‘Ghost Lab ฉีกกฎทดลองผี’ หนังใหม่จาก GDH ที่ลงทางเน็ตฟลิกซ์ ได้สร้างทฤษฎีเกี่ยวกับโลกหลังความตายไว้อย่างน่าสนใจ และดูแปลกใหม่ในบางแง่มุม สร้างกระแสการพูดถึงในทางบวกพอสมควร แต่หากใครยังรู้สึกค้าง ไม่อิ่มอารมณ์พอ เราจะขอแนะนำหนังที่มีทฤษฎีหลังความความตายที่น่าสนใจและล้ำมาก ๆ ซึ่งขยายจินตนาการเรื่องโลกหลังความตายและผีของพวกเราได้ไกล ไม่แพ้ ‘Ghost Lab’ เลยทีเดียว

Flatliners (1990)

หากพูดถึงหนังที่ทดลองเรื่องความตายคงจะพลาดเรื่องนี้ไปไม่ได้เลย ทั้งใครที่ได้ดู ‘Ghost Lab’ แล้วก็น่าจะเห็นรู้สึกถึงหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก ๆ ด้วยความคล้ายกันบางประการ เช่น แพทย์หนุ่มสาว และการทดลองลับ

โดยเรื่องราวหนังเรื่องนี้จะว่าด้วยนักศึกษาแพทย์ 5 คนที่แอบมาทำการทดลองนอกตำรา โดยจะผลัดกันทำให้แต่ละคนหัวใจหยุดเต้นเพื่อพบประสบการณ์ของภาวะใกล้ตาย (Near-death Experience หรือ NDE) ก่อนจะปั๊มหัวใจกู้ชีวิตกลับมา ทว่าสิ่งที่ตามพวกเขากลับมาไม่ได้มีเพียงประสบการณ์โลกหลังความตายที่แต่ละคนพบเจอเท่านั้น หากเป็นบาปในอดีตที่ตามมาหลอกหลอนด้วย

โดยชื่อของหนังเรื่องนี้ยังอิงถึง เส้นชีพจรแบนราบ (Flatlining) หรือไร้สัญญาณชีพ ที่เรามักคุ้นตาจากในหนังเวลาที่กราฟชีพจรวิ่งขึ้นวิ่งลงก่อนจะวิ่งเป็นเส้นเรียบยาวบนจอภาพ EKG และ EEG ซึ่งแสดงถึงบุคคลนั้นได้ตายแล้วด้วย

นี่ถือเป็นผลงานดังเรื่องแรก ๆ ของผู้กำกับ โจเอล ชูมาเกอร์ (Joel Schumacher) ผู้ล่วงลับ ก่อนที่จะได้ทำหนัง ‘Batman Forever’ (1995) ในอีกหลายปีให้หลัง ทั้งยังเป็นการร่วมงานกับดาราดังอย่าง จูเลีย โรเบิร์ตส (Julia Roberts) คีเฟอร์ ซูเธอร์แลนด์ (Kiefer Sutherland) และ เควิน เบคอน (Kevin Bacon) ด้วย

ตัวหนังได้รับการสร้างใหม่เมื่อเร็ว ๆ นี้ในชื่อเดียวกันเมื่อปี 2017 แสดงนำโดย เอลเลน เพจ (Ellen Page, ชื่อในขณะนั้นก่อนเป็นชายข้ามเพศ) และได้ซูเธอร์แลนด์รับเชิญในบทบาทตัวละครหนึ่งด้วย ทว่าความขลังและดีงามก็ยังสู้ฉบับปี 1990 ไม่ได้ (มีโอกาสแนะนำชมฉบับเดิมดีกว่าครับ)

ตัวหนังเรื่องนี้ได้อ้างอิงการรวบรวมข้อมูลของ ปีเตอร์ ฟิลาร์ดี (Peter Filardi) คนเขียนบทของหนัง ซึ่งเกี่ยวกับผู้ที่มีประสบการณ์ภาวะใกล้ตาย ซึ่งบ้างเป็นเหยื่อของอุบัติเหตุ โดยเกือบทุกรายระบุว่ามีอุโมงค์ที่นำไปสู่แสงสีขาวที่สวยงามและเสียงที่เป็นมิตร แต่สำหรับรายที่พยายามฆ่าตัวตายจะมีประสบการณ์ภาวะใกล้ตายที่เจ็บปวดทุกข์ทรมานแทน ต้องบอกว่าโลกตะวันตกจะมองโลกหลังความตาย มากกว่าการมีอยู่ของผี แต่หนังเรื่องนี้ทำให้บาปในอดีตก่อร่างในรูปแบบของ ผี ได้อย่างน่าสนใจทีเดียว

