้านเหรียญ แค่นี้สตูดิโอก็ยิ้มออกแล้ว

6.Bumblebee (2018)

จอห์น ซีนา ในบท เอเยนต์เบิร์น

อย่างที่เราทราบกันดีว่า Bumblebee คือหนังภาคแยกจากจักรวาล Transformers ที่ช่วยต่อลมหายใจให้กับแฟรนไชส์หลักได้เป็นอย่างดี ในขณะที่คนดูกำลังเอือมกับภาพหุ่นยนต์ยักษ์ตีกันบนจอแล้ว Bumblebee ก็พาเรื่องราวของตัวเองออกห่างจากเนื้อหาในแฟรนไชส์หลัก มีเรื่องราวที่น่ารักน่าติดตาม มีการแนะนำตัวละครใหม่ ๆ ที่มีเสน่ห์

และ Bumblebee ก็เป็นอีกเรื่องที่ได้รับเสียงตอบรับจากรอบทดลองฉายแบบไม่สู้ดีนัก ทำให้ในช่วง 2-3 ก่อนกำหนดฉาย ทีมงานและนักแสดงต้องถูกเรียกตัวกลับมาถ่ายซ่อมกันเป็นกรณีเร่งด่วน จุดที่แก้ไขหลัก ๆ คือบุคลิกลักษณะของแต่ละตัวละคร โดยเฉพาะบทบาท เอเยนต์ เบิร์น ของ จอห์น ซีนา ในเวอร์ชันที่เราได้ดูกันไปนั้น เราจะเห็นว่าเบิร์นเป็นคนตลกและเป็นกันเอง แต่ที่จริงแล้วในเวอร์ชันดั้งเดิมนั้น เขาไม่ได้น่ารักแบบนี้ แล้วคนดูในรอบทดลองก็ไม่ชอบตัวละครนี้กันเลย มีการบรรยายถึงเบิร์นในเวอร์ชันแรกไว้ว่า “เขาตึงเครียดกว่านี้มากแล้วก็เป็นคนใจคอโหดร้าย” แล้วบทเดิมก็เขียนให้เบิร์นนั้นเป็นคนที่มีความอาฆาตแค้นกับเหล่าทรานสฟอร์มเมอร์ เพราะปูมหลังของเบิร์นนั้นเขาเสียเพื่อนสนิทไปด้วยน้ำมือของทรานสฟอร์มเมอร์ตัวหนึ่ง

เพื่อเปลี่ยนแปลงบุคลิกลักษณะของเบิร์น ทีมงานจึงตัดสินใจตัดเรื่องราวในอดีตของเบิร์นทิ้งไป ได้เบิร์นคนใหม่ที่มีเสน่ห์และเข้าถึงตัวได้มากขึ้น ซึ่งมีผลอย่างมากกับตัวหนัง กลายเป็นหนึ่งในหนัง Transformers ที่คนดูเทใจให้

7.Anchorman: The Legend Of Ron Burgundy (2004)

Anchorman: The Legend Of Ron Burgundy

น่าจะมีน้อยคนที่ได้ดูเรื่องนี้ เพราะหนังออกมา 2 ภาค แต่ไม่ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์บ้านเรา หนัง Anchorman: The Legend Of Ron Burgundy เป็นเหมือนบันไดต่อยอดความสำเร็จให้กับ วิล เฟอเรล หลังจากประสบความสำเร็จมาแล้วกับ Eld (2003) และถูกจดจำในฐานะหนังคอมเมดี้คลาสสิกเรื่องหนึ่ง แต่หารู้ไม่ หนังเกือบจะล้มเหลวไม่เป็นท่ามาแล้ว ถ้าไม่ได้รับการถ่ายซ่อม ก็คงจะกลายสภาพเป็นดีวีดีในกระบะลดราคาในเร็ววัน

