เป็นธรรมเนียมของทุกปีที่ beartai BUZZ จะสรุป 10 รายชื่อภาพยนตร์ที่เข้าฉายในปีนั้น ๆ นับตั้งแต่แบไต๋เริ่มมีคอนเทนต์รีวิวภาพยนตร์และซีรีส์เป็นประจำ และมีนักเขียนในทีมรีวิวมากขึ้นเรื่อย ๆ จนคะแนนรีวิวของแบไต๋ไปขึ้นเป็นไกด์แนะนำหนังและซีรีส์ในกูเกิลเสิร์ชต่อท้าย IMDB และ Rotten Tomatoes เลยเชียว อย่างที่ทราบกันดี 2 ปีที่ผ่านมา แวดวงสตรีมมิงคึกคักมากขึ้น สวนทางกับโรงหนังที่ปิดบริการเป็นระยะเวลานาน จึงไม่แปลกใจที่หนังดังและหนังดีหลายเรื่องมาจากผู้ให้บริการสตรีมมิง (ที่แกล้ง ๆ เข้าฉายในโรง) มาดูกันว่า 10 ภาพยนตร์ทั้งที่ฉายในโรงและทางสตรีมมิงที่ประทับใจทีมรีวิวแบไต๋ในปีนี้มีเรื่องอะไรบ้าง (ทั้ง 10 เรื่องเรียงตามลำดับการฉาย ไม่ใช่การจัดอันดับ)

No Time To Die

นอกจากว่าจะเป็นเจมส์ บอนด์ ภาคที่ยาวที่สุด คือเกือบ ๆ 3 ชั่วโมง และเป็นการรับบทเจมส์ บอนด์ครั้งสุดท้ายของ ‘Daniel Craig’ แล้ว 007 ภาคที่ 25 นี้ยังเหมือนเป็นการปิดเฟสและพักแฟรนไชส์ของหนังเรื่องนี้อย่างเป็นทางการด้วย เพราะตัวหนังยังคงเคารพรักษาเรื่องราว ขนบ และวิธีการเล่าได้อย่างสม่ำเสมอแล้ว ตัวหนังก็ยังแอบมีการท้าทายขนบบางอย่าง และทำลายขนบบางสิ่งบางอย่างไปด้วยในเวลาเดียวกัน รวมถึงการแฝง Easter Egg จากหนังเจมส์ บอนด์ภาคอื่น ๆ เอาไว้ให้แฟน ๆ ได้สังเกต รวมถึงตอนจบที่แสนจะสะเทือนใจ ทำให้ 007 ภาคนี้เป็นการปิดท้ายการรับบท เจมส์ บอนด์ ที่สวยงามที่สุดเท่าที่เคยมีมา

Dune

มหากาพย์ไซไฟคลาสสิกสุดยิ่งใหญ่ที่ยังไม่มีใครเอาอยู่ด้วยการทำหนังสักที แต่ เดนนิส วิลล์เนิฟว์ แฟนนิยายตัวจริง สามารถเอาอยู่ในการถ่ายทอดและตีความจากนิยายต้นฉบับที่แสนทะเยอทะยานและเข้มข้นทุกกระเบียดนิ้ว ออกมาในรูปแบบภาพยนตร์สุดยิ่งใหญ่ที่ท้าทายโสตประสาท ตั้งแต่งานโปรดักชันที่ยิ่งใหญ่สวยงาม เนื้อเรื่องที่ท้าทายแต่ไม่ได้ซับซ้อนจนยากเกินไป รวมทั้งฝีมือการแสดงที่เรียกได้ว่าเอาอยู่ ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมหนังเรื่องนี้จึงเป็นหนังที่คอหนังควรจะดูในโรง และควรหานิยายมาอ่าน และที่สำคัญคือ ควรเฝ้ารอว่าภาคต่อไปจะออกมาเป็นอย่างไร

ภาพยนตร์ไซไฟระดับมหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา ผู้กำกับ เดอนีส วีลล์เนิฟว์ (Denis Villeneuve) สามารถดัดแปลงนิยายไซไฟระดับขึ้นหิ้งของ แฟรงค์ เฮอร์เบิร์ต (Frank Herbert) เมื่อปี 1965 ได้อย่างยอดเยี่ยม ลดความซับซ้อนในเชิงการเมืองลง แต่ยังคงไว้ซึ่งแก่นสำคัญของเรื่อง กอปรกับทีมนักแสดง, งานสร้าง และดนตรีประกอบที่ถูกเรียงร้อยเข้ากันอย่างพอดี ทำให้รู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ตลอดเวลา จนตระหนักได้ว่าศาสตร์แห่งภาพยนตร์นั้นทำให้ผู้ชมรู้สึกทึ่งได้มากเพียงไร