แต่ถ้าจะว่ากันถึงหนังแนวไซไฟเกี่ยวกับสมองและความตาย ที่ส่งอิทธิพลมายังหนังของ ชูมาเกอร์ อาจต้องยกให้หนังไซไฟหลายปีก่อนหน้าอย่าง ‘Brainstorm’

เสริม: หนังที่ต่อยอดไอเดีย กรรมเป็นผี นี้ได้น่าสนใจ เช่น ‘Event Horizon’ (1997)

Brainstorm (1983)

จริงแล้ว ‘Brainstorm’ เป็นหนังที่หากดูแต่พลอตอาจคิดไม่ถึงว่ามีประเด็นเรื่องของโลกหลังความตาย เพราะหนังจะเล่าเกี่ยวกับการทดลองบันทึกความทรงจำของคนลงบนสายเทป และให้อีกคนหนึ่งที่ใช้เครื่องเล่นเทปสามารถรับรู้ประสบการณ์ร่วมได้

ทว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งหนังได้ต่อยอดพลอตเดิมออกไปได้อย่างน่าสนใจ เมื่อตัวละครหนึ่งรู้ว่าตนเองกำลังจะตาย จึงทำการแปลงความทรงจำลงสายเทปไว้ ทว่าสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนคือเครื่องนี้นอกจากบันทึกภาพเหตุการณ์ความทรงจำแล้ว มันยังบันทึกอารมณ์และภาวะของผู้บันทึกลงไปด้วย ทำให้ใครก็ตามที่มาเล่นเทปนี้จะเกิดภาวะหัวใจวายตายตามเจ้าของความทรงจำได้

แต่นั่นก็ยังเป็นเพียงแค่น้ำจิ้ม เพราะจุดเด็ดคือช่วงท้ายของหนังที่ตัวเอกทำการเล่นเทป ขณะที่พรรคพวกกำลังทำลายโครงการทดลองนี้อยู่ ตัวเอกของเราซึ่งแสดงโดย คริสโตเฟอร์ วอลเคน (Christopher Walken) ในวัยหนุ่ม ได้ผ่านช่วงของภาวะความตายจากในเทป จากนั้นแทนที่จะเป็นเหมือนจอดำมืดแบบเวลาฟิล์มหนังหมดม้วน ตัวเอกกลับมองเห็นภาพสยดสยอง จากนั้นก็ลอยออกจากโลกไปสู่จักรวาล มีลำแสงคล้ายเทวทูตโบยบินและภาพที่ยากอธิบายมากมาย

..หนังหยอดทิ้งไปไกลว่าเทปนี้บันทึกโลกหลังความตายของเจ้าของความทรงจำไว้ด้วย และนั่นคือภาพนรกกับสวรรค์ตามคติแบบตะวันตกนั่นเอง นับว่าน่าสนใจไม่น้อยทีเดียวแม้จะไม่ได้เอามาขยายต่อยอดไปหลังจากนั้น แต่ก็เป็นทฤษฎีที่ว่าด้วยโลกหลังความตายผูกกับความทรงจำคนได้อย่างน่าสนใจ

โดยนี่เป็นผลงานกำกับเรื่องสุดท้ายของ ดักลาส ทรัมบูล (Douglas Trumbull) มือวิชวลเอฟเฟกต์ระดับตำนานเพราะเจ้าตัวต้องการทำหนังเรื่องนี้ให้จบจนทะเลาะกับค่ายหนัง MGM ที่อยากให้เลิกสร้างหลังจาก นาตาลี วูด (Natalie Wood) นางเอกของเรื่องเสียชีวิตขณะถ่ายทำยังไม่จบ ซึ่งค่ายจะได้เอาไปเป็นเหตุเคลมเงินประกันแทน ทำให้ทรัมบูลเลิกกำกับหนังฮอลลีวูดไปเลยหลังจากทำหนังเรื่องนี้ และส่งผลให้ผลงานของ ทรัมบูล ที่ฝากไว้จึงเหลือเพียงงานสเปเชียลเอฟเฟกต์ระดับขึ้นหิ้งในหนังอย่าง ‘2001: A Space Odyssey’ (1968) ‘Close Encounters of the Third Kind’ (1977) และ ‘Blade Runner’ (1982) เป็นอาทิ