Anchorman: The Legend Of Ron Burgundy เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สตูดิโอตัดสินใจฉายรอบทดลองเพื่อดูปฏิกิริยาผู้ชม ผมตอบรับออกมาแย่มาก กลายเป็นงานหนักของทีมงานที่แก้ไขบทใหม่ เรียกได้ว่าเวอร์ชันที่ออกฉายนั้นแตกต่างจากเวอร์ชันแรกอย่างสิ้นเชิง ในเวอร์ชันแรกนั้นมีเรื่องราวของกลุ่มผู้ก่อการร้ายชื่อ “The Alarm Clock” จับตัวละครหญิงที่ชื่อ เวโรนิกา คอร์นนิงสโตน ไปเรียกค่าไถ่ ทำให้รอนและพรรคพวกต้องรวมกลุ่มกันไปช่วยเหลือเธอกลับมา แล้วหนังก็จบ

ผลตอบรับจากคนดูในรอบทดลอง ไม่ใช่เพียงแค่ไม่ชอบ แต่พวกเขาใช้คำว่า “เกลียด” หนังเรื่องนี้กันเลยทีเดียว เหตุผลหลัก ๆ ก็คือพล็อตเรื่องที่โคตรไร้สาระ และที่สำคัญมันคือหนังคอมเมดี้ที่ไม่ตลกเอาซะเลย ดรีมเวิร์ก สตูดิโอเจ้าของหนังถึงกับต้องยกเครื่อง เขียนบทใหม่ ถ่ายทำใหม่ โดยเฉพาะตอนจบนี่แก้ไขใหม่หมดเลย เรื่องราวเกี่ยวกับขบวนการ The Alarm Clock โดนตัดทิ้งไปทั้งหมด ไม่มีเรื่องเรียกค่าไถ่ในหนังอีกต่อไป แต่ที่น่าเสียดายก็คือ การตัดเนื้อหาส่วนนี้ไปเท่ากับบทบาทของนักแสดงหลายคนต้องหายไปด้วย ซึ่งรวมไปถึง เอมี่ โพห์เลอร์, จัสติน ลอง, สตีเฟน รูต, มายา รูดอล์ฟ ก็ให้คิดเสียว่า โดนตัดทิ้งไปยังดีกว่าต้องอยู่ในหนังที่เจ๊ง

8.The Big Sleep (1946)

The Big Sleep

จะมีกี่คนได้ดูเรื่องนี้กันนะ เพราะนับถึงวันนี้ก็มีอายุ 75 ปีแล้ว The Big Sleep ถูกจดจำในฐานะหนังที่มีซูเปอร์สตาร์คู่ขวัญในยุคนั้นอย่าง ฮัมฟรีย์ โบการ์ต และ ลอเร็น เบคอล แสดงนำร่วมกัน คู่นี้รับบทนำร่วมกันทั้งหมด 4 เรื่อง To Have and Have Not (1944), The Big Sleep (1946), Dark Passage (1947), Key Largo (1948)

ในเรื่องนี้ ฮัมฟรีย์ โบการ์ต รับบทเป็นนักสืบ ฟิลิป มาร์โลว์ อีกหนึ่งตัวละครดังระดับตำนาน ที่มีต้นกำเนิดมาจากนิยายขายดี เรื่องราวของ ฟิลิป มาร์โลว์ ถูกสร้างเป็นละครวิทยุ ทีวีซีรีส์ และภาพยนตร์หลายเรื่อง พอได้นักแสดงชื่อดังอย่างฮัมฟรีย์ โบการ์ต มารับบท ก็เลยมีผู้ชมรอคอยเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญเรื่องนี้มี ลอเร็น เบคอล มารับบทเป็น วิเวียน รูตเล็ดจ์ นางเอกของเรื่องด้วย

กระแสตอบรับจากผู้ชมในวันนั้นค่อนข้างรุนแรง ส่วนใหญ่อยากดูคู่จิ้นนี้มีฉากโรแมนติกบนจอร่วมกันเยอะ ๆ เมื่อกระแสมาแบบนี้แล้ว ทางสตูดิโอมาดูหนังที่ถ่ายทำเสร็จก่อนฉาย ก็นึกแล้ว “ตายละวา” ในหนังแทบไม่มีฉากโรแมนติกของพระ-นาง คู่นี้เลย ทางสตูดิโอเลยตัดสินใจแก้ไขด้วยการ “ถ่ายซ่อม” แก้ไขบทให้พระ-นาง มีฉากโรแมนติกด้วยกันเยอะ ๆ เอาใจคนดูไว้ก่อน ซึ่งก็แก้ไขได้ถูกทาง คนดูแฮปปี้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเสียงเชียร์หรือไม่ คู่นี้ก็ร่วมหอลงโรงกันจริงจัง ลอเร็น เบคอล เป็นภรรยาคนที่ 4 ของ ฮัมฟรีย์ โบการ์ต มีลูกด้วยกัน 2 คน

มีอีกเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับเบื้องหลัง The Big Sleep ในช่วงที่หนังออกฉายนั้น อยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ผู้คนตื่นตัวกับสงคราม ทางสตูดิโอจึงเร่งสร้างหนังสงครามมาเอาใจคนดู พอหนัง The Big Sleep ถ่ายทำเสร็จ แล้วเจอปัญหาต้องถ่ายซ่อม สตูดิโอวอร์เนอร์จึงไฟเขียวให้ถ่ายซ่อมได้โดยไม่มีกำหนดฉายเร่งรัด ถ่ายทำได้ตามสบาย ๆ เพราะช่วงนี้สตูดิโอเร่งปล่อยฉายแต่หนังสงครามไปก่อน จนกว่ากระแสหนังสงครามจะซาลง แล้วค่อยปล่อย The Big Sleep ออกฉาย เมื่อปี 1997 ทางวอร์เนอร์ได้ปล่อย The Big Sleep เวอร์ชันแรกออกมาขาย คนที่ได้ดูแล้วก็บอกว่า 2 เวอร์ชันนี้ ต่างกันลิบลับ

9.Mad Max: Fury Road (2015)

Mad Max: Fury Road

น่าจะพูดได้ว่า Mad Max: Fury Road เป็นกองถ่ายที่มีปัญหามากมายที่สุดในทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งความยากลำบากของนักแสดงและทีมงานที่ต้องถ่ายทำกันท่ามกลางทะเลทราย ปัญหาไม่ลงรอยกันระหว่าง 2 นักแสดงนำ ทอม ฮาร์ดี้ และ ชาลิซ เธียรอน ทุกอย่างล้วนส่งผลให้การทำงานเป็นไปอย่างล่าช้า และเลยกำหนดจริงมาเป็นปี เป็นการทำงานที่มองไม่ออกเลยว่าจะสำเร็จลุล่วงไปได้อย่างไร แต่ละวันที่ผ่านไปก็ผลาญทุนสร้างไปทุกวัน ทุกวัน เมื่อทุนสร้างเกินงบที่วอร์เนอร์สตูดิโอตั้งไว้มาก ทางสตูดิโอก็ตัดสินใจเด็ดขาดว่าจะไม่ควักทุนสร้างให้อีกต่อไปแล้ว พอกันที

คงไม่มีหนังเรื่องไหนเจอเหตุการณ์รุนแรงเท่านี้อีกเลย ประธานของวอร์เนอร์ถึงกับบินไปทะเลทรายที่นามิเบียด้วยตัวเองเลย เมื่อไปถึงก็ตรงเข้าไปหาผู้กำกับจอร์จ มิลเลอร์ พร้อมประกาศกร้าว “กล้องจะต้องหยุดถ่ายภายในวันที่ 8 ธันวาคมนี้ ผมไม่สนใจแล้วว้อยว่าคุณจะถ่ายอะไรไปได้แค่ไหน พอกันที” เมื่อคำสั่งมาแบบนี้ จอร์จก็ต้องน้อมรับคำสั่ง กองถ่ายเลิก เก็บข้าวเก็บของกลับบ้าน แล้วจอร์จก็ทำงานขั้นตอนหลังการถ่ายทำด้วยฟุตเทจเท่าที่เขามี โดยยังไม่ได้ถ่ายฉากจบเลยด้วยซ้ำ ก็ไม่รู้นะว่าตอนนั้น จอร์จ มิลเลอร์ คิดจะทำอย่างไรกับหนังที่มีฉากจบ แต่โชคก็ยังเข้าข้างจอร์จ มิลเลอร์ ระหว่างที่เขาทำงานขั้นตอนหลังการถ่ายทำอยู่นั้น ทางวอร์เนอร์ก็มีการเปลี่ยนผู้บริหาร ทีมงานชุดใหม่ไฟเขียวให้จอร์จกลับไปถ่ายทำเพิ่มเติมได้อีกหลายฉาก ซึ่งนั่นก็รวมถึงฉากเริ่มเรื่อง และฉากจบด้วย กรณีนี้ไม่น่าจะเรียกว่า “ถ่ายซ่อม” เนอะ