Drive My Car

ฮารูกิ มูรากามิ เป็นชื่อที่ยังขายได้เสมอสำหรับหนังที่ชวนค้นหาและมีบรรยากาศเฉพาะตัวบางอย่างที่ไม่สามารถหาได้จากที่ใด และตัวละครในเรื่องเล่าของเขาก็พิเศษอยู่เสมอ มันแปลกประหลาดดูอยู่คนละโลกแต่ดันสอดคล้องกับพื้นที่หนึ่งในประสบการณ์หัวใจที่เคยเต้นมาของผู้ชมเสมอ

ร่างทรง

เป็นอีกมิติหนึ่งของภาพยนตร์สยองขวัญของไทยที่ใช้เทคนิคการเล่าที่แตกต่างออกไป ด้วยการผสมผสานสารคดีเทียม (mockumentary) เข้ากับการเล่าเรื่องแบบ fiction film ถึงแม้จะมีเสียงวิจารณ์หนาหูบ้าง แต่การเลือกทำอะไรต่างออกไปก็ทำให้เห็นถึงมิติใหม่ ๆ ในการเล่าเรื่องได้เป็นอย่างดี แถมหนังเรื่องนี้ยังได้นักแสดงหน้าใหม่ทั้งรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ที่มีฝีมือการแสดงน่าประทับใจมาก ๆ

4 Kings อาชีวะยุค 90s

จะบอกว่าเป็นโควต้าหนังไทยในพื้นที่หนังยอดเยี่ยมของปีก็ได้ แต่การที่มันเอาชนะตัวเต็งอย่างร่างทรงขึ้นมาได้ สิ่งสำคัญเลยคือมันเป็นหนังที่เราเห็นหัวใจอยู่ในนั้นในทุกมิติแง่มุมทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง มันมีไม่กี่เรื่องหรอกที่แม้ขาดความสมบูรณ์อยู่มากแต่ยังส่งห้วงความคิดความรู้สึกบางอย่างมาค้างคาในหัวใจผู้ชมไว้ได้เช่นนี้

ประเทศไทยเราห่างหายจากข่าวเด็กอาชีวะตีกันไปนาน จนหนังเรื่องนี้ได้มาถึง บรรยากาศเก่า ๆ ในแบบยุค 90s จึงได้กลับมา 4 Kings ไม่ใช่หนังที่เชิดชูวีรกรรมของเด็กช่าง หรือหนังที่ทำให้ฮึกเหิมอยากตีกัน แต่มันกลับพาเราไปสำรวจช่วงฉากและความรู้สึกเบื้องลึกของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเราไม่มีโอกาสที่จะได้เข้าใจ (หรือไม่อยากจะเข้าไปทำความเข้าใจก็เป็นได้) และได้เห็นถึงมิติของความเป็นมนุษย์ที่สะท้อนแง่มุมอะไรหลายที่ทำให้เราเข้าใจความเป็นคนและสังคมได้ดีมากยิ่งขึ้น

Last Night in Soho

มันคือส่วนผสมสุดว้าวระหว่างความปรารถนาในห้วงเวลาอดีตอันแฟนตาซีอย่าง Midnight in Paris งานดีไซน์สุดว้าว (และหลอน) อย่าง Suspiria การกำกับอันเก๋ไก๋ หวือหวาของ เอ็ดการ์ ไรต์ (Edgar Wright) และการแสดงอันน่าประทับใจของอันยา เทย์เลอร์-จอย (Anya Taylor-Joy)

West Side Story 

สปีลเบิร์กพลิกจากมิวสิคัลระดับตำนานสู่งานวิชวลที่น่าตื่นตะลึงได้อย่างยอดเยี่ยม ทุกอย่างสอดประสานลงตัวตั้งแต่การจัดวางเพลงและนักแสดงที่จะมาร้องใหม่ ไปจนถึงการแคสติงที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของชาติพันธุ์สีผิวและรูปร่างในโลกภาพยนตร์ แถมยังทำให้มิวสิคัลสามารถพูดเรื่องซีเรียสอย่างประเด็นสีผิว ความเหลื่อมล้ำ และความฉ้อฉลในวงราชการได้อย่างล้ำลึกอีกด้วย  