สำหรับเรื่อง ‘Brainstorm’ นี้ ทรัมบูลเอาไอเดียมาจาก ‘The George Dunlap Tape’ โปรเจกต์หนังปี 1973 ที่ไม่ถูกสร้างของมือเขียนบทรางวัลออสการ์อย่าง บรูซ โจเอล รูบิน (Bruce Joel Rubin) ผู้สนใจในเรื่องชีวิตและความตาย โดยมักมองผ่านอภิปรัชญาและเรื่องเล่าวิทยาศาสตร์มาพัฒนาเป็นหนัง

และเอาเข้าจริงแล้ว รูบิน ยังเป็นคนเขียนบทให้กับหนังที่ว่าด้วยเรื่องโลกหลังความตายที่น่าสนใจ ซึ่งบังเอิญว่าออกฉายในปีเดียวกับหนัง ‘Flatliners’ ด้วย นั่นคือ ‘Ghost’ และ ‘Jacob’s Ladder’ กลายเป็นว่าปี 1990 เป็นปีที่มีหนังเรื่องโลกหลังความตายระดับคลาสสิกจนถึงปัจจุบันออกมาถึง 3 เรื่องเลยทีเดียว

เสริม: หนังที่ต่อยอดเรื่อง ข้อมูลในสมองเป็นผี ได้น่าสนใจ เช่น Ghost in the Shell (1995) และ Transcendence (2014)

Ghost (1990)

‘Ghost’ ว่าด้วยหนุ่มนายธนาคารที่ถูกฆ่าตายเพราะเขาพยายามตรวจสอบฟอกเงิน แต่ด้วยความห่วงต่อแฟนสาวที่อาจตกในอันตรายเช่นเดียวกัน วิญญาณของเขาจึงวนเวียนอยู่รอบตัวและพยายามช่วยเหลือเธอ หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่ประสบความสำเร็จสูงมาก สามารถทำเงินสูงสุดในปี 1990 ด้วยความโรแมนติกเข้าขากันของพระ-นางอย่าง แพตทริก สเวซี (Patrick Swayze) และ เดมี มัวร์ (Demi Moore) ตลอดจนการนำเสนอเรื่องราวผ่านสายตาของฝั่งผี ซึ่งไม่เคยมีให้เห็นมาก่อน

แม้จะดูมีความแฟนซี แต่หนังก็ยังอิงวิธีคิดแบบมีตรรกะหลายอย่างที่เป็นวิทยาศาสตร์ได้พอสมควร ที่ผ่านมาหนังฮอลลีวูดมักไม่ได้นำเสนอผีในรูปแบบนี้เท่าไรนัก ทั้งการเล่าเรื่องผ่านสายตาของผีเป็นตัวเอกเองก็แปลกใหม่เช่นกัน ถ้าหนังเรื่องอื่นคือการศึกษาโลกหลังความตายผ่านสายตาอยากรู้อยากเห็นของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ใน ‘Ghost’ กลับเป็นการท้าทายด้วยการให้วิญญาณที่เพิ่งตาย เรียนรู้การเป็นผีและขอบเขตพลัง รวมถึงเงื่อนไขพันธะการคงอยู่ของตัวเอง ด้วยทฤษฎีที่หนังสร้างมาอย่างน่าสนใจไม่น้อย

การใช้พันธะห่วงหาต่ออันตรายของคนรักที่ทำให้วิญญาณของพระเอกคงอยู่และมีพลังกล้าแข็งขึ้นจนเคลื่อนย้ายสิ่งของได้ หรือการสื่อสารกับคนเป็น ผ่านการกดแป้นพิมพ์เป็นคำ ตลอดจนการสิงร่างคนอื่นเพื่อกอดคนรักได้อีกครั้ง ล้วนเป็นมุกที่สดใหม่ และยังเป็นแรงบันดาลใจให้หนังหลายต่อหลายเรื่องในยุคหลัง (และแน่นอน ‘Ghost Lab’ ก็ด้วย) แต่มาถึงยุคนี้ก็เรียกว่าขนาดละครบ้านเราเองก็ใช้ทฤษฎีผีแบบ ‘Ghost’ กันเป็นเรื่องปกติแล้ว

Jacob’s Ladder (1990)