10.Back to the Future (1985)

อีริก สโตลซ์ ในบท มาร์ตี้ แม็กฟลาย


เอ่ยชื่อ Back to the Future คอหนังฮอลลีวูดต่างก็พร้อมยกตำแหน่ง หนังดีที่สุดในยุค 80s ให้ไปอยู่แล้ว หนังสร้างชื่อให้กับ ไมเคิล เจ. ฟอกซ์, คริสโตเฟอร์ ลอยด์ และผู้กำกับ โรเบิร์ต เซเมกคิส แต่รู้หรือไม่ครับ เดิมทีแล้วไตรภาค Back to the Future นี่เกือบจะไม่มี ไมเคิล เจ. ฟอกซ์ ในบท มาร์ตี้ แม็กฟลาย มาแล้วนะ เพราะเดิมทีบทนี้เคยเป็นของ อีริก สโตลซ์ นักแสดงวัยรุ่นชื่อดังในยุคนั้น

อีริก สโตลซ์ สร้างชื่อมาจาก Fast Times at Ridgemont High (1982) ช่วงปี 1983 – 1984 นี่คือยุคทองของเขาเลยก็ว่าได้ มีหนังแสดงปีหนึ่งถึง 4 เรื่อง ฮอตสุด ๆ คือที่จริงแล้วทีมงานและผู้กำกับน่ะต้องการให้ ไมเคิล เจ. ฟอกซ์ มารับบทเป็น มาร์ตี้ แม็กฟลาย ด้วยบุคลิกลักษณะแล้ว ตรงกับบทที่เขียนไว้ แต่ไมเคิลตอนนั้นก็รับบทนำในทีวีซีรีส์ Family Ties ทำให้ตารางเวลาการทำงานชนกัน ไม่สามารถปลีกตัวมาเข้ากล้องได้ กองถ่ายก็ต้องเดินหน้า วิธีการแก้ปัญหาก็คือใช้ตัวเลือกที่ 2 นั่นก็คือ อีริก สโตลซ์ ซึ่งการถ่ายทำก็เดินหน้าไป อีริกก็ถ่ายทำไปหลายฉากมากแล้วด้วย

การถ่ายทำผ่านไป 5 สัปดาห์ จนมาถึงจุดที่ ผู้กำกับโรเบิร์ต เซเมกคิส ฟิวส์ขาด เขาไม่ชอบการถ่ายทอดบทบาทอารมณ์ของอีริก สโตลซ์ อาจจะด้วยพื้นเพของอีริกไม่ใช่นักแสดงสายคอมเมดี้ด้วยกระมัง ก็เลยไม่ตรงกับบุคลิกของมาร์ตี้ แม็กฟลาย ตามที่บทบรรยายไว้ สุดท้ายการถ่ายทำก็ต้องยุติ ยกเลิกสัญญากับ อีริก สโตลซ์

วิธีการแก้ปัญหาก็คือกองถ่ายจำต้องปรับตารางเวลาการถ่ายทำให้สอดคล้องกับการถ่ายทำของ Family Ties เพื่อให้ไมเคิล เจ. ฟอกซ์ ปลีกเวลามาเข้ากล้อง Back to the Future ให้ได้ กองถ่ายต้องเริ่มต้นถ่ายทำใหม่ทุกฉากที่เคยถ่ายทำกับอีริก สโตลซ์ ไปแล้ว ซึ่งก็เยอะมากล่ะ แต่ผลที่ได้ก็คุ้มค่า ผ่านมากว่า 30 ปี ทุกคนก็ยังจดจำไมเคิล เจ. ฟอกซ์ ในภาพลักษณ์ของ มาร์ตี้ แม็กฟลาย กันอยู่เลย

อ้างอิง