The Power of The Dog

พอบอกว่าเป็นหนัง ‘เจน แคมเปียน’ แล้วก็รับประกันคุณภาพได้เลย เพราะงานของเธอนั้นทั้งประณีต คมคาย และสะเทือนอารมณ์ กลับมาคราวนี้เธอได้ถ่ายทอดเรื่องราววิถีคาวบอยที่เล่าเรื่องเล็กให้ลุ่มลึก กับการแสดงระดับเฉียบจากบรรดานักแสดงมากฝีมือ ท่ามกลางภูมิทัศน์อันเวิ้งว้างกว้างไกลที่หัวใจของตัวละครแต่ละตัวได้มาปะทะกัน ลีลาการเล่ามีความลุ่มลึกและการเล่าเรื่องด้วยภาพนั้นทรงประสิทธิภาพมาก ช็อตเล็กช็อตน้อยนั้นมีความสำคัญที่จะช่วยให้เราเข้าใจหนังได้อย่างกระจ่าง

การห่างหายไปนานถึง 12 ปี มิได้ลดทอนความสามารถผู้กำกับหญิงเก่ง เจน แคมเปียน (Jane Campion) เลยแม้แต่น้อย ในทางกลับกัน เธอได้นำเสนอเรื่องราวของคนที่อ้างว้าง ไม่ใครเข้าใจความต้องการของเขาจนผลักดันเขาทำกระทำเรื่องแย่ ๆ ต่อบุคคลอื่น ได้อย่างคมกริบ ค่อย ๆ กระเทาะเปลือกตัวละคร ไปทีละชั้นอย่างไม่เร่งรีบ แม้ว่าตัวเรื่องจะไม่เดินหน้าไปไหนมากนัก แต่ภาพยนตร์เล่าเรื่องได้แม่นยำในประเด็นที่ต้องการนำเสนอ ประหนึ่งการลับมีดใบเดิมให้คมขึ้นเรื่อยเสียจนบาดใจผู้ชมได้อยู่หมัด

Don’t Look Up

หนังตลกเสียดสีจากผู้กำกับ อดัม แมกเคย์ (Adam McKay) ที่เคยสร้างชื่อจาก ‘The Big Short’ พูดถึงสองนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชั้นรองที่บังเอิญพบว่ามีดาวหางขนาดเท่าภูเขาเอเวอเรสต์กำลังพุ่งมายังโลกภายในหกเดือน และนั่นจะทำให้สิ่งมีชีวิตทุกอย่างบนโลกต้องถึงจุดจบอีกครั้ง แต่เมื่อประธานาธิบดีหญิงและคนรอบข้างทราบเรื่องนี้กลับไม่สนใจแต่มองเห็นแต่ผลประโยชน์จากการเลือกตั้ง สื่อมวลชนก็เอาแต่เล่นข่าวดาราเลิกกันแทนที่จะเป็นข่าวโลกกำลังพินาศ แน่นอนว่าหัวใจของหนังคือทีมนักแสดงระดับออสการ์ไล่มาตั้งแต่ ลีโอนาร์โด ดิแคพริโอ, เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์, เมอรีล สตรีป, เคต แบลนเชตต์ จนถึง โจนาห์ ฮิลล์ (คนหลังนี่ขโมยซีนทุกฉาก) และยังมีดาราดังอีกเพียบ ทุกคนเล่นรับส่งกันอย่างโบ๊ะบ๊ะ บวกกับบทหนังที่จิกกัดการเมืองและวิจารณ์สังคมได้อย่างเจ็บแสบ ทำให้คุณปล่อยฮาออกมาได้ตลอดทั้งเรื่อง บทสรุปของหนังเรื่องนี้ช่างตรงกับ #ผนงรจตกม เสียจริง ๆ

Spider-Man: No Way Home

หนังซูเปอร์ฮีโร่มาร์เวลที่ทุกคนตั้งตารอคอยแห่งปี และก็ไม่ทำให้แฟนบอยต้องผิดหวัง เพราะจัดให้ครบทุกอารมณ์ ทั้งฉากแอ็กชัน มุกขำ ๆ ดราม่าเรียกน้ำตา และเซอร์ไพรส์ที่ทีมงานเก็บงำไว้นาน เป็นการเปิดมัลติเวิร์สปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ ในจักรวาลมาร์เวลอย่างเป็นทางการ แม้หนังจะยาวถึงสองชั่วโมงครึ่งแต่ด้วยการท่ีดำเนินเรื่องอย่างรวดเร็ว และใส่เนื้อหาเรื่อง Coming of Age ของปีเตอร์เอาไว้ ทำให้หนังเต็มเปี่ยมไปด้วยความบันเทิง และข้อคิดที่ได้ รวมทั้งฉากจบที่แสนประทับใจ แม้จะทำให้ทุกคนต้องปาดน้ำตาก่อนเดินออกจากโรง