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่ รูบิน เขียนบทเช่นกันแต่ดูยากหน่อยคือเรื่อง ‘Jacob’s Ladder’ ซึ่งรูบินเอาทฤษฎีที่ว่าภาพฉากชีวิตของเราทั้งหมดจะวนกลับมารวดเดียวเมื่อเรากำลังจะตาย และถูกนำเสนออย่างน่าสนใจ ชวนถกเถียงได้ไม่น้อย โดยสมมติฐานของรูบินคือภาพเหล่านั้นคือบททดสอบที่จะบอกว่าดวงวิญญาณจะสงบพอจะขึ้นสวรรค์หรือไม่ แต่เขาเสริมพลอตไปอีกว่าหากฉากชีวิตที่วนมารวดเดียวนั้นไม่ใช่เหตุการณ์ในอดีต แต่เป็นเหตุการณ์สมมติที่เราไม่เคยประสบพบพานมาก่อนด้วยล่ะ

โดยชื่อหนังนั้นอิงจากพระคัมภีร์ไบเบิลตอนที่ว่าด้วย บันไดสู่สวรรค์ในความฝันของพระสังฆราชยาโคบ ซึ่งตัวละครยาโคบในหนังนำแสดงโดย ทิม รอบบินส์ (Tim Robbins) เป็นอดีตทหารสงครามเวียดนามที่พบว่าตนเองพบเจอกับสัตว์ประหลาดที่น่าหวาดผวายากจะอธิบาย และเมื่อสำรวจค้นหาความจริงก็พบว่ามันเกี่ยวข้องกับการยอมรับความตายและเขาก็ยอมรับขึ้นบันไดไปสู่แสงสว่างในตอนท้าย และทั้งหมดเป็นเพียงภาพฝันในขณะที่เขากำลังจะตายในเปลสนามที่เวียดนามนั่นเอง

จัดเป็นหนังที่ดูยากพอสมควรเพราะหนังปล่อยให้เราเผชิญกับการเปิดเผยความจริงหลายชั้น และต้องอาศัยความเข้าใจว่าเรื่องไหนจริงหรือไม่จริง ทั้งเรื่องการสืบสวนว่าเขาเคยเป็นทหารจริงหรือไม่ เขาตายไปแล้วหรือยัง หรือความฉ้อฉลของรัฐบาลที่ปล้นอดีตและตัวตนของเขาไปเพื่อการทดลองทางการทหารที่ไร้มนุษยธรรมนั้นมีมูลแค่ไหน ซึ่งทั้งหมดเล่นกับเรื่องที่ว่าเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นจริงหรือเป็นเพียงภาพประมวลผลในสมองก่อนยาโคบจะตายเท่านั้น

ใครชอบแนวสยองขวัญสัญญะแบบต้องตั้งใจดู หรือเป็นแฟนเกมที่เอาแรงบันดาลใจมาจากหนังเรื่องนี้อย่าง ‘Silent Hill’ จะลองดูก็ไม่เสียหลายเช่นกัน

แต่แนวคิดการศึกษาเรื่องชีวิตหลังความตายและผีของ รูบิน ก็ยังเกี่ยวข้องกับทางปรัชญาอยู่มาก หนังที่อาจนำพาวิญญาณมาสู่การศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ที่จับต้องได้มากยิ่งขึ้นเรื่องหนึ่งนั่นคือเรื่อง ‘White Noise’

White Noise (2005)

หนังแสดงนำโดย ไมเคิล คีตัน (Michael Keaton) โดยเอาทฤษฎีคลื่นเสียงจากโลกหน้าที่สามารถบันทึกได้ด้วยอุปกรณ์จับคลื่นเสียงอิเล็กทรอนิกส์ ที่เรียกว่า EVP (Electronic Voice Phenomenon) มาเป็นหัวใจของหนัง เมื่อตัวเอกต้องการสื่อสารกับภรรยาที่เพิ่งเสียชีวิตไป จนกลายเป็นหมกมุ่นอยู่กับการฟังเสียง แม้จะได้รับคำเตือนว่าเครื่องนี้มันเปิดรับไม่เลือกทั้งวิญญาณหวังดีและวิญญาณหวังร้ายก็ตาม

ความน่าสนใจคือเจ้าเครื่องนี้มีอยู่จริง และยังเป็นหนึ่งในอุปกรณ์หากินของนักล่าผียุคใหม่ด้วย โดยในตัวอย่างหนังยังมีการนำเสียงบันทึกวิญญาณเมื่อปี 1987 ของวิญญาณที่ชื่อ รูธ แบ็กซ์เตอร์ (Ruth Baxter) ซึ่งเชื่อว่าเสียชีวิตในโรงพยาบาลสนามในยุคสงครามกลางเมืองมาใช้จริงด้วย โดยคำพูดนั้นจะฟังยากสักหน่อยแต่เชื่อว่าน่าจะเป็นคำว่า “I Will See You No More” ด้วย แม้ว่าในปัจจุบันนักวิเคราะห์เสียง AAEVP จะยืนยันว่านี่เป็นเสียงวิญญาณจริงที่ไม่ได้ผ่านการสร้างขึ้นเอง แต่เรื่องราวของ รูธ แบ็กซ์เตอร์ ก็ยืนยันแล้วว่าเป็นเพียงตัวละครที่แต่งขึ้นมา แล้วเสียงวิญญาณจริงที่ว่าเป็นของใครกันล่ะ?

แม้ตัวหนังจะได้รับคำวิจารณ์ออกไปทางลบ แต่กลับประสบความสำเร็จด้านรายได้ไปพอสมควร มากพอจะให้มีหนังภาค 2 ตามออกมาด้วยโดยยกชุดทั้งนักแสดงและทีมสร้าง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากเท่าเดิม

The Discovery (2017)

หนังจากเทศกาลหนังซันแดนซ์ที่ได้เน็ตฟลิกซ์เข้ามาดูแล เป็นเรื่องราวการศึกษาโลกหลังความตายของ โธมัส ฮาร์เบอร์ (แสดงโดย โรเบิร์ต เรดฟอร์ด (Robert Redford)) ผู้พิสูจน์ได้ว่ามีโลกหลังความตายอยู่จริง ซึ่งพลอตน่าสนใจว่าผลการค้นพบนี้ของเขาทำให้คนตัดสินใจฆ่าตัวตายกันมากมายมหาศาลเพราะอยากไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ ซึ่งเป็นเหมือนปมในใจของโธมัสมากถึงขนาดต้องออกมาให้สัมภาษณ์ว่าทุกคนต้องคิดให้มากขึ้นก่อนคิดสั้น ปรากฏทีมงานที่มาสัมภาษณ์ก็ยิงตัวตายต่อหน้าโธมัสเลย

โธมัส จึงสร้างเครื่องที่จะสามารถเอาภาพจากโลกหลังความตายมาพิสูจน์ให้คนเห็นได้ เผื่อว่าคนอาจจะเปลี่ยนใจกันมากขึ้น โดยได้ลูกชาย 2 คนมาช่วยห่าง ๆ แต่พลอตมันขยายไปได้อีกว่า ผลการทดลองตายของโธมัสทำให้เขาพบว่า โลกหลังความตายเป็นอีกความจริงหนึ่งในอดีตที่เปิดโอกาสให้คนสามารถแก้ไขความผิดพลาดสำคัญได้ เมื่อเขาถูกปั๊มหัวใจให้กลับมามีชีวิตจึงตัดสินใจที่จะปิดผลการทดลองเพราะหากคนทั่วไปรู้ว่าโลกหลังความตายคือโอกาสที่สอง คนจะฆ่าตัวตายกันมากขึ้นอีก ซึ่งซับพลอตของโธมัสนี้ก็ถูกนำไปใช้ในพลอตหลักของตัวลูกชายที่เป็นตัวเดินเรื่องได้อย่างน่าสนใจต่อไปด้วย

หนังเรื่องนี้เดิมที่จะได้ทั้ง รูนี มารา (Rooney Mara) และ นิโคลาส ฮอลต์ (Nicholas Hoult) มารับตัวเอกแต่เพราะติดปัญหาตารางเวลาทำให้ฮอลต์ต้องถอนตัวไป ตัวหนังแม้จะมีดาราใหญ่อย่างเรดฟอร์ดและมารามาเล่น แต่ก็ได้คำวิจารณ์ไปเพียงกลาง ๆ เท่านั้น อาจด้วยพลอตที่ไฮคอนเซ็ปต์ยากจะเข้าถึงเกินไปด้วยนั่นเอง

ทว่ามองในแง่การใช้ทฤษฎีโลกหลังความตายมาเล่นกับผลกระทบต่อคนที่มีชีวิตอยู่ ก็รู้สึกแปลกใหม่และทำให้หนังมีพลังในการตั้งคำถามที่น่าสนใจกว่าเรื่อง ๆ อื่น ๆ ไม่น้อยเลยทีเดียว

